วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

อิตถีโพธิสัตว์

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




ศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน โดยเฉพาะในฝ่ายทิเบต อันพัฒนามาจากนิกายมหายานนั้น มีพระโพธิสัตว์ เทพเจ้าและเทพนารีเป็นอันมาก ซึ่งมิได้ปรากฏในพุทธประวัติ แต่กลับทรงมีบทบาทสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของหลักการทางศาสนา ที่เห็นได้ชัดก็คือ พระโพธิสัตว์ตารา (Tara) และพระโพธิสัตว์เพศหญิงอีกหลายองค์ ทรงได้รับการสักการบูชาในระดับสูงมาก

ยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่ชาวยุโรปและอเมริกันจำนวนมากเกิดความตื่นตัวและให้ความสนใจในศาสนาพุทธวัชรยานทิเบต ที่ได้รับการเผยแพร่และตั้งรกรากอย่างมั่นคงในโลกตะวันตกมาหลายสิบปีแล้ว เหล่านี้ก็ยิ่งทรงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย และทรงได้รับการสักการะบูชามากกว่าพระโพธิสัตว์ที่สำคัญที่สุดในทางมหายานและวัชรยาน อย่างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเสียด้วยซ้ำไป

การที่ได้รับความนิยมในการนับถือบูชาอย่างสูงในระดับสากล โดยเฉพาะในสังคมของผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในด้านปัญญาญาณเช่นนี้ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการโฆษณาชวนเชื่อ แต่แสดงให้เห็นถึงคุณวิเศษหลายประการของอิตถึโพธิสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้นับถือชาวตะวันตกที่ปฏิเสธทั้งโลกวิทยาศาสตร์ และกรอบแห่งความศรัทธาตามแบบศาสนาคริสต์ คนเหล่านี้ย่อมจะไม่รับเชื่อสิ่งใดด้วยเพียงอาศัยจินตนาการ ความงมงาย และความเพ้อฝันเป็นแน่

ความจริง คนไทยเราก็คุ้นเคยกับเทวปฏิมาของพระโพธิสัตว์เพศหญิงเหล่านี้อยู่ระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อย ประติมากรรมรูปเทวสตรีฉลองพระองค์แบบทิเบตขนาดห้อยคอและขนาดตั้งหน้ารถ ซึ่งคนไทยเราเอามาขายในนามของพระแม่อุมา หรือพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมปางทิเบตนั้น แท้ที่จริงล้วนเป็นเทวรูปของ พระศยามตาราโพธิสัตว์ ทั้งสิ้น

และ ณ เวลานี้ เทวปฏิมาของพระแม่เจ้าทั้งหลายเหล่านี้ยิ่งปรากฏให้เห็นมากขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในตลาดท่าพระจันทร์ที่กล่าวแล้ว ไปจนถึงร้านที่จำหน่ายเทวรูปต่างๆ ในศาสนาฮินดู ไม่ว่าจะดำเนินกิจการโดยชาวอินเดียหรือชาวไทยก็ตาม โดยเฉพาะผู้ค้าเทวรูปแหล่งใหญ่ในท่าพระจันทร์รายหนึ่งถึงกับยืนยันว่า พระทิเบตขณะนี้กำลังได้รับความนิยมมากทีเดียว

ผมจึงเห็นสมควรนำเรื่องราวของอิตถึโพธิสัตว์ที่สำคัญในศาสนาพุทธนิกายวัชรยานเหล่านี้ มากล่าวถึง โดยสังเขปในบทความนี้ เพื่อให้ทุกท่านที่สนใจได้มีอะไรที่เป็นเหมือน shortnote สำหรับเรื่องราวของอิตถีโพธิสัตว์เหล่านี้โดยเฉพาะ ส่วนถ้าใครอยากอ่านยาวๆ ก็มี website ภาษาไทยกล่าวถึงโดยละเอียดอยู่แล้วทุกองค์ หรือจะให้ผมเขียนเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คก็ได้นะครับ ถ้ามีเสียงเชียร์มากพอ

จะขอลำดับเรื่องราวของอิตถีโพธิสัตว์แต่ละองค์ ตามความนิยมในปัจจุบันนะครับ





พระโพธิสัตว์ตารา (Tara) ถือกำเนิดจากรัศมีสีเขียวอันเปล่งออกมาจากพระเนตรของพระธยานิพุทธอมิตาภะ อีกคัมภีร์หนึ่งว่าพระนางตาราเกิดจากน้ำตาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เมื่อมองเห็นว่าสัตว์โลกมีแต่ความทุกข์ น้ำพระเนตรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหยดหนึ่งร่วงลงไปในหุบเขาเกิดเป็นทะเลสาบ ต่อมาก็มีดอกบัวทิพย์ดอกหนึ่งผุดขึ้นมาในทะเลสาบนั้น เมื่อดอกบัวบานออกภายในก็ปรากฏรูปพระนางตารา ในขณะที่ตำนานบางฉบับกล่าวว่า พระนางตาราเกิดจากรังสีธรรมของพระอมิตาภะพุทธะ

พระนางตาราทรงได้รับการบูชาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๘ - ๑๑ ในอินเดียเหนือ และแพร่หลายที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗ โดยพระภิกษุอสังคะเป็นผู้ริเริ่ม โดยถือว่าเป็นชายาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

เชื่อกันว่า แนวคิดการบูชาพระนางตาราเริ่มขึ้นในอินเดียเพื่อต่อต้านพิธีกรรมสตีของอินเดียครับ

พระนางทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในด้านของกรุณา ซึ่งยังคงเป็นคติความเชื่อของชาวมองโกเลียอยู่ในปัจจุบันนี้ ภาพลักษณ์ของพระนางส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระนางสิริมหามายาเทวี มารดาของพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า

พระนางตาราทรงได้รับความนิยมนับถือมากในทิเบตจนกระทั่งปัจจุบันนี้ทุกวันนี้ครับ เรียกกันว่า พระเทวีโดลมา (Dol-ma) ทรงมีทิพยฐานะเป็นเทวีแห่งความเมตตากรุณาและทรงเป็นราชินีสวรรค์ ว่ากันว่าศาสนาพุทธวัชรยานทิเบตนั้นนับถือพระนางเป็นเทพสูงสุดเลยทีเดียว 

แต่เดิมพระนางตารามีเพียง ๒ รูป คือวรรณะขาวและเขียว ต่อมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีถึง ๒๑ รูป หรือ ๒๑ ปางด้วยกัน แต่ที่นิยมนับถือกันมากนั้นมีอยู่เพียง ๒ ปาง เท่านั้น คือ

พระสิตตาราโพธิสัตว์ หรือพระนางตาราวรรณะขาว บางทีก็เรียกว่า พระจินดามณีจักรตารา เป็นเทวีประจำเวลากลางวัน ทรงประทานความเข้าถึงพุทธธรรม ความเข้าถึงธารณีมนต์ทุกบท ทรงให้จิตวิญญาณในการเข้าถึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง ทรงประทานโอกาสในการทำความดีให้แก่ผู้บูชาได้หลุดพ้นจากวิบากกรรมทั้งปวง ทรงเป็นองค์แรกที่ผู้สนใจใคร่รู้และศรัทธาในพุทธนิกายมหายานวัชรยานควรบูชา
        
พระศยามตาราโพธิสัตว์ หรือพระนางตาราวรรณะเขียวแก่ เป็นเทวีประจำเวลากลางคืน ประทับนั่งห้อยพระบาทบนดอกบัว มี ๒ กร พระหัตถ์หนึ่งทำปางวรัทมุทรา อีกพระหัตถ์ถือดอกบัวตูมสีขาว เมื่อเป็นชายาของพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิจะประทับนั่งขัดสมาธิ และบนพระหัตถ์ที่ถือดอกบัวนั้นจะมีรูปวิศววัชระ พระศยามตาราโพธิสัตว์ยังมีอีกหลายรูปและมีนามเฉพาะในแต่ละรูปนั้นเช่นเดียวกับพระสิตตารา และเป็นวรรณะที่ได้รับความนิยมนับถือมากในทิเบต
        
วรรณะอื่นๆ ของพระนางตาราที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งเช่นกัน คือ กุรุกุลลา หรือวรรณะแดง และ เอกชฎา หรือวรรณะฟ้า ทั้งสองวรรณะนี้เป็นพระนางตาราในปางดุร้ายทั้งสิ้น

สรุปแล้วพระนางตาราทรงมีวรรณะครบตามตระกูลพระธยานิพุทธ ๕ ตระกูล จึงทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นศักติของพระธยานิพุทธทั้ง ๕ องค์ด้วย

มนต์สำหรับบูชาพระสิตตาราโพธิสุตว์ คือ โอม ตาเร ตุตตาเร ตุเร มามะ อายุหะ ปุณญะ ชะญาณะ ปุษติม กุรุ สวาหะฯ

และมนต์สำหรับบูชาพระศยามตาราโพธิสัตว์ คือ โอม ตาเร ตุตตาเร ตุเร สะวาหะฯ

อิตถึโพธิสัตว์ ที่ได้รับความนิยมบูชาเป็นอันดับสองรองจากพระนางตารา ก็คือ พระนางปรัชญาปารมิตา (Prajnaparamita)





ในเทววิทยามหายานอธิบายไว้ว่า ทรงเป็นมหาเทวีที่เกิดจาก มหาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ที่มีบทบาทสำคัญตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖-๑๒ พระนางทรงมีฐานะเป็นมารดาของพระพุทธเจ้า หรือเป็นภาคสำแดงของพระอักโษภยะพุทธะ เป็นสัญลักษณ์ของสุญตา

คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนานิกายมหายานครับ ชาวพุทธในฝ่ายมหายานเชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์เก่าแก่มีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่า มนุษย์ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีปรีชาญาณพอจะศึกษาคัมภีร์ฉบับนี้ได้ จึงทรงมอบให้พวกนาครักษาไว้ในเมืองบาดาล ครั้นเวลาล่วงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๔ นาคารชุนจึงได้ไปนำคัมภีร์นี้มาจากเมืองบาดาลมาให้ชาวพุทธได้ศึกษาเล่าเรียนกัน
        
มหาเทวีปรัชญาปารมิตาทรงได้รับความนิยมมากในอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทวีผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ผู้ที่ต้องการศึกษาวิชาความรู้โดยเฉพาะพระธรรมให้แตกฉานจะต้องบูชาพระนางปรัชญาปารมิตา ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะถึง ๙ บทที่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับมหาเทวีองค์นี้ (สาธนะที่ ๑๕๑-๑๕๙) และมีอยู่ ๒ บทที่กล่าวว่าพระนางทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอักโษภยะ

แต่โดยทั่วไปแล้ว มิได้ถือกันพระนางสังกัดตระกูลใดแน่นอน เพราะในเทวรูปพระนางปรัชญาปารมิตาที่ทรงมีพระพุทธรูปอยู่บนศิราภรณ์นั้น พระพุทธรูปองค์นั้นก็มีทั้งที่เป็นพระธยานิพุทธอักโษภยะ และพระธยานิพุทธอมิตาภะ
        
เทวรูปพระนางปรัชญาปารมิตามีเศียรเดียว และส่วนมากจะมี ๒ กร ที่มี ๔ กรก็มีบ้าง และมี ๓ วรรณะ คือ สิตปรัชญาปารมิตา หรือวรรณะขาว, ปิตปรัชญาปารมิตา หรือวรรณะเหลือง และ กนกปรัชญาปารมิตา

มนต์สำหรับบูชาพระนางปรัชญาปารมิตา คือ โอม คะเต คะเต ปะระคะเต ปะระสัมคะเต โพธิ สะวาหะฯ

พระโพธิสัตว์เพศหญิงในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน-วัชรยานนอกจากนี้ ยังมีอีกหลายองค์ที่ทรงได้รับความนิยมนับถือกันมาก บางองค์กลายร่างมาจากธารณีมนต์และภูมิต่างๆ ตลอดจนบารมี (ปารมิตา) ต่างๆ อีกด้วย

ดังเช่น ในคัมภีร์นิษปันนโยควลีได้พรรณนาถึงเทพนารีทั้ง ๑๒ ที่กลายร่างจากธารณีมนต์คือ พระสมาตี พระรัตโนลกา พระอุษณีษวิชยา พระมารี พระพรรณศวรี พระชางคุลี พระอนันตมุขี พระจุณฑา พระปรัชญาวรรธนี พระสรวกรรมาวรณวิโศธนี พระอักษญาณการัณฑา และพระสรวพุทธธรรมโกศวดี เทพนารีทั้งหมดนี้อยู่ในตระกูลพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิ

ในบรรดาอิตถีโพธิสัตว์เหล่านี้ ที่ทรงมีบทบาทเป็นที่นับถือกันแพร่หลายอยู่ในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน-วัชรยาน อาจลำดับได้ดังต่อไปนี้ครับ





๑) พระมาริจีโพธิสัตว์ (Marichi) เป็นเทวีแห่งแสงอาทิตย์ยามเช้า ในทางเทววิทยาอธิบายว่ากลายรูปมาจาก พระอุษาเทวี ในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะถึง ๑๖ บทที่บรรยายถึงเทพนารีองค์นี้ในรูปแบบต่างๆ กันถึง ๖ รูปแบบ มี ๑, ๓ และ ๖ พักตร์ และมีพระกร ๒, ,๑๐ และ ๑๒ กร ตามคติเดิมทรงปราศจากพระชงฆ์เช่นเดียวกับพระราหู แต่นิยมวาดหรือปั้นหล่อให้มีพระชงฆ์ครบสมบูรณ์

อิตถีโพธิสัตว์องค์นี้ มักประทับบนราชรถที่ลากด้วยหมู ๗ ตัว บังคับโดยสารถีซึ่งไม่มีขาเช่นกัน เหมือนกับสุริยเทพในศาสนาพราหมณ์ที่ทรงราชรถลากด้วยม้า ๗ ตัว บังคับโดยพระอรุณซึ่งไม่มีพระชงฆ์ครับ

พระมาริจีอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธไวโรจนะ ทรงได้รับการนับถือกันมากในทิเบตและจีน โดยพระลามะในทิเบตนิยมบูชาเทพนารีองค์นี้ในเวลาเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

พระนางทรงเป็นองค์เดียวกับ เต๋าบ้อ หรือพระแม่ดวงดาวในศาสนาเต๋าของจีน ซึ่งได้รับการบูชาในฐานะองค์ประธานของกิ่วอ๊วง หรือคณะเทพยดาทั้ง ๙ ในเทศกาลกินเจของชาวจีนโพ้นทะเล รวมทั้งในประเทศไทยด้วยครับ

มนต์สำหรับบูชาพระมาริจี คือ โอม มาริจี สะวาหะฯ





๒) พระจุณฑา หรือ จุณฑีโพธิสัตว์ (Chunda) เป็นหนึ่งในกลุ่มเทวี ๑๒ องค์ที่กลายร่างมาจากธารณีมนตร์ แต่บางคัมภีร์เช่นในคัมภีร์มัญชูวัชระมณฑล หรือแม้แต่คัมภีร์นิษปันนโยควลีเองกลับกล่าวว่าทรงอยู่ตระกูลของพระธยานิพุทธไวโรจนะ เทพนารีองค์นี้ทรงมีพระนามอื่นอีก เช่น จุนทรา จันทะ จันทรา หรือจุณฑวัชรี ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะอยู่ ๓ บทบรรยายถึงพระนางว่าทรงมี ๔ กร หรือ ๑๖ กร โดยรูปที่มี ๔ กรนั้นสองพระหัตถ์ทำปางสมาธิ อีกสองพระหัตถ์ถือสร้อยประคำและคัมภีร์

ส่วนรูปที่มี ๑๖ กรจะถือสร้อยประคำ ดอกบัว หม้อน้ำอมฤต พระขรรค์ ขวาน คันศร ลูกศร พระหัตถ์ที่เหลืออาจทำปางวรัทมุทราและวิตรรกะมุทรา

การบูชาพระจุณฑาทำได้โดยท่องมนต์บทจุณฑาธารณี เชื่อกันว่าพระนางจะสถิตอยู่กับสานุศิษย์ผู้นั้นจนกว่าจะบรรลุสิทธิ





๓) พระชางคุลีโพธิสัตว์ (Janguli) เป็นหนึ่งในกลุ่มเทวี ๑๒ องค์ที่กลายร่างมาจากธารณีมนตร์เช่นกัน แต่ในทางเทววิทยาว่าเป็นเทพนารีองค์เดียวกับ พระมนัสเทวี หรือพระมนสาเทวีของศาสนาฮินดู

ในคัมภีร์สาธนะมาลากล่าวว่าพระนางปรากฏมาแล้วตั้งแต่พุทธกาล โดยคัมภีร์มหายานฉบับอื่นๆ ก็กล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสบอกมนตร์ประจำเทวีองค์นี้แก่พระอานนท์ ชาวพุทธฝ่ายมหายานนับถือกันว่าทรงเป็นเทวีผู้ปกปักรักษามนุษย์จากอันตรายของนาคและงู ทั้งอาจรักษาคนที่ถูกพิษงูได้ด้วย และในคัมภีร์สาธนะมาลาก็มีมนต์อยู่ ๔ บทที่เกี่ยวข้องกับเทพนารีองค์นี้ ซึ่งใช้ถอนพิษงูจากแผลที่ถูกงูกัด

พระชางคุลีทรงมีวรรณะขาว มีเศียรเดียวสวมชฎามุกุฎประดับด้วยพังพานนาค ฉลองพระองค์ขาวประดับเพชรและนาคสีขาว (งูเผือก) และยังมีนาคที่ทำเป็นต่างหู และเข็มขัดอีกด้วย พระนางประทับบนนาคหรืองู หรือสัตว์ชนิดอื่นอีก ทรงมี ๔ กร สองพระหัตถ์เล่นพิณ อีกพระหัตถ์จับงูเผือก เทวรูปเช่นนี้ปรากฏทั้งในจีนและทิเบต ส่วนในอินเดียนั้นจะเหมือนกับพระมนัสเทวีมาก คือไม่ถือพิณ





๔) พระมหามายุรีโพธิสัตว์ (Mayuri) ทรงกลายร่างมาจากคาถาที่ใช้แก้พิษงู เป็นเทพนารีองค์หนึ่งในคณะเทวีปัญจรักษา และอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิ พระนางมี ๒ วรรณะที่เด่นๆ คือเขียวและเหลือง ถ้าวรรณะเขียวมี ๓ เศียร ๖ กร และมีรูปพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิบนศิราภรณ์ แต่ถ้าเป็นวรรณะเหลืองมีเศียรเดียว ๒ กร พระหัตถ์ขวาถือนกยูง พระหัตถ์ซ้ายทำปางวรทมุทรา และไม่มีรูปพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิบนศิราภรณ์

พระมหามายุรีมักปรากฏพระองค์พร้อมกับพระสิตตาราและพระมาริจี หรือบางครั้งก็ปรากฏพร้อมกับพระชางคุลีและพระเอกชฎา พระนางทรงได้รับการนับถือทั้งในอินเดีย เนปาล จีน ทิเบต และญี่ปุ่น พระนามภาษาญี่ปุ่นคือ คุชาเมียวโอ

มนต์สำหรับบูชาพระมหามยุรี คือ โอม มะยุรา กรันเต สะวาหะฯ




        
๕) พระสรัสวดีโพธิสัตว์ (Saraswati) เป็นมหาเทวีที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานได้รับมาจากศาสนาพราหมณ์ ทรงเป็นเทวีแห่งวิชาความรู้ ดนตรีและกาพย์กลอน ชาวพุทธมหายานได้จัดให้เป็นศักติของพระโพธิสัตว์มัญชุศรีซึ่งเป็นเทพแห่งวิชาการเช่นกัน คัมภีร์สาธนะมาลาบรรยายว่าผู้ที่ต้องการความฉลาดรอบรู้ต้องบูชาพระสรัสวดี
        
พระสรัสวดีทรงมี ๔ ปางที่สำคัญ คือ

มหาสรัสวดี พระหัตถ์ขวาทำปางวรัทมุทรา พระหัตถ์ว้ายถือดอกบัวขวา มีเทพบริวารแวดล้อม ๔ องค์

วัชรวีณาสรัสวดี ทรงถือวีณาในพระหัตถ์ทั้งสอง

วัชรศารทา มี ๓ พระเนตร ทรงสวมศิราภรณ์ประดับด้วยพระจันทร์ พระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์ พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว ประทับนั่งบนดอกบัว

วัชรสรัสวดี ทรงถือวัชระและดอกบัวซึ่งมีคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาปรากฏอยู่ด้วย
        
รูปตันตระของพระสรัสวดีในทิเบตจะทรงมีวรรณะแดง มี ๓ เศียร ๖ กร ส่วนในญี่ปุ่นเป็นรูปสาวงามถือพิณบีวะ เรียกว่า เบ็นเท็น หรือ ไดเบ็นไซเท็น และเป็นหนึ่งในคณะเทพแห่งโชคลาภ ๗ องค์ของศาสนาชินโต

มนต์สำหรับบูชาพระสรัสวดี คือ โอม ปรัชญา วรรธะนี ชะวาลา เมธาวรรธะนี ธีริ ธีริ พุทธิวรรธะนี สะวาหะฯ




        
๖) พระภฤกุฎีโพธิสัตว์ (Bhrikuti) ตามคัมภีร์สาธนะมาลาว่าทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอมิตาภะ และปรากฏพระองค์พร้อมกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ในรูปที่เรียกว่าขสรรปณะ) พร้อมด้วยพระนางตารา พระสุธนกุมารและพระหัยครีพ หรือปรากฏพระองค์เฉพาะกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ในรูปที่เรียกว่า รักตโลเกศวร) และพระนางตารา
        
พระภฤกุฎีทรงมีวรรณะเหลือง มีเศียรเดียว ๔ กร ทำปางวรัทมุทรา ถือสร้อยประคำ กลศ (หม้อน้ำ) และตรีศูล บนศิราภรณ์มีรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะ ถ้าปรากฏร่วมกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในรูปขสรรปนะ จะทรงมี ๔ กร ทำปางพุทธศรามณะ (แสดงความเคารพ) ถือสร้อยประคำ ตรีศูลและหม้อน้ำ เทวรูปเช่นนี้นิยมกันมากในชวาโบราณ




        
๗) พระโพธิสัตว์วสุธารา (Vasudhara) เป็นองค์เดียวกับ พระศรีวสุนธรา หรือพระแม่ธรณีในศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท แต่ทางมหายานมิได้ให้ความสำคัญกับทิพยภาวะของความเป็นพระแม่ธรณี และบทบาทในพุทธประวัติตอนมารผจญ มักจะบรรยายว่าเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์มากกว่า และในทางมหายานนั้นก็ทรงเป็นศักติของพระโพธิสัตว์ชัมภล หรือพระกุเวรซึ่งได้รับมาจากศาสนาฮินดู

ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะอยู่ ๓ บทกล่าวถึงเทพนารีองค์นี้ บทหนึ่งกล่าวว่าพระนางทรงอยู่ในตระกูลพระธยานิพุทธอักโษภยะ แต่อีก ๒ บทกล่าวว่าทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธรัตนสัมภวะ พระวสุธาราทรงมีพระเศียรเดียว ๒ กร ทำปางวรทมุทราและทรงถือรวงข้าว บนศิราภรณ์มีรูปพระธยานิพุทธอักโษภยะ แต่ในทางตันตระซึ่งพบเห็นได้ง่ายกว่านั้น จะมีถึง ๓ เศียรและ ๖ กร

มนต์สำหรับบูชาพระวสุธารา คือ โอม วะสุธาริณี สะวาหะฯ หรือ โอม ศรี วะสุธารา รัตนะ นิธานะ กะเษตรี สะวาหะฯ





๘) พระหริตีโพธิสัตว์ (Hariti) เดิมเป็นยักษิณีมีนามว่า อภิรดี มีลูกถึง ๕๐๐ ตน แต่ชอบกินเด็ก ได้ขโมยเด็กในเมืองราชคฤห์ไปกินเป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำลูกคนเล็กที่นางรักที่สุดไปซ่อนไว้ นางเที่ยวหาจนทั่วก็ไม่พบ จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความเศร้าโศกเสียใจ พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่าลูกของนางมีตั้ง ๕๐๐ หายไปคนเดียวทำไมจึงเดือดร้อน ทั้งๆ ที่นางไปกินลูกของมนุษย์ทั่วไปไม่มีความสงสารเลย นางจึงได้คิดและกลับใจ สัญญาว่าจะเลิกกินเด็กโดยเด็ดขาด พระพุทธเจ้าจึงคืนลูกให้ และประชาชนชาวราชคฤห์ก็สัญญาว่าแต่ละครอบครัวจะคอยหาอาหารอื่นให้นางเป็นการตอบแทน

เทวรูปพระหริติมักจะนั่งห้อยขาข้างหนึ่งและอุ้มเด็กไว้บนตัก ส่วนอีกพระหัตถ์หนึ่งถือผลทับทิม ถ้าเป็นรูปยืนจะอุ้มเด็กไว้แนบอก และมีเด็กล้อมรอบ ๕ คน แทนลูกทั้ง ๕๐๐ ของพระนาง บางครั้งปรากฏพร้อมพระสวามีคือยักษ์ปัญจิกาซึ่งถือหอกไว้ในมือขวาและถือถุงเงินในมือซ้าย ในทิเบตเทวรูปพระนางหริติทรงกอดเด็กไว้และพระหัตถ์ทำปางวรทมุทรา อีกพระกรโอบกระรอกไว้และพระหัตถ์ถือภาชนะใส่เพชรพลอย

มนต์บูชาพระหริติ คือ โอม หะริติ ปิณฑะเก ประติจจะ สะวาหะฯ

ปัจจุบันอิตถีโพธิสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จะได้รับความนิยมสูงสุดในศาสนาพุทธวัชรยานสายทิเบตครับ ส่วนในทางพุทธมหายานจีนที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะมหายานจีนไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิง

จนเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้จึงมีการ promote บางองค์ขึ้นมา เช่น พระมหามายุรีโพธิสัตว์ ซึ่งที่จริงก็มีคติการบูชาอย่างเงียบๆ แต่มั่นคงในหมู่ชาวจีนมานานแล้ว และ พระมาริจีโพธิสัตว์ ซึ่งองค์หลังนี้ก็เป็นเพราะอิทธิพลความโด่งดังของของเทศกาลกินเจของชาวจีนโพ้นทะเลนั่นเอง (ต้องเน้นว่า จีนโพ้นทะเล เพราะจีนแผ่นดินใหญ่เขาไม่มีเทศกาลกินเจแบบนี้)

ส่วนพระโพธิสัตว์ตารา ซึ่งชาวทิเบตและชาวตะวันตกนิยมบูชาสูงสุด ทางจีนก็ยังเฉยๆ นะครับ เพราะบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมแทนอยู่แล้ว กล่าวกันว่า มหายานจีนมีพระโพธิสัตว์กวนอิม วัชรยานทิเบตก็มีพระโพธิสัตว์ตารา ที่ทรงอานุภาพในด้านเมตตาบารมีเหมือนๆ กัน จึงไม่จำเป็นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องรับของอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปเพิ่มอีก

คนขายพระในท่าพระจันทร์ ถึงได้เรียกเทวรูปพระนางตาราว่า กวนอิมทิเบต ไงครับ


.............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด



วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พิธีกรรมเกี่ยวกับเทวรูป

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์


ภาพจากพิธีเทวาภิเษก พระพิฆเนศ รุ่น มหาบารมี ๓๐ ทัศ
หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย วัดสุทธาวาสวิปัสสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

เทวรูปทุกชนิด เมื่อได้ปั้น, แกะสลัก หรือหล่อหลอมสำเร็จออกมาจากโรงงาน แม้จะมีลักษณะทางประติมานวิทยาและองค์ประกอบอื่นๆ ครบถ้วนดังที่ ก็ยังไม่สามารถใช้เป็นสื่อขององค์เทพ หรือนำมาบูชาได้ทันทีนะครับ

ยังคงเป็นเพียงประติมากรรม หรือ ศิลปวัตถุที่ทำเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ เท่านั้น หาได้มีพลังความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ไม่

การทำให้เทวรูปเหล่านี้มีพลังศักดิ์สิทธิ์ เป็นวัตถุมงคลที่มีอานุภาพเชื่อมโยงระหว่างผู้บูชากับองค์เทพ จำเป็นจะต้องผ่านพิธีกรรม ที่มีการประจุพลังจิต เวทมนต์ และคาถาอาคมในการอัญเชิญพระนาม คุณสมบัติ และเทวานุภาพในด้านต่างๆ เข้าในองค์เทวรูปเหล่านั้นเสียก่อนครับ

มีคำศัพท์ในทางพิธีกรรมเกี่ยวแก่รูปเคารพ ที่คนทั่วไปยังสับสนกันอยู่มาก และผู้บูชาเทพควรจะจดจำไว้ ได้แก่


ภาพจาก http://wetv.co.th

เบิกเนตร

คือการเรียกอาการ หรือประจุพลังเข้าสู่รูปเคารพ ให้รูปเคารพนั้นเหมือนกับมีทิพยเนตร คือมองเห็นผู้ที่กราบไหว้บูชา

วิธีที่นิยมกันคือเอาดินสอดำแบบโบราณวงรอบดวงตาข้างขวาและข้างซ้ายของรูปเคารพ โดยมีคาถากำกับ นิยมใช้กับรูปเคารพที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดบูชาประจำบ้าน เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเทวาภิเษกและพุทธาภิเษก รวมทั้งมังคลาภิเษกด้วย


ภาพจาก http://www.maeon.ac.th

พุทธาภิเษก

คือพิธีกรรมทำให้รูปเคารพ หรือวัตถุมงคลประเภทพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ และพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นขนาดบูชา คือ หน้าตัก ๑ นิ้วขึ้นไป หรือขนาดห้อยคอ, เหรียญ กลายสภาพจากงานประติมากรรมที่ถูกปั้นหล่อขึ้นมา เป็นสื่อที่สามารถประจุและถ่ายทอดสิริมงคลแห่งคุณพระรัตนตรัย หรือบารมีพระโพธิสัตว์ หรือกำลังเทวดาที่รักษาพระพุทธรูป รักษาพระไตรปิฎก รักษาพุทธสถานทั้งปวง หรือญาณทิพย์ของพระเกจิอาจารย์ทั้งหลาย มาสู่ผู้บูชาได้




เทวาภิเษก

คือพิธีกรรมทำให้รูปเคารพ หรือวัตถุมงคลประเภทเทวรูป ไม่ว่าจะเป็นขนาดบูชา คือ หน้าตัก ๑ นิ้วขึ้นไป หรือขนาดห้อยคอ, เหรียญ และไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธหรือศาสนาใดก็ตาม กลายสภาพจากงานประติมากรรมที่ถูกปั้นหล่อขึ้นมา เป็นสื่อที่สามารถประจุและถ่ายทอดสิริมงคล คุณสมบัติ เทวานุภาพ และพระบารมีขององค์เทพเจ้าต่างๆ มาสู่ผู้บูชาได้


ภาพจาก http://www.nac2.navy.mi.th

มังคลาภิเษก

คือพิธีกรรมทำให้รูปเคารพ หรือวัตถุมงคลประเภทพระฤาษี อดีตกษัตริย์ และเจ้านายหรือราชนิกูลในอดีต รวมทั้งวีรบุรุษ วีรสตรี ไม่ว่าจะเป็นขนาดบูชา คือ หน้าตัก ๑ นิ้วขึ้นไป หรือขนาดห้อยคอ, เหรียญ กลายสภาพจากงานประติมากรรมที่ถูกปั้นหล่อขึ้นมา เป็นสื่อที่สามารถประจุและถ่ายทอดญาณบารมี คุณสมบัติ เดชานุภาพ บุญญานุภาพ และพระบารมีของอดีตกษัตริย์ หรือบุคคลนั้นๆ มาสู่ผู้บูชาได้


ภาพจาก http://amulet.goosiam.com

ปลุกเสก

คือพิธีกรรมทำให้รูปเคารพ หรือวัตถุมงคลประเภทเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ที่เป็นชั้นผี ไม่ว่าจะเป็นขนาดบูชา คือ หน้าตัก ๑ นิ้วขึ้นไป หรือขนาดห้อยคอ, เหรียญ รวมทั้งเครื่องรางชนิดต่างๆ กลายสภาพจากงานประติมากรรมที่ถูกปั้นหล่อขึ้นมา เป็นสื่อที่สามารถประจุและถ่ายทอดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ของภูตผีเหล่านั้น รวมทั้งพลังจิตของคณาจารย์ผู้ทำวัตถุเครื่องรางเหล่านั้น และพลังอำนาจตามสายวิชาของเครื่องรางเหล่านั้นมาสู่ผู้บูชาได้

จะเห็นว่า พิธีกรรมที่เกี่ยวกับเทวรูป มีเพียง ๒ อย่าง คือ เบิกเนตร กับ เทวาภิเษก พิธีอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่ใช่นะครับ

แต่การเทวาภิเษก สามารถนิมนต์พระสงฆ์เข้าร่วมพิธีได้ ในลักษณะของการ นั่งปรก




การนั่งปรก คือการที่พระสงฆ์ผู้มีพลังจิตอันบริสุทธิ์ อันเกิดจากศีลาจาริยวัตรอันงดงาม ได้อธิษฐานตั้งสมาธิ ประจุกระแสพลังจิตอันมีอานุภาพของท่านเข้าสู่วัตถุมงคล พลังจิตอันบริสุทธิ์เหล่านี้จะทำให้วัตถุมงคลต่างๆ กลายสภาพจากงานประติมากรรม หรือ ศิลปวัตถุชิ้นหนึ่ง กลายเป็นรูปเคารพ หรือวัตถุบูชาที่พร้อมรับการประจุมนต์และพลังอันเกี่ยวเนื่องด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ โดยเฉพาะ โดยพราหมณ์หรือผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ จะรับหน้าที่ในการประจุมนต์คาถาที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ ต่อไป

เทวรูปและวัตถุมงคลในเมืองไทยที่ผ่านทั้งการนั่งปรกของพระสงฆ์ และพิธีกรรมในสายพราหมณ์ที่ถูกต้อง จึงมักมีอานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์ในระดับสูงกว่าเทวรูปที่ผ่านเพียงพิธีพราหมณ์อย่างเดียว ตามแบบของเทวศาสตร์อินเดียที่เป็นต้นตำรับ เพราะมีพื้นฐานคือพลังจิตอันบริสุทธิ์และทรงอานุภาพดังกล่าว ซึ่งพราหมณ์ไม่มี

เทวรูปที่ผ่านพิธีทางเทวศาสตร์อินเดีย ที่จะมีพลังเข้มขลังเท่าเทวรูปของไทยได้ มักมีแต่เทวรูปที่ผ่านพิธีพราหมณ์ โดยมีฤาษี และโยคีผู้ทรงฌานสมาบัติจริงๆ ร่วมประจุพลังเท่านั้น

กล่าวคือ อาศัยพลังจิตของฤาษีและโยคีเหล่านั้นแปรสภาพเทวรูปให้พ้นจากประติมากรรมทั่วๆ ไปเป็นวัตถุมงคลที่พร้อมรับการประจุพลังศักดิ์สิทธิ์ เหมือนการนั่งปรกของพระสงฆ์ไทยไงล่ะครับ

แต่พิธีกรรมเช่นนี้ ในอินเดียทำกันไม่มากนัก การเทวาภิเษกเทวรูปในอินเดียส่วนใหญ่กระทำโดยพราหมณ์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่เหมือนการเทวาภิเษกในเมืองไทยที่นิมนต์พระเกจิอาจารย์นั่งปรกกันอยู่เสมอ

แต่ถ้ามีแต่การนั่งปรกอย่างเดียว ไม่มีการเทวาภิเษกโดยประจุพระนาม และคุณสมบัติต่างๆ ขององค์เทพตามพิธีพราหมณ์ที่ถูกต้อง เทวรูปนั้นก็เป็นได้แต่เพียงวัตถุมงคลอย่างหนึ่ง ไม่อาจจะถือว่าเป็นสื่อหรือสิ่งบูชาของเทพองค์ใดได้เช่นกันครับ

ผู้จะรับเทวรูปมาประดิษฐาน จึงควรจะได้ติดตามสอบค้นประวัติในทางพิธีกรรมเกี่ยวกับเทวรูปองค์นั้นให้แน่นอนเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

หรือถ้าได้รับทราบล่วงหน้าว่า จะมีพิธีกรรมเกี่ยวกับเทวรูปองค์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน ก็ควรหาโอกาสไปร่วมพิธี และสังเกตดูว่าในการเทวาภิเษกนั้น ได้กระทำพิธีถูกต้อง เป็นระบบ และเป็นมาตรฐานมากน้อยเพียงใด ฤกษ์ยามในการกระทำพิธีนั้นเป็นอย่างไร พระเกจิอาจารย์ ปรมาจารย์ผู้กระทำพิธีนั้น มีความรู้ความชำนาญเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างหรือไม่

ส่วนการบูชาเทวรูปที่ไม่ผ่านพิธีกรรมใดๆ ตามที่คนไทยเราส่วนมากนิยมทำกัน คือไปซื้อเทวรูปจากร้านสังฆภัณฑ์บ้าง จากตลาดพระที่ขายเทวรูปจากโรงงาน เช่น ตลาดพระท่าพระจันทร์ ตลาดพระวัดราชนัดดา หรือตามแผงข้างทางมาตั้งบูชาเลยนั้น เป็นการบูชาที่ไร้ผลนะครับ เนื่องจากเทวรูปที่ไม่ผ่านพิธีย่อมไม่เป็นสื่อที่ทำให้องค์เทพทรงรับรู้การบูชาใดๆ ที่กระทำต่อเทวรูปนั้น


ภาพจาก http://mahatapsong.blogspot.com

ทั้งยังจะเป็นช่องทางที่ทำให้มีสัมภเวสีหรือผีเร่ร่อนชนิดต่างๆ เข้าไปอาศัยในเทวรูป เพื่อคอยกินเครื่องเซ่นไหว้แทน กลายเป็นอาถรรพณ์ และเป็นการบูชาผีโดยเข้าใจผิดว่าเป็นเทพเจ้าด้วยครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นสมควรกล่าวถึง ก็คือ แม้บางคนจะรู้แล้วว่า เทวรูปบูชาจำเป็นต้องผ่านพิธี แต่ก็ยังมีความคิดอยู่ว่า จะต้องเป็นพิธีที่ถูกที่สุด หรือถ้าเป็นไปได้ คือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยแม้สักบาทเดียว

ที่ผ่านมา ผู้ที่เช่าเทวรูปจากร้านค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นย่านพาหุรัด หรือตลาดพระวัดราชนัดดา จึงมักมีการบอกต่อๆ กันให้นำเทวรูปไปให้พราหมณ์เจิมที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ วัดเทพมณเฑียร เสาชิงช้า และวัดวิษณุ ยานนาวา

คนก็แห่กันเอาเทวรูปไปให้พราหมณ์เหล่านั้นทำพิธี มีไม่น้อยที่เป็นพวกทำธุรกิจค้าขายเทวรูป ก็ฉวยโอกาสขนกันไปทีเป็นสิบๆ องค์ ชนิดที่ว่า ไม่มีความเกรงใจพราหมณ์


ภาพจาก http://kanchanapisek.co.th

เพราะเทวรูปที่นำไปนั้น พราหมณ์เจิมให้ทุกองค์ แต่ถึงตอนเจ้าของเทวรูปบริจาคเงินตอบแทน กลับมีหลายคนที่บริจาคเพียงเล็กน้อย ไม่กี่สิบบาท ถ้ายังเป็นเด็กมัธยมปลาย หรือนักศึกษา ก็อ้างว่าฐานะยากจนบ้าง หรือยังเรียนอยู่ ไม่มีเงินบ้าง

แต่คนกลุ่มเดียวกันนี้ มีเงินไปกินฟาสต์ฟู้ดมื้อละหลายๆ ร้อยบาทได้นะครับ

ผมดูมานานแล้ว เห็นว่าสังคมผู้บูชาเทพของเรา กำลังเอาเปรียบ ฉกฉวยประโยชน์จากความใจดีของพราหมณ์ เพราะพราหมณ์ไม่เรียกร้อง เทวสถานทั้ง ๓ แห่งที่กล่าวมาจึงกลายเป็นเหยื่อของพวกบูชาเทพแบบมักง่ายที่ชอบของฟรี หรืออยากได้เทวรูปที่ผ่านพิธีถูกต้องแต่ไม่อยากจ่ายแพงมาตลอด

จึงอยากฝากถึงทุกท่าน ที่กำลังจะชักชวนหรือแนะนำใคร ให้นำเทวรูปไปเจิมที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ วัดเทพมณเฑียร วัดวิษณุ หรือวัดอะไรก็ตาม ให้พยายามทำบุญให้เหมาะสมกับปริมาณหรือขนาดของเทวรูปที่นำไปเจิมนั้นด้วยนะครับ

ถ้าไม่แน่ใจว่า อัตราใดจึงจะเหมาะสม ผมมีข้อแนะนำ คือเอาราคาที่เช่าบูชาเทวรูปองค์นั้นมาเป็นเกณฑ์

เช่น สมมุติว่าเช่าเทวรูปซิลิก้าขนาด ๕ นิ้วมาจากวัดราชนัดดา ราคา ๓๐๐ บาท เมื่อนำเทวรูปนั้นไปให้พราหมณ์เจิม ก็ควรบริจาคเงินไม่น้อยกว่านั้น

แล้วถ้ายกไป ๗ องค์ สมมุติว่าองค์ละ ๓๐๐ บาท ก็ควรบริจาคอย่างต่ำ ๒,๑๐๐ บาท

ซึ่งตามธรรมเนียมไทยเราในเรื่องเช่นนี้ เรานิยมปัดเศษขึ้นด้วยซ้ำ เพราะถือว่าเป็นการทำบุญครับ

ดังนั้นถ้าสมควรต้องบริจาคอย่างต่ำ ๒,๑๐๐ บาท เราก็ควรจะปัดเศษขึ้น เป็นบริจาคจริง ๒,๕๐๐ บาท หรือ ๓,๐๐๐ บาทด้วยซ้ำไป แล้วแต่ผู้บริจาคจะเห็นว่าเหมาะสม



ภาพจาก http://www.youtube.com

ความเหมาะสมในการทำบุญ เมื่อนำเทวรูปไปให้พราหมณ์เจิม เราจะอ้างว่าทำตามกำลังทรัพย์ของเรา หรือตามกำลังศรัทธาไม่ได้

เพราะถ้าเรามีปัญญาซื้อเทวรูป และอยากจะบูชาเทพให้ดีๆ เราควรมีปัญญาตอบแทนผู้อื่นในการทำสิ่งดีๆ ให้แก่เรา โดยเฉพาะการทำให้เราได้เทวรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ และทำให้เราได้รับพรจากการบูชา ในระดับที่เงินมากมายมหาศาลเพียงใดก็หาซื้อไม่ได้

อีกทั้งคนที่จงใจทำบุญตอบแทนเพียงเล็กน้อย โดยอ้างว่าทำไปตามกำลังศรัทธานั้น ส่วนใหญ่เมื่อเวลาจะใช้จ่ายเงินเพื่อการอื่นที่ไม่จำเป็น กลับจ่ายได้ไม่อั้น แต่พอจะบูชาเทพ ก็จะพยายามหาซื้อเทวรูปองค์ที่ถูกที่สุด แล้วก็พยายามหาทางจ่ายค่าพิธีอย่างถูกที่สุด ดังที่กล่าวแล้วครับ

ผมบอกตรงๆ ที่ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปีที่อยู่ในวงการนี้มา การที่เทวสถานแห่งใดก็ตาม กลายเป็นที่ตักตวงผลประโยชน์จากนักบูชาเทพที่มักง่ายนั้น เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เทวสถานนั้นเสื่อมถอยจากความเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่พึ่งทางใจของผู้บูชาเทพในสังคมของเราได้

เหตุปัจจัยดังกล่าว ก็คืออัปมงคล ที่ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความโลภ เอาแต่ได้ และมักง่ายของคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากทางเทวสถานอย่างไม่มีความละอายนั่นเองครับ


...............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พระคเณศไม่ใช่เทพแห่งศิลปะ

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




ผมได้รับคำถามอยู่เสมอนะครับ ว่า ระหว่างพระคเณศ (พระพิฆเนศวร์) กับพระสรัสวดีนั้น ท่านใดกันแน่ที่ทรงเป็นเทพแห่งศิลปะ

เรื่องนี้เคยเขียนไว้ในหนังสือ ตรีเทวปกรณ์ แล้ว แต่เมื่อเร็วๆ นี้ก็ยังมีผู้ถามอีก จึงคิดว่าน่าจะนำมาเขียนเป็นการเฉพาะอีกสักที 

ผู้อ่านท่านใดที่ทราบอยู่แล้ว ถ้าจะรู้สึกเบื่อไปบ้างก็โปรดอภัย

ในทรรศนะของชาวอินเดีย ศิลปะเป็นอัญมณีล้ำค่าของมนุษย์ และศิลปะการแสดงเช่นนาฏกรรมและดนตรีนั้นถือว่าเป็นเลิศกว่าศิลปะทุกแขนงครับ 

จึงมีเทพบรมครูหรือ คุรุเทพ แตกต่างกันไปตามแต่ละนิกาย

แต่คติความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดนั้นนับถือ พระสรัสวดี ว่าเป็นเทพบรมครูทั้งด้านศิลปะการแสดง รวมถึงศิลปวิทยาการทุกแขนง 

จนการศึกษาเล่าเรียน หรือแม้แต่การศึกษาพระเวท ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนาพราหมณ์มาแต่เดิม พระนางก็ยังทรงเป็นมารดาแห่งพระเวท




         
และถ้าจะดูกันจริงๆ แล้ว ทั้งประเทศอินเดียในอดีตและปัจจุบันไม่มีการนับถือพระคเณศในฐานะบรมครูทางศิลปะ โดยเฉพาะในศิลปะการแสดงเหมือนที่ไทยเรานับถือกัน
         
พระคเณศเข้ามาเกี่ยวข้องกับการไหว้ครูทางศิลปะ ตลอดจนการศึกษาและการทำงานด้านศิลปะต่างๆ ในอินเดีย เพราะว่าพระองค์เป็นเทพแห่งการเริ่มต้น อุปสรรค และความสำเร็จ 

การประกอบพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งการไหว้ครู จะต้องมีการอัญเชิญพระองค์เป็นลำดับแรก เพื่อให้ทรงขจัดอุปสรรคต่างๆ ให้หมดไป  สิริมงคลและความราบรื่นจะได้บังเกิด ความมุ่งหมายในการประกอบพิธีกรรมนั้นๆ ก็จะได้สัมฤทธิ์ผลไงครับ
         
ดังนั้น จึงนิยมกันต่อไปว่า เรื่องที่สำคัญเช่นการศึกษา และการประกอบสัมมาชีพทุกอย่าง เมื่อจะริเริ่มก็ควรไหว้พระคเณศเสียก่อนด้วย
         
การที่คนอินเดียเชื่อถือเช่นนี้ จึงไม่เกี่ยวกับการยกย่องให้พระคเณศเป็นเทพบรมครูทางศิลปะ อย่างที่คนไทยเรานิยมกัน

เพราะหลังจากไหว้พระคเณศ เพื่อให้สิ่งที่จะกระทำนั้นราบรื่นสำเร็จแล้ว เขาถึงจะไหว้องค์บรมครูของแต่ละสาขานั้นโดยตรง 

และถ้าในทางศิลปะก็คือ พระสรัสวดี

ในวัน วสันต์ปัญจมี (Vasant Panchami) หรือวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี เป็นวันไหว้พระสรัสวดีโดยเฉพาะ ผู้ประกอบอาชีพทางศิลปะทุกสาขาจะนำเครื่องมือทำมาหากินของตนไปรับการเจิมหน้าเทวรูปของพระนาง 

ซึ่งในวันไหว้พระศิวะ เช่น ศิวาราตรี (Shiva Ratri) ที่ยกย่องกันว่าเป็นเทพแห่งนาฏกรรม หรือวันไหว้พระคเณศ เช่น คเณศจตุรถี (Ganesh Chaturthi) ไม่มีการทำแบบนี้
         
ว่ากันตามหลักเทววิทยาแล้ว พระคเณศไม่เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงจริงๆ ครับ 

แม้ในทางประติมานวิทยา จะมีรูปที่กำลังฟ้อนรำ หรือ นารทนะคเณศ (Naradana Ganesh) แต่ก็ไม่ถือว่าทรงเป็นเทพแห่งนาฏศิลป์ เพราะเป็นแต่คติความเชื่อที่ได้รับมาจากการนับถือพระศิวะในทางนาฏราชเท่านั้น




         
ส่วนเทวรูปพระคเณศทรงวีณา หรือ วีณะ คณปติ (Vina Ganapati) ก็อาจมีส่วนสร้างความสับสนได้พอสมควร ในแง่ที่ว่าจะทรงเป็นเทพแห่งดนตรีหรือไม่ 

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ พระคเณศปางนี้เกิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อยุคหลังมากแล้ว ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกับปางฟ้อนรำ 

คือ ประสงค์จะให้เกี่ยวข้องกับการร้องรำทำเพลง เพื่อให้เกิดมงคลในด้านของความรื่นรมย์และความบันเทิงใจ ในสถานที่ที่มีการประดิษฐานเทวรูปเช่นนี้ แต่มิได้หมายความว่าทรงเป็นคีตาจารย์
         
พระสรัสวดีเท่านั้นที่ทรงเป็นบรมครูตัวจริงในศาสตร์แขนงนี้ ดังมีการยืนยันไว้ในคัมภีร์เก่าๆ แม้แต่คัมภีร์ในนิกายที่มิได้นับถือพระนางมากนักก็ยังมี และวีณาที่ทรงถืออยู่เป็นประจำนั้นก็เป็นเรื่องของการดนตรีและนาฏศิลป์โดยตรง

เทพอื่นที่ถือวีณาเป็นสัญลักษณ์เช่นเดียวกับพระนางนั้น แม้ว่าจะมีอยู่บ้าง เช่น  พระนารท (Narada) แต่ก็เพราะว่าเป็นเทวฤาษีที่เกี่ยวข้องกับพวกคนธรรพ์เท่านั้น

จึงแม้จะได้รับการบูชาในฐานะ
ครูดนตรี ก็เฉพาะใน คานธรรพเวท ไม่รวมถึงศิลปวิทยาแขนงอื่น อีกทั้งบทบาทที่สำคัญของเทวฤาษีองค์นี้ ก็มีอยู่เพียงอการขับร้องเพลงสรรเสริญพระวิษณุนั่นเอง

นอกจากนี้ ในการแสดงนาฏศิลป์อินเดียอย่างเก่าจริงๆ การเบิกโรงจะกระทำโดยการฟ้อนรำพระสรัสวดี ไม่ใช่ศิวะนาฏราช

ส่วนในศิลปะแขนงอื่นๆ เราก็อาจจะมองเห็นว่าพระคเณศเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่มาก โดยเฉพาะด้านหนังสือ เพราะทรงเป็นผู้รจนาคัมภีร์ มหาภารตะ (Maha Bharata)




         
แต่ครูหนังสือจริงๆ ก็ยังคงเป็นพระสรัสวดี เพราะถือกันว่า ทรงเป็นผู้ประทานอักษรเทวนาครีแก่มนุษยโลก  

ทั่วประเทศอินเดีย จึงมีวันไหว้ครูเมื่อเริ่มการศึกษาตามโรงเรียนต่างๆ ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า อักษรารัมภา (Ahshararambha) ครูที่ไหว้กันนั้น ก็คือพระสรัสวดี
         
การนับถืออย่างนี้ ที่จริงก็เคยเข้ามาถึงเมืองไทย และปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาครับ 

ในด้านศิลปะการแสดง ก็มีหลักฐานอยู่ในบทไหว้ครูละครชาตรี ซึ่งมีพื้นฐานดั้งเดิมมาจากละครอยุธยาเช่นกัน แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังมีคำไหว้พระสรัสวดีหลงเหลืออยู่ 

ไม่มีการไหว้เทพองค์อื่น แม้แต่พระคเณศ แสดงว่า แต่เดิมไทยเราก็นับถือพระสรัสวดีเป็นครูดนตรีและนาฏศิลป์เหมือนกัน 
         
ส่วนในด้านหนังสือ ในแบบเรียนอักษรศาสตร์เล่มแรกของเรา คือ จินดามณี ฉบับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ก็มีบทไหว้พระสรัสวดีปรากฏอยู่ โดยไม่มีการไหว้เทพอื่นเช่นเดียวกัน
         
แล้วการนับถือพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะในบ้านเรา เริ่มต้นเมื่อไหร่? 

พระสรัสวดีหายไปจากวงการศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ของเราตอนไหน?

คำตอบก็คือ  รัชกาลที่ ๖
         
ไม่ก่อนหน้านั้น เพราะพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับพระคเณศ ที่ที่ทรงอธิบายพระราชพิธีสิบสองเดือนก็ดี หรือตอนที่ทรงกล่าวถึงการได้เทวรูปพระคเณศจากชวาก็ดี ไม่ทรงกล่าวว่าเป็นเทพแห่งศิลปะ หรือการประพันธ์หนังสือใดๆ เลย
         
แล้วเหตุใดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับการยกย่องกันว่าทรงเป็นองค์บิดาแห่งวิชาภารตวิทยาในเมืองไทยนั้น จึงไม่ทรงนึกถึง หรือไม่ใส่พระทัยต่อคติการนับถือพระสรัสวดีในด้านนี้อันมีมาแต่เดิม?

ข้อนี้ตอบยากครับ 

แต่เหตุผลหนึ่งก็คงเป็นเพราะความศรัทธาเฉพาะบุคคล 

เราเห็นกันแล้วว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงนับถือพระคเณศมาก งานด้านหนังสือและการละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสรัสวดีทรงเป็นบรมครูมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าก็ทรงถวายความสำคัญแด่พระคเณศหมดสิ้น เมื่อทรงตั้งวรรณคดีสโมสร ก็ทรงอัญเชิญพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์เลยทีเดียว





จนเมื่อกรมศิลปากรเกิดขึ้น และได้รับดวงตราพระคเณศของวรรณคดีสโมสรไปเป็นตราประจำกรม พระคเณศจึงกลายเป็นเทพแห่งศิลปะในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบ
         
รวมทั้งพระสรัสวดีก็หายไป เหลือแต่การนับถือในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมไม่เคยเห็นเป็นหลักเป็นฐานอะไรจนทุกวันนี้ 

ที่ยังดูเป็นรูปธรรมเสียกว่า คือรางวัลตุ๊กตาทองที่แจกกันอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทย เป็นเครื่องระลึกว่า ครั้งหนึ่งบรรพชนของเราเคยกราบไหว้พระนางเป็นครูศิลปะการแสดงเท่านั้น




         
การนับถือพระคเณศในทางศิลปะวิทยาไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ไม่ใช่การนับถือที่ตรงจุด และการกราบไหว้บูชาที่ตรงจุดนั้นย่อมจะเป็นสิริมงคลมากกว่า

ดังนั้น ถ้าจะไหว้เทพแห่งศิลปะ ก็พึงไหว้พระสรัสวดี
         
แต่ถ้าจะสักการะเพื่อความสำเร็จแห่งกิจการทุกอย่าง ไม่ว่าด้านศิลปะหรือด้านใดก็ตาม พึงนบไหว้พระคเณศ


..............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด