วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แต่งองค์เทวรูป

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์





ไม่เฉพาะแต่คนไทยเราเท่านั้นหรอกครับ

ทั้งคนอินเดีย และชนชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด นิยมตกแต่งเทวรูปด้วยเครื่องประดับ และพัสตราภรณ์อย่างสวยงามมาแต่โบราณ

แต่เทวรูปที่ได้รับการถวายฉลองพระองค์นั้น สามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท

๑. เทวรูปที่ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ มีอานุภาพต่อเนื่องมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

๒. เทวรูปที่เมื่อประดิษฐานใหม่ๆ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก แต่ภายหลังกลับให้ผลตอบรับการบูชาน้อย หรือไม่มีผลเลย

ซึ่งถ้าไปดูในส่วนของเทวรูปที่ได้รับการถวายฉลองพระองค์ และเครื่องประดับต่างๆ แล้วยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์มาโดยตลอดนั้น จะเห็นว่า มักเป็นเทวรูปที่ได้รับการถวายพัสตราภรณ์เพียงปีละครั้ง ถึงเทศกาลบูชาประจำปีจึงค่อยเปลี่ยนชุดใหม่

และผ้าที่ถวายเป็นฉลองพระองค์ของเทวรูปเหล่านั้น ล้วนเป็นผ้าชนิดดีที่สุดเท่าที่ผู้บูชาจะหาได้ครับ

ถ้าเป็นผ้าทอ ก็ถักทอกันอย่างประณีตอย่างน้อยๆ เท่ากับผ้าที่ถวายกษัตริย์หรือเจ้านาย ถ้าเป็นผ้าปัก ก็ปักกันด้วยเทคนิคที่ซับซ้อนพิถีพิถันที่สุด เท่าที่มีอยู่  

แล้วก็ไม่แต่จะเลือกเฟ้นผ้าอย่างดีที่สุดถวายเท่านั้นนะครับ

แม้เครื่องประดับอื่น เช่น ศิราภรณ์ กรองศอ พาหุรัด ฯลฯ ก็ต้องสั่งกันทำเฉพาะเทวรูปนั้น ด้วยทองคำแท้ ฝังอัญมณีแท้ หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นหินมีค่าชนิดต่างๆ  

การที่จะถวาย ก็ทำกันอย่างมีหลักมีเกณฑ์ คือผู้ถวายจะพิจารณาว่าเทวรูปเดิมเขาทำมาอย่างไร

คือถ้าเทวรูปองค์นั้นมีเครื่องทรงติดมากับเทวรูป สลักเสลามาอย่างละเอียดลอออยู่แล้ว แม้จะเป็นเทวรูปเปลือยอก เขาก็ไม่นิยมถวายผ้าทรงหรือเครื่องประดับเพิ่มเข้าไปหรอกครับ

เพราะคนโบราณไม่มีปัญหากับเทวสตรีที่เปลือยอก และมีเหตุผลที่จะสร้างเทวรูปเปลือยอก ดังที่ผมเคยอธิบายไปแล้ว

มีแต่คนยุคปัจจุบันบางจำพวก ที่หมกมุ่นในเรื่องเพศ หรือมีตัณหาแรงเท่านั้นละครับ ที่เห็นเทวรูปเทพผู้หญิงเปลือยอกเป็นเรื่องกามารมณ์ และความลามกอนาจาร จนต้องพยายามหาอะไรไปปกปิด

คนโบราณ จึงนิยมถวายผ้าและเครื่องประดับ เฉพาะกับเทวรูปที่สร้างมาเพื่อจะรับการถวายสิ่งเหล่านั้นโดยตรงเท่านั้น

คือทำมาเป็นเทวรูปเปล่าๆ ไม่มีเครื่องทรง ไม่ประดับตกแต่งอะไรเลย

ตัวอย่างก็คือ เทวรูปหินทรายในศิลปะขอม




ซึ่งเราจะเห็นชัดว่า มีจำนวนมากที่ทำมาแต่องค์เปล่าๆ ศิราภรณ์ก็มีลวดลายแต่พอคร่าวๆ เครื่องประดับอื่นเช่น กรองศอ พาหุรัด ทองกร ทองพระบาท ไม่ปรากฏ แม้แต่ผ้าทรงก็ทำแค่พอเป็นโครงร่างไว้เท่านั้น

เพราะถึงเวลาที่บูชาจริง เขาจะสวมผ้าทับเข้าไป ใส่เครื่องประดับจริงๆ เข้าไป จึงไม่จำเป็นต้องแกะสลักลวดลายเครื่องประดับไว้บนเทวรูป

ส่วนเทวรูปที่มีเครื่องทรงอันประณีตวิจิตรงดงาม มาตั้งแต่ปั้นหล่อสำเร็จแล้ว เช่น บรรดาเทวรูปสำริดสมัยสุโขทัยนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นเทวรูปที่สร้างขึ้นเพื่อการบูชา โดยไม่จำเป็นต้องมีการประดับตกแต่งใดๆ เพิ่มเติมเข้าไปอีก




เพราะนอกจากจะมีเครื่องทรงอันมีรายละเอียดอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เทวรูปเหล่านี้ยังมีรูปร่าง สัดส่วน และองค์ประกอบต่างๆ ที่แลดูนิ่มนวลอ่อนหวาน ให้ความรู้สึกเป็นทิพย์ เช่นเดียวกับพระพุทธรูปปางลีลาแบบสุโขทัย อันเป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุดแบบหนึ่งในโลกนี้

เทวรูปที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีเยี่ยมเช่นนี้ จะไม่อาจแสดงอานุภาพอย่างสมบูรณ์ได้ครับ ถ้าถูกปิดบังด้วยเครื่องอาภรณ์ จนโผล่มาให้เห็นแต่พระเศียรกับพระหัตถ์เท่านั้น

และคงไม่มีช่างที่ไหนคิดสร้างเทวรูปที่งามขนาดนี้ขึ้นมา เพื่อจะถูกสวมเครื่องอาภรณ์ปิดบังรายละเอียดจนหมดในการบูชาจริงอย่างแน่นอน 

ที่สำคัญที่สุด เหตุผลในการถวายผ้าทรงและเครื่องประดับแก่รูปเคารพนั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องโป๊เปลือย แต่เป็นเพราะจุดประสงค์ที่ว่า เครื่องถนิมพิมพาภรณ์เป็นสัญลักษณ์และพลังแห่งความร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์ อยู่ดีกินดีต่างหาก

การถวายเครื่องถนิมพิมพาภรณ์แก่เทวรูป จึงกระทำกับเทวรูปที่ทำมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้เทวรูปบันดาลความร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์ อยู่ดีกินดีแก่ผู้ถวาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นกษัตริย์หรือเจ้าเมือง โดยกระทำในฐานะตัวแทนของประชาชนทั้งหมด

ด้วยว่าความร่ำรวยของกษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์พูนสุข ของประชาชนของพระองค์นั่นเอง

เพราะฉะนั้น จึงต้องถวายของดีที่สุด และถวายกันเฉพาะโอกาสสำคัญ ปีละครั้งหรือตามฤดูกาลเท่านั้น

ไม่ใช่ถอดเข้าถอดออก เปลี่ยนใหม่กันทุกวัน เพราะนั่นเป็นการรบกวนเทวรูป

ในขณะที่เทวรูปอีกพวกหนึ่ง คือเมื่อแรกประดิษฐานก็ศักดิ์สิทธิ์ดีอยู่ละครับ แต่ยิ่งบูชาไปนานเข้า พลังยิ่งลดลง

ซึ่งเราก็มักจะเห็นได้ว่า เทวรูปเหล่านี้ ส่วนใหญ่ได้รับการถวายฉลองพระองค์ และเครื่องประดับอย่างเต็มอัตรา จนบางทีคลุมแม้กระทั่งพระหัตถ์และเทพอาวุธ มองเห็นแค่พระเศียร

และยังมักจะได้รับการผลัดเปลี่ยนฉลองพระองค์บ่อยครั้ง หรือทุกวันอีกด้วย

การกระทำเช่นนี้ คนโบราณก็ทำไว้เป็นตัวอย่าง และสืบทอดต่อๆ กันมาเช่นเดียวกันครับ

ตัวอย่างเช่น ในยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของอาณาจักรขอม สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งเป็นยุคคลั่งแต่งตัวเทวรูป มีการจารึกไว้ว่า เฉพาะ ปราสาทตาพรหม แห่งเดียว มีการถวายฉลองพระองค์ไว้สำหรับเทวรูปถึง ๒,๓๘๗ ชุด ไม่รวมของถวายอื่นๆ เช่นเพชร ๓๕ เม็ด ไข่มุก ๔๐,๒๖๐ เม็ด หินมีค่าและพลอยต่างๆ ๔,๕๔๐ เม็ด ฯลฯ

ความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรขอมล่มสลายในเวลาต่อมา โดยที่บรรดาเทวรูป ซึ่งได้รับการถวายของมีค่าอย่างมากมายเหล่านั้น ไม่สามารถช่วยอะไรได้

นับได้ว่าเป็นผลจากความผิดพลาด ที่ทำตามๆ กันไป โดยไม่มีสติปัญญากำกับ 

และเป็นการแสดงให้เห็นว่า ขนบธรรมเนียมโบราณนั้นมีทั้งดีและไม่ดี ควรเชื่อและไม่ควรเชื่อ

ไม่ใช่ว่าเป็นของเก่าของโบราณแล้วต้องดีไปหมด ต้องอนุรักษ์ไว้ทั้งหมด หรือเป็นของล้าหลังงมงาย ต้องละทิ้งไปทั้งหมด

เราจะต้องรู้จักเลือกสรร แยกแยะกลั่นกรอง ไม่ทำตัวเป็นทั้งผู้ที่เชื่ออะไรง่ายๆ และผู้ที่ไม่เชื่ออะไรเลยนะครับ

เหตุที่ความผิดพลาดดังกล่าวนี้มีมาแต่โบราณ และยังคงทำกันอยู่จนทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่องค์ความรู้ที่ถูกต้องก็ยังมีการสืบทอดคู่ขนานกันมาตลอด ก็เพราะความรู้ทางเทวศาสตร์ของคนแต่ละท้องถิ่น แต่ละยุคสมัยย่อมแตกต่างกัน

ไม่ว่าภูมิภาคใดยุคสมัยใด ผู้บัญญัติตำราย่อมมีทั้งคนที่รู้จริง ได้รับการศึกษาอบรมมาในแนวทางที่ถูกต้อง และคนที่ไม่มีการศึกษาอบรมอย่างเพียงพอ แต่ทึกทักเอาเองว่าสิ่งที่ตนรู้หรือทำอยู่นั้นถูกต้อง

คนที่ชื่นชอบการถวายฉลองพระองค์ และเครื่องประดับแก่เทวรูปอย่างเต็มอัตราก็เช่นกัน

ความนิยมดังกล่าว เกิดจากการขาดความรู้ในทางเทววิทยา ทำให้ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างผีกับเทพ

หรือในบางกรณี ก็เกิดจากการประยุกต์เอาเทวศาสตร์ไปรวมกับลัทธิบูชาผีด้วยความตั้งใจด้วย

กรณีของเทวรูปขอมที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว แสดงถึงแนวความคิดดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดีครับ




เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว เทวรูปขอมที่เราเห็นกันอยู่นั้น ถ้าเป็นเทวรูปขนาดใหญ่ใกล้เคียงคนจริงๆ ขึ้นไปแล้ว จะมีจำนวนน้อยมากที่สร้างขึ้นเพื่อสื่อถึงเทพองค์ใดองค์หนึ่งอย่างแท้จริง

ส่วนมากเป็นรูปเคารพที่กษัตริย์โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อให้เป็นที่สถิตของดวงพระวิญญาณของพระองค์เอง หรือของพระราชบิดา พระราชมารดา พระประยูรญาติ พระอาจารย์ หรือบุคคลสำคัญต่างๆ มากกว่า

การที่ทำเช่นนั้น ก็เนื่องมาจากลัทธิที่นับถือกันในเวลานั้นว่า เมื่อกษัตริย์พระองค์นั้น หรือบุคคลเหล่านั้นสิ้นพระชนม์หรือตายไปแล้ว วิญญาณจะได้ไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทพที่เป็น ที่มาของเทวรูปเหล่านั้น

ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวนี้ ก็มีรากฐานมาจากลัทธิภักดีในศาสนาฮินดูเช่นกันครับ

เพราะตามอุดมการณ์ของลัทธิภักดีนั้น การปรนนิบัติบูชาเทพเจ้าอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็เพื่อที่ว่า เมื่อผู้บูชาสิ้นชีวิตแล้ว ดวงวิญญาณของผู้บูชาจะได้ไปรวมกับเทพเจ้าองค์นั้นในที่สุดเหมือนกัน

เพียงแต่กษัตริย์ขอมนั้น ไม่เพียงปรนนิบัติบูชาองค์เทพอย่างดี พระองค์ยังสร้างเทวรูปเพื่อให้ดวงวิญญาณของพระองค์เองได้เข้าไปรวมกับเทพองค์นั้นด้วย

เป็นการยกฐานะของกษัตริย์ขึ้นเป็นเทพเจ้า เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาต่อไป

เทวรูปขอมที่คิดกันว่าเป็นพระศิวะ พระวิษณุ หรือเทพนารีต่างๆ นั้น จึงมีจำนวนมากทีเดียวที่เป็นรูปเคารพของอดีตกษัตริย์ หรือราชินีองค์ใดองค์หนึ่ง ที่รวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับเทพองค์นั้น

เรียกได้ว่า เป็นที่สถิตของผี ภายใต้รูปลักษณ์ของเทพเจ้า มิใช่เป็นเทวรูปแท้ครับ

สำหรับบรรพชนไทยเรา ก็มีส่วนหนึ่งเหมือนกัน ที่สืบทอดแนวคิด (ที่ผิดพลาด) ในการถวายฉลองพระองค์และเครื่องตกแต่งเทวรูปมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับคนอินเดีย

โดยนอกจากจะเป็นเพราะไม่มีความรู้เพียงพอ ที่จะแยกความแตกต่างระหว่างผีกับเทพแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังเกิดจากอุปาทาน ที่เพิ่งมาเป็นกันมากในยุคล่าอาณานิคม ประมาณไม่ถึงสองร้อยปีมานี้เอง      

กล่าวคือ นับตั้งแต่ขนบธรรมเนียมประเพณีจากราชสำนักอังกฤษแบบวิคตอเรียนถูกนำเข้ามา คนจำนวนมากก็ถูกสั่งสอนให้หลงผิดว่า การไม่สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดแบบชาวตะวันตก เป็นความป่าเถื่อนน่าละอาย

นานเข้า ความเชื่อผิดเข้าใจผิดนั้นก็ลามไปถึงเทวรูป

จึงไม่เพียงแต่คนไทยเราเท่านั้น แม้แต่อินเดียเจ้าตำรับ หรือดินแดนที่นับถือศาสนาฮินดูกันมากเช่นเนปาลและบาหลี ผู้คนก็พากันห่มผ้าเทวรูปซึ่งประดิษฐานในที่สาธารณะทั่วไป โดยไม่มีวิจารณญาณว่า เป็นเทวรูปที่มีเครื่องทรงเพียบพร้อมมาแต่เดิมหรือไม่ 

และที่เหมือนกับคนไทยเราก็คือ ผ้าทรงและเครื่องประดับที่ถวายแก่เทวรูปนั้น เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ คือกลายเป็นของกำมะลอ ไม่ใช่ของมีค่าอย่างสมัยโบราณ




ด้วยเกิดเป็นความเชื่อใหม่ว่า ไม่ว่าใครก็สามารถถวายผ้าและเครื่องประดับแก่เทวรูปได้ ไม่ใช่ธุระของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเพียงอย่างเดียวเสียแล้ว

และก็เลยพากันถวายไปหมด ตั้งแต่ในเทวาลัยที่ตนไปไหว้เป็นประจำ จนถึงเทวรูปที่บ้าน  

พูดง่ายๆ ว่าเทวรูปองค์เดิม ไม่ว่าจะทำขึ้นมาด้วยฝีมือที่สูงเพียงใด ทำถูกต้องตามหลักประติมานวิทยาแค่ไหน ก็ไร้ความหมาย ต้องถูกห่มผ้าสีสันฉูดฉาดแพรวพราวเหมือนลิเก ทับลงไปจนหมดองค์

แล้วพอผู้บูชานั้นไปเจอผ้าทรงแบบใหม่ๆ สีสันถูกใจก็จัดแจงซื้อมาเปลี่ยนอีก มีเงินมากก็เปลี่ยนบ่อย

บางรายเพื่ออวดเพื่อนที่มีรสนิยมอย่างเดียวกัน ถึงขนาดที่ว่ามีเทวรูปเต็มบ้าน ยังเปลี่ยนเครื่องทรงของแต่ละองค์ใหม่ทุกอาทิตย์ก็มีนะครับ

การกระทำเหล่านี้ แท้ที่จริงเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า ไร้ประโยชน์ในการบูชาเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เป็นการปกปิดเทวรูปมิให้ถ่ายทอดคุณสมบัติในทางประติมานวิทยาได้โดยสะดวก




เนื่องจาก ประติมานวิทยาของเทวรูป จะส่งผลกับเราโดยตรง เมื่อเรามองเห็นสิ่งเหล่านั้นได้อย่างชัดเจนเท่านั้นครับ สิ่งใดที่เรามองไม่เห็น สิ่งนั้นก็ไม่สามารถสื่อผ่านพลังจากองค์เทพมาสู่เราได้

เช่น เทวรูปพระแม่ต่างๆ ที่เปลือยอก เมื่อถูกผ้าห่มทับ จะไม่สามารถถ่ายทอดกระแสทิพย์ในด้านของความอุดมสมบูรณ์ ความมีเสน่ห์ ความเป็นที่รักที่ชื่นชอบแก่ผู้บูชาที่เป็นหญิง

หรือถ้าเป็นเทวรูปที่ถือเทพอาวุธ หรือถือสัญลักษณ์สำคัญต่างๆ การห่มผ้าและเครื่องประดับทับลงไปอย่างเต็มอัตรา ดังที่คนอินเดียชอบทำนั้น ก็จะทำให้เทวรูปดังกล่าวไม่อาจถ่ายทอดเทวานุภาพในส่วนที่ต้องส่งผ่านอาวุธ และสัญลักษณ์สำคัญเหล่านั้นได้

พลังอำนาจของเทวรูปนั้นในการปกป้องคุ้มครอง ขจัดสิ่งชั่วร้าย และอำนวยผลเฉพาะด้านต่างๆ แก่ผู้บูชาก็ไร้ความหมาย

นานวันเข้า เทวรูปนั้นก็จะกลายเป็นเสมือนตุ๊กตาตัวหนึ่ง ที่ช่วยอะไรใครไม่ได้ เพราะความลุ่มหลงของผู้บูชาในการแต่งองค์เทวรูป เหมือนเด็กเล่นแต่งตัวตุ๊กตานั้นเอง

ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมผู้บูชาเทพในอินเดียอยู่ในทุกวันนี้ครับ




ไม่ว่าจะเป็นเทวรูปตามเทวสถานต่างๆ ไปจนถึงเทวรูปบูชาส่วนบุคคล เทวรูปเหล่านั้นให้ผลในการบูชาที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความศรัทธา และความเอาใจใส่ที่ผู้บูชาปฏิบัติต่อเทวรูปเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น เทวรูปที่ปั้นหล่อสำเร็จแล้ว ผ่านการเทวาภิเษกมาอย่างไร ก็บูชาต่อไปอย่างนั้นเถอะครับ

ถ้าจะตกแต่งเทวรูป นำไปให้ช่างผู้ชำนาญลงรักปิดทองดีกว่า

หรือไม่ก็ถวายแต่เพียงสร้อยพระศอ หรือสังวาลอย่างเบาๆ เพียงเส้นเดียว ก็ถือว่าเป็นการตกแต่งที่เพิ่มพลังในด้านความมั่งคั่ง และความอุดมสมบูรณ์อย่างเพียงพอแล้ว

เมื่อพูดถึงการลงรักปิดทอง มีความนิยมอีกชนิดหนึ่งที่มีผลต่อเทวรูปไม่น้อยเหมือนกัน คือลงรักปิดทองประดับพลอยและคริสตัล

ซึ่งถ้าประดับเพียงเล็กน้อยตามศิราภรณ์ และเครื่องทรงของเทวรูปเพียงจุดละไม่กี่เม็ด ก็นับว่ามีประโยชน์มากครับ เพราะจะช่วยเพิ่มพลังแห่งความมั่งคั่ง และความอุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี




แต่ถ้าประดับมากเกินไป จนดูแพรวพราวเป็นลิเกไปหมด เช่น ประดับเต็มส่วนที่เป็นฉลองพระองค์ รวมทั้งยังไปประดับตามเทพอาวุธอีก ก็จะทำให้เทวรูปถ่ายทอดพลังในด้านดังกล่าวอย่างแปรปรวน จนอาจกลายเป็นผลเสียต่อผู้บูชาได้

ทั้งนี้ เพราะความสว่างแวววาวและการสะท้อนแสงของคริสตัล ถ้ามากเกินไปก็กระทบต่อศักยภาพในการถ่ายทอดพลังผ่านส่วนต่างๆ ของเทวรูป

ก็เหมือนกับคลุมทับด้วยผ้านั่นแหละครับ เราย่อมมองเห็นแสงแวววาวของคริสตัล ได้มากกว่ารูปลักษณ์ของสิ่งที่มันปิดบังอยู่

และไม่ว่าจะเป็นคริสตัล พลอย รวมทั้งวัสดุที่สะท้อนแสงได้ทุกชนิด ก็มีผลในทางมายาศาสตร์ทั้งแง่ดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานด้วย

เทวรูปนั้นเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง การสื่อผ่านเทวานุภาพ ก็สื่อด้วยวิธีการทางศิลปะ รสนิยมและความเข้าใจในศิลปะ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการตกแต่งเทวรูปครับ


..................................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด