วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559

ถาม-ตอบ เรื่องพระคเณศ ตอนที่ ๒

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




เนื้อหาทั้งหมดของบทความนี้ เดิมเป็นการถามตอบระหว่างคุณดนัย นาควัชระ แฟนพันธุ์แท้ศิษย์พระพิฆเนศวร์ กับผม ผ่านคอลัมน์ตอบจดหมายของเว็บไซต์ aromamodaka.com เมื่อหลายปีมาแล้ว

ในช่วงนั้น คุณดนัยเพิ่งได้รับรางวัลแฟนพันธุ์แท้มาหยกๆ เขามีความกระตือรือล้น และใส่ใจในเรื่องเทววิทยามาก เมื่อพบตัวจริงของผม ซึ่งเป็นผู้เฉลยคำตอบสุดท้ายในรายการนั้น เขาก็พูดคุยกับผมทั้งทางโทรศัพท์ ทางเว็บไซต์ และไปมาหาสู่กับผมอยู่เสมอ จนสนิทสนมคุ้นเคยกับผมและภรรยาเป็นอย่างดี

อีกทั้งเขาตระเวนขับรถ ช่วยถ่ายภาพมาประกอบหนังสือของผม ด้วยความสนุก ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

คุณดนัย เป็นหนึ่งในศิษย์ยกพานรุ่นที่ ๒ ของผม ซึ่งบัดนี้ห่างเหินกันไปตามกาล เพราะกิจธุระส่วนตัว ไม่มีปัญหาความขัดแย้งใดๆ กัน ผมจึงยังคงระลึกถึงเขาจนทุกวันนี้ ด้วยความปรารถนาดีเสมอ

ผมเอาคำถามคำตอบเรื่องพระคเณศ จากเว็บไซต์ซึ่งปิดตัวไปนานแล้ว มาโพสต์ใน blog ศรีคุรุเทพมนตรา เพราะเห็นว่ายังทันสมัย ด้วยว่าเป็นเรื่องที่ผู้ศรัทธาพระคเณศหลายคนยังคงอยากรู้ และมีการสอบถามกันทางสื่อต่างๆ แม้จนทุกวันนี้

อีกนัยหนึ่ง เพื่อร่วมฉลองเทศกาลคเณศจตุรถี อันเป็นมหามงคล และเป็นเทศกาลแห่งความสุขของคนที่บูชาพระคเณศ จึงได้นำมาเรียบเรียงอีกครั้งหนึ่ง และขอขอบคุณเจ้าของจดหมายดังกล่าวไว้ ณ ที่นี้


เนื้อหาต่อไปนี้ เป็นการถาม-ตอบต่อเนื่องจากโพสต์ก่อนหน้านี้ครับ


พระคเณศ ปางนาฏลีลา จัดสร้างโดยมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง

ถาม : การที่คนไทยรับคติบูชาพระคเณศมาในฐานะครูช้าง หรือพระเทวกรรม รวมทั้งยกย่องให้ท่านเป็นเทพแห่งศิลปะ และการแสดง แท้ที่จริงแล้วนั่นไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์

เรื่องครูช้างนั้นพอเข้าใจได้ เพราะท่านก็มาจากลัทธิบูชาช้าง

แต่เทพแห่งศิลปะ การแสดงที่เรายึดคตินี้อยู่ปัจจุบัน อาจารย์ว่าผิดไหม เพราะการยัดเยียดคุณสมบัติใดๆที่ไม่ใช่คติเดิม หรือไม่ใช่ของพระองค์ท่าน เวลาบูชาก็ไม่น่าจะได้รับพลังนั้นๆ

หรือความเป็นจริงแล้ว สภาวะของการเป็นเทพสามารถทำได้ทุกอย่าง โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงบูชาเทพพระองค์เดียว แล้วขอพรทุกเรื่องจากท่านก็คงพอแล้ว

ตอบ :ไม่ผิด เพราะถึงไม่ใช่เทพแห่งศิลปะโดยตรง แต่เมื่อท่านเป็นเทพแห่งความสำเร็จ ท่านก็อำนวยความสำเร็จในทางศิลปะได้

เพียงแต่เป็นการบูชาที่มีผลน้อย เพราะขาดความเข้าใจในทิพยภาวะที่แท้จริงของท่าน ก็มีผลน้อยเหมือนกับการไปบูชาพลังหยินของท่านในรูปของพระคเณศานีนั่นเอง

เทพทุกองค์ทำได้ทุกอย่างครับ ทว่า แต่ละองค์ก็จะทรงมีความเชี่ยวชาญ หรือโดดเด่นในเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกันไป เรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น เป็นเรื่องรอง

เช่นกรณีของพระคเณศนี้ อานุภาพในด้านศิลปกรรม ถือเป็นเรื่องรอง เรามัวไปบูชากันอยู่ในเรื่องรอง แทนที่จะไปบูชาเรื่องที่เด่นของท่าน ท่านก็อำนวยผลให้ในระดับที่รองลงไปน่ะสิครับ

เพราะหลักของเทววิทยาก็คือ บูชาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเมื่ออยากบูชากันในเรื่องรองๆ ก็ได้ไปแค่นั้น ส่งจิตไปถึงท่านเพียงเท่านั้น ท่านก็ทรงตอบรับเพียงเท่านั้น เป็นสิ่งที่ผู้บูชาเลือกเอง องค์เทพท่านไม่มากำหนดกฎเกณฑ์อะไรให้หรอกครับ

ผมถึงต้องไปเขียนไว้ใน คู่มือบูชาเทพ ไงล่ะ ว่าเทพแต่ละองค์ท่านทรงมีทิพยภาวะอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร บุคลิกภาพของท่านเป็นอย่างไร

โดยเฉพาะในเรื่องคุณสมบัตินั้น ผมเขียนไว้เลยว่า

เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะอธิษฐานหรือขอพร ถ้าขอพรในสิ่งที่ไม่ใช่คุณสมบัติขององค์เทพโดยตรง อาจได้ผลไม่สมบูรณ์หรือไม่เกิดผล

ถ้าเป็นอย่างคุณพูดคือบูชาเทพองค์เดียว แล้วขอพรจากท่านได้ทุกเรื่อง ผมก็คงไม่ต้องเขียนหนังสือเล่มนั้นน่ะสิ และคงไม่ต้องเขียนหนังสือเกี่ยวกับเทพเจ้าในลัทธิศาสนาต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งตั้งใจจะให้สำเร็จในอนาคตด้วย
  

พระคเณศาณี

ถาม : พระคเณศาณี เป็นคติบูชาพระคเณศในรูปแบบที่เป็นเพศหญิง อย่างนี้ถือว่าผิดหลักเทววิทยาไหม

๑. ผิด เพราะทิพยรูป และทิพยภาวะที่แท้จริงของพระคเณศเป็นชาย เพราะฉะนั้นถ้ารูปเคารพผิดไปจากความจริง การส่งผ่านพลังของท่านย่อมไม่ได้ หรือไม่สมบูรณ์ เหมือนเราเอารูปปั้นผู้หญิง มาใช้แทนเพศชาย

๒. ถูก เพราะพระคเณศาณีเป็นลัทธิบูชาสัตว์ ก็คือบูชาช้างเหมือนพระคเณศ แต่เป็นช้างเพศเมีย โดยชนเผ่านี้อาจจะเห็นพลังในช้างเพศเมียมากว่าเพศผู้ รวมทั้งผู้นำชนเผ่าอาจยกผู้หญิงเป็นใหญ่ เมื่อรวมคติก็เลยออกมาในรูปแบบพระคเณศาณี

แต่ที่น่าแปลกก็คือ ถ้าเป็นคนละชนเผ่าที่นับถือช้าง ทำไมชื่อจึงคล้ายกัน ไม่เปลี่ยนเป็นชื่ออื่น หรืออาจจะเป็นชนเผ่าที่นับถือพระคเณศเหมือนกันแต่แยกลัทธิออกมาบูชาช้างเพศเมีย เพราะชื่อของท่านยังมีรากศัพท์มาจากคำว่า "คเณศ"

ตอบ : พระคเณศานี เกิดจากอิทธิพลของแนวคิดแบบตันตระ ที่เพ่งเล็งไปที่พลังของเพศหญิง ซึ่งซ้อนอยู่ในเพศชาย หรือมุ่งบูชาพลังหยินที่แทรกอยู่ในพลังหยาง

คือคนเราเมื่อเกิดมาก็ต้องมีธาตุ หรือพลังของทั้งสองเพศอยู่ในตัวเราเองด้วยกันทุกคน เรียกง่ายๆ ว่า หยินกับหยาง ธาตุหรือพลังไหนแก่กล้ากว่า ก็เป็นไปตามเพศภาวะของธาตุหรือพลังนั้นๆ ซึ่งบางทีก็ไม่ตรงกับเพศของกายเนื้อที่เป็นอยู่แต่อย่างใด

เช่น บางคนเป็นผู้ชาย แต่ธาตุหยินแก่กล้ากว่า ก็เป็นผู้ชายที่มีลักษณะเรียบร้อยนุ่มนิ่มเหมือนผู้หญิง หรือถ้าหยินแก่จัดมากก็กลายเป็นกะเทยไป

ขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่หยางแก่กล้ามากๆ ก็กลายเป็นหญิงห้าว เป็นทอมบอยไป

หยินหยางนี้มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และมีอยู่ในสิ่งที่ไม่มีชีวิตทุกชนิดด้วย

ปรัชญาตันตระบางสายมุ่งให้ความสำคัญกับธาตุ หรือพลังแฝงในรูปแบบที่เป็นหยินหยางนี้เป็นพิเศษ จึงทำให้เกิดการเคารพบูชาเทพเจ้าเพศชายบางองค์ ในลักษณะของเทวสตรี ซึ่งในกรณีของพระคเณศ ก็คือพระคเณศานีที่เราพูดกันอยู่นี้เอง

ดังนั้น พระคเณศานีก็คือ ภาคหนึ่งของพระคเณศ เป็นธาตุ หรือ กำลัง ของพระคเณศที่แสดงออกมาในลักษณะของเทพนารี

ถ้าจะถามว่าผิดหรือถูกหลักเทววิทยา ก็ต้องถามต่อไปว่าเทววิทยาสายไหน

ถ้าหากเป็นเทววิทยาของคาณปัตยะ ก็ผิด แต่ถ้าเป็นเทววิทยาของตันตระ ก็ถูก

ดังนั้นถ้าพูดว่า เทววิทยารวมๆ ก็ไม่มีอะไรผิดครับ

เมื่อบูชาธาตุ และกำลังของท่านในส่วนที่เป็นหญิง ก็ย่อมได้ผลเหมือนกัน เพราะก็เป็นการบูชาท่านในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

แต่ได้ผลน้อย และไม่สมบูรณ์เท่ากับเทวรูปที่เป็นเพศชาย และอ้วน เพราะอะไร

เพราะแม้ว่าพระคเณศจะเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเทวสตรีส่วนใหญ่ก็สามารถถ่ายทอดอานุภาพของความอุดมสมบูรณ์ได้โดยทางประติมานวิทยาก็จริง

แต่จากสถิติที่คนอินเดียโบราณจดจำสืบทอดต่อๆ กันมา เทวรูปพระคเณศที่เป็นเพศชายนั้นแสดงอานุภาพด้านต่างๆ ได้ครบถ้วนมากกว่า และพระคเณศก็ทรงเป็นเทพผู้ชายมาแต่เดิม

การบูชาพระองค์ในรูปลักษณ์ของเทวสตรี จึงแม้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ก็ไม่ work เท่าที่ควร พระคเณศานีจึงไม่ได้รับความนิยมดังที่เห็นกันอยู่


พระคเณศ กับพระนางสิทธิ พระนางพุทธิ

ถาม : พระนางพุทธิ พระนางสิทธิ เกี่ยวข้องกับพระคเณศเฉพาะในด้านเทวปกรณ์ หรือเป็นเพียงสัญลักษณ์แทนพลังบางอย่าง

ตอบ : เป็นสิ่งที่เกิดมาจากทิฐิของแขกอินเดียที่มองว่า คนที่มีชีวิตที่สมบูรณ์ต้องมีครอบครัว แล้วก็เลยเอาทิฐิอันเดียวกันนั้นไปใช้กับเทพเจ้าด้วย

ดังนั้น เมื่อไม่รู้จะจับพระคเณศไปคู่กับเทพนารีองค์ใด (เพราะท่านคงได้รับการบูชาอย่างเป็นเอกเทศมาแต่เดิม โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับชนเผ่าที่นับถือพระแม่องค์ใด)

ก็เลยต้องมีการอุปโลกน์พระชายาขึ้นมาให้ท่าน แล้วก็อุปโลกน์โอรสให้ท่านด้วย ซึ่งทุกชื่อล้วนเป็นปริศนาธรรมทั้งนั้น

กล่าวคือ เป็นเรื่องที่ปราชญ์ฮินดู แต่งขึ้นมาในเชิงของ บุคลาธิษฐาน (Personification) เพื่ออธิบายเทวปรัชญาของพระคเณศ

สิทธิ คือ ความสำเร็จพุทธิ คือ ความรู้แจ้ง มีสองอย่างนี้ ก็จะทำให้เกิดความมั่งมีศรีสุข (เกษม และ ลาภ)

เมื่อเป็นเทวปรัชญา ก็คือเอาไว้สำหรับใคร่ครวญ พิเคราะห์ พิจารณ์ และยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ไม่ใช่เอาไว้สำหรับกราบไหว้

๑) ความสำเร็จกับความรู้แจ้งเป็นของคู่กัน ไม่เอาความรู้ก็ไม่ต้องหวังความสำเร็จ

๒) ทำอะไรอย่างรู้ไม่จริง รู้งูๆ ปลาๆ ก็สำเร็จไม่ได้

๓) เมื่อไม่สำเร็จ ก็ไม่ต้องพูดกันถึงดอกผลที่จะตามมา คือ เกษม และ ลาภ

ปราชญ์ท่านบัญญัติไว้ให้คิด คนที่คิดไม่เป็น ก็จะไขว้เขว เห็นเทวรูปพระคเณศมีชายา ๒ องค์เคียงข้าง พาลนึกว่าบูชาแล้ว ได้ความสำเร็จในเรื่องผู้หญิง ก็มี




ถาม : อวตารของพระคเณศ ไม่ว่าจะเป็น ๘ ปาง ๓๒ ปาง ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ รวมทั้งสีพระวรกายนั้น เป็นการบรรเจิดทางความคิดเพื่อเสริมบารมีให้องค์ท่าน และแต่งเทวปกรณ์เสริม เพราะเนื่องจากท่านเป็นเทพพื้นเมืองที่มีคนบูชามาก จึงเป็นกุศโลบายทางการเมือง เพื่อยกย่องพระองค์ท่าน และเพื่อผลการโน้มน้าวชนเผ่าอื่นเข้ามานับถือพระองค์มากขึ้น?

ตอบ : ลักษณะท่าทาง และปางต่างๆ ของพระคเณศ เป็นประติมานวิทยาที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับทำเทวรูป ให้สำแดงอานุภาพในลักษณะที่แตกต่างกันไป

เรื่องสีพระวรกายก็เช่นกัน เป็นมายาศาสตร์ว่าด้วยพลังของสี ที่ส่งอิทธิพลในด้านต่างๆ เป็นเรื่องของความบรรเจิดที่มีหลักวิชารองรับ ก่อนที่จะฟูมฟายกลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน เช่น พระคเณศประจำวัน หรือประจำราศี ดังที่มีหมอดูไทยเคยแนะนำไว้

ปางของพระคเณศนั้น ในชั้นเดิมก็มีเพียง ๓ ปาง คือ นั่ง ยืน และเต้นรำ ต่อมาก็มีการบัญญัติขึ้นเป็น ๘ ปาง และ ๓๒ ปางตามลำดับ เป็นเรื่องที่เกิดในนิกายคาณปัตยะ ซึ่งนับถือพระคเณศเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด  ถ้าเป็นนิกายอื่น เช่น ไศวะนิกาย ไม่มีปาง มีแต่ท่านั่ง ยืน และเต้นรำเท่านั้น




ถาม : ปางแต่ละปางมีข้อกำหนดไหมครับว่าจะต้องประทับอยู่ท่าใด ทรงถืออะไร เพราะบางสำนักออกพระคเณศปางโน้น ปางนี้มา ไม่เห็นเหมือนกับในรูปภาพ หรือที่ตำราบอกไว้

ตอบ : มีกำหนดไว้ชัดเจนครับ

แต่ศิลปินเขามองแล้วรู้ว่า เป็นเรื่องของรายละเอียดที่มนุษย์ด้วยกันแต่งขึ้น และจดเป็นตำราไว้ ถ้าตัวเขาเองรู้หลักพื้นฐานว่า ควรจะใส่อะไรเข้าไปที่เทวรูปเพื่อผลทางด้านใด เขาก็จะสนใจข้อกำหนดพวกนั้นเฉพาะในส่วนที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น 

ดังนั้น เทวรูปพระคเณศในอินเดีย จึงมีรายละเอียดที่แตกต่างจากในคัมภีร์ มาตั้งแต่ก่อนที่จะมีคัมภีร์เหล่านั้นเสียอีก

และจนกระทั่งมีคัมภีร์เหล่านั้นแล้ว ก็มีทั้งคนที่ปฏิบัติตาม และคนที่ไม่สนใจที่จะปฏิบัติตาม

ซึ่งไม่เป็นเงื่อนไขที่จะมาใช้วัดกันว่า จะทำให้เทวรูปขลังหรือไม่ขลัง เพราะต่อให้ทำเทวรูปตามตำราทุกอย่าง เสกไม่เป็นก็ไม่ขลังเหมือนกันละครับ

ครับ, ก็เป็นอันจบในส่วนของคำถาม-คำตอบ เรื่องของพระคเณศ ระหว่างผมกับคุณดนัย นาควัชระ เพียงเท่านี้ ถ้าบทความนี้จะมีความดีอย่างไร ขอยกให้คุณดนัย แฟนพันธุ์แท้ศิษย์พระพิฆเนศ ทั้งหมดทั้งสิ้นครับ


....................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

3 ความคิดเห็น:

  1. ความรู้ล้วนๆ คะขอบคุณมาก

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ยินดีค่ะ ขอบคุณที่ติดตามเช่นกันค่ะ ^ ^

      ลบ
  2. “เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะอธิษฐานหรือขอพร ถ้าขอพรในสิ่งที่ไม่ใช่คุณสมบัติขององค์เทพโดยตรง อาจได้ผลไม่สมบูรณ์หรือไม่เกิดผล”

    คนไทยส่วนมากนึกว่าขออะไรก็ได้

    น่าสงสารจริงๆ ค่ะ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น