วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ถ้อยคำในมนตรา กับ "ครอบครัว" ขององค์เทพ

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์





ในหนังสือ คู่มือบูชาเทพ ฉบับสมบูรณ์ ผมเขียนไว้ว่า

มูลเหตุที่จะทำให้มนุษย์กลายเป็นเทพเจ้าขึ้นมาได้นั้น เกิดจากผู้นำ หรือหัวหน้าชนเผ่าในยุคแรกๆ ซึ่งบางคนสร้างคุณงามความดีไว้มาก เป็นเหตุให้เมื่อตายไปแล้วทุกคนในเผ่ามีความเคารพรักและอาลัย ยังคงให้การนับถือบูชาคอยเซ่นสรวงประหนึ่งยังมีชีวิต

ดวงวิญญาณเหล่านี้ เมื่อได้รับการบูชา ก็ให้การช่วยเหลือผู้บูชาเป็นการตอบแทน และได้รับบุญบารมีจากการช่วยเหลือนั้น เป็นเหตุให้มีผู้บูชามากขึ้น และสามารถสั่งสมบารมีได้มากขึ้น

จนกระทั่งเวลาผ่านไปนับร้อยนับพันปี บารมีที่สั่งสมไว้ก็ทำให้ฐานะของดวงวิญญาณเหล่านี้ เลื่อนขึ้นเป็นเทพ

เทพ จึงเกิดจากการสั่งสมบารมีของคนคนหนึ่ง เป็นคนๆ ไป ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น

ไม่ได้เกิดขึ้นเอง หรือเกิดขึ้นโดยการดลบันดาลของใคร หรือเป็นลูก เป็นการแบ่งภาคของเทพองค์ใดทั้งสิ้นครับ

เรื่องเกี่ยวกับการเป็นสามีภรรยา ครอบครัวขององค์เทพ จึงเป็นเทพนิยายที่นักปราชญ์โบราณแต่งขึ้นเพื่อรวมลัทธิการบูชาเทพพื้นเมือง หรือลัทธิเล็กๆ เข้ากับลัทธิศาสนาที่ใหญ่กว่า ไม่ใช่เรื่องจริงขององค์เทพ

ดังนั้น ผมจึงได้รับคำถามอยู่หลายครั้ง เกี่ยวกับบทสวดมนต์บูชาเทพต่างๆ ซึ่งในหนังสือ คู่มือบูชาเทพ ก็มีอยู่

กล่าวคือ เป็นบทสวดมนต์ที่กล่าวถึงการเป็นสามีภรรยา หรือการอ้างถึงเทพองค์หนึ่งว่า เป็นโอรสธิดาของเทพสามีภรรยานั้นๆ เป็นต้น

โดยคำถามที่เกิดขึ้น ก็คือ ในเมื่อเรื่องครอบครัวของเทพต่างๆ ไม่เป็นความจริง แล้วบทสวดมนต์เหล่านั้น ก็เท่ากับเป็นการอ้างถึงสิ่งที่ไม่จริงใช่หรือไม่?

แล้วมันจะเป็นบทสวดมนต์ที่เอามาใช้ได้ผลได้อย่างไร?

คำตอบเป็นอย่างนี้ครับ :

๑) เมื่อโดยความเป็นจริงแล้ว เทพท่านไม่มีความเกี่ยวข้องกันแบบนั้น 

ดังนั้น จะสาธยายมนต์ให้ท่านเกี่ยวข้องกันอย่างไร ท่านก็ไม่มีทางที่จะเกี่ยวข้องกันแบบเดียวกันนั้นได้

ด้วยเหตุนั้น มายาในด้านของความเกี่ยวข้องขององค์เทพ อันเกิดจากมนต์ต่างๆ นั้นจึงไม่มีอยู่จริง




๒) แต่บทสวดมนต์เหล่านั้น ก็ยังคงเป็นการอ้างถึงสิ่งที่มีอยู่จริง และเป็นบทสวดมนต์ที่เอามาใช้ได้ผลด้วย

เริ่มงงกันแล้วใช่มั้ยครับ?

เรื่องของเรื่องก็คือ เป็นเพราะมนต์ของฮินดูนั้น เขาสวดกันเพื่อให้เกิด ปราณ แห่งถ้อยคำอันเป็นมงคล โดยถือกันว่าเมื่อสาธยายถึงถ้อยคำใด ก็จะได้รับความเป็นมงคลของมนต์เหล่านั้น

เพราะเป็นการกล่าวถึงสิ่งที่เป็นมงคลไงครับ กล่าวแล้วจะได้รับความอัปมงคลนั้น เป็นไปไม่ได้

เพียงแต่สิริมงคลที่พึงได้ มันไม่ตรงไปตรงมาตามความหมายของมนต์เหล่านั้น แต่มันเป็นไปตามถ้อยคำแต่ละถ้อยคำในมนต์เหล่านั้นต่างหากครับ

ซึ่งเราจะต้องระลึกไว้เสมอว่า ถ้อยคำในบทสวดมนต์นั้น ความหมายของมันจะไม่เหมือนกัน เมื่อใช้กับมนุษย์ หรือใช้กับองค์เทพ 

ยกตัวอย่างเช่น มนต์ที่แปลได้ว่า

ขอนมัสการพระแม่เจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นที่รักยิ่งของพระมหาเทวะ หรือพระศิวะ
 
สิ่งที่จะ ไม่มีทางได้รับ จากมนต์บทนี้คือ พลังแห่งความเป็นสามีภรรยา ระหว่างพระแม่อุมากับพระศิวะ

เพราะข้อเท็จจริงคือ ท่านมิได้เป็นสามีภรรยากันไงครับ
 
แต่สิ่งที่จะได้จากมนต์บทนี้คือ :
 
-พลังการปกป้องคุ้มครองจากพระแม่อุมา เพราะออกพระนามท่านในฐานะของพระแม่เจ้าผู้ยิ่งใหญ่
 
-พรจากพระศิวะ ในฐานะที่พระแม่อุมาทรงเป็น ผู้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์
 
มาถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงกำลังงงเป็นไก่ตาแตก ...ก็ถ้าไม่ได้เป็นสามีภรรยากันแล้ว จะเป็นที่รักยิ่งของกันและกันได้อย่างไร?
 
คำอธิบายก็คืออย่างนี้ครับ,

ความเป็น ที่รัก ในระหว่างทวยเทพนั้น ไม่เหมือนกับที่มนุษย์เรารักกันในทางชู้สาว

ความรักในระหว่างองค์เทพนั้น เป็นลักษณะของความรัก และความเคารพ หรือการยอมรับกัน ตามสภาวะของกันและกัน หรือการมีปณิธานร่วมกัน
 



เช่นพระศิวะทรงเป็นเทพแห่งภูเขา ทรงเป็นโยคี ผู้ถือพรต แล้วพระแม่อุมาก็เป็นเทพแห่งภูเขาเหมือนกัน เป็นโยคินีเหมือนกัน

ทิพยภาวะที่ใกล้เคียงกัน มีปณิธานและดวงจิตที่คล้ายกัน ก็ทำให้เกิดความรัก ความพอใจซึ่งกันและกัน เหมือนกับที่มนุษย์เรามีความเคารพนับถือกัน หรือเป็นเพื่อนกันก็ว่าได้
 
ความรักระหว่างพระแม่อุมา และพระศิวะนั้นจึงมีจริง เป็นของจริง และพระแม่อุมาก็เป็นที่รักแห่งพระศิวะได้จริงๆ

เพียงแต่ไม่ใช่ความรักฉันท์ชู้สาว ไม่มีลักษณะของความเป็นสามีภรรยา หรือครอบครัวเดียวกัน

เป็นความพอใจ และความเคารพนับถือในคุณงามความดีของกันและกันมากกว่า

เทพเจ้าส่วนใหญ่ที่ท่านมีลำดับใกล้เคียงกันได้ ก็เพราะท่านสะสมบารมีมาใกล้เคียงกัน คือมีคุณธรรมความดีเสมอกัน จึงย่อมจะยอมรับ และเคารพในความดีของกันและกัน รวมทั้งสามารถผูกพันกันได้จากปณิธาน และทิพยภาวะต่างๆ ที่ใกล้เคียงกันดังกล่าวแล้ว

ความผูกพันนี้ พวกเรามักไม่ค่อยนึกว่าเป็นความรัก แต่ที่จริงก็คือความรักอย่างหนึ่งนั่นเองครับ เพียงแต่เป็นความรักอีกแบบ ที่มนุษย์เรายังทำไม่ค่อยจะได้ คือรักกันด้วยคุณงามความดีของกันและกัน และรักกันอย่างบริสุทธิ์ใจ

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เทพองค์อื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายกับพระศิวะในหลายๆ ภาคส่วน เช่น พระสรัสวดี ก็สามารถเป็น ที่รักยิ่งของพระศิวะได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีปุราณะบ่งบอกไว้

เพราะฉะนั้น จึงฟันธงได้ว่า ไม่จำเป็นว่าพระศิวะต้องรักกับพระอุมาเท่านั้น ท่านจะรักเทพองค์ไหนก็ได้ เทพเจ้านั้นท่านไม่รังเกียจไม่แบ่งแยกกันหรอกครับ

มีแต่มนุษย์เราที่ไปจับท่านเข้านิกายนั้นนิกายนี้ แล้วก็แต่งคัมภีร์ข่มกันบ้าง รวบเข้าเป็นครอบครัวเดียวกันบ้าง เป็นเรื่องของมนุษย์คิดกันไปเอง ไม่ใช่เรื่องของเทพเจ้า

ด้วยเหตุนี้ เมื่ออธิษฐานถึงพระอุมา ในฐานะที่เป็นที่รักยิ่งแห่งองค์พระศิวะ จึงย่อมได้รับพรในฐานะนั้นด้วย แน่นอนครับ




แต่จะต้องระวัง ไม่ให้เป็นการอธิษฐานโดยเข้าใจไปว่า เป็นสามีภรรยากัน

คือจะต้องกำหนดจิต ให้นึกถึงความรักในแง่ที่สะอาดกว่า สูงกว่าความรักแบบชู้สาวทั่วไป

ถ้าเชื่อปุราณะแล้วสวดไปตามความเชื่อนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้อะไรไงครับ ไม่ผิด ไม่เสียหาย แต่เสียเวลาเปล่า

-เมื่อออกพระนามพระศิวะ ในฐานะที่เป็นพระมหาเทวะ ย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองจากพระองค์ด้วย
 
เป็นอันว่า ด้วยข้อความที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ คนที่สวดก็จะได้รับพรถึง ๓ ประการ คือการคุ้มครองจากพระแม่เจ้าผู้ยิ่งใหญ่ การคุ้มครองจากพระมหาเทวะ และพลังแห่งความดีงามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่อุมา ในฐานะที่ทรงเป็น ที่รัก (ที่ไม่ใช่แบบหนุ่มสาว หรือสามีภรรยา) ของพระศิวะ

แต่สิ่งที่จะไม่ได้ คือ พลัง ที่เกื้อหนุนในด้านของความเป็นสามีภรรยา

ซึ่งเป็นสิ่งที่คนฮินดูทั่วไป คาดว่าจะได้จากมนต์บทนี้ และพวกเขาก็ไม่เคยได้เลยครับ

กรณีของพระวิษณุ กับพระแม่ลักษมี ก็เช่นกัน




โดยทิพยภาวะอันแท้จริง พระแม่ลักษมีมิได้เป็นชายาของพระวิษณุ แต่ในบทสวดมนต์ของท่านบางบท มีคำว่า หริปรีเย ซึ่งแปลได้ว่า เป็นที่รัก-เป็นที่พอใจของพระหริ คือพระวิษณุ

ซึ่งก็ตามที่ผมอธิบายไปแล้วเช่นกันครับ ว่า ความรัก หรือความพึงพอใจในกันและกันขององค์เทพ เป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ใจ นิยมยินดีในสภาวะอันบริสุทธิ์ และสูงส่ง อันเกิดจากบุญบารมีของกันและกัน

ไม่ใช่เรื่องของสามีภรรยา หรือชู้สาวแบบมนุษย์ หรือมีกิเลสตัณหาใดๆ เข้ามาเกี่ยว

ดังนั้น ถ้อยคำดังกล่าวจึงมิได้หมายความว่า พระลักษมีเป็นชายาของพระวิษณุ เช่นเดียวกับที่ผมอธิบายไว้ในเรื่องของพระอุมาและพระศิวะ

ทีนี้ก็คงจะเป็นที่เข้าใจกันได้แล้วนะครับ ว่ามนต์ที่กล่าวถึงสามีภรรยานั้น เป็นจริงในลักษณะไหน และให้ผลที่แท้จริงอย่างไรบ้าง

แต่ก็ยังมีปัญหาในบทอื่นๆ อีก คือถ้อยคำที่ว่าด้วยเทพองค์ไหนเป็นโอรส หรือธิดาของเทพ-เทวีองค์ใด

อย่างเช่น ในบทบูชาพระคเณศ ที่เริ่มด้วย โอม คะชานะนัมฯ นั้น มีคำว่า อุมาสุตัม ซึ่งแปลว่า พระคเณศเป็นโอรสของพระอุมา อยู่ด้วย

ถ้าอย่างนี้ จะไม่ค้านกับที่ผมเที่ยวบอกใครต่อใครหรือครับ ว่าเรื่องพ่อแม่ลูกเป็นเรื่องไม่จริงในทิพยภาวะขององค์เทพ เป็นเรื่องที่พราหมณ์ไศวะนิกายแต่งขึ้น เพื่อรวมลัทธิบูชาพระคเณศเข้าในศาสนาของตนเท่านั้น?




คำตอบก็เหมือนเดิมครับ

คือขอให้เรายึดหลักว่า ความหมายของถ้อยคำในบทสวดมนต์นั้น มันตีความได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะพูดถึงมนุษย์ หรือพูดถึงเทพ

คำว่า สุตัม หรือ สุตา แปลว่า ลูก ถ้าเป็นภาษาไทย คือ สุดา แปลว่า ลูกสาว ด้วยซ้ำไปครับ

แต่ถ้ายึดหลักว่า ถ้าคำว่า ที่รัก ในสภาวะของเทพ ไม่ได้หมายถึงความรักใคร่พอใจกันฉันท์ชู้สาวแบบมนุษย์แล้ว คำว่า ลูก ในสภาวะของเทพ ก็ไม่ได้หมายถึงความเป็นพ่อแม่ลูกกันแบบมนุษย์เช่นกัน

โดยในสภาวะของเทพนั้น คำว่าลูก สามารถหมายถึงการที่มีอาวุโสน้อยกว่า เหมือนเด็กกับผู้ใหญ่ ก็ได้,

การอยู่ในอารักขา หรือการปกป้องของผู้เป็นใหญ่กว่า ก็ได้

หรือจะแปลว่า พอใจเหมือนเป็นลูกของตนเอง ก็ได้

คำว่า อุมาสุตัม จึงตีความได้ว่า พระคเณศนั้น ทรงเป็นเทพรุ่นหลัง หรือรุ่นลูกของพระอุมา ก็ได้

เพราะพระอุมา หรือพระนางปารวตี ลัทธิเดิมเป็นเจ้าแม่แห่งภูเขา เก่าแก่กว่าลัทธิของพระคเณศมากนะครับ

ดังนั้น ถ้าจะว่ากันในทางทิพยฐานะ พระคเณศถือว่าอ่อนอาวุโสกว่าพระอุมาครับ

หรือจะแปลว่า พระอุมาทรงยินดีในสภาวะขององค์พระคเณศ เหมือนแม่รักใคร่บุตรของตน ก็ได้อีกละครับ ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า เป็นแม่ลูกกันจริงๆ

เพราะองค์เทพนั้น ไม่ได้รักชอบกันด้วยกิเลสตัณหาแบบมนุษย์ อย่างที่ผมบอกแล้วไงครับ ท่านยินดีในสภาวะอันบริสุทธิ์ และประณีตของกันและกันมากกว่า

ดังนั้นก็ไม่แปลกอะไร ที่เมื่อเทพสององค์พบปะกัน ก็จะมีความยินดีซึ่งกันและกัน ตามแต่สภาวะธรรม และลำดับอาวุโสของกันและกัน

ก็ดูง่ายๆ อย่างมนุษย์เรานี่แหละครับ เวลาเราเจอใครที่เขาเป็นคนดี จิตใจงดงาม มี aura ที่ดีๆ แผ่ออกมาจากข้างใน เราก็ชื่นชมเขา รู้สึกอยากอยู่ใกล้ อยากวิสาสะกับเขา มีความสุขและความไว้วางใจเมื่ออยู่ใกล้เขา

จนพูดได้ว่า เป็นความรู้สึกดีๆ ที่มีให้เขา โดยไม่ได้เป็นความลุ่มหลง หรืออยากจะเอาเขาคนนั้นมาเป็นคู่รักของเรา

อันนี้ละครับ ที่จะคล้ายๆ กับความยินดี หรือพอใจกันขององค์เทพ

และในบริบทเดียวกัน หากเราเห็นเด็กฉลาด น่ารักสักคน เราก็พอใจว่าเด็กคนนั้นน่ารัก แล้วเราก็มอบความเอ็นดูให้เด็กคนนั้นประดุจลูกของเรา แม้ว่าจะไม่ได้เป็นลูกของเราจริงๆ ก็ตาม...ใช่มั้ยครับ?

ความหมายของคำว่า อุมาสุตัม ในบทสวดมนต์ ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพระคเณศกับพระอุมาจริงๆ ก็จะคล้ายๆ กันนี้ละครับ




เพียงแต่ความพอใจที่เกิดขึ้น จะเป็นไปในทางประณีต และสูงกว่าที่มนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆ จะจินตนาการได้ เพราะเรายังมีกิเลสชั้นหยาบกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่กิเลสชั้นละเอียดอย่างองค์เทพ ซึ่งข้ามพ้นเรื่องกามตัณหาแบบเราไปแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้อยคำในบทสวดมนต์ใดๆ ที่ดูเหมือนจะแปลว่า เทพองค์ไหนเป็นที่รักของใคร หรือเป็นพ่อแม่ลูกของใคร ความหมายจริงๆ มันจะเป็นไปตามที่ผมอธิบายมานี้หมดนะครับ

แม้แต่พระนามหนึ่งของพระแม่อุมา คือ ศิวะกามี ก็ไม่ได้มีความหมายไปในทางเซ็กซ์ หรือเรื่องวาบหวิวอะไรที่เกี่ยวกับพระศิวะเลยครับ เพราะคำว่า กาม ในภาษาสันสกฤตก็มีหลายความหมาย ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้กับคนหรือเทพเช่นกัน

ส่วนถ้อยคำในบทสวดมนต์อื่นๆ ที่ระบุว่า เทพองค์ไหนเป็นการแบ่งภาค หรือเป็นอวตารของเทพองค์ใด อันนี้คือกล่าวถึงองค์เทพอย่างผิดความเป็นจริงแน่นอนครับ ไม่สามารถจะตีความให้เป็นอย่างอื่นได้

เมื่อสาธยายถึงถ้อยคำเหล่านี้ ในการสรรเสริญองค์เทพ ก็จะเท่ากับเป็นการพูดถึงสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ในท่ามกลางส่วนอื่นๆ ที่เป็นสาระ

แต่เนื่องจากถ้อยคำเหล่านี้ มีอยู่น้อยครับ เมื่อเทียบกับบทสวดมนต์ทั้งโศลก หรือทั้งชุด

จึงไม่เป็นผลกระทบ ที่ทำให้บทสวดมนต์เหล่านั้นด้อยคุณภาพลง หรือห่างไกลจากความเป็นจริงเสียจนไม่ได้ผล เมื่อใช้กับองค์เทพ


............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด