วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559

พระพุทธรูปกับการบูชาเทพ ตอนที่ ๑

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*





คนไทยเราไหว้พระ ไหว้เทพกันมาตั้งแต่โบราณ แต่เพิ่งจะมารู้จักประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ในบ้านก็เมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง

และการตั้งพระไว้ในบ้านเช่นที่กล่าวมานี้ ก็คงไม่เกิดขึ้นก่อนรัชกาลที่ ๕ หรอกครับ

ด้วยเหตุที่ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น แม้เราจะรู้จักตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปขนาดเล็ก โดยเอาแนวคิดมาจากโต๊ะหมู่ของจีน

แต่โต๊ะหมู่อย่างนั้นก็เป็นของประจำวัด ไม่ใช่สำหรับใช้ในวังหรือในบ้านครับ

ส่วนพระราชวังและวังต่างๆ ที่สร้างในรัชกาลที่ ๔ เท่าที่คงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่มีแห่งใดที่จะมีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กั้นห้องไว้เป็นสัดส่วนสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปโดยเฉพาะเช่นกัน

ยิ่งในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาพระพุทธรูปล้ำค่าจากหัวเมืองต่างๆ นั้น นอกจากจะรวบรวมไว้ในส่วนที่เป็นศาสนสถาน คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้ว ก็มีหอพระสร้างขึ้นเป็นอาคารต่างหาก ตั้งอยู่ในพระราชฐานชั้นใน คือ หอพระสุลาลัยพิมาน


หอพระสุลาลัยพิมาน ภาพจาก http://www.lib.su.ac.th

มิได้นำไปรวมไว้ในพระที่นั่ง และพระตำหนักต่างๆ

นั่นก็เพราะคนไทยโบราณถือกันว่า พระพุทธรูปเป็นของสูง ต้องอยู่ในวัดเท่านั้น

และนอกจากพระมหากษัตริย์แล้ว คนธรรมดาก็ไม่มีสิทธิ์จะครอบครอง

แต่ถึงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ยังต้องสร้างวัดหรือหอพระไว้ในพระราชวังต่างหาก ไม่อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานภายในพระตำหนักที่ประทับ ให้ปะปนกับกิจกรรมการดำเนินชีวิตแบบมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ซึ่งคนไทยสมัยก่อนมองว่า ไม่เหมาะสมครับ

แนวคิดเช่นนี้ ทำให้คนไทยโบราณ ไม่เคยบัญญัติวิธีที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ในบ้านเรือน เหมือนกับที่เรานิยมกันอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าจะรู้จักทำพระพุทธรูปขนาดเล็ก หน้าตักระหว่าง ๓-๙ นิ้ว ซึ่งเราเรียกกันเป็นสามัญว่า พระบูชาอย่างแพร่หลาย ก็ล้วนเป็นของสร้างถวายวัด หาได้สร้างไว้สำหรับประดิษฐานในบ้านคนทั่วไปไม่




การอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานในบ้านคน อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เห็นจะมาเริ่มเอาจริงๆ จังๆ เมื่อรัชกาลที่ ๕ นี้เองครับ

ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นยุคสมัยที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมยุโรปมาก และค่านิยมความเชื่อแบบไทยโบราณกำลังกลายเป็นของล้าสมัย รวมทั้งยังเกิดความตื่นตัวในการสะสมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ขึ้นในหมู่ชนชั้นสูงตามแบบชาวตะวันตก

กระแสนิยมการสะสมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุนี้ เป็นปัจจัยเบื้องแรกที่ทำให้พระพุทธรูปและเทวรูปโบราณขนาดเล็ก ซึ่งถูกทิ้งไว้ตามวัดร้างต่างๆ โดยปราศจากการเหลียวแลมานาน ถูกพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในเชิงศิลปะ ซึ่งไม่ควรจะถูกทิ้งจมดิน หรือนำไปเก็บรักษาไว้ในวัดเล็กๆ ตามหัวเมือง ซึ่งคนที่ตระหนักในคุณค่าของพระพุทธรูปเหล่านั้นเดินทางไปกราบไหว้บูชาได้ยาก

ทั้งยังเสี่ยงต่อการที่จะถูกขโมยนำไปขายให้กับชาวต่างประเทศ ซึ่งก็เริ่มเข้ามารวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ ในสมัยนั้นเช่นกันครับ

บรรดาชนชั้นสูง จึงเกิดความคิดที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานในรั้วในวัง หรือในบ้านของผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งมีกำลังและบริวารพอที่จะทำนุบำรุงปรนนิบัติพระพุทธรูป และเทวรูปเหล่านั้นให้สมฐานะได้ แม้จะมิใช่ในวัดดังที่เคยเป็นมาแต่ก่อนก็ตาม

พระราชวัง วังเจ้านาย ตลอดจนเคหสถานของชนชั้นสูงนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา จึงมีการแบ่งห้องใดห้องหนึ่ง เป็นห้องพระไว้ต่างหาก และโดยมากก็จะเป็นห้องเหนือมุขหน้าของตัวตำหนัก และของบ้าน


ห้องพระ ภายในวังวรดิศ ภาพจาก http://travel.thaiza.com

หรือถ้าวังหรือบ้านใดมีหอคอย ก็มักทำห้องพระไว้บนหอคอยนั้น ด้วยเห็นว่าเป็นจุดที่สูงที่สุดของบ้าน

เมื่อเจ้านายและชนชั้นสูงริเริ่มเป็นตัวอย่างเช่นนี้ บรรดาพ่อค้าซึ่งติดต่อกับชนชั้นสูงจึงทำบ้าง

ส่วนชาวบ้าน หรือคนธรรมดาสามัญทั่วไป กว่าจะนิยมทำหิ้งพระ หรือแม้แต่จัดห้องพระไว้ในบ้านของตนเองจริงๆ ก็ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๖-๗ แล้ว

และก็เป็นเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ เท่านั้นด้วยนะครับ

กว่าจะเป็นความนิยม ที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศอย่างในปัจจุบัน ก็ล่วงมาถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการประดิษฐานพระพุทธรูป และเทวรูปสำหรับบูชาส่วนบุคคลในสังคมไทย จึงเป็นเรื่องใหม่อย่างแท้จริงครับ

หากแม้จะมีเวลาสำหรับให้ทดลอง และปรับปรุงแก้ไขกันอยู่เพียงไม่กี่สิบปี นับจากเริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ แต่การที่คนไทยเรามีพื้นฐานในเรื่องเช่นนี้มาแต่โบราณอยู่แล้ว เราก็จึงมีแนวคิดอันหลากหลาย จากสำนักต่างๆ ในเรื่องการไหว้พระบูชาเทพ

แนวคิดไหนดี คือปฏิบัติแล้วได้ผล ก็เป็นที่ยอมรับกัน มีผู้บอกเล่าจดจารเป็นตำราถือปฏิบัติต่อๆ กันมา

ยิ่งตกมาถึงยุคปัจจุบัน ก็ยิ่งมีการเสนอแนวคิด และทฤษฎี ตลอดจนหลักการที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ 

ไม่ว่าจะได้มาจากประสบการณ์ และความชำนาญส่วนบุคคลก็ดี

อิงแบบโบราณเท่าที่ค้นได้ก็ดี

อ้างอิงไปถึงหลักการและวิธีปฏิบัติของชนชาติที่เราถือว่าเป็นต้นแบบ คืออินเดียและจีนก็ดี

จนแม้กระทั่งกำหนดขึ้นจากการคาดเดาเอาเอง หรืออุปโลกน์ทฤษฎีใหม่ โดยไม่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริงใดๆ ก็มีไม่น้อยครับ



ฉากห้องพระภายในตำหนักสมเด็จพระสุพรรณกัลยา
จากภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะคนโบราณ ไม่ตั้งพระไว้ในบ้าน

สิ่งที่กล่าวมานี้ มองในแง่หนึ่ง ผมก็ว่ามีข้อดีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

คือเป็นทางเลือกที่แตกต่างกันไป สำหรับคนที่เห็นเหมาะสม จะได้นำไปทดลองปฏิบัติกัน ให้ต้องตามจริตของแต่ละคน

ถ้าทำแล้วไม่ดี ไม่ได้ผล หรือเกิดผลในทางตรงกันข้าม ก็ไปหาวิธีใหม่มาทำแทนได้

ปัญหาก็คือ กว่าจะรู้ว่าไม่ได้ผล หรือกลับกลายเป็นผลเสีย ก็ต้องใช้เวลานาน บางทีกว่าจะรู้ก็สายเกินแก้แล้วน่ะสิครับ 

แล้วเกณฑ์ที่จะใช้ตัดสินว่า ควรจะเลือกปฏิบัติตามแนวทางใดก็ไม่มี 

เพราะโดยมากไม่ศึกษากัน เป็นแต่อาศัยทำตามอย่างที่บอกเล่าต่อๆ กันมาบ้าง

ทำเพราะเห็นว่าเจ้าของหลักการนั้นๆ เป็นคนมีชื่อเสียง เป็นดารา หรือเป็นบุคคลที่มีสื่อมีกลไกทางธุรกิจ คอยประโคมเชิดชูว่าเป็นผู้รู้แท้รู้จริงบ้าง

ซึ่งอย่างหลังนี่ ไม่ค่อยมีหลักการอะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรอกครับ ส่วนใหญ่เป็นลัทธิการเดา หรือมโนไปเองมากกว่า

ส่วนความรู้ในเรื่องการประดิษฐานพระพุทธรูป สำหรับผู้บูชาองค์เทพต่างๆ อันเป็นเนื้อหาหลัก ที่ผมจะเขียนในบทความถัดจากนี้ไป โดยข้อเท็จจริงก็ต้องนับว่าเป็นความรู้ใหม่เหมือนกันละครับ

เพราะโดยหลักการส่วนใหญ่แล้ว เป็นแนวคิดของท่านศรี วิชยภารตี (Shri Vijaya Bharati) ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ถ่ายทอดเทวศาสตร์อินเดียแก่ผมเท่านั้น




จึงเป็นเรื่องเกินสมควรไปนะครับ ที่ใครจะรีบร้อนด่วนสรุปว่า ควรยึดถือเป็นตำรับตำรา หรือเป็นมาตรฐานใดๆ ในขณะนี้

เพียงแต่การที่ผมเลือกแนวทางดังกล่าวมานำเสนอ ก็ด้วยเหตุผล ๓ ประการ

๑.เป็นมติที่เกิดจากประสบการณ์ และการค้นคว้านับสิบๆ ปีของท่านศรี วิชยภารตี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเทวศาสตร์สายพระสรัสวดี ที่เก่าแก่ที่สุดสายหนึ่งในภารตประเทศ

และโดยส่วนตัวของท่าน เป็นผู้มีวิจารณญาณละเอียด พิถีพิถัน สิ่งใดที่ไม่แน่ใจหรือมีผลน้อย ท่านจะไม่นำมาวางเป็นหลักการ หรือแนวทางสำหรับสั่งสอนใครเป็นอันขาดครับ

๒.หลักการและเนื้อหาของแนวคิดนี้ เข้ากันได้กับคำสั่งสอนของคณาจารย์หลายท่าน ที่ได้สั่งสอนผมมาในอดีต

ถึงขนาดที่ว่า บางอย่างนั้นตรงกัน เป็นเรื่องเดียวกันเลยละครับ

ส่วนที่ต่างกัน ก็เห็นได้ชัดว่ามาจากหลักคิดและวิธีการอย่างเดียวกัน

แม้ว่า คณาจารย์เหล่านั้นจะเป็นพระสงฆ์ในชนบทห่างไกลของเมืองไทย หรือหมอไสยศาสตร์พื้นบ้าน ซึ่งไม่เคยมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับท่านศรี วิชยภารตีเลยนะครับ

ในขณะที่ท่านศรี วิชยภารตีเองนั้น แม้จะมีความเชี่ยวชาญทางเทววิทยาอินเดีย จากการที่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรงจากประเทศนั้น แต่ท่านก็แทบไม่เคยรู้จักวิชาไสยศาสตร์ใดๆ ในเมืองไทย พอที่จะอาศัยสังเคราะห์แนวคิดและวิธีการต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับแนวทางของท่านได้เช่นกัน

เมื่อมาจากต่างแหล่ง ต่างองค์ความรู้กัน แล้วมีความสอดคล้องเข้ากันได้ดังที่กล่าวมานี้ ก็แสดงว่า เป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วระดับหนึ่งครับ ว่า ใช้ได้จริง

๓.ไม่ว่าสิ่งใดที่ผมได้รับการถ่ายทอดจากท่านศรี วิชยภารตี ที่ผ่านมา ผมได้นำไปทดลองปฏิบัติด้วยตนเองก็ดี แนะนำให้ผู้อื่นปฏิบัติก็ดี ล้วนแต่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เป็นไปตามอุปเท่ห์แห่งวิชานั้นๆ ที่ท่านศรี วิชยภารตีได้กล่าวไว้ทั้งสิ้นครับ

บทความส่วนใหญ่ที่ผมโพสต์ก่อนหน้านี้ ในบล็อกนี้ หรือข้อเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ตลอดจนความรู้ที่ผมเผยแพร่ ทำมาหากินในวงการนี้มาตลอด ก็ล้วนแตกแขนงมาจากหลักการของอาจารย์ท่านเดียวกันนี้ทั้งนั้น

หลักการต่างๆ ที่ผมจะนำเสนอในบทความต่อไป นับจากนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นผมเอง หรือใครที่นำไปทดลองปฏิบัติมาแล้ว เป็นเวลาหลายปี ต่างก็ประสบผลดีเหมือนๆ กัน

ดังนั้น ในบทความบทต่อไป ที่ผมจะนำมาโพสต์ในบล็อกนี้  จึงเป็นอย่างที่ผมขอเน้นอีกครั้งว่า ไม่ใช่ตำรา หรือมาตรฐานสำหรับให้นำไปยึดถือและอ้างอิงต่อๆ กันไป เป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้สนใจในเรื่องนี้เท่านั้น

โดยเฉพาะผู้ที่บูชาเทพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งผมว่า ส่วนมากคงไม่เคยคิดมาก่อนว่า พระพุทธรูปกับเทวรูปนั้น แท้ที่จริง สามารถส่งเสริมเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ให้ผู้สักการบูชาได้รับสิ่งดีๆ ในชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณได้

ไม่ใช่ว่าพระก็อยู่ส่วนพระ เทพก็อยู่ส่วนเทพ ดังที่มักเข้าใจต่อๆ กันมาหรอกครับ

ขึ้นชื่อว่าพระพุทธรูป ไม่ว่าจะรูปแบบใดล้วนเป็นมงคลวัตถุ มีพลังอำนาจที่จะส่งเสริมผู้บูชาให้มีความสุขความเจริญในชีวิต

ส่วนเทวรูป ไม่ว่าเทพองค์ใด รูปแบบใด หากว่าสร้างถูกต้อง เทวาภิเษกถูกต้อง ก็ล้วนแต่สามารถปกป้องคุ้มครองผู้บูชาให้ถึงพร้อมด้วยความสำเร็จสมปรารถนา




แต่ไม่ใช่พระพุทธรูปทุกแบบทุกองค์ที่จะประสาน ส่งเสริมพลังที่ดีงาม และเทวานุภาพของเทวรูปได้อย่างสมบูรณ์นะครับ

เมื่อมีผู้ไปศึกษา ลองแยกแยะออกมา มีผู้ปฏิบัติแล้วสำเร็จ ก็คงไม่เสียหายอะไรที่เราจะลองกระทำดูบ้าง จริงมั้ยครับ?

เพราะการบูชาพระก็ดี บูชาเทพก็ดี ถ้าบูชาถูกต้องก็ไม่มีอะไรเสียหายอยู่แล้ว

สัปดาห์หน้า เรามาดูกันครับ ว่าคนไทยเราที่มักบูชาทั้งพระและเทพ มีเคล็ดลับอย่างไรที่เราจะบูชาทั้งสองสิ่งนี้ ให้เกื้อหนุนเพิ่มสิริมงคล และเทวานุภาพให้ทบทวีคูณขึ้นอีกได้


..............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

4 ความคิดเห็น:

  1. ติดตามตอนต่อไปครับท่านอาจารย์ ได้ความรู้มากครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่เกินอาทิตย์หน้าแน่นอนค่ะ ^ ^

      ลบ
  2. คงเป็นความรู้ใหม่สำหรับคนอีกมากมายคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ตอนที่ ๒ โพสต์แล้วค่ะ ติดตามต่อเนื่องได้เลยนะคะ ^ ^

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น