วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ข้อเท็จจริงของจตุคามรามเทพ ตอนที่ ๑

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




คติจตุคามรามเทพ ในช่วงที่เป็นปรากฏการณ์ระหว่างพ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๕๐ นั้น กล่าวในทางเทววิทยาแล้วนับว่ามีที่มาที่ไปที่คลุมเครือ อ่อนเหตุผล ไร้หลักฐาน ตลอดจนตรรกวิธีที่ผิด และยิ่งมีผู้พยายามอธิบาย ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสนอันเกิดจากข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นทุกที

เหตุผลก็คือ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทฤษฎีต่างๆ ที่เผยแพร่และอ้างอิงกันอยู่ในวงการนักสร้างพระเวลานั้น ล้วนแต่พากันตกหลุมพรางของเทพนิยายที่แต่งขึ้นโดยใครบางคนในคณะผู้สร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งชื่นชอบอะไรๆ ที่เป็น ศรีวิชัยและ มหายานเป็นพิเศษ

และเมื่อตกหลุมพรางเช่นนี้ ทำให้ต่างก็พากันมองข้าม หรือปฏิเสธหลักฐานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง และเป็นรากฐานของคติการบูชาท้าวจตุคามรามเทพในเมืองไทย อันสามารถอธิบายได้ทั้งในทางวิชาการ เทววิทยา และมีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับอย่างชนิดที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจโต้แย้งได้เลยครับ

บุคคลแรกที่นำเสนอความจริง ในทางเทววิทยาขององค์จตุคามรามเทพ น่าจะได้แก่ ผ.ศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ในฐานะนักวิชาการท้องถิ่นที่ค้นคว้าเรื่องจตุคามรามเทพอย่างต่อเนื่อง บทสัมภาษณ์ของท่านซึ่งตีพิมพ์ใน น.ส.พ. คมชัดลึก ฉบับประจำวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ให้ข้อมูลที่แตกต่างจากที่มีการเผยแพร่กันตามสื่อต่างๆ ในเวลานั้นว่า


ภาพจาก http://www.komchadluek.net

จตุคามรามเทพมีที่มาชัดเจน คือเป็นเทพหรือเทวดาที่มีหน้าที่รักษา ๓ สิ่ง ได้แก่ ๑.พระธาตุ ๒.พระสิหิงค์ ๓.แผ่นดินแผ่นน้ำ ที่มานั้นมาจากคติลังกาวงศ์ รับมาสู่นครศรีธรรมราชเมื่อราวปี ๑๗๓๐ สมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทั้งนี้องค์จตุคามรามเทพนั้นจริงๆ แล้วประกอบด้วย ๔ องค์ คือ ๑.ท้าวสุมลเทวราช ๒.ท้าวลักขณาเทวราช ๓.ท้าวขัตตุคามเทวราช ๔.ท้าวรามเทพเทวราช ทั้งหมดจะถูกเรียกหมายรวม คือ จตุคามรามเทพ

ข้อมูลของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองนครฯ ท่านนี้ ได้รับการยืนยันโดยผลการค้นคว้าของผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและเทววิทยา ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐  คือ กำธร เลี้ยงสัจธรรม ได้เสนอหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องด้วยองค์จตุคามรามเทพโดยระบุว่า พระนามของท้าวขัตตุคาม และท้าวรามเทพ มีอยู่ในคัมภีร์โบราณของไทยไม่ว่าจะเป็น นิทานพระพุทธสิหิงค์ และ ชินกาลมาลีปกรณ์

โดยในหนังสือ นิทานพระพุทธสิหิงค์ หรือ สิหิงคนิทาน ซึ่งแต่งโดยพระโพธิรังสี พระเถราจารย์ชาวเชียงใหม่เมื่อราวๆ พ.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๕ (ฉบับแปลใหม่ พ.ศ.๒๕๐๖) ปริจเฉทที่ ๓  นิทานพระพุทธสิหิงค์เสด็จมาถึงชมพูทวีป กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

มีเทพ ๔ ตน คือ สุมนเทพ กามเทพผู้มีฤทธิ์มาก รามเทพ ลักษณเทพ ได้รักษาคุ้มครองพระพุทธสิหิงค์นั้นทุกเมื่อ




และอีกตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

ทั้งยังมีเทพเจ้า ๔ องค์ คือ สุมนเทพ รามเทพ ลักษณเทพ กามเทพผู้มีฤทธิ์ รักษาพระพุทธรูปนั้นทุกเมื่อ

ส่วน ชินกาลมาลีปกรณ์  ที่พระรัตนปัญญาเถระ พระเถราจารย์ชาวเชียงใหม่เช่นกันเขียนในระหว่างพ.ศ.๒๐๕๙-๒๐๗๑ ตอน กาลมาของพระสีหลปฏิมา ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อพระเจ้าสีหลแห่งลังกาทวีปได้หล่อพระสีหลปฏิมาสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อพ.ศ.๗๐๐ แล้ว ก็ได้ทรงบูชาพระสีหลปฏิมานั้นสืบๆ กันมาช้านาน จนถึงพ.ศ.๑๘๐๐ พระโรจราชกษัตริย์ผู้ครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยใคร่จะทอดพระเนตรมหาสมุทร จึงยกทัพทหารหลายหมื่นเสด็จล่องใต้ตามลำแม่น้ำน่านจนถึงสิริธรรมนคร พระเจ้าสิริธรรมได้ออกมาต้อนรับ




เมื่อทรงรับรองเป็นอย่างดีแล้ว พระเจ้าสิริธรรมได้ตรัสเล่าให้พระโรจราชฟังถึงความอัศจรรย์ของพระสีหลปฏิมาในลังกาทวีปตามที่ทรงสดับมา พระโรจราชจึงตรัสถามว่า พระองค์จะไปที่นั่นได้หรือไม่ พระเจ้าสิริธรรมตรัสตอบว่า ไปไม่ได้

เพราะมีเทวดาอยู่ ๔ ตน ชื่อ สุมนเทวราช ๑ รามเทวราช ๑ ลักขณเทวราช ๑ ขัตตคามเทวราช ๑ มีฤทธิ์เดชมาก รักษาเกาะลังกาไว้เป็นอย่างดี

กำธรกล่าวว่า รามเทพในนิทานพระพุทธสิหิงค์ ก็คือรามเทวราชในชินกาลมาลีปกรณ์ ส่วน กามเทพผู้มีฤทธิ์มาก ก็คือ ท้าวขัตตคามเทวราชในชินกาลมาลีปกรณ์

ซึ่งเมื่อดูจากความเก่าแก่ของหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ กับชินกาลมาลีปกรณ์ ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไทยเราได้รับคติความเชื่อเกี่ยวกับท้าวขัตตุคาม และท้าวรามเทพ พร้อมกับเทพารักษ์คณะเดียวกันอีกสององค์มาจากลังกาตั้งแต่ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว และเป็นการรับเข้ามาพร้อมกับศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์นั่นเอง

แต่เรายังมีหลักฐานอื่นเกี่ยวกับเทพทั้งสององค์นี้ในเมืองไทย ที่เก่ากว่าหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์และชินกาลมาลีปกรณ์อีกครับ

กำธรระบุว่า ในกฎหมายเก่าของไทย คือ ลักษณะพิสูจน์ดำน้ำ-ลุยเพลิง ใน  กฎหมายตราสามดวง ซึ่งบัญญัติขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๘๙๙ อันถือเป็นกฎหมายฉบับเก่าที่สุดของไทยเรานั้น เมื่อมีการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคู่ความทั้งสองฝ่ายด้วยการลุยไฟ ก็จะต้องทำเป็นพิธีกรรม มีการอ่านโองการอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ เป็นสักขีพยานโดยอาลักษณ์ เรียกว่า โองการลุยเพลิง

โองการนั้นเขียนเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖ ความตอนหนึ่งว่า

อีกทังพระกาลพระกุลี พระขัตุคามี พระรามเทพชาญไชย

ในขณะเดียวกัน จากการค้นคว้าของ อ.พงศ์เกษม สนธิไทย ได้พบรูปสลักที่เก่าแก่ที่สุดของท้าวจตุคามรามเทพ คือรูปสลักที่รอยพระพุทธบาทสำริด สมัยสุโขทัย อายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ บนรอยพระพุทธบาทนั้นปรากฏพระนามของพระอดีตพุทธเจ้า พระมหาสาวก นามของเทพยดา ๓ องค์ซึ่งเป็นเทวดารักษาทิศและรักษารอยพระพุทธบาทนี้ คือ ท้าววิรุฬหก ท้าวธตรฐ และ ท้าวขัตตคาม ทั้งหมดเขียนด้วยอักษรขอม  ภาษาบาลี


ภาพจาก http://theicity.com

อ.พงศ์เกษมยังได้พบพระนามของท้าวขัตตุคาม จารึกไว้ใต้เทวรูปท้าวเวสสุวัณ ในซุ้มคูหาชั้นบนของพระปรางค์ด้านทิศเหนือ อันเป็นหนึ่งในพระปรางค์ ๔ ทิศที่ตั้งล้อมรอบพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดอรุณราชวราราม ธนบุรี ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

แสดงว่า คติการบูชาท้าวขัตตุคาม ท้าวรามเทพได้มีหลักฐานปรากฏแล้วในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ก่อนที่จะมีตำนานเกี่ยวกับการได้พระพุทธสิหิงค์มาจากลังกาเสียอีก และการบูชาพระเทวราชทั้งสององค์นี้ก็ยังคงปรากฏในเมืองไทยของเราต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเลยครับ

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่าแปลกใจว่าเพียงชั่วระยะเวลาร้อยกว่าปีให้หลัง ทุกคนก็ลืมเรื่องราวของพระองค์กันไปหมด แม้แต่ที่นครศรีธรรมราชซึ่งมีเทวรูปของพระองค์ปรากฏอยู่ ก็ไม่มีผู้ใดล่วงรู้จนกระทั่ง พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช จอมขมังเวทย์แห่งเมืองนครฯ กล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ.๒๕๒๘  ด้วยพระนามใหม่ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้ว่า จตุคามรามเทพ

แล้วเทวรูปของพระองค์ในนครศรีธรรมราช อยู่ที่ไหน?

คำตอบก็คือ อยู่บนบานประตูที่เปิดขึ้นสู่ลานประทักษิณขององค์พระบรมธาตุนั่นเองละครับ

บานประตูทั้งสองนั้น จำหลักเป็นรูปเทพยดาซึ่งมีเทวลักษณะแปลก เป็นศิลปะพื้นเมืองนครศรีธรรมราช แต่คนละยุคกับเทวดานั่งชันเข่าสององค์ที่อยู่ถัดลงมา ซึ่งโดยทั่วไปคิดกันว่าเป็นองค์จตุคามรามเทพ เพราะมีชื่อติดไว้บนแท่นฐานของเทวดาดังกล่าวเช่นนั้น


ภาพจาก http://www.manager.co.th

เทพยดาบนบานประตูไม้จำหลักนี้ สวมศิราภรณ์และฉลองพระองค์แบบเทวดาไทย แต่เป็นแบบอย่างที่เก่ามาก โดยองค์ที่อยู่ทางซ้ายมือ แลเห็นพระพักตร์ที่ชัดเจน ๔ พระพักตร์ มี ๔ พระกร แต่ละพระหัตถ์ถือเทพอาวุธและสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ตีความไม่ออกว่าตรงกับสิ่งใดบ้าง

ส่วนองค์ขวามี ๒ พระพักตร์  ๔ พระกร ทรงจักรและคันศร พระหัตถ์ที่เหลืออาจถือตรีศูล ธนูหรือแม้แต่ใบไม้ และอีกพระหัตถ์หนึ่งน่าจะแสดงปางวิตรรกะมุทรา

เทวรูปทั้งสององค์นี้ เชื่อกันมานานแล้วว่าหมายถึงพระพรหมกับพระนารายณ์ แต่รูปแบบที่เห็นทั้งหมดในปัจจุบันเกิดจากการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง ด้วยเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในวิหารมหาภิเนษกรมณ์ในช่วงเวลานั้น ทั้งบานประตูของเดิมรวมทั้งประติมากรรมทั้งหมดพลอยถูกไฟไหม้ไปด้วย โดยไม่มีบันทึกไว้ว่าเสียหายมากน้อยเพียงใด 

ว่าที่ ร.ต.กฤษณศักดิ์ กัณฐสุทธิ์ ให้ความเห็นไว้ในนิตยสาร ตะลุยตลาดพระ ว่า บานประตูทั้งสองบานนี้อาจเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ในครั้งนั้นแทนของเดิมก็เป็นได้ และผลจากการบูรณะใหม่ก็ทำให้เทวรูปองค์ซ้ายมือถือสิ่งของที่ดูไม่ออกว่าเป็นสิ่งใด จนทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักประติมานวิทยายังไม่กล้าสรุปกันจนทุกวันนี้

ผมคิดว่า ความเห็นของว่าที่ ร.ต.กฤษณศักดิ์ มีความเป็นไปได้สูงครับ

เพราะเมื่อมีเหตุเพลิงไหม้อาคารใดๆ บานประตูหน้าต่างที่ทำด้วยไม้มักจะได้รับความเสียหายทั้งหมด หรือถึงแม้จะมีการดับไฟได้ทัน แต่ถ้าบานประตูหน้าต่างเหล่านั้นถูกไฟไหม้ไปบ้างแล้ว แม้จะเป็นของเก่ามีลวดลายแกะสลักด้วยฝีมือช่างชั้นสูงเพียงใด ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการเปลี่ยนใหม่

และถ้าช่างผู้ทำการบูรณะนั้น เคารพของเดิมว่าเป็นฝีมือครู หรือเห็นว่าจะต้องรักษาคติเดิมไว้  อย่างมากก็ทำเพียงแกะสลักของใหม่ให้ดูคล้ายกับของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เท่านั้นละครับ

นั่นก็เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น การบูรณะปฏิสังขรณ์ศิลปวัตถุใดๆ แม้กระทั่งในทวีปยุโรปก็ยังไม่มีแนวความคิดที่จะต้องรักษาของเก่า หรือเลียนแบบของเก่าให้เหมือนทุกกระเบียดนิ้ว ดังที่เป็นมาตรฐานบังคับใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

การแกะสลักบานประตูทั้งสองบานนี้ขึ้นใหม่ จึงอาจจะมุ่งเลียนแบบของเดิมเฉพาะส่วนที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น รายละเอียดของศิราภรณ์ เครื่องทรง และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นของปลีกย่อยอาจถูกดัดแปลงไปตามที่ช่างจะเห็นสมควร เช่นลวดลายตรงที่ใดที่ไม่รู้จัก หรือเดาไม่ออก เพราะของเดิมถูกไฟไหม้เสียหายหนัก ก็จะแทนที่ด้วยลวดลายอื่นที่ตนรู้จักแทน

ดังนั้นรูปเทพยดาทั้งสององค์นี้ ก็อาจมีอายุเพียงไม่เกินร้อยปีที่ผ่านมานี้เองครับ

แต่ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ศิลปะของเมืองไทย คือ  ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม เคยกล่าวกับว่าที่ร.ต.กฤษณศักดิ์ว่า ท่านได้ไปดูด้วยตาแล้วเห็นว่า แม้จะมีการบูรณะขึ้นมาใหม่ แต่ก็คงมีเค้าที่ทำตามรูปแบบของเดิมไว้ ซึ่งมองเผินๆ ก็จะเห็นว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ที่ยืนยันได้ก็คือถึงอย่างไรก็ไม่เก่าไปถึงสมัยศรีวิชัยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากลักษณะเด่นที่ยังคงเหลืออยู่ ก็เพียงพอที่จะทำให้ อ.ไมเคิล ไรท์ เขียนไว้ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ถึงเทวรูปสององค์นี้ว่า




"ที่วิหารพระม้า วัดพระบรมธาตุนครฯ ที่หัวบันไดมีลานแคบ ซ้าย-ขวามีเทวรูปปูนปั้น ไม่มีลักษณะเฉพาะ ตรงกลางเป็นประตูไม้เข้าสู่ลานประทักษิณ บานขวาสลักเป็นรูปพระนารายณ์ (แน่นอนเพราะทรงจักร) แต่ยังทรงธนูอีกด้วย แสดงว่าเป็นรามาวตาร

บานซ้ายนั้นเป็นเทวรูปที่มี ๔ หน้าให้เห็น จึงสรุปกันว่ารูปนี้คือพระพรหม แต่ท่านถือเทพาวุธนานาผิดกับพระพรหมที่ถือเครื่องประกอบพิธี (อักษมาลา ทัพพี คนโท) ถ้านับพระพักตร์ที่มองไม่เห็น (เพราะอยู่ด้านหลังรูปนูน) ก็จะได้ ๖ เศียร ตรงกับ สฺกนฺท/ขนฺธกุมาร/การฺตฺติเกย (บุตรพระอิศวร) ที่มี ๖ เศียร เพราะเป็นลูกบุญธรรมแม่นมทั้งหกในนักษัตรกฤตติกา นอกจากนี้ขันธกุมารย่อมถือเทพาวุธนานา เพราะนับกันว่าท่านเป็น เทวเสนาบดี

ดังนั้น ตามข้อเขียนของ อ.ไมเคิล ไรท์  เทพยดาทั้งสององค์นี้ก็ไม่ใช่พระพรหมและพระนารายณ์ดังที่สันนิษฐานกันมาก่อน แต่เป็นเทวรูปองค์อวตารของพระนารายณ์ ซึ่งทรงธนู และเทพเจ้าแห่งการสงคราม หรือพระสกันท์

ซึ่งก็คือ ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ ๒ ใน ๔ เทวราชที่ไทยเราได้รับมาจากลังกาตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั่นเอง

ส่วนเทวดาปูนปั้นทั้ง ๒ องค์ซึ่งมีรูปลักษณ์อย่างเดียวกัน และประทับนั่งในลีลาที่เกือบจะเหมือนกัน ขนาบบันไดชั้นบนก่อนถึงบานประตูนั้น เหตุใดจึงมีแผ่นจารึกคำว่า เท้าขัตตุคาม และ เท้ารามเทพ อยู่หน้าแท่น แทนที่ชื่อดังกล่าวจะไปติดไว้บนบานประตู?


ภาพจาก http://www.palungdham.com

ผมว่า เทวรูปปูนปั้นทั้งสององค์นั้นอาจไม่เกี่ยวอะไรกับองค์จตุคามรามเทพเลยนะครับ

หากเป็นเพียง ทวารบาล ในลักษณะของเทวดาสององค์ เป็นชุดเดียวกับประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์ สิงห์ และครุฑ ที่ปั้นขึ้นเป็นคู่ๆ ในลักษณะ พยนต์ สำหรับพิทักษ์ทางขึ้นสู่ชั้นประทักษิณของพระบรมธาตุเจดีย์เท่านั้น

และการที่แผ่นจารึกถูกนำมาติดตั้งที่ฐานของเทวรูปทั้งสอง ก็อาจเป็นเพราะความเข้าใจผิด เนื่องด้วยแผ่นจารึกทั้งสองเดิมอาจจะอยู่ใต้บานประตูไม้แกะสลักก็ได้  เมื่อเกิดไฟไหม้วิหารขึ้น วัตถุต่างๆ ในวิหารเสียหายเป็นอันมาก เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ก็อาจมีผู้นำแผ่นจารึกทั้งสองมาติดตั้งไว้ใต้รูปทวารบาลแทน

จาก www.manager.co.th ซึ่งอ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือ จตุคามรามเทพ : ความจริงและความลับ ที่ไม่เคยมีใครรู้ ทำให้เราทราบว่า พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล เป็นบุคคลแรกอย่างแท้จริงที่ค้นพบว่า บานประตูไม้ดังกล่าวไม่ใช่พระพรหมกับพระนารายณ์ แต่เป็นองค์จตุคาม-รามเทพ ซึ่งการค้นพบนั้นก็เป็นเพราะท่านต้องค้นหารูปแบบของศิลปะศรีวิชัยมาใช้ในการสร้างเสาหลักเมือง

ดังนั้นในเว็บไซต์ดังกล่าวจึงบ่งชี้อย่างไม่ลังเลเลยว่า

ถ้าใครเคยไปดูบานประตูแกะสลักทางขึ้นพระบรมธาตุ องค์จตุคามจะอยู่บานทางด้านซ้าย ส่วนองค์รามเทพจะอยู่บานทางด้านขวา

เพราะฉะนั้น การที่มีผู้กล่าวว่า เทพองค์นี้เป็นเทพที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นใหม่ เป็นเทพที่นักสร้างพระแต่งขึ้นมาหลอกลวง เพื่อขายความงมงายนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าควรแก่การรับฟังอีกต่อไปครับ


..................................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พระตรีมูรติ : ความผิดพลาดที่ซ้ำซาก

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์


ภาพจาก http://www.luckybobi.com
      
พระตรีมูรติ (Trimurti) ในทางเทววิทยา เป็นองค์รวมของมหาเทพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศาสนาฮินดู ๓ องค์ 

คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ

มหาเทพทั้งสามปรากฏในทิพยรูปเดียว ซึ่งในศิลปะอินเดียสมัยปัจจุบันมักทำให้มี ๓ พระพักตร์ ๔-๖ พระกร 

 ๒ พระหัตถ์ด้านบน ถือสัญลักษณ์สำคัญของพระวิษณุ คือ จักร และสัญลักษณ์สำคัญของพระศิวะ คือตรีศูลแบบที่มีบัณเฑาะว์ประกอบอยู่ด้วย 

ส่วนพระหัตถ์ที่เหลือนั้น นอกจากทรงเทพอาวุธอื่นๆ แล้วก็มักทำปางประทานพร (หงายฝ่ามือลงข่างล่าง) 

กับประทานอภัย (ยกมือตั้งขึ้นหันฝ่ามือรับผู้บูชา)
         
ในทางเทวปรัชญาถือว่า การรวมกันของพระเป็นเจ้าทั้งสามองค์เช่นนี้ เป็นรูปเปรียบของสภาวะทั้งสาม คือ การสร้าง การรักษา และการทำลายครับ 

โดยนัยยะดังกล่าวนี้ ผู้สร้างจึงหมายถึงพระพรหม ผู้รักษาหมายถึงพระวิษณุ และผู้ทำลายหมายถึงพระศิวะ

ปรัชญาฮินดูถือว่า การเข้าถึงความจริงแห่งสภาวะทั้งสามนี้ได้ ย่อมทำให้เกิดความแตกฉาน รู้แจ้งเห็นจริงในโลกธรรม และในที่สุดย่อมนำไปสู่การไม่ยึดติด และหลุดพ้นในเบื้องปลายนั่นเอง

แต่สำหรับคนทั่วไป การบูชาพระตรีมูรติ ก็เพื่อหวังผลสำเร็จแห่งเทวานุภาพของพระเป็นเจ้าที่ยิ่งใหญ่ทั้งสาม ซึ่งย่อมจะไม่มีพลังอำนาจใดยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้วละครับ

เพราะฉะนั้น เทวรูปพระตรีมูรติ โดยทางทฤษฎีก็ย่อมต้องถือว่า เป็นเทวรูปที่ทรงอานุภาพสูงสุดในศาสนาฮินดูอีกด้วย

ทว่า คติการนับถือพระตรีมูรติ แม้ในประเทศอินเดียเองก็ไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายเท่าที่ควร แม้เทวรูปก็ไม่ใช่ว่าจะหาดูได้ง่ายนักหรอกครับ


ภาพจาก http://www.lotussculpture.com

สาเหตุสำคัญ คือชาวฮินดูนิยมแยกบูชาเป็นองค์ๆ ไปมากกว่า 

และการบูชาพระตรีมูรติในสังคมอินเดียปัจจุบันก็ไม่แพร่หลายเท่ากับตรีเอกานุภาพที่ประกอบด้วย พระคเณศ พระลักษมี และ พระสรัสวดี เพราะเทพทั้งสามองค์นี้ไม่จำกัดนิกายนั่นเอง

ในขณะที่พวกไวษณพ คือพวกที่บูชาพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด กับพวกไศวะ คือพวกที่บูชาพระศิวะเป็นเทพสูงสุดนั้น บางทีก็ไม่อยากเห็นเทพสูงสุดของอีกฝ่ายหนึ่งมารวมหรืออยู่ในฐานะที่เสมอกับเทพสูงสุดของตน 

เทวรูปพระตรีมูรติ จึงเหมาะสมแต่เฉพาะกับผู้บูชาเทพ ที่ไม่คิดเล็กคิดน้อยกับเรื่องเช่นนี้เท่านั้นละครับ

เพื่อนบ้านของไทยเรา คือ อาณาจักรขอม เป็นผู้รับคติการบูชาพระตรีมูรติมาจากอินเดีย แต่พระตรีมูรติของขอมนั้นส่วนมากทำแยกกันเป็นองค์ๆ ไป ที่รวมกันเป็นองค์เดียวกันมีตัวอย่างอยู่น้อยมาก 

ดังมีตัวอย่างอยู่ที่ ปราสาทวัดพู แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็ทำแยกเป็น ๓ องค์ เช่นกัน


พระตรีมูรติ ปราสาทวัดพู ภาพจาก http://board.trekkingthai.com

ส่วนศาลพระตรีมูรติ ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญที่ผมตั้งใจจะกล่าวถึงในบทความนี้ กล่าวโดยทางประวัติแล้ว เดิมเป็นเทวาลัยประจำศูนย์สรรพสินค้า เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ สี่แยกราชประสงค์ ตั้งอยู่ด้านมุมอาคารส่วนที่เป็นห้างสรรพสินค้า Zen ครับ

เหตุผลของการเลือกองค์พระตรีมูรติมาประดิษฐานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับคุ้มครองกิจการแห่งนี้ มีผู้อธิบายไว้ ๔ ข้อ

๑) ห้างสรรพสินค้าเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่มีอาถรรพณ์แรงที่สุดของสี่แยกราชประสงค์ คือ เป็นพื้นที่ของ วังเพชรบูรณ์ เดิม

วังดังกล่าวเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย ซึ่งภายหลังจากสิ้นพระชนม์โดยพระชันษาอันไม่สมควรแล้ว ก็เสื่อมโทรมลง พระทายาทต้องแบ่งที่ขายให้ส่วนราชการ เช่น การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น

จนในที่สุดก็สิ้นสภาพวัง เป็นทำเลที่ในอดีตที่ผ่านมารู้กันดีว่า ใครไปทำธุรกิจอะไรก็เจริญรุ่งเรืองได้ยาก ทั้งที่เป็นที่ดินผืนงามที่สุดบริเวณนั้น

๒) มุมของบริเวณที่ตั้งห้างดังกล่าว ด้านที่ติดกับสี่แยกราชประสงค์ ยังเล็งกับเทวาลัยอีกแห่งหนึ่งที่ทรงอานุภาพรุนแรงมาก่อน คือ ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ พอดี 

ถือเป็นพื้นที่อันตรายมากตามหลักฮวงจุ้ย เพราะในศาสตร์ฮวงจุ้ยนั้น เขาไม่ให้สร้างกิจการเล็งกับศาลเจ้า หรือรูปเคารพขนาดใหญ่ครับ

๓) ด้วยอาถรรพณ์ของพื้นที่ดังกล่าวมา จึงต้องตั้งพระตรีมูรติ เพราะเป็นองค์รวมของพระเป็นเจ้าสูงสุดทั้งสาม ย่อมมีเทวานุภาพเพียงพอที่จะรับมือกับท้าวมหาพรหมเอราวัณได้

๔) พระตรีมูรติ เคยเป็นเทวรูปที่สักการบูชากันในวังเพชรบูรณ์มาก่อน

อ.สุชาติ รัตนสุข ผู้เป็นเจ้าพิธีตั้งศาลพระตรีมูรติแห่งนี้ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ ๑๐๘ เทพแห่งสรวงสวรรค์ ว่า ตนเป็นผู้แนะนำให้คณะผู้บริหารของเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ให้ตั้งพระตรีมูรติ เพื่อรับกระแสพลังจากศาลท้าวมหาพรหม

โดยแบบอย่างของพระเทวรูปนั้น ก็จำลองจากพระตรีมูรติทำด้วยไม้แกะสลักสมัยอยุธยา ซึ่ง อ.สุชาติอ้างว่า เคยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์บูชากันอยู่ในวังเพชรบูรณ์ ต่อมาพระทายาทได้นำออกขาย และได้ตกทอดมาอยู่กับตนในที่สุด

ซึ่งนับเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ที่ตนซึ่งเป็นผู้ครอบครองพระตรีมูรติของวังเพชรบูรณ์เดิม ต้องมารับหน้าที่เป็นผู้ตั้งเทวาลัยให้กับเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วังเพชรบูรณ์เดิมเช่นกันครับ

ผมไม่เคยเห็นเทวรูปไม้แกะสลักที่ อ.สุชาติกล่าวถึงนะครับ จนกระทั่งหนังสือ พระตรีมูรติ ของสำนักพิมพ์โอม พับลิชชิ่ง พ.ศ.๒๕๔๙ ได้นำรูปถ่ายมาตีพิมพ์ จึงได้เห็นว่ามีรูปลักษณะคล้ายกับองค์พระตรีมูรติที่เห็นกันอยู่ขณะนี้ 

คือเป็นเทวรูปยืน มี ๕ พระพักตร์ สองพระหัตถ์บนยกขึ้นทำอาการสำหรับถือเทพอาวุธอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ปล่อยว่างไว้ อีกสองพระหัตถ์ทำท่าประทานพร และประทานอภัย

เทวรูปองค์นี้ ควรสร้างในสมัยอยุธยาจริง เพราะทั้งศิราภรณ์และเครื่องถนิมพิมพาภรณ์นั้นเป็นศิลปะอยุธยา และทำอย่างประณีตบรรจงมาก 

อีกทั้งสัดส่วนและองค์ประกอบโดยรวมแล้ว ก็ดูมีพลังอำนาจน่าเกรงขามกว่าองค์ที่ศาลพระตรีมูรติ ที่เราเห็นกันอยู่ขณะนี้เสียอีก นับว่าเป็นเทวรูปที่งามที่สุดองค์หนึ่งได้ทีเดียว

แต่ความผิดพลาดลำดับแรก ก็คือ เทวรูปองค์ต้นแบบที่ อ.สุชาติกล่าวว่าเป็นพระตรีมูรตินั้น ที่จริงไม่ใช่เทวรูปของพระตรีมูรติครับ

แต่เป็นเทวรูปของ พระสทาศิวะ หรือ พระศิวะปัญจมุข ซึ่งเป็นบุคลิกภาพสูงสุดในสกลจักรวาลแห่งองค์พระศิวะเป็นเจ้า ตามเทววิทยาของศาสนาฮินดูไศวะนิกาย


พระสทาศิวะ ศิลปะอินเดียสมัยปาละ
ภาพจาก http://commons.wikimedia.org

คติการบูชาพระสทาศิวะนี้ ไทยเราคงได้รับผ่านขอมเข้ามา เพราะลักษณะโดยรวมไม่แตกต่างกันมากนัก 

อย่างภาพข้างล่างนี้ คือ พระสทาศิวะในศิลปะอยุธยา พบที่ วัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา อายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ (ดูเทียบกับพระศิวะในชุดพระตรีมูรติ ที่ ปราสาทวัดพู ในภาพข้างบนด้วยนะครับ เป็นพระสทาศิวะเหมือนกัน)


พระสทาศิวะ ศิลปะอยุธยา จากวัดหน้าพระเมรุ

เป็นอันว่าเริ่มต้น ประติมานวิทยาก็ไม่ใช่แล้วละครับ

แต่อย่างไรก็ตาม... ในเมื่อคติการบูชาพระสทาศิวะในสมัยอยุธยาได้เสื่อมสูญไปแล้ว ประติมานวิทยาของเทวรูปดังกล่าว มิได้มีการทำสืบเนื่องต่อๆ กันมา

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวอย่าง ประนีประนอม ที่สุดในทางเทวศาสตร์ การนำประติมานวิทยาหรือรูปแบบดังกล่าวมาสร้างเป็นพระตรีมูรตินั้น จึงเป็นสิ่งที่ พอจะทำได้ ครับ

ปัญหาก็คือ เมื่อจำลองพระตรีมูรติองค์ใหญ่ขึ้นจากพระเทวรูปดังกล่าว ด้วยปูนปั้นปิดทอง อ.สุชาติก็ยังคงปล่อยให้พระหัตถ์ทั้งสองของพระเทวรูปองค์ใหญ่เว้นว่างไว้อย่างเดิม ไม่ถือเทพอาวุธใดๆ

โดยมีคติรองรับว่า สงครามยุคใหม่เป็นสงครามการค้า จึงปลดอาวุธเทวรูป เพราะไม่ต้องไปรบกับใครอีก

คติดังกล่าวนี้ อ.สุชาติกล่าวว่าเป็นเพราะท่านได้สื่อกับองค์เทพ ในคืนหนึ่ง องค์เทพได้มาเล่าประวัติเทวรูปดังกล่าว โดยบอกว่า สมเด็จพระไชยราชา พระอัยกาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้น หลังจากเสร็จศึกที่ประเทศเขมร จึงปลดอาวุธเพราะเสร็จศึกแล้ว

เอกทันตะ ผู้เรียบเรียงหนังสือ พระตรีมูรติ ขยายความต่อไปว่า สมเด็จพระไชยราชาทรงกำหนดให้พระตรีมูรติปลดอาวุธจากพระหัตถ์เปลี่ยนเป็นปางประทานพรแทน เป็นการละอาวุธเสีย เพื่อบอกประวัติศาสตร์ยุคนั้นว่า รบชนะเสร็จศึกแล้ว

นี่ละครับ คือความผิดพลาดลำดับที่สอง




เพราะกฎพื้นฐานในการสถาปนาเทวรูป ตามหลักเทวศาสตร์ก็คือ เทวรูปซึ่งจะสำแดงเทวานุภาพได้ชัดเจนและสมบูรณ์ นอกจากจะต้องมีลักษณะงดงาม  มีเครื่องบ่งชี้ในทางประติมานวิทยาอย่างถูกต้องแล้ว 

ยังจะต้องมีเทพอาวุธครบถ้วน ตามที่ตำราโบราณระบุไว้ว่าเ ป็นสัญลักษณ์ของพระเป็นเจ้าองค์นั้นๆ ด้วย

เนื่องด้วยเทพอาวุธ เป็นเครื่องแสดงพลังอำนาจขององค์เทพ หาได้มีความหมายอยู่แค่ว่าเอาไว้สำหรับรบพุ่งกับใครเพียงเท่านั้นไม่

การที่เทวรูปองค์ต้นแบบเว้นสองพระหัตถ์บนให้ว่างไว้นั้น แท้จริงจึงไม่เกี่ยวกับการทำสงครามใดๆ เลยครับ 

เพียงแต่เป็นเพราะเมื่อแรกสร้างนั้น ได้มีการทำเทพอาวุธแยกออกไปต่างหาก

ซึ่งเทพอาวุธเหล่านั้น อาจจะทำด้วยไม้เหมือนองค์พระเทวรูป หรือจะทำด้วยสำริดหรือทองคำก็ได้ 

เมื่อจะเทวาภิเษกพระเทวรูป จะได้ปลุกเสกเทพอาวุธนั้น แล้วจึงค่อยถวายบรรจุในพระหัตถ์ที่ทำรอไว้

องค์เทวรูปก็จะยิ่งศักดิ์สิทธิ์ และดูงามกว่าที่จะทำเทพอาวุธมาด้วยกันตั้งแต่แรก ซึ่งมักจะทำให้สวยได้ยากนั่นเอง

ต่อมา ด้วยเหตุที่เป็นของนำมาประกอบภายหลัง และเป็นของที่ถอดออกได้ เทพอาวุธนั้นจึงอาจจะสูญหายไป 

โดยเฉพาะเมื่อเป็นของเก่าถึงสมัยอยุธยา กว่าจะได้เข้าไปอยู่ในวังเพชรบูรณ์ (?) ก็อาจไม่มีเทพอาวุธมาแต่ครั้งนั้นแล้ว

เมื่อตกมาอยู่ในความครอบครองของ อ.สุชาติ พระตรีมูรติองค์ดังกล่าวจึงยกพระหัตถ์ไว้เฉยๆ ไม่มีเทพอาวุธ ดังที่ปรากฏ

การไม่ถวายเทพอาวุธให้กับพระตรีมูรติองค์ใหญ่ ทั้งที่ตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองกิจการสำคัญ อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีอาถรรพณ์แรงดังกล่าว จึงมีผลทำให้พระตรีมูรติองค์นี้อ่อนกำลัง ไม่สามารถตั้งรับเทวานุภาพอันร้ายแรงจากองค์ท้าวมหาพรหมที่เล็งกันโดยตรง 

รวมทั้งไม่อาจจะคุ้มครองกิจการเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ และเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้ จนในที่สุดทางเวิลด์เทรดฯ ต้องตั้งศาลพระคเณศขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง

และแม้จะตั้งศาลพระคเณศแล้ว แต่พระตรีมูรติซึ่งเป็นสรณะหลักที่สร้างอย่างบกพร่อง ย่อมไม่สามารถประสานเทวานุภาพให้เข้ากับองค์พระคเณศ ที่ตั้งขึ้นใหม่อย่างถูกต้องกว่า เพื่อช่วยพยุงฐานะของเวิลด์เทรดฯได้ 

กิจการเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ จึงต้องขายให้กลุ่มธุรกิจเครือเซ็นทรัลในท้ายที่สุด

อีกทั้งเมื่อเป็นเทวรูปที่ไม่สมบูรณ์ พลังอำนาจย่อมจำกัด นอกจากไม่สามารถคุ้มครองกิจการแล้ว ยังไม่อาจช่วยเหลือดลบันดาลให้สัมฤทธิ์ผลตามคำขอ ของผู้ที่ไปกราบไหว้บูชาส่วนใหญ่ได้ด้วยครับ

ศาลพระตรีมูรติจึงไม่ใช่เทวาลัยที่มีชื่อเสียงมาแต่เดิม เพิ่งจะเป็นที่กล่าวขวัญ มีผู้คนไปบูชามากขึ้นดังที่เห็นกันอยู่ ก็เพราะเกิดกระแสบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่

นั่นคือ การบูชาเพื่อขอความสำเร็จในเรื่องความรักไงครับ

กระแสนิยมที่ว่านี้ แม้จะไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่สัมพันธ์ใดๆ เลยกับคติการบูชาองค์พระตรีมูรติดั้งเดิม และมิได้มีต้นสายปลายเหตุที่ชัดเจนใดๆ นอกจากการที่มีผู้ไปบูชาในเรื่องดังกล่าวหลายคนได้รับความสมหวัง แล้วก็มีการนำมาบอกเล่ากันทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น

แต่ก็มีความดีอยู่อย่างหนึ่งนะครับ 

นั่นคือ อย่างน้อยผู้โหมกระแสเทพแห่งความรักส่วนหนึ่ง กระทำไปด้วยความพยายามที่จะปกป้องเทวาลัยดังกล่าวไว้


ศาลพระตรีมูรติหลังเดิม ตรงมุมห้างสรรพสินค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์
ตั้งประจันหน้ากับท้าวมหาพรหมเอราวัณ

เนื่องจากเกิดข่าวลือกันทั่วไปว่า เมื่อกลุ่มธุรกิจเครือเซ็นทรัลได้เข้ามาซื้อกิจการเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่ดังปรากฏในปัจจุบันว่า เซ็นทรัล เวิลด์ พลาซา เจ้าของกิจการคนใหม่ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์จ ะพลอยรื้อเทวาลัยดังกล่าวเสีย 

ซึ่งก็ปรากฏว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่โดยรอบ ตลอดจนรูปลักษณ์ภายนอกตัวอาคารเวิลด์เทรดฯ เดิมทันที

แม้แต่พื้นที่ด้านหลังเทวาลัย ซึ่งเดิมเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อน ก็ถูกดัดแปลงไปทำอย่างอื่น

เมื่อยังไม่มีผู้ใดทราบว่า เจ้าของใหม่ของพื้นที่ดังกล่าวจะรื้อศาลออกไปเมื่อใด การโหมกระแสบูชาขอพรองค์พระตรีมูรติในด้านความรัก ก็อาจทำไปเพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าครับ

แต่นั่นก็ทำได้เพียงยืดอายุเทวาลัยอันสวยงามไว้ได้ระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะเจ้าของกิจการใหม่ได้ตัดสินใจใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในทางอื่นมาตั้งแต่แรกแล้วจริงๆ อย่างที่ร่ำลือกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นว่าองค์พระตรีมูรติมีผู้นับถือมาก และการรื้อทำลายศาลของพระองค์ทิ้งอย่างถาวรจะทำให้เกิดกระแสการต่อต้านขึ้นทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งถือเป็นกำลังซื้อกลุ่มใหญ่ของเครือเซ็นทรัล 

ทางเจ้าของพื้นที่ ก็เลือกที่จะสร้างเทวาลัยหลังใหม่ขึ้นรองรับ ณ บริเวณปัจจุบัน คือด้านหน้าห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ใกล้กับศาลพระคเณศ

นัยว่า เมื่อศาลพระคเณศมีผู้ศรัทธากราบไหว้ มากกว่าศาลพระตรีมูรติมาแต่เดิมอย่างเห็นได้ชัด ต่อไปภายภาคหน้า ผู้คนจะได้มาไหว้ทั้งพระตรีมูรติ และพระคเณศไปด้วยกันโดยสะดวก กระแสศรัทธาในองค์พระตรีมูรติจะได้เพิ่มพูนขึ้นโดยง่าย 

ทั้งยังลดกระแสการต่อต้าน และยังรักษาลูกค้ากลุ่มสำคัญไว้ได้ด้วย

การย้ายองค์พระตรีมูรติจากเทวาลัยเดิม กระทำในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ และมีพิธีวางศิลาฤกษ์ประดิษฐานในเทวาลัยหลังใหม่ในวันที่ ๒ ธันวาคม ปีนั้น 

โดย อ.สุชาติ  รัตนสุข ยังคงได้รับเชิญจากบริษัทเซ็นทรัลพัฒนามาเป็นเจ้าพิธีบวงสรวง และองค์พระตรีมูรติก็ได้ประดิษฐาน ณ ที่นั้นเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ที่น่าเศร้าก็คือ แม้จะมีความเสียหายที่เห็นได้ชัด อันเกิดจากคติที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่มีหลักเกณฑ์ทางเทววิทยาใดๆ รองรับ 

แต่เมื่อได้จัดการสถาปนาขึ้นใหม่แล้ว แทนที่จะแก้ไขก็กลับยังคงรักษาคติเดิมนั้นไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยการเชิญเจ้าพิธีคนเดิม ซึ่งยังคงยืนยันที่จะปล่อยพระหัตถ์ของเทวรูปไว้ให้เว้นว่างอย่างเดิม

กาลเวลาได้พิสูจน์ผลของคติอันแปลกประหลาดนั้นแล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครที่มีวาสนาเพียงพอจะหยั่งรู้หรือไม่เท่านั้นละครับ


ศาลพระตรีมูรติปัจจุบัน ภาพจาก http://cutejames.pixnet.ne

ส่วนความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระตรีมูรติ ในด้านที่เกี่ยวกับความรัก ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ วัยรุ่นหนุ่มสาวและบรรดาผู้มีปัญหาหัวใจยังคงยึดถือเป็นที่พึ่งทางใจกันอยู่นั้น คนที่เคยไปไหว้ ก็คงจะรู้กันอยู่แก่ใจนะครับ ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จมากน้อยเพียงใด

ก็เล่นเอาเทวรูปของพระสทาศิวะ บรมเทพสูงสุดแห่งจักรวาล มาแปลงเป็นพระตรีมูรติที่ไร้อาวุธ แล้วยังจะไปไหว้ขอพรเรื่องความรัก มันใช่ไหมล่ะครับ?

ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าอีกไม่กี่วันหลังโพสต์บทความนี้ใน blog ศรีคุรุเทพมนตรา จะเป็นเทศกาลวาเลนไทน์ 

ซึ่งหมายถึ งเราจะเห็นมหกรรมถวายดอกกุหลาบชุดใหญ่ หน้าศาลพระเป็นเจ้าองค์นี้เหมือนเช่นทุกปี

ถ้าใครถามผมว่า แล้วถ้าไม่ใช่ที่นี่ จะให้ไปขอพรเรื่องความรักกับเทพองค์ไหน

ผมจะตอบว่า ให้ไปไหว้ พระลักษมี ที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว หรือไม่ ก็พระราธากฤษณะ ที่วัดเทพมณเฑียรก็ได้ วัดวิษณุก็ได้ 

ส่วนศาลพระตรีมูรติองค์นี้ คงช่วยอะไรใครไม่ได้มาก โดยเฉพาะเรื่องความรัก ซึ่งจะว่าไปแล้วก็นับเป็นเรื่องสำคัญในช่วงชีวิตหนึ่งของพวกเราแต่ละคน 

อย่าไปฝากความหวังไว้กับเทวรูปที่ได้แต่สวย แต่ผิดหลักวิชาเลยครับ


...................................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พระโพธิสัตว์ชัมภล-ไฉ่สิ่งเอี๊ย

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*





เมื่อสมัยที่ผมยังรับงานพิธีกรรมอยู่เป็นอันมากนั้น เคยมีผู้นำเทวรูปที่ดูเหมือน พระโพธิสัตว์ชัมภล (Jambhala) ในศาสนาพุทธวัชรยานสายทิเบตองค์หนึ่ง มาให้ผมทำพิธีล้างอาถรรพณ์ให้

เพราะเหตุว่าผู้บูชาเทวรูปองค์นั้น ถูกคุณไสยกันทั้งบ้าน อำนาจคุณไสยแทรกซึมไปทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้ในเทวรูปที่ตั้งบูชาอยู่

คุณไสยมนต์ดำเป็นวิชาชั้นต่ำ ใช้อำนาจผีเป็นหลัก อำนาจผีจะแทรกเข้าไปในเทวรูปได้อย่างไร เรื่องนี้คงต้องว่ากันยาวละครับ แล้วผมก็เขียนไว้แล้วในหนังสือ คู่มือบูชาเทพ ฉบับสมบูรณ์ ด้วย

จึงขออธิบายเพียงย่อๆ ในที่นี้ว่า สาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากคนในบ้านนั้นบูชาไม่ดี บูชาไม่เป็น รวมทั้งเทวรูปนั้นอาจจะไม่ได้ผ่านพิธีที่ดีพอด้วย จึงคุ้มครองคนในบ้านนั้นไม่ได้

ที่ต้องขออธิบายย่อๆ เพียงเท่านี้ เพราะผมอยากจะพูดถึงเทวรูป (ที่ดูเหมือน) พระโพธิสัตว์ชัมภลที่ได้รับมา 

ซึ่งก็แปลกที่ว่า เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในสายวัชรยานของทิเบต ที่ปัจจุบันนี้มักมีการนำมาอ้างอิงเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลตรุษจีนอยู่เสมอ 

ทั้งที่ศาสนาพุทธวัชรยานทิเบต กับเทศกาลตรุษจีนนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

เนื่องจากผู้สร้างเทวรูปองค์นี้ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นเทวรูปของ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่สิ่งเอี๊ย ปางมหาเศรษฐีชัมภล

เทวรูปในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้ ทำออกมาให้บูชาตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน โดยวัดต่างๆ นับเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปีแล้ว ผมจะไม่ขอระบุว่าใครเป็นคนสร้างนะครับ

คงพูดได้เพียงแต่ว่า แนวความคิดแบบจับแพะชนแกะ โมเมเอาพระโพธิสัตว์ชัมภลในศาสนาพุทธวัชรยานของทิเบต มารวมเข้ากับเทพเจ้าแห่งโชคลาภในศาสนาเต๋าของจีนนี้ 

เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของแนวความคิดที่ผิดเพี้ยนในทางเทววิทยาของคนรุ่นใหม่ ที่จงใจทำ จงใจยัดเยียดให้เกิดคติความเชื่อใหม่ให้สังคมคนบูชาเทพ อย่างที่คนโบราณไม่ทำ ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อจะหาจุดขายใหม่ๆ ในวงการวัตถุมงคลเท่านั้น

ประวัติเดิมของพระโพธิสัตว์ชัมภลนั้น ท่านเป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระกุเวร (Kubera) ทรงมีพระพักตร์ดุร้ายแบบยักษ์ พระวรกายอ้วนกลม เป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย โภคทรัพย์และแก้วแหวนเงินทอง ดังทรงมีพระนามต่างๆ เช่น ธนบดี ธเนศวร เป็นต้น

ขณะที่ในอีกฐานะหนึ่ง ก็ทรงเป็นเทพอสูร และเป็นอธิบดีฝ่ายยักษ์ มีอำนาจบังคับบัญชายักษ์มาร รากษส และภูตผีปีศาจทุกชนิด ทรงเป็นหนึ่งในเทวดาประจำทิศหรือจตุโลกบาล เป็นใหญ่ในทิศเหนือ

ศาสนาพุทธ ในช่วงก่อนที่จะแยกออกเป็นนิกายต่างๆ นั้น ได้รับเอาคติการบูชาพระกุเวรในฐานะโลกบาลประจำทิศเหนือมาเช่นกันครับ 

โดยจัดให้อยู่ในชุดของ จตุโลกบาล ที่คอยอารักขาพระพุทธรูป และวัดวาอารามต่างๆ เช่นเดียวกับในศาสนาพราหมณ์ แต่มิได้เน้นในด้านของความมั่งคั่งร่ำรวย เหมือนพระกุเวรของพราหมณ์ คตินี้ได้สืบทอดต่อกันมาในศาสนาพุทธทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน

เมื่อศาสนาพราหมณ์เปลี่ยนรูปไปเป็นศาสนาฮินดู พระกุเวรได้รับความนิยมนับถือแพร่หลายยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาไม่ห่างกันมากนัก พุทธมหายานก็มีการเน้นเรื่องเวทมนต์คาถามากยิ่งขึ้น จนแปรรูปไปเป็นพุทธวัชรยานเช่นกัน

เข้าใจว่า ในช่วงเวลานี้ได้มีการยกฐานะเทพเจ้าพื้นเมืองอินเดียหลายองค์ ที่พุทธมหายานรับเข้ามาก่อนแล้วขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์ แม้ว่าในขณะเดียวกันนั้น เทพองค์นั้นจะเป็นที่นับถืออยู่ในศาสนาฮินดูด้วยก็ตาม




ซึ่งก็คงจะเป็นในช่วงเวลาเดียวกันนี้เช่นกันละครับ ที่มีการยกฐานะของพระกุเวรขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์ชัมภล โดยเป็นไปได้ว่า เพื่อจะประชันขันแข่งกับพระกุเวรของฮินดู 

เนื่องจากมีการให้ความสำคัญกับพระโพธิสัตว์องค์นี้ ในด้านของความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างชัดเจน ไม่ใช่ในฐานะของจตุโลกบาล อย่างที่พุทธเถรวาทและมหายานนับถือกันมาแต่ก่อน

พุทธมหายาน-วัชรยานในอินเดีย ถูกกองทัพมุสลิมทำลายหมดสิ้นไปแล้วครับ แต่ยังรุ่งเรืองอยู่ในเนปาล ทิเบต สิกขิม และภูฏาน 

ชาวทิเบตซึ่งรับศาสนาพุทธวัชรยานจากอินเดียโดยตรง ยังคงบูชาพระโพธิสัตว์ชัมภลผู้ประทานโชคลาภจนทุกวันนี้ โดยมิได้ให้ความสำคัญกับทิพยฐานะเดิม คือ พระกุเวร ที่ทรงเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลอีกเลย

ส่วนคนไทยเรา รู้จักทั้งพระกุเวรฮินดูมาตั้งแต่ยุคทวารวดี และรู้จักพระโพธิสัตว์ชัมภลของวัชรยานมาตั้งแต่ยุคศรีวิชัย ทั้งสองสายวิชานี้เข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว

ต่อมาเมื่อรับพุทธเถรวาทจากมอญและลังกา เราก็มีวิชาเทวศาสตร์ที่เกี่ยวกับพระกุเวรที่เป็นของเราเอง คือมีการทำเทวรูปท่านเป็นรูปยักษ์ถือกระบองแบบยักษ์วัดพระแก้ว นิยมบูชาเพื่อป้องกันและขับไล่ภูตผีปีศาจ ตลอดจนวิชาคุณไสยมนต์ดำทั้งหลาย ทั้งยังบูชาเพื่อผลทางโภคทรัพย์ด้วย

เราเรียกท่านว่า ท้าวเวสสุวัณ ไงครับ




สำหรับคนจีนเอง ยิ่งรู้จักพระกุเวรอย่างกว้างขวาง เพราะรับศาสนาพุทธฝ่ายมหายานโดยตรงจากอินเดีย ตั้งแต่ยังไม่มีอิทธิพลของวัชรยานมากอย่างทิเบต

พระกุเวรในจีน ยังคงได้รับการนับถือมาจนทุกวันนี้ ในฐานะที่ทรงเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล ฉลองพระองค์แบบนักรบจีนโบราณ และถือเจดีย์ (หรือไม่ก็ร่ม) คอยพิทักษ์ทางเข้าสู่อาคารที่สำคัญที่สุดในวัดจีนขนาดใหญ่ทุกวัดเสมอ

ท่านมีพระนามในภาษาจีนกลางว่า ตัวเหวินเทียนหวัง (天王) หรือจีนแต้จิ๋วว่า ตอบุ๋งเทียงอ๊วง



  
ที่กล่าวมานี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ไทยกับจีนรับคติการนับถือพระกุเวรมาคล้ายกัน เพราะไทยรับจากพุทธเถรวาท ส่วนจีนรับจากพุทธมหายาน 

ทั้งไทยและจีน จึงยังคงนับถือพระกุเวรในฐานะที่เป็นจตุโลกบาล โดยมีเรื่องของความมั่งคั่งร่ำรวยสอดแทรกอยู่ ตามฐานะเดิมของท่าน แต่ไม่ให้ความสำคัญในด้านนี้ เหมือนพระโพธิสัตว์ชัมภลของวัชรยานทิเบต

พระกุเวรของจีน หรือตัวเหวินเทียนหวัง จึงมิได้เป็นเทพแห่งโชคลาภเท่าใดนัก ในความรู้สึกของชาวจีนโดยทั่วไป เมื่อก่อนนี้ถ้าคนจีนจะไหว้เทพแห่งโชคลาภ เขาจะไปหาจากศาสนาเต๋า ไม่ใช่จากจตุโลกบาลของศาสนาพุทธมหายาน

และเทพเจ้าแห่งโชคลาภในศาสนาเต๋าของจีน ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบันนี้ ก็คือ ไฉ่สิ่งเอี๊ย (财神) ไงครับ  

ไฉ่สิ่งเอี๊ย มีประวัติว่าเดิมเป็นคนที่เคยมีชีวิตอยู่จริง โดยเล่ากันเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งว่าเดิมท่านเป็นขุนนางตงฉินชื่อ เซียงหมิง หรือ เจ้ากงหมิง (赵公明มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์โจว (๕๙๑ ปีก่อนพุทธกาล-พ.ศ.๒๙๖)

ยุคนั้นกษัตริย์เป็นทรราชย์ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้รับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เซียงหมิงไม่อาจทนได้จึงก่อกบฏ แม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็สามารถประหารฮ่องเต้โฉดด้วยวิชาอาคม ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากประชาชนเป็นอันมาก

อีกทางหนึ่ง เล่ากันว่าเดิมท่านเป็นผู้พิพากษาในมณฑลยูนนานสมัยราชวงศ์โจว เวลานั้นเกิดฝนแล้งพืชผลไร่นาเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ท่านจึงเข้าเฝ้าฮ่องเต้ และทูลเสนอให้ทรงยกเว้นการเก็บภาษีจากประชาชนในมณฑลดังกล่าว 

ซึ่งองค์ฮ่องเต้ก็ทรงเห็นชอบ ทำให้ประชาชนในยูนนานเคารพรักท่านกันทั่วไปครับ

และไม่ว่าจะเป็นขุนนางตงฉิน หรือตุลาการผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมมาแต่เดิม เมื่อเสียชีวิตแล้วท่านก็ได้รับการนับถือบูชาจนกลายเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ และมีอยู่ ๒ ปาง

คือปางบู๊ จะฉลองพระองค์แบบนักรบจีนโบราณ มักมีเสือปรากฏร่วมอยู่ด้วย




และปางบุ๋น ฉลองพระองค์แบบขุนนางจีนโบราณ ถือคฑายู่อี่และอ่วงป้อ (ก้อนเงินจีน)

ว่ากันว่า ปางบู๊นั้นผูกพันกับเจ้ากงหมิงที่เป็นขุนนาง และปางบุ๋นนั้นผูกพันกับชาติกำเนิดที่เป็นผู้พิพากษานั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมี โหงวโล่วไฉ่ซิ้ง (จีนกลางว่า อู่ลู่ไฉเสิน 五路财神) หรือคณะเทพโชคลาภ ๕ องค์ ที่ปรากฏอยู่ในอีกสายการบูชาเทพเจ้าโชคลาภของจีน มีไฉ่สิ่งเอี๊ยปางบุ๋นเป็นผู้นำ ร่วมด้วยเทพเจ้าแห่งโชคลาภอีก ๔ องค์คือ

เซียงเซิง (萧升) หรือ เจาเป่าเทียน (招宝天) องค์เทพแห่งการเรียกหาของวิเศษ

เฉาเป่า (曹宝) หรือ น่าเจินเทียน (纳珍天) องค์เทพแห่งการรวมสิ่งล้ำเลอค่า

เฉินจิ่วกง (陈久公) หรือ เจาไฉสื่อเจ่อ (财使者) องค์เทพแห่งการเรียกทรัพย์สิน

เหยาเส้าซือ (姚少司) หรือ ลี่ซื่อเซียน (利市仙官) องค์เทพแห่งการค้าขาย




โหงวโล่วไฉ่ซิ้ง นิยมบูชากันตามท้องถิ่น หรือชนบทของประเทศจีนในวันที่ ๕ ของเทศกาลตรุษจีน 

แต่องค์เทพไฉ่สิ่งเอี๊ย ที่เป็นความเชื่อกระแสหลักนั้น เป็นเทพเจ้าองค์สำคัญ ที่จะเสด็จมารับการบูชาเป็นองค์แรกในเทศกาลตรุษจีน โดยแต่ละปี ท่านจะเสด็จมาในทิศทางที่แตกต่างกันไป 

เราจะเห็นเทวรูปของท่าน ที่เป็นเรซินระบายสีสวยๆ หรือชุบสีทอง หรือภาพวาดของท่าน มีจำหน่ายทั่วไปในเยาวราช หรือย่านการค้าของคนจีนตั้งแต่ก่อนเทศกาลตรุษจีนทุกปี




ส่วนพระโพธิสัตว์ชัมภล ซึ่งนิยมนับถือกันในสายวัชรยานทิเบตนั้น แม้ว่าจะได้เข้าสู่ประเทศจีนเมื่อพุทธมหายานในจีนได้รับอิทธิพลจากวัชรยานอินเดีย แต่ที่ผ่านมาอบทบาทของท่านในความศรัทธาของชาวจีนอยู่ในวงจำกัด

คนจีนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญนะครับ เพิ่งจะมานิยมกันจริงๆ เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ตามกระแสวัชรยานทิเบตที่แพร่หลายไปทั่วโลก (รวมทั้งในจีน) นั่นเอง

แล้วพระโพธิสัตว์ชัมภลของทิเบต เข้ามาเกี่ยวข้องกับไฉ่สิ่งเอี๊ยได้อย่างไรครับ ?  

คนที่เป็นเจ้าของแนวความคิดนี้เขาอธิบายว่า ตำนานพระโพธิสัตว์ชัมภลในฐานะเทพเจ้าแห่งโชคลาภของมหายาน (ที่จริงควรเป็นวัชรยาน) นั้น มีความเก่าแก่ยาวนาน ปรากฏในหลายทวีป (ที่จริงมีแค่ในทวีปเอเชีย) แต่เรื่องไฉ่สิ่งเอี๊ยของจีนเป็นนิทานเกิดขึ้นเฉพาะในศาสนาเต๋า เป็นของยุคหลัง

แล้วเขาก็อ้างหลักฐานทางโบราณคดี คือพระโพธิสัตว์ชัมภลทำด้วยศิลาจำหลัก ณ เขาเฟยไหลฟง วัดหลิงหยิ่น เมืองหังโจว ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ชัมภลสายวัชรยานอินเดีย อายุกว่าพันปีมาแล้ว 

เขาบอกว่า นี่แหละเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เทพเจ้าแห่งโชคลาภที่เก่าแก่ที่สุดของจีน คือพระโพธิสัตว์ชัมภลนี่เอง

เพราะฉะนั้น เขาก็เลยสรุปว่า ไฉ่สิ่งเอี๊ยเป็นเทพที่ชาวจีนดัดแปลงมาจากพระโพธิสัตว์ชัมภล 

แล้วเพื่อยืนยันถึงที่มาที่ไป ที่ตนคิดว่าถูก ก็เลยจับเอาพระโพธิสัตว์ชัมภลมารวมกับไฉ่สิ่งเอี๊ย แล้วทำให้เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภไฉ่สิ่งเอี๊ย ปางมหาเศรษฐีชัมภล

ผมเห็นแล้วก็สลดใจ นี่เพียงแค่จะหามุขใหม่ๆ มาขายของกัน  ถึงกับต้องบิดเบือนตำราโบราณ จับแพะชนแกะกันตามความเข้าใจของตนเองได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ

แน่นอนที่ว่า เราไม่อาจหาหลักฐานความเก่าแก่ของไฉ่สิ่งเอี๊ยในจีนได้ เหมือนพระโพธิสัตว์ชัมภล แม้ว่าตำนานจะอ้างว่า ท่านเคยเป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในยุคสมัยก่อนที่แผ่นดินจีนจะรู้จักศาสนาพุทธก็ตาม

แต่ถึงอย่างไร คำว่าเทพพื้นเมือง ก็คือเทพพื้นเมืองครับ 

เทพพื้นเมืองบางองค์ อาจแปลงรูปมาจากศาสนาที่ใหญ่กว่าได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป

โดยเฉพาะกับไฉ่สิ่งเอี๊ย ที่มีคติการนับถือหนักแน่นยาวนานมาอย่างน้อยก็ก่อนที่จะเกิดความนิยมอะไรที่เป็น ทิเบตๆแบบพระโพธิสัตว์ชัมภล

แม้แต่ศาสนาพุทธฝ่ายมหายานในจีน ก็ไม่มีทางที่จะแพร่หลายเป็นที่นับถือกันมากเช่นปัจจุบันนี้ ถ้าไม่เกิดตำนานเจ้าแม่กวนอิมขึ้นมา จนเป็นที่นับถือกันกว้างขวาง แล้วนักปราชญ์ฝ่ายมหายานจีนก็จับไปรวมเข้าเป็นองค์เดียวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

โดยก็อ้างคล้ายๆ กันนี้ละครับ ว่าเรื่องเจ้าแม่กวนอิมที่ชาติกำเนิดเดิมเป็นเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านนั้น เป็นนิทานที่แต่งเติมกันขึ้นเอง เรื่องพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรของมหายานเท่านั้นที่เป็นเรื่องจริง และด้วยเหตุนั้น จึงอ้างกันต่อไปว่า เจ้าแม่กวนอิมที่แท้จริงจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ไม่ใช่ผู้หญิง




พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ในช่วงแรกที่พุทธมหายานพยายามลงหลักปักฐานในประเทศจีน จึงประสบความสำเร็จ กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนจีนนับถือกันทั่วโลกจนปัจจุบันนี้ ในรูปของเจ้าแม่กวนอิม

การกระทำเช่นนี้ เป็นวิธีเดียวกันกับที่คณะผู้สร้างเทวรูปไฉ่สิ่งเอี๊ยปางมหาเศรษฐีชัมภลทำอยู่ครับ และเกิดจากวิธีคิดแบบเดียวกัน

คือลุ่มหลงในความยิ่งใหญ่ของศาสนาพุทธมหายานมากเสียจนเกิดอุปาทาน เห็นคติอื่น เช่น ตำนานเทพพื้นเมืองจีนในศาสนาเต๋าไม่ใช่ของสลักสำคัญอะไร แล้วก็ตัดสินไปเลยว่าเป็นเพียงของลอกเลียนแบบ และดัดแปลงกันไปอย่างไม่มีความรู้

เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการดูหมิ่นภูมิปัญญาคนอื่น โดยละเลยต่อข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง

และผลก็คือ ทำให้คณะผู้สร้างเทวรูปไฉ่สิ่งเอี๊ยองค์นี้ ต้องไปเอาเทวรูปพระโพธิสัตว์ชัมภลของทิเบตมาใช้เป็นแบบอย่าง เพราะเป็นเทวรูปพระโพธิสัตว์ชัมภลแบบมหายานแท้ๆ เพียงสกุลช่างเดียวที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน




แล้วเมื่อถึงเวลาเทวาภิเษก ก็คงจะต้องพยายามเทวาภิเษกให้เป็นทั้งพระโพธิสัตว์ชัมภลและไฉ่สิ่งเอี๊ย ทั้งๆ ที่เป็นเทพคนละองค์กัน

ผลก็คือ เป็นวัตถุมงคลที่มีพุทธคุณ จากพลังจิตของพระเกจิอาจารย์ที่นั่งปรก แต่ไม่เป็นพระโพธิสัตว์ชัมภลหรือไฉ่สิ่งเอี๊ยอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีการประจุมนต์ของพระโพธิสัตว์ชัมภลทิเบต คือ โอม ชัมภาลา จาเลน ไนเยน สวาหะแล้วก็ตาม

ก็เล่นเอาท่านไปรวมกับไฉ่สิ่งเอี๊ย แล้วไปสลักชื่อที่ฐานท่านว่าเป็นไฉ่สิ่งเอี๊ยเสียแล้วนี่ครับ

จะเป็นพระโพธิสัตว์ชัมภลก็ไม่เต็มองค์ จะเป็นไฉ่สิ่งเอี๊ยก็เป็นไม่ได้

แถมพิธีเทวาภิเษกยังเป็นการเสกรวม มิได้ประจุมนต์กันเป็นรายองค์ ผู้บูชาจึงเท่ากับต้องจับฉลากกัน 

คือใครโชคดีก็ได้เทวรูปองค์ที่ ติดเนื้อมนต์มากไปบูชา ใครโชคไม่ดี ก็ได้องค์ที่ ติดน้อย หรือไม่ติดเลยไปบูชา

อย่างหลังนี่พอบูชาแล้ว ฐานะความเป็นอยู่ก็ไม่ดีขึ้น พอโดนใครทำคุณไสยใส่เข้ามา ก็ป้องกันไม่ได้ เพราะไม่มีทั้งพุทธคุณ และกำลังพระโพธิสัตว์ชัมภลที่เป็นเทวราชฝ่ายยักษ์

การบิดเบือนตำราโบราณ เพียงเพื่อจะหามุขใหม่ๆ มาประกอบการขายของ ถ้าทำด้วยความเข้าใจผิดก็พอให้อภัยได้ครับ

แต่ถ้าทำทั้งๆ ที่รู้ความจริงอยู่แล้ว หรือไม่รู้แต่นึกว่าตนเองรู้ แบบนี้เป็นการบิดเบือนหลักการของคนโบราณ เป็นการผิดครู เป็นการจงใจทำสิ่งที่พิสูจน์ด้วยกาลเวลามาแล้วว่าดีงามให้ผิดเพี้ยน

และเป็นช่องทางที่ทำให้คนที่เขาไม่เชื่อถือในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลัง หาว่างมงายได้อย่างที่เป็นอยู่

ตรุษจีนปีนี้ ก็คงจะยังคงมีหมอดูหรือเซียนพระออกมาให้คำแนะนำตามสื่อต่างๆ ให้บูชาองค์เทพไฉ่สิ่งเอี๊ยในรูปเคารพของมหาเศรษฐีชัมภลเหมือนเคย 

ถ้าใครมาถามผม ผมจะแนะนำให้บูชาไฉ่สิ่งเอี๊ยปางบุ๋น-บู๊ ของจีนตามประเพณีนิยม เพราะนั่นคือเทพโชคลาภในเทวศาสตร์จีนของแท้ ที่จะต้องตั้งโต๊ะไหว้กันก่อนเข้าเทศกาล

ส่วนใครศรัทธาจะไหว้พระโพธิสัตว์ชัมภล ก็ควรหาองค์ที่เป็นของทิเบตแท้ๆ ไม่มีชื่อภาษาจีนเข้ามาปะปน และถ้าหายากนัก จะไหว้ตอบุ๋งเทียงอ๊วงที่พิทักษ์รักษาอยู่ตามวัดต่างๆ ก็ยังได้นะครับ

และทั้งสององค์นี้จะไหว้เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องไหว้เฉพาะในเทศกาลตรุษจีนแต่อย่างใด


...........................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด