วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

มหาเทพทรงพาหนะ


บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*




เรื่องของสัตว์พาหนะ ผมเขียนไว้ใน http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2015/12/blog-post_11.html
ว่ามีที่มาจากอะไรๆ ได้หลายอย่าง โดยทั้งหมดล้วนมิได้เป็นพาหนะขององค์เทพจริงๆ

แต่เทวศาสตร์ และไสยศาสตร์ของไทย ได้พัฒนาผ่านกาลเวลา จนเข้าถึงระดับสูงสุด ในศาสตร์ทั้งหลายของอินเดียและอุษาคเนย์ ที่บูชาเทพทรงพาหนะ

โดยศาสตร์นี้ มีต้นกำเนิดมาจาก เทวดาอัฐทิศ หรือ อัษฎโลกบาล ของอินเดีย ซึ่งประกอบด้วย :

๑.พระอินทร์ ประจำทิศตะวันออก ทรงช้างเอราวัณ

๒.พระอัคนี ประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทรงระมาดเพลิง

๓.พระยม ประจำทิศใต้ ทรงมหิงสา

๔.พระนิรฤติ ประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทรงพยัคฆ์

๕.พระวรุณ ประจำทิศตะวันตก ทรงนาค

๖.พระพาย ประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทรงม้า

๗.พระไพศรพณ์ ประจำทิศเหนือ ทรงโค

๘.พระอิศาณ หรือ พระอิศวร ประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงโค

โดยเราได้รับมาตั้งแต่สมัยทวารวดีแต่ที่นับเป็นครูของศาสตร์แขนงนี้ในไทยเราอย่างแท้จริง มาจากเขมรครับ

อย่างไรก็ตาม ศาสตร์แห่งเทวดาอัฐทิศของไทยเรา ในที่สุดก็เสื่อมลงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

โดยยังคงเหลืออยู่แต่ในตำรา อภิไทโภธิบาทว์ เป็นพิธีกรรมสำหรับแก้อาถรรพณ์ลางร้ายต่างๆ ซึ่งในทางปฏิบัติ ก็มีอยู่เพียงการอนุรักษ์ตำราไว้เท่านั้น

ส่วนในทางศิลปะ ก็นิยมทำเป็นรูปเทวดานั่งแท่น ไม่ทรงพาหนะอีกต่อไป 

แม้กระนั้น ประติมานวิทยาของเทพที่ทรงพาหนะ ก็ยังคงมีการสืบทอดกันต่อมาในทางไสยศาสตร์ของเราเนื่องจากเป็นรูปลักษณ์ที่ทรงอานุภาพ และอิทธิฤทธิ์ ในระดับที่เหนือกว่าเทวรูปทั่วไปของเทพองค์เดียวกัน

ซึ่งนั่นก็เพราะว่า เป็นสิ่งที่เราได้รับมาจากเทวศาสตร์ และไสยศาสตร์เขมร ที่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้อยู่แล้วนั่นเอง

โดยองค์เทพตามคตินี้ ที่เรารักษาไว้ได้ตลอดมา คือ พระอินทร์ พระวรุณ และพระอิศาณ หรือพระอิศวร

อีกทั้งเรายังได้ผนวกเอามหาเทพองค์สำคัญ คือ พระนารายณ์ และ พระพรหม เข้าไปด้วย จนเกิดเป็นสายวิชาเฉพาะของไทยเราเอง

ดังเช่นในอดีต บางสำนักได้จัดสร้างพระนารายณ์ทรงครุฑ พระอิศวรทรงโค พระพรหมทรงหงส์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และพระพิรุณทรงนาค เป็นเทวรูปชุดเดียวกัน ๕ องค์ สำหรับการประกอบพิธีกรรม ที่มีศาสตร์รองรับโดยเฉพาะ

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ศาสตร์ดังกล่าวสืบทอดกันในวงแคบเฉพาะไม่กี่สำนักครับ และไม่เป็นที่พบเห็นกันอีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน

คงเหลือแต่การประดิษฐานเทพผู้ทรงมเหสักข์ทั้ง ๕ เป็นเอกเทศ ตามสถานที่ต่างๆ  ดังต่อไปนี้ครับ




พระนารายณ์ทรงครุฑ

เป็นศาสตร์ที่ไทยเราได้รับจากเขมร ตั้งแต่สมัยอยุธยา

และเรานำมาใช้ทั้งในรูปแบบของเทพที่ขจัดสิ่งชั่วร้าย อันพึงมีพึงเกิดแก่พระพุทธรูปองค์สำคัญ และเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจแห่งองค์พระมหากษัตริย์

วัดหลวงที่พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ จึงมีรูปนารายณ์ทรงครุฑปรากฏอยู่เป็นสำคัญ

อีกทั้งยังทำเป็นโขนเรือพระที่นั่ง ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค เช่น เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๙ โดยสืบทอดรูปแบบจากสมัยรัชกาลที่ ๔

ปัจจุบัน ศาสตร์แห่งพระนารายณ์ทรงครุฑ ยังคงได้รับความนิยมโดยไม่เสื่อมคลาย นอกจากการสืบทอดคติอยุธยาโดยหลายๆ วัดที่สร้างขึ้นใหม่แล้ว ยังมีการสร้างเป็นเทวรูปขนาดใหญ่ สำหรับให้สาธารณชนสักการบูชาด้วย




เช่น พระนารายณ์ทรงครุฑประทับบนพระราหู ที่ วัดยานนาวา และ ศิวาลัยสถาน สี่แยกพระศิวะ (ถนนรัชดาตัดถนนลาดพร้าว) กรุงเทพฯ

ส่วนพระนารายณ์ทรงครุฑแบบขอมโบราณ  ตรงด้านหน้า โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล  ย่านราชประสงค์ ที่มีหมอดูและสื่อต่างๆ แนะนำให้ไปไหว้กันอยู่เสมอนั้น

ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะรับการบูชาหรอกครับ เนื่องจากเดิมเป็นเพียงประติมากรรมสำหรับตกแต่งสถานที่ เพื่อแก้ฮวงจุ้ยเท่านั้น




พระอิศวรทรงโค

ทรงเป็นใหญ่มาก่อนทั้งในเทวศาสตร์ และไสยศาสตร์ไทยโบราณ

เทวรูปของพระองค์ จึงเป็นเทวดาทรงโคที่มีพระกรจำนวนมาก แสดงถึงเทวานุภาพอันมหาศาล ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

แต่ส่วนใหญ่ก็มีหลักฐานคงเหลืออยู่เพียงในภาพที่เห็นนี้ละครับ ซึ่งเป็นเทวรูปลงรักปิดทองสมัยรัตนโกสินทร์ และนักเลงพระเครื่องมักเรียกกันผิดๆ ว่า “นารายณ์ทรงโค”




เทวรูปเหล่านี้ ส่วนหนึ่งถูกดัดแปลงให้เป็น พระพุทธรูปปางโปรดพกาพรหม โดยตัดยอดชฎาออก แล้วเติมพระพุทธรูปองค์เล็กๆ เข้าไปแทน

การกระทำเช่นนี้ อาจเป็นเหตุปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ศาสตร์ของพระอิศวรในเมืองไทยเสื่อมสูญไปจนหมดสิ้นในเวลาต่อมา

และในขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ยังไม่พบว่ามีการสร้างพระอิศวรทรงโคขนาดใหญ่ไว้ ณ ที่ใดในเมืองไทยครับ




พระพรหมทรงหงส์

แม้ว่าจะทรงเป็นองค์บรมครูในทางเทวศาสตร์และไสยศาสตร์ไทย แต่ก็เช่นเดียวกับพระอิศวรทรงโค คือยังไม่พบว่า มีการสร้างเป็นเทวรูปขนาดใหญ่มาก่อน

จนกระทั่งคณะช่างของ อ.สง่า มยุระ ได้ประดิษฐานพระพรหมทรงหงส์ไว้บนหน้าบันด้านหนึ่ง ของพระอุโบสถ วัดราชบุรณะ หรือ วัดเลียบ ที่สร้างขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นพระพรหมทรงหงส์ที่สวยที่สุดในเมืองไทย




ส่วนที่เป็นเทวรูปขนาดใหญ่ สำหรับให้สาธารณชนสักการะบูชานั้น ปัจจุบันมีการสร้างไว้ที่ Legend Siam พัทยา แต่เนื่องจากเพิ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จึงยังไม่มีประสบการณ์แพร่หลายครับ




พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

เป็นสายวิชาที่ไทยเรารับรูปแบบจากเขมร แต่ยังไม่พบหลักฐานที่เก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา

ปัจจุบัน มีการสร้างพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณไว้ตามสถานที่ต่างๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมาก เช่น วัดสารภี จ.สุพรรณบุรี, วัดสมานรัตนาราม  จ.ฉะเชิงเทรา และ Legend Siam พัทยา เป็นต้น 




แต่ไม่มีที่ใดสร้างได้งาม และศักดิ์สิทธิ์ไปกว่า วัดเทวราชกุญชร เทเวศร์ ครับ




พระพิรุณทรงนาค

พระพิรุณหรือพระวรุณ ในศาสตร์ยุคทวารวดีและขอมนั้น ทรงหงส์ แต่ในทางเทวศาสตร์และไสยศาสตร์ไทยนั้นทรงนาค

และน่าประหลาดใจมากครับ ที่พระพิรุณทรงนาคนี้ ปัจจุบันนับเป็นเทพทรงพาหนะที่มีการจัดสร้างไว้มากที่สุดในเมืองไทย เมื่อเทียบกับพระเป็นเจ้าอีก ๔ องค์ที่กล่าวมาแล้ว

โดยเทวรูปขนาดใหญ่ของพระพิรุณทรงนาค ที่สาธารณชนสามารถไปสักการะบูชาได้ง่าย เช่น

-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ

-วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ วิทยาเขตหันตรา จ.พระนครศรีอยุธยา

-วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จ.กาญจนบุรี 




-มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ บริเวณหน้าคณะพัฒนาการท่องเที่ยว

การที่โบราณาจารย์ของเรา ได้บูชาเทพทั้ง ๕ องค์นี้เป็นชุดเดียวกัน แม้จะเป็นคติที่ไม่แพร่หลาย และพวกเราในยุคนี้ไม่รู้จักกันแล้ว

แต่จากประสบการณ์ของผม ในการทำงานด้านนี้มานานกว่า ๒๐ ปี ก็ได้ประจักษ์ว่า เป็นวิธีการบูชาที่มีผลพิเศษ ในการปกป้องคุ้มครอง ขจัดอาถรรพณ์ เสนียดจัญไร และการกระทำคุณไสยมนต์ดำต่างๆ ได้ในระดับที่เหนือกว่าเทวรูปชนิดอื่นจริงๆ ครับ

ผมจึงหยิบยกมาแนะนำ โดยที่พวกเราก็ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาเทวรูปทรงพาหนะเช่นนี้ มาตั้งบูชาเป็นชุดครบ ๕ องค์

เพราะอย่างเช่นพระอิศวรทรงโค ทุกวันนี้ส่วนมากเป็นของโรงงานเลียนแบบของเก่าครับ

นานๆ ครั้งจึงจะมีบางวัดสร้าง ซึ่งก็ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นพระนารายณ์ทรงโคเสียอีก เป็นการยืนยันว่า ไม่มีวิชาที่จะเสกทำเทวรูปเช่นนี้คงเหลืออย่างแน่นอน




ดังนั้น พวกเราก็เพียงแต่ไปสักการะบูชาพระนารายณ์ พระพรหม พระอินทร์ และพระพิรุณ ตามสถานที่ที่ผมระบุแล้ว ให้ได้ ๓ องค์ ก็พอแล้วครับ (เลือกเอาว่าจะเป็นพระนารายณ์หรือพระพรหมก็ได้)

และเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่า ดวงชะตามืดมน ถูกคนชั่วคนวิปริตเบียดเบียน ด้วยไสยศาสตร์มนต์ดำ เป็นต้น ก็ควรบูชาให้ครบทั้ง ๓ องค์ ภายใน ๗ วัน

ซึ่งจะต้องไม่ตรงกับวันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ ตามปฏิทินโหราศาสตร์ไทย

และไม่จำเป็นต้องไปในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ หรือสงกรานต์ครับ

เพราะอย่างพระพิรุณที่กระทรวงเกษตรฯ และสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการ จึงควรไปไหว้ในวันและเวลาราชการจะดีกว่า

ส่วนเทวรูปและวัตถุมงคล ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในการจัดหามาบูชา ณ เวลานี้ คือ พระนารายณ์ทรงครุฑ พระพรหมทรงหงส์ และพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ก็ขึ้นอยู่กับศรัทธานะครับ ว่าจะเลือกองค์ไหน

คือถ้าจะตั้งเป็นพระบูชาในบ้าน จะบูชาทั้ง ๔ องค์ก็ได้ แต่ถ้าบูชาหน้ารถหรือติดตัว องค์เดียวก็พอครับ

เรื่องนี้ ผมเอามาเขียนแนะนำแล้ว ก็คงมีเกจิทั้งจริงทั้งปลอม ได้ความคิดไปจัดทัวร์อะไรกันอีก ไม่เป็นไรครับผมไม่ว่า เพราะผมเป็นคนชวนไหว้เอง

แต่ถ้าเป็นพวกวิปริต ที่ชอบเลียนแบบความคิดผมไปหากิน ในขณะเดียวกับที่คอยก่นด่า ใส่ร้ายผมลับหลัง ก็ระวังตัวกันไว้ให้ดีนะครับ

เพราะผมอธิษฐานกับทั้ง ๔ องค์ เผื่อพวกคุณไว้หมดแล้ว

-----------------------

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด