วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

คณะเทพโชคลาภแห่งญี่ปุ่น

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์





เทพแห่งโชคลาภ ๗ องค์ หรือ ชีชิ ฟูกูจิน (七福神  Shichi Fugujin) เกิดขึ้นด้วยแนวคิดเดียวกับคณะเทพโป๊ยเซียนของจีน และเทพที่มาร่วมอยู่ในกลุ่มเทพ ๗ องค์นี้ ก็มีทั้งเทพที่รับมาจากศาสนาพุทธมหายาน ลัทธิเต๋า และเทพพื้นเมืองของญี่ปุ่นปะปนกันครับ

ว่ากันว่า ผู้เป็นต้นคิดให้นำคณะเทพทั้ง ๗ องค์นี้มารวมกัน คือพระภิกษุชาวญี่ปุ่นนามว่า เท็นเกอิ (Tenkei) เป็นผู้คัดเลือกเทพต่างๆ ที่ได้รับความนิยมทั่วเกาะญี่ปุ่นมาถวายโชกุนโตกุกาวา อิเอมิตสุ เมื่อ พ.ศ.๒๑๖๖ นี้เอง

โดยเหตุที่จะเกิดเรื่องราวดังกล่าว เป็นเพราะครั้งหนึ่ง หลวงพ่อเท็นเคอิได้แสดงปรัชญาแก่ท่านโชกุนไว้ว่า หลักแห่งความผาสุกของมนุษย์โดยทั่วไปนั้น ควรจะประกอบด้วย ๗ สิ่ง คือ

๑) ความมีอายุยืน

๒) ความมีโชคดี

๓) ความนิยม

๔) ความไม่มีอคติ

๕) ความเอื้อเฟื้อ

๖) ความมีเกียรติ

๗) ความไม่อาฆาตพยาบาท

ปรากฏว่าท่านโชกุนเลื่อมใสคำสอนของหลวงพ่อเท็นเคอิมาก เพราะมองว่าผู้ใดก็ตามที่มีหลักทั้ง ๗ ประการนี้ ย่อมจะพบกับความสุขความเจริญอย่างแน่นอน

ท่านโชกุนจึงขอให้หลวงพ่อคัดเลือกเทพเจ้าที่นับถือกันในญี่ปุ่นตอนนั้น ๗ องค์ เพื่อเป็นตัวแทนของคุณงามความดีทั้ง ๗ ประการดังกล่าว

หลวงพ่อจึงให้จิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น นามว่า กาโน (Kano) วาดภาพเทพที่ท่านคัดเลือกมาทั้ง ๗ องค์ ให้มารวมเป็นคณะเดียวกัน ซึ่งปรากฏว่าท่านโชกุนชื่นชอบมาก แล้วจึงกลายเป็นความนิยมที่แพร่กระจายไปทั่วญี่ปุ่นนับตั้งแต่สมัยนั้น ใครๆ ต่างก็พากันบูชาเทพทั้ง ๗ องค์มาจนถึงทุกวันนี้ครับ

จะกล่าวถึงคณะเทพทั้ง ๗ ดังต่อไปนี้




๑) ไดโกกุ (大黒 Daikoku) หรือ ไดโกกุเท็น เทพแห่งโชคลาภและทรัพย์สมบัติ

เทวลักษณะเป็นชายอ้วนลงพุง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส สวมหมวกแบนๆ มีผู้วิเคราะห์ว่าเดิมท่านน่าจะเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในศาสนาพุทธมหายานเช่น คือ พระมหากาล 

แต่พอคติดังกล่าวแผ่ไปถึงจีน ก็เกิดมีพระมหากาลขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง ซึ่งนิยมประดิษฐานตามระเบียงในวัดต่างๆ

พระมหากาลที่เกิดขึ้นใหม่นี้ มีลักษณะที่ดูเมตตากว่าพระมหากาลองค์เดิม และยังเป็นเทพแห่งผลผลิตทางการเกษตร คือประทานพรให้ผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญงอกงาม อีกทั้งยังมีหน้าที่คุ้มครองรักษาทรัพย์สินภายในวัดด้วย จึงกลายเป็นเทพแห่งโชคลาภในหมู่ชาวจีนขึ้นมา

ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ผู้ก่อตั้งนิกายเท็นไดและชินกอน ได้นำคติการบูชาพระมหากาลเข้าสู่ญี่ปุ่น โดยเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน และวัดวาอารามดังเดิม

แต่แล้วในไม่ช้า ก็มีการแลกเปลี่ยนคุณสมบัติกันระหว่างเทพองค์นี้ กับเทพโอคูนินูชิ พระธรณีของญี่ปุ่น (เพศชาย) แล้วต่อมาไดโกกุก็เลยกลายเป็นเทพแห่งชาวนาไปด้วย

เทวรูปไดโกกุ เป็นเทวรูปที่มีพัฒนาการหลากหลายมากที่สุดในหมู่เทพโชคลาภทั้ง ๗ องค์ คือเดิมท่านถือถุงทองเฉยๆ ต่อมาเริ่มแบกกระสอบข้าว และต้องแบกสองใบเป็นปกติครับ ยิ่งเป็นปางพิเศษยิ่งต้องมีกระสอบข้าวมากๆ จนแบกไม่ไหว ต้องเอาไปกองรวมอยู่ที่พระบาท

หลังจากนั้น ก็มีการเพิ่มรูปตะลุมพุกเข้าไปในพระหัตถ์ เทวรูปที่ถือตะลุมพุกนี่ละครับ ว่ากันว่าถ้าท่านสั่นตะลุมพุกเมื่อไหร่ เงินทองไหลมาเทมาเมื่อนั้น

บางที รูปเทพไดโกกุยังยืนอยู่บนฟ่อนข้าวที่กำลังถูกหนูแทะกินด้วยครับ แต่ท่านประทับอยู่ในอาการที่มีความสุขไม่เดือดร้อน เพราะท่านมั่งคั่งร่ำรวยนั่นเอง คตินิยมเช่นนี้ทำให้หลายๆ บ้านเอารูปท่านไปติดไว้ในครัว เพื่อให้กำราบหนู




๒) เอบิสุ (恵比寿 Ebisu) เทพเจ้าแห่งความยุติธรรม ความเที่ยงตรง

เทพองค์นี้มีจุดเด่น คือ ทรงถือคันเบ็ดไว้ในพระหัตถ์หนึ่ง อีกพระหัตถ์หนีบปลาตัวใหญ่ ( Tai ) ไว้ หรือบางรูปก็ขี่ปลา

ในศาสนาชินโตกล่าวว่า เทพเอบิสุเป็นโอรสของพระธรณี โอคูนินูชิ นอกจากนี้บางตำนานก็ว่าท่านเป็นโอรสของเทพไดโกกุ แต่บางตำนานก็ว่าท่านเป็นโอรสองค์ที่ ๓ ของเทพ อิซานางิ (イザナギ) และเทวี อิซานามิ (イザナミ) ผู้สร้างหมู่เกาะญี่ปุ่นครับ

เทวกำเนิดเทพองค์นี้สับสนหลายปกรณ์ แต่ถ้าในทางเทววิทยาจริงๆ เชื่อกันว่า ท่านเป็น กามิ (香美) หรือภูตดั้งเดิมของญี่ปุ่นมาก่อน ดังนั้นท่านจึงเป็นเทพญี่ปุ่นแท้ๆ มิได้มาจากต่างประเทศเหมือนเทวีเบนเท็น และเทพไดโกกุ

เทพเอบิสุนี้เป็นที่บูชากันมากในแถบโอซากา ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมประมงของญี่ปุ่นมาแต่โบราณ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกลายเป็นเทพแห่งการประมง และเป็นที่นิยมบูชากันในโรงงานและตลาดปลา ชาวประมงญี่ปุ่นเมื่อจะออกทะเลแต่ละครั้ง มักบูชาเทพองค์นี้เสมอครับ

นอกจากนี้ เทพเอบิสุ ยังเป็นที่บูชากันในหมู่พวกเล่นละครหุ่น ทหารเรือ พ่อค้า และนักธุรกิจ มีเทศกาลไหว้ประจำปีในระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ ตุลาคม เรียกว่า เอบิสุโกะ เป็นเทศกาลใหญ่โตมาก เพราะท่านได้รับความนิยมสูงสุดเคียงคู่กับเทพไดโกกุทีเดียว




๓) ไดเบนไซเท็น (大弁財天 Daibenzaiten) หรือ เบนเท็น เทวีแห่งความงามและดนตรี

คือ พระแม่สรัสวดี ซึ่งเข้าไปถึงญี่ปุ่นในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๓ โดยผ่านศาสนาพุทธนิกายมหายาน และในฐานะที่เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติเกือบจะเหมือนกับพระสรัสวดีของศาสนาฮินดูทุกอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นเทวีแห่งการพูด ภาษา สติปัญญา ความรู้ และศิลปะ

เมื่อเข้าสู่ญี่ปุ่น พระนางก็ทรงมีหน้าที่รักษาพระไตรปิฎก รวมทั้งปกป้องผู้ที่ครอบครองพระไตรปิฎก คล้ายๆ กับ พระสุนทรีวาณี ของไทยเรา และพระแม่ Thuyathadi ของพม่า

แต่ในเวลาต่อมา นิกายชินกอนและเทนไดได้เปลี่ยนแปลงคติความเชื่อเกี่ยวกับเทวีเบนเท็น โดยให้เป็นเทพผู้ครองน้ำ ร่วมกับเทพแห่งผืนดินริมฝั่งแม่น้ำ คือเทพ กามิ ซึ่งเป็นเทพพื้นเมืองของญี่ปุ่น

ต่อมาเทวีองค์นี้ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับเทพอสูร อูกา จิน ซึ่งเป็นเทพงูขาว ซึ่งครอบครองพลังลึกลับ รวมทั้งของเหลวทั้งหมด

ก็จะเห็นชัดครับว่า เมื่อทรงเกี่ยวข้องกับเทพแห่งผืนดินริมน้ำ และเทพแห่งของเหลวดังกล่าว ก็กลายเป็นเหตุปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้คนญี่ปุ่นนับถือพระนางเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ และโชคลาภ

เมื่อเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ โชคลาภ ก็ย่อมบันดาลความมั่งคั่ง พวกพ่อค้าจึงรับพระนางเข้าเป็นหนึ่งในคณะเทพแห่งโชคลาภด้วยเหตุนี้ละครับ

และไม่เพียงพ่อค้า แม้แต่พวกนักพนัน หรือแม้แต่โจร ยังพากันนับถือพระนางเลยครับ เพราะคิดว่านับถือแล้วก็จะทำให้ตนมีโชคลาภบ้าง ในบางท้องถิ่น ก็ยังถือว่าทรงเป็นเทพที่ประทานโชคดีให้กับคู่แต่งงานด้วยครับ

ด้วยเหตุนี้ เทวีเบนเท็นซึ่งเกิดจากพระสรัสวดี ก็กลับกลายเป็นเทพที่คนญี่ปุ่นพากันนับถือเหมือนที่คนอินเดียนับถือพระแม่ลักษมี

ในขณะเดียวกัน คติที่นับถือพระนางว่าเป็นเทพแห่งดนตรี และศิลปะการแสดง ก็ยังคงอยู่ แม้ว่าจะกลายเป็นเทพแห่งความมั่งคั่งร่ำรวยไปแล้ว

เทวรูปของพระนางก็ยังถือพิณอยู่เหมือนเดิม แม้จะไม่ใช่วีณาของอินเดียอีกต่อไปแล้ว แต่เปลี่ยนเป็นพิณ บีวะ (琵琶 Biwa) ของญี่ปุ่นแทน

พวกที่ใช้ศิลปะการแสดงเป็นอาชีพเลี้ยงตัว อย่างพวกเกอิชาเลยนับถือพระนางเป็นอันมากครับ เทวีเบนเท็นในญี่ปุ่นเลยเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เป็นเทพคุ้มครองพวกเกอิชาด้วย

เทวรูปเบนเท็นในศาลเจ้าหลายๆ แห่ง มักปรากฏรูปงูอยู่ด้วย เพราะพระนางทรงมีความเกี่ยวข้องกับบาดาล หรือ โลกใต้ดินด้วยครับ

โดยทางหนึ่งเล่ากันว่า พระนางทรงเป็นพระขนิษฐาของราชาแห่งนรก อีกทางหนึ่งบอกว่าพระนางทรงแต่งงานกับพญามังกร

แต่คติเก่าแก่ของพระนางดังที่เล่าไปแล้ว ก็คือความเกี่ยวข้องกับเทพกามิ ผู้ครองผืนดินริมน้ำ และเทพอสูร อูกา จิน ซึ่งเป็นเทพงูขาวผู้ครองน้ำ ก็อาจจะเป็นที่มาของรูปงูที่ปรากฏร่วมกับเทวรูปพระนางเช่นกัน

ดังนั้นจึงนับถือกันว่า พระนางสามารถควบคุมมังกรและอสรพิษต่างๆ ได้ รวมทั้งคุ้มครองผู้เดินทางยามวิกาลจากงูได้ด้วย




๔) ฟูกุโรกูจุ (福禄寿 Fukurokuju) เทพเจ้าแห่งความมีอายุยืน และความสุขุมรอบคอบ

ฟูกุโรกูจุ เป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดีในอีกรูปแบบหนึ่ง ท่านได้รับการนับถือในฐานะเทพผู้ประทานพรให้มีอายุยืนยาว และดลบันดาลให้มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง ทำให้ข้าวปลาธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งทำให้ทรัพย์สินเพิ่มทวีคูณก็ได้ครับ

เทววิทยาญี่ปุ่นอธิบายว่า เทพองค์นี้เกิดจากสภาวะ ๓ ประการ หรือเทพ ๓ องค์มารวมกัน คือ ฟูกุ : เทพเจ้าแห่งความสุข, โรกุ : เทพเจ้าแห่งทรัพย์สมบัติ และ จู : เทพเจ้าแห่งความมีอายุยืน

เทพองค์นี้มักปรากฏเป็นคนแก่อ้วนเตี้ย มีลักษณะของผู้คงแก่เรียน มีความเคร่งขรึม สำรวม ที่น่าสังเกตคือพระเศียรเรียวยาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอายุยืน ความฉลาด และประสบการณ์ มักมีสัตว์มงคล เช่น นกกระเรียน หรือกวาง รวมทั้งเต่าอยู่ใกล้ๆ สัตว์เหล่านี้ในมายาศาสตร์จีนล้วนแต่เป็นตัวแทนของความมีอายุยืนทั้งสิ้น

ดังนั้น เทพองค์นี้ก็คือเทพองค์เดียวกับเทพ โซ่ว หรือเทพ ซิ่ว ที่อยู่ในชุด ฮก ลก ซิ่ว ของจีนนั่นแหละครับ ว่ากันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของเทพจูโรจิน ซึ่งเป็นเทพแห่งอายุยืนอีกองค์หนึ่งด้วย

ท่านทรงเป็นที่นับถือของพวกนักเลงหมากรุก คนทำสวน ตลอดจนพวกพ่อค้าอัญมณีและเครื่องประดับต่างๆ รวมไปถึงนักมายากล นักวิทยาศาสตร์ และช่างทำนาฬิกา





๕) จูโรจิน (寿老人 Jurojin)  เทพเจ้าแห่งความมีอายุยืนและความสุขุมรอบคอบอีกองค์หนึ่ง

ในฐานะที่เป็นโอรสของเทพฟูกุโรกูจุ จูโรจินย่อมได้รับคุณสมบัติของพระบิดา คือความฉลาดรอบรู้ และความมีอายุยืนมาด้วยเช่นกัน เทวลักษณะของพระองค์ก็คือชายร่างเล็กเตี้ย แต่ศีรษะใหญ่ มักถือไม้เท้ายาวแล้วก็จะมีสมุดเล่มเล็กๆ ห้อยไว้ด้วย

สมุดเล่มนี้ ท่านเอาไว้คอยจดอายุของบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกเอาไว้ แล้วข้างกายท่านก็มักมีกวางคลอเคลียอยู่เหมือนพระบิดา ถ้าเป็นรูปวาดสมัยเก่าๆ มักวาดให้กวางนี้เป็นสีดำครับ แต่ถ้าเป็นรูปสมัยใหม่บางทีก็ไม่มีกวาง เพื่อไม่ให้ซ้ำกับเทพฟูกุโรกูจุ

ว่ากันว่า ท่านโปรดสุรามากครับ โดยเฉพาะเหล้าสาเก ทรงเป็นนักดื่มตัวยง แต่ด้วยความที่เป็นเทพ ก็เลยไม่เมา ท่านก็เลยเป็นที่นับถือของพวกที่มีอาชีพต้มเหล้า ผลิตเหล้า เวลาจัดของเซ่นไหว้ท่านก็ต้องมีเหล้าสาเกรวมอยู่ด้วย

แต่ที่น่าแปลกก็คือ คนที่นับถือท่านนั้นบางพวกก็มีอาชีพที่ไม่ควรแตะต้องสุรายาเมาชนิดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นนักบิน หมอดู ครูบาอาจารย์ ในขณะที่พวกเสมียน ช่างกล นักสำรวจ นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง ก็นับถือท่านกันมากเช่นกันครับ




๖) บิชามง (毘沙門 Bishamon) เทพเจ้าแห่งเกียรติยศ

เทพองค์นี้เดิมก็คือ พระไวศรวรรณ หรือ พระโพธิสัตว์ชัมภล หรือ ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวัณ ของไทยเรานั่นเอง เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นโลกบาลผู้ครองทิศเหนือ รวมทั้งเป็นเทพผู้คุ้มกฎ และปกป้องผู้บูชาจากอันตราย และภูตผีปีศาจด้วยครับ

นอกจากนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นของบิชามงก็คือ เป็นเทพแห่งทรัพย์สมบัติ ว่ากันว่าพระองค์ทรงเป็นเทพที่มั่งคั่งร่ำรวยยิ่งนัก ทั้งยังสามารถประทานโชคลาภ ๑๐ ประการ และทรัพย์สินเงินทองของมีค่าตามแต่ผู้บูชาจะอธิษฐาน

ในอีกด้านหนึ่ง บิชามงยังเป็นเทพแห่งสงครามด้วยครับ ดังนั้นทิพยรูปของพระองค์จะสวมเสื้อเกราะแบบนักรบ ทรงมีพระพักตร์สีฟ้า ถืออาวุธต่างๆ แต่ที่เห็นชัดคือหอกและเจดีย์ เช่นเดียวกับท้าวกุเวรของจีน หรือ โตเหวินเทียนฮว๋าง น่ะแหละครับ ที่ถือเจดีย์เช่นกัน บางทีก็ปรากฏในลักษณะที่กำลังเหยียบปีศาจสองตนอีกด้วย

เทพบิชามงเป็นตัวแทนของคุณงามความดี ความสงบสุข ท่านได้รับการนับถือทั้งจากพวกหมอ นักบวชชินโต พระภิกษุในศาสนาพุทธฝ่ายมหายานของญี่ปุ่นเป็นอันมาก




๗) โฮเตย์ (布袋 Hotei) เทพเจ้าแห่งความนิยมและความไม่ผูกพยาบาท

นี่ก็เป็นเทพของพวกนักผลิตสุรายาเมาอีกองค์หนึ่งครับ

เพียงแต่ว่าท่านมีหน้าที่อื่นอีก คือเป็นเทพผู้คุ้มครองเด็ก และเป็นเทพผู้อุปถัมภ์พวกหมอดู นักพยากรณ์แขนงต่างๆ รวมทั้งมีคุณสมบัติหลักๆ คือประทานโชคลาภเช่นเดียวกับอีก ๖ องค์

เทวลักษณะของเทพองค์นี้ ก็คล้ายกับเทพโชคลาภองค์อื่นๆ คือรูปร่างอ้วน แก้มยุ้ย ใบหน้ายิ้มแป้น มักจะสะพายย่ามใบใหญ่ ย่ามใบนี้เล่ากันว่าใส่ของไปมากแค่ไหนก็ไม่มีวันเต็ม

เทววิทยาญี่ปุ่นยอมรับว่า เทพองค์นี้มาจากจีนอย่างแน่นอน ว่ากันว่าท่านเคยเป็นมนุษย์ธรรมดา เกิดในสมัยราชวงศ์เหลียงของจีน และถึงแก่มรณกรรมเมื่อพ.ศ.๙๑๖

ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้เชี่ยวชาญในพุทธศาสนามากครับ และท่านก็มีวัตรปฏิบัติของผู้ละวาง ไม่ยึดติดใดๆ ไม่มีบ้านช่องหรือที่หลับที่นอนโดยเฉพาะ ค่ำไหนนอนนั่น บางครั้งก็นอนในทุ่งโล่งได้อย่างไม่สะทกสะท้าน แม้ว่าจะมีหิมะลงอย่างหนัก การแต่งกายท่านก็ไม่มิดชิดอะไร มักจะไม่ใส่เสื้อด้วยซ้ำไปครับ

การที่ท่านแต่งกายคล้ายพระศรีอาริยเมตไตรของจีน รวมทั้งสะพายย่ามใบใหญ่ และมักอยู่ในอาการยิ้มแย้มแจ่มใสหรือหัวเราะ ทำให้มีผู้เสนอว่า เทพองค์นี้อาจเป็นคติความเชื่อเดียวกับพระศรีอาริยเมตไตรของจีนก็เป็นได้

แต่เมื่อมาถึงญี่ปุ่นก็กลายเป็นเทพที่ชอบเหล้าสาเก นั่นก็เพราะคนญี่ปุ่นชอบเหล้าสาเก เหล้าชนิดนี้เป็นสัญลักษณ์ของความสุขอย่างหนึ่งในความคิดของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบราณ เทพแห่งความสุขจึงมักปรากฏคู่กับเหล้าสาเกไงครับ

ตามคติเดิมแล้ว พ่อค้าในญี่ปุ่นจะนิยมบูชาเทพไดโกกุ กับเอบิสุเป็นหลัก ในขณะที่พวกเสนาบดี ข้าราชการ นิยมบูชาเทพบิชามง และจูโรจิน ซึ่งบางทีก็รวมไปถึงฟูกุโรกูจุ ส่วนพวกนักดนตรีนิยมบูชาเทวีเบนเท็น

ดังนั้นเทพทั้ง ๗ องค์นี้ แต่ละองค์ก็มีศาลเจ้า หรือเทวสถานเป็นของพระองค์เอง ส่วนในรูปภาพและประติมากรรมต่างๆ ก็จะมีทั้งที่ปรากฏโดยลำพัง หรืออยู่รวมกันเป็นหมู่คณะครับ




โดยเมื่อปรากฏรวมกัน มักอยู่ในเรือหัวมังกร เรียกว่า เรือมหาสมบัติ หรือ ตาการะบูเนะ (宝船 Takarabune) ซึ่งก็เป็นการรับแนวคิดมาจากรูป ปาเซียนกั้วไห่ (八仙過海) หรือ แปดเซียนข้ามทะเล ของจีนนั่นเอง

ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่า เทพแห่งโชคลาภทั้ง ๗ นี้ จะนำเรือมหาสมบัติมาสู่โลกมนุษย์ทุกๆ วันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นจึงมีธรรมเนียมการมอบ ตาการะบูเนะ เป็นของขวัญปีใหม่ ในลักษณะของการ์ดอวยพร หรือวัตถุมงคลชนิดใดชนิดหนึ่งเสมอ

และในตอนเย็นวันที่สองของปีใหม่ จะมีประเพณีนำรูป ตาการะบูเนะ วางไว้ใต้หมอน เพื่อให้ผู้หนุนหมอนนั้นโชคดีไปตลอดปี


..............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


1 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น