วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

บทพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานพรปีใหม่ พร้อม ส.ค.ส.พระมหาชนก สำหรับปีพ.ศ.๒๕๕๘

ในรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชนิพนธ์มหานิบาตชาดกเรื่อง พระมหาชนก ขึ้นใหม่ โดยทรงแปลจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ต้นเรื่อง จนจบในพ.ศ.๒๕๓๑ 

แต่เวลาก็ล่วงไปอีก ๘ ปี พระราชนิพนธ์ดังกล่าวจึงได้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกครับ  
         
การจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ดังกล่าว เป็นงานใหญ่ เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองปีกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล จึงทรงมีพระราชดำริจะจัดทำเป็นหนังสือภาพ

และด้วยเหตุนั้น จึงทรงคัดเลือกศิลปินร่วมสมัย ที่มีผลงานทางศิลปะในระดับแถวหน้าของเมืองไทยในขณะนั้น ๘ ท่าน  คือ ปัญญา วิจินธนสาร, เนติกร ชินโย, จินตนา เปี่ยมศิริ, เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์, ประหยัด พงษ์ดำ, พิชัย นิรันต์, ธีระวัฒน์ คะนะมะ และ ปรีชา เถาทอง แบ่งกันวาดภาพจิตรกรรมประกอบพระราชนิพนธ์ทุกตอน เป็นจำนวนถึง ๓๖ ภาพ

ศิลปินเหล่านั้น ต่างทุ่มเทชีวิตจิตใจ และความเชี่ยวชาญเท่าที่มีอยู่ ทำงานถวายอย่างเต็มฝีมือ ทุกภาพได้นำมาตีพิมพ์ประกอบพระราชนิพนธ์ เป็นหนังสือขนาดใหญ่ ปกแข็ง พิมพ์สี่สีบนกระดาษอาร์ตทั้งเล่ม  จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙ โดยบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)  
        

ภาพจาก http://BlogGang.com

หนังสือพระราชนิพนธ์นี้  แสดงถึงพระอัจฉริยภาพอันหลากหลาย ในองค์พระบาทสมเด็จพระประมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ 

๑. พระปรีชาสามารถในด้านการประพันธ์ 

พระองค์ไม่เพียงทรงพระราชนิพนธ์คัมภีร์ทางศาสนาที่มีเนื้อความซับซ้อน ให้อ่านง่ายและกระชับขึ้นเท่านั้นนะครับ  ยังได้ทรงรักษาไว้ซึ่งสารัตถะเดิมที่สำคัญทั้งหมดด้วย 

ทั้งยังทรงอธิบายพระคาถา ตามเหตุการณ์ต่างๆ ไปตลอดเรื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ ให้พิจารณาต่อเนื่องได้อย่างแจ่มชัด ทำให้แม้แต่ผู้อ่านที่ขาดความรู้ที่สุด ก็สามารถอ่านเข้าใจได้ 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังทรงพระราชนิพนธ์ดัดแปลง สอดแทรกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเชื่อมโยงความคิดมาสู่เหตุการณ์จริง ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ได้อย่างแยบยลด้วยครับ 

สำนวนภาษาที่ทรงใช้ ก็ล้วนแต่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา มีถ้อยคำที่เร้าใจ มีความงามของจังหวะ และน้ำเสียงแพรวพรายอยู่โดยตลอด ผู้ใดได้อ่านแล้ว จะไม่สามารถวางลงได้จนกว่าจะจบเรื่อง

๒. พระปรีชาสามารถในด้านการแปล 

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ต่างยกย่องกันว่า ทรงแปลทั้งเนื้อเรื่อง และการอธิบายพระคาถาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษอย่างสละสลวย ทำให้ชาวต่างชาติ ซึ่งไม่คุ้นกับศาสนาและวัฒนธรรมไทย สามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่แตกฉานภาษาอังกฤษมากนัก หากต้องการจะฝึกทักษะทางภาษา ก็สามารถอ่านเข้าใจได้โดยตลอด เพราะไม่ทรงใช้ศัพท์ยาก 

กล่าวคือ ทรงพระราชนิพนธ์ภาษาไทยอย่างไร ก็ทรงพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษอย่างนั้นละครับ

๓. พระปรีชาสามารถในด้านโหราศาสตร์ 

ทรงทำแผนภูมิพยากรณ์ ผูกดวงวันออกเดินทางของพระมหาชนก จากเมืองจัมปาไปยังกรุงมิถิลา โดยทรงคำนวณตามรายละเอียด ที่บรรยายไว้ในชาดกเดิมได้อย่างสอดคล้องกัน

จนแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์สำคัญในเรื่องพระมหาชนกนี้ สามารถเทียบเคียงได้กับความรู้ทางโหราศาสตร์ไทยด้วย          

๔. พระปรีชาสามารถในทางศิลปกรรม 

เป็นที่เทิดทูนในวงการศิลปะของไทยกันมานานแล้วว่า ทรงเป็นอัครศิลปิน ทรงมีผลงานทางศิลปกรรมส่วนพระองค์ที่สูงส่งด้วยความเป็นศิลปวิสัย (Artistic) อย่างสูง 

สำหรับในพระราชนิพนธ์ชุดนี้ แม้จะมิได้ทรงเขียนภาพประกอบส่วนใหญ่ แต่ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำ และวิจารณ์งานเขียนภาพประกอบทั้งหมดแก่ศิลปินที่เขียนถวาย ด้วยพระอัจฉริยภาพทางศิลปะที่ลุ่มลึก จนหลายๆ ครั้งก็ทรงชี้แนะถึงบางแง่มุม ที่ศิลปินผู้เชี่ยวชาญยังนึกไม่ถึงเลยครับ  

นอกจากนี้ ยังได้ทรงจัดทำแผนภูมิพยากรณ์วันเดินทางของพระมหาชนก โดยทรงสร้างภาพลายเส้น แสดงแผนที่อาณาบริเวณทั้งหมดที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ลงสเกลตามแบบมาตรฐานสากลทุกประการ


ภาพจาก http://tiwrm.haii.go.th

ในแผนภูมินั้น ตอนบนทรงบรรจุรูปพระมหาชนก และพระมณีเมขลาขณะโต้ตอบสนทนาธรรมกัน ตามแบบอย่างภาพลายเส้นของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงเขียนไว้เมื่อพ.ศ.๒๔๖๘ และยังทรงบรรจุแผนภูมิดวงชะตาทางโหราศาสตร์ไว้ด้วย  

ภาพฝีพระหัตถ์ที่สร้างขึ้น ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบที่คล้ายกันนี้ ยังปรากฏต่อมาใน ส.ค.ส.พระราชทานสำหรับปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ซึ่งทรงออกแบบได้อย่างเรียบง่าย และสมบูรณ์แบบในตัวเอง 




กล่าวคือ ได้ทรงนำภาพลายเส้นของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มาเป็นภาพประกอบหลัก  และทรงบรรจุบทสนทนาในส่วนที่สำคัญ ระหว่างพระมณีเมขลาและพระมหาชนก ไว้เตือนใจผู้ได้รับพระราชทาน ส.ค.ส.ชุดนี้ ซึ่งนั่นก็คือประชาชนไทยทุกคนครับ 

ในการจัดพิมพ์ พระมหาชนก ฉบับปกแข็งครั้งแรก ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้าง เหรียญพระมหาชนก ออกจำหน่ายพร้อมกัน มีทั้งเนื้อทองคำและเนื้อเงิน ด้านหน้าของเหรียญดังกล่าวเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ด้านหลังเป็นรูปพระมหาชนก และพระมณีเมขลา ตามแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 

เหรียญชุดนี้ ออกแบบโดย รศ.นนธิวรรธน์ จันทนะผะลิน ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม  ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 


เหรียญพระมหาชนก เนื้อทองคำ ด้านหน้าและด้านหลัง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีชัยมังคลาภิเษกเหรียญชุดนี้ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙  โดยมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์
        
ปรากฏว่า พระราชนิพนธ์พระมหาชนกฉบับปกแข็งกลายเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง จนหมดไปอย่างรวดเร็ว เป็นที่กล่าวขวัญชื่นชมยินดีทั้งในวงการหนังสือ และมหาชนทั่วไป 

ส่วนเหรียญพระมหาชนก ที่ออกจำหน่ายพร้อมหนังสือดังกล่าว ต่อมาได้มีผู้นำมาจำหน่ายกันในวงการพระเครื่องด้วยราคาที่สูงขึ้นไปอีกหลายเท่า           

ในปีต่อมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ชุดนี้เป็นฉบับปกอ่อน และย่อลงในขนาด ๑๖ หน้ายกพิเศษ แต่ยังคงพิมพ์สี่สีบนกระดาษอาร์ตทั้งเล่ม โดยออกวางจำหน่ายในราคา ๒๕๐ บาทเท่านั้น 




ปรากฏว่า กลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ของร้านหนังสือทุกแห่งในเมืองไทยเป็นเวลาหลายปีต่อมา ไม่มีหนังสือเล่มใดลบสถิติลงได้จนปัจจุบันนี้ครับ  

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ชัย ราชวัตร อัญเชิญพระราชนิพนธ์ดังกล่าวมาเขียนเป็นนิยายภาพ ตีพิมพ์ออกมาทั้่งฉบับขาวดำ และสอดสีสวยงามทั้งเล่มอีก โดยทรงมีพระราชประสงค์จะให้เข้าถึงนักอ่านที่เป็นเยาวชน 

หนังสือนิยายภาพประกอบพระราชนิพนธ์ชุดนี้ ก็กลายเป็นหนังสือขายดีอีกเช่นกัน และต่อมาก็มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Animation ด้วย    


         

สำหรับประเด็นที่ผมอยากกล่าวถึงเป็นพิเศษ ในบทความนี้ คือ ภาพของพระมณีเมขลา ในพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ทั้งฉบับปกแข็งและปกอ่อน ซึ่งเป็นผลงานของศิลปิน ๕ ท่าน คือ อ.เนติกร ชินโย, อ.เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์, ศ.ประหยัด พงษ์ดำ, อ.พิชัย  นิรันต์ และ รศ.ปรีชา เถาทอง ครับ       

อ.เนติกร ชินโย เขียนภาพพระมณีเมขลาไว้ ๑ ภาพ ในแผนที่ช่วงแรกของบทพระราชนิพนธ์ ลีลาท่วงท่าของพระมณีเมขลาของ อ.เนติกร ดูเหมือนกับภาพลายเส้นของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  มีรายละเอียดผิดกันเล็กน้อย และส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาก็มีเพียงแต่สีสันเท่านั้น 

ภาพดังกล่าวลอยอยู่เหนือแผนที่แบบสมัยใหม่ ที่แสดงสภาพทางภูมิศาสตร์ และที่ตั้งเมืองอย่างคร่าวๆ 

         

อ.เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์ เขียนภาพพระมณีเมขลาประกอบพระราชนิพนธ์ ตอนที่พระมณีเมขลาเสด็จมาพบพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่ คือภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์บทที่ ๒๑ มีเพียงภาพเดียวเท่านั้น

แต่เป็นภาพของเทพนารีที่เปี่ยมไปด้วยเส้นสี แนวความคิด และความชำนาญอย่างยิ่ง

ทิพยรูปของพระมณีเมขลาที่ลอยอยู่เหนือทะเลนั้นเบา สว่าง เปล่งประกายแห่งรัศมีอันเรืองรอง อยู่ในลีลาที่สวยงามหมดจด  งามอย่างสูงส่งและอัศจรรย์ 

นี่เป็นภาพพระมณีเมขลาที่ดีที่สุดภาพหนึ่ง เท่าที่มีอยู่ในประเทศไทยของเราครับ แม้ว่าจะไม่ใช่ภาพที่ยากที่สุด ที่ อ.เฉลิมชัยเขียนประกอบพระราชนิพนธ์ฉบับนี้ก็ตาม  
  

ภาพจาก http://thaiforhetit.blogspot.com

ศ.ประหยัด  พงษ์ดำ เขียนภาพพระมหาชนกพบพระมณีเมขลาในทะเล จนได้รับการช่วยเหลือในที่สุด โดยเขียนไว้ทั้งหมด ๒ ภาพ ประกอบบทพระราชนิพนธ์บทที่ ๒๒ และ ๒๗ 

ลักษณะการเขียนภาพของ ศ.ประหยัด นั้น ไม่เน้นความอลังการในด้านทักษะอย่าง อ.เฉลิมชัยหรอกครับ แต่ใช้เส้น สี การประกอบภาพที่เรียบง่าย ชัดเจน 

จึงแม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์เดียวกัน บรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกก็ผิดกันมากครับ

กล่าวคือ ขณะที่ภาพพระมณีเมขลาของ อ.เฉลิมชัย แสดงถึงบรรยากาศที่เป็นทิพย์ ภาพของ รศ.ประหยัด จะดูนิ่มนวล ใสสะอาด ทั้งยามที่เหาะลงมาใกล้พระมหาชนก และเมื่อประคองพระมหาชนกพาเหาะไปกรุงมิถิลานั้น ดูแฉล้มแช่มช้อย เป็นความงามอย่างไทยๆ อันบริสุทธิ์ไม่แต่งแต้ม ซึ่งเป็นแนวที่ถนัดของศิลปินผู้นี้     


ภาพจาก http://thaiforgetit.blogspot.com

อ.พิชัย นิรันต์ ก็เขียนภาพพระมณีเมขลาในพระราชนิพนธ์ตอนนี้ไว้ ๒ ภาพเช่นกัน โดยเขียนประกอบบทที่ ๒๓ และ ๒๕ 

พระมณีเมขลาของศิลปินท่านนี้ เปล่งรัศมีทั้งพระวรกายอยู่บนท้องฟ้าที่เริ่มกระจ่าง เป็นสัญญาณว่า ผลแห่งความอุตสาหะของพระมหาชนกนั้นได้เป็นที่ประจักษ์แล้ว

ตามมุมมองของผม ลีลาของพระมณีเมขลาในงานของ อ.พิชัย ดูไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับของ ๒ ท่านที่กล่าวมา แต่ก็งามอยู่ในตัวเองครับ           

ส่วน รศ.ปรีชา เถาทอง เขียนไว้ ๒ ภาพ สำหรับประกอบพระราชนิพนธ์บทที่ ๓๔ และ ๓๖ 


ภาพจาก http://thaiforgetit.blogspot.com

ภาพแรกนั้น เขียนตอนทรงอุ้มพระมหาชนกลอยอยู่ในกรอบรูปวงรี มีฉากหลังเป็นลวดลายประดิษฐ์ และภาพสัตว์น้ำต่างๆ  เป็นส่วนประกอบเบื้องบนของภาพ เมื่อพระมหาชนกครองกรุงมิถิลา 

พระมณีเมขลาของ รศ.ปรีชาในภาพนี้ ดูงดงามลงตัว ในแบบอย่างที่เรียบง่าย และโทนสีที่อ่อนหวานเป็นพิเศษครับ

ส่วนอีกภาพนั้นมีขนาดใหญ่กว่า เล่าเรื่องตอนที่ทรงพบกับพระมหาชนกในทะเล ในภาพดังกล่าวเทพนารีองค์นี้ฉลองพระองค์อย่างสวยงาม อยู่ในพระอิริยาบถที่นิ่มนวล มีพระรัศมีเปล่งออกจากพระเศียร  ดูสว่างอยู่ท่ามกลางท้องฟ้าสีสดอย่างเห็นได้ชัด


ภาพจาก http://thaiforgetit.blogspot.com

น่าสังเกตว่า เฉพาะเหตุการณ์ระหว่างพระมหาชนกและพระมณีเมขลา ในพระราชนิพนธ์ชุดนี้  มีศิลปินถึง ๔ ท่านเขียนภาพประกอบ เป็นจำนวนมากถึง ๗ ภาพ ราวกับจะเป็นการประชันฝีมือกัน เหตุการณ์อื่นในเรื่องไม่มีอย่างนี้นะครับ 

นั่นก็เพราะ เนื้อเรื่องระหว่างพระมหาชนกกับพระมณีเมขลานี้่ เป็นตอนที่สำคัญที่สุด คือเป็นตอนที่พระมหาชนกได้แสดงธรรมในเรื่องความเพียร อันเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดพระราชนิพนธ์ชุดนี้ขึ้นมานั่นเอง    

เป็นการเหลือวิสัยที่จะนำภาพทั้งหมดที่ได้บรรยายแล้ว มาให้ชมในบทความนี้ คงนำมาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ภาพทั้งหมดจะหาดูได้ในหนังสือพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ทั้งฉบับปกแข็งและปกอ่อน แต่ขณะที่เขียนบทความนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายหลังการเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ก็คงมีแต่ฉบับปกอ่อนเท่านั้นที่อาจพอหาซื้อได้          

ส่วนภาพลายเส้นพระมณีเมขลา ในนิยายภาพประกอบพระราชนิพนธ์ชุดเดียวกันนี้ของ อ.ชัย ราชวัตร  ก็เป็นลีลาเฉพาะของผู้รังสรรค์ภาพ ที่เจนจัดในด้านการเขียนการ์ตูนล้อการเมืองมาก่อน และเมื่อดูจากเนื้อเรื่องทั้งหมดแล้วก็ไม่ใช่ภาพที่มีสำคัญมากนัก

ถึงอย่างไรก็ตาม นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป บทพระราชนิพนธ์ชุดนี้ก็จะกลายเป็นหนังสือทรงคุณค่าแห่งสยามประเทศ


เป็นหนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่จักตราตรึงไว้ในประวัติศาสตร์ไทยตลอดไป ชั่วกาลนาน



.............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด




วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แมลงไสยเวท

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*



จั๊กจั่นทองคำเกาะใบไม้หยก สมัยราชวงศ์หมิง
ภาพจาก http://tychy.wordpress.com

ในวิชาไสยเวทของไทยและเอเชียแปซิฟิก มีการนำสัตว์จำพวกแมลง มาใช้ทั้งในลักษณะของสัตว์มงคล และเป็นเครื่องมือทำร้ายผู้อื่นหลายชนิดด้วยกัน

ที่ผมจะกล่าวถึงในบทความนี้ คือ แมงมุม ตัวต่อ และจั๊กจั่น

ชนชาติหนึ่งที่ถือว่าแมงมุมเป็นสัตว์มงคล คือชาวจีน คนจีนเรียกแมงมุมว่า จวีจู (蜘蛛) เขาถือกันว่าเป็นหนึ่งในสัตว์มีพิษ ๕ ชนิด ได้แก่งู กบ ตะขาบ แมงป่องหรือแมงมุม และจิ้งเหลนหรือตุ๊กแก (แล้วแต่ตำรา)

แต่ในอีกทางหนึ่งก็ถือว่า เป็นสัตว์ที่นำโชคลาภมาให้ โดยผู้ใดได้เห็นแมงมุม ผู้นั้นก็จะมีโชคดี  หรือว่าหญิงในราชสำนักคนใดได้เห็นแมงมุม ก็เชื่อกันว่าคืนนั้นเธอจะได้รับความรักจากพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน        

ความเชื่อคล้ายๆ กันนี้ก็มีในหมู่ชาวญี่ปุ่นด้วยนะครับ

คนญี่ปุ่นรุ่นเก่าๆ สักหน่อยมักจะกล่าวกันว่า หากแมงมุมไต่ตามเสื้อผ้าของบุคคลใด บุคคลนั้นจะได้รับสิ่งดีเป็นมงคลอย่างหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็จะมีข่าวดีเข้ามาในวันนั้น

คนจีนชอบอากัปกิริยาของแมงมุมที่ชักใยแล้วห้อยตัวลงมาเบื้องล่าง จึงวาดภาพสิริมงคลเลียนแบบ  เรียกว่า มงคลจากฟ้า หรือมงคลที่ฟ้าประทานมาให้ ใยแมงมุมมีความหมายถึงฟ้า ส่วนแมงมุมหมายถึงความเป็นมงคลที่มาจากฟ้า
         
ในทางไสยศาสตร์ไทย มีการนำแมงมุมมาใช้ทั้งในทางที่ให้คุณและให้โทษ วิชาแมงมุมชนิดที่ให้โทษต่อบุคคลอื่นได้นั้น เป็นสายวิชาที่เก่าแก่มากครับ มีมาตั้งแต่โบราณ โดยเขาจะเลือกใช้แมงมุมประเภทเดินล่าเหยื่อ ไม่ใช่แมงมุมประเภทชักใยดักรอเหยื่อ 

วิชาแมงมุมประเภทที่ว่านี้ เคยมีผู้บัญญัติศัพท์เรียกรวมๆ ว่า แมงมุมเพชรฆาต บ้าง แมงมุมยนต์ บ้าง   
แมงมุมจำพวกนี้ มักจะทำด้วยดินปั้น,ไม้แกะสลัก หรือหล่อด้วยโลหะ พวกที่เป็นดินปั้นนั้นมีมากที่สุด และส่วนมากจะทำขนาดใหญ่ ตัวโตประมาณมือผู้ใหญ่กางคลุมได้ก็มี

โดยมักใช้วัตถุอาถรรพณ์ที่เกี่ยวกับซากศพ เพื่อเพิ่มอานุภาพให้แรงยิ่งขึ้น ถ้าเป็นโลหะ ก็ต้องมีส่วนผสมของเหล็กขนันผี หรืออาวุธที่เคยฆ่าฟันประหัตประหารผู้คนมาก่อน

ความจริงแมงมุมประเภทนี้ ที่เป็นไสยขาว คือไม่ใช้วัตถุอาถรรพณ์ก็มี ใช้เนื้อว่านหรือโลหะที่เป็นมงคลแทน แต่ปรากฏน้อยมาก ผมเองยังไม่เคยเห็นเลยครับ เคยเห็นแต่พวกที่เป็นไสยดำ 

จุดประสงค์ที่สร้างแมงมุมประเภทนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันทรัพย์ให้พ้นจากโจรโขมย และอุบัติภัยต่างๆ นอกจากนี้ยังสร้างไว้เพื่อป้องกันคุณไสยการกระทำของผู้คิดร้ายเป็นหลัก กล่าวคือมีประโยชน์คล้ายวัวธนู-ควายธนู นั่นเอง                

บ้านใดที่มีแมงมุมประเภทนี้อยู่ ใครย่องเข้าไปลักขโมย หรือคิดร้ายต่อเจ้าของบ้าน มันจะเล่นงานทันที พวกคุณไสยการกระทำด้วยอาคมต่างๆ เมื่อเข้าไปในบริเวณบ้าน มันจะดักเอาไว้จนหมด ไม่ว่าผู้ส่งของมาจะมีวิชาดีแค่ไหน ก็ยากที่จะผ่านแมงมุมเข้าไปได้
         

แมงมุมประเภทเดินล่าเหยื่อ ที่นำรูปแบบมาทำเป็นแมงมุมเพชรฆาต หรือแมงมุมยนต์

นอกจากนี้ แมงมุมประเภทนี้ยังเตือนเจ้าของบ้านได้ด้วยนะครับ เมื่อมีอุบัติภัยต่างๆ ที่เกินความสามารถของมัน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม มันจะมาปลุกเจ้าของบ้านให้รู้ตัวเสียก่อน ด้วยการทำอาการเหมือนมีแมงมุมมาไต่ตามใบหน้าและร่างกาย ถ้าเจ้าของบ้านขี้เซามากมันก็กัดเข้าให้      

ถ้าพิจารณาจากคุณประโยชน์เท่าที่กล่าวมานี้ แมงมุมประเภทนี้ไม่จำเป็นจะต้องผูกด้วยมนต์ดำก็ได้ สายวิชาในการสร้างแมงมุมจำพวกนี้ที่เป็นไสยขาวจึงเคยมีอยู่ ดังกล่าวแล้วไงครับ 

การจะดูว่าแมงมุมเหล่านี้สร้างด้วยไสยดำไสยขาว หากไม่รู้ประวัติหรือดูเนื้อวัสดุไม่ออก ก็ให้ดูอาการที่มันทำร้ายศัตรู ถ้าเป็นไสยขาว ส่วนมากแค่หลอกให้กลัว หรือหนักหน่อยก็แค่พอให้บาดเจ็บเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นไสยดำก็เอาถึงตาย แม้พวกลักเล็กขโมยน้อยปีนเข้าบ้านมันก็ฆ่าเสีย  

แมงมุมพวกนี้จึงกลายเป็นเครื่องจักรสังหารชั้นเยี่ยม ด้วยความเงียบในการเข้าหาเหยื่อก่อนจู่โจม ซึ่งเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของมัน จนแม้เหยื่อที่เล่นทางวิชาอาคม หากไม่เก่งจริงจะไม่รู้ตัวเลย 

พวกหมอไสยดำ จึงพัฒนาแมงมุมเหล่านี้ให้กลายเป็นอาวุธ ส่งไปสังหารคนที่เป็นศัตรู หรือรับสังหารใครก็ได้ ตามแต่จะมีผู้มาว่าจ้าง  

ครูไสยศาสตร์ท่านหนึ่ง เคยเล่าให้ผมฟังว่า แมงมุมเพชรฆาตหรือแมงมุมยนต์นี้ ไม่เคยทำงานผิดพลาดเลยครับ แม้ว่ามันจะเชื่องช้ามากเมื่อเทียบกับการทำร้ายศัตรูด้วยวิธีอื่น

แต่ไม่ว่าเป็นสถานที่ที่มีการคุ้มกันด้วยอาคมไว้อย่างดีแค่ไหน มันก็เล็ดลอดเข้าไปเล่นงานเหยื่อได้ และจะทิ้งรอยเขี้ยวเล็กๆ ๒ รอยไว้ตามร่างกายของเหยื่อ เมื่อชันสูตรจะเห็นว่าเป็นรอยแมงมุมพิษกัด คนทั่วไปจึงมักเข้าใจว่าตายเพราะถูกแมงมุมพิษกัดจริงๆ ไม่ใช่แมงมุมอาคม     

นอกจากเหยื่อที่เป็นคนแล้ว บรรดาผีพราย กุมารทอง ลุูกกรอก รักยม หรือสัตว์มงคลชนิดอื่นที่ฝ่ายตรงข้ามเลี้ยงไว้ป้องกันตัว ก็ยังถูกแมงมุมยนต์ทำลายเสียก่อนที่ตัวเจ้าของจะเป็นเหยื่อในท้ายที่สุด         

นับว่ายังโชคดี ที่วิชาเช่นนี้ไม่เป็นที่แพร่หลาย หาผู้กระทำให้ได้ผลจริงได้ยากครับ แม้ในสมัยโบราณก็ตาม มิฉะนั้นจะมีคนที่ต้องประสบเคราะห์กรรม เพราะแมงมุมจำพวกนี้ เป็นจำนวนมากสุดที่จะประมาณได้ 

ปัจจุบัน วิชาการใช้แมงมุมยนต์เป็นยามเฝ้าบ้าน และเป็นเครื่องมือสังหารคู่อริ น่าจะใกล้สูญแล้ว แม้จะมีแมงมุมที่สร้างขึ้นในสายวิชาดังกล่าวคงเหลือตกทอดมาบ้าง แต่ส่วนมากก็เป็นได้เพียงโบราณวัตถุที่หมดสภาพการใช้งาน แม้กระนั้นก็ยังดูน่ากลัวมาก

ผมจำได้ว่า เมื่อแรกเห็นแมงมุมจำพวกนี้ ซึ่งในเวลาดังกล่าวยังเป็นเด็กๆ อยู่ รู้สึกกลัวจนเอาไปนอนฝันร้ายเลยละครับ            

ส่วนสายวิชาที่ให้คุณนั้น ไม่มีหลักฐานว่าเก่าแก่เท่าใดนักหรอกครับ เท่าที่รู้จักกันคือสายวิชาของ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท   

หลวงปู่ศุข เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิทยาคมเข้มขลังเป็นที่เลื่องลือ ท่านได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้มากมายหลายอย่าง แต่เคล็ดวิชาหนึ่งที่ท่านมีอยู่โดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้ ก็คือวิชา แมงมุมมหาลาภ

ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดวิชานี้แก่ หลวงปู่สุภา กันตสีโล ศิษย์รูปสุดท้ายเพียงรูปเดียวก่อนจะมรณภาพไม่นานนัก

ปฐมเหตุแห่งวิชาแมงมุมมหาลาภ หลวงปู่ศุขท่านกล่าวแก่หลวงปู่สุภาว่า

"แมงมุมเป็นสัตว์ขยันและสะอาด มันไม่ชอบออกล่าเหยื่อไปตามที่ต่างๆ เหมือนสัตว์ทั่วไป แต่มันจะคอยชักใยสร้างอาณาเขตเอาไว้เพื่อดักแมลง ใยของแมงมุมกว่าจะชักใยขนาดใหญ่ได้นั้นต้องมีความมานะพยายามอย่างยิ่ง แมงมุมจะไม่ล่าเหยื่อไปนอกเขตใยของมัน และจะไม่ไล่ให้แมลงตกใจบินหรือคลานไปติดใยของมัน แต่มันจะรออยู่กับที่จนเหยื่อหลงเข้ามาติดใยของมันเอง มันจึงจะออกมาพันซ้ำและจับกิน

ฟังง่ายๆ ก็คือ แมงมุมจะกินสัตว์ที่ถึงฆาตหรือถึงแก่วาระหมดชีวิต เรียกว่าเมื่อถึงที่ตาย หมดเวลา ก็จะเข้ามาติดใย แมงมุมไม่ต้องออกไปล่าเหยื่อก็มีเหยื่อหลงเข้ามาให้กิน

การเปิดร้านค้าขาย ก็เช่นเดียวกันกับแมงมุม คือชักใยล่อเหยื่อเอาไว้ การทำแมงมุมชักใยคือการใช้วิชาอาคมสร้างแมงมุมและใย เพื่อให้มีลูกค้ามาติดต่อ มาซื้อ มาขาย มาเปลี่ยน อย่างคึกคัก จะได้มีกำรี้กำไรสมดั่งที่คิดไว้"

วิชาแมงมุมมหาลาภ ดังที่ได้บรรยายมานี้ เราจะเห็นว่าเลือกใช้แต่แมงมุมประเภทชักใยดักรอเหยื่อนะครับ แมงมุมประเภทที่เดินล่าเหยื่อไปเรื่อยๆ หรือพวกที่ไปเลือกเกาะในเส้นทางที่เหยื่อจะเดินผ่านไปมา ประเภทแมงมุมยักษ์ชนิดขายาวๆ บนผนังห้องน้ำตามต่างจังหวัดนั้น ไม่เอามาใช้ 

ปัจจุบัน วิชาแมงมุมมหาลาภ บางทีก็เรียกกันว่า แมงมุมดักทรัพย์ ทั้งในสายของหลวงปู่ศุข และสายอื่น ยังพอพบเห็นได้บ้าง ที่นำมาให้ชมเป็นตัวอย่างในบทความนี้ มี ๒ สำนักด้วยกัน คือของ หลวงปู่สุภา กันตสีโล วัดสีลสุภาราม จ.ภูเก็ต และ หลวงพ่อวัชระ วัดถ้ำแฝด จ.กาญจนบุรี เป็นแมงมุมดักทรัพย์ที่มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ ทั้งโดยคุณวุฒิของผู้สร้าง และรูปแบบที่สร้าง   

หลวงปู่สุภา กันตสีโล ในฐานะศิษย์เพียงรูปเดียวที่ได้สืบทอดวิชาแมงมุมดักทรัพย์ของหลวงปู่ศุข ท่านได้สร้างแมงมุมดักทรัพย์ไว้หลายรุ่น รุ่นที่มีชื่อเสียงมาก คือเหรียญแมงมุมดักทรัพย์ โดยทำเป็นเหรียญชุบทองลงยา มี ๓ สี คือแดง เหลือง และน้ำเงิน ทำเลียนแบบใยแมงมุมและมีแมงมุมเกาะอยู่เบื้องล่าง  


เหรียญแมงมุมดักทรัพย์ สีน้ำเงิน ออกวัดสีลสุภาราม ภูเก็ต

เหรียญแมงมุมดักทรัพย์รุ่นนี้มีอานุภาพมากครับ ผู้นำไปใช้ต่างได้รับผลดีทุกราย แต่จะต้องเป็นคนที่ชอบแมงมุมด้วยจึงจะเห็นผลเร็วขึ้น ทางวัดออกให้บูชาเมื่อพ.ศ.๒๕๔๔ เหรียญละ ๒๐๐ บาทเท่านั้น        

นอกจากนี้  ก็ยังมีการสร้างแมงมุมดักทรัพย์ขนาดบูชา ชนิดที่เป็นประติมากรรมลอยตัวเกาะบนใยอยู่ภายในกรอบภาพ ตามรูปแบบดั้งเดิมที่ได้รับถ่ายทอดจากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และยังมีการสร้างเป็นขนาดเล็ก รวมทั้งผ้ายันต์ด้วย


ภาพจาก http://www.zoonphra.com

ปัจจุบันนี้ หลวงปู่สุภา พระเกจิอาจารย์รูปเดียวในเมืองไทย ที่สืบทอดวิชาแมงมุมมหาลาภของหลวงปู่ศุข ก็ได้มรณภาพไปแล้ว ผมไม่ทราบเหมือนกันนะครับ ว่าท่านได้ถ่ายทอดวิชาดังกล่าวนี้แก่ผู้ใดหรือไม่  ถ้าหากว่าไม่ วิชาแมงมุมสายนี้ก็คงจะสูญไปในที่สุด  

ส่วนแมงมุมดักทรัพย์ของหลวงพ่อวัชระนั้น ไม่มีรายละเอียดของสายวิชาออกมาเผยแพร่เป็นการสาธารณะหรอกครับ แต่รูปแบบนั้นสวยงามมาก คือทำเป็นแมงมุมลอยตัว รายละเอียดเหมือนแมงมุมจริงๆ มีทั้งแบบชุบทองและชุบเงิน


แมงมุมมหาลาภ ชุบทอง หลวงพ่อวัชระ วัดถ้ำแฝด

ดูจากคาถาบูชาที่แนบมา ซึ่งเป็นคาถาเรียกโชคลาภทั่วไป ก็เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่วิชาเฉพาะ หรือมีสายการสืบทอดชัดเจนอย่างหลวงปู่สุภา รวมทั้งประสบการณ์ของผู้ที่นำไปใช้ก็น้อยกว่าด้วย
         
นอกจากนี้ ยังมีสำนักอื่นอีกที่มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กันอยู่ บางสำนักทำอย่างเห็นได้ชัดว่ามิได้รับสืบทอดวิชาที่ถูกต้องมา แต่ก็พยายามกลบเกลื่อนด้วยเทคนิคแปลกๆ เช่น การระบายสี หรือการลงอักขระที่อ้างว่าเป็นอักษรอินเดีย เป็นต้น

ทั้งที่หากว่าเป็นอักษรอินเดียจริง ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับแมงมุมมหาลาภหรอกครับ เพราะสัตว์มงคลชนิดนี้เป็นวิชาของไทย มิใช่ของอินเดีย         

ส่วนแมงมุมเพชรฆาตหรือแมงมุมยนต์ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ไม่ปรากฏว่ามีสำนักใดสร้างขึ้นในปัจจุบัน

แมลงชนิดต่อไปที่มีชื่อเสียงในทางไสยเวท ก็คือ พญาต่อ


รูปเหมือนหลวงพ่อคง นั่งบนหลังต่อยักษ์ วัดแค จ.สุพรรณบุรี
ภาพจาก http://www.thailovetrip.com

ในวิชาไสยศาสตร์ไทยโบราณ มีศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งบัดนี้หาผู้กระทำได้ยากแล้ว คือ การเสกใบมะขามเป็นต่อแตน ไล่ต่อยศัตรูผู้ปองร้ายจนกระเจิงหนีไป โดยไม่ประสงค์เอาชีวิตให้เป็นเวรเป็นกรรมต่อกัน แต่ถ้าโดนมากๆ เข้าก็ถึงตายได้เหมือนกันละครับ

อันที่จริง ต่อเป็นสัตว์มงคลชนิดหนึ่ง ที่มีลำดับชั้นทางวิญญาณในขั้นสูงกว่าแมลงทั่วไป สามารถเป็นพญาสัตว์ได้ (คือสามารถเลื่อนชั้นทางวิญญาณไปเกิดเป็นสัตว์ที่มีวรรณะสูงกว่าได้) 

ดังนั้น นอกจากวิชาเสกใบมะขามเป็นตัวต่อ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับตัวต่อโดยตรงแล้ว ก็มีผู้ทรงวิทยาคมในอดีตบางท่าน นำตัวต่อมาทำเป็นอุปกรณ์ทางไสยศาสตร์ ที่ใช้ได้ผลเช่นเดียวกับแมงมุมเพชรฆาต คือ ส่งไปทำร้ายหรือฆ่าคนอื่นได้ จัดว่าเป็นมนต์ดำชนิดหนึ่งเช่นกันนะครับ บางตำราเรียกว่า หมากบิน
     
ตัวต่อที่ว่านี้ มักจะทำด้วยไม้ สำริด และโลหะอาถรรพณ์ต่างๆ รูปลักษณ์เหมือนตัวต่อจริงๆ บางทีมีจารอักขระตลอดตัว ที่ผมเคยเห็นนั้นมีขนาดใหญ่ ทำด้วยทองแดง ยาวตลอดตัวกว่า ๑ คืบ ที่ทำด้วยเนื้อดินก็เคยผ่านหูว่ามีเหมือนกัน แต่ไม่เคยเห็นจึงรับรองไม่ได้          

ตัวต่อที่ผมเคยเห็นมานั้น มีเรื่องเกี่ยวข้องพอจำมาเล่าได้เรื่องหนึ่งครับ 

กล่าวคือ ผู้เก็บไว้ในขณะนั้นตั้งสมญาว่า ต่อ ๑๔ ศพ ตามจำนวนคนที่สังเวยชีวิตให้มันไปแล้วก่อนหน้านั้น ๓ ศพในจำนวนนั้นเป็นหมอไสยเวทระดับอาจารย์ มีลูกศิษย์ลูกหาพอสมควร แต่ก็ยังพลาดท่าถูกมันทำร้ายเอาถึงแก่ชีวิตได้ 

เดชะบุญ ที่นอกจากเจ้าของเดิมแล้ว ไม่มีใครได้ใช้มันต่อมาอีก เมื่อเจ้าของเก่าตายก็เสื่อมไป เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นราวๆ ๕๐ ปีก่อนนักสะสมของแปลกท่านนั้นจะได้มาในที่สุดครับ

แต่ถึงกระนั้น กระแสพลังอันน่าสะพรึงกลัวของมันก็ยังมีอยู่ในเวลาที่ผมได้ไปเห็น จนไม่ว่าใครก็รู้สึกได้อย่างชัดเจน          

เพราะเหตุใด ที่แม้แต่ผู้เล่นทางคาถาอาคมจึงยังพ่ายแพ้ตัวต่ออาถรรพณ์

คำตอบก็คือ วิชาการฆ่าคนด้วยตัวต่อเช่นนี้ ถือว่าเป็นวิชาร้ายแรงและป้องกันได้ยากยิ่ง เนื่องจากพญาต่อที่ผูกด้วยอาคมอย่างดีแล้ว จะสามารถบินไปทำร้ายใครที่ไหนก็ได้ โดยไม่มีใครเห็นตัว และยังดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้วมเตี้ยมอืดอาดเหมือนแมงมุมด้วย

ผู้ที่เป็นเป้าหมายของตัวต่อพวกนี้ ถ้าไม่เก่งจริง หรือไม่มีสิ่งคุ้มครองแล้ว จึงย่อมจะไม่สำเหนียกก่อนที่ภัยจะถึงตัว แม้ว่าในบ้านจะเลี้ยงผีพรายเลี้ยงกุมารทองไว้ แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้จะป้องกันเจ้าของบ้านจากตัวต่ออาถรรพณ์ได้  

เช่นกรณีของตัวต่อ ๑๔ ศพที่ผมเล่าไปแล้ว หนึ่งในหมอผีที่ตายนั้น ภายในบ้านของเขายังมีรูปปั้นกุมารทองที่มีเหล็กไนต่อปักกลางใบหน้า ทิ้งไว้เป็นหลักฐานอยู่ 

แสดงว่าต่อเพชรฆาต ลงมือ "ฆ่า" กุมารทอง ก่อนจะทันเตือนเจ้าของครับ 

พูดง่ายๆ ก็คือ กุมารทองแม้จะเก่งอย่างไร แต่ถ้ามองแง่หนึ่งก็เหมือนเด็ก เด็กเล็กๆ จะสู้กับต่อแตนได้นับว่าผิดวิสัย          

ธรรมชาติของสัตว์ จะแก้กันให้ได้ผลก็ต้องใช้สัตว์เหมือนกัน 

แต่แม้เราจะมีสัตว์มงคลที่มีอานุภาพปกป้องคุ้มครองในระดับสูง อย่างแมงมุมเพชรฆาต ก็ยังไม่อาจต่อกรกับตัวต่อนี้ได้ เพราะโดยธรรมชาติ แมงมุมก็แพ้ตัวต่ออยู่แล้ว 

เว้นแต่อาคมของเกจิอาจารย์ผู้ทำแมงมุม จะอยู่ในระดับสูงกว่าผู้ทำตัวต่อ แมงมุมจึงจะซุ่มดักตะครุบตัวต่อเสียก่อนได้           

สัตว์มงคลอื่นเช่นวัวหรือควายธนู ถ้าทำมาดีจริงก็พอป้องกันได้ แต่อาจมีการเล็ดลอดได้ด้วย เพราะความว่องไวผิดกัน

สัตว์มงคลที่มีอานุภาพป้องกันตัวต่อฝ่ายไสยดำได้อย่างแน่นอน จึงมีแต่สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ครุฑ นาค ราชสีห์ หงส์ ถ้ามีสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อยู่ในบ้าน หรือพกติดตัวแล้ว ตัวต่ออาถรรพณ์ก็ไม่อาจทำอันตรายได้เลยครับ


พญาต่อหัวเสืออาคม ภาพจาก http://pralanna.com

ปัจจุบัน สายวิชาที่เกี่ยวกับตัวต่ออาถรรพณ์ประเภทนี้ จะยังคงมีอยู่มากน้อยแค่ไหน ผมไม่ทราบเหมือนกันนะครับ เคยเห็นนำมาประชาสัมพันธ์กันในบางเว็บไซต์ เรียกว่า พญาต่อหัวเสืออาคม เป็นขนาดห้อยคอ ไม่บอกแหล่งที่มา แต่ดูจากรูปแบบก็เห็นชัดว่าเป็นของเก่าอยู่นั่นเอง        

ส่วนตัวต่อที่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องรางในไสยศาสตร์ไทยเราปัจจุบันนี้ ก็เช่นเดียวกับแมงมุม คือเป็นวิชาที่มีคุณในทางเรียกทรัพย์และปกป้องคุ้มครอง ไม่ใช่วิชาทำร้ายผู้อื่นอย่างของโบราณ เรียกว่า ต่อเงินต่อทอง

และที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา น่าจะเป็นวิชาที่ หลวงพ่อจืด นิมมฺโล สวนปฏิบัติธรรมโพธิเศรษฐี จ.นครปฐม พระเกจิอาจารย์ยุคปัจจุบันเป็นผู้ริเริ่มขึ้นครับ  

หลวงพ่อจืด เป็นศิษย์ของ หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง ได้สร้างต่อเงินต่อทองขึ้นมาโดยถือเอาคุณสมบัติของแมลงชนิดนี้ ซึ่งเป็นแมลงที่ขยันทำมาหากินมาก อีกทั้งชื่อของมันก็มีความเป็นมงคลในตัว คือหมายถึงทำให้เพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ  ต่อเงินต่อทองจึงเป็นเคล็ด หมายถึงมีเงินทองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยไป


พญาต่อเงินต่อทอง เนื้อไททาเนียม หลวงพ่อจืด สวนปฏิบัติธรรมโพธิเศรษฐี
ภาพจาก http://9.chaichana.com

และตัวท่านเอง ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาวิชาเสกใบมะขามเป็นตัวต่อมาแล้ว เรียกได้ว่า เป็นปรมาจารย์ของการสร้างตัวต่ออาถรรพณ์ในปัจจุบัน ที่สามารถนำสัตว์ที่น่ากลัวชนิดนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้     

นับตั้งแต่พ.ศ.๒๕๔๓ จนถึงปัจจุบันนี้ ต่อเงินต่อทองของหลวงพ่อจืดมีการสร้างออกมาหลายรุ่น ทั้งแบบเนื้อผงซึ่งเป็นตัวต่อตัวเดียวก็มี คู่ก็มี และแบบลอยตัวทำด้วยโลหะและผงรังต่อ แบบแผ่นทำด้วยโลหะ รวมถึงแบบที่เป็นลูกอม บางรุ่นมีการฝังผลอย บางรุ่นเกาะอยู่บนหยกทรงกลม ทำเป็นจี้ห้อยคอหรือทำเป็นแหวนและกำไล ด้วยเนื้อทองขาวสวิสก็มี

ที่น่าสนใจคือ ลูกอมพญาต่อเงินต่อทองขนาดบูชา ขนาด ๒ นิ้ว รุ่นไหว้ครู ๕๑ ซึ่งนับเป็นการสร้างสัตว์มงคลชนิดนี้ในขนาดบูชาขึ้นเป็นครั้งแรก


ลูกอมพญาต่อเงินต่อทองขนาดบูชา รุ่นไหว้ครู ๕๑ ภาพจากทางวัด

แต่ผมว่าน่าเสียดายครับ ที่เป็นการสร้างแบบลูกอม ถ้าสร้างลอยตัวแบบพระบูชาหลวงพ่อจืดนั่งต่อเงินต่อทอง ก็จะถือเป็นประวัติศาสตร์ของการสร้างต่อเงินต่อทองขนาดบูชาครั้งแรกในเมืองไทยยุคปัจจุบันได้ แล้วก็คงน่ากลัวพอๆ กับตัวต่อ ๑๔ ศพที่ผมเคยเห็นมานั่นละครับ
         
ความโด่งดังของต่อเงินต่อทองหลวงพ่อจืด ทำให้มีการเผยแพร่วัตถุมงคลประเภทเดียวกันนี้ของเกจิอาจารย์สำนักอื่นให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น เช่น หลวงพ่อคง วัดแค จ.สุพรรณบุรี ที่มีรูปเหมือนของหลวงพ่อคง อดีตพระเกจิอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในวิชาอาคมสายนี้ นั่งอยู่บนพญาต่อขนาดยักษ์อยู่ในบริเวณวัด ดังภาพประกอบบทความนี้นั่นแหละครับ

ทางวัดได้สร้างพญาต่อเงินต่อทอง ด้วยผงรังต่อปิดเงินและทอง ออกให้บูชาเป็นคู่มาแล้วหลายรุ่น รุ่นล่าสุดเป็นของ มูลนิธิสมภารคง สร้างในปลายปีพ.ศ.๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ค่าบูชาเพียงคู่ละ ๓๐๐ บาทเท่านั้น รูปแบบสวยงามพอสมควร ไม่ทราบว่าจนถึงเวลานี้ ทางวัดจะมีเหลืออยู่บ้างหรือไม่


พญาต่อเงินต่อทอง วัดแค จ.สุพรรณบุรี
ภาพจาก http://www.web-pra.com
         
การเลี้ยงต่อเงินต่อทอง แม้ว่าจะเป็นสัตว์มงคลเรียกทรัพย์ ก็ไม่ควรเลี้ยงไว้ใกล้กับแมงมุม เพราะเป็นอริกัน และแมงมุมซึ่งดักโชคดักลาภเก่งกว่าต่อ อาจถูกต่อฆ่านะครับ แล้วถ้าเช่นนั้นก็จะกลายเป็นอาถรรพณ์ ทำให้ผู้บูชาสูญสิ้นโชคลาภแทน จึงควรเลือกเลี้ยงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง  

ทีนี้ก็มาถึงแมลงชนิดสุดท้ายละครับ ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ คือ จั๊กจั่น หรือที่คนไทยรุ่นเก่าเรียกว่า เรไร

ใครก็ตามที่ชอบแมลง มักจะชอบจั๊กจั่น เพราะเป็นแมลงที่สวยงามชนิดหนึ่ง แม้จะเป็นความสวยงามที่คงอยู่ได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ

เพราะช่วงชีวิตที่ยาวนานที่สุดของมัน คือระยะที่มันเป็นตัวอ่อน ซึ่งกินเวลา ๔-๖ ปี มันอาศัยอยู่ใต้ดิน ดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากไม้ ไม่มีใครเห็นตัวหรอกครับ จนกระทั่งถึงช่วงสุดท้าย มันจึงจะปีนขึ้นบนต้นไม้ ลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย ให้เราได้เห็นถึงความสวยงามของมัน

และตัวเต็มวัยทั้งหมด ก็จะจับคู่ผสมพันธุ์กัน แล้วมีชีวิตต่อไปได้อีกไม่เกิน ๒ เดือนเพื่อจะวางไข่ หลังจากตัวเมียวางไข่เสร็จ มันก็จะหมดอายุขัยตายจากไป ส่วนจั๊กจั่นตัวผู้นั้นตายไปก่อนแล้วละครับ      

ในการจับคู่ผสมพันธุ์ จั๊กจั่นตัวผู้ต้องใช้วิธีส่งสัญญาณเรียกตัวเมีย ด้วยการทำเสียงออกมาจากอวัยวะพิเศษ ซึ่งอยู่บริเวณส่วนท้องช่วงที่ต่อกับส่วนอกของมัน ซึ่งพวกเราโดยทั่วไปมักจะนึกว่ามันกรีดปีก 

อวัยวะพิเศษนี้ ทำให้เกิดเสียงดังไปได้ในระยะไกล จั๊กจั่นตัวเมียสามารถที่จะตามเสียงนั้นมาได้ถูกต้อง ต่อให้มีจั๊กจั่นตัวผู้ทำเสียงดังพร้อมๆ กันทั้งป่า ตัวเมียก็แยกออก และตามไปเฉพาะเสียงที่ถูกใจมันได้ แปลกมั้ยล่ะครับ          

เสียงจั๊กจั่นในฤดูผสมพันธุ์นั้น แม้จะหนวกหูเอาการ แต่ในทางมายาศาสตร์ มันคือเสียงแห่งความอุดมสมบูรณ์และธรรมชาติอันผาสุก 

เพราะประการแรก เป็นเสียงที่เรียกให้ตัวเมียมาหา เท่ากับเป็นพลังทางเมตตามหานิยม 

ประการต่อมา มันเป็นสื่อที่ใช้เพื่อการผสมพันธุ์ จึงเป็นพลังอำนาจแห่งความอุดมสมบูรณ์ 

และประการสุดท้าย มีแต่ป่าสมบูรณ์เท่านั้นที่จะมีจั๊กจั่นมากๆ เสียงจั๊กจั่นจึงเป็นเครื่องแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และธรรมชาติที่ร่มเย็นเป็นสุขสำหรับการใช้ชีวิตไงครับ   


ภาพจาก http://www.sciencealert.com

ด้วยพลังอำนาจและคุณสมบัติเช่นนี้ เป็นเหตุให้มีการนำจั๊กจั่นมาทำเป็นวัตถุมงคล ที่เน้นอานุภาพในทางเมตตามหานิยม และส่งเสริมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในทางโภคทรัพย์เป็นหลัก 

ส่วนคุณวิเศษในด้านอื่น เช่นการปกป้องคุ้มครองนั้น โดยหลักการแล้วหวังผลได้น้อยกว่าสัตว์มงคลชนิดอื่น เพราะธรรมชาติของจั๊กจั่นไม่ใช่สัตว์ที่เป็นผู้ล่า หรือแม้จะปกป้องตนเองก็ไม่ได้

ในไสยศาสตร์ไทย มีผู้คิดค้นวิชาจั๊กจั่นมหาลาภไว้หลายสำนักด้วยกัน แต่ไม่ได้รับความนิยม กว่าจะตกมาถึงปัจจุบันก็เป็นวิชาที่แทบจะสูญแล้ว

เท่าที่รู้จักกันเมื่อราวๆ สิบกว่าปีที่ผ่านมา เห็นจะมีแต่ของ พระอาจารย์สุนทร  ปัญญาวชิโร (หลวงพ่อเณร) อาศรมวังมัจฉาป่าช้าเกาะลอย จ.ลพบุรี เมื่อพ.ศ.๒๕๔๖ โดยใช้มวลสารหลัก คือจั๊กจั่นตายพรายจำนวน ๑๐๙ ตัว  ซึ่งผมไม่แนะนำให้ไปแสวงหามาครอบครองนะครับ เพียงแต่นำมาบันทึกไว้เท่านั้น เพราะเมื่อทำจากซากสัตว์ก็ต้องนับว่าเป็นมนต์ดำอย่างแน่นอน

ปัจจุบันก็ยังมีบางสำนัก นำซากจั๊กจั่นมาจารอักขระ ปิดทองคำเปลว และขึงให้กางปีกแบบแมลงสตั๊ฟฟ์ขายฝรั่งตามแหล่งท่องเที่ยวน่ะแหละครับ ใครอยากไปซื้อซากแมลงมาบูชาก็แล้วแต่ใจ ผมไม่สนับสนุน และไม่เคยได้ยินว่ามีคุณวิเศษอะไรด้วย

พูดถึงจั๊กจั่นจำพวกนี้แล้ว ก็ขอเสริมเกี่ยวกับ ว่านจั๊กจั่น ที่นิยมกันมากในวงการเครื่องรางของขลังไทยเมื่อราวๆ สิบกว่าปีก่อนสักหน่อยนะครับ

ความจริงก็ไม่ใช่ของวิเศษอะไรหรอกครับ มันคือตัวอ่อนของจั๊กจั่นที่ตายอยู่ในดินเพราะติดเชื้อรา แล้วเชื้อรานั้นก็งอกจากซากของมันขึ้นมาเหนือพื้นดิน คล้ายๆ ต้นพืช เพื่อส่งสปอร์ออกไปเท่านั้นเอง คนที่ไม่มีความรู้เรื่องธรรมชาติ ก็ถูกหลอกให้ซื้อซากจั๊กจั่นขึ้นราเหล่านี้ด้วยเงินเป็นพันเป็นหมื่น

แต่ก็ยังโชคดีครับ ที่มีเกจิอาจารย์ยุคปัจจุบัน คือ ท่านพ่ออาด พุทธญาโณ วัดตะพุนทอง จ.ระยอง ท่านเป็นผู้สืบทอดวิชาสาย หลวงพ่อโต วัดชากกระโดน ได้สร้างเครื่องรางจั๊กจั่นด้วยเนื้อโลหะชนิดต่างๆ ไว้อย่างสวยงามมาก คือ พญาจั๊กจั่นมหาลาภ รุ่นกลับดวง ออกให้บูชาเมื่อพ.ศ.๒๕๕๑ ตามภาพประกอบข้างล่างนี้ละครับ


พญาจั๊กจั่นมหาลาภ พ่อท่านอาด วัดตะพุนทอง
ภาพจาก http://tarad.pramai.com

นับว่าเป็นวัตถุมงคลที่สวยงามน่าใช้และน่าสะสมจริงๆ อานุภาพก็โดดเด่นทางเรียกทรัพย์ มีประสบการณ์พอสมควร แล้วก็ยังพอหาเช่าบูชาตามเว็บไซต์ต่างๆ ได้ในขณะนี้
        
ส่วนถ้าใครอยากได้เครื่องรางรูปจั๊กจั่น ขนาดตั้งโต๊ะ ลองหาเอาจากร้านขายวัตถุมงคลจีนก็ได้ครับ เพราะในมายาศาสตร์จีน จั๊กจั่นก็เป็นสัตว์มงคลที่ถูกนำมาใช้สร้างเป็นเครื่องรางของขลังเช่นกัน

ในคติจีนโบราณ จั๊กจั่น () เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ และชีวิตที่ดีในสัมปรายภพ มีการสร้างเครื่องรางรูปจั๊กจั่นหยกสำหรับใส่ปากคนตาย ปัจจุบันประเพณีนี้ได้สาบสูญไปแล้ว 

แต่วัตถุมงคลรูปจั๊กจั่นยังมีคนทำกันอยู่ และการสื่อความหมายถึงชีวิตหลังความตายก็ลดบทบาทลงไป จั๊กจั่นของชาวจีนในสมัยนี้ คงเหลือเฉพาะพลังสำหรับคนที่ยังมีชีวิต คือเสริมบารมีในด้านของความเป็นอมตะ หรืออายุยืนเท่านั้น นอกจากนั้นบางคนก็เชื่อว่าจะนำโชคลาภมาให้ด้วยครับ


จั๊กจั่นแบบพกพา แกะจากหิน Tiger Eye ฝีมือช่างจีนปัจจุบัน
ภาพจาก http://th.aliexpress.com

จั๊กจั่นที่เป็นวัตถุมงคลจีน มีทั้งแบบพกติดตัว เพื่อเสริมบารมีในด้านที่กล่าวแล้ว และแบบตั้งโต๊ะ เพื่อเสริมฮวงจุ้ย ทั้งสองแบบไม่มีการปลุกเสกแต่อย่างใด

เพราะไสยเวทจีน ใช้หลักสัญลักษณ์ศาสตร์ ที่สื่อพลังกันด้วยลักษณะของรูปภาพ ผลอาจจะไม่ชัดเจนสัมผัสได้ง่าย อย่างไสยศาสตร์ไทย แต่ถ้าชอบ ซื้อมาพกพาหรือแต่งบ้านเล่นก็ไม่เสียหายอะไรครับ


...............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด