วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พระโพธิสัตว์ชัมภล-ไฉ่สิ่งเอี๊ย

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*





เมื่อสมัยที่ผมยังรับงานพิธีกรรมอยู่เป็นอันมากนั้น เคยมีผู้นำเทวรูปที่ดูเหมือน พระโพธิสัตว์ชัมภล (Jambhala) ในศาสนาพุทธวัชรยานสายทิเบตองค์หนึ่ง มาให้ผมทำพิธีล้างอาถรรพณ์ให้

เพราะเหตุว่าผู้บูชาเทวรูปองค์นั้น ถูกคุณไสยกันทั้งบ้าน อำนาจคุณไสยแทรกซึมไปทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้ในเทวรูปที่ตั้งบูชาอยู่

คุณไสยมนต์ดำเป็นวิชาชั้นต่ำ ใช้อำนาจผีเป็นหลัก อำนาจผีจะแทรกเข้าไปในเทวรูปได้อย่างไร เรื่องนี้คงต้องว่ากันยาวละครับ แล้วผมก็เขียนไว้แล้วในหนังสือ คู่มือบูชาเทพ ฉบับสมบูรณ์ ด้วย

จึงขออธิบายเพียงย่อๆ ในที่นี้ว่า สาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากคนในบ้านนั้นบูชาไม่ดี บูชาไม่เป็น รวมทั้งเทวรูปนั้นอาจจะไม่ได้ผ่านพิธีที่ดีพอด้วย จึงคุ้มครองคนในบ้านนั้นไม่ได้

ที่ต้องขออธิบายย่อๆ เพียงเท่านี้ เพราะผมอยากจะพูดถึงเทวรูป (ที่ดูเหมือน) พระโพธิสัตว์ชัมภลที่ได้รับมา 

ซึ่งก็แปลกที่ว่า เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในสายวัชรยานของทิเบต ที่ปัจจุบันนี้มักมีการนำมาอ้างอิงเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลตรุษจีนอยู่เสมอ 

ทั้งที่ศาสนาพุทธวัชรยานทิเบต กับเทศกาลตรุษจีนนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

เนื่องจากผู้สร้างเทวรูปองค์นี้ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นเทวรูปของ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่สิ่งเอี๊ย ปางมหาเศรษฐีชัมภล

เทวรูปในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้ ทำออกมาให้บูชาตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน โดยวัดต่างๆ นับเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปีแล้ว ผมจะไม่ขอระบุว่าใครเป็นคนสร้างนะครับ

คงพูดได้เพียงแต่ว่า แนวความคิดแบบจับแพะชนแกะ โมเมเอาพระโพธิสัตว์ชัมภลในศาสนาพุทธวัชรยานของทิเบต มารวมเข้ากับเทพเจ้าแห่งโชคลาภในศาสนาเต๋าของจีนนี้ 

เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของแนวความคิดที่ผิดเพี้ยนในทางเทววิทยาของคนรุ่นใหม่ ที่จงใจทำ จงใจยัดเยียดให้เกิดคติความเชื่อใหม่ให้สังคมคนบูชาเทพ อย่างที่คนโบราณไม่ทำ ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อจะหาจุดขายใหม่ๆ ในวงการวัตถุมงคลเท่านั้น

ประวัติเดิมของพระโพธิสัตว์ชัมภลนั้น ท่านเป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระกุเวร (Kubera) ทรงมีพระพักตร์ดุร้ายแบบยักษ์ พระวรกายอ้วนกลม เป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย โภคทรัพย์และแก้วแหวนเงินทอง ดังทรงมีพระนามต่างๆ เช่น ธนบดี ธเนศวร เป็นต้น

ขณะที่ในอีกฐานะหนึ่ง ก็ทรงเป็นเทพอสูร และเป็นอธิบดีฝ่ายยักษ์ มีอำนาจบังคับบัญชายักษ์มาร รากษส และภูตผีปีศาจทุกชนิด ทรงเป็นหนึ่งในเทวดาประจำทิศหรือจตุโลกบาล เป็นใหญ่ในทิศเหนือ

ศาสนาพุทธ ในช่วงก่อนที่จะแยกออกเป็นนิกายต่างๆ นั้น ได้รับเอาคติการบูชาพระกุเวรในฐานะโลกบาลประจำทิศเหนือมาเช่นกันครับ 

โดยจัดให้อยู่ในชุดของ จตุโลกบาล ที่คอยอารักขาพระพุทธรูป และวัดวาอารามต่างๆ เช่นเดียวกับในศาสนาพราหมณ์ แต่มิได้เน้นในด้านของความมั่งคั่งร่ำรวย เหมือนพระกุเวรของพราหมณ์ คตินี้ได้สืบทอดต่อกันมาในศาสนาพุทธทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน

เมื่อศาสนาพราหมณ์เปลี่ยนรูปไปเป็นศาสนาฮินดู พระกุเวรได้รับความนิยมนับถือแพร่หลายยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาไม่ห่างกันมากนัก พุทธมหายานก็มีการเน้นเรื่องเวทมนต์คาถามากยิ่งขึ้น จนแปรรูปไปเป็นพุทธวัชรยานเช่นกัน

เข้าใจว่า ในช่วงเวลานี้ได้มีการยกฐานะเทพเจ้าพื้นเมืองอินเดียหลายองค์ ที่พุทธมหายานรับเข้ามาก่อนแล้วขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์ แม้ว่าในขณะเดียวกันนั้น เทพองค์นั้นจะเป็นที่นับถืออยู่ในศาสนาฮินดูด้วยก็ตาม




ซึ่งก็คงจะเป็นในช่วงเวลาเดียวกันนี้เช่นกันละครับ ที่มีการยกฐานะของพระกุเวรขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์ชัมภล โดยเป็นไปได้ว่า เพื่อจะประชันขันแข่งกับพระกุเวรของฮินดู 

เนื่องจากมีการให้ความสำคัญกับพระโพธิสัตว์องค์นี้ ในด้านของความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างชัดเจน ไม่ใช่ในฐานะของจตุโลกบาล อย่างที่พุทธเถรวาทและมหายานนับถือกันมาแต่ก่อน

พุทธมหายาน-วัชรยานในอินเดีย ถูกกองทัพมุสลิมทำลายหมดสิ้นไปแล้วครับ แต่ยังรุ่งเรืองอยู่ในเนปาล ทิเบต สิกขิม และภูฏาน 

ชาวทิเบตซึ่งรับศาสนาพุทธวัชรยานจากอินเดียโดยตรง ยังคงบูชาพระโพธิสัตว์ชัมภลผู้ประทานโชคลาภจนทุกวันนี้ โดยมิได้ให้ความสำคัญกับทิพยฐานะเดิม คือ พระกุเวร ที่ทรงเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลอีกเลย

ส่วนคนไทยเรา รู้จักทั้งพระกุเวรฮินดูมาตั้งแต่ยุคทวารวดี และรู้จักพระโพธิสัตว์ชัมภลของวัชรยานมาตั้งแต่ยุคศรีวิชัย ทั้งสองสายวิชานี้เข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว

ต่อมาเมื่อรับพุทธเถรวาทจากมอญและลังกา เราก็มีวิชาเทวศาสตร์ที่เกี่ยวกับพระกุเวรที่เป็นของเราเอง คือมีการทำเทวรูปท่านเป็นรูปยักษ์ถือกระบองแบบยักษ์วัดพระแก้ว นิยมบูชาเพื่อป้องกันและขับไล่ภูตผีปีศาจ ตลอดจนวิชาคุณไสยมนต์ดำทั้งหลาย ทั้งยังบูชาเพื่อผลทางโภคทรัพย์ด้วย

เราเรียกท่านว่า ท้าวเวสสุวัณ ไงครับ




สำหรับคนจีนเอง ยิ่งรู้จักพระกุเวรอย่างกว้างขวาง เพราะรับศาสนาพุทธฝ่ายมหายานโดยตรงจากอินเดีย ตั้งแต่ยังไม่มีอิทธิพลของวัชรยานมากอย่างทิเบต

พระกุเวรในจีน ยังคงได้รับการนับถือมาจนทุกวันนี้ ในฐานะที่ทรงเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล ฉลองพระองค์แบบนักรบจีนโบราณ และถือเจดีย์ (หรือไม่ก็ร่ม) คอยพิทักษ์ทางเข้าสู่อาคารที่สำคัญที่สุดในวัดจีนขนาดใหญ่ทุกวัดเสมอ

ท่านมีพระนามในภาษาจีนกลางว่า ตัวเหวินเทียนหวัง (天王) หรือจีนแต้จิ๋วว่า ตอบุ๋งเทียงอ๊วง



  
ที่กล่าวมานี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ไทยกับจีนรับคติการนับถือพระกุเวรมาคล้ายกัน เพราะไทยรับจากพุทธเถรวาท ส่วนจีนรับจากพุทธมหายาน 

ทั้งไทยและจีน จึงยังคงนับถือพระกุเวรในฐานะที่เป็นจตุโลกบาล โดยมีเรื่องของความมั่งคั่งร่ำรวยสอดแทรกอยู่ ตามฐานะเดิมของท่าน แต่ไม่ให้ความสำคัญในด้านนี้ เหมือนพระโพธิสัตว์ชัมภลของวัชรยานทิเบต

พระกุเวรของจีน หรือตัวเหวินเทียนหวัง จึงมิได้เป็นเทพแห่งโชคลาภเท่าใดนัก ในความรู้สึกของชาวจีนโดยทั่วไป เมื่อก่อนนี้ถ้าคนจีนจะไหว้เทพแห่งโชคลาภ เขาจะไปหาจากศาสนาเต๋า ไม่ใช่จากจตุโลกบาลของศาสนาพุทธมหายาน

และเทพเจ้าแห่งโชคลาภในศาสนาเต๋าของจีน ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบันนี้ ก็คือ ไฉ่สิ่งเอี๊ย (财神) ไงครับ  

ไฉ่สิ่งเอี๊ย มีประวัติว่าเดิมเป็นคนที่เคยมีชีวิตอยู่จริง โดยเล่ากันเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งว่าเดิมท่านเป็นขุนนางตงฉินชื่อ เซียงหมิง หรือ เจ้ากงหมิง (赵公明มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์โจว (๕๙๑ ปีก่อนพุทธกาล-พ.ศ.๒๙๖)

ยุคนั้นกษัตริย์เป็นทรราชย์ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้รับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เซียงหมิงไม่อาจทนได้จึงก่อกบฏ แม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็สามารถประหารฮ่องเต้โฉดด้วยวิชาอาคม ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากประชาชนเป็นอันมาก

อีกทางหนึ่ง เล่ากันว่าเดิมท่านเป็นผู้พิพากษาในมณฑลยูนนานสมัยราชวงศ์โจว เวลานั้นเกิดฝนแล้งพืชผลไร่นาเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ท่านจึงเข้าเฝ้าฮ่องเต้ และทูลเสนอให้ทรงยกเว้นการเก็บภาษีจากประชาชนในมณฑลดังกล่าว 

ซึ่งองค์ฮ่องเต้ก็ทรงเห็นชอบ ทำให้ประชาชนในยูนนานเคารพรักท่านกันทั่วไปครับ

และไม่ว่าจะเป็นขุนนางตงฉิน หรือตุลาการผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมมาแต่เดิม เมื่อเสียชีวิตแล้วท่านก็ได้รับการนับถือบูชาจนกลายเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ และมีอยู่ ๒ ปาง

คือปางบู๊ จะฉลองพระองค์แบบนักรบจีนโบราณ มักมีเสือปรากฏร่วมอยู่ด้วย




และปางบุ๋น ฉลองพระองค์แบบขุนนางจีนโบราณ ถือคฑายู่อี่และอ่วงป้อ (ก้อนเงินจีน)

ว่ากันว่า ปางบู๊นั้นผูกพันกับเจ้ากงหมิงที่เป็นขุนนาง และปางบุ๋นนั้นผูกพันกับชาติกำเนิดที่เป็นผู้พิพากษานั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมี โหงวโล่วไฉ่ซิ้ง (จีนกลางว่า อู่ลู่ไฉเสิน 五路财神) หรือคณะเทพโชคลาภ ๕ องค์ ที่ปรากฏอยู่ในอีกสายการบูชาเทพเจ้าโชคลาภของจีน มีไฉ่สิ่งเอี๊ยปางบุ๋นเป็นผู้นำ ร่วมด้วยเทพเจ้าแห่งโชคลาภอีก ๔ องค์คือ

เซียงเซิง (萧升) หรือ เจาเป่าเทียน (招宝天) องค์เทพแห่งการเรียกหาของวิเศษ

เฉาเป่า (曹宝) หรือ น่าเจินเทียน (纳珍天) องค์เทพแห่งการรวมสิ่งล้ำเลอค่า

เฉินจิ่วกง (陈久公) หรือ เจาไฉสื่อเจ่อ (财使者) องค์เทพแห่งการเรียกทรัพย์สิน

เหยาเส้าซือ (姚少司) หรือ ลี่ซื่อเซียน (利市仙官) องค์เทพแห่งการค้าขาย




โหงวโล่วไฉ่ซิ้ง นิยมบูชากันตามท้องถิ่น หรือชนบทของประเทศจีนในวันที่ ๕ ของเทศกาลตรุษจีน 

แต่องค์เทพไฉ่สิ่งเอี๊ย ที่เป็นความเชื่อกระแสหลักนั้น เป็นเทพเจ้าองค์สำคัญ ที่จะเสด็จมารับการบูชาเป็นองค์แรกในเทศกาลตรุษจีน โดยแต่ละปี ท่านจะเสด็จมาในทิศทางที่แตกต่างกันไป 

เราจะเห็นเทวรูปของท่าน ที่เป็นเรซินระบายสีสวยๆ หรือชุบสีทอง หรือภาพวาดของท่าน มีจำหน่ายทั่วไปในเยาวราช หรือย่านการค้าของคนจีนตั้งแต่ก่อนเทศกาลตรุษจีนทุกปี




ส่วนพระโพธิสัตว์ชัมภล ซึ่งนิยมนับถือกันในสายวัชรยานทิเบตนั้น แม้ว่าจะได้เข้าสู่ประเทศจีนเมื่อพุทธมหายานในจีนได้รับอิทธิพลจากวัชรยานอินเดีย แต่ที่ผ่านมาอบทบาทของท่านในความศรัทธาของชาวจีนอยู่ในวงจำกัด

คนจีนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญนะครับ เพิ่งจะมานิยมกันจริงๆ เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ตามกระแสวัชรยานทิเบตที่แพร่หลายไปทั่วโลก (รวมทั้งในจีน) นั่นเอง

แล้วพระโพธิสัตว์ชัมภลของทิเบต เข้ามาเกี่ยวข้องกับไฉ่สิ่งเอี๊ยได้อย่างไรครับ ?  

คนที่เป็นเจ้าของแนวความคิดนี้เขาอธิบายว่า ตำนานพระโพธิสัตว์ชัมภลในฐานะเทพเจ้าแห่งโชคลาภของมหายาน (ที่จริงควรเป็นวัชรยาน) นั้น มีความเก่าแก่ยาวนาน ปรากฏในหลายทวีป (ที่จริงมีแค่ในทวีปเอเชีย) แต่เรื่องไฉ่สิ่งเอี๊ยของจีนเป็นนิทานเกิดขึ้นเฉพาะในศาสนาเต๋า เป็นของยุคหลัง

แล้วเขาก็อ้างหลักฐานทางโบราณคดี คือพระโพธิสัตว์ชัมภลทำด้วยศิลาจำหลัก ณ เขาเฟยไหลฟง วัดหลิงหยิ่น เมืองหังโจว ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ชัมภลสายวัชรยานอินเดีย อายุกว่าพันปีมาแล้ว 

เขาบอกว่า นี่แหละเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เทพเจ้าแห่งโชคลาภที่เก่าแก่ที่สุดของจีน คือพระโพธิสัตว์ชัมภลนี่เอง

เพราะฉะนั้น เขาก็เลยสรุปว่า ไฉ่สิ่งเอี๊ยเป็นเทพที่ชาวจีนดัดแปลงมาจากพระโพธิสัตว์ชัมภล 

แล้วเพื่อยืนยันถึงที่มาที่ไป ที่ตนคิดว่าถูก ก็เลยจับเอาพระโพธิสัตว์ชัมภลมารวมกับไฉ่สิ่งเอี๊ย แล้วทำให้เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภไฉ่สิ่งเอี๊ย ปางมหาเศรษฐีชัมภล

ผมเห็นแล้วก็สลดใจ นี่เพียงแค่จะหามุขใหม่ๆ มาขายของกัน  ถึงกับต้องบิดเบือนตำราโบราณ จับแพะชนแกะกันตามความเข้าใจของตนเองได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ

แน่นอนที่ว่า เราไม่อาจหาหลักฐานความเก่าแก่ของไฉ่สิ่งเอี๊ยในจีนได้ เหมือนพระโพธิสัตว์ชัมภล แม้ว่าตำนานจะอ้างว่า ท่านเคยเป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในยุคสมัยก่อนที่แผ่นดินจีนจะรู้จักศาสนาพุทธก็ตาม

แต่ถึงอย่างไร คำว่าเทพพื้นเมือง ก็คือเทพพื้นเมืองครับ 

เทพพื้นเมืองบางองค์ อาจแปลงรูปมาจากศาสนาที่ใหญ่กว่าได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป

โดยเฉพาะกับไฉ่สิ่งเอี๊ย ที่มีคติการนับถือหนักแน่นยาวนานมาอย่างน้อยก็ก่อนที่จะเกิดความนิยมอะไรที่เป็น ทิเบตๆแบบพระโพธิสัตว์ชัมภล

แม้แต่ศาสนาพุทธฝ่ายมหายานในจีน ก็ไม่มีทางที่จะแพร่หลายเป็นที่นับถือกันมากเช่นปัจจุบันนี้ ถ้าไม่เกิดตำนานเจ้าแม่กวนอิมขึ้นมา จนเป็นที่นับถือกันกว้างขวาง แล้วนักปราชญ์ฝ่ายมหายานจีนก็จับไปรวมเข้าเป็นองค์เดียวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

โดยก็อ้างคล้ายๆ กันนี้ละครับ ว่าเรื่องเจ้าแม่กวนอิมที่ชาติกำเนิดเดิมเป็นเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านนั้น เป็นนิทานที่แต่งเติมกันขึ้นเอง เรื่องพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรของมหายานเท่านั้นที่เป็นเรื่องจริง และด้วยเหตุนั้น จึงอ้างกันต่อไปว่า เจ้าแม่กวนอิมที่แท้จริงจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ไม่ใช่ผู้หญิง




พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ในช่วงแรกที่พุทธมหายานพยายามลงหลักปักฐานในประเทศจีน จึงประสบความสำเร็จ กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนจีนนับถือกันทั่วโลกจนปัจจุบันนี้ ในรูปของเจ้าแม่กวนอิม

การกระทำเช่นนี้ เป็นวิธีเดียวกันกับที่คณะผู้สร้างเทวรูปไฉ่สิ่งเอี๊ยปางมหาเศรษฐีชัมภลทำอยู่ครับ และเกิดจากวิธีคิดแบบเดียวกัน

คือลุ่มหลงในความยิ่งใหญ่ของศาสนาพุทธมหายานมากเสียจนเกิดอุปาทาน เห็นคติอื่น เช่น ตำนานเทพพื้นเมืองจีนในศาสนาเต๋าไม่ใช่ของสลักสำคัญอะไร แล้วก็ตัดสินไปเลยว่าเป็นเพียงของลอกเลียนแบบ และดัดแปลงกันไปอย่างไม่มีความรู้

เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการดูหมิ่นภูมิปัญญาคนอื่น โดยละเลยต่อข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง

และผลก็คือ ทำให้คณะผู้สร้างเทวรูปไฉ่สิ่งเอี๊ยองค์นี้ ต้องไปเอาเทวรูปพระโพธิสัตว์ชัมภลของทิเบตมาใช้เป็นแบบอย่าง เพราะเป็นเทวรูปพระโพธิสัตว์ชัมภลแบบมหายานแท้ๆ เพียงสกุลช่างเดียวที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน




แล้วเมื่อถึงเวลาเทวาภิเษก ก็คงจะต้องพยายามเทวาภิเษกให้เป็นทั้งพระโพธิสัตว์ชัมภลและไฉ่สิ่งเอี๊ย ทั้งๆ ที่เป็นเทพคนละองค์กัน

ผลก็คือ เป็นวัตถุมงคลที่มีพุทธคุณ จากพลังจิตของพระเกจิอาจารย์ที่นั่งปรก แต่ไม่เป็นพระโพธิสัตว์ชัมภลหรือไฉ่สิ่งเอี๊ยอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีการประจุมนต์ของพระโพธิสัตว์ชัมภลทิเบต คือ โอม ชัมภาลา จาเลน ไนเยน สวาหะแล้วก็ตาม

ก็เล่นเอาท่านไปรวมกับไฉ่สิ่งเอี๊ย แล้วไปสลักชื่อที่ฐานท่านว่าเป็นไฉ่สิ่งเอี๊ยเสียแล้วนี่ครับ

จะเป็นพระโพธิสัตว์ชัมภลก็ไม่เต็มองค์ จะเป็นไฉ่สิ่งเอี๊ยก็เป็นไม่ได้

แถมพิธีเทวาภิเษกยังเป็นการเสกรวม มิได้ประจุมนต์กันเป็นรายองค์ ผู้บูชาจึงเท่ากับต้องจับฉลากกัน 

คือใครโชคดีก็ได้เทวรูปองค์ที่ ติดเนื้อมนต์มากไปบูชา ใครโชคไม่ดี ก็ได้องค์ที่ ติดน้อย หรือไม่ติดเลยไปบูชา

อย่างหลังนี่พอบูชาแล้ว ฐานะความเป็นอยู่ก็ไม่ดีขึ้น พอโดนใครทำคุณไสยใส่เข้ามา ก็ป้องกันไม่ได้ เพราะไม่มีทั้งพุทธคุณ และกำลังพระโพธิสัตว์ชัมภลที่เป็นเทวราชฝ่ายยักษ์

การบิดเบือนตำราโบราณ เพียงเพื่อจะหามุขใหม่ๆ มาประกอบการขายของ ถ้าทำด้วยความเข้าใจผิดก็พอให้อภัยได้ครับ

แต่ถ้าทำทั้งๆ ที่รู้ความจริงอยู่แล้ว หรือไม่รู้แต่นึกว่าตนเองรู้ แบบนี้เป็นการบิดเบือนหลักการของคนโบราณ เป็นการผิดครู เป็นการจงใจทำสิ่งที่พิสูจน์ด้วยกาลเวลามาแล้วว่าดีงามให้ผิดเพี้ยน

และเป็นช่องทางที่ทำให้คนที่เขาไม่เชื่อถือในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลัง หาว่างมงายได้อย่างที่เป็นอยู่

ตรุษจีนปีนี้ ก็คงจะยังคงมีหมอดูหรือเซียนพระออกมาให้คำแนะนำตามสื่อต่างๆ ให้บูชาองค์เทพไฉ่สิ่งเอี๊ยในรูปเคารพของมหาเศรษฐีชัมภลเหมือนเคย 

ถ้าใครมาถามผม ผมจะแนะนำให้บูชาไฉ่สิ่งเอี๊ยปางบุ๋น-บู๊ ของจีนตามประเพณีนิยม เพราะนั่นคือเทพโชคลาภในเทวศาสตร์จีนของแท้ ที่จะต้องตั้งโต๊ะไหว้กันก่อนเข้าเทศกาล

ส่วนใครศรัทธาจะไหว้พระโพธิสัตว์ชัมภล ก็ควรหาองค์ที่เป็นของทิเบตแท้ๆ ไม่มีชื่อภาษาจีนเข้ามาปะปน และถ้าหายากนัก จะไหว้ตอบุ๋งเทียงอ๊วงที่พิทักษ์รักษาอยู่ตามวัดต่างๆ ก็ยังได้นะครับ

และทั้งสององค์นี้จะไหว้เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องไหว้เฉพาะในเทศกาลตรุษจีนแต่อย่างใด


...........................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด



3 ความคิดเห็น:

  1. วงการพระเครื่องนี่ขายความจริงมันขายยากนักรึไง

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ค่อนข้างยากนะคะ เพราะคนส่วนใหญ่ชอบเรื่องไม่จริง

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น