วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พญาครุฑ อานุภาพที่ไร้ผู้ต้านทาน

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*



ภาพจาก Fanpage : Mind GaLLerY

ผมเคยโพสต์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วนะครับ ว่าพญาครุฑเป็นสัตว์วิเศษ เช่นเดียวกับพญานาค

ไม่ใช่เทพ ไม่ใช่อมนุษย์

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา คือ คัมภีร์สังยุตตอัฏฐกถา ได้กล่าวถึงครุฑไว้อย่างชัดเจนว่า ครุฑเป็นนกที่ใหญ่ที่สุดในบรรดานกทั้งหลาย มีนิวาสสถานอยู่ในป่างิ้วบนเขาสิเนรุ 

คัมภีร์นี้บรรยายไว้ว่า ครุฑนั้นมีขนาดสูงถึง ๑๕๐ โยชน์ (หนึ่งโยชน์เท่ากับ ๑๖ ก.ม.) ปีกยาวข้างละ ๕๐ โยชน์ หางยาว ๑๐ โยชน์ คอยาว ๓๐ โยชน์ ปากกว้าง ๙ โยชน์ ขายาว ๑๒ โยชน์ เวลาบินทำให้เกิดลมพายุพัดไปไกล ๗๐๐-๘๐๐ โยชน์   

ขนาดที่บรรยายในคัมภีร์นี้ ก็แน่นอนละครับว่า คงเป็นเรื่องพรรณนาเกินไปบ้าง 

แต่ข้อยุติที่ว่า ครุฑเป็นสัตว์  ไม่ใช่อมนุษย์นั้น ก็ปรากฏอยู่ในข้อความเหล่านี้เอง 

คือไม่เพียงไม่มีการพูดถึงลำตัวหรือแขนที่เป็นแบบของมนุษย์เท่านั้น ยังกล่าวว่าคอยาวถึง ๓๐ ส่วน เมื่อวัดจากทั้งตัว ๑๕๐ ส่วน

คอยาวเกือบ ๑ ใน ๓ ของความยาวทั้งหมดเชียวนะครับ 

ครุฑตามคัมภีร์นี้ จึงไม่อาจเป็นครึ่งคนครึ่งนก หรืออมนุษย์ อย่างที่เราคิดกันได้     

ส่วนถ้าจะเปรียบเทียบกับคติดั้งเดิมของทางอินเดีย ซึ่งเป็นชนชาติแรกที่พูดถึงครุฑ ก็เป็นสัตว์อย่างชัดเจนเช่นกัน 
         
ตามตำรับดั้งเดิมทางปกรณศาสตร์อินเดีย ครุฑคือพญานกดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง ที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร  และบินได้อย่างรวดเร็วมาก ทั้งความเร็วและพละกำลังของครุฑนั้น น่าสะพรึงกลัวจนไม่อาจประมาณได้  จนชาวอินเดียยกย่องว่ามีฤทธิ์เสมอเทวะ 

และที่สำคัญก็คือ สามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ตามความประสงค์          





แต่ปกติครุฑก็ยังคงเป็นสัตว์ และมีทั่วไปในเทวโลก คนอินเดียโบราณทั้งนับถือและยำเกรงสัตว์วิเศษชนิดนี้  โดยเฉพาะในอินเดียภาคใต้ที่มีครุฑอาศัยอยู่มากที่สุด
 
เมื่อถึงยุคสมัยที่เทวปกรณ์ต่างๆ เฟื่องฟู ครุฑจึงกลายเป็นโอรสของ พระกัศยปเทพบิดร (Kashyapa) กับ พระนางวินตา (Vinta) เดิมก็ต้องคอยรับใช้พวกนาค ซึ่งเป็นโอรสของ พระนางกัทรุ (Kadru) ซึ่งเป็นพระชายาอีกองค์หนึ่งของพระกัศยปะ เพราะพระนางวินตานั้นต้องตกเป็นทาสพระนางกัทรุ ด้วยเหตุแพ้พนัน 

ต่อมา ครุฑจึงไปหาน้ำอมฤตมาไถ่องค์พระมารดา แล้วจึงแก้แค้นด้วยการไล่จับพวกนาคกินเป็นอาหารเสีย        

เรื่องครุฑจับนาคกิน ก็คงจะเหมือนกับนกใหญ่ๆ เช่น นกอินทรี เหยี่ยว หรือนกเค้าแมวที่จับงูกินนั่นละครับ 

แต่เนื่องจากนาคนั้นเป็นสัตว์วิเศษ เป็นงูชนิดใหญ่โตมีฤทธิ์มาก นกล่าเหยื่อทั่วไปไม่มีทางทำอันตรายได้  จึงต้องมีสัตว์วิเศษเช่นกัน คือ ครุฑ มาคอยควบคุมให้เกิดดุลยภาพ 

ถ้าไม่มีครุฑเสียแล้ว ทั้งสามโลกก็จะมีสัตว์ที่มีอันตรายร้ายแรงอย่างนาคอยู่มากเกินไป สรรพชีวิตต่างๆ ก็จะเดือดร้อน          

ตามเทพนิยายอินเดียกระแสหนึ่ง กล่าวว่า ครุฑได้เป็นพาหนะของพระนารายณ์ หรือพระวิษณุมหาเทพ  ด้วยระหว่างพาน้ำอมฤตกลับไปไถ่องค์พระมารดา ครุฑมิได้ดื่มน้ำอมฤตทั้งๆ ที่มีโอกาส  เป็นเหตุให้พระวิษณุมหาเทพทรงพอพระทัย รับสั่งให้ครุฑขอพร

ครุฑก็ขอพรให้ได้อยู่ในที่สูงกว่าพระเป็นเจ้า และขอให้เป็นอมตะ พระเป็นเจ้าก็ประทานให้เป็นไปตามนั้น  
         
เมื่อได้พรแล้ว ครุฑจึงทูลขอถวายพรพระเป็นเจ้าบ้าง

พระเป็นเจ้าจึงขอให้ครุฑเป็นพาหนะของพระองค์ แต่เมื่ออยู่ในไวกูณฐ์ ก็ขอให้อยู่ที่สูงกว่าพระองค์ เพื่อให้ถูกต้องตรงกับพรที่พระองค์ได้ประทานแล้ว ครุฑก็ถวายพรตามนั้น

แต่ก็ยังมีเทพนิยายอีกกระแสหนึ่ง  เล่าไว้ต่างออกไปว่า พระนารายณ์กับครุฑต่อสู้กัน ไม่แพ้ชนะกัน แสดงว่าอานุภาพพญาครุฑนั้นเสมอพระนารายณ์ จึงมีการแลกเปลี่ยนพรระหว่างกันดังกล่าว 


พระนารายณ์ทรงครุฑ ศิลปะอินเดียสมัยปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ นับว่า เป็นความคิดอันปราดเปรื่องของนักเล่านิยายฮินดูครับ

ที่จะผูกเรื่องราวอะไรขึ้นมาก็ได้ ให้คนเชื่อถือ เพื่อปิดบังความจริงที่ว่า เหตุที่ครุฑกลายเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ก็เพราะพวกที่นับถือครุฑ ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพวกที่นับถือพระนารายณ์นั่นเอง 

และการที่ว่า ทั้งครุฑและพระนารายณ์มีฤทธิ์เสมอกัน หรือใครอยู่สูงกว่าใคร แล้วใครต้องขี่หลังใครเวลาไปไหน ก็ล้วนเป็นกุศโลบายในการเอาใจพวกนับถือครุฑ ที่มายอมสวามิภักดิ์นั่นเองละครับ

เพราะครุฑเป็นเพียงสัตว์วิเศษ ย่อมจะไม่มีพลังอำนาจเหนือกว่าเทพเจ้า อย่างพระนารายณ์ได้ 

และความจริง ที่อาจทำให้ปกครองยากนั้น ในแง่ของการเมืองก็ไม่มีประโยชน์ เท่ากับเทพนิยายที่ทำให้ปกครองง่ายกว่าไงครับ   

นักเทววิทยาชาวตะวันตก และแม้ในอินเดียเองเสนอว่า คติความเชื่อเกี่ยวกับครุฑน่าจะมาจากนกอินทรี ถ้าดูภาพครุฑในศิลปะอินเดียโบราณ ดั้งเดิมที่สุดจะมีลักษณะเป็นนก มากกว่ากึ่งคนกึ่งนก โดยเฉพาะครุฑในศิลปะคันธาระ (Gandhara) ซึ่งเก่าไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ นั้น เห็นเป็นนกอย่างชัดเจนทีเดียว
 
ต่อมาจึงค่อยเริ่มมีแขนแบบมนุษย์ด้วย แต่ทั้งลำแขนนั้นก็ยังเต็มไปด้วยขนนกอยู่            

ครุฑทิเบต ศิลปะสมัยปัจจุบัน

ครุฑที่เป็นนกตลอดตัว แต่มีแขนงอกออกมานี้  ในที่สุดก็กลายเป็นต้นแบบของครุฑชนิดกึ่งคนกึ่งนก ซึ่งปรากฏช่วงแรกๆ ที่ ถ้ำอชันตา (Ajanta) และ ถ้ำเอลโลรา (Ellora) ในรัฐมหาราษฎร์ อินเดีย ซึ่งกำหนดอายุได้ราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ ซึ่งต่อมาก็เป็นที่นิยมกันในมายาศาสตร์ทิเบต ขอมโบราณ และไทย

ส่วนในมายาศาสตร์ชวา ยังคงมีการทำรูปครุฑเป็นนกทั้งตัวอยู่จนกระทั่งถึงช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ดังจะเห็นในประติมากรรมสำหรับประกอบเครื่องยศเจ้านาย ตลอดจนเครื่องใช้ของชาวบ้านสามัญ เช่นตะเกียงสำหรับเล่นหนัง


ตราสัญลักษณ์ประจำชาติอินโดนีเซีย

แม้จนปัจจุบัน ก็ยังใช้เป็นเครื่องหมายประจำชาติอินโดนีเซีย  ใช้เป็นยี่ห้อสายการบินแห่งชาติด้วย ก็สายการบิน Garuda Airlines ไงครับ

ในขณะที่บาหลี นิยมครุฑในลักษณะครึ่งคนครึ่งนก ซึ่งทำได้อย่างงดงามทรงพลังมาก โดยมักจะเป็นประติมากรรมไม้แกะสลัก ซึ่งถอดประกอบได้ บางทีก็ทำกันแต่หัว หรือหน้ากาก ใช้แขวนติดผนังตกแต่งสถานที่ต่างๆ หรือแขวนไว้เหนือประตู กล่าวกันว่า มีอานุภาพขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้ดีนัก


พญาครุฑ ไม้แกะสลักระบายสี ศิลปะบาหลีสมัยปัจจุบัน

ซึ่งผมก็เคยเขียนไว้แล้วเช่นกันว่า การทำครุฑเป็นครึ่งคนครึ่งนกเช่นนี้ มิได้หมายความว่าครุฑมีรูปลักษณ์ดังกล่าวจริงๆ หรอกนะครับ

มันเป็นเพียงแต่วิธีการทางศิลปะ ที่ช่างฝีมือโบราณนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่า สัตว์วิเศษชนิดนี้แปลงร่างเป็นคนได้ เท่านั้นเอง

เพราะลักษณะของครุฑตามที่มีผู้พบเห็นจากฌานสมาบัติ และเล่าตรงกันทั้งในอินเดีย เขมร ไทย และชวานั้น มีลักษณะคล้ายนกอินทรีจริงๆ อย่างที่นักเทววิทยาตะวันตกและอินเดียเสนอไว้ 

เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก และมีลวดลายสีสันสวยงามอย่างน่าพิศวง เป็นลวดลายและสีที่ไม่มีนกชนิดใดในมิติของเราจะเปรียบเทียบได้ 

อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทยของเรา ซึ่งเรียกครุฑว่า สุบรรณ นิยมแต่ครุฑที่เป็นกึ่งคนกึ่งนกดังกล่าวแล้ว 

และเมื่อเรารับคติมาจากอินเดีย ผ่านทางขอม ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประดุจภาคหนึ่งของพระนารายณ์  เราก็เลยรับการนับถือครุฑแบบขอมเข้ามาด้วย 


บาตรน้ำมนต์หยกรัสเซีย ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสั่งพิเศษจาก Faberge รองรับด้วยครุฑอย่างงดงาม

ครุฑจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นพระราชลัญจกร เครื่องประกอบพระอิสริยยศ เครื่องราชูปโภค และเป็นธงเครื่องหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เรียกว่า ธงมหาราช เป็นตราประจำแผ่นดิน เรียกว่า พระครุฑพ่าห์       


ธงมหาราชใหญ่ ตราพระครุฑพ่าห์

เมื่อครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ราชรถราชยาน เครื่องพาหนะของกษัตริย์ไทยจึงต้องมีครุฑประกอบ ซึ่งเป็นการรับรูปแบบมาจากเขมรเช่นกัน


ครุฑประกอบราชยาน ศิลปะเขมร

ที่เห็นได้ชัดเจนในทุกวันนี้ คือ ทำเป็นโขนเรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ทั้งเรือพระที่นั่ง คือ นารายณ์ทรงสุบรรณ และเรือรบประเภทเรือดั้ง คือ ครุฑเหิรเห็จ และ ครุฑเตร็จไตรจักร 


ภาพจาก http://www.iphotoall.com

นอกจากนี้ พระอารามต่างๆ ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มักทำรูปนารายณ์ทรงครุฑไว้บนหน้าบันพระอุโบสถเป็นเครื่องหมาย  

จนปัจจุบัน วัดหลายแห่งที่มิได้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ก็ยังอุตส่าห์ทำหน้าบันพระอุโบสถเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑกับเขาด้วยนะครับ     

ด้วยเหตุนี้ หน่วยราชการต่างๆ ของไทย ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในการบริหารประเทศ จึงใช้ตราครุฑเป็นสัญลักษณ์ 

แม้แต่กิจการของเอกชน ซึ่งถือว่าทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมาแต่เดิม ทั้งของไทยและต่างประเทศที่เข้ามาจัดตั้งขึ้นในเมืองไทย ก็ยังได้รับพระราชทานตราครุฑไว้เป็นเกียรติยศ  

กิจการห้างร้านที่ได้รับพระราชทานตราครุฑนี้ เมื่อเจริญรุ่งเรือง มีสาขาแยกย้ายออกไปมากขึ้น ก็มักนำครุฑขึ้นประดิษฐานไว้เหนือป้ายชื่อแต่ละสาขาเหล่านั้น ด้วยความภาคภูมิใจกันทุกแห่ง 

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า รูปครุฑนั้นบางทีก็ทำให้เกิดอันตรายแก่บ้านเรือน หรือตึกที่อยู่ฝั่งตรงข้ามครับ  
         
ทั้งนี้  เพราะพญาครุฑเป็นสัตว์วิเศษที่มีอานุภาพรุนแรง แม้จัดสร้างเป็นรูปประติมากรรมที่มิได้ปลุกเสก ก็ยังมีผล ทำให้ผู้อาศัยในทิศทางที่เผชิญหน้ากับครุฑนั้นอยู่ไม่เป็นสุข โดยเฉพาะบ้านที่ปราศจากสิ่งคุ้มครอง  
         
เรื่องเช่นนี้ แม้ในศาสตร์ฮวงจุ้ยก็ยอมรับว่ามีจริงนะครับ 


ภาพจาก https://www.smartsme.tv

คนที่มีความรู้ในเรื่องไสยศาสตร์ เมื่อเจอรูปครุฑกางปีกหราอยู่ฝั่งตรงข้าม จึงไม่สบายใจกันทั้งนั้น และได้ยินกันอยู่เสมอว่า ถ้าไม่รีบแก้ไขก็จะเกิดอันตรายขึ้นได้ 

ดังเคยมีเรื่องเล่ากันว่า คนหัวสมัยใหม่คนหนึ่ง ไม่ไหว้พระไหว้เจ้า แต่โชคดีทำกิจการค้าขายประสบความสำเร็จมาก

อยู่มาวันหนึ่ง ห้างร้านที่สร้างใหม่ฝั่งตรงข้ามก็ตั้งรูปครุฑ เพื่อนบ้านข้างเคียงก็มาทักคนหัวสมัยใหม่นั้น ด้วยความห่วงใยประสาเพื่อนบ้าน ให้แก้ไขเสีย 

แต่คนหัวสมัยใหม่ไม่เชื่อ  เพราะเห็นว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ 

หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน ไฟไหม้กิจการคนหัวสมัยใหม่ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว โดยวิทยาศาสตร์ช่วยอะไรไม่ได้

พญาครุฑในศิลปะไทยนั้น ที่จริงมีอยู่หลายแบบนะครับ ถ้าคนช่างสังเกตสักหน่อยจะพอแยกออกได้  ดังนี้ :       


ครุฑยุดนาค ภาพจาก Fanpage : พญาครุฑหนุนศาสนา

- ครุฑยุดนาค คือครุฑที่จับนาคไว้ข้างละตัวด้วยมือและกรงเล็บที่เท้า ลำตัวของนาคจะโค้งกลายเป็นเส้นกรอบ ระหว่างปีกและขาของครุฑ แลดูสวยงามมาก เป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
         
- ครุฑรำ คือครุฑที่ปลายปีกทั้งสองรวบขึ้นไปเหนือศีรษะ ต้นแบบดั้งเดิมมาจากครุฑในศิลปะเขมร และเป็นเครื่องหมายประจำแผ่นดินในรัชกาลที่ ๖

ซึ่งมีผู้กล่าวว่า เป็นการประชันกับราชสำนักต่างๆ ของทางตะวันตกในขณะนั้น ซึ่งใช้รูปนกอินทรีเป็นเครื่องหมาย 

ครุฑแบบนี้ เป็นแบบที่พบเห็นกันทั่วไปมากที่สุดในปัจจุบันนี้ครับ    

- ครุฑบิน คือครุฑที่กางปีกเป็นแนวตรงในท่าบินทะยาน ไม่รวบปลายปีกช้อนขึ้นข้างบนอย่างครุฑรำ เป็นตราประจำแผ่นดินในรัชกาลที่ ๗  มักพบเป็นส่วนประกอบของอาคารที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้    

การที่ครุฑเป็นสัตว์วิเศษที่มีอานุภาพมากดังกล่าว โบราณาจารย์ของไทยเราจึงนำมาสร้างเป็นเครื่องรางเพื่อให้มีคุณในทางปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยพิบัติ ศัตรูผู้ปองร้าย และเป็นสิริมงคล ด้วยว่ามีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ซึ่งครุฑที่แต่ละสำนักสร้างออกมาในอดีต ก็มักจะมีอานุภาพเป็นที่ประจักษ์กันจริงๆ จนทำให้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องรางที่ได้รับความนิยมสูงสุดชนิดหนึ่ง ในวงการไสยศาสตร์ไทยเรา    

การใช้ครุฑเป็นเครื่องราง น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาครับ แต่มาปรากฏหลักฐานเด่นชัดเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงนำกำลังทหารตีฝ่ากองทัพพม่าไปตั้งมั่นที่อยู่ที่จันทบุรี พระองค์ทรงอาราธนา ยันต์มหาเดช ที่ได้รับมาจากพระอาจารย์ที่เขาแก้ว จ.ตาก ทำเป็นธงสำหรับกองกำลังกู้ชาติ  เรียกว่า ดวงตรามหาเดช         

ดวงตราที่ว่านี้ เป็นรูปครุฑเหินอยู่ด้านบน กรงเล็บเท้าทั้งสองจับอยู่บนกงจักร เบื้องบนเป็นรูปเพชรเปล่งรัศมี ตรงกลางมีตัวอุณาโลม อยู่บนพื้นธงแดงและขาว ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสินและอานุภาพของดวงตรานี้ กองกำลังกู้ชาติจึงได้รับชัยชนะในทุกสมรภูมิ     

เมื่อทรงตั้งกรุงธนบุรีแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงพระราชทานดวงตรานี้ให้รักษาไว้ใน วัดอินทาราม ตลาดพลู ธนบุรี อันเป็นวัดประจำรัชกาล และทรงมีพระราชโองการให้ใช้เป็นธงประจำวัดอินทารามด้วย 


ครุฑมหาเดช ขนาดบูชา วัดอินทาราม
ภาพจาก http://uauction3.uamulet.com

ครั้นถึงสมัยท่านเจ้าคุณ พระทักษิณคณิศสร เป็นเจ้าอาวาส จึงได้จำลองดวงตรานี้ขึ้นเป็นวัตถุมงคลเมื่อพ.ศ.๒๔๙๐ นับเป็นเครื่องรางรูปครุฑสมัยแรกๆ ที่รู้จักกัน และเป็นที่เล่าลือกันถึงอานุภาพทั้งในด้านคงกระพันชาตรี อำนาจบารมี วาสนา และเมตตามหานิยมอย่างที่สุด     
         
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสร้างพญาครุฑเป็นวัตถุมงคลออกให้บูชากันเสมอ โดยวัดและเกจิฆราวาสต่างๆ ทั้งที่เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่สำหรับตั้งบูชา และเป็นเครื่องรางพกติดตัว อย่างหลังนี้มีมากหาดูได้ทั่วไปครับ นิยมกันว่ามีคุณวิเศษช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นใหญ่ในทางราชการ 

โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ มักแสวงหากันมาก เรียกได้ว่าถ้าเป็นข้าราชการที่หวังความก้าวหน้า ก็เหมาะแก่การบูชาครุฑ

หรือข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต แต่ถูกข่มเหงรังแกอย่างไม่เป็นธรรมก็เช่นกัน ถ้ามีครุฑที่ปลุกเสกดีๆ ติดตัวแล้ว ศัตรูจะแพ้ภัยตนเองหนีหายไปหมด และยังจะช่วยให้ได้รับความสนับสนุนเห็นใจจากผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรมด้วย 

เพราะคุณสมบัติของครุฑในทางมายาศาสตร์ คือพาหนะของมหาเทพผู้ธำรงไว้ซึ่งความถูกต้องดีงามของโลกนั่นเอง             

ตัวอย่างพญาครุฑขนาดบูชา ที่นำมาให้ได้ชมกันในบทความนี้ เป็นของสำนักหนึ่งที่กล่าวขวัญกันมากในวงการเครื่องรางของขลัง คือ ครุฑของ หลวงพ่อวราห์ กตุปุญโญ วัดโพธิ์ทอง บางมด กทม.


พญาครุฑ ขนาดบูชา พิมพ์ที่สวยที่สุดพิมพ์หนึ่ง
ของ หลวงพ่อวราห์ วัดโพธิ์ทอง

ครุฑของสำนักนี้ มีรูปแบบสวยงามลงตัว ปัจจุบันก็ยังคงมีการสร้างออกมาเป็นระยะ และราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ เลยครับ เป็นเครื่องรางพญาครุฑสำนักที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทุกวันนี้ จนมีของปลอมออกมามากมาย  ผู้สนใจควรเช่าหาจากทางวัดโดยตรง หรือตัวแทนที่ทางวัดรับรองเท่านั้น

พญาครุฑ เป็นสัตว์วิเศษชนิดหนึ่ง ดังนั้นถึงจะเป็นขนาดบูชาก็ไม่จำเป็นต้องมีการเลี้ยงดูด้วยอาหารและน้ำ  เพียงแต่ถวายดอกไม้บ่อยๆ ก็พอ

ข้อควรระวังคือ อย่าตั้งพญาครุฑขนาดบูชาให้หันหน้าตรงไปยังบ้านคนอื่น  เพราะจะเป็นอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น        

แต่ถ้าอาคารสิ่งก่อสร้างที่อยู่ตรงข้ามบ้านเรา เป็นตำหนักทรง, บ้านร้าง, บ้านที่มีเหตุสยองขวัญ, วัดร้าง ซึ่งในทางศาสตร์ลี้ลับถือว่าเป็นที่ชุมนุมของภูตผีปีศาจ ก็เหมาะแก่การตั้งครุฑให้หันหน้าไปข่มพลังอันชั่วร้ายเหล่านั้นครับ

พญาครุฑ ไม้แกะสลัก ปิดทอง สมัยอยุธยา

ส่วนการใช้พญาครุฑในการตอบโต้กับคนอื่น ที่ประพฤติตัวเป็นศัตรู คอยเบียดเบียน ให้ร้ายเราด้วยประการต่างๆ นั้น ถ้าหลีกเลี่ยงได้จะเป็นการดี เพราะจะเป็นการก่อกรรมก่อเวรกันเปล่าๆ หาสัตว์วิเศษชนิดอื่น ที่มีอานุภาพในการคุ้มครองป้องกันเคหสถานของเราเพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ร้ายคนอื่นจะดีกว่า      

เพราะการใช้สัตว์วิเศษที่มีอานุภาพสูงนั้น จะต้องใช้ด้วยเหตุจำเป็นจริงๆ เท่านั้นครับ

ถ้าใช้อย่างมักง่าย หรือใช้เพราะคิดจะกลั่นแกล้งผู้อื่น ประเภทที่ว่าเขาไม่เคยทำอะไรเรา แล้วเรากลับตั้งครุฑเพื่อทำร้ายเขา ผลแห่งความชั่วนั้น จะกลับมาสนองตอบเราอย่างรวดเร็ว และรุนแรงมากด้วยครับ จนแม้แต่พญาครุฑของเราก็ไม่อาจป้องกันได้

การบูชาพญาครุฑ กับพญานาคในบ้านหลังเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะจะเป็นอาถรรพณ์ในบ้าน อันเกิดจากธรณีสารอย่างร้ายแรง แก้ไขยากมากครับ เพราะแม้จะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งไปทิ้ง หรือเอาไปทิ้งทั้งคู่ ผลร้ายก็ยังคงอยู่สืบเนื่องไปอีกหลายปี        


พญาครุฑราชาโชค ขนาดบูชา หลวงพ่ออึ่ง วัดเซิงหวาย กทม.

นอกจากนี้  พญาครุฑขนาดบูชายังไม่เหมาะกับบ้านที่มีปัญหาครอบครัว และไม่เหมาะกับบ้านที่บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากชนิดอีกด้วย เพราะจะทำให้เกิดสนามพลังที่ขัดแย้งกันขึ้นมาได้ง่าย 

ยิ่งบ้านไหนที่บูชาภูตผีปีศาจ พวกกุมารทอง รักยม ชูชก หรือเครื่องรางอื่นที่ผูกด้วยมนต์ดำ ย่อมจะกลายเป็นสงครามขึ้นอย่างง่ายดายที่สุด เพราะพญาครุฑจะจัดการกับทุกสิ่งที่มันเห็นว่าเป็นโทษแก่เจ้าของบ้าน โดยไม่มีการแยกแยะใดๆ ทั้งสิ้น    

แล้วถ้าเราอยู่ดีๆ ฝั่งตรงข้ามเกิดตั้งรูปครุฑเล็งเข้าใส่บ้านเราล่ะ

วิธีแก้ไขก็ง่ายมาก คือ ติดกระจกนูนแบบที่ใช้แก้ฮวงจุ้ยน่ะแหละครับ สะท้อนกลับไปเสีย โดยเฉพาะกระจกนูนที่มีรูปยันต์โป๊ยก่วยยิ่งดี 

ถ้าไม่มีที่สำหรับติดกระจก ก็หาเทวรูป พระนารายณ์ทรงครุฑ มาประดิษฐานในบ้านของเรา ให้สูงกว่าครุฑของฝั่งตรงข้าม โดยไม่จำเป็นต้องหันหน้าไปยังครุฑดังกล่าว โดยเฉพาะถ้าบ้านเราหันไปทางทิศตะวันตก 


.............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด