วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เทวสถานในเมืองไทย

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาแรกๆ ที่เข้ามาสู่เมืองไทย โดยชาวฮินดูเป็นผู้นำเข้ามาโดยตรง

พร้อมกับการมาติดต่อค้าขาย และการลงหลักปักฐาน ในดินแดนคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทย ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี

ซึ่งยังคงปรากฏซากเทวสถานขนาดใหญ่ รวมทั้งโบราณวัตถุประเภทเทวรูปต่างๆ กระจัดกระจายอยู่ในภูมิภาคส่วนนี้เป็นจำนวนมาก
         
ตามคติฮินดู การสร้างเทวาลัยนั้น จะสร้างไว้ในชุมชน เมือง หรืออาณาจักร ก่อนจะสร้างที่อื่นนอกเหนือจากนั้น

และถ้ามีภูเขาก็สร้างบนภูเขา แล้วเอาภูเขานั้นเป็นศูนย์กลางของเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเทวาลัยในคติไศวะนิกาย ที่นับถือพระศิวะมหาเทพเป็นใหญ่ เนื่องจากพระศิวะนั้นประทับอยู่บนเขาไกรลาส


โบราณสถานหมายเลข ๔ เขาคา นครศรีธรรมราช

ลักษณะเช่นนี้ปรากฏ ณ กลุ่มเทวสถานที่สำคัญที่สุดในภาคใต้ คือ แหล่งโบราณคดีเขาคา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ประกอบด้วยเทวาลัยที่ค้นพบแล้วถึง ๕ หลัง บ่อน้ำโบราณ และสระน้ำ ๓ สระ ซึ่งน่าจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนฮินดูขนาดใหญ่ในบริเวณนี้ครับ

เข้าใจว่า เทวาลัยบนเขาคา อาจจะสร้างโดยชาวอินเดียจากที่ราบสูงเดคข่าน และเป็นเทวาลัยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คืออาจจะเก่าถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒
         
จากภาคใต้ เทวสถานฮินดูก็ปรากฏเพิ่มขึ้น ในอารยธรรมทวารวดีทางภาคตะวันออก ดังเช่นที่เมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

ศาสนาฮินดู กับศาสนาพุทธเถรวาท อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในช่วงเวลานี้ และจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้น เมื่ออิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรแผ่เข้ามา

ซากเทวสถานฮินดู ที่สร้างภายใต้อิทธิพลทางศิลปะและสถาปัตยกรรมขอม ปรากฏในรูปปราสาทหินมากมายหลายแห่งทางภาคอีสานของไทย

ที่เก่าที่สุดคือ ปราสาทหินภูมิโพน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ มีอายุเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ 

ส่วนที่มีชื่อเสียงรู้จักกันมาก ก็เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ และ ปราสาทหินเขาพระวิหาร หรือ เทวาลัยศรีสิขเรศวร จ.ศรีษะเกศ
         

ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

เทวาลัย หรือปราสาทหินเหล่านี้ แต่ละแห่ง ย่อมหมายถึงศูนย์กลางของบ้านเมืองที่รายล้อมอยู่ ทำหน้าที่เป็นทั้งศูนย์กลางทางจิตใจ และทางการเมือง เนื่องจากเป็นเครื่องเสริมอำนาจของชนชั้นปกครองด้วยอย่างหนึ่ง

และในยุคโบราณกาลนั้น ศาสนากับการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกันได้
         
แต่ก่อนอื่น เราจะต้องเข้าใจเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ในขณะนั้นว่า ทั่วทั้งดินแดนที่เป็นประเทศไทยของเรา ในสมัยนั้น ยังไม่มีการแบ่งแยกประเทศ หรือเขตแดนกัน ตามที่เราทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้นะครับ

สมัยนั้น ทั่วทั้งประเทศไทยมีแต่เมืองเล็กๆ ที่ต่างก็ก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นแห่งๆ ในลักษณะของ นครรัฐ

ประชาชนในรัฐเหล่านั้น ก็มิได้มีความรู้สึกว่าตนเป็นคนไทย คนลาว คนเขมรอย่างที่พวกเรารู้สึก แต่จะรู้สึกว่าตนเป็นชาวนครรัฐแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น
         
ในขณะที่ทางด้านการเมือง รัฐเหล่านี้ก็อาจรวมกลุ่มเข้าด้วยกันอย่างหลวมๆ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกัน

กลุ่มนครรัฐที่มีขนาดเล็ก ก็อาจต้องส่งส่วย หรือเครื่องราชบรรณาการ เพื่อแสดงความอ่อนน้อมแก่รัฐที่ใหญ่กว่าบ้าง  

แต่ก็มิได้หมายความว่า การทำอย่างนั้นแสดงถึงการเป็นประเทศราช หรือว่ารัฐที่ใหญ่กว่าจะต้องส่งข้าราชการมาปกครอง หรือมีอำนาจโดยตรงเหนือนครรัฐเหล่านี้
         
เพียงแต่เมื่อรับเครื่องราชบรรณาการ รัฐที่ใหญ่กว่าก็จะให้การยอมรับสิทธิ์ในราชบัลลังก์ ของกษัตริย์ในรัฐขนาดเล็ก และความช่วยเหลือทางทหาร หรือการคุ้มครองเป็นสิ่งตอบแทนครับ

และประเพณีที่ปฏิบัติกันในรัฐที่ใหญ่กว่า ก็จะได้รับความนิยมนำไปปฏิบัติกันในบ้านเล็กเมืองน้อยด้วย
         
ดังนั้น แม้ว่ารัฐเล็กๆ หลายแห่งในภาคอีสาน จะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประเทศราชของอาณาจักรขอม

แต่รัฐเล็กๆ เหล่านี้ก็ย่อมมีพุทธสถาน หรือเทวสถานเป็นของตนเอง ซึ่งสร้างตามแบบประเพณีขอม

นั่นก็คือ ปราสาทหินต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน ตามที่ปรากฏในปัจจุบันไงครับ

เพราะว่าศาสนสถานเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางของรัฐ เทวาลัยที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากเพียงใด จึงยิ่งแสดงให้เห็นความสำคัญ และปริมณฑลแห่งอำนาจของบ้านเมืองที่เทวาลัยนั้นตั้งอยู่เพียงนั้น

      
ปราสาทหินเขาพระวิหาร หรือ เทวาลัยศรีสิขเรศวร

และเพราะความผูกพันใกล้ชิดทางการเมือง และวัฒนธรรมกับอาณาจักรขอม ความรุ่งเรืองของเทวาลัยฮินดูแบบขอมในเมืองไทย จึงขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ในอาณาจักรขอมมากที่สุด

ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ของอารยธรรมขอมนั้น ศาสนาประจำราชสำนัก มักจะแทนที่กันอยู่เสมอระหว่างศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายาน

ดังนั้นปราสาทหินในเมืองไทยทั้งหมด จึงมีทั้งเทวสถาน และพุทธสถานเช่นเดียวกับในเขมร สุดแต่ว่าจะสร้างในสมัยที่กษัตริย์ขอมทรงนับถือศาสนาอะไร

และพอกษตริย์ขอมเปลี่ยนรัชกาล เปลี่ยนศาสนา เทวาลัยและพุทธสถานบางแห่ง ก็พลอยถูกเปลี่ยนไปด้วยก็มี

เท่าที่ปรากฏ เทวสถานฮินดูในไทย ส่วนมากเป็นไศวะนิกายเช่นเดียวกับในเขมรครับ
         
จนกระทั่งรัชสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ความตกต่ำอย่างมากที่สุดก็เกิดขึ้นกับเทวาลัยฮินดูแบบขอม ทั้งในเขมรและในเมืองไทย


ปรางค์ศรีเทพ เมืองโบราณศรีเทพ  จ.เพชรบูรณ์

ดังปรากฏว่าเทวาลัยที่เมืองศรีเทพ ทั้ง ปรางค์ศรีเทพ และ ปรางค์สองพี่น้อง ถูกพยายามเปลี่ยนแปลงเป็นพุทธสถาน เทวรูปต่างๆ ถูกทำลายและฝังดิน

หลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แม้ว่าศาสนาฮินดูจะกลับมามีบทบาทในภูมิภาคนี้อีก แต่ก็มิได้รุ่งเรืองเท่าเดิมอีกต่อไปแล้วละครับ

เช่นเดียวกับในภาคใต้ของเมืองไทย ที่ศาสนาฮินดูต้องหลีกทางให้ศาสนาพุทธเถรวาท นิกายลังกาวงศ์ ที่เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

แต่ถึงกระนั้น สายตระกูลพราหมณ์ทางภาคใต้ โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช ก็ยังสืบทอดกันไม่ขาดระยะ

พราหมณ์ที่สืบเชื้อสายจากชาวทมิฬเหล่านี้แหละครับ ที่จะได้เป็นกำลังสำคัญที่ไปช่วยสถาปนาความมั่นคงทางเทวศาสตร์ ให้กับกรุงรัตนโกสินทร์ในภายภาคหน้า

สำหรับรัฐใหม่ๆ ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นท่ามกลางความเสื่อมของวัฒนธรรมขอม ดังเช่นสุโขทัยนั้น เข้าใจว่าในระยะแรกๆ เทวาลัยฮินดูยังมีความสำคัญอยู่มากนะครับ

เพราะจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏ สุโขทัยมิใช่พุทธนครอย่างบริสุทธิ์ ดังที่เราเข้าใจกันมาแต่ก่อน

ผู้เชี่ยวชาญเทววิทยาอินเดีย เช่น ไมเคิล ไรท์ กล่าวว่า วัดที่สำคัญทั้งหมดในสุโขทัย ล้วนไม่มีหลักฐานว่า สร้างก่อนสมัย พระมหาธรรมราชาลิไท

ขณะที่วัดบางแห่งที่มีมาก่อนหน้านั้น คือ วัดศรีสวาย ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า เป็นเทวาลัยไศวะนิกายมาก่อนที่จะถูกดัดแปลงเป็นวัด


วัดศรีสวาย เชื่อว่า มาจากชื่อเดิมคือ "เทวาลัยศรีศิวายะ"

นอกจากนี้ยังมี ศาลตาผาแดง ซึ่งยังคงเป็นเทวสถานแห่งหนึ่ง ในกรุงสุโขทัยจนตลอดยุคสุโขทัย

และ ปรางค์เขาปู่จ่า ซึ่งมีอายุเก่าถึงสมัยศิลปะบาปวน (พุทธศตวรรษที่ ๑๖) ก็น่าจะเป็นเทวาลัยที่มีการใช้งานยาวนานตลอดยุคสุโขทัยอีกแห่งหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน ณ เมืองศรีสัชนาลัย อันเป็นเมืองคู่กับสุโขทัยตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ก็มีเทวาลัยเดิม ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นวัดในเวลาต่อมา คือ วัดเจ้าจันทร์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง อันเป็นศูนย์กลางของศรีสัชนาลัยครับ


วัดเจ้าจันทร์ ศรีสัชนาลัย

ไมเคิล ไรท์ แสดงทรรศนะว่า ศาสนาพุทธและวัดแทบทั้งหมด ทวีความสำคัญขึ้นเหนือศาสนาฮินดูอย่างแท้จริงในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งประกาศพระองค์เป็น ธรรมราชา และทรงอุปถัมภ์ศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์อย่างเต็มที่ที่สุด

จึงเป็นเหตุให้ หอเทวาลัยมหาเกษตร  ซึ่งเป็นเทวสถานของพราหมณ์ประจำราชสำนักสุโขทัย ถูกกำหนดโดยพระราชโองการในพระมหาธรรมราชาลิไท ให้สร้างขึ้นในป่านอกกำแพงเมือง

ทั้งที่เทวาลัยซึ่งกษัตริย์สร้างนั้น แต่เดิมจะต้องอยู่ในเมืองเสมอครับ

ทั้งเทวสถานดังกล่าว ยังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง อันเป็นทิศอัปมงคลที่สุดในคติฮินดูเสียด้วย


หอเทวาลัยมหาเกษตร หรือ เทวาลัยเกษตรพิมาน จ.สุโขทัย

นี่อาจนับเป็นหลักฐานอันเป็นรูปธรรม ของการลดบทบาทของศาสนาฮินดู ซึ่งแท้ที่จริง เป็นเครื่องมือสนับสนุนพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างสำคัญ และเป็นระบบมาก่อน

โดยที่ความเชื่อใหม่ คือศาสนาพุทธ ยังมิได้หยั่งรากลงสู่สังคมสุโขทัย อย่างเข้มแข็งเพียงพอ และไม่เอื้ออำนายต่อการบริหารราชการแผ่นดินมากเท่า

ไมเคิล ไรท์ จึงมองว่า อาจเป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ภายในรัฐสุโขทัยไม่มีความมั่นคง จนทำให้ต้องตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาในที่สุด

ในขณะที่ทางอยุธยานั้น แม้จะนับถือศาสนาพุทธเป็นหลักเหมือนกัน แต่ก็ได้ใช้ศาสนาฮินดูเป็นเครื่องส่งเสริมพระราชอำนาจของกษัตริย์ ให้เป็นสมมติเทวราชอย่างได้ผล ทำให้กรุงศรีอยุธยาสามารถยืนหยัดอยู่ได้เป็นเวลาถึง ๔๑๗ ปี

เทวสถานแห่งกรุงศรีอยุธยา เคยตั้งอยู่ ณ บริเวณที่เป็น ศาลพระกาฬ ติดกับศาลหลักเมืองพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบันนี้ครับ

ก่อนที่ตัวศาลเดิม จะถูกดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานในพ.ศ.๒๑๗๙ ซึ่งพระราชพงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดฯ ให้รื้อเทวสถานเดิมย้ายขึ้นไปสร้างใหม่ยังชีกุน


ศาลหลักเมืองพระนครศรีอยุธยา
ซากอาคารด้านหน้าคือ ศาลพระกาฬ ซึ่งสร้างบนพื้นที่ที่เคยเป็นเทวสถาน

และอันที่จริงแล้ว แนวความคิดดังกล่าวก็มิได้ล่มสลายไป กับการเสียกรุงครั้งที่ ๒ แต่ยังคงใช้ได้ผลมาตลอดศตวรรษแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

กล่าวสำหรับการสร้างเทวาลัย แม้เป็นสิ่งที่เราได้รับมาจากอินเดียและเขมร แต่เทวาลัยตามแบบของไทยเราจริงๆ นั้น ก็มีคติการสร้าง และลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไปเหมือนกันนะครับ

ดังเช่นในหนังสือ ตำรับนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเวลานี้แน่ใจกันว่าแต่งในรัชกาลที่ ๓

ผู้ประพันธ์ได้อธิบายลักษณะของเทวสถานตามคติไทยไว้อย่างละเอียด ซึ่งถึงแม้จะมุ่งให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นคติสุโขทัย แต่ในการเขียน ก็พรรณนาไปตามสภาพที่เป็นอยู่ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นหลัก

เพราะฉะนั้น เทวสถานตามอุดมคติของไทยเราจริงๆ จึงควรจะมีลักษณะดังปรากฏในข้อความต่อไปนี้ :

อันพระเทวสถานนั้นมีสามอย่าง คือสถานพระสยมภูวนาถนั้นหนึ่ง สถานพระนารายณ์นั้นหนึ่ง สองสถานนี้พราหมณ์พิธีทั้งห้าชาติ มีชาติไวยธึก เป็นต้น ย่อมนับถือกระทำการสักการบูชา และสถานพระเทวกรรมอีกสถานหนึ่งนั้น เป็นที่นับถือแห่งพราหมณชาติพฤฒิบาศย่อมกระทำสังเวยบวงสรวงตามตำรับพระคชกรรม

อันสถานเทวรูปทั้งสามสถานดังกล่าวนี้ ก็ย่อมวิจิตรไปด้วยเลขาเขียนวาดเป็นลวดลายต่างๆ มีศาลารายเป็นที่อาศัยแลโรงมานพสำหรับพราหมณ์ทั้งหลายนั่งสาธยายมนตร์ แล้วก็แวดวงไปด้วยกำแพงแก้วเป็นบริเวณวัด พื้นลานรายรื่นโรยทรายพรรณอันขาว ปลูกต้นพฤกษเวฬูเป็นพญาไม้ ปลูกต้นชุมแสงต้นระงับเป็นไม้บริวาร ปลูกทั้งพรรณไม้ดอกเจ็ดอย่างไว้บูชาในการพิธีทุกๆ แห่ง


สถานพระคเณศ และสถานพระนารายณ์
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ พระนคร

และพระเทวสถานแห่งใดที่กว้างขวางเป็นสถานใหญ่ก็มีศิลากระทำเป็นไกรลาสบรรพต มีรูปศิวลึงค์ตั้งอยู่บนยอดภูผา ล้วนหล่อด้วยทองสัตตะโลหะสูงแปดศอกบ้าง สิบศอกบ้าง ในเชิงบรรพตนั้นก็ล้อมด้วยเขื่อนเสาศิลามีลายแลสีต่างๆ แล้วก็มีปัญจมหาสระน้ำใสสะอาด ปลูกบัวสัตยบุษย์สระหนึ่ง บัวสัตบรรณสระหนึ่ง บัวเผื่อนสระหนึ่ง บัวลินจงสระหนึ่ง บัวจงกลนีสระหนึ่ง สำหรับพราหมณ์เชิญปัญจมหานทีมีเบญจปทุมลอยมาสรงพระเป็นเจ้าแล้ว แลรินน้ำลงสู่สังข์นำไปโปรดมหาชนซึ่งกระทำการมงคลต่างๆ

แลพระเทวรูปซึ่งพราหมณ์ทั้งหลายนับถือนั้น คือพระปรเมศวร พระพิฆเนศวร พระวิษณุจักร พระอุมาภควดี พระลักษมี พระมเหศวรี พระเทวกรรม พระสัทธาสิทธิ์ พระอิสีสิงค์ พระไพศพ พระพลเทพย์ แลเทวรูปมีพระนามนอกจากนี้ก็ยังมากโดยคัมภีร์ต่างๆ มีปางพระปรเมศวรเหยียบมงกุฎพรหมแลมูลาคนีเป็นต้น ล้วนแต่หล่อด้วยทองเนาวโลหะ สัตตะโลหะ ที่ใหญ่นั้นสูง ๔ ศอก ๖ ศอก ที่เล็กนั้นประมาณเท่าผลสะบ้าวานร ในระหว่างใหญ่และเล็กนั้นก็มีโดยมาก จะกำหนดศอกนิ้วนั้นมิได้

ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการสร้างเทวสถานขึ้นใหม่เพียง ๒ แห่ง คือ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ พระนคร และ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ นครศรีธรรมราช


หอพระอิศวร และเสาชิงช้า เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ นครศรีธรรมราช

ทั้งสองแห่งนี้ มีองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นว่า พยายามจะสร้างให้เป็นไปตามแบบอย่างในอุดมคติ อันได้พรรณนาไว้ในตำรับนางนพมาศเหมือนกันนะครับ แต่ก็ไม่อาจกระทำได้ครบถ้วน

นอกเหนือไปจากเทวสถานทั้งสองแห่งนี้ ก็เป็นเทวาลัยขนาดเล็ก ซึ่งสร้างกันเองตามหัวเมืองต่างๆ

ส่วนเทวสถานในศาสนาฮินดูอย่างแท้จริงนั้น อันที่จริงก็สมควรจะเกิดขึ้นได้ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๑๘ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากการเสด็จประพาสอินเดีย และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับสั่งแก่ชาวทมิฬในกรุงเทพฯ ขณะนั้นว่า หากชาวอินเดียมีความประสงค์จะได้ที่ดินเพื่อใช้สร้างสาธารณะประโยชน์แล้ว พระองค์จะพระราชทานให้

แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏ ไม่มีชาวอินเดียผู้ใดนำเรื่องนี้มาพิจารณาภายหลังเลย

จนถึงพ.ศ.๒๔๒๒ จึงมีบันทึกกล่าวว่า ชาวอินเดียผู้หนึ่งซื้อที่ดินไว้บริเวณวัดหัวลำโพงในปัจจุบัน และสร้างเป็นเทวสถานไว้ใหญ่โตมาก

แต่น่าเสียดาย ที่ขณะนี้เราไม่อาจค้นหาร่องรอยของเทวสถานดังกล่าวนี้ได้เลยครับ ไม่มีการบันทึกไว้ว่าเทวสถานนั้นมีรูปลักษณ์อย่างไร และสูญสลายไปได้อย่างไร

เทวสถานฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ จึงมีแต่เพียง วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขกสีลม ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างในปีเดียวกันนั้น และต่อมาขยายขึ้นเป็นเทวสถานอย่างเต็มรูปแบบ ดังที่ปรากฏอยู่ในสมัยของเรา

ปัจจุบัน ราชสำนักไทยยังมีพราหมณ์สำหรับประกอบพระราชพิธีอยู่ โดยมีฐานะเป็นข้าราชการสังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และมีสถานที่ทำการหลัก อยู่ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร เสาชิงช้า

พราหมณ์เหล่านี้สืบวรรณะจากพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯ ให้ขึ้นมาอยู่ในพระนคร เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุว่าตระกูลพราหมณ์ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยานั้น กระจัดกระจายจนสืบหาตัวไม่ได้เสียแล้ว

แต่พราหมณ์ของไทยเราในปัจจุบัน เป็นพราหมณ์ที่นับถือศาสนาพุทธ และประกอบพิธีกรรม ซึ่งรายละเอียดบางอย่างก็น่าจะเปลี่ยนแปลงจากสมัยอยุธยาไปแล้ว

นอกจากนี้ ความสำคัญขององค์กรพราหมณ์ดังกล่าว ก็มีเฉพาะพระราชพิธีและพิธีกรรมต่างๆ

ซึ่งแม้ในสายตาของคนโบราณ พิธีกรรมเช่นนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งที่จักทำให้บ้านเมืองคงอยู่ได้

แต่เมื่อมองจากสายตาของคนปัจจุบัน ซึ่งถูกระบบการศึกษาปลูกฝังให้เป็นทาสความคิดของฝรั่งตะวันตก พิธีกรรมเหล่านี้ ก็เป็นเพียงส่วนประกอบส่วนน้อยของสังคมไทยปัจจุบัน ที่ควรจะอนุรักษ์ไว้บ้างเท่านั้น

รัฐจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างเทวาลัยเพิ่มอีก

เทวาลัยที่เกิดขึ้นภายหลังเทวสถานโบสถ์พราหมณ์พระนคร และนครศรีธรรมราช จึงอาจจำแนกได้ดังต่อไปนี้


วัดวิษณุฮินดูธรรมสภา

๑. เทวาลัยในศาสนาฮินดูแท้จริง สร้างโดยชาวอินเดีย เพื่อเป็นศูนย์กลางและเป็นที่สักการะของชุมชนฮินดูในประเทศไทย

เช่น วัดวิษณุฮินดูธรรมสภา ยานนาวา วัดเทพมณเฑียร โรงเรียนภารตวิทยาลัย เสาชิงช้า และ สนามกีฬาเทศบาล เชียงใหม่ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม)

๒. เทวาลัยประดิษฐานเทวรูปโบราณ และเทวรูปในคติใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ซึ่งคนท้องถิ่นนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ และทำนุบำรุงขึ้นเป็นเทวสถานสำคัญ

เช่น ศาลพระแม่ย่า จ.สุโขทัย ศาลท้าวจตุคามรามเทพ วัดคอหงษ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

๓. เทวาลัยที่สร้างขึ้นจากความศรัทธาส่วนบุคคล หรือขยายขึ้นจากตำหนักทรง บางแห่งมีการว่าจ้างปูชารีจากอินเดียมาทำหน้าที่ดูแล ให้คำแนะนำแก่ผู้ไปสักการะ

เช่น วัดพระศรีนาคาทุรคาเทวี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี (วัดแขกคลองสี่) วัดพระศรีมหาลักษมี นารายานัญ (วัดแขกพระนารายณ์) คลอง ๗ อ.ธัญญบุรี จ.ปทุมธานี วัดพระศรีมหาอาทิปราศักติภควตีเทวี (วัดแขกมวกเหล็ก) อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี


ศาลพระแม่ย่า จ.สุโขทัย
ภาพถ่ายเก่าแสดงให้เห็นตัวศาล ก่อนที่จะมีการสร้างศาลาขึ้นบังด้านหน้า

ปัจจุบัน มีการนำคำว่าเทวาลัยมาใช้ในทางที่ผิดมากขึ้น โดยความไม่รู้ หรือประสงค์จะยกย่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์จนเกินเหตุ เช่นศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ซึ่งภาษาทางไสยศาสตร์เรียก ศาลผี ก็มีผู้ยกว่าเป็นเทวาลัยด้วยนะครับ

ที่ถูกคือ เทวาลัยหรือศาลเทพ เป็นที่ประทับของเทพเจ้าเท่านั้น

วิญญาณ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิใดที่มีฐานะต่ำกว่าเทพ จะเรียกที่สิงสถิตว่า เทวาลัย ไม่ได้

แม้แต่เทพบางพวก ที่มิได้มีฐานะสูงส่งนัก เช่นพระภูมิ ก็เรียกที่ประทับว่าศาลพระภูมิ ไม่เรียกเทวาลัย แม้บางแห่งจะทำใหญ่โตมากก็ตาม

ยังมีศาลอีกประเภทหนึ่ง ที่มักถือกันว่าเป็นเทวาลัยเช่นกัน เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่นั้น มีทิพยภาวะที่สูงกว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่ หรือพระภูมิโดยทั่วไป

นั่นคือ ศาลหลักเมือง 

โดยเฉพาะศาลหลักเมืองที่กรุงเทพฯ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญๆ เป็นจำนวนมาก

แต่ถ้าจะวัดกันด้วยหลักทางเทววิทยาแล้ว พระหลักเมือง ไม่นับเป็นเทพในระดับสูงพอที่จะเรียกที่ประดิษฐานว่า เทวาลัยหรือเทวสถาน หรอกครับ


ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ

แม้ภายในศาลจะยังมีรูปเคารพอื่น ซึ่งบางองค์ที่มีศักดานุภาพสูงมาก เช่น พระเสื้อเมือง และพระกาฬไชยศรี ประดิษฐานอยู่

แต่เมื่อเทพยดาทั้งสององค์นี้ ก็ยังคงอยู่ในระดับของ ผีชั้นสูง เช่นเดียวกับพระหลักเมือง ซึ่งเป็นองค์ประธานของศาล มิได้เป็นเทพในระดับที่สูงเพียงพอดังกล่าวแล้ว

ศาลหลักเมือง จึงไม่อาจนับว่าเป็นเทวสถานครับ

ส่วนในหนังสือ เทวาลัย ที่ผมเขียนไว้เมื่อพ.ศ.๒๕๕๑ ใช้คำว่า เทวาลัย กับศาลเทพประเภทหอบุษบก คือเป็นศาลาโถงมีหลังคาหลุม ขนาดใหญ่พอประดิษฐานเทวรูปด้วยนั้น ก็เพราะเป็นสถานที่ประดิษฐานเทวรูป หรือ รูปเคารพขององค์เทพต่างๆ เช่นกัน
 
ซึ่งเป็นคติที่เกิดขึ้นในยุคหลัง ประมาณไม่ถึง ๒๐๐ ปีมานี้เท่านั้นครับ


……………………………



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด