วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

พระพุทธรูปกับการบูชาเทพ ตอนที่ ๒

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*





จากหลักฐานทั้งหมดที่เรามีกันอยู่ พระพุทธรูปบังเกิดครั้งแรกในโลก ภายใต้ศาสตร์แห่งเทววิทยา และการสร้างพระพุทธรูปเป็นเทวศาสตร์ ไม่ใช่พุทธศาสตร์

เราจะเห็นความจริงข้อนี้จากประเทศอินเดียเอง ซึ่งเทววิทยากรีก เป็นแรงบันดาลใจให้บังเกิดพระพุทธรูป

และพัฒนาการของพระพุทธรูป ดำเนินไปพร้อมๆ กับเทวรูปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังกลายเป็นแบบอย่างและบรรทัดฐาน ที่ได้รับการสืบทอดไปทั่วเอเชียจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งก็เป็นเพราะเหตุที่ว่า การสร้างพระพุทธรูปเป็นเทวศาสตร์นั่นเอง จึงทำให้พระพุทธรูปแต่ละแบบ แต่ละปางนั้น ล้วนแต่มีคุณสมบัติ และพุทธานุภาพโดดเด่นไปตามลักษณะแห่งการแสดงออกแตกต่างกัน

เช่นเดียวกับเทวรูป ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นของเทพองค์เดียวกัน แต่ถ้าหากว่ามีลีลาท่าทาง หรือ มุทรา” (Mudra : ภาษามือ) ที่แตกต่างกันแล้ว ก็ย่อมมีคุณสมบัติ และเทวานุภาพที่แตกต่างกันออกไปในรายละเอียด

เพราะว่าในทางเทวศาสตร์นั้น ประติมานวิทยา (Iconography) ของรูปเคารพ ไม่ว่าจะเป็นลีลาท่าทาง ภาษามือ ตลอดจนสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่ในมือหรือบนส่วนหนึ่งส่วนใดของเทวรูป นอกจากจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเทวรูปนั้น มีเรื่องราว คุณสมบัติ มีภาวะ มีอานุภาพในด้านใดแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถใช้พลังอำนาจในลักษณาการนั้นๆ ผ่านเทวรูปนั้นได้อีกด้วยครับ

พระพุทธรูปก็เช่นกัน

มุทราหรือลีลาท่าทางของพระพุทธรูป หรือแม้แต่เครื่องประกอบ เช่น รัศมี (ประภามณฑล) บัลลังก์ ซุ้มเรือนแก้ว ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้คุณสมบัติ และพุทธานุภาพ ของพระพุทธรูปแต่ละองค์สำแดงออกมาได้ และสำแดงออกในลักษณะที่หลากหลายเช่นกัน




นี่คือความจริงอย่างหนึ่ง ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปครับ

ส่วนการที่จะบรรยายว่า พระพุทธรูปปางใด มีคุณสมบัติและพุทธานุภาพอย่างไร ผมเห็นว่า คงเป็นเรื่องยืดยาวเกินไปสำหรับบทความนี้

แต่ก็อาจกล่าวได้โดยสังเขปว่า ปางต่างๆ ของพระพุทธรูป มีที่มาจากเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติฉันใด คุณสมบัติ และพุทธานุภาพของพระพุทธรูปปางนั้นๆ ก็ย่อมมีความสอดคล้อง กับเหตุการณ์ดังกล่าวฉันนั้นละครับ

เช่น พระพุทธรูปปางสมาธิ จะมีพุทธานุภาพเกื้อหนุนให้ผู้บูชาได้รับความสงบเย็น มีจิตผ่องแผ้วเป็นสมาธิ ถ้าเป็นผู้บำเพ็ญทางวิปัสสนากรรมฐาน ก็บรรลุฌานในลำดับต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

หรือพระพุทธรูปปางรำพึง ก็มีพุทธานุภาพเกื้อหนุนให้ผู้บูชามีสติยั้งคิด รู้จักที่จะไตร่ตรอง พบวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วยหนทางที่ถูกที่ควร เป็นต้น

ข้อสำคัญ พุทธานุภาพอันเกิดจากพระพุทธรูปปางต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ให้ผลแก่ผู้สักการบูชาได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญ ถวายเครื่องสังเวยบูชา และอธิษฐานขอพรอย่างที่พึงกระทำกับเทวรูป

เพราะในทรรศนะทางพุทธศาสนานั้น ถือว่าการอ้อนวอนร้องขอไม่ใช่นิสัยของชาวพุทธ

โบราณาจารย์จึงได้คิดค้นวิธีการเป็นอันมาก ในการกระทำให้พระพุทธรูปมีพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลสิริมงคลในด้านต่างๆ แก่ผู้บูชาได้เอง โดยผู้บูชาไม่ต้องกระทำพิธีกรรมหรือบนบานใดๆ ดังกล่าว

แต่การที่จะบูชาพระพุทธรูปให้ได้ผลเช่นนี้ มีเงื่อนไขอยู่ ๔ ประการ ครับ

-พระพุทธรูปองค์นั้นสร้างถูกต้องตามแบบแผนทางศิลปกรรม

-พระพุทธรูปองค์นั้นผ่านพิธีพุทธาภิเษกที่ถูกต้อง

-พระพุทธรูปองค์นั้นได้รับการประดิษฐานในที่อันควร

-ผู้บูชากระทำการปฏิบัติบูชาถูกต้อง

ข้อหลังสุดนี้หมายถึง ผู้บูชาประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอย่างหนึ่ง, ผู้บูชามีความคิดเห็นต่อพุทธานุภาพ อย่างเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างหนึ่ง 

และผู้บูชาหวังผลสำเร็จ ในกิจกรรมที่สอดคล้องกับปางของพระพุทธรูปที่บูชานั้น อีกอย่างหนึ่ง

พูดง่ายๆ คือ ผู้บูชาจะต้องมั่นใจว่า พระพุทธรูปนั้นมีพุทธานุภาพอื่นๆ นอกเหนือจากการเป็นเครื่องเตือนสติ ให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นครับ
  
การบูชาพระ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่มุ่งหวังความสำเร็จนี้ สำคัญมากนะครับ




แม้เราอาจพูดอย่างกำปั้นทุบดินได้ว่า พระพุทธรูปไม่ว่าปางใด ย่อมเป็นสื่อแห่งความดีงาม การที่เราจะลงมือปฏิบัติ ไม่ว่าเรื่องใดที่สอดคล้องกับหลักธรรมที่พระพุทธองค์สั่งสอน ก็ควรจะได้รับการเกื้อหนุนจากพุทธานุภาพอยู่แล้ว

เช่นสมมุติว่า เราหวังความเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพในทางที่เป็นสัมมาอาชีวะ เราจะบูชาพระพุทธรูปปางใด ก็น่าจะได้รับผลแห่งพุทธคุณช่วยให้เราสมหวังด้วยกันทั้งนั้น มิใช่หรือ?

พูดอย่างนั้นก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมดหรอกครับ

เพราะถ้าลองบูชาพระในปางที่เหมาะกับเรื่องที่เราต้องการ เราจะพบว่าเราได้รับสำเร็จในเรื่องนั้นๆ เร็วกว่าการบูชาพระพุทธรูปปางไหนก็ได้

และการประดิษฐานพระพุทธรูปกับเทวรูปในสถานที่เดียวกัน จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ครับ

เพราะในทางเทวศาสตร์นั้น ถือว่าพระพุทธรูปเป็นสื่อของพลังแห่งความดีงามชั้นสูงสุด เทวรูปต่างๆ ก็เป็นสื่อของพลังแห่งความดีงาม ในระดับที่ลดหลั่นลงมา

แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียด การประดิษฐานพระพุทธรูปร่วมกับเทวรูป ก็ใช่ว่าจะกระทำกันได้ตามอำเภอใจ ไม่ต้องมีหลักมีเกณฑ์อะไรเลยนะครับ

เพราะเมื่อพุทธานุภาพของพระพุทธรูปนั้นมีจริง และแตกต่างกันไปในแต่ละปางจริง พุทธานุภาพที่ไม่เหมือนกันของพระพุทธรูปแต่ละปางนั้น ก็ย่อมต้องส่งผลกระทบ ต่อเทวานุภาพของเทวรูปที่อยู่ใกล้เคียงในลักษณะที่แตกต่างกันไปด้วย

ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปบางแบบ สามารถเกื้อหนุนเทวานุภาพของเทวรูปได้เป็นอย่างดี

พระพุทธรูปบางแบบ ก็สามารถประดิษฐานร่วมกับเทวรูปได้โดยไม่มีผลใดๆ ต่อกัน เข้าทำนองต่างคนต่างอยู่ ดังที่ได้กล่าวแล้วในบทความก่อนหน้านี้

ในขณะที่พระพุทธรูปบางแบบ อาจแผ่พุทธานุภาพข่มเทวรูป จนเทวรูปนั้นไม่สามารถสำแดงเทวานุภาพได้อย่างเต็มที่เลยก็ได้
         
ข้อหลังนี้ บางท่านอาจจะถามว่ามีด้วยหรือ?

ก็ต้องขอตอบว่ามี และสามารถพบเห็นได้ตามร้านค้า หรือบ้านคนทั่วไปที่บูชาพระพุทธรูปและเทวรูปไว้ในสถานที่บูชาเดียวกันด้วยครับ

โดยผู้บูชานั้นมักจะพบว่า เมื่อบูชาเทพในลักษณะเช่นนั้นแล้ว ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร หรือได้ผลไม่เต็มอานุภาพขององค์เทพ แม้ว่าจะบูชาเทวรูปที่ผ่านการเทวาภิเษกมาแล้วอย่างถูกต้องก็ตาม
         
นั่นก็เพราะตามหลักการทางเทวศาสตร์แล้ว เมื่อประดิษฐานเทวรูปไว้กับพระพุทธรูปที่มิได้มีคุณสมบัติส่งเสริมกัน องค์เทพซึ่งมีทิพยฐานะต่ำกว่าพระพุทธเจ้า ย่อมไม่สามารถใช้เทวอำนาจผ่านเทวรูปนั้นอย่างเต็มที่ได้นั่นเองครับ



         
ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางเทวศาสตร์โดยมากจึงแนะนำว่า ผู้บูชาเทพเจ้าควรจะตั้งแท่นบูชาองค์เทพแยกต่างหากจากพระพุทธรูป

และถ้าเป็นเทพในศาสนาใด ก็ให้ประดิษฐานร่วมกับเทพในศาสนาเดียวกันนั้น มิให้คละศาสนา

นี่เป็นกฎพื้นฐานทางเทวศาสตร์ ซึ่งบ้านที่มีฐานะเพียงพอ มีที่ทางเพียงพอก็คงไม่ยากที่จะทำเช่นนั้นหรอกครับ

แต่ถ้าเป็นบ้านซึ่งประสงค์จะบูชาทั้งพระและเทพ แต่ไม่มีที่ทางพอจะแบ่งเป็นห้องพระสำหรับจัดแท่นบูชาหลายๆ แท่นได้ เช่นเป็นบ้านเล็กๆ หรือห้องพักส่วนบุคคลจำพวกแมนชั่น อพาร์ตเมนท์ หอพัก และร้านค้า จะทำอย่างไรล่ะครับ? ก็จำเป็นที่จะต้องบูชาพระพุทธรูปและเทวรูปไว้ด้วยกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่บูชาเทพ ก็ควรบูชาพระพุทธรูป ที่สามารถส่งเสริมเทวานุภาพของเทวรูปได้อย่างสอดคล้องและสมบูรณ์ที่สุด

ซึ่งเป็นเหตุให้ผมนำมาเขียนเป็นบทความนี้ละครับ

โดยถ้าจะว่ากันตามแนวทางของท่านศรี วิชยภารตี พระพุทธรูปเช่นนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ

๑.ไม่ข่มพลังของเทวรูป

คือเมื่อประดิษฐานร่วมกันในสถานที่บูชาเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ไม่แผ่พุทธานุภาพข่มเทวรูป จนเทวรูปไม่สามารถสำแดงเทวานุภาพได้เต็มที่

๒. สามารถส่งเสริม เกื้อหนุนพลังของเทวรูป ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ในระดับที่สมบูรณ์

คือเมื่อประดิษฐานเทวรูปไว้ร่วมกับพระพุทธรูปองค์นั้นแล้ว เทวรูปสามารถตอบรับการบูชาได้เต็มอานุภาพขององค์เทพ

บางทีถึงขนาดที่ว่า เทวรูปที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ คือสร้างหรือผ่านการเทวาภิเษกไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อนำมาบูชาร่วมกับพระพุทธรูปองค์นั้นแล้ว กลับศักดิ์สิทธิ์ขึ้น กลายเป็นเทวรูปที่สมบูรณ์ได้ ก็มีนะครับ

๓. นอกจากไม่ข่มเทวรูป ทั้งยังส่งเสริมพลังของเทวรูปแล้ว ยังจะต้องมีพุทธานุภาพที่ยึดโยงจิตของผู้บูชาเทพ ให้ดำเนินไปในทางที่เป็นสัมมาศรัทธา

คือ ขัดเกลาผู้บูชาเทพให้มีความคิดที่ถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผล ตั้งอยู่บนหลักแห่งความเป็นจริงในการบูชาเทพ ไม่หลงทางไขว้เขวหลุดออกนอกกรอบ ไปเป็นความงมงาย

พระพุทธรูปอันมีคุณสมบัติดังกล่าวมานี้ มีรูปแบบที่สรุปอย่างง่ายๆ ได้ว่า (จดไว้เลยนะครับ)

-เป็นพระพุทธรูปปางประทับนั่ง จะนั่งห้อยพระบาท นั่งขัดสมาธิเพชร หรือขัดสมาธิราบก็ได้ทั้งนั้น

แต่ไม่ใช่ปางยืน ปางลีลา หรือปางไสยาสน์

-เป็นพระพุทธรูปที่มีการประดับตกแต่ง เช่นพระพุทธรูปทรงเครื่อง และพระพุทธรูปที่ทำจีวรลายดอกพิกุล

-เป็นพระพุทธรูปที่มีรัศมีหรือประภามณฑล ซึ่งจะเป็นแบบทึบหรือโปร่งก็ได้

-เป็นพระพุทธรูปที่มีฉากหลัง หรือแผ่นหลังซึ่งมีลักษณะทึบหรือโปร่งก็ได้

แต่ไม่ใช่ทำเป็นซุ้มโปร่ง ที่มีลักษณะเป็นกรอบล้อมองค์พระ อย่างซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธชินราช หรือซุ้มของพระนิรันตราย




เพราะเหตุใดละครับ จึงต้องเป็นเฉพาะปางที่ประทับนั่ง?

คำตอบก็คือ ลักษณาการของรูปเคารพที่ประทับนั่งนั้น ในทางเทวศาสตร์ถือว่า ให้กำลังในด้านความความสงบและมั่นคง ซึ่งจะช่วยเสริมความหนักแน่นมั่นคงของเทวานุภาพ

พระพุทธรูปที่มีการประดับตกแต่ง ก็สอดคล้องกับเทวานุภาพในด้านของความอลังการ ความเจริญก้าวหน้า และยศถาบรรดาศักดิ์
 
พระพุทธรูปที่มีรัศมีหรือประภามณฑล ก็ให้กำลังในด้านของการปรับแต่งกระแสเทวานุภาพ ของเทวรูปที่อยู่ใกล้ให้ชัดเจนขึ้น สะอาดขึ้น

พระพุทธรูปที่มีฉากหลังหรือแผ่นหลังแบบทึบ ก็ให้กำลังในด้านของความมั่นคงเช่นกันครับ ในขณะที่แบบฉลุโปร่ง สามารถหนุนกำลังของเทวรูปในด้านของความอลังการ

แต่ฉากหลังประเภทซุ้มเรือนแก้วนั้น สวยงามก็จริง แต่มิได้ส่งเสริมอะไรกับเทวรูปเลยครับ

เพราะมีลักษณะเป็นกรอบล้อมพระพุทธรูป ให้แบ่งแยกออกจากเทวรูปและรูปเคารพอื่นๆ เข้าทำนองต่างคนต่างอยู่นั่นเอง

แน่นอนว่า พระพุทธรูปซึ่งเข้าข่ายดังที่ผมบรรยายมานี้ ปัจจุบันมีการสร้างกันบ่อยๆ ครับ จึงไม่เป็นการยากที่จะแสวงหามาบูชา

แต่ที่ผ่านการทดลองมาแล้วว่าดีที่สุด จากประสบการณ์ของผมเอง และคนอื่นๆ ที่นำหลักการเดียวกันนี้ไปปฏิบัติ มีอยู่ ๓ ปาง ครับ ได้แก่

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา แบบที่กระทำวิตรรกะมุทราทั้งสองพระหัตถ์ ซึ่งจะมีประภามณฑล หรือแผ่นหลัง หรือไม่มีก็ได้




พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี คือพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่าปางมหาจักรพรรดิ




พระพุทธรูปนาคปรก แบบที่พังพานของนาคที่ปรกอยู่ด้านหลังนั้นเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน แบบนาคปรกศรีวิชัยและนาคปรกเขมร ไม่ใช่แบบไทยรัตนโกสินทร์ จะเป็นปางสมาธิ หรือปางมารวิชัยก็ได้




ความสอดคล้องเกื้อหนุนกัน ระหว่างพระพุทธรูปทั้ง ๓ ปางนี้กับเทวรูป ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นครับ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปขนาดบูชา ขนาดตั้งหน้ารถ หรือแม้แต่ขนาดห้อยคอ โดยจะทำด้วยวัสดุอะไรก็ได้ทั้งนั้น

และการประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นนี้ ไม่ว่าเพียงปางใดปางหนึ่ง หรือทั้ง ๓ ปาง ก็สามารถแก้ไขพลังของแท่นบูชาเดิมที่เสียสมดุลย์ อันเนื่องมาจากการประดิษฐานพระพุทธรูปที่ไม่สอดคล้องกับเทวรูปได้ทันที โดยไม่จำเป็นจะต้องประดิษฐานแทนพระประธานที่มีอยู่เดิมเลยครับ

ขอให้ตั้งอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของโต๊ะหมู่ หรือแท่นบูชาทั้งหมด เท่านั้นเป็นพอ 

เว้นเสียแต่ว่า พระประธานองค์เดิมนั้นจะมีขนาดเล็กกว่า หรือทำด้วยวัสดุซึ่งมีคุณสมบัติเป็นรองกว่า (เช่น ซิลิกา) หรือมีพิมพ์ทรงที่บกพร่องกว่าเท่านั้น จึงควรเปลี่ยนเอาพระปางใดปางหนึ่งใน ๓ ปางนี้ เป็นพระประธานแทน

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรจำอยู่ว่า การประดิษฐานเทวรูปใดๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับการบูชาพระพุทธรูปทั้ง ๓ ปางนี้ ขนาดของเทวรูปองค์ดังกล่าว จะต้องไม่ใหญ่ไปกว่าพระพุทธรูปด้วยนะครับ

เพราะถ้าเทวรูปมีขนาดใหญ่กว่าพระพุทธรูป ความสอดคล้องกันก็ลดลงไงครับ

ใครที่ยังมิได้ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระ จะประดิษฐานพระพุทธรูปปางใดปางหนึ่งใน ๓ ปางนี้เป็นพระประธาน แล้วประดิษฐานเทวรูปตามความศรัทธาของตนเอง ก็ทำได้ตามกำลังทรัพย์ 

แต่ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ผมกล่าวแล้ว คือมีพื้นที่บูชาจำกัดเท่านั้นนะครับ จึงควรจะจัดรวมกัน

ถ้ามีพื้นที่บูชามาก ถึงอย่างไรก็ควรจัดแยกแท่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็นเทพที่บูชาร่วมกับพระพุทธรูปปางนั้นๆ ได้ดีเพียงใดก็ตาม


............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

4 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่ดีจริงๆ คะ

    ตอบลบ
  2. พระพุทธชินราชกับองค์เทพจะเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ แต่ก็ไม่มีผลกระทบกับองค์เทพใช่มั้ยคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช่ค่ะ ไม่มีผลกระทบแน่นอน เพียงแต่ไม่หนุนกำลังขององค์เทพเท่านั้นเองค่ะ ถ้าตั้งแยกแท่นกันก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น