วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

พระราหู และเทวดานพเคราะห์





อีกหนึ่งคำถามยอดฮิต ที่ผมได้รับมาตลอด ๒๐ ปีในการทำงานด้านเทววิทยา

นั่นคือ พระราหู และเทพนพเคราะห์ มีจริงหรือไม่?

และมีอานุภาพที่จะดลบันดาลให้ชีวิตของเรา มีอันเป็นไปต่างๆ ได้จริงหรือไม่?

ความจริง ผมอธิบายไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ในหนังสือ คู่มือบูชาเทพ ฉบับสมบูรณ์ แต่ตอนนี้ก็หาซื้อยากแล้ว

ดังนั้น การนำเรื่องนี้มาเขียนใน blog นี้ นอกจากจะทำให้ได้รายละเอียดที่ น่าจะเป็นที่พอใจของทุกคนที่สงสัยมากกว่าในหนังสือดังกล่าว ยังสะดวกแก่การค้นอ่านด้วยนะครับ

เพราะทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือจากจอคอมพิวเตอร์กันเป็นปกติแล้ว

เอาละครับ. อารัมภบทมามากแล้ว เข้าเรื่องเลยก็แล้วกัน

คำว่า เทพนพเคราะห์ ในทางเทววิทยานั้น โดยทั่วไป ไม่ได้หมายความว่าเป็นเทพที่มีอยู่จริงหรอกครับ

แต่เป็น บุคลาธิษฐาน (Personification)

ซึ่งเป็นเครื่องช่วยจำ สำหรับผู้ศึกษาโหราศาสตร์ ในเรื่องของดาวพระเคราะห์ต่างๆ ซึ่งจะส่งอิทธิพลดี-ร้ายต่อชีวิตมนุษย์ ตามคุณสมบัติแห่งดาวนั้นๆ

ดาวเคราะห์เหล่านี้ แบ่งเป็นพวกที่ให้คุณต่อมนุษย์ เรียกว่า ศุภเคราะห์ กับพวกที่ให้โทษต่อมนุษย์ เรียกว่า บาปเคราะห์

อิทธิพลของดาวเคราะห์ที่มีต่อชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็น อุปกรณ์อย่างหนึ่ง ในการให้ผลของ วิบากกรรม ทั้งดีและชั่ว ที่คุณเองน่ะแหละครับ ได้ทำมาในอดีตชาติ

นั่นหมายถึง การที่คุณเกิดมาในโลกนี้ ณ ช่วงเวลาที่มีดาวศุภเคราะห์อะไรบ้างส่งอิทธิพลกับคุณ หรือมีดาวบาปเคราะห์อะไรบ้างส่งอิทธิพลกับคุณ

นั่นก็เพราะ ผลกรรมในอดีตของคุณ ที่บันดาลให้เป็นไปอย่างนั้นไงครับ

เพราะฉะนั้น การที่ชะตาชีวิตของคุณ ถูกกำหนดด้วยตำแหน่งของดาวนพเคราะห์แล้ว ตั้งแต่ ณ เวลาที่คุณเกิด จึงเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้

เพียงแต่คุณอาจบรรเทา หรือลดทอนในเรื่องร้าย และเพิ่มเติมในสิ่งที่ดีได้ด้วย กรรมใหม่ หรือกรรมปัจจุบัน ซึ่งก็มีอยู่หลายทาง

เช่นการทำบุญมากๆ และพยายามดำรงชีวิตให้เหมาะกับดวงชะตาของตนเอง

ดูว่า ทำอะไรแล้วดี ก็ไปต่อยอดจากจุดนั้น อะไรที่ทำแล้วไม่ดี ก็อย่าไปฝืน

แล้วก็พยายามหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาคุ้มครองตัว เป็นต้น


พระพฤหัสบดี ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
จัดสร้างขึ้น เป็นตัวอย่างหนึ่งของ บุคลาธิษฐาน ที่มาจากปกรณ์โหราศาสตร์ไทย

แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณรู้ว่าดาวบาปเคราะห์ดวงไหนส่งผลร้ายกับคุณ คุณไปทำพิธีกราบไหว้บูชาดาวบาปเคราะห์ดวงนั้น แล้วจะเป็นเหตุให้เรื่องร้ายๆ ในชีวิตของคุณบรรเทาลง

หรือดาวบาปเคราะห์นั้น ได้รับการเซ่นสังเวยจากคุณแล้ว จะเกิดใจดีมีเมตตา เปลี่ยนเรื่องร้ายในชีวิตคุณให้กลายเป็นดี

มันไม่ใช่นะครับ

คุณจะไปไหว้ ไปทำพิธีใหญ่โตขนาดไหน คุณก็เปลี่ยนแปลงชะตากรรมของคุณไม่ได้ เพราะมันเป็นผลกรรมของคุณเอง

ดาวบาปเคราะห์พวกนั้น มันไม่มีสมอง ไม่มีวิจารณญาณอะไรที่จะเลือกว่า ใครไหว้มันแล้ว มันก็จะลำเอียงช่วยเหลือ หรือผ่อนหนักเป็นเบาหรอกครับ

เพราะมันเป็นดาวเคราะห์ เป็นดาวจริงๆ อย่างที่คุณเห็นในสารคดีทางดาราศาสตร์น่ะแหละ

มันไม่ใช่สิ่งมีชีวิต มันไม่ใช่เทพ เป็นแค่แหล่งพลังงานอย่างหนึ่ง ที่มีผลต่อชีวิตของคุณ ตามภาวะที่มันเป็นเท่านั้น

มันมิได้เป็นเทพอย่างแท้จริง เหมือนพระคเณศ พระลักษมี พระแม่กวนอิม พระศิวะฯลฯ ที่ท่านมีตัวตนจริง ใครเข้าถึงท่าน ท่านก็เมตตาช่วยเหลือ

แต่นี่คือดาวเคราะห์ ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกัน และส่งอิทธิพลให้กับทุกๆ คนในโลกนี้ ตามตำแหน่งที่มันโคจรไป

เป็นสิ่งที่มันทำให้เกิดโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ด้วยความคิด หรือสติปัญญาของมันเองครับ

เหมือนไฟมันร้อน คุณไปโดนมัน มันก็เผาคุณ

คุณจะนั่งทำพิธีกราบไหว้บูชาสักเท่าใด มันก็ไม่ลดความร้อนลงหรอกครับ

เพราะมันเป็นไฟ มันก็ต้องร้อน

ก็ขนาดกองไฟตรงหน้าคุณ คุณยังทำพิธีให้มันหายร้อนไม่ได้ นับประสาอะไร กับการที่คุณจะนั่งทำพิธีกรรมในจุดเล็กจิ๋วเดียวของโลกใบนี้ เพื่อจะให้มีผลกับพลังงานมหาศาล ที่มาจากอวกาศ

เสียเวลาเปล่าครับ

ที่ผมสาธยายมานี้ คือหลักการทั่วไป เกี่ยวกับเทพนพเคราะห์

ทีนี้ ก็มีประเด็นอยู่ว่า ดาวนพเคราะห์นั้นไม่ใช่เทพก็จริง แต่มีเทพที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับดาวเหล่านี้ ๒ องค์ ที่มีอยู่จริง

คือ สุริยเทพ/เทวี (Sun God/Goddess) และ จันทรเทพ/เทวี (Moon God/Goddess)

เราจะต้องแยกเทพเหล่านี้ ออกจากบุคลาธิษฐานของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ตามตำราโหราศาสตร์นะครับ

เพราะ สุริยเทพ/เทวี และ จันทรเทพ/เทวี ที่มีตัวตนจริง เป็นการพัฒนาทางวิญญาณของมนุษย์ ผู้ซึ่งในอดีตเมื่อยังมีชีวิตอยู่

คือเป็นผู้หยั่งถึง หรือสำเร็จในวิชามายาศาสตร์ ที่จะควบคุม-ดัดแปลง พลังจากพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ซึ่งเรียกกันว่า สุริยศาสตร์ และ จันทรศาสตร์ ได้ระดับหนึ่ง


พระสกันท์ หรือพระกรรติเกยะ เดิมเป็นพระสุริยเทพของอินเดียใต้
ศาสนาฮินดูเปลี่ยนให้เป็นเทพสงคราม โอรสของพระศิวะ

และผู้สำเร็จวิชาสุริยศาสตร์ และจันทรศาสตร์ ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ก็ย่อมมีหลายคน แตกต่างกันไปตามความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิภาค และยุคสมัย

คนเหล่านี้เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับการยกย่องบูชาเป็นเทวะ ในระดับที่แตกต่างกัน ตามพลังอำนาจที่ตนมีอยู่ครับ

มิใช่ว่าเป็นสุริยเทพ สุริยเทวีแล้ว จะต้องมีพลังสุริยะที่ทัดเทียมกันหมด

หรือเป็นจันทรเทพ จันทรเทวีแล้ว จะต้องมีพลังจันทราที่เหมือนกัน เป็นอย่างเดียวกัน

สุริยเทพ/เทวี จันทรเทพ/เทวี จึงเป็นเทวะเพียง ๒ องค์ จากเทพนพเคราะห์ทั้งหมด ที่มีตัวตนจริง บูชาได้ผลจริง และประทานพรได้เหมือนกับเทพเจ้าทั้งหลาย ที่ผมยกตัวอย่างไปแล้ว

ส่วนดาวนพเคราะห์อื่นๆ ที่คัมภีร์โบราณมักระบุไว้ว่าเป็นเทพนั้น ถ้าจะพิเคราะห์-พิจารณ์กันในทางเทวศาสตร์ ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันนะครับ ว่าเป็นเทพที่มีตัวตนจริง

นั่นก็เพราะ ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะทำให้เชื่อได้ว่า มีปรมาจารย์บางท่านในอดีต ที่สำเร็จวิชาเกี่ยวแก่พลังของดวงดาวต่างๆ ที่มีต่อโลกมนุษย์ เช่นเดียวกับผู้ที่สำเร็จวิชาเกี่ยวแก่พระอาทิตย์-พระจันทร์

วิชาสุริยศาสตร์-จันทรศาสตร์ นั้นมีมาแต่โบราณกาล และตกทอดมาถึงคนรุ่นเรานับสิบๆ สายวิชา ยังมีการศึกษาค้นคว้า และปฏิบัติกันในทุกทวีปทั่วโลก จนทุกวันนี้

คนที่เป็นเอตะทัคคะในวิชาเหล่านี้ จึงย่อมมีตัวตนจริง เมื่อตายไปแล้ว ก็สามารถพัฒนาทางวิญญาณขึ้นเป็นเทพได้จริง อย่างไม่ต้องสงสัยครับ

แต่วิชาที่เกี่ยวกับดาวนพเคราะห์อื่นๆ นั้น ไม่มีตกทอดมาถึงเราเลยครับ นอกจากวิชาโหราศาสตร์

และโหราศาสตร์นั้น เป็นการศึกษาให้เข้าใจกฎธรรมชาติ ของดวงดาวบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของวิบากกรรมของเรา เพื่อการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องเหมาะสม ดังกล่าวแล้ว

ไม่ใช่เป็นมายาศาสตร์ ที่จะควบคุม เปลี่ยนแปลง ลดเพิ่มพลังอำนาจของดวงดาว ด้วยเวทมนต์คาถา ด้วยพลังจิต หรือด้วยพิธีกรรมใดๆ อย่างสุริยศาสตร์ จันทรศาสตร์

เมื่อไม่มีองค์ความรู้ในส่วนนี้สืบทอดต่อๆ กันมา ก็หมายความว่า ไม่มีหลักฐานการนับถือเทพในสายนี้ สืบต่อกันมาด้วยไงครับ


พระแม่ฉางเอ๋อ จันทรเทวีของจีน เดิมคงจะเป็นผู้สำเร็จวิชาจันทรศาสตร์
แต่คนส่วนมากไม่เข้าใจ จึงมีการแต่งเทพนิยายเล่าเรื่องเทพนารีองค์นี้ไปต่างๆ กัน

ผู้ศึกษาเทววิทยาในระดับโลก จึงมักยอมรับการมีตัวตนของเทพนพเคราะห์ แต่เพียงสุริยเทพ/เทวี และ จันทรเทพ/เทวี ดังกล่าวแล้ว

และแม้ว่า ลัทธิที่เกี่ยวข้องกับสุริยเทพ/เทวี และ จันทรเทพ/เทวี ที่ตกทอดมาถึงยุคของเรา มักจะถูกครอบงำด้วยโหราศาสตร์ ก็ไม่ถึงกับมีผลในการบูชามากนักหรอกครับ

เพราะวิชาสุริยศาสตร์ จันทรศาสตร์ ที่องค์เทพเหล่านี้สำเร็จเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ส่วนหนึ่งก็ปะปนกับความรู้ทางโหราศาสตร์ในสมัยนั้น

และทั้งสุริยศาสตร์ จันทรศาสตร์ ก็ศึกษาค้นคว้าในเรื่องเดียวกับโหราศาสตร์ เพียงแต่มองกันคนละมุม และจับจุดเอามาต่อยอดเพื่อใช้งานคนละอย่างกัน เท่านั้นเอง

ทีนี้ แม้ว่าดาวนพเคราะห์จริงๆ จะมีเทพจริงๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่เพียง ๒ องค์

แต่ไสยศาสตร์ มีวิธีทาง สัญลักษณ์วิทยาที่จะถ่ายทอดพลัง หรือ อิทธิพลของดาวนพเคราะห์ ในรูปของประติมากรรม และเครื่องรางได้ จนคนทั่วไปนึกว่าเป็นเทพจริงๆ

เช่น กรณีของราหู และเทวดานพเคราะห์ ที่ใช้ในพิธีกรรมของราชสำนักไงครับ


เทวดานพเคราะห์ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
อัญเชิญออกมาให้ประชาชนบาและสรงน้ำ ในเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.๒๕๖๐

และที่รู้จักกันทั่วไปที่สุด คือ ประติมากรรมรูปราหูอมจันทร์ ที่วัดและสำนักต่างๆ สร้างกันออกมาแพร่หลาย ตั้งแต่แบบห้อยคอ ไปจนถึงขนาดใหญ่กว่าตัวคน

ทั้งๆ ที่ราหู ก็ไม่ใช่ดวงดาวจริงๆ เป็นเพียงจุดคำนวณทางโหร่ศาสตร์ ที่เกิดจาก คราสหรือเงาของโลกไปทับดวงดาทิตย์ และดวงจันทร์เท่านั้น

แต่โหราศาสตร์ นับว่าราหูเป็นดาวบาปเคราะห์ด้วยดวงหนึ่ง

ซึ่งอิทธิพลที่มันมีต่อมนุษย์ก็คือ ความลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสตัณหา อบายมุข ความวิบัติสูญสิ้นลาภยศ และสิ่งดีงามในชีวิตทั้งปวง

การโคจรของราหู จึงเป็นอันตรายมาก เมื่อถึงเวลาที่เล็ง ทับ โยค กุม ลัคนาของใคร ความหายนะก็จะบังเกิดแก่ผู้นั้น


ราหู ไม่ใช่ดวงดาว แค่เป็น คราส หรือเงาของโลก ที่ทับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

หายนะมากหรือน้อย ก็แล้วแต่กำลังของดาวศุภเคราะห์ ในดวงชะตาของแต่ละคน จะต้านทานหรือช่วยเหลือได้เพียงใด

ไม่ใช่ว่าราหูส่งอิทธิพลแล้ว มวลมนุษย์จะวิบัติเท่าเทียมกันไปหมด ทุกรูปนาม

แล้วก็ยังมีคนอยู่สองพวก ที่อาจจะได้รับผลดีจากราหูด้วยนะครับ

คือคนที่เกิดวันพุธกลางคืน กับคนที่ดวงชะตาถูกพระเสาร์เล่นงานอย่างหนัก

พระเสาร์เป็นประธานฝ่ายบาปเคราะห์ ส่งอิทธิพลให้เกิดความวิบัติพินาศ แก่ชีวิตเราได้ยิ่งกว่าราหูเสียอีก

แล้วก็ไม่มีพลังจากดาวศุภเคราะห์ดวงไหน ที่จะป้องกัน หรือผ่อนผันโทษภัยจากพระเสาร์ได้

แต่เมื่อมาเจอกับราหู ปรากฏว่า ราหูสามารถข่มอิทธิพลด้านร้ายของพระเสาร์ได้หมด เหลือแต่ด้านดีๆ ของพระเสาร์แทน

และราหูเป็นดาวดวงเดียวในนพเคราะห์ทั้งหมดด้วย ที่สลายพลังร้ายของพระเสาร์ได้

เพราะราหูกับเสาร์ เป็นบาปเคราะห์เหมือนกันก็จริง แต่สองดาวนี้เป็นคู่มิตรกันครับ


บุคลิษฐานของพระราหู ตามปกรณ์โหราศาสตร์ไทย

คนที่ถูกพระเสาร์เล่นงานดวงชะตาอย่างหนัก การบูชา หรือถ้าจะพูดให้ถูก คือ ติดตั้งประติมากรรมพระราหู จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง

แต่นั่นก็หมายความว่า คุณกำลังแก้พลังบาปเคราะห์ของพระเสาร์ ด้วยการเปลี่ยนไปรับอิทธิพลด้านร้ายจากราหูแทนนะครับ

บางคนอ่านถึงตรงนี้แล้ว อาจจะงงๆ

--ก็ผมเพิ่งเขียนไปหยกๆ ว่า การทำพิธีบูชาดาวนพเคราะห์นั้น ช่วยอะไรใครไม่ได้ เพราะเป็นพลังมหาศาลที่มาจากอวกาศ

แล้วการบูชาเทวรูปพระราหู ที่มนุษย์เราสร้างขึ้น องค์เล็กๆ แค่ ๓ นิ้ว ๕ นิ้ว หรือองค์ใหญ่หน่อยอย่างที่วัดศีรษะทอง

มันจะไปแก้ไขอะไรได้ กับพลังของพระเสาร์ที่มาจากนอกโลก?

คำตอบคือ ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมี ข้อยกเว้นครับ

เพราะราหูนี่แปลกครับ เป็นที่รู้กันในทางไสยศาสตร์ว่า แม้จะเป็นบุคลาธิษฐาน แต่เมื่อเอามาทำเป็นประติมากรรมแล้ว สามารถถ่ายทอดสิ่ง (ไม่ดีงาม) ต่างๆ ได้ ตามลักษณะของราหูในทางโหราศาสตร์

เรียกว่า สามารถเป็น "สื่อ" ของพลังราหูตัวจริงได้ โดยที่ยังไม่มีใครอธิบายได้ว่า ทำไม?


พระราหู ขนาดบูชา

นั่นก็เพราะ เป็นผลซึ่งเกิดจาก "สัญลักษณ์วิทยา" อันเป็นศาสตร์โบราณที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน ยากจะอธิบายว่ามีกระบวนการอย่างไร

ก็เหมือนกับวิชาการลงอักขระเลขยันต์ของไทย กับฮวงจุ้ย และสืบสองนักษัตรของจีนน่ะแหละครับ ต่างก็เป็นวิธีการให้ผล ด้วยสัญลักษณ์วิทยาทั้งนั้น

แต่แม้ว่าการตั้ง หรือพูดประสาชาวบ้านว่า บูชาพระราหู จะมีผลในทางไสยศาสตร์ และโหราศาสตร์ ที่ช่วยบรรเทาทุกข์โทษ ของคนที่ดวงชะตาถูกพระเสาร์เบียดเบียนได้ระดับหนึ่ง

โดยจุดยืนของผมแล้ว ผมก็ไม่อยากแนะนำให้ใครบูชาพระราหูหรอกครับ

เพราะเมื่อคุณไหว้ราหู แม้คุณจะพ้นภัยจากพระเสาร์ได้บ้าง

แต่ในที่สุด คุณก็จะกลายเป็นคนมัวเมาในกิเลสตัณหา ตามอิทธิพลของราหู ที่ถ่ายทอดผ่านประติมากรรมเหล่านั้น


พระราหู สัญลักษณ์ของความมัวเมา หมกมุ่นในกิเลสตัณหา อบายมุข

ก็ลองสังเกตดูเอาก็แล้วกันนะครับ ว่าพวกที่ไปวัดศีรษะทอง หรือวัดอะไรก็ตาม ที่มีราหูองค์ใหญ่ๆ อยู่ เขาไปไหว้แล้ว ชีวิตเขาดีขึ้นหรือไม่?

บางคนถูกหวย ก็เท่านั้นละครับ ได้เงินแสนเงินล้าน แต่ไปสูญเสียอย่างอื่นที่เงินซื้อไม่ได้

เพราะเงินจากอบายมุข มันไม่เคยนำความสุขที่ยั่งยืนมาให้ใคร

แต่เทวศาสตร์ ไม่ใช่ศาสตร์แห่งการพูดถึงปัญหา แล้วไม่มีวิธีแก้หรอกครับ

การบูชาราหู เพื่อบรรเทาโทษภัยจากพระเสาร์ โดยที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงดังกล่าวมาแล้ว น้อยที่สุด มีครับ

ขอให้ยึดหลักนี้,

๑) ถ้าดวงชะตาไม่เดือดร้อนจากพระเสาร์อย่างหนักจริงๆ อย่าบูชาราหูที่ทำเป็นเทวรูปเดี่ยวๆ

ให้บูชาราหูที่ทำออกมาร่วมกับเทพองค์อื่น เช่น ท้าวจตุคามรามเทพ หรือพระพุทธรูปนาคปรก ที่มีรูปพระราหูที่ฐาน

อย่างนี้ดีที่สุดครับ


จตุคามรามเทพ เป็นสายวิชาที่ประสบความสำเร็จในการสะกดพระราหู
ซึ่งทั้งสองต่างก็เป็นสายวิชา "ใหม่" ที่เกิดขึ้นในยุคของเราเช่นเดียวกัน

เพราะถ้าบูชาราหูเดี่ยวๆ เราก็จะได้รับอิทธิพลแห่งโทษภัย ของราหูได้อย่างเต็มที่

แต่ถ้าบูชาในลักษณะที่ราหูนั้นเป็นบริวาร หรือถูกข่มโดยองค์พระ-องค์เทพ ราหูนั้นก็จะถูกสะกดพลังบาปเคราะห์ไประดับหนึ่ง ส่งแต่ผลด้านดีออกมา

ซึ่งจะพูดไปแล้ว ก็ดีไม่ค่อยจริงเท่าไหร่ แต่ก็ดีกว่าไม่มีใครควบคุมครับ

๒) คนที่บูชาราหูเดี่ยวๆ ก็ไม่ต้องทำพิธีกราบไหว้ ถวายของดำ ๘ อย่าง หรือไปบูชาพระราหูองค์ใหญ่ที่วัดไหนทั้งสิ้น

เพราะ concept ก็คือ แค่ให้มีสัญลักษณ์ของราหู อยู่ใกล้กับตัวคุณก็พอแล้ว

ซึ่งก็หมายความว่า จะตั้งไว้ในห้องทำงาน หรือห้องนอน หรือแค่ห้อยคอก็ยังได้

แล้วแต่ว่าดวงชะตาคุณ ได้รับโทษภัยจากพระเสาร์ในลักษณะใด

นั่นก็เป็นเพราะ ศาสตร์ในการบูชาราหูเพื่อแก้โทษภัยจากพระเสาร์ เป็นการใช้ "สัญลักษณ์วิทยา" เท่านั้นไงครับ ไม่ใชการบูชาเทพ

คุณจึงสามารถตั้งประติมากรรมราหูได้ โดยไม่จำเป็นต้องกราบไหว้ ถวายของดำอะไรทั้งสิ้น

ซึ่งถึงใครอยากจะทำ ก็เป็นเรื่องที่เสียเวลาเปล่าครับ

รูปปั้นพระราหู สื่อพลังจากราหูที่เป็นพลังธรรมชาติได้ แต่ก็กินอะไรไม่ได้ และไม่รับรู้การกราบไหว้บูชาอะไรทั้งนั้น

เว้นแต่คนที่สร้าง จะเอาผีเข้าไปใส่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

………………………



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2560

การตั้งและจัดแท่นบูชา

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*





ผมให้คำปรึกษาในเรื่องเกี่ยวกับเทวศาสตร์ การบูชาเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มากว่า ๒๐ ปี ปัญหาที่มีคนถามผมบ่อยที่สุด คือการตั้งและจัดแท่นบูชา

ก็ขนาดคนที่มีหนังสือ คู่มือบูชาเทพ ฉบับสมบูรณ์ อ่านแล้วก็ยังมาถามผมอีกนะครับ

เพราะไม่เข้าใจบ้าง ไม่มั่นใจบ้าง

คงเพราะมีรายละเอียดมาก และคนสมัยนี้ ไม่คุ้นกับการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหายาวๆ อ่านแล้วงง จับต้นชนปลายไม่ถูก

หรือไม่ก็อ่านไปอ่านมา อ้าว...ลืมไปซะแล้วว่าก่อนหน้านั้นอ่านอะไรไป

เอาอย่างนี้ครับ,

ผมเอาวิธีการจัดแท่นจากหนังสือเล่มนั้น มาย่อให้อ่านกันในบทความนี้แหละ

แบบเข้าใจง่าย จนไม่รู้จะง่ายไปกว่านี้ได้อย่างไรแล้ว




ประเด็นแรก คือ สถานที่ หรือทำเลที่เหมาะกับการตั้งแท่นบูชาประเภทต่างๆ ในบ้านของพวกเรา

๑) พระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ พระฤาษี เทวรูป ควรมีห้องพระ หรือห้องที่แยกจากการใช้งานส่วนอื่นๆ ของบ้านโดยเฉพาะ

คือ เป็นห้องที่เข้าไปเพื่อสวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือจัดพิธีบูชาอย่างเดียว

เพราะรูปเคารพกลุ่มนี้ ควรตั้งไว้ในที่สงบ ไม่พลุกพล่าน ไม่มีเสียงดัง

ถ้าจะมีเครื่องเสียง ต้องเอาไว้เปิดเพลงที่เหมาะสำหรับบูชาพระบูชาเทพเท่านั้นครับ

(ถ้าเป็นเทพอินเดีย ก็พยายามเลือกเพลงช้าๆ soft หน่อยนะครับ อย่าไปเอาพวกเพลงอารตี เต้นไปเต้นมา จะหาความสงบไม่ได้)

ห้องพระ ควรเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเท มีแสงแดดเช้าตกกระทบแท่นบูชาได้ยิ่งดี ไม่ควรวางของอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง




๒) เทวสตรี และเทพแห่งความรัก-กามารมณ์ เช่น พระแม่กาลี พระแม่ลักษมี พระราธากฤษณะ อยู่ในห้องนอนได้

แต่ควรตั้งหันหน้าขนานกับเตียงนอน ไม่ควรตั้งให้หันหน้าเข้าหาเตียงนอน และอย่าตั้งไว้เหนือหัวเตียง

นอกจากนี้ ต้องระวังอย่าให้หันหน้าไปยังประตูห้องน้ำ, ตะกร้าผ้าที่ใส่แล้ว, ถังขยะ, ราวตากผ้า, กระจกเงา

๓) เทพอสูร ได้แก่ ท้าวเวสสุวัณ พระพิราพ พระพิเภก ท้าวหิรัญพนาสูร นิยมตั้งเพื่อปกป้องคุ้มครอง จึงต้องตั้งในห้องรับแขกของบ้านหรือกิจการ แต่จะตั้งในห้องพระก็ได้ ให้แยกแท่นออกมาต่างหาก

ถ้าในบ้านมีเด็กที่ยังแบเบาะ และมีท้าวเวสสุวัณองค์เล็กๆ ขนาดสูงไม่เกิน ๕ นิ้ว ตั้งไว้เหนือหัวเตียงเด็ก เด็กจะสุขภาพดี ไม่โยเย แต่เมื่อเด็กเดินคล่องแล้ว ให้ย้ายกลับไปรวมกับองค์ใหญ่บนแท่นบูชา




๔) พระแม่โพสพ พระแม่นางกวัก นางรับ แม่นางตุ๊กตา แม่นางพันธุรัตฯลฯ ตลอดจนเจ้าพ่อเจ้าแม่พื้นเมืองต่างๆ

พวกนี้ทำหน้าที่เหมือน PR ต้องตั้งด้านหน้าสุดของบ้านหรือกิจการ หันออกถนนใหญ่ ในจุดที่รับลูกค้าหรือรับแขกโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงทิศที่หันหน้าไป

หมายความว่า หันหน้าไปทางทิศจะวันตกได้ครับ เอาถนนที่ผ่านหน้าบ้านหรือหน้าร้านเป็นเกณฑ์

การตั้งรูปเคารพกลุ่มนี้ ไม่ต้องคำนึงเรื่องเสียงดัง หรือผู้คนพลุกพล่าน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องจัดแท่นบูชาให้สะอาดเรียบร้อย และไม่อยู่ในลักษณะที่จะถูกกระทบกระเทือน จากความสับสนวุ่นวายต่างๆ รวมทั้งเสียงอึกทึกครึกโครมมากเกินไป ก็ยังไม่เหมาะอยู่ดีครับ

ส่วน กุมารทอง ผมไม่เห็นด้วยที่ใครจะบูชานะครับ เพราะเป็นไสยดำที่บังคับเอาผีเด็กมาใช้งาน เพราะฉะนั้นผมจะไม่บอกวิธีบูชา หรือสถานที่ตั้งกุมารทอง




๕) พระบรมรูป พระรูปอดีตกษัตริย์ วีรบุรุษ-สตรี ในประวัติศาสตร์ อยู่ในห้องพระดีที่สุด

ถ้าไม่มีห้องพระ หรือเป็นสถานที่ที่ไม่บูชาพระ เช่น เป็นห้องทำงาน ต้องตั้งอยู่ด้านหลัง หรือด้านข้างโต๊ะทำงาน

และตำแหน่งที่ตั้งโต๊ะทำงานนั้น จะต้องหันหน้ารับคนที่เข้ามาในห้อง แต่ไม่ใช่ไปตั้งประจันหน้ากับประตูห้อง

เช่น สมมุติว่าประตูห้องอยู่ซ้ายมือ เมื่อเดินเข้าไปในห้อง หันหน้าไปทางขวามือ จะเห็นโต๊ะทำงานหรือแท่นบูชาหันหน้ารับเราอยู่

ถ้าคุณเป็นคนชอบดูหนังฟังเพลงระหว่างการทำงาน ไม่ควรตั้งรูปเคารพกลุ่มนี้ในห้องทำงานครับ

ถ้าห้องรับแขกใหญ่พอ และจัดไว้อย่างสวยงาม ก็สามารถจัดแท่นบูชาในห้องรับแขกได้

โดยเมื่อเดินผ่านประตูเข้าไปในห้อง จะต้องเห็นแท่นบูชาเป็นประธานของห้อง และต้องแยกส่วนพักผ่อนประเภทดูหนังฟังเพลงเอาไว้ต่างหากนะครับ




๖) ภูต ผี พรายต่างๆ เช่น ขุนแผน งั่ง นางพรายสารพัดชื่อที่ขายกันอยู่ในท้องตลาด (เพิ่มนางพญาจิ้งจอกเก้าหางเข้าไปด้วยก็ได้นะครับ สำหรับคนที่ชอบของแปลก)

ห้ามตั้งไว้ในห้องพระ หรืออยู่ใกล้รูปเคารพในข้อ ๑-๓ เป็นอันขาด เพราะจะเสื่อมง่ายมาก ด้วยแพ้บารมีพระกับองค์เทพ

นอกจากนั้น ยังเป็นพวกไม่ชอบสถานที่พลุกพล่าน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องตั้งไว้ในจุดที่มองเห็นผู้คน หรือลูกค้า

ดังนั้น ถ้าตั้งไว้ในบ้าน ควรตั้งไว้มุมใดมุมหนึ่งในห้องรับแขก ไม่ต้องโชว์เหมือนรูปเคารพในข้อ ๓-๔ แต่ก็ไม่ใช่แอบซ่อนเกินไป

ถ้าตั้งในร้านค้า ก็เอาไว้ในห้องทำงานของเจ้าของร้านน่ะแหละครับ ดีที่สุด

แต่อย่าตั้งหลังโต๊ะทำงาน หรือข้างโต๊ะทำงานนะครับ แยกไปตั้งไว้อีกด้านหนึ่งของห้อง หรือตั้งให้หันหน้าตรงกับประตูทางเข้าเลยยิ่งดี

ข้อสำคัญ อย่าให้แสงแดดส่องถึงเป็นอันขาดครับ เขาจะอยู่ไม่ได้




๗) สัตว์มงคลไทยทุกชนิด ต้องอยู่ในห้องรับแขก บริเวณหน้าบ้าน หรือหน้าร้าน และหันออกหน้าบ้านหรือหน้าร้าน

ตั้งสูงไม่เกินเอว ต่ำไม่เกินหัวเข่า แม้แต่พญาเต่าเรือน ก็ไม่ควรต่ำกว่าหัวเข่า

ยกเว้นพญาครุฑ ควรตั้งสูงระดับศีรษะขึ้นไป หรือพวกสัตว์ปีก เช่น นกการเวก นกคุ้ม ไก่แจ้ ตั้งไว้ที่สูงไม่เกินระดับศีรษะกำลังดี

สัตว์มงคลจีน บางอย่างห้ามหันออกหน้าบ้านหรือหน้าร้าน เช่น คางคกสามขา (เสี่ยมซู้) และต้องตั้งไว้ระดับพื้น นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นพวกตั้งโต๊ะ และหันออกหน้าบ้านหรือหน้าร้านได้

ถ้าจะใช้สัตว์มงคลจีน ต้องมีความรู้เรื่องฮวงจุ้ย มีตำราที่จะหาตำแหน่งมงคลในบ้านหรือกิจการได้ เพราะสัตว์มงคลจีนต้องตั้งตามตำแหน่งมงคล ถึงจะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ครับ




ประเด็นต่อมา คือเมื่อตั้งแท่นบูชาถูกทิศถูกทางแล้ว ควรจัดอย่างไร?

๑) ถ้าเป็นพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ พระฤาษี เทวรูป หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ห้อยคอหรือพกติดตัวเป็นประจำ ก่อนนอนควรวางในพานเล็กๆ บนโต๊ะข้างเตียงก็ได้ หรือบนแท่นบูชาก็ได้

แล้วถวายดอกไม้ในพานนั้น ไม่ต้องถวายของไหว้อย่างอื่น

วัตถุมงคลที่ไม่ได้พกติดตัวเป็นประจำ หาตู้ใส่ให้เรียบร้อย อย่าเอาไปไว้บนแท่นบูชา มันจะรกโดยใช่เหตุครับ

๒) บรรดารูปภาพต่างๆ และแผ่นยันต์ ให้แขวนผนังไว้เลยครับ

หากตั้งโต๊ะ จัดพานไว้สองข้างของรูปดังกล่าว สำหรับถวายพวงมาลัย ๑ คู่

หน้ารูปวางเชิงกำยาน และเชิงเทียน สำหรับวางเทียนทรงเตี้ยแบบเทียนฝรั่ง ไม่ใช่เทียนทรงสูงแบบเทียนของไทย

หรือจะใช้เทียนชา (Tealight Candle) แบบที่ใช้จุดในเตาต้มน้ำมันหอมระเหยก็ได้

รูปภาพและแผ่นยันต์แบบตั้งโต๊ะ ถวายแต่เฉพาะดอกไม้ ไม่ต้องถวายน้ำ, ขนม และของไหว้

พระและเทพที่เป็นภาพนูนต่ำ และลอยองค์ขนาดตั้งหน้ารถ หรือหน้าตักไม่เกิน ๒ นิ้วก็ใช้กฎเดียวกัน




๓) ถ้ามีพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ เพียงองค์เดียว หน้าตักไม่เกิน ๕ นิ้ว ตั้งบนหิ้งพระแบบหิ้งลอยติดผนังได้ ถ้าองค์ใหญ่กว่านั้น ไม่ควร

พระฤาษี เทวรูป ห้ามใช้หิ้งลอย

๔) รูปเคารพในหัวข้อการตั้งแท่นบูชาข้อ ๓-๖ ที่มีขนาดหน้าตัก ๓ นิ้วขึ้นไป จะต้องมีแท่นบูชา เครื่องบูชา และมีการถวายน้ำ ขนมและของไหว้

พระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ ขนาดหน้าตัก ๓ นิ้วขึ้นไป ก็เช่นกัน แต่ไม่ต้องถวายน้ำและของไหว้ ยกเว้นพระเกจิอาจารย์ ควรถวายน้ำ




๕) การจัดแท่นบูชา สำหรับพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ พระฤาษี เทวรูป จะต้องพิงผนัง หรือมีฉากทึบ

ควรหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือเสมอ หรือจะหันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ก็ได้ ส่วนทิศตะวันตกห้ามครับ

๖) ถ้ามีพระพุทธรูปหลายองค์ ให้ตั้งพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดเป็นองค์ประธาน โดยมีพระพุทธรูปขนาดรองลงมา รวมทั้งพระอรหันต์และพระเกจิอาจารย์ตั้งลดหลั่นกันลงมา

ถ้าเป็นแท่นบูชาที่มีพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ ทั้งหมด ๓ องค์ เมื่อตั้งองค์ประธานแล้ว อีกสององค์ตั้งขนาบซ้ายขวาขององค์ประธาน

ทั้งสององค์นี้ควรมีขนาดเท่ากัน ถ้าตั้งแล้วความสูงแตกต่างกันเกินไป ควรหาแผ่นไม้ แท่นไม้ หรือตั่งไม้ทรงเตี้ยมาหนุนฐานขององค์ที่เตี้ยกว่าให้สูงเท่ากัน

ถ้ามีเทวรูปเพียงองค์เดียว หรือองค์ใหญ่ขนาดหน้าตัก ๓ นิ้วขึ้นไป และองค์เล็ก ขนาดหน้าตักไม่เกิน ๒ นิ้ว เพียงอย่างละองค์ ก็ตั้งรวมกับพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ได้ โดยตั้งในระดับที่ต่ำกว่าพระอรหันต์และพระเกจิอาจารย์ แต่ถ้าพื้นที่จำกัด ก็ตั้งระดับเดียวกับพระเกจิอาจารย์

ถ้ามีเทวรูปเพียง ๒ องค์ แต่องค์เล็กนั้นมีขนาดหน้าตัก ๓ นิ้วหรือใหญ่กว่า ควรแยกแท่นต่างหาก

ตั้งองค์ใหญ่เป็นประธาน และตั้งองค์เล็กหน้าองค์ใหญ่ โดยเมื่อตั้งแล้ว องค์ที่เล็กกว่าไม่ควรสูงเกินพระอุระขององค์ใหญ่




๗) ถ้าเป็นโต๊ะหมู่ ไม่ว่าหมู่ ๗ หรือหมู่ ๙ ตั้งพระพุทธรูป หรือเทวรูปองค์ใหญ่ที่สุดเป็นประธาน โต๊ะปีก ๒ ข้างแถวบนสุดตั้งองค์ที่เป็นขนาดรองลงมา ให้สูงเท่ากันทั้งสองข้าง

โต๊ะอื่นๆ ก็ตั้งองค์ที่มีขนาดรองลงมาอีก ให้ลดหลั่นกัน และซ้ายขวาต้องเท่ากัน ไม่ใช่ตั้งสูงๆ ต่ำๆ ตามอำเภอใจ

๘) ถ้าเป็นพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ พระฤาษี เทวรูป ที่มีสีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสีทอง สีมันปู สีดำปิดทองบางส่วน และสีพื้นสีเดียว (เช่นอาจจะเป็นเนื้อไม้ เนื้อดินเผาสีธรรมชาติ หรือเนื้อหิน) ก็ควรตั้งในโต๊ะหมู่ หรือแท่นบูชาเดียวกัน

แต่ไม่จำเป็นว่า ต้องเป็นสีรมมันปูทั้งหมด หรือปิดทองเหมือนกันไปหมด ทั้งแท่นหรือทั้งโต๊ะนะครับ

๙) พระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ พระฤาษี เทวรูป ที่มีหลายสี ควรตั้งไว้ในแท่นหรือโต๊ะเดียวกับรูปเคารพกลุ่มนี้ที่มีหลายสีเหมือนกันเท่านั้น

ไม่ควรประดิษฐานร่วมกับรูปเคารพกลุ่มนี้ที่มีสีเดียว โดยเฉพาะแบบที่ปิดทองทั้งองค์ (ดังนั้นถ้าจะเช่าพระและองค์เทพเข้าบ้านควรคิดเรื่องนี้ด้วย)

๑๐) เครื่องบูชา ประกอบด้วย กระถางธูป ๑ ชุด, เชิงเทียน ๑ คู่, แจกันดอกไม้ ๑ คู่, พานสำหรับวางพวงมาลัย ๑ คู่ (กรณีที่ไม่ถวายดอกไม้สดใส่แจกัน)

ถ้าเป็นแท่นบูชาองค์เทพ ต้องมีเชิงกำยาน, เตาต้มน้ำมันหอมระเหย, ภาชนะใส่เครื่องสังเวย คือผลไม้และขนมหวาน, ถาดรวมสำหรับใส่ภาชนะเครื่องสังเวย, ถ้วยน้ำ




โดยการจัดเครื่องสังเวยตามปกติสำหรับเทพองค์หนึ่ง ใช้ขนมเพียง ๓ อย่าง ผลไม้ ๑ อย่างก็พอครับ ปริมาณก็กะว่าสำหรับคนคนเดียวกิน

ถ้ามีหลายองค์ ก็เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น ประมาณว่าหลายคนกิน

พระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ มีหรือไม่มีเชิงกำยานก็ได้ แต่ไม่ต้องมีเตาต้มน้ำมันหอมระเหย, ภาชนะใส่เครื่องสังเวย และถ้วยน้ำ ยกเว้นพระเกจิอาจารย์ ต้องมีถ้วยน้ำ

แต่ถ้าเป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก ๑-๒ นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่ทำไว้บูชาหน้ารถ แต่เราจัดไว้บูชาในสถานที่ จะเผากำยานถวาย หรือถวายดอกไม้อย่างเดียวก็ได้

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ระบุไว้ในข้อ ๓-๖ ของการตั้งแท่นบูชา นอกจากกระถางธูป เชิงเทียน แจกันแล้ว ไม่ต้องมีเชิงกำยาน หรือเตาต้มน้ำมันหอมระเหย

แต่ยังคงต้องมีภาชนะใส่เครื่องสังเวย, ถาดรวมสำหรับใส่ภาชนะเครื่องสังเวย และถ้วยน้ำ

สัตว์มงคล ให้จัดเครื่องบูชาตามคู่มือ หรือใบฝอยของแต่ละสำนัก




สัตว์มงคลจีน โดยมากไม่ต้องมีเครื่องบูชา แต่สามารถตกแต่งให้ดูสดชื่น ด้วยแจกันดอกไม้เล็กๆ ๑ คู่ได้ ยกเว้นปี่เซี่ยะ บางสำนักกำหนดให้ต้องมีถ้วยน้ำ

๑๑) การจัดถ้วยน้ำ จะตั้งไว้ใกล้กับเทวรูปองค์ใหญ่ที่สุด ของเทพแต่ละองค์ก็ได้ หรือจัดเรียงกันไว้หน้าแท่นบูชา หรือหน้าโต๊ะหมู่ก็ได้ โดยจะต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกเช้า

แล้วก็อย่าให้มีขนาดใหญ่ หรือสูงกว่าเทวรูปเลยนะครับ

อย่างที่ทั่วไปทำกัน คือพระเกจิอาจารย์และเทวรูปหน้าตัก ๓ นิ้ว แต่แก้วน้ำที่ถวาย จัดซะขนาดเดียวกับแก้วน้ำที่เราใช้กันตามปกติ มันน่าเกลียดมากจริงๆ

และขอย้ำแล้วย้ำอีกครับ พระพุทธรูป กัยพระอรหันต์ ไม่ต้องมีถ้วยน้ำ




๑๒) เครื่องบูชาทั้งหมดในข้อ ๑๐ ควรจัดทำมาเป็นชุดเดียวกัน หรือเป็นวัสดุอย่างเดียวกัน

คือ ถ้าเป็นเซรามิกก็ต้องเป็นเซรามิกทั้งหมด ถ้าเป็นโลหะก็ต้องเป็นโลหะทั้งหมดละครับ

ถ้าหาง่ายตามร้านสังฆภัณฑ์ทั่วไป ก็เครื่องแก้วแน่นอนที่สุด ใครเดินจตุจักรเก่งๆ ก็หาเครื่องกระเบื้องเคลือบสีอื่นๆ เครื่องลายคราม หรือจะลงทุนเหมาเครื่องเบญจรงค์ก็ได้

ไม่ใช่เชิงเทียนเป็นทองเหลือง กระถางธูปเป็นแก้ว แจกันเป็นดินเผา ภาชนะมีทั้งกระเบื้อง สังกะสี สเตนเลส ฯลฯ รวมกับถาดพลาสติก ถือว่าเป็นการบูชาอย่างมักง่ายครับ

ถ้าเครื่องบูชาเป็นเซรามิกหรือแก้ว ก็อนุโลมใช้ถาดไม้ หรือถาดพลาสติกใสแทนได้

๑๓) ดอกไม้ที่จัดถวายในแจกันตามปกตินั้น ถ้ามีแท่นบูชาเพียงแท่นเดียว หรือมีโต๊ะหมู่บูชาเพียงชุดเดียว ก็ใช้แจกันดอกไม้เพียง ๑ คู่ ถ้าหากสะดวกก็ควรจัดดอกไม้สดถวายทุกวัน

แต่ถ้าหากไม่สะดวก หรือมีแท่นบูชาเกินกว่า ๑ แท่น ก็ใช้ดอกไม้ผ้า หรือดอกไม้ประดิษฐ์แทนได้ครับ เมื่อถึงเวลาถวายเครื่องสังเวย ค่อยจัดหาดอกไม้สดมาใส่แจกันถวายแทน

หรือจะใช้ดอกไม้ผ้าเป็นการถาวรไปเลยก็ได้ แล้วถวายดอกไม้สด ประเภทพวงมาลัยชนิดต่างๆ ใส่พานถวายไว้ตอนหน้าของแท่นบูชา




๑๔) ไม่ควรใช้ธูปชนิดไร้ควัน ควรใช้เทียนขี้ผึ้ง และเทียนสีธรรมชาติ (สีคล้ายน้ำอ้อย) ได้ จะดีที่สุด

ถ้าพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ทั่วไปก็ใช้เทียนเหลืองนะครับ ถ้าบูชาพระประจำวันเกิด เพียงองค์เดียว ไม่มีพระปางอื่น ค่อยใช้เทียนสีประจำวันเกิด

ธูปและเทียนจุดถวายแค่เวลาสวดมนต์ ตอนเช้าหรือก่อนนอน วันละครั้งพอ ใช้ธูปสั้นก็ถมเถไปครับ พอธูปหมดก็ดับเทียน ไม่ต้องรอให้เทียนหมดไปเอง

ส่วนธูปยาว ค่อยใช้ตอนสวดมนต์บูชาพระแบบยาวๆ หรือตอนถวายของสังเวยองค์เทพ ซึ่งอาทิตย์ละครั้งก็เหมาะสมดี ดังนั้นถึงใช้เทียนขี้ผึ้งราคาแพงก็ไม่ต้องกลัวเปลืองครับ

ส่วนกำยานควรจะจุดทุกวัน วันละ ๑ ดอก จะเป็นตอนเช้าหรือตอนกลางคืนก็ได้ โดยไม่ต้องจุดเทียน

๑๕) ไม่ควรใช้ธูปและเทียนไฟฟ้า

แต่สำหรับพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระเกจิอาจารย์ เทวรูป อดีตกษัตริย์ ควรใช้โคมไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างบริเวณแท่นบูชาตลอดทั้งวันทั้งคืน

ถ้าเป็นพระฤาษี เทพอสูร วีรบุรุษ-สตรีที่มิได้เป็นเจ้า ตลอดจนพวกนางกวัก แม่โพสพ ขุนแผน ภูตพรายและสัตว์มงคลต่างๆ ไม่ต้องมีโคมไฟฟ้า

ครับ, สำหรับผู้บูชามือใหม่ที่ควรรู้ก็มีเท่านี้แหละ




นอกนั้น ถ้าหาหนังสือ คู่มือบูชาเทพ ฉบับสมบูรณ์ ได้ ก็พยายามทำความเข้าใจกับรายละเอียดในหนังสือเถอะครับ ค่อยๆ อ่านไปวันละบท วันละตอน รับรองไม่สับสนหรอก เชื่อผมสิ


………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด