วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

เทพที่ควรบูชากับพระพุทธรูป


บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*




ใน blog เดียวกันนี้ ผมเขียนบทความไว้ ๒ บท เกี่ยวแก่พระพุทธรูปสำหรับคนที่บูชาเทพ

คือ เมื่อมีพระพุทธรูปปางดังกล่าวอยู่ในบ้าน พระพุทธรูปเหล่านั้น มีพุทธานุภาพเกื้อหนุนการบูชาเทพให้เป็นไปโดยสัมมาศรัทธา ไม่หลงออกนอกทางกลายเป็นความงมงาย

และยังเสริมกำลัง หรือเทวานุภาพของเทวรูปให้เด่นชัดมากขึ้นด้วย

พระพุทธรูปทั้ง ๓ ปางนั้นก็คือ

พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี หรือพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา หรือ ธรรมจักรมุทรา (Dharmachakra Mudra)

และ พระพุทธรูปนาคปรก ทั้งปางสมาธิ และปางมารวิชัย ครับ

ทีนี้ สิ่งที่ผมยังไม่ได้เขียนในบทความนั้น ก็คือ

พระพุทธรูปแต่ละปางที่ว่านั้น แม้จะส่งเสริมเทวานุภาพขององค์เทพได้ทุกองค์ แต่ก็จะส่งเสริมได้ดีเป็นพิเศษ กับเทพบางองค์ที่มีทิพยภาวะ หรือคุณสมบัติสอดคล้องกับพระพุทธรูปปางนั้นๆ ได้มากกว่า

ประเด็นที่ว่า ส่งเสริมได้ดีเป็นพิเศษ ยังครอบคลุมไปถึงพุทธานุภาพในการขจัดพลังที่ distort อันเกิดจากความไม่สมดุลย์ หรือผลข้างเคียงจากการประดิษฐานรูปเคารพที่มาจากคนละลัทธิศาสนากัน ไว้ในแท่นบูชาเดียวกันด้วยครับ

อย่างเช่น พระบูชาของทางมหายาน ส่วนใหญ่ถ้าตั้งแท่นเดียวกับเทพอินเดีย ก็จะเกิดพลังเช่นว่านี้ได้ง่ายมาก




เพราะศาสนาทั้งสอง เขามีทิฐิในการประชันขันแข่ง ชิงดีชิงเด่นกันมาตลอดไงครับ

ซึ่งแม้ว่าพระโพธิสัตว์ และองค์เทพต่างๆ ท่านย่อมไม่ทรงมีทิฐิดังกล่าว

แต่รูปเคารพที่ผ่านพิธีกรรมในศาสนา หรือโดยนักบวชที่มีทิฐิดังกล่าว ก็ต้องซึมซับ และถ่ายทอดทิฐิดังกล่าวต่อมา ไม่มากก็น้อย

เป็นเรื่องธรรมดาครับ

เพียงแต่พวกเราไม่ค่อยรู้กัน นึกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้วนดีงาม มาอยู่ร่วมกันก็เท่ากับยิ่งเพิ่มสิริมงคล

คิดอย่างนั้นก็ใช่ครับ

แต่เหรียญย่อมมี ๒ด้าน พลังความเป็นมงคลเพิ่มขึ้นจริง แต่พลังในทางที่ไม่พึงประสงค์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ซึ่งการประดิษฐานพระพุทธรูป ๓ ปางดังกล่าว ก็จะช่วยขจัดพลังที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้นออกไป เพราะพระพุทธรูป ย่อมมีอานุภาพเหนืออว่ารูปเคารพใดๆ

ทีนี้ ผมก็จะมาแนะนำองค์เทพต่างๆ ที่บูชาร่วมกับพระพุทธรูปทั้ง ๓ ปาง ได้ดีเป็นพิเศษละครับ




สำหรับ พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เด่นในด้านของวาสนาบารมี ความเป็นใหญ่

และการสะกดข่ม หรือการมีชัยชนะเหนือมารร้าย สิ่งชั่วร้าย อาถรรพณ์ และบุคคลมิจฉาทิฏฐิ

เทพที่บูชาร่วมกับพระพุทธรูปปางนี้ได้ดีเป็นพิเศษ จึงควรเป็นเทพที่มีทิพยภาวะ และคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกัน หรือมีเรื่องราวที่สอดคล้องกัน ดังนี้ครับ

-เทพเจ้าฝ่ายเถรวาท ได้แก่ พระศรีวสุนธรา (พระแม่ธรณี), ท้าวสักกะเทวราช หรือพระอินทร์, ท้าวเวสสุวัณ




-เทพเจ้าฝ่ายมหายาน-วัชรยาน ได้แก่ พระศยามตาราโพธิสัตว์ (พระตาราเขียว), พระวสุธาราโพธิสัตว์, พระจุณฑาโพธิสัตว์

-เทพเจ้าฮินดู ได้แก่ พระศิวะนาฏราช, พระนารายณ์ (เฉพาะที่ไม่มีนาคปรก), พระลักษมี, พระคเณศ, พระราม, พระตรีปุระสุนทรี, พระกุเวร

-เทพเจ้าจีน ได้แก่ เทพราชันย์อวี้หวงต้าตี้ (玉皇大帝 เง็กเซียงฮ่องเต้), พระเทวีซีหวังหมู่ (西王母 อ่วงบ่อเนี้ย), พระเทวีเหยาฉือจินหมู่ (瑤池金母 กิมบ่อเนี้ย), เทพบดีเสวียนเทียนซ่างตี้ (瑤池金母 ตั่วเหล่าเอี๊ย), เทพบดีไฉ่เสินเอี๋ย (财神 ไฉ่ซิ่งเอี๊ย)




สำหรับ พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เด่นในด้านของปัญญาบารมี ความรู้แจ้ง การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนและวิชาการต่างๆ

เทพที่บูชาร่วมกับพระพุทธรูปปางนี้ได้ดีเป็นพิเศษ จึงควรเป็นเทพที่มีทิพยภาวะ และคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกัน หรือมีเรื่องราวที่สอดคล้องกัน ดังนี้ครับ

-เทพเจ้าฝ่ายเถรวาท ได้แก่ ท้าวมหาพรหม, พระสุนทรีวาณี
         
-เทพเจ้าฝ่ายมหายาน-วัชรยาน ได้แก่ พระโพธิสัตว์มัญชุศรี, พระนางปรัชญาปารมิตา, พระอารยสรัสวดี

         


-เทพเจ้าฮินดู ได้แก่ พระสรัสวดี, พระคเณศ (เฉพาะปางทรงพระอักษรและไม่ประดับเครื่องทรงมาก), พระพรหม, พระศิวะ (เฉพาะปางปกติทั่วไปหรือปางโยคี)
         
-เทพเจ้าจีน ได้แก่ เทพปรมาจารย์ไท่ซ่างเหล่าจวิน (太上老君 ไท่เสียงเหล่ากุง), พระแม่จิ่วเทียนเสวียนหนี่ว์ (九天玄女 กิวเทียงเหี่ยงนึ่ง), จอมเทพฝูซี (伏羲 ฮกฮี : คุรุเทพของศาสตร์อี้จิง, เฉพาะในพระวรกายแบบมนุษย์ ถือวงกลมหยินหยางหรือแผ่นยันต์แปดทิศ)




สำหรับ พระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปในด้านของการปกป้องคุ้มครอง สุขภาพ และธาตุน้ำ

เทพที่บูชาร่วมกับพระพุทธรูปปางนี้ได้ดีเป็นพิเศษ จึงควรเป็นเทพที่มีทิพยภาวะ และคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกัน หรือมีเรื่องราวที่สอดคล้องกัน ดังนี้ครับ

-เทพเจ้าฝ่ายเถรวาท ได้แก่ พระอินทร์, พระพิรุณ, พระมณีเมขลา
         
เทพเจ้าฝ่ายมหายาน-วัชรยาน ได้แก่ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์, พระชางคุลีโพธิสัตว์, พระสิตตาราโพธิสัตว์ (ตาราขาว), พระปัญจรักษา, นาคกัญญา

-เทพเจ้าฮินดู ได้แก่ พระนารายณ์ (เฉพาะที่มีนาคปรก), พระคเณศ (มีนาคปรกยิ่งดี), พระมนัสเทวี (มนสาเทวี)




-เทพเจ้าจีน ได้แก่ พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม (ไม่ควรเหยียบมังกร), พระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ (天后圣母 เทียงโหวเสี่ยบ้อ), พระแม่หนี่วา (女媧 หนึ่งออเหนี่ยเนี้ย), พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง (水尾圣娘 จุ้ยบ้วยเสี่ยเนี้ย หรือเจ้าแม่ทับทิม)

ขอเน้นว่า การที่บูชาร่วมกัน แล้วส่งเสริมกันเป็นพิเศษเช่นนี้ หมายถึงว่า ถ้าใครที่ไม่มีห้องพระ มีแค่พื้นที่พอวางโต๊ะหมู่ได้ชุดเดียว หรือจัดแท่นบูชาได้แท่นเดียว ก็สามารถตั้งพระปางใดปางหนึ่งเป็นประธาน แล้วตั้งพระโพธิสัตว์ หรือองค์เทพที่สอดคล้องกัน เลือกเอาตามศรัทธาได้เลยครับ

แต่ถ้ามีห้องพระ ก็แยกแท่นเถอะครับ ปลอดภัยกว่า แล้วยังเลือกหารูปแบบของพระโพธิสัตว์ และองค์เทพได้ตามความพอใจ

ถ้าตั้งแท่นเดียวกัน ยังมีเรื่องต้องคำนึงถึงอีกมาก

ยกตัวอย่างเช่น พระประธานเป็นพระปางโปรดพญาชมพูบดี พระโพธิสัตว์และองค์เทพที่จะไปร่วมโต๊ะหมู่เดียวกัน ก็ควรเป็นแบบที่เครื่องทรงเยอะๆ

แต่ถ้าพระประธานเป็นพระปางปฐมเทศนา ก็กลับกันครับ

คือ พระโพธิสัตว์และองค์เทพที่จะไปร่วมโต๊ะหมู่ ควรเป็นแบบเครื่องทรงน้อยๆ เป็นต้น

ครับ...ในส่วนที่เป็นพระโพธิสัตว์และองค์เทพต่างๆ ผมก็ระบุรายพระนามไว้เท่าที่นึกได้ในตอนนี้

เพื่อนๆ ท่านใดรู้จักพระโพธิสัตว์ หรือเทพอื่นใด คิดว่าควรจะเพิ่มเติมหรือจัดบูชากับพระพุทธรูปปางไหน ก็แนะนำกันเข้ามาได้เลยครับ

ยังมีหลักการสำคัญ ลืมไม่ได้

ใน http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2016/04/blog-post_9.html  พูดถึงบ้างแล้ว แต่ไม่ละเอียด คราวนี้เอาแบบชัดเจนขึ้นมาหน่อยครับ

๑) ถ้าตั้งไว้ในแท่นบูชาเดียวกัน หรือ โต๊ะหมู่เดียวกัน พระพุทธรูป พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ และองค์เทพ จะต้องมีขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วขึ้นไป

และมีขนาดเท่ากันทุกองค์ โดยพระประธาน สามารถใหญ่กว่าพระโพธิสัตว์และองค์เทพได้ไม่เกิน ๔ นิ้ว




เช่น พระโพธิสัตว์และองค์เทพทั้งแท่น แต่ละองค์หน้าตัก ๕ นิ้ว พระประธานควรจะเป็น ๗ นิ้ว หรือ ๙ นิ้วก็ได้ แต่ไม่ควรใหญ่กว่านั้น

และถ้าพระพุทธรูปหน้าตัก ๕ นิ้วเหมือนกัน กับพระโพธิสัตว์และองค์เทพ มวลขององค์พระ ก็ต้องไม่น้อยกว่าพระโพธิสัตว์และองค์เทพด้วย

คำว่า มวลขององค์พระ ก็หมายถึง ขนาดลำตัวจริงๆ ของพระพุทธรูป ไม่รวมฐานน่ะครับ

เพราะบางที ทำฐานมาใหญ่โตมาก แต่องค์พระเล็กนิดเดียว บางรุ่นบางสำนัก วัดหน้าตักองค์พระจริงๆ ได้ไม่ถึง ๕ นิ้ว แต่หน้าฐานปาเข้าไป ๑๒ นิ้ว

ยิ่งเป็นพระแพงๆ สมัยนี้ ที่ช่างปั้นเรียกตัวเองว่า ศิลปิน นี่แหละครับ

๒) พระพุทธรูป ต้องตั้งไว้ในลำดับสูงสุด 

และถ้าจำเป็นต้องตั้งรวมกับพระโพธิสัตว์หรือองค์เทพ อย่ามีพระพุทธรปเกินกว่า ๓ องค์




๓) พระอรหันต์ เช่น พระสังกัจจายน์ พระอุปคุต พระสีวลี ตั้งในลำดับรองจากพระประธาน

และควรเป้นปางประทับนั่งทั้งหมด พระสีวลีประทับยืนหรือเดิน หาง่ายครับ แต่ตั้งลำบาก

และถ้าตั้งเทพรวมด้วย พระอรหันต์ไม่ควรมีเกิน ๒ องค์ ตั้งโตณะปีก ๒ ข้างที่ขนาบพระประธาน

๔) พระโพธิสัตว์กับองค์เทพฮินดู-จีน เสมอกัน ตั้งระดับเดียวกัน คือ ถ้าไม่มีพระอรหันต์ ก็ตั้งรองจากพระประธาน ถ้ามีพระอรหันต์ ก็ต้องตั้งรองจากพระอรหันต์

มหายานอาจยกย่องพระโพธิสัตว์ไว้ใหญ่โต ที่จริงแล้ว ถ้ายังคงมีปณิธานจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ ก็ไม่สูงไปกว่าองค์เทพ เพราะเป็นการสร้างบารมีในระดับเดียวกัน

แต่เทพที่มิได้อยู่ในรายชื่อที่ผมแนะนำ อาจมีทิพยฐานะต่ำกว่าพระโพธิสัตว์นะครับ ตั้งเสมอพระโพธิสัตว์ไม่ได้ ต้องดูเป็นองค์ๆ ไป

แม้ในวัชรยาน นาคกัญญาก็ตั้งเสมอพระโพธิสัตว์และองค์เทพไม่ได้

๕) ทีนี้, อาจจะมีบางท่านสงสัยอีกว่า ถ้าตั้งพระคเณศรวมอยู่กับโต๊ะพระ เวลาไหว้พระ ควรจะ นะโม ตัสสะฯ ก่อน หรือ โอม ศรี คะเณศายะ นะมะฯ ก่อน?




เพราะพระคเณศ เป็นปฐมบูชาในศาสนาฮินดู

คำตอบ คือ นะโม ตัสสะฯ ก่อนครับ

เพราะเมื่อเราตั้งพระพุทธรูปเป็นพระประธาน แสดงว่า เรานับถือศาสนาพุทธ ไม่ใช่ศาสนาฮินดู

การที่ฮินดูบัญญัติว่า พระคเณศเป็นปฐมบูชานั้น ใช้กับศาสนาฮินดูเองเท่านั้นแหละครับ ไม่ใช้กับศาสนาอื่น

อีกอย่าง พระคเณศที่สร้างในเมืองไทย แม้ในการเทวาภิเษก จะมีพิธีพราหมณ์ด้วย แต่ก็มิได้มีการประจุให้เทวรูปของท่านต้องได้รับการบูชาเป็นปฐม

ส่วนพระคเณศที่สร้างในอินเดีย พิธีเทวาภิเษกเขาไม่มีความหมายนักหรอกครับ เอามาตั้งรวมกับพระไทยโดยไม่บูชาเป็นปฐม ก็ไม่มีผลเสียหายอะไร

ดังนั้น พระคเณศควรจะประดิษฐานอยู่แถวกลางของโต๊ะหมู่ เช่น โต๊ะกลางแถวที่ ๒ หรือ ๓

ถ้ามีพระโพธิสัตว์ หรือเทพจีนเทพไทยรวมอยู่ด้วย ก็บูชาไปตามลำดับครับ จากบนลงล่าง และจากซ้ายไปขวา

ถ้ามีแต่เทพฮินดูเหมือนกัน อยู่ในแท่นหรือโต๊ะหมู่เดียวกัน ไม่มีพระพุทธรูป จึงจะควรบูชาพระคเณศก่อนเทพเหล่านั้น




จับหลักไว้ว่า บูชาพระคเณศก่อนเทพอินเดียด้วยกัน ก็พอแล้ว

ครับ, ตอนนี้ผมนึกได้เท่านี้ ก็เขียอธิบายกันไว้เท่านี้ก่อน ซึ่งก็น่าจะเพียงพอ สำหรับคนไหว้พระบูชาเทพโดยทั่วไป

แล้วอะไรที่ผมบอกว่า ไม่ควรทำ ก็อย่ามีใครมาถามผมอีกนะครับ ว่าถ้าทำแล้วจะเป็นอย่างไร คนที่ถาม ลองใช้ สามัญสำนึก ดู ถ้าทำแล้วไม่เป็นไร ผมจะห้ามทำไมล่ะครับ?

เหตุผลมันยาว ถ้าแค่บอกว่าไม่ควรทำแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ไม่มีทางเข้าใจหรอกว่า ทำไมถึงไม่ควรทำ

……………………………

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

2 ความคิดเห็น:

  1. บอกว่าไม่ควรทำ ยังถามอีกเหรอคะว่าถ้าทำแล้วจะเป็นอย่างไร

    อวดดีรึโง่กันแน่

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. บางคนเค้าก็ขี้สงสัยมากจนเกินเหตุค่ะ

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น