วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ศาสตร์แห่งนางเงือก


บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*


นางเงือก ฝีมือ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ

คำว่า เงือก ในภาษาไทยชั้นเดิมที่สุด  คือ งู

ดังปรากฏใน โองการแช่งน้ำ ซึ่งใช้ใน พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา มีบทอัญเชิญพระอิศวร บรรยายว่า

ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง

หมายถึง ทรงมีงูเป็นสังวาลย์ ครับ

แต่ในวรรณคดียุคต่อมา เช่น ลิลิตพระลอ ความหมายของเงือกก็เปลี่ยนไป

กล่าวคือ เป็น พราย หรือ ผีน้ำ ประเภทหนึ่ง รูปร่างคล้ายคน มีผมยาว มีดวงตาโตกลอกไปมาได้ น่าเกลียดน่ากลัวยิ่งนัก

เมื่อใครลงเล่นน้ำ เงือกก็เอาผมพันรัดคอแล้วฉุดลงไปใต้น้ำ จนจมน้ำตาย

คำว่า เงือก ที่หมายถึงผีน้ำนี้ ยังคงใช้กันมาจนรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังเช่นใน รำพันพิลาป ของ สุนทรภู่

แต่ในวรรณคดีอีกเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ คือ พระอภัยมณี ก็กลับเปลี่ยนไปใช้เงือกในความหมายใหม่

คือ ครึ่งคนครึ่งปลา อย่าง Mermaid ของฝรั่ง

แล้วนางเงือกของสุนทรภู่ ก็มีพฤติกรรมที่เกือบจะเหมือนกับ mermaid เลยละครับ

คือเมื่อเรือเดินสมุทรลำใด อับปางลงในทะเล บรรดานางเงือกก็จะพากันฉุดมนุษย์ไป

แต่นำไปเพื่อเป็นคู่ มิใช่นำไปฆ่ากินเป็นอาหารเหมือน mermaid


นางเงือกของสุนทรภู่ หุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาส
ที่ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง จ.นครปฐม

ยุคของสุนทรภู่ เป็นยุคที่คนไทยเริ่มตื่นตัวกับวิชาความรู้ที่ฝรั่งนำเข้ามา ตัวท่านเอง ก็ได้ศึกษาในเชิง ฝรั่งวิทยา ไว้มาก ดังมีสอดแทรกอยู่ในส่วนอื่นของวรรณคดีเรื่องเดียวกันนี้

จึงสันนิษฐานได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนิยามของเงือก ในเรื่องพระอภัยมณี ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจาก mermaid ของฝรั่งอย่างแน่นอน

และทำให้คนไทยโดยทั่วไป ใช้คำว่าเงือก ตามความหมายเดียวกันนี้มาตั้งแต่นั้น

แต่สุนทรภู่ มิได้เป็นบุคคลแรก ที่พูดถึงอมนุษย์ ที่เป็นครึ่งคนครึ่งปลาในวรรณคดีไทยหรอกครับ

และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากอิทธิพลของ mermaid แล้ว ยังมีความเป็นไปได้สูงว่า ท่านจะได้แนวคิดมาจากวรรณคดีที่มีมาก่อนแล้วด้วย

เพราะในบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.๒๓๔๐ นั้น ได้มีการกล่าวถึง นางสุพรรณมัจฉา ในสมุดไทยเล่มที่ ๔๐

นางสุพรรณมัจฉา ในพระราชนิพนธ์ดังกล่าว เป็นลูกสาวทศกัณฐ์ตอนแปลงกายเป็นปลา ไปสมสู่กับนางปลา จนมีลูกออกมาเป็นคนครึ่งปลา

แม้ทศกัณฐ์จะเป็นยักษ์ แต่ในวรรณคดีก็อนุโลม ให้เชื้อสายของทศกัณฐ์เป็นมนุษย์ เช่น ในกรณีของ นางสีดา ไงครับ

ด้วยเหตุนี้ นางสุพรรณมัจฉาจึงมีรูปกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างเป็นปลา อีกทั้งมีรูปโฉมที่งดงาม มีผิวพรรณผุดผ่องเป็นสีทอง

ครั้นเมื่อพระราม ได้มอบหมายให้หนุมานและนิลพัท พาพลวานรไปถมมหาสมุทร เพื่อจองถนนไปสู่กรุงลงกา ทศกัณฐ์สั่งให้นางสุพรรณมัจฉาคุมบริวารคือฝูงปลา คาบก้อนหินของฝ่ายพระรามไปทิ้ง เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งแก่การจองถนนนั้น

หนุมานเกิดความสงสัย จึงดำลงไปใต้น้ำ พบนางสุพรรณมัจฉากำลังคุมฝูงปลาคาบก้อนหินไปทิ้ง ก็โกรธแค้นมาก จึงชักตรีจะฆ่านางสุพรรณมัจฉา แต่ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนใจ จึงเกี้ยวพาราสีนางและร่วมสังวาสกัน

จนต่อมานางมีบุตรคือ มัจฉานุ ที่ตัวเป็นลิงมีหางเป็นปลา


ภาพปูนปั้นระบายสี หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา

แม้นางสุพรรณมัจฉา จะเป็นตัวละครที่มีบทบาทเพียงเท่านั้น แต่ด้วยรูปลักษณ์อันงดงาม ที่ผู้คนได้พบเห็นจากจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ในพระระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ก็เป็นที่ชื่นชอบและจดจำ จนกลายเป็นหนึ่งในนางในวรรณคดีที่มีชื่อเสียงของไทย

และรูปลักษณ์ของนางสุพรรณมัจฉา ยังได้ปรากฏใน ธงกฐิน ทั้ง ๔ คือ นางเงือก จระเข้ ตะขาบ และเต่า อีกด้วย

โดยธงชนิดนี้ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ธงนางเงือก หรือ ธงนางมัจฉา เป็นธงที่ใช้ประดับตกแต่งในงานพิธีถวายผ้ากฐิน ซึ่งมีผู้อธิบายว่า เป็นเคล็ดความเชื่อของคนไทย ในเรื่องของอานิสงส์จากการถวายผ้าแก่พระภิกษุ จะทำให้มีรูปงาม

ต่อมา ก็มีผู้อธิบายคาามหมายของธงกฐินทั้ง ๔ ว่าเป็น ปริศนาธรรม หมายถึงกิเลสทั้ง ๓ คือ จระเข้ หมายถึงความโลภ นางมัจฉา หมายถึงความหลง ตะขาบ หมายถึงความโกรธ และ เต่า หมายถึงสติ

คำอธิบายนี้ น่าจะเป็นการลากเข้าความ และเกิดขึ้นภายหลังครับ

เพราะการทำธงกฐินทั้ง ๔ อาจจะมาจากศาสตร์โบราณ ที่เก่าแก่มาก และสูญหายไปแล้ว จนคนไม่รู้ความหมายดั้งเดิม เหลือแต่รูปภาพที่ยังคงอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับปริศนาธรรมอันใด

ดังเช่น ธงจระเข้นั้น ยังคงมีตำนานเล่าขานกันถึงเศรษฐีผู้หนึ่ง ที่ตายไปแล้วเกิดเป็นจระเข้ ว่ายน้ำตามขบวนกฐิน จนขาดใจตาย

หรืออีกตำราหนึ่งที่กล่าวว่า เศรษฐีคนหนึ่งตายไปเกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติที่ฝังไว้ ต่อมาญาติได้ขุดเอาสมบัติเหล่านั้นไปทำบุญกฐิน จระเข้เศรษฐีเกิดความปิติ แต่ไม่สามารถไปร่วมทำบุญได้ จึงให้คนเขียนรูปจำลองตัวเองไป อานิสงส์นั้นทำให้ไปเกิดเป็นดาวจระเข้

และจะสังเกตุได้ว่า ในงานทำบุญทอดกฐิน ผู้คนมักจะอยากได้ และแย่งกันเฉพาะธงมัจฉา และธงจระเข้ สองธงนี้เท่านั้นแหละครับ


ภาพนางมัจฉา และจระเข้ ที่ใช้ในธงกฐิน

บางแห่งถึงกับต้องมีการจอง หรือไม่ก็เป็นประธานใหญ่เท่านั้น เพราะกฐินงานหนึ่ง จะมีธงใหญ่แค่อย่างละผืนเดียว

นั่นก็เพราะเชื่อกันว่า คนที่ได้ไปบูชา ติดบ้านเรือน ร้านค้า จะมีเงินทอง ไหลมาเทมา ไม่ขาดสาย อุปมาดั่งงานกฐินของวัดต่างๆ ที่มีแต่คนนำเงินทอง ข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ ไปถวายด้วยจิตศรัทธานั่นเอง

นี่แหละครับ ที่น่าจะเป็นคติที่แสดงถึงต้นเค้าเดิม ของศาสตร์แห่งนางเงือก และจระเข้ ที่เป็นไสยศาสตร์ ไม่ใช่ปริศนาธรรมอะไรทั้งนั้น

ไสยศาสตร์ทั้งสองนี้ คงได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานบุญกฐิน ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปี ต้องตระเตรียมมาก และที่สำคัญคือ ผู้คนจำนวนมากต้องเดินทางกันไปทางน้ำ มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

จึงเป็นไปได้ว่า หมอไสยเวทพื้นบ้านในยุคแรกๆ จึงใช้ศาสตร์เกี่ยวกับจระเข้ ซึ่งเป็นใหญ่ในสัตว์น้ำทั้งปวง มาช่วยคุ้มกันขบวนเรือกฐิน

และ นางมัจฉา มาช่วยในเรื่องเมตตามหานิยม ชักชวนผู้คนไปร่วมบุญกันมากๆ นั่นเองครับ

แม้แต่ ตะขาบ และเต่า ก็อาจจะมีที่มาจากศาสตร์ที่เราไม่รู้จักกันอีกต่อไปแล้ว ที่หมอไสยเวทไทยโบราณ นำเข้าร่วมในงานบุญกฐิน ตั้งแต่ยุคแรกๆ เช่นกัน

อีกทั้งยังน่าจะมีพิธีกรรมบางอย่าง ในการทำธงดังกล่าวตั้งแต่แรกๆ ด้วย จึงเป็นเหตุให้เกิดความเชื่อ ในการครอบครองเฉพาะธงจระเข้ และธงนางมัจฉาดังกล่าว

ทั้งสองสายวิชานี้ เป็นไสยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์โดยตรงครับ

อย่างจระเข้ ที่มีตำนานเกี่ยวกับเศรษฐี ได้มีการสืบทอดมาทำเป็นสัตว์มงคล ที่เสริมบารมีด้านความอุดมสมบูรณ์ สืบต่อกันมาจนทุกวันนี้


จระเข้อาคม หลวงปู่สุภา กันตสีโล จ.ภูเก็ต

ส่วนในศาสตร์ของนางมัจฉา หรือนางเงือก ซึ่งทุกวันนี้ ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลมาจากธงกฐิน แต่น่าสงสัยว่า จะมีบางสายวิชาที่เก่ากว่านั้นอยู่หรือไม่

เพราะเรารู้จักนางสุพรรณมัจฉา มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นอย่างน้อยไงครับ

พ่อครูด้วง ผู้ประสิทธิ์วิชา นางเทวดาทั้งสาม ให้แก่ผม ซึ่งเป็นวิชาทางเสน่ห์ เมตตามหานิยมทั้งสิ้น คือ นางเงือก กินรี และ อัปสร

ท่านก็กล่าวว่า สายวิชานางเงือกที่ท่านได้มา ไม่มีการสร้างผ้ายันต์ หรือเครื่องราง ที่มีลักษณะเหมือนนางเงือกแบบที่เป็นธงกฐินเลยครับ

มีแต่การแกะสลักไม้ ขึ้นเป็นรูปนางเงือก แล้วแช่ในน้ำมันจันทน์ หรือปั้นดิน-แกะสลักหิน หรือหล่อโลหะเป็นขนาดบูชาเลย

ที่สำคัญคือ วิชาการสร้างและเสกนางเทวดาทั้งสาม ครูบาอาจารย์ของท่านได้จากเขมรมาทั้งสำรับ

เขมรรับคติในเรื่องรามเกียรติ์ไปจากไทย ทั้งนาฏดุริยางคศิลป์ และ ไสยศาสตร์

เขารู้จัก และนิยมนางสุพรรณมัจฉา เหมือนคนไทยนะครับ

แต่ปัจจุบัน เราไม่ได้เห็นนางสุพรรณมัจฉา ในนาฏศิลป์เขมร เพราะสูญหายไปในยุคเขมรแดง เวลานี้นาฏศิลป์เขมรยังฟื้นฟูขึ้นมาได้ไม่ครบถ้วน

ส่วน นางเงือก ในทางไสยศาสตร์ พ่อครูบอกว่า สายวิชาที่ท่านได้มา มีมนต์ที่อ้างถึงนางสุพรรณมัจฉาในรามเกียรติ์ จนท่านเองนับถือเป็นองค์ครูในการทำวิชาดังกล่าวครับ

และนางเงือกในสายนี้ แม้จะเป็นชุดวิชาเดียวกับ กินรี และ อัปสร ที่พ่อครูท่านได้มาตำรับเดียวกัน 

แต่ก็ไม่เหมือนกับ เทพกินรี ที่ผมเคยเขียนไปแล้วใน http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2015/12/blog-post_9.html

เพราะกินรีที่แท้จริง เป็นมนุษย์เหมือนพวกเรา มีการเกิดแก่เจ็บตายเหมือนพวกเรา เพียงแต่อยู่ในอีกมิติหนึ่ง ที่เรียกกันว่า ป่าหิมพานต์ 

และมีความแตกต่างตรงที่ บินไปในอากาศได้ด้วยวิชาอาคม ในรูปของปีกที่ทำเลียนแบบนก

ดังนั้น ในการปลุกเสก ก็ใช้วิธีอัญเชิญปราณ และดวงวิญญาณของกินรีที่ตายไปแล้ว มาสถิตในเครื่องราง

แต่นางเงือก ไม่ใช่ครับ

เพราะนางเงือก หรือคนครึ่งปลา ไม่มีทั้งในมิติของเรา และทั้งในป่าหิมพานต์

และนางเงือก ในสายวิชาที่พ่อครูด้วงท่านได้มา ยึดถือนางสุพรรณมัจฉาเป็นองค์ครูดังกล่าวแล้ว

นางสุพรรณมัจฉา จึงเป็นนางเงือกเพียงหนึ่งเดียว ที่เป็นหลักในการเสกเครื่องรางนางเงือกทุกชิ้น

คล้ายกับการเทวาภิเษกเทวรูป ที่ใช้วิธีอัญเชิญองค์เทพ ซึ่งถ้าอัญเชิญถูกต้อง แต่ละองค์ก็จะทรงรับ ทรงเจิม และประจุปราณของแต่ละองค์เข้าสู่เทวรูปได้ตั้งแต่ทีละองค์ หรือ เป็นร้อยเป็นพันองค์ ในแต่ละพิธีก็ได้

ซึ่งปฏิมาของเทพองค์ใด เมื่อเทวาภิเษกแล้ว ก็ถือเป็นเทวรูปของเทพองค์นั้น


นางเงือก องค์ครู ในสายวิชาที่ผมสืบทอดจากพ่อท่านด้วง

เครื่องรางนางเงือกทุกชิ้น ที่ผ่านพิธีกรรมในสายนี้ ก็ย่อมต้องถือว่า เป็น ปฏิมา ของนางสุพรรณมัจฉาทั้งสิ้นเช่นกัน

ต่างกับเทพกินรีแต่ละองค์ ซึ่งจะตอบรับ และสถิตในประติมากรรมขนาดบูชาขึ้นไปได้เพียง ๑ องค์เท่านั้น

และถ้าเป็นการแบ่งปราณ เข้าประจุในเครื่องรางต่างๆ ก็จะทำได้อย่างมากที่สุดไม่เกิน ๘ ชิ้น ต่อเทพกินรี ๑ องค์เท่านั้น

อีกทั้งเมื่อมาจากนางสุพรรณมัจฉาเพียงหนึ่งเดียว ก็ไม่มีการแบ่งเป็นชั้นเทพ และชั้นสามัญ เหมือนกินรี

ถ้าจะมีการแบ่งแยก หรือ วรรณะ ก็แค่จากเครื่องทรง

คือ ถ้าเป็นนางเงือกที่สวมชฎา และทรงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ครบสำรับ ก็ถือว่าเป็นนางสุพรรณมัจฉาเต็มองค์ 

ถ้าเป็นนางเงือกตัวเปล่าๆ ไม่ทรงเครื่อง ก็คือ ไม่เต็มองค์

ซึ่งมนต์ที่ใช้ในการเสก ก็แตกต่างกันอยู่บ้าง ความดีเด่นของวัตถุมงคลที่ได้ ไม่เหมือนกัน

แต่ยังคงอยู่ในข่ายแห่งทิพยภาวะ ของนางสุพรรณมัจฉา เหมือนกัน

และที่แน่ๆ ไม่ใช่เน้นอยู่แต่ด้านเมตตา โชคลาภ เหมือนนางเงือกที่เป็นผ้ายันต์ ซึ่งเอาแบบมาจากธงกฐินด้วยครับ


นางเงือก ขนาดบูชาหน้ารถ
ที่มีผู้นำมาให้ผมทำพิธีเสกอยู่เรื่อยๆ ครับ

ที่ผ่านมา ตัวผมเองก็ได้ตรวจสอบวัตถุมงคลรูปนางเงือก หรือนางมัจฉาต่างๆ ของไทย ที่ต่อยอดมาจากธงกฐิน ก็พบว่า ไม่เหมือนกับสายวิชาที่พ่อครูด้วงท่านประสิทธิ์ให้ผมจริงๆ

น่าเสียดายครับ ในเมืองไทยเรา ไม่มีตัวอย่างของนางสุพรรณมัจฉา ที่มีการลงอาคม ปลุกเสกในทางไสยศาสตร์ไว้ ณ ที่อื่นใดเลย

ผมจะได้เปรียบเทียบว่า เหมือนหรือแตกต่างไปจากที่ผมได้จากพ่อครูด้วงแค่ไหน

และแม้ความจริงจะมีอยู่ว่า นางเงือก หรือนางมัจฉา บนธงกฐิน ก็คือ นางสุพรรณมัจฉา หรือเอาแบบมาจากนางสุพรรณมัจฉา แต่ก็มิได้มีความเกี่ยวข้องกับนางสุพรรณมัจฉาอีกต่อไปแล้ว

แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างเงียบๆ จนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีการนำมาทำเป็นผ้ายันต์กันทั่วไป หลายสำนัก


ผ้ายันต์นางเงือก วัดแก้วเจริญ จ.สมุทรสงคราม

ที่ผมเห็นว่า ทำได้น่าสนใจที่สุด เป็นของ วัดแก้วเจริญ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ตามภาพนี้ละครับ

ซึ่งมีการลงคาถาไว้โดยรอบ ต่างกับสำนักอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะลงอักษรขอมไว้เพียงไม่กี่คำเท่านั้น

ส่วนนางมัจฉาที่ทำเป็นเครื่องราง หรือวัตถุมงคล ต้องนี่เลยครับ นางมัจฉา ของ หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย วัดสุทธาวาส วิปัสสนา จ.พระนครศรีอยุธยา


เนางมัจฉา หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย วัดสุทธาวาสวิปัสสนา

วัตถุมงคลของสำนักนี้ มีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องกันมานานในด้านรูปลักษณ์ และการแกะพิมพ์ กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำสิ่งใดออกมา ก็จะทำได้ประณีตงดงามกว่าวัตถุมงคลประเภทเดียวกันของสำนักอื่นๆ

อานุภาพนางมัจฉา ของหลวงพ่อรักษ์ จะมีมากหรือน้อยก็ยังไม่เป็นที่เล่าขานกันเท่าใดนัก แต่คนชอบวัตถุมงคลสวยๆ เช่าเก็บกันหมด เหมือนวัตถุมงคลอื่นๆ ของท่าน

อีกสำนึกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ นางเงือก เนื้อไม้ขนุนแกะ ของ พ่อแก่เจ้าแสง วัดบ้านตรัง อ.มายอ ปัตตานี เกจิดังแห่งด้ามขวาน ออกในวาระที่ท่านอายุครบ ๑๐๐ ปี


นางเงือก เนื้อไม้ขนุนแกะ พ่อแก่จ่าแสง วัดบ้านตรัง

นางเงือกรุ่นนี้ ทำด้วยมวลสารที่เป็นมงคล คือไม้ขนุน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกี่ยวข้องกับสิ่งอัปมงคล และไสยศาสตร์มนต์ดำใดๆ ครับ

และเนื่องจากเป็นงานแกะมือทุกชิ้น จึงสร้างได้เพียง ๙๙ ตน โดยวัตถุประสงค์ เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างวิหารครอบ พระพุทธรัตนรังศรีมงคลประภาตสำนักสงฆ์ควนคำทอง จ.พัทลุง ที่พ่อแก่เจ้าแสง ท่านได้เมตตาเป็นประธานจัดสร้าง มีพิธีพุทธาภิเษก ๑๗ วาระ ในช่วงกลางปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา

ล็อคเก็ตนางมัจฉา พระอาจารย์อำนาจ มหาวีโร สำนักปฏิบัติธรรมมหาวีโร บ้านจะหมื่น จ.ชัยภูมิ


ล็อคเก็ตนางมัจฉา พระอาจารย์อำนาจ มหาวีโร

รุ่นนี้ออกมานานหลายปีแล้ว พระเกจิที่สร้างท่านเชี่ยวชาญทั้งไสยขาวและไสยดำ โดยเฉพาะกุมารทองของท่าน มีชื่อเสียงมาก

แตเนื่องจากไม่มีข้อมูลว่า ภายในล็อคเก็ตได้บรรจุมวลสารที่เป็นไสยดำไว้หรือไม่ มีแต่รูปถ่ายที่เห็นว่าอุดผง ฝังพระผงและตะกรุด 

คาถาบูชา ก็เป็นคาถาทางโชคลาภทั่วไป และมีคำแนะนำให้บูชาด้วยดอกไม้และเครื่องหอม ซึ่งจะเป็นสายขาว หรือสายพรายก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

ล็อคเก็ตนี้จึงยังไม่มีบทสรุป และทุกวันนี้ก็หายากแล้ว

แต่ในเวลาต่อมา พระอาจารย์ท่านเดียวกันนี้ ก็ได้สร้าง นางปลา เนื้อปถมัง และ นางปลามหาเสน่ห์ เนื้อไม้ตะเคียนแกะสลักแช่ในน้ำมันจันทน์ ซึ่งไม่ใช่ไสยดำทั้งคู่


นางปลา เนื้อผงปถมัง พระอาจารย์อำนาจ มหาวีโร

ดังนั้น ถ้าล็อคเก็ตไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเป็นไสยดำ หรือมีมวลสารที่เป็นอัปมงคลหรือไม่ อย่างน้อยนางมัจฉา หรือ นางปลา อีกสองรุ่นนี้ของท่าน ก็เป็นไสยขาว และเป็นของมงคลครับ

โดยเฉพาะนางปลาเนื้อผงปถมังนั้น ออกแบบได้สวยงามมาก และแม้จะเป็นเนื้อผงก็กดพิมพ์ได้คมชัด น่าใช้และน่าสะสม สำหรับคนชอบนางเงือกครับ แต่ก็หายากแล้วเช่นกัน

ส่วนสำนักนี้สิครับ มีโอกาสที่จะสุ่มเสียงกับอัปมงคลมาก

นางเงือกแกะจากกระดูกปลาพะยูน ของ พระครูสังฆรักษ์หิรัญโญ หรือ พ่อท่านเสือเล็ก วัดควนซาง จ.ตรัง ซึ่งมรณภาพไปแล้ว

ตามประวัติว่าสร้างเป็นรุ่นแรก และสร้างได้เพียงร้อยกว่าตน เนื่องจากความจำกัดของวัตถุดิบ ซึ่งกว่าจะได้มานั้นแสนยาก เพราะปลาพะยูนเป็นสัตว์อนุรักษ์ซึ่งใกล้จะสูญพันธุ์


นางเงือกแกะจากกระดูกปลาพะยูน พ่อท่านเสือเล็ก วัดควนซาง

ตรงนี้ที่ผมว่า เสี่ยงกับมนต์ดำ เพราะปลาพะยูนซึ่งเป็นเจ้าของกระดูกนั้น ไม่ทราบว่า ตายเอง หรือตายด้วยสาเหตุผิดธรรมชาติ เช่น กินขยะหรือสารเคมีเข้าไป หรือถูกใบพัดเรือ หรือติดอวนแล้วถูกฆ่า

ถ้าตายด้วยสาเหตุเหล่านี้ ก็นับว่าเป็นอัปมงคล

หรือต่อให้เป็นปลาพะยูนที่แก่ตายเองตามธรรมชาติ แต่ไม่มีพิธีขอพลีเอากระดูกของเขามาอย่างถูกต้อง แค่ว่าหากระดูกได้ก็เอามาใช้เลย ก็จะกลายเป็นมนต์ดำอีกละครับ

และนางเงือกของสำนักต่างๆ ต่อไปนี้ เป็นมนต์ดำอย่างแท้จริง ผมนำมาให้ดูเพื่อการศึกษา และเป็นข้อมูลเท่านั้นครับ ถ้าใครชอบแนวนี้ก็ต้องรับผิดชอบกันเอาเอง


พรายนางเงือกมหาเสน่ห์ พระอาจารย์วา นรินโท วัดสนวน

พรายนางเงือกเสน่ห์ พระอาจารย์ วา นรินโท วัดสนวน จ.นครราชสีมา

มวลสารคือ ดินท่าน้ำที่มีผู้หญิงจมน้ำตาย ตะไคร่น้ำ ตะไคร่เสมา ดินเจ็ดป่าช้า ผงตะเคียน ผงตานีที่เฮี้ยนที่สุด และว่านที่ใช้ในด้านเสน่ห์อีกหลายชนิด ฝังพลอย

มัสยาหลงสมุทร พระอาจารยฺโอ พุทโธรักษา พุทธสถานวิหารพระธรรมราช จ.เพชรบูรณ์ ลักษณะเป็นหญิงเปลือย สื่อในด้านคัณหาราคะอย่างชัดเจน โดยขาท่อนล่างและเท้ารวบเป็นหางปลาเท่านั้น

ในสื่อประชาสัมพันธ์ว่าจัดสร้างและปลุกเสก ตามเคล็ดวิชาสายวัดมะขามเฒ่า โดยพระอาจารย์โอศึกษาจาก อ.เล็ก เฮกังกิง


มัสยาหลงสมุทร พระอาจารย์โอ พุทโธรักษา

ซึ่งผมเองก็ไม่เคยทราบว่า สายวิชาของวัดมะขามเฒ่ามีเรื่องเกี่ยวกับนางเงือก และไม่ทราบเรื่องราวของ อ.เล็ก มากนัก

แต่ตัวของท่านพระอาจารย์โอ เป็นเกจิที่ออกเครื่องรางมหาเสน่ห์สายพรายมาตลอด หลายรุ่นครับ

ครับ, ตอนนี้ผมก็รวบรวมมาได้เท่านี้ ถ้าต่อไปมีสำนักใดออกเครื่องรางนางเงือกใหม่ๆ ก็จะนำมา update อย่างแน่นอน

นางเงือก นางปลา นางมัจฉา ไม่ว่าจะเรียกอะไร ก็เป็นสื่อแห่งพลังเสน่ห์ เมตตามหานิยม ที่มีรูปลักษณ์เป็นสตรีเพศ 

ถ้าเป็นเครื่องรางแล้ว จึงเหมาะที่จะให้ผู้หญิงใช้พกติดตัว จะใช้ได้ผลดีกว่าผู้ชายครับ


……………………………

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด