วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559

บูชาเทพด้วยเทวตานุสสติ

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์





ใน Facebook ผมคุยกับหลายๆ ท่านอยู่เสมอนะครับ เรื่องของการนับถือองค์เทพอินเดียด้วยหลักพุทธ คือ "เทวตานุสสติ"

หลักเทวตานุสสติ อธิบายอย่างย่อที่สุดเลยนะครับ คือให้เคารพนับถือที่คุณงามความดีขององค์เทพนั้นๆ แล้วเอามาเป็นขวัญกำลังใจในการใช้ชีวิต

แต่คนไทยรู้จัก และนับถือเทพเจ้าอินเดียจากคุณวิเศษ

อีกทั้งคุ้นเคยกับการบูชาแบบฮินดู คืออ้อนวอนร้องขอ แล้วก็รอคอย คาดหวัง ว่าองค์เทพจะทรงตอบรับคำอธิษฐาน

หรือถ้าไม่ได้ผล ก็ต้องทำใจกันเท่านั้นเองครับ

ส่วนคุณงามความดีขององค์เทพ ส่วนใหญ่เรารู้จักผ่านทางเทพนิยาย ซึ่งก็ไม่ค่อยเน้นกันเท่าไหร่

แถมผมเองนี่ละครับ ยังชอบมาประกาศปาวๆ ว่าเทพนิยายมันเป็น เครื่องมือ ในการรวมลัทธิความเชื่อ เป็นเรื่องที่ควรรู้ แต่ไม่ควรหลงเชื่อว่าเป็นความจริงไปเสียทั้งหมด

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะให้เปลี่ยนมานับถือเทพเจ้าเหล่านี้ ด้วยหลักเทวตานุสสติ จึงไม่ง่าย สำหรับคนไทยทั่วไป ที่มิได้ถูกฝึกฝนอบรมให้คุ้นเคยกับการพินิจ พิเคราะห์ พิจารณ์

ยกตัวอย่างเช่น พระคเณศ




เทพยอดนิยมองค์นี้ละครับ ถ้าพูดกันเรื่องเทวตานุสสติ หลายคนก็จะตั้งคำถามกับผมว่า แล้วเราควรจะนับถือพระองค์อย่างไร?

พูดง่ายๆ คือ ถ้าแค่เอามาเป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต อันนี้ส่วนมากพอนึกภาพออกครับ

แต่ถ้าจะให้นับถือในระดับที่ลึกซึ้ง จริงจังกว่านั้น แล้วไม่คลาดเคลื่อนจากหลักพุทธด้วย หลายคนจะเริ่มนึกไม่ออก เชื่อมโยงไม่ได้

ซึ่งกรณีของพระคเณศ ผมมักตอบอย่างนี้ครับ :

๑. สำหรับคนที่ชอบเทวปกรณ์ เทพนิยาย ปุราณะต่างๆ ก็ลองสังเกตดูสิครับ ว่าเรื่องคุณงามความดีของพระคเณศในตำนานเหล่านั้น มีอะไรบ้าง

จากนั้น คุณก็เอาคุณงามความดีเหล่านั้นมาเป็นเยี่ยงอย่าง ทำตัวให้เหมือนพระคเณศ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความกตัญญู การใช้สติปัญญา-ไหวพริบ ซึ่งมีอยู่ในเทพนิยายทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ละครับ

๒. พระคเณศเป็นเทพแห่งอุปสรรคและความสำเร็จ

คนที่นับถือท่านก็ต้องมั่นใจนะครับ ว่า...ถึงเวลาที่ชีวิตมีอุปสรรค เกิดวิกฤติการณ์ เรามีเทพแห่งอุปสรรคและความสำเร็จคอยคุ้มครอง




เพราะฉะนั้น เราไม่ได้อยู่คนเดียว หรือต้องฟันฝ่าอุปสรรคตามลำพังนะครับ เรามีท่านคอยช่วยสนับสนุน ช่วยพาเราผ่านพ้นอุปสรรคทั้งปวง

จากนั้นเราต้องมุ่งสร้างกำลังใจ ต่อสู้ เอาชนะอุปสรรคที่เกิดขึ้นครับ

เราต้องคิดว่า เรามีบารมีแห่งองค์พระคเณศคอยปกปักรักษา ดังนั้น เราจึงไม่ได้ก้มหน้าก้มตาฟันฝ่าไป โดยไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่รอด

เรารอดชัวร์ครับ แต่เราต้องทำให้เต็มที่

นี่ละครับหลักคิดแบบพุทธ เอาเทวดาเป็นเครื่องเสริมกำลังใจ แล้วทำให้เต็มที่

ความขัดข้องทั้งหลายจะผ่านพ้น แล้วความสำเร็จจะตามมาแน่นอน

ไม่ใช่นับถือองค์เทพแห่งความสำเร็จ แล้วพอเกิดอุปสรรคก็นอนงอมืองอเท้า รอองค์เทพมาโปรดอย่างเดียว

แบบนั้นไม่ใช่พุทธครับ ไม่ใช่วิธีบูชาเทพที่ถูกต้อง

ยกตัวอย่างอีกสักกรณีหนึ่งนะครับ คือ พระแม่ลักษมี




เทพนารีองค์นี้ ท่านประทานพรในเรื่องของความสวยงาม ความรัก โชคดี ความร่ำรวย ความมั่งมีศรีสุข และสิริมงคล ใช่มั้ยครับ?

ซึ่งถ้าใครวิเคราะห์เป็นนะครับ จะเห็นว่า พรทุกอย่างที่ผมบรรยายมาทั้งหมดนี้น่ะ มันเป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย

๑. เมื่อรู้ว่าท่านประทานพรเรื่องความสวยงาม เสน่ห์ เมตตามหานิยม แต่ถ้าความจริงคือ คุณเป็นคนไม่สวย หน้าตาจืดชืด ทำไงล่ะครับ?

คุณก็อธิษฐาน เอาท่านเป็นกำลังใจในการ ปรับเปลี่ยนชีวิต ของคุณใหม่สิครับ

ถ้าหากว่า รูปโฉมคุณในชาติภพปัจจุบัน ไม่มีความสวยงามอะไรเลย เพราะวิบากกรรมมันส่งผลให้เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นไรครับ

สวยภายนอก คุณจะแก้ด้วยศัลยกรรมก็ได้ แต่คุณต้องเสียเงิน ต้องเจ็บตัว ทำแล้วต้องไปผ่าซ่อมทุกปี ยิ่งแก่ตัวยิ่งซ่อมแพง 

แถมยังต้องกินยาต่อเนื่อง จนสมองเพี้ยน เอ๋อๆ เหวอๆ ในที่สุดตับไตไส้พุงพังป่นปี้หมด ด้วยฤทธิ์สารเคมีสารพัดอย่าง ที่คุณฉีดและกินเข้าไป

ตามมาด้วยโรคร้าย ที่หมอเขาไม่บอกคุณหรอกครับว่า มันเป็นผลจากศัลยกรรม และยาที่เข้าไปเปลี่ยนระบบของร่างกายคุณ

เพราะฉะนั้น คุณเน้นการแก้ไขจากภายในแทนดีกว่ามั้ยครับ?

คนเราถ้าสวยมาจากข้างใน มันจะมีรัศมี หรือ aura ที่ทำให้เกิดเสน่ห์ เมตตามหานิยมออกมาภายนอกเองละครับ ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกับ สิริมงคล นั่นเอง

ดังเราจะเห็นว่า หลายคนที่หน้าตาธรรมดาๆ หรือบางคนเรียกได้ว่า ค่อนข้างน่าเกลียดด้วยซ้ำไป แต่ทำไมเมื่อมองเขา พูดคุยกับเขา อยู่ใกล้ชิดเขา แล้วรู้สึกดี ก็เพราะ aura ที่ออกมาจากข้างในนี่ละครับ

แล้วจะทำยังไงให้สวยมาจากข้างในล่ะ?

ถ้าคุณนับถือพระลักษมี คุณก็ต้องอัญเชิญพระแม่ลักษมีมาสถิตอยู่ในกลางใจ อธิษฐานขอการปกปักรักษาจากท่าน

แล้วดูแลจิตใจ ให้มีความสุข มีความพอใจกับสิ่งดีงามที่อยู่รอบตัว

ยึดมั่นในศีล ๕ ให้เป็นแนวทางปฏิบัติทุกวัน

ยึดมั่นในพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นแนวทางตอบสนองต่อบุคคล และสถานการณ์ต่างๆ 

ไม่เครียด ไม่อวดดื้อถือดี ไม่หมกมุ่น ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว สนใจแต่เฉพาะเรื่องดีงาม เรื่องที่จรรโลงใจ เรื่องบุญกุศล หรือเรื่องที่จะทำอะไรที่ดีๆ เพื่อตัวคุณเองและผู้อื่น

ส่วนร่างกาย มันจะไม่สวยงามก็ไม่เป็นไร คุณแค่เอาใจใส่เรื่องการแต่งเนื้อแต่งตัว ให้ดูดีเหมาะสม ตามรูปร่างหน้าตาของคุณ

ดูแลการกินอยู่ ขับถ่าย หลับนอน ให้สุขภาพดี พยายามกินอาหารที่เป็นธรรมชาติให้มาก กินอาหารอุตสาหกรรม หรืออาหารใส่สารเคมีให้น้อย

ออกกำลังกาย ในรูปแบบที่ได้ผลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสมอง เช่น โยคะ หรือ ไท้เก็ก (ซึ่งเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของบ้านเรา ไม่ใช่ออกกำลังกายแบบฝรั่ง หรือฟิตเนส)




คุณทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้เถอะครับ แล้วคุณจะเห็นเลยว่า พลังเมตตามหานิยมเกิดขึ้นกับคุณแล้ว

๒. ทีนี้ พอตัวคุณเองสวยออกมาจากข้างใน ผู้คนรู้สึกว่า อยู่ใกล้ชิดคุณแล้วมีความสุข ไว้ใจได้ เชื่อใจได้ว่าคุณจะไม่เป็นอันตรายกับเขา

แล้วอะไรมันจะเกิดตามมาครับ?

คำตอบคือ โชคลาภ ทรัพย์สินเงินทอง ความมั่งมีศรีสุข หรือแม้แต่ความสำเร็จในเรื่องความรักและครอบครัว

มันจะทยอยตามกันมาเองละครับ

ก็นี่ไงครับ เอาเทพมาเป็นขวัญกำลังใจ ในการปรับเปลี่ยนชีวิตตนเอง

โดยที่คุณจะต้องมั่นใจว่า คุณมีพระแม่ลักษมีอยู่กับคุณนะ ท่านเป็นเทวีผู้ทรงอานุภาพ ประทานสิ่งที่ดีงาม คุณบูชาท่านจริง และคุณตั้งใจจริงที่จะทำในทุกสิ่งที่ทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น แม้ว่ามันจะยาก

คิดให้ได้อย่างนี้ครับ แล้วลงมือทำ ทำเต็มที่เพราะคุณมั่นใจว่ามีท่านคอยคุ้มครองดูแล

แล้วคุณจะเห็นผล ยิ่งมุ่งมั่นทำจริง ยิ่งเห็นผลเร็วครับ

เพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เป็นผลมาจากเฉพาะการกระทำของคุณเท่านั้น มันยังมาจากเทวานุภาพของท่าน ที่ตอบรับพลังจิตของคุณที่มุ่งมั่นจะทำอย่างถึงที่สุดเพื่อตัวคุณเอง ภายใต้พระบารมีของท่าน




ก็เมื่อคุณดูแลร่างกายและจิตใจของคุณให้ดี พลังจิตของคุณจะดี จะแข็งแรง ตั้งสมาธินึกถึงองค์ท่าน ก็จะมีพลังเพียงพอที่จะส่งตรงให้ท่านได้รับรู้

แล้วท่านก็จะได้ประทานโอกาส ประทานหนทางที่ถูกต้อง และช่วยขจัดอุปสรรคที่คุณจะต้องพบเจอ เพื่อให้คุณประสบผลสำเร็จครับ

คนที่บูชาเทพแห่งความงาม แล้วไม่ทำให้ตัวเองงามจากภายใน

บูชาเทพแห่งความรัก แล้วไม่พยายามทำตัวให้น่ารัก

บูชาเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ แต่ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ไม่พยายามเพิ่มพูนในสิ่งที่ตนขาด ด้วยวิธีที่ถูกต้อง

เอาแต่นั่งๆ นอนๆ รอโชคลาภวาสนา จะมีพลังจิตอะไรส่งคำอธิษฐานไปถึงองค์เทพครับ?

และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เป็นสุดยอดเคล็ดลับเลยครับ

คือเมื่อบูชาเทพแบบเทวตานุสสติแล้ว ต้องรู้จักทำบุญถวายเทพที่คุณนับถืออยู่ด้วย

เรื่องนี้ ผมเขียนไว้ในหนังสือ คู่มือบูชาเทพ แล้ว ไปหาอ่านกันดูนะครับ





นี่แหละครับ เราเป็นชาวพุทธ บูชาเทพแบบไม่ออกนอกหลักพุทธ และองค์เทพก็โปรดปรานด้วย


..........................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2559

พระมณีเมขลา

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*





ปัญหาอย่างหนึ่งในทางเทวศาสตร์ไทยของเรา ก็คือ เราเป็นอารยธรรมที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการเกษตร แต่เรากลับบูชาเทพอย่างผิดเพี้ยนในเรื่องของฝนและน้ำ

ซึ่งเป็นความผิดเพี้ยนของคนยุคหลัง ไม่น่าจะเกินยุครัตนโกสินทร์นี้เอง

เพราะในชั้นแรก เรารับคติการบูชาเทพแห่งฝนและน้ำโดยตรง มาจากอินเดีย คือ พระอินทร์ และพระวรุณหรือพระพิรุณ (Varuna) ตั้งแต่สมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นอย่างน้อย ดังมีหลักฐานปรากฏตามโบราณสถานต่างๆ ในสมัยนั้น

เพียงแต่ว่า เรามิได้บูชาพระอินทร์เพื่อขอพรในด้านของความอุดมสมบูรณ์ เหมือนในศาสนาพราหมณ์ของอินเดีย เพราะตอนที่เรารับมานั้น การบูชาพระอินทร์ในแง่ดังกล่าวได้เสื่อมความนิยมไปแล้ว

พระอินทร์ในช่วงแรกสุดที่เรารับมา จึงมีความสำคัญเพียงเป็นเทพประจำทิศตะวันออก และเมื่อกลับมามีบทบาทสำคัญขึ้นอีกเมื่อเรารับศาสนาพุทธจากลังกา พระองค์ก็ไม่ใช่เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์อีกต่อไปแล้วละครับ

ส่วนพระวรุณ เรารับมาโดยเน้นการเป็นเทพประจำทิศเช่นกัน คือทิศตะวันตก ดังนั้นไม่ว่าในคติทวารวดี หรือคติขอม ที่คนไทยโบราณรับอิทธิพลมา ต่างก็รู้จักพระวรุณในฐานะเทพประจำทิศ มากกว่าจะเป็นเทพที่เกี่ยวกับท้องไร่ท้องนา

แต่ก็มีความเป็นไปได้นะครับ ว่า ในช่วงเดียวกับที่เรารับพระอินทร์ และพระวรุณมาจากอินเดีย (หรือหลังจากนั้นไม่มากนัก) เราก็น่าจะได้รับคติการบูชา พระมณีเมขลา หรือ พระมณีเมกไล จากอินเดียใต้เข้ามาด้วย

พระแม่เจ้าองค์นี้เป็นเทวีแห่งฝนและน้ำโดยแท้จริง ดังที่นักเทววิทยาคนสำคัญของไทยคือ อ.ประยูร อุลุชาฏะ หรือ พลูหลวง กล่าวว่า พระนางทรงเป็นบริวารของพระวรุณ

พระมณีเมขลา ใกล้ชิดกับคนไทยมากกว่าพระวรุณ เพราะเป็นเทพนารีในศาสนาพุทธ และมีบทบาทสำคัญยิ่ง คือเป็นเทวดาที่ทำให้การบำเพ็ญวิริยบารมีของ พระมหาชนก สัมฤทธิ์ผลเป็นที่ประจักษ์

ถ้าลองสังเกตกันดูนะครับ บรรดาวัดที่มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติ ภาพเล่าเรื่องตอนมหาชนกชาดก แทบจะทุกวัด ต้องเขียนเป็นภาพตอนเรือสำเภาล่มกลางพายุ มีรูปพระมณีเมขลาอุ้มพระมหาชนกขึ้นจากท้องทะเล




ภาพเช่นนี้ เป็นที่คุ้นเคยของคนไทยสมัยก่อน ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับวัด ตั้งแต่เกิดจนตายครับ

คนรุ่นปู่ย่าตายายของเรา จึงรู้จักพระมณีเมขลากันเป็นอย่างดี ทั้งในมหาชนกชาดก และทั้งเป็นเทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ จนแม้ต่อมาจะเหลือแต่นิทานเรื่องเมขลา-รามสูร แต่ก็ฝังตัวอยู่ในจิตวิญญาณของเกษตรกรไทยมาตลอด

แต่--ดูเหมือนจะในช่วงเวลาเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เองละครับ ที่นิทานเมขลา-รามสูร ถูกปัญญาชนผู้รู้หนังสือกำหนดให้เป็นเพียง นิทานอย่างแท้จริง

แล้วคนไทยทุกระดับเมื่อจะบูชาเทพ-เทวีแห่งน้ำ ก็หันไปบูชาพระแม่คงคาของอินเดีย

ทั้งที่พระแม่คงคา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับชาวไร่ชาวนาผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรของไทย และไม่เกี่ยวอะไรกับพิธีกรรมที่ต้องใช้น้ำใดๆ ในไสยศาสตร์ เทวศาสตร์ และพระราชพิธีต่างๆ ของไทย

เพราะจนกระทั่งสมัยอยุธยา ไทยเราไม่เคยมีข้อกำหนดที่ไหนนะครับ ว่า น้ำที่จะนำมาประกอบพิธีเหล่านั้น ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำคงคา

ในขณะที่ความเป็นจริง คือ พระแม่คงคา เป็นเทพประจำแม่น้ำในอินเดีย พระนางจะประทานพรแก่เฉพาะผู้บูชาพระนาง ณ ริมฝั่งแม่น้ำดังกล่าว หรือโดยมีน้ำจากแม่น้ำดังกล่าวเป็นสื่อเท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกัน พระวรุณกับพระมณีเมขลา จึงมีความเป็นสากลมากกว่าครับ

เฉพาะกรณีพระวรุณ เทวศาสตร์ไทยยังคงรักษาคติการบูชาพระวรุณ ในประติมานวิทยาของพระพิรุณทรงนาคจนถึงปัจจุบันนี้

ส่วนคติการบูชาพระมณีเมขลาในหมู่ชาวบ้าน แม้ว่าแทบจะสาบสูญไป แต่ก็ยังมีหลงเหลืออยู่ในชนบท

ดังที่ตัวผมเองเคยพบเห็น เมื่อหลายสิบปีมาแล้วว่า ตามชนบทไกลๆ เวลาฝนแล้ง ยังมีการเอารูปภาพเมขลาล่อแก้วมาตั้งบูชาเพื่อขอฝน




และยังมีตำราการบูชาพระมณีเมขลา สำหรับใช้ในพระราชพิธีต่างๆ ของราชสำนักด้วยครับ

ซึ่งในทางเทวศาสตร์ การบูชาเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์นั้น ถ้าบูชาเทวสตรีจะได้ผลดีและกว้างขวางกว่าเทวบุรุษ

เพราะอย่างน้อย พระวรุณทรงเป็นธรรมราช เป็นเทพแห่งสัจจะ และเป็นเทพที่ดุ จนทำให้เกิดพิธีแช่งน้ำ หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เทพเช่นนี้จะไม่ประทานพรในด้านของเสน่ห์ และเมตตามหานิยมอย่างพระมณีเมขลาหรอกครับ

แต่จากที่ผมเคยเห็นทั้งหมด ชาวบ้านที่ยังคงบูชาพระมณีเมขลา เขาเขียนเป็นภาพในท่าเหาะ ตามแบบจิตรกรรมไทย เอามาตั้งโต๊ะบูชาในท้องนา หรือที่โล่งแจ้ง ตอนที่ผมเขียนหนังสือ รัตนเทวีปกรณ์ ผมจึงแนะนำให้เอาประติมากรรมพระมณีเมขลาในท่าเหาะ (ซึ่งที่จริงทำเป็นชุดคู่กับรามสูร) มาดัดแปลงเป็นเทวรูป

ซึ่งผมเองลองทำแล้วก็ทำได้ เทวาภิเษกได้ ใช้บูชาแทนองค์พระมณีเมขลาได้ระดับหนึ่งครับ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการตีพิมพ์หนังสือ รัตนเทวีปกรณ์ ไม่นาน ผมได้รับนิมิตจากพระมณีเมขลาองค์จริง ท่านเสด็จมาประทับนั่ง ลักษณะเดียวกับในภาพประกอบบทความนี้ เครื่องทรงก็เป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นแบบคล้ายๆ ชวา




ท่านตรัสว่า ให้ทำเทวรูปท่านเป็นแบบนี้ จะได้ผลในการบูชาที่มากกว่าการไปดัดแปลงจากประติมากรรมที่ผมเคยบอกไว้ครับ

แต่กว่าจะถึงเวลาอันเหมาะสม สำหรับการสร้างเทวรูปของท่านขึ้นมาจริงๆ จังๆ ผมก็ต้องรอไปจนกระทั่งในช่วงครึ่งหลังของปีพ.ศ.๒๕๕๖ จึงจะดำเนินการได้สำเร็จ สมกับที่ตั้งใจไว้

นับเป็นครั้งแรกในเมืองไทย และ ในโลก ที่บังเกิดเทวรูปพระมณีเมขลาสำหรับบูชาอย่างแท้จริง ตามนิมิตที่พระองค์ท่านประทานมาให้ผมแต่เพียงผู้เดียว

ซึ่งในฐานะที่เป็นเจ้าพิธี ผมก็ดำเนินการเทวาภิเษกไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เท่าที่จะทำได้ ทั้งตามหลักเทวศาสตร์ และตามแบบแผนที่สืบทอดมาแต่โบราณทุกประการ

และนับเป็นความก้าวหน้าในทางเทวศาสตร์ไทย ที่เหนือกว่าเทวศาสตร์อินเดียใต้และลังกา ซึ่งยังคงบูชาพระองค์ท่านอยู่ในปัจจุบันนี้ ด้วยเทวรูปที่ไม่มีประติมานวิทยาอันแตกต่างจากพระแม่องค์อื่นๆ และหาบูชาได้ยากเต็มที

การบูชาพระมณีเมขลา โดยผ่านพระเทวรูปที่ถูกต้องนั้น จะทำให้ได้รับพรวิเศษในด้านใดบ้าง ผมจะขออธิบายโดยบทสัมภาษณ์ ระหว่างผม กับคณะศิษย์ของอาศรมอารยสรัสวดี ในพ.ศ.๒๕๕๗ ดังต่อไปนี้ครับ

คำถาม : พระมณีเมขลา ที่อาศรมอารยสรัสวดีสร้างขึ้นนั้น แตกต่างกับเครื่องรางของขลังด้านเมตตาในท้องตลาดอย่างไร?

ตอบ : ถ้าพูดถึงเครื่องรางด้านเสน่ห์ เมตตามหานิยมในท้องตลาด ล้วนแต่มีวิธีการสร้างและการให้ผลในระดับที่หลากหลายมาก เพราะฉะนั้นผมจะอธิบายเฉพาะระดับที่ใกล้เคียงกัน

นั่นคือ สายวิชาทางเสน่ห์ เมตตามหานิยม และโภคทรัพย์ที่ผมได้สืบทอดมานั้น ประกอบด้วย นางเงือก กินรี และอัปสร จะมีความใกล้เคียงกับเครื่องรางอื่นๆ มากที่สุดก็แต่เฉพาะพวกนางกวัก นางรับ และพระแม่โพสพ ซึ่งบรรดาเครื่องรางเหล่านั้นก็มีทั้งที่สำเร็จด้วยมนต์ สำเร็จด้วยยันต์ และสำเร็จด้วยการประจุวิญญาณชั้นสูง

นางเงือก กินรี และอัปสร ในสายที่ผมได้ต่อวิชามา สำเร็จด้วยมนต์และการประจุวิญญาณชั้นสูง ผลที่ได้คือเสน่ห์ เมตตาและโภคทรัพย์ ที่ไม่เร็วทันใจ เห็นผลทันตาแบบพวกพราย แม้แต่วิชาเทพอัปสรซึ่งเน้นด้านกามารมณ์สูงสุด ก็ไม่ทำให้เกิดความเพลิดเพลินในตัณหาราคะ เท่ากับพวกพราย

ทั้งนี้ก็เพราะมีการสกรีนมากกว่า ลึกซึ้งกว่า ไม่ใช่เจอะใครก็ได้กันมั่วไปหมด เรียกได้ว่าเน้นคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ

และสายวิชาสูงสุดของผมในด้านนี้ คือพระมณีเมขลา เรียกว่าแม้ในพิธีเสกนางเงือก กินรี อัปสร ก็ยังต้องมีพระมณีเมขลาเป็นองค์ครูเลยครับ

นั่นก็เพราะพลังเสน่ห์ของพระมณีเมขลานั้น สูงกว่าเทพมัจฉา หรือนางเงือก ในด้านความดึงดูดเย้ายวนใจ สูงกว่าเทพกินรี ในด้านของความเป็นที่รักที่พอใจของบุคคลอื่น และสูงกว่าเทพอัปสร ในด้านของการปลุกกิเลส เย้ายวนให้เกิดความลุ่มหลงและกำหนัด




พลังด้านเสน่ห์ เมตตามหานิยม และโภคทรัพย์ของพระมณีเมขลา เหนือกว่านางเทวดาทั้ง ๓ ที่กล่าวมา จึงเป็นเทพนารีที่มีอานุภาพด้านเมตตามหานิยมสูงสุดดังกล่าวแล้ว ในเทวศาสตร์ไทยสายที่ผมได้รับสืบทอดมา

พระมณีเมขลา จะประทานเสน่ห์ เมตตามหานิยม และโชคลาภให้แก่ปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป โดยดึงเอาสิ่งที่ดีที่มีอยู่ในตัวคนเหล่านั้นเอง มาเสริมสร้างเป็นพลังเสน่ห์ และเมตตามหานิยมที่จะช่วยดึงดูดโชคลาภและโภคทรัพย์

แต่คนที่อยากมีเสน่ห์ อยากมีเมตตามหานิยม เป็นที่รักของใครต่อใคร ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความก้าวหน้าในอาชีพการงานและเงินทองด้วยนั้น ก็ต้องไม่ใช่แค่บูชาท่านด้วยความอยากมีเสน่ห์ แต่ต้องพยายามค้นหาจุดเด่นของตนเอง และลบจุดด้อย

ซึ่งก็จะต้องรู้จัก scan ตัวเองอย่างถี่ถ้วน มิใช่ไม่ทำอะไรเลย แล้วก็บูชาไปด้วยความมั่นใจอย่างผิดๆ ว่าที่ฉันทำของฉันอยู่นี้ดีอยู่แล้ว

คนที่เทวดาจะช่วยให้มีเสน่ห์ เป็นที่รักของใครต่อใครได้นั้น จะต้องยึดศีล ๕ และพรหมวิหาร ๔ ในการดำเนินชีวิต

รวมทั้งใส่ใจในการดูแลตัวเองให้สุขภาพดีจากภายใน ซึ่งพึงมีพึงเกิดได้ จากการใส่ใจในการกินอยู่ให้ถูกต้อง และเป็นคนมองโลกในแง่ดี ละวางความทุกข์และความเครียด ฯลฯ

ถ้าภายในดี ก็จะเกิดปราณที่ดีในการเสริมเสน่ห์และเมตตามหานิยมขึ้นมาในร่างกาย ซึ่งพระมณีเมขลาก็จะหนุนตรงนี้ให้เด่นชัดขึ้น แผ่ขยายออกรอบตัวเป็นที่ประจักษ์

พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่ทำตัวไม่มีเสน่ห์ ท่านก็สร้างเสน่ห์ให้ไม่ได้ แต่คนที่พร้อมที่จะทำตัวเองให้มีเสน่ห์ ท่านช่วยได้ และคนที่มีเสน่ห์อยู่แล้ว ท่านก็จะยิ่งช่วยให้มีมากขึ้นไปอีก

คำถาม : พระมณีเมขลาเด่นด้านเสน่ห์และเมตตามหานิยม ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม สามารถบูชาพระมณีเมขลาได้หรือไม่?

ตอบ : คุณสมบัติ และอานุภาพต่างๆ ของเทวรูปจะตอบสนองผู้บูชา ตามสภาวะจิตของผู้บูชา ถ้าผู้บูชาฝักใฝ่ในทางโลก ต้องการประโยชน์ในด้านเสน่ห์และเมตตามหานิยม ก็จะได้รับพลังด้านนั้น

แต่ถ้าเป็นคนที่ฝักใฝ่ทางธรรม ไม่ต้องการผลสำเร็จในด้านเสน่ห์ และเมตตามหานิยม พระมณีเมขลาก็จะคุ้มครองให้พ้นจากอุปสรรคในการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะจะช่วยเสริมในด้านวิริยบารมี ซึ่งดีมากๆ กับคนที่สติปัญญาไม่สูงมาก แต่มุ่งค้นหาธรรมด้วยความพากเพียร ก็จะประสบผลสำเร็จเร็วขึ้น หรือช่วยให้มีโอกาสได้พบครูที่ดีก็เป็นได้

อีกนัยหนึ่ง พระมณีเมขลาจะช่วยให้เห็นผลที่ชัดเจนในการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะโดยผู้ปฏิบัติธรรมเองหรือผู้อื่น ผู้ปฏิบัติธรรมจะได้รับโอกาสในการแสดงธรรม หรือพิสูจน์ตนในทางธรรมต่อมหาชนทั้งหลาย

ดังเช่นที่พระมณีเมขลาทรงหลอกล่อ ให้พระมหาชนกได้ยืนยันถึงความเพียรของพระองค์ จนสำเร็จวิริยบารมีนั่นเอง

คำถาม : ในเมื่อพระมณีเมขลาเด่นด้านเสน่ห์และเมตตามหานิยม แล้วจะสามารถคุ้มครองผู้บูชาจากคุณไสยมนต์ดำได้มากน้อยเพียงใด?

ตอบ : เทวรูป หรือรูปเคารพของเทพทุกองค์ที่ได้รับการเทวาภิเษก หรือผ่านพิธีที่ถูกต้อง ไม่ว่าสำนักใด ย่อมจะมีพลังในการป้องกัน หรือบรรเทาคุณไสยมนต์ดำอยู่แล้ว

สำหรับพระมณีเมขลา จะเด่นเป็นพิเศษในการป้องกันและขจัดภัยจากคุณไสยในด้านของ เสน่ห์ยาแฝด หรือคุณไสยที่กระทำเพื่อผลทางด้านความลุ่มหลง และกามารมณ์เป็นหลัก รวมทั้งคุณไสยทุกชนิดที่อาศัยลมและน้ำเป็นตัวซัดเข้าสู่ร่างกาย เพราะท่านเป็นเทพผู้ควบคุมพายุฝนและน้ำ ส่วนคุณไสยชนิดอื่นก็ป้องกันได้เป็นอย่างดี

โดยปกติเทพเจ้าไม่ว่าจะเก่งทางใด ก็สามารถขจัดคุณไสยมนต์ดำได้ทุกองค์ แต่ความเร็วช้า และความหมดจดในการขจัดนั้น ต่างกันไปตามคุณสมบัติของแต่ละองค์

คำถาม : แล้วคนที่ไม่สนใจเรื่องเสน่ห์ เมตตามหานิยม และไม่ได้ปฏิบัติธรรม จะได้อะไรจากการบูชาพระมณีเมขลา?

ตอบ : พระมณีเมขลานั้นคล้ายกับพระคเณศอย่างหนึ่ง คือเป็นเทพที่เด่นในการคุ้มครองผู้ที่มีมานะบากบั่นในการทำงานต่างๆ ให้พ้นจากอุปสรรคต่างๆ ไปสู่ความสำเร็จ

ดังนั้นผู้บูชาที่กำลังลำบาก ทำงานโดยมองไม่เห็นอนาคต หรือใครที่กำลังสงสัยว่าการแสวงหาความสำเร็จของตนนั้น อยู่ในหนทางที่ถูกที่ควรหรือยัง การบูชาพระมณีเมขลาก็จะนำแสงสว่างมาให้




แต่เขาก็จะต้องมั่นใจด้วยว่าท่านสามารถประทานพรเช่นนั้นได้ ไม่ใช่เป็นคนลังเลสงสัยไปเสียทุกอย่าง หรือคนจับจดที่ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแล้วก็รอฟลุ๊ค แบบนั้นบูชาท่านไปก็เปล่าประโยชน์ ท่านเป็นเทพที่เหมาะกับคนขยัน คนอดทน คนที่มีความมุ่งมั่น และคนที่ทำอะไรทำจริง แบบนี้ท่านจะพอใจที่จะช่วย

นอกจากนั้น การที่ท่านเป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับน้ำและฝน ท่านจึงสามารถปกป้องเราจากอุบัติเหตุ รวมทั้งภัยทั้งทางน้ำทางอากาศได้

ครับ, ก็จบบทสัมภาษณ์ที่ผมยกมาเพียงเท่านี้

สำหรับใครที่คิดจะลอกเลียนแบบ ขอเตือนไว้ว่า เทวรูปพระมณีเมขลารุ่นนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของผม และอาศรมอารยสรัสวดี (ที่บัดนี้ได้ปิดตัวไปแล้ว) เท่านั้นนะครับ ไม่ใช่สิ่งที่บุคคลหรือองค์กรอื่นใดจะลอกเลียนหรือนำไปใช้ได้

และเทวรูปรุ่นนี้สร้างจำนวนน้อย เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวทางอาศรมไม่คิดว่าจะมีผู้บูชามากนัก จึงคิดแค่จะออกให้บูชากันเป็นการภายในมากกว่า ปัจจุบันจึงคงเหลืออยู่ไม่กี่องค์ ที่ผู้สนใจสามารถเช่าบูชาได้ผ่านทางตัวแทนของผม คือ ศรีคุรุเทพมนตรา แห่งนี้ครับ

ถึงเวลาที่ท่านมาโปรด คนที่มีวาสนาจริงเท่านั้นที่จะได้บูชา ตอนนี้ เหลือไม่กี่องค์เท่านั้นนะครับ ใครช้า ใครที่ยังไม่เกิดแรงบันดาลใจ ก็อดกันไป


...............................


หมายเหตุ ๑ : พระมณีเมขลา ขนาดบูชา เพนท์สี ที่เห็นในบทความนี้ จัดสร้างเพียง ๒ องค์ และมีผู้บูชาแล้ว ขณะนี้ยังมีให้บูชาเฉพาะองค์สีทอง ดู http://sacredstatue.blogspot.com/2016/03/blog-post_15.html

หากประสงค์จะบูชาองค์เพนท์สีแบบเดียวกันนี้ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม (ซึ่งจะกำหนดค่าบูชาที่แน่นอนภายในวันที่ ๒๗ มี.ค.๒๕๖๑ นี้)



หมายเหตุ ๒ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ
URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด




วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

พระพุทธรูปกับการบูชาเทพ ตอนที่ ๒

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*





จากหลักฐานทั้งหมดที่เรามีกันอยู่ พระพุทธรูปบังเกิดครั้งแรกในโลก ภายใต้ศาสตร์แห่งเทววิทยา และการสร้างพระพุทธรูปเป็นเทวศาสตร์ ไม่ใช่พุทธศาสตร์

เราจะเห็นความจริงข้อนี้จากประเทศอินเดียเอง ซึ่งเทววิทยากรีก เป็นแรงบันดาลใจให้บังเกิดพระพุทธรูป

และพัฒนาการของพระพุทธรูป ดำเนินไปพร้อมๆ กับเทวรูปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังกลายเป็นแบบอย่างและบรรทัดฐาน ที่ได้รับการสืบทอดไปทั่วเอเชียจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งก็เป็นเพราะเหตุที่ว่า การสร้างพระพุทธรูปเป็นเทวศาสตร์นั่นเอง จึงทำให้พระพุทธรูปแต่ละแบบ แต่ละปางนั้น ล้วนแต่มีคุณสมบัติ และพุทธานุภาพโดดเด่นไปตามลักษณะแห่งการแสดงออกแตกต่างกัน

เช่นเดียวกับเทวรูป ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นของเทพองค์เดียวกัน แต่ถ้าหากว่ามีลีลาท่าทาง หรือ มุทรา” (Mudra : ภาษามือ) ที่แตกต่างกันแล้ว ก็ย่อมมีคุณสมบัติ และเทวานุภาพที่แตกต่างกันออกไปในรายละเอียด

เพราะว่าในทางเทวศาสตร์นั้น ประติมานวิทยา (Iconography) ของรูปเคารพ ไม่ว่าจะเป็นลีลาท่าทาง ภาษามือ ตลอดจนสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่ในมือหรือบนส่วนหนึ่งส่วนใดของเทวรูป นอกจากจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเทวรูปนั้น มีเรื่องราว คุณสมบัติ มีภาวะ มีอานุภาพในด้านใดแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถใช้พลังอำนาจในลักษณาการนั้นๆ ผ่านเทวรูปนั้นได้อีกด้วยครับ

พระพุทธรูปก็เช่นกัน

มุทราหรือลีลาท่าทางของพระพุทธรูป หรือแม้แต่เครื่องประกอบ เช่น รัศมี (ประภามณฑล) บัลลังก์ ซุ้มเรือนแก้ว ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้คุณสมบัติ และพุทธานุภาพ ของพระพุทธรูปแต่ละองค์สำแดงออกมาได้ และสำแดงออกในลักษณะที่หลากหลายเช่นกัน




นี่คือความจริงอย่างหนึ่ง ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปครับ

ส่วนการที่จะบรรยายว่า พระพุทธรูปปางใด มีคุณสมบัติและพุทธานุภาพอย่างไร ผมเห็นว่า คงเป็นเรื่องยืดยาวเกินไปสำหรับบทความนี้

แต่ก็อาจกล่าวได้โดยสังเขปว่า ปางต่างๆ ของพระพุทธรูป มีที่มาจากเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติฉันใด คุณสมบัติ และพุทธานุภาพของพระพุทธรูปปางนั้นๆ ก็ย่อมมีความสอดคล้อง กับเหตุการณ์ดังกล่าวฉันนั้นละครับ

เช่น พระพุทธรูปปางสมาธิ จะมีพุทธานุภาพเกื้อหนุนให้ผู้บูชาได้รับความสงบเย็น มีจิตผ่องแผ้วเป็นสมาธิ ถ้าเป็นผู้บำเพ็ญทางวิปัสสนากรรมฐาน ก็บรรลุฌานในลำดับต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

หรือพระพุทธรูปปางรำพึง ก็มีพุทธานุภาพเกื้อหนุนให้ผู้บูชามีสติยั้งคิด รู้จักที่จะไตร่ตรอง พบวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วยหนทางที่ถูกที่ควร เป็นต้น

ข้อสำคัญ พุทธานุภาพอันเกิดจากพระพุทธรูปปางต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ให้ผลแก่ผู้สักการบูชาได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญ ถวายเครื่องสังเวยบูชา และอธิษฐานขอพรอย่างที่พึงกระทำกับเทวรูป

เพราะในทรรศนะทางพุทธศาสนานั้น ถือว่าการอ้อนวอนร้องขอไม่ใช่นิสัยของชาวพุทธ

โบราณาจารย์จึงได้คิดค้นวิธีการเป็นอันมาก ในการกระทำให้พระพุทธรูปมีพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลสิริมงคลในด้านต่างๆ แก่ผู้บูชาได้เอง โดยผู้บูชาไม่ต้องกระทำพิธีกรรมหรือบนบานใดๆ ดังกล่าว

แต่การที่จะบูชาพระพุทธรูปให้ได้ผลเช่นนี้ มีเงื่อนไขอยู่ ๔ ประการ ครับ

-พระพุทธรูปองค์นั้นสร้างถูกต้องตามแบบแผนทางศิลปกรรม

-พระพุทธรูปองค์นั้นผ่านพิธีพุทธาภิเษกที่ถูกต้อง

-พระพุทธรูปองค์นั้นได้รับการประดิษฐานในที่อันควร

-ผู้บูชากระทำการปฏิบัติบูชาถูกต้อง

ข้อหลังสุดนี้หมายถึง ผู้บูชาประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอย่างหนึ่ง, ผู้บูชามีความคิดเห็นต่อพุทธานุภาพ อย่างเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างหนึ่ง 

และผู้บูชาหวังผลสำเร็จ ในกิจกรรมที่สอดคล้องกับปางของพระพุทธรูปที่บูชานั้น อีกอย่างหนึ่ง

พูดง่ายๆ คือ ผู้บูชาจะต้องมั่นใจว่า พระพุทธรูปนั้นมีพุทธานุภาพอื่นๆ นอกเหนือจากการเป็นเครื่องเตือนสติ ให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นครับ
  
การบูชาพระ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่มุ่งหวังความสำเร็จนี้ สำคัญมากนะครับ




แม้เราอาจพูดอย่างกำปั้นทุบดินได้ว่า พระพุทธรูปไม่ว่าปางใด ย่อมเป็นสื่อแห่งความดีงาม การที่เราจะลงมือปฏิบัติ ไม่ว่าเรื่องใดที่สอดคล้องกับหลักธรรมที่พระพุทธองค์สั่งสอน ก็ควรจะได้รับการเกื้อหนุนจากพุทธานุภาพอยู่แล้ว

เช่นสมมุติว่า เราหวังความเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพในทางที่เป็นสัมมาอาชีวะ เราจะบูชาพระพุทธรูปปางใด ก็น่าจะได้รับผลแห่งพุทธคุณช่วยให้เราสมหวังด้วยกันทั้งนั้น มิใช่หรือ?

พูดอย่างนั้นก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมดหรอกครับ

เพราะถ้าลองบูชาพระในปางที่เหมาะกับเรื่องที่เราต้องการ เราจะพบว่าเราได้รับสำเร็จในเรื่องนั้นๆ เร็วกว่าการบูชาพระพุทธรูปปางไหนก็ได้

และการประดิษฐานพระพุทธรูปกับเทวรูปในสถานที่เดียวกัน จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ครับ

เพราะในทางเทวศาสตร์นั้น ถือว่าพระพุทธรูปเป็นสื่อของพลังแห่งความดีงามชั้นสูงสุด เทวรูปต่างๆ ก็เป็นสื่อของพลังแห่งความดีงาม ในระดับที่ลดหลั่นลงมา

แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียด การประดิษฐานพระพุทธรูปร่วมกับเทวรูป ก็ใช่ว่าจะกระทำกันได้ตามอำเภอใจ ไม่ต้องมีหลักมีเกณฑ์อะไรเลยนะครับ

เพราะเมื่อพุทธานุภาพของพระพุทธรูปนั้นมีจริง และแตกต่างกันไปในแต่ละปางจริง พุทธานุภาพที่ไม่เหมือนกันของพระพุทธรูปแต่ละปางนั้น ก็ย่อมต้องส่งผลกระทบ ต่อเทวานุภาพของเทวรูปที่อยู่ใกล้เคียงในลักษณะที่แตกต่างกันไปด้วย

ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปบางแบบ สามารถเกื้อหนุนเทวานุภาพของเทวรูปได้เป็นอย่างดี

พระพุทธรูปบางแบบ ก็สามารถประดิษฐานร่วมกับเทวรูปได้โดยไม่มีผลใดๆ ต่อกัน เข้าทำนองต่างคนต่างอยู่ ดังที่ได้กล่าวแล้วในบทความก่อนหน้านี้

ในขณะที่พระพุทธรูปบางแบบ อาจแผ่พุทธานุภาพข่มเทวรูป จนเทวรูปนั้นไม่สามารถสำแดงเทวานุภาพได้อย่างเต็มที่เลยก็ได้
         
ข้อหลังนี้ บางท่านอาจจะถามว่ามีด้วยหรือ?

ก็ต้องขอตอบว่ามี และสามารถพบเห็นได้ตามร้านค้า หรือบ้านคนทั่วไปที่บูชาพระพุทธรูปและเทวรูปไว้ในสถานที่บูชาเดียวกันด้วยครับ

โดยผู้บูชานั้นมักจะพบว่า เมื่อบูชาเทพในลักษณะเช่นนั้นแล้ว ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร หรือได้ผลไม่เต็มอานุภาพขององค์เทพ แม้ว่าจะบูชาเทวรูปที่ผ่านการเทวาภิเษกมาแล้วอย่างถูกต้องก็ตาม
         
นั่นก็เพราะตามหลักการทางเทวศาสตร์แล้ว เมื่อประดิษฐานเทวรูปไว้กับพระพุทธรูปที่มิได้มีคุณสมบัติส่งเสริมกัน องค์เทพซึ่งมีทิพยฐานะต่ำกว่าพระพุทธเจ้า ย่อมไม่สามารถใช้เทวอำนาจผ่านเทวรูปนั้นอย่างเต็มที่ได้นั่นเองครับ



         
ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางเทวศาสตร์โดยมากจึงแนะนำว่า ผู้บูชาเทพเจ้าควรจะตั้งแท่นบูชาองค์เทพแยกต่างหากจากพระพุทธรูป

และถ้าเป็นเทพในศาสนาใด ก็ให้ประดิษฐานร่วมกับเทพในศาสนาเดียวกันนั้น มิให้คละศาสนา

นี่เป็นกฎพื้นฐานทางเทวศาสตร์ ซึ่งบ้านที่มีฐานะเพียงพอ มีที่ทางเพียงพอก็คงไม่ยากที่จะทำเช่นนั้นหรอกครับ

แต่ถ้าเป็นบ้านซึ่งประสงค์จะบูชาทั้งพระและเทพ แต่ไม่มีที่ทางพอจะแบ่งเป็นห้องพระสำหรับจัดแท่นบูชาหลายๆ แท่นได้ เช่นเป็นบ้านเล็กๆ หรือห้องพักส่วนบุคคลจำพวกแมนชั่น อพาร์ตเมนท์ หอพัก และร้านค้า จะทำอย่างไรล่ะครับ? ก็จำเป็นที่จะต้องบูชาพระพุทธรูปและเทวรูปไว้ด้วยกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่บูชาเทพ ก็ควรบูชาพระพุทธรูป ที่สามารถส่งเสริมเทวานุภาพของเทวรูปได้อย่างสอดคล้องและสมบูรณ์ที่สุด

ซึ่งเป็นเหตุให้ผมนำมาเขียนเป็นบทความนี้ละครับ

โดยถ้าจะว่ากันตามแนวทางของท่านศรี วิชยภารตี พระพุทธรูปเช่นนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ

๑.ไม่ข่มพลังของเทวรูป

คือเมื่อประดิษฐานร่วมกันในสถานที่บูชาเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ไม่แผ่พุทธานุภาพข่มเทวรูป จนเทวรูปไม่สามารถสำแดงเทวานุภาพได้เต็มที่

๒. สามารถส่งเสริม เกื้อหนุนพลังของเทวรูป ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ในระดับที่สมบูรณ์

คือเมื่อประดิษฐานเทวรูปไว้ร่วมกับพระพุทธรูปองค์นั้นแล้ว เทวรูปสามารถตอบรับการบูชาได้เต็มอานุภาพขององค์เทพ

บางทีถึงขนาดที่ว่า เทวรูปที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ คือสร้างหรือผ่านการเทวาภิเษกไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อนำมาบูชาร่วมกับพระพุทธรูปองค์นั้นแล้ว กลับศักดิ์สิทธิ์ขึ้น กลายเป็นเทวรูปที่สมบูรณ์ได้ ก็มีนะครับ

๓. นอกจากไม่ข่มเทวรูป ทั้งยังส่งเสริมพลังของเทวรูปแล้ว ยังจะต้องมีพุทธานุภาพที่ยึดโยงจิตของผู้บูชาเทพ ให้ดำเนินไปในทางที่เป็นสัมมาศรัทธา

คือ ขัดเกลาผู้บูชาเทพให้มีความคิดที่ถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผล ตั้งอยู่บนหลักแห่งความเป็นจริงในการบูชาเทพ ไม่หลงทางไขว้เขวหลุดออกนอกกรอบ ไปเป็นความงมงาย

พระพุทธรูปอันมีคุณสมบัติดังกล่าวมานี้ มีรูปแบบที่สรุปอย่างง่ายๆ ได้ว่า (จดไว้เลยนะครับ)

-เป็นพระพุทธรูปปางประทับนั่ง จะนั่งห้อยพระบาท นั่งขัดสมาธิเพชร หรือขัดสมาธิราบก็ได้ทั้งนั้น

แต่ไม่ใช่ปางยืน ปางลีลา หรือปางไสยาสน์

-เป็นพระพุทธรูปที่มีการประดับตกแต่ง เช่นพระพุทธรูปทรงเครื่อง และพระพุทธรูปที่ทำจีวรลายดอกพิกุล

-เป็นพระพุทธรูปที่มีรัศมีหรือประภามณฑล ซึ่งจะเป็นแบบทึบหรือโปร่งก็ได้

-เป็นพระพุทธรูปที่มีฉากหลัง หรือแผ่นหลังซึ่งมีลักษณะทึบหรือโปร่งก็ได้

แต่ไม่ใช่ทำเป็นซุ้มโปร่ง ที่มีลักษณะเป็นกรอบล้อมองค์พระ อย่างซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธชินราช หรือซุ้มของพระนิรันตราย




เพราะเหตุใดละครับ จึงต้องเป็นเฉพาะปางที่ประทับนั่ง?

คำตอบก็คือ ลักษณาการของรูปเคารพที่ประทับนั่งนั้น ในทางเทวศาสตร์ถือว่า ให้กำลังในด้านความความสงบและมั่นคง ซึ่งจะช่วยเสริมความหนักแน่นมั่นคงของเทวานุภาพ

พระพุทธรูปที่มีการประดับตกแต่ง ก็สอดคล้องกับเทวานุภาพในด้านของความอลังการ ความเจริญก้าวหน้า และยศถาบรรดาศักดิ์
 
พระพุทธรูปที่มีรัศมีหรือประภามณฑล ก็ให้กำลังในด้านของการปรับแต่งกระแสเทวานุภาพ ของเทวรูปที่อยู่ใกล้ให้ชัดเจนขึ้น สะอาดขึ้น

พระพุทธรูปที่มีฉากหลังหรือแผ่นหลังแบบทึบ ก็ให้กำลังในด้านของความมั่นคงเช่นกันครับ ในขณะที่แบบฉลุโปร่ง สามารถหนุนกำลังของเทวรูปในด้านของความอลังการ

แต่ฉากหลังประเภทซุ้มเรือนแก้วนั้น สวยงามก็จริง แต่มิได้ส่งเสริมอะไรกับเทวรูปเลยครับ

เพราะมีลักษณะเป็นกรอบล้อมพระพุทธรูป ให้แบ่งแยกออกจากเทวรูปและรูปเคารพอื่นๆ เข้าทำนองต่างคนต่างอยู่นั่นเอง

แน่นอนว่า พระพุทธรูปซึ่งเข้าข่ายดังที่ผมบรรยายมานี้ ปัจจุบันมีการสร้างกันบ่อยๆ ครับ จึงไม่เป็นการยากที่จะแสวงหามาบูชา

แต่ที่ผ่านการทดลองมาแล้วว่าดีที่สุด จากประสบการณ์ของผมเอง และคนอื่นๆ ที่นำหลักการเดียวกันนี้ไปปฏิบัติ มีอยู่ ๓ ปาง ครับ ได้แก่

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา แบบที่กระทำวิตรรกะมุทราทั้งสองพระหัตถ์ ซึ่งจะมีประภามณฑล หรือแผ่นหลัง หรือไม่มีก็ได้




พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี คือพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่าปางมหาจักรพรรดิ




พระพุทธรูปนาคปรก แบบที่พังพานของนาคที่ปรกอยู่ด้านหลังนั้นเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน แบบนาคปรกศรีวิชัยและนาคปรกเขมร ไม่ใช่แบบไทยรัตนโกสินทร์ จะเป็นปางสมาธิ หรือปางมารวิชัยก็ได้




ความสอดคล้องเกื้อหนุนกัน ระหว่างพระพุทธรูปทั้ง ๓ ปางนี้กับเทวรูป ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นครับ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปขนาดบูชา ขนาดตั้งหน้ารถ หรือแม้แต่ขนาดห้อยคอ โดยจะทำด้วยวัสดุอะไรก็ได้ทั้งนั้น

และการประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นนี้ ไม่ว่าเพียงปางใดปางหนึ่ง หรือทั้ง ๓ ปาง ก็สามารถแก้ไขพลังของแท่นบูชาเดิมที่เสียสมดุลย์ อันเนื่องมาจากการประดิษฐานพระพุทธรูปที่ไม่สอดคล้องกับเทวรูปได้ทันที โดยไม่จำเป็นจะต้องประดิษฐานแทนพระประธานที่มีอยู่เดิมเลยครับ

ขอให้ตั้งอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของโต๊ะหมู่ หรือแท่นบูชาทั้งหมด เท่านั้นเป็นพอ 

เว้นเสียแต่ว่า พระประธานองค์เดิมนั้นจะมีขนาดเล็กกว่า หรือทำด้วยวัสดุซึ่งมีคุณสมบัติเป็นรองกว่า (เช่น ซิลิกา) หรือมีพิมพ์ทรงที่บกพร่องกว่าเท่านั้น จึงควรเปลี่ยนเอาพระปางใดปางหนึ่งใน ๓ ปางนี้ เป็นพระประธานแทน

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรจำอยู่ว่า การประดิษฐานเทวรูปใดๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับการบูชาพระพุทธรูปทั้ง ๓ ปางนี้ ขนาดของเทวรูปองค์ดังกล่าว จะต้องไม่ใหญ่ไปกว่าพระพุทธรูปด้วยนะครับ

เพราะถ้าเทวรูปมีขนาดใหญ่กว่าพระพุทธรูป ความสอดคล้องกันก็ลดลงไงครับ

ใครที่ยังมิได้ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระ จะประดิษฐานพระพุทธรูปปางใดปางหนึ่งใน ๓ ปางนี้เป็นพระประธาน แล้วประดิษฐานเทวรูปตามความศรัทธาของตนเอง ก็ทำได้ตามกำลังทรัพย์ 

แต่ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ผมกล่าวแล้ว คือมีพื้นที่บูชาจำกัดเท่านั้นนะครับ จึงควรจะจัดรวมกัน

ถ้ามีพื้นที่บูชามาก ถึงอย่างไรก็ควรจัดแยกแท่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็นเทพที่บูชาร่วมกับพระพุทธรูปปางนั้นๆ ได้ดีเพียงใดก็ตาม


............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด