วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

เทพที่ควรบูชากับพระพุทธรูป


บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*




ใน blog เดียวกันนี้ ผมเขียนบทความไว้ ๒ บท เกี่ยวแก่พระพุทธรูปสำหรับคนที่บูชาเทพ

คือ เมื่อมีพระพุทธรูปปางดังกล่าวอยู่ในบ้าน พระพุทธรูปเหล่านั้น มีพุทธานุภาพเกื้อหนุนการบูชาเทพให้เป็นไปโดยสัมมาศรัทธา ไม่หลงออกนอกทางกลายเป็นความงมงาย

และยังเสริมกำลัง หรือเทวานุภาพของเทวรูปให้เด่นชัดมากขึ้นด้วย

พระพุทธรูปทั้ง ๓ ปางนั้นก็คือ

พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี หรือพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา หรือ ธรรมจักรมุทรา (Dharmachakra Mudra)

และ พระพุทธรูปนาคปรก ทั้งปางสมาธิ และปางมารวิชัย ครับ

ทีนี้ สิ่งที่ผมยังไม่ได้เขียนในบทความนั้น ก็คือ

พระพุทธรูปแต่ละปางที่ว่านั้น แม้จะส่งเสริมเทวานุภาพขององค์เทพได้ทุกองค์ แต่ก็จะส่งเสริมได้ดีเป็นพิเศษ กับเทพบางองค์ที่มีทิพยภาวะ หรือคุณสมบัติสอดคล้องกับพระพุทธรูปปางนั้นๆ ได้มากกว่า

ประเด็นที่ว่า ส่งเสริมได้ดีเป็นพิเศษ ยังครอบคลุมไปถึงพุทธานุภาพในการขจัดพลังที่ distort อันเกิดจากความไม่สมดุลย์ หรือผลข้างเคียงจากการประดิษฐานรูปเคารพที่มาจากคนละลัทธิศาสนากัน ไว้ในแท่นบูชาเดียวกันด้วยครับ

อย่างเช่น พระบูชาของทางมหายาน ส่วนใหญ่ถ้าตั้งแท่นเดียวกับเทพอินเดีย ก็จะเกิดพลังเช่นว่านี้ได้ง่ายมาก




เพราะศาสนาทั้งสอง เขามีทิฐิในการประชันขันแข่ง ชิงดีชิงเด่นกันมาตลอดไงครับ

ซึ่งแม้ว่าพระโพธิสัตว์ และองค์เทพต่างๆ ท่านย่อมไม่ทรงมีทิฐิดังกล่าว

แต่รูปเคารพที่ผ่านพิธีกรรมในศาสนา หรือโดยนักบวชที่มีทิฐิดังกล่าว ก็ต้องซึมซับ และถ่ายทอดทิฐิดังกล่าวต่อมา ไม่มากก็น้อย

เป็นเรื่องธรรมดาครับ

เพียงแต่พวกเราไม่ค่อยรู้กัน นึกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้วนดีงาม มาอยู่ร่วมกันก็เท่ากับยิ่งเพิ่มสิริมงคล

คิดอย่างนั้นก็ใช่ครับ

แต่เหรียญย่อมมี ๒ด้าน พลังความเป็นมงคลเพิ่มขึ้นจริง แต่พลังในทางที่ไม่พึงประสงค์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ซึ่งการประดิษฐานพระพุทธรูป ๓ ปางดังกล่าว ก็จะช่วยขจัดพลังที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้นออกไป เพราะพระพุทธรูป ย่อมมีอานุภาพเหนืออว่ารูปเคารพใดๆ

ทีนี้ ผมก็จะมาแนะนำองค์เทพต่างๆ ที่บูชาร่วมกับพระพุทธรูปทั้ง ๓ ปาง ได้ดีเป็นพิเศษละครับ




สำหรับ พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เด่นในด้านของวาสนาบารมี ความเป็นใหญ่

และการสะกดข่ม หรือการมีชัยชนะเหนือมารร้าย สิ่งชั่วร้าย อาถรรพณ์ และบุคคลมิจฉาทิฏฐิ

เทพที่บูชาร่วมกับพระพุทธรูปปางนี้ได้ดีเป็นพิเศษ จึงควรเป็นเทพที่มีทิพยภาวะ และคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกัน หรือมีเรื่องราวที่สอดคล้องกัน ดังนี้ครับ

-เทพเจ้าฝ่ายเถรวาท ได้แก่ พระศรีวสุนธรา (พระแม่ธรณี), ท้าวสักกะเทวราช หรือพระอินทร์, ท้าวเวสสุวัณ




-เทพเจ้าฝ่ายมหายาน-วัชรยาน ได้แก่ พระศยามตาราโพธิสัตว์ (พระตาราเขียว), พระวสุธาราโพธิสัตว์, พระจุณฑาโพธิสัตว์

-เทพเจ้าฮินดู ได้แก่ พระศิวะนาฏราช, พระนารายณ์ (เฉพาะที่ไม่มีนาคปรก), พระลักษมี, พระคเณศ, พระราม, พระตรีปุระสุนทรี, พระกุเวร

-เทพเจ้าจีน ได้แก่ เทพราชันย์อวี้หวงต้าตี้ (玉皇大帝 เง็กเซียงฮ่องเต้), พระเทวีซีหวังหมู่ (西王母 อ่วงบ่อเนี้ย), พระเทวีเหยาฉือจินหมู่ (瑤池金母 กิมบ่อเนี้ย), เทพบดีเสวียนเทียนซ่างตี้ (瑤池金母 ตั่วเหล่าเอี๊ย), เทพบดีไฉ่เสินเอี๋ย (财神 ไฉ่ซิ่งเอี๊ย)




สำหรับ พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เด่นในด้านของปัญญาบารมี ความรู้แจ้ง การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนและวิชาการต่างๆ

เทพที่บูชาร่วมกับพระพุทธรูปปางนี้ได้ดีเป็นพิเศษ จึงควรเป็นเทพที่มีทิพยภาวะ และคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกัน หรือมีเรื่องราวที่สอดคล้องกัน ดังนี้ครับ

-เทพเจ้าฝ่ายเถรวาท ได้แก่ ท้าวมหาพรหม, พระสุนทรีวาณี
         
-เทพเจ้าฝ่ายมหายาน-วัชรยาน ได้แก่ พระโพธิสัตว์มัญชุศรี, พระนางปรัชญาปารมิตา, พระอารยสรัสวดี

         


-เทพเจ้าฮินดู ได้แก่ พระสรัสวดี, พระคเณศ (เฉพาะปางทรงพระอักษรและไม่ประดับเครื่องทรงมาก), พระพรหม, พระศิวะ (เฉพาะปางปกติทั่วไปหรือปางโยคี)
         
-เทพเจ้าจีน ได้แก่ เทพปรมาจารย์ไท่ซ่างเหล่าจวิน (太上老君 ไท่เสียงเหล่ากุง), พระแม่จิ่วเทียนเสวียนหนี่ว์ (九天玄女 กิวเทียงเหี่ยงนึ่ง), จอมเทพฝูซี (伏羲 ฮกฮี : คุรุเทพของศาสตร์อี้จิง, เฉพาะในพระวรกายแบบมนุษย์ ถือวงกลมหยินหยางหรือแผ่นยันต์แปดทิศ)




สำหรับ พระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปในด้านของการปกป้องคุ้มครอง สุขภาพ และธาตุน้ำ

เทพที่บูชาร่วมกับพระพุทธรูปปางนี้ได้ดีเป็นพิเศษ จึงควรเป็นเทพที่มีทิพยภาวะ และคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกัน หรือมีเรื่องราวที่สอดคล้องกัน ดังนี้ครับ

-เทพเจ้าฝ่ายเถรวาท ได้แก่ พระอินทร์, พระพิรุณ, พระมณีเมขลา
         
เทพเจ้าฝ่ายมหายาน-วัชรยาน ได้แก่ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์, พระชางคุลีโพธิสัตว์, พระสิตตาราโพธิสัตว์ (ตาราขาว), พระปัญจรักษา, นาคกัญญา

-เทพเจ้าฮินดู ได้แก่ พระนารายณ์ (เฉพาะที่มีนาคปรก), พระคเณศ (มีนาคปรกยิ่งดี), พระมนัสเทวี (มนสาเทวี)




-เทพเจ้าจีน ได้แก่ พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม (ไม่ควรเหยียบมังกร), พระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ (天后圣母 เทียงโหวเสี่ยบ้อ), พระแม่หนี่วา (女媧 หนึ่งออเหนี่ยเนี้ย), พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง (水尾圣娘 จุ้ยบ้วยเสี่ยเนี้ย หรือเจ้าแม่ทับทิม)

ขอเน้นว่า การที่บูชาร่วมกัน แล้วส่งเสริมกันเป็นพิเศษเช่นนี้ หมายถึงว่า ถ้าใครที่ไม่มีห้องพระ มีแค่พื้นที่พอวางโต๊ะหมู่ได้ชุดเดียว หรือจัดแท่นบูชาได้แท่นเดียว ก็สามารถตั้งพระปางใดปางหนึ่งเป็นประธาน แล้วตั้งพระโพธิสัตว์ หรือองค์เทพที่สอดคล้องกัน เลือกเอาตามศรัทธาได้เลยครับ

แต่ถ้ามีห้องพระ ก็แยกแท่นเถอะครับ ปลอดภัยกว่า แล้วยังเลือกหารูปแบบของพระโพธิสัตว์ และองค์เทพได้ตามความพอใจ

ถ้าตั้งแท่นเดียวกัน ยังมีเรื่องต้องคำนึงถึงอีกมาก

ยกตัวอย่างเช่น พระประธานเป็นพระปางโปรดพญาชมพูบดี พระโพธิสัตว์และองค์เทพที่จะไปร่วมโต๊ะหมู่เดียวกัน ก็ควรเป็นแบบที่เครื่องทรงเยอะๆ

แต่ถ้าพระประธานเป็นพระปางปฐมเทศนา ก็กลับกันครับ

คือ พระโพธิสัตว์และองค์เทพที่จะไปร่วมโต๊ะหมู่ ควรเป็นแบบเครื่องทรงน้อยๆ เป็นต้น

ครับ...ในส่วนที่เป็นพระโพธิสัตว์และองค์เทพต่างๆ ผมก็ระบุรายพระนามไว้เท่าที่นึกได้ในตอนนี้

เพื่อนๆ ท่านใดรู้จักพระโพธิสัตว์ หรือเทพอื่นใด คิดว่าควรจะเพิ่มเติมหรือจัดบูชากับพระพุทธรูปปางไหน ก็แนะนำกันเข้ามาได้เลยครับ

ยังมีหลักการสำคัญ ลืมไม่ได้

ใน http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2016/04/blog-post_9.html  พูดถึงบ้างแล้ว แต่ไม่ละเอียด คราวนี้เอาแบบชัดเจนขึ้นมาหน่อยครับ

๑) ถ้าตั้งไว้ในแท่นบูชาเดียวกัน หรือ โต๊ะหมู่เดียวกัน พระพุทธรูป พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ และองค์เทพ จะต้องมีขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วขึ้นไป

และมีขนาดเท่ากันทุกองค์ โดยพระประธาน สามารถใหญ่กว่าพระโพธิสัตว์และองค์เทพได้ไม่เกิน ๔ นิ้ว




เช่น พระโพธิสัตว์และองค์เทพทั้งแท่น แต่ละองค์หน้าตัก ๕ นิ้ว พระประธานควรจะเป็น ๗ นิ้ว หรือ ๙ นิ้วก็ได้ แต่ไม่ควรใหญ่กว่านั้น

และถ้าพระพุทธรูปหน้าตัก ๕ นิ้วเหมือนกัน กับพระโพธิสัตว์และองค์เทพ มวลขององค์พระ ก็ต้องไม่น้อยกว่าพระโพธิสัตว์และองค์เทพด้วย

คำว่า มวลขององค์พระ ก็หมายถึง ขนาดลำตัวจริงๆ ของพระพุทธรูป ไม่รวมฐานน่ะครับ

เพราะบางที ทำฐานมาใหญ่โตมาก แต่องค์พระเล็กนิดเดียว บางรุ่นบางสำนัก วัดหน้าตักองค์พระจริงๆ ได้ไม่ถึง ๕ นิ้ว แต่หน้าฐานปาเข้าไป ๑๒ นิ้ว

ยิ่งเป็นพระแพงๆ สมัยนี้ ที่ช่างปั้นเรียกตัวเองว่า ศิลปิน นี่แหละครับ

๒) พระพุทธรูป ต้องตั้งไว้ในลำดับสูงสุด 

และถ้าจำเป็นต้องตั้งรวมกับพระโพธิสัตว์หรือองค์เทพ อย่ามีพระพุทธรปเกินกว่า ๓ องค์




๓) พระอรหันต์ เช่น พระสังกัจจายน์ พระอุปคุต พระสีวลี ตั้งในลำดับรองจากพระประธาน

และควรเป้นปางประทับนั่งทั้งหมด พระสีวลีประทับยืนหรือเดิน หาง่ายครับ แต่ตั้งลำบาก

และถ้าตั้งเทพรวมด้วย พระอรหันต์ไม่ควรมีเกิน ๒ องค์ ตั้งโตณะปีก ๒ ข้างที่ขนาบพระประธาน

๔) พระโพธิสัตว์กับองค์เทพฮินดู-จีน เสมอกัน ตั้งระดับเดียวกัน คือ ถ้าไม่มีพระอรหันต์ ก็ตั้งรองจากพระประธาน ถ้ามีพระอรหันต์ ก็ต้องตั้งรองจากพระอรหันต์

มหายานอาจยกย่องพระโพธิสัตว์ไว้ใหญ่โต ที่จริงแล้ว ถ้ายังคงมีปณิธานจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ ก็ไม่สูงไปกว่าองค์เทพ เพราะเป็นการสร้างบารมีในระดับเดียวกัน

แต่เทพที่มิได้อยู่ในรายชื่อที่ผมแนะนำ อาจมีทิพยฐานะต่ำกว่าพระโพธิสัตว์นะครับ ตั้งเสมอพระโพธิสัตว์ไม่ได้ ต้องดูเป็นองค์ๆ ไป

แม้ในวัชรยาน นาคกัญญาก็ตั้งเสมอพระโพธิสัตว์และองค์เทพไม่ได้

๕) ทีนี้, อาจจะมีบางท่านสงสัยอีกว่า ถ้าตั้งพระคเณศรวมอยู่กับโต๊ะพระ เวลาไหว้พระ ควรจะ นะโม ตัสสะฯ ก่อน หรือ โอม ศรี คะเณศายะ นะมะฯ ก่อน?




เพราะพระคเณศ เป็นปฐมบูชาในศาสนาฮินดู

คำตอบ คือ นะโม ตัสสะฯ ก่อนครับ

เพราะเมื่อเราตั้งพระพุทธรูปเป็นพระประธาน แสดงว่า เรานับถือศาสนาพุทธ ไม่ใช่ศาสนาฮินดู

การที่ฮินดูบัญญัติว่า พระคเณศเป็นปฐมบูชานั้น ใช้กับศาสนาฮินดูเองเท่านั้นแหละครับ ไม่ใช้กับศาสนาอื่น

อีกอย่าง พระคเณศที่สร้างในเมืองไทย แม้ในการเทวาภิเษก จะมีพิธีพราหมณ์ด้วย แต่ก็มิได้มีการประจุให้เทวรูปของท่านต้องได้รับการบูชาเป็นปฐม

ส่วนพระคเณศที่สร้างในอินเดีย พิธีเทวาภิเษกเขาไม่มีความหมายนักหรอกครับ เอามาตั้งรวมกับพระไทยโดยไม่บูชาเป็นปฐม ก็ไม่มีผลเสียหายอะไร

ดังนั้น พระคเณศควรจะประดิษฐานอยู่แถวกลางของโต๊ะหมู่ เช่น โต๊ะกลางแถวที่ ๒ หรือ ๓

ถ้ามีพระโพธิสัตว์ หรือเทพจีนเทพไทยรวมอยู่ด้วย ก็บูชาไปตามลำดับครับ จากบนลงล่าง และจากซ้ายไปขวา

ถ้ามีแต่เทพฮินดูเหมือนกัน อยู่ในแท่นหรือโต๊ะหมู่เดียวกัน ไม่มีพระพุทธรูป จึงจะควรบูชาพระคเณศก่อนเทพเหล่านั้น




จับหลักไว้ว่า บูชาพระคเณศก่อนเทพอินเดียด้วยกัน ก็พอแล้ว

ครับ, ตอนนี้ผมนึกได้เท่านี้ ก็เขียอธิบายกันไว้เท่านี้ก่อน ซึ่งก็น่าจะเพียงพอ สำหรับคนไหว้พระบูชาเทพโดยทั่วไป

แล้วอะไรที่ผมบอกว่า ไม่ควรทำ ก็อย่ามีใครมาถามผมอีกนะครับ ว่าถ้าทำแล้วจะเป็นอย่างไร คนที่ถาม ลองใช้ สามัญสำนึก ดู ถ้าทำแล้วไม่เป็นไร ผมจะห้ามทำไมล่ะครับ?

เหตุผลมันยาว ถ้าแค่บอกว่าไม่ควรทำแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ไม่มีทางเข้าใจหรอกว่า ทำไมถึงไม่ควรทำ

……………………………

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

อาถรรพณ์จากการเลี้ยงพราย


บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*




ผมเผยแพร่เทวศาสตร์ การบูชาเทพเป็นหลัก แต่ก็ยังมีคนมาถามผมเสมอๆ เรื่องการบูชาพราย บูชากุมารทอง

ทั้งสองอย่างนี้ ผมไม่เห็นด้วย และ ไม่สนับสนุน นะครับ

แต่การบูชาพราย เลี้ยงพราย ผมพอจะตอบได้

ด้วยว่าภูตพรายต่างๆ ที่เขาทำออกมาให้บูชากันนั้น ถ้าคนทำเขามีวิชาจริง ก็เป็นลักษณะของการเชิญพรายมาสิงในรูปเคารพ หรือเครื่องราง ไม่ได้ไปบังคับหลอกล่อมา

ดังนั้น ภูตพรายแต่ละตน จึงเต็มใจมา เพื่อจะหาที่สิงสู่ มีคนเซ่นไหว้ปรนเปรอไปวันๆ หรือเพื่อจะสร้างบารมีก็ตาม

ส่วนกุมารทอง ถึงผมรู้ผมก็ไม่ตอบ เพราะเป็นการบังคับ หรือหลอกล่อเอาผีเด็กมาใส่ในรูปเคารพ

วิญญาณเด็กนั้นแทนที่จะได้ไปผุดไปเกิด ก็ไปไม่ได้ สร้งบารมีก็ไม่ได้ เพราะยังเด็กเล็กเกินกว่าจะสร้างบารมีใดๆ

มีแต่คอยทำตามคำสั่งคนเลี้ยง เพื่อแลกขนม ของกิน ของเล่นไปวันๆ ตามประสาเด็ก




เป็นบาปมหันต์ครับ คนที่บ้าเลี้ยงกุมารทองมากๆ ถ้ามีลูก แล้วลูกตายตั้งแต่ยังเล็ก วิญญาณลูกก็จะถูกเขาจับไปทำกุมารทอง

ถ้าตนเองเองตาย ไปอาศัยท้องใครเกิดก็ไม่ได้เกิด กรรมที่บ้าเลี้ยงกุมารทองจะทำให้ตายตั้งแต่ในครรภ์ หรืออุแว้ออกมาไม่นานก็ตาย หรือถูกแม่ทำแท้ง

แล้ววิญญาณก็จะถูกเขาจับไปทำกุมารทองเช่นกัน เพราะมีแรงดึงดูดจากการที่เคยผูกพันกับกุมารทองมากๆ ไว้ก่อนตาย

ส่วนคนเลี้ยงพราย ต้องระวังอย่างเดียว คือ เลี้ยงแล้วเข้าตัว

ที่มาถามผมกันมาก ก็เรื่องนี้แหละครับ

ในบทความนี้ ผมก็เลยขออธิบายว่าเลี้ยงอย่างไร พรายถึงเข้าตัว หรือกินตัว




๑) สำคัญที่สุดเลยนะครับ คือ ผิดสัจจะ

ถ้าจะใช้พรายเพื่อการใดก็ตาม สมมุติว่า หาแฟน หรือ หาคู่ นะครับ

เมื่อไหร่ถ้าเจอคนที่ ใช่ แล้ว ต้องหยุด

คำว่า หยุด คือยังคงเลี้ยงต่อไป แต่ใช้เรื่องอื่นแทน

เช่นขอโชคลาภบ้าง หรือขอให้ช่วยดูแลคนรัก ก็ว่าไป

แต่อย่าไปขอเรื่องความรักความใคร่อีก เท่านั้นแหละครับ

แล้วก็เลี้ยงต่อไปด้วยความตั้งใจว่า ในไม่ช้าจะทำบุญใหญ่ให้ เพื่อจะส่งพรายที่เลี้ยงให้ไปเกิด จะได้ไม่ต้องสะสมกรรมร่วมกันต่อไป

เว้นแต่พรายต้องการอยู่กับเราไปอีกสักระยะ เพื่อสร้างบารมี หรือชอบพอเราเป็นพิเศษ เมื่อได้รับบุญแล้วเขาจะมาเข้าฝันขออยู่กับเราต่อไป

ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็บูชาหรือเลี้ยงต่อไปครับ ไม่มีโทษ




ส่วนถ้าจะใช้พรายเพื่อแค่รักสนุก ไม่ผูกพัน ก็ต้องสัญญากันว่า ถ้าได้ตามที่ขอแล้วจะให้อะไร

ซึ่งเมื่อได้ตามนั้น ก็ต้องรักษาคำมั่นสัญญา

ไม่ใช่แกล้งทำเป็นลืม แล้วขอใหม่ไปเรื่อยๆ

หรือบางคนกะล่อน  ไม่รักษาสัญญา แต่ล่อหลอกว่าจะเพิ่มสินบนไปเรื่อยๆ

แบบนี้ละครับ โดนแน่นอน




๒) พวกจิตวิปริต ผิดศีลธรรม ใช้เพื่อแย่งของรักของคนอื่น ซึ่งพรายที่เก่งๆ เขาก็ยินดีจัดให้ครับ

แต่พอได้แล้ว อาถรรพณ์มันจะเกิดกับคุณ มากกว่าการไปแย่งของคนอื่นด้วยวิธีที่ไม่ใช่ไสยศาสตร์หลายเท่า

๓) อีกพวกคือ ชอบลองของ

คือไม่เชื่อเรื่องพวกนี้หรอกครับ แต่อยากเล่น ซื้อมาเล่นมาลอง แบบพวกคนอวดผี ดูซิว่าแน่แค่ไหน

ถ้าได้ผล ก็ไปซื้อของใหม่มาเล่นต่อไป ไม่ได้ผลก็เขวี้ยงทิ้งแบบมักง่าย

ใครทักให้ทำให้ถูก ก็ท้าทาย กรูส์จะทำอย่างงี้มีไรป่ะ?”




๔) พวกเห่อตามกระแส ใครมีอะไรต้องมีกับเขาบ้าง ซื้อมาสะสมไว้ เลี้ยงมั่วๆ ผิดๆ ถูกๆ ไม่เอาใจใส่ อย่างนี้โดนง่ายมาก

๕) พวกที่เลี้ยงแบบตั้งใจ เอาใจใส่มากๆ แต่เลี้ยงผิดวิธี

คือ แทนที่จะทำตามใบฝอยที่คนสร้างเขาบอกมา ก็ไปเอาวิธีเลี้ยงของสำนักอื่นมาใช้

หรือไม่ก็ไปซื้อเครื่องรางที่ไม่มีที่มาที่ไป แล้วก็ไปหาวิธีเลี้ยงจากเว็บไซต์ต่างๆ

ซึ่งต้องขอบอกว่า เรื่องแบบนี้โบราณอาจจะมีสูตรสำเร็จอยู่ไม่กี่สูตร แต่สมัยนี้สำนักใครสำนักมัน แทนกันไม่ได้นะครับ

เพราะสายวิชาเขาสืบทอดมาไม่เหมือนกัน

บางสำนักผสมวิชาใหม่ตามความชำนาญของตนเอง มนต์ที่ใช้เสกสร้าง และควบคุมพรายย่อมไม่เหมือนใคร

ทีนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่า อาการที่ว่า เข้าตัว กินตัว นั้นเป็นอย่างไร?




๑) ราศีใบหน้าหม่นหมอง

ซึ่งเรามักจะไม่สังเกตตัวเอง แต่คนรอบข้างมักจะทักว่า ทำไมหน้าหมองลง ดูโทรมลง ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ถึงกับเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรร้ายแรงในตอนนั้น

๒) มีเรื่องบาดหมางกับผู้อื่นง่าย

ปฏิสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง คนรู้จัก และคนทั่วไป จะเห็นว่า มักมีปากมีเสียงกับคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ทะเลาะกันได้

ใครทำอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด เกิดความเบื่อหน่ายคนในบ้านเดียวกัน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

๓) สังคมรังเกียจ

คนที่เคยสนิท หรือเคยดีกับเรา เริ่มตีตัวออกห่าง คนที่ไม่สนิทเริ่มนินทาเรา หรือมีข่าวลือในทางไม่ดีเกี่ยวกับเราบ่อยๆ

๔) เจรจาเรื่องการงานมักไม่ได้ผล

ทำงานกับใครก็ไม่ได้รับความร่วมมือ แล้วก็บานปลายไปถึงถูกปรักปรำ ใส่ร้าย

หน้าที่การงาน เคยดีเด่นก็กลายเป็นแย่ลงๆ จนถูกไล่ออกจากบริษัท

คนที่มีกิจการเป็นของตัวเอง ก็ไปไม่รอด เคยได้เงินเป็นกอบเป็นกำ กลายเป็นมีแต่รายจ่าย ทุกวันมีแต่เงินออกไม่มีเงินเข้า




๕) ถ้าเป็นเรื่องเซ็กซ์ยิ่งเห็นชัดครับ

เคยมีคู่นอนหมุนเวียนไม่ซ้ำหน้า กลายเป็นหนีหายไปกันหมด ถ้ามีแฟนแฟนก็นอกใจ 

จะมีก็แต่คนวิปริต ที่เข้ามามีความสัมพันธ์เพื่อเงิน หรือผลประโยชน์ล้วนๆ

หรือบางที ไปมีเพศสัมพันธ์กับคนเป็นเอดส์ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง แล้ววันๆ ก็หมกมุ่นในเรื่องเซ็กซ์ จนไม่ทำอย่างอื่น

อาการอย่างนี้ เข้าหลักที่โบราณเรียกว่า ธรณีสาร ครับ

ซึ่งธรณีสารนั้น โดยทั่วไป คือผลจากการกระทำผิดในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบูชาพรายแล้วเข้าตัวก็เป็นเช่นเดียวกัน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นตรงกันข้ามกับตอนที่ใช้พรายใหม่ๆ แล้วได้ผล เมื่อเข้าตัวหรือกินตัวแล้ว ผลจะกลับตาลปัตรกันไปหมด

ตำถามยอดฮิตคำถามต่อไป คือ แล้วจะแก้อย่างไร?

จริงๆ แล้ว กว่าจะรู้ว่าเลี้ยงพรายแล้วเข้าตัว มันก็มักจะสายเกินแก้ไปแล้วละครับ

แต่ถ้าสังเกตทัน ก็ต้องทำใจอีกว่า วิธีแก้ มันมี




แต่ต้องใช้เวลา และ วินัย การปฏิบัติตัวที่ต่อเนื่องในการแก้ไข

แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ได้เคลียร์ เหมือนกับไม่เคยเลี้ยงพรายมาก่อนหรอกนะครับ

เพราะก่อนหน้านั้นที่คุณทำผิดไป มันก็คือการก่อกรรมไปแล้ว

วิธีแก้ไขอย่างแรกสุด ที่นิยมทำกัน คือ ถวายสังฆทาน (ที่จัดเตรียมเอง ไม่ใช่ไปซื้อเป็นกระป๋องตามวัดหรือในห้าง) แบบชุดใหญ่ และเหมาะแก่การใช้สอยของคณะสงฆ์ในวัดนั้นๆ

โดยจะต้องมีอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่าง เช่น ตะเกียง หลอดไฟ รวมอยู่ด้วย

เมื่อถวายแล้ว ตั้งใจกรวดน้ำให้พรายที่เราเลี้ยง แล้วพอกลับบ้าน ก็จุดธูปบอกกล่าวให้เขาอนุโมทนา เขาจะลดอาถรรพณ์ลง

บุญสังฆทานเช่นนี้ ยังสามารถบรรเทาอาถรรพณ์ที่เกิดจากการผิดครู คือการเลี้ยงพรายผิดหลักวิชาด้วย

และในหลายๆ กรณี ยังสามารถถอดถอนพรายตนนั้นออกจากอาคม แล้วไปเกิดได้เลยนะครับ

ซึ่งถ้าพรายที่เลี้ยงไว้ ไปเกิดแล้ว (ก่อนไปมักจะมาบอกในฝัน) สามารถห่อผ้า แล้วเอาไปทิ้งทางสามแพร่งได้

โดยจุดที่ทิ้งต้องอยู่ไกลบ้าน เป็นที่ลับตาคน และไม่ใช่ทางผ่านในการไปทำงาน หรือไปทำธุระตามปกติ

หลังจากนั้น ก็จะต้องไปให้พระเกจิอาจารย์ที่ทรงคุณประเสริฐ และเชี่ยวชาญในการทำน้ำมนต์ที่เรียกว่า น้ำมนต์ธรณีสาร ให้ท่านรดน้ำมนต์ให้




ซึ่งถ้ายังไม่แน่ใจว่า พรายไปเกิดหรือยัง ก็เอาพรายนั่นแหละครับ ห่อผ้าไปให้ท่านตรวจให้ แล้วก็จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านทุกอย่าง

ในการไปขอพระเกจิอาจารย์เพื่อรดน้ำมนต์ และปรึกษาเกี่ยวกับการลาพราย ต้องมีค่าตอบแทนให้ท่าน อย่างน้อยสองหรือสามเท่า ของราคาพรายตอนที่ซื้อมาด้วยนะครับ

ถ้าท่านไม่สะดวกรับเงิน ก็ขออนุญาตท่านนำไปบริจาคในตู้บริจาคของวัด

จากนั้นก็ไม่ต้องรับพรายอะไรมาเลี้ยงอีก แล้วหันไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นแทน

๑) บูชาพระ ปฏิบัติธรรม

ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่คนที่เล่นพรายด้านเสน่ห์มาก่อน มักทำได้ยาก

๒) ถ้าเคยบูชาพรายด้านเมตตามหานิยม ความรักความใคร่ ก็เปลี่ยนไปบูชาเทพที่เกี่ยวกับเมตตามหานิยมทั่วไป เช่น พระแม่ลักษมี

ซึ่งจะช่วยปรับชะตาชีวิตให้ดีขึ้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป

๓) ถ้าเคยบูชาพรายในด้านแคล้วคลาด ป้องกันอันตราย ก็เปลี่ยนไปบูชาเทพองค์ไหนก็ได้ ที่พิจารณาแล้วชอบ คิดว่าน่าบูชา




เพราะคุณสมบัติในด้านนี้ เป็นพื้นฐานของเทพทุกองค์ครับ จึงสามารถเลือกได้ตามใจ

ถ้าจะให้ผมแนะนำเทพที่บูชาแล้ว ตัดอดีตที่เชื่อมโยงกับพรายได้เร็ว ก็มักจะเป็นเทพของไทยครับ

เช่น พระพรหม พระอินทร์ พระแม่ธรณี จตุคามรามเทพ

แต่อย่าบูชาพระฤาษีและยักษ์เป็นขาด เพราะบางสำนักจะทำไว้ให้มีกระแสเหนี่ยวนำให้กลับไปบูชาพรายอีกครับ


……………………………


หมายเหตุ ๑ : ผมขอไม่บรรยายภาพนางพราย โหงพราย หุ่นพยนต์ งั่งชนิดต่างๆ ที่นำมาประกอบบทความนี้

มิฉะนั้น จะมีคนที่ดูแต่ภาพอย่างเดียว ไม่อ่านข้อความข้างบน ที่ว่า *วัตถุมงคลที่กล่าวถึงในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา* แล้วก็จะสอบถามเข้ามาว่า มีให้บูชาหรือไม่

หมายเหตุ ๒ เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด