วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เจ้าแม่ทับทิม : เจ้าแม่สวรรค์ และ เจ้าแม่ท้ายน้ำ


บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*



ชาวจีนทุกแห่งหน มักจะมี ศาลเจ้าแม่ทับทิม เสมอ ไม่ว่าไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ

เพราะอย่างที่พวกเราโดยมาก รู้กันดีอยู่แล้วนะครับ ท่านเป็นทพคุ้มครองชาวเรือทั้งปวง

แต่คำว่า เจ้าแม่ทับทิม ที่คนไทยเรียกขานนั้น มิได้แปลจากพระสมัญญานามในภาษาจีนนะครับ

และพระแม่ผู้คุ้มครองชาวเรือของจีน ที่บูชากันอยู่ท้ะวสไป มี ๒ องค์ ซึ่งคนไทยเรียกว่า เจ้าแม่ทับทิมทั้งคู่

ที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดความสับสนพอสมควร

เพราะคติการบูชาเทพจีนที่เข้ามาสู่เมืองไทย เข้ามากับชาวจีนหลายภาษา หลากวัฒนธรรม

เทพองค์เดียวกัน ต่างคนก็ต่างว่าไปตามทางของตัว จนสับสนปนเปกันไปหมด

ประติมานวิทยาก็ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจน หรือเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อคนจีนนิยมถวายฉลองพระองค์แด่เจ้าแม่ต่างๆ ด้วยสีแดง ซึ่งเป็นสีนำโชคเหมือนกันไปหมด แล้วก็ไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาไทยให้คนไทยรู้เรื่อง

ก็ช่วยไม่ได้ละครับ ที่จะทำให้คนไทยใช้คำเรียกง่ายๆ ว่า เจ้าแม่ทับทิม

ปัจจุบันนี้ มีการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ ด้วยการแปลจากภาษาจีน ในระดับที่อ่านแล้วสับสนน้อยกว่าในอดีต หรือเข้าใจง่ายขึ้น ผมก็เลยนำจากหลายๆ แหล่ง มาเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายขึ้นอีก

โดยเก็บเอาเฉพาะสาระสำคัญจริงๆ นะครับ

เรื่องอื่นที่น่ารู้เหมือนกัน แต่ปลีกย่อยเกินไป จะนำไปโพสต์ใน facebook

เอาละครับ เรามารู้จักเจ้าแม่ทับทิมองค์แรกกันก่อน


เจ้าแม่หม่าโจ้ว หรือ เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ องค์ประธานในศาลเจ้าเทียนโฮ่ว
กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

นั่นคือ เจ้าแม่องค์ที่คนแต้จิ๋วในเมืองไทยเรา นิยมเรียกว่า หม่าโจ้ว หรือในภาษาจีนกลาง ออกเสียงว่า ม๋าจู่ (妈祖)

ตำนานจีนเล่าว่า เจ้าแม่หม่าโจ้วมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ทรงถือกำเนิดในหมู่บ้านชาวประมง เกาะเหมยโจว เมืองจิงหัว อำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน หรือ ฮกเกี้ยน นั่นแหละครับ

ก่อนท่านจะถือกำเนิด มารดาของท่าน (แซ่หวาง บางตำราว่าชื่อ เฉินซื่อ) มีลูก ๕ คนแล้ว คนโตเป็นชาย นอกนั้นเป็นหญิงทั้งหมด

เนื่องจากบุตรชายที่มีเพียงคนเดียว ร่างกายไม่แข็งแรง นางจึงอธิษฐานขอบุตรชายอีกสักคนหนึ่ง จากพระแม่กวนอิม

แต่บางเอกสารกลับเล่าว่า มารดาของท่านมีลูกชายอยู่แล้ว ๕ คน ลูกสาว ๑ คน อยากได้ลูกสาวอีคน จึงอธิษฐานขอจากพระโพธิสัตว์กวนอิม

ซึ่งพระแม่กวนอิมก็เสด็จมาเข้าฝัน ตรัสว่า นางจะให้กำเนิดสตรีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะได้รับความเคารพบูชาจากทั้งชาวบ้าน และชาวทะเลนับหมื่นครัวเรือน แล้วจึงประทานยาลูกกลอน (บางตำราว่าดอกไม้) ให้นางกินหนึ่งเม็ด จากนั้นนางก็ตั้งครรภ์

ครั้นถึงวันที่ ๒๓ เดือน ๓ พ.ศ.๑๕๐๓  ตรงกับรัชสมัย เจ้ากวงยิ่นฮ่องเต้ (趙匡胤) รัชศกเจี้ยนหลง (建隆) ที่ ๑ แห่งราชวงศ์ซ่ง นางก็คลอดบุตรเป็นหญิง

ขณะนั้น ภายในห้องปรากฏสิ่งมหัศจรรย์ เช่น มีกลิ่นหอมอบอวลกำจายไปทั่ว นอกบ้านก็มีรัศมีสีแดงพุ่งจากขอบฟ้าฟากตะวันตกเฉียงเหนือ สาดเข้าไปถึงในห้อง

เนื่องจากทารกคนนี้ คลอดออกมาแล้วไม่ร้องไห้ จึงตั้งชื่อว่า หลินโม่ว (林默) เพราะคำว่า โม่ว () ในภาษาจีนนั้น แปลว่า เงียบ นั่นเอง

ชื่อนี้ถ้าออกเสียงแบบแต้จิ๋ว ก็คือ ลิ้มมิก

ส่วนที่เอกสารต่างๆ นิยมเรียกกันทั่วไปว่า หลินโม่วเหนียง (林默娘 หรือ ลิ้มมิกเนี้ย ในสำเนียงแต้จิ๋ว) ก็คือเป็นการเรียกแบบเป็นทางการครับ

ดังนั้น ต่อไปผมก็จะเขียนพระนามของท่านตามนี้เหมือนกัน


พระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ องค์ใหญ่ที่สุดในโลก บนเกาะเหมยโจวในปัจจุบัน
ภาพจาก http://www.panoramio.com

ตำนานเล่าว่า เมื่อหลินโม่วเหนียงเจริญวัยขึ้น ก็แสดงถึงความเฉลียวฉลาดยิ่งกว่าเด็กทั่วไป เมื่ออายุ ๔ ขวบ ได้ติดตามบิดา (บางตำราว่ามารดา) ไปไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่ภูเขา ผู่โถวซาน ในมณฑลเจ้อเจียง หลังจากนั้นท่านก็มีอำนาจวิเศษ

แต่บางตำราว่า เมื่อเจริญวัยขึ้น ท่านได้รับคัมภีร์ไร้อักษร อู๋จื้อเทียนจิง (無字天 แต้จิ๋วว่า บ่อหยี่เทียงเก็ง ) จากท่านปรมาจารย์ ไท่ซ่างเหล่าจวิน (太上老君 แต้จิ๋วว่า ไท้เสี่ยงเหล่ากุง) คุรุเทพแห่งลัทธิเต๋า

ทำให้ท่านมีอิทธิฤทธิ์มากมาย และมีความสามารถในด้านการรักษาโรคต่างๆ ให้ประชาชนผู้เจ็บป่วย จนผู้คนพากันไปขอวามช่วยเหลือจากท่านเป็นอันมาก

นอกจากพลังอำนาจในการรักษาโรค พยากรณ์อนาคตแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านเคารพมาก คือ พลังอำนาจในการที่ท่านสามารถช่วยเหลือผู้ประสพภัยทางทะเล ซึ่งเป็นเคราะห์กรรมที่บังเกิดแก่ชาวประมงในหมู่บ้านของท่านเสมอครับ

โดยมีตำนานหนึ่งเล่าว่า วันหนึ่ง ขณะท่านนั่งทอผ้าอยู่ในบ้าน ก็รู้โดยญาณบารมีว่า เรือของบิดาและพี่ชายถูกพายุซัดกระหน่ำกลางทะเล

ท่านจึงกระชากกี่อย่างรุนแรง ซึ่งที่จริง เป็นการใช้อิทธิฤทธิ์ ส่งพลังไปฉุดดึงเรือของพวกเขากลับเข้าฝั่ง

พี่สะใภ้เห็นเข้า เกิดความสงสัย เมื่อพ่อและสามี รอดกลับมาถึงฝั่งจึงได้เล่าให้ฟัง ทุกคนในครอบครัว และบ้านใกล้เรือนเคียงจึงรู้ว่า หลินโม่วเหนียงมีพลังวิเศษ ช่วยเหลือพ่อและพี่ชายให้พ้นจากความตายได้


เจ้าแม่หม่าโจ้ว คลองสาน อายุ ๑๖๙ ปี ล้ง 9999

ต่อมา ข่าวว่าหลินโม่วเหนียงช่วยนำเรือฝ่าพายุกลับเข้าฝั่ง หรือช่วยชีวิตคนเรือแตก ให้รอดตายเริ่มแพร่ออกไปมากขึ้น

ผู้ที่รอดชีวิตกลับมาเล่าตรงกันว่า เห็นสาวน้อยยืนอยู่บนเรือ หรือไม่ก็เหาะเหินอยู่บนท้องฟ้า ช่วยพวกเขาให้รอดถึงฝั่งได้

ครั้นสอบถามจากญาติพี่น้อง จึงทราบว่า พวกนั้นรู้เรื่องที่ท่านใช้อำนาจวิเศษ ช่วยพ่อและพี่ชายพ้นเคราะห์ภัย เมื่อรู้ว่าคนในครอบครัวของตนกำลังประสบภัยกลางทะเล ก็พากันไปขอความช่วยเหลือจากหลินโม่วเหนียง

บางครั้งท่านแสดงอิทธิฤทธิ์ โยนผ้าขาวไปในอากาศ เพื่อช่วยชาวประมงที่กำลังเผชิญพายุในทะเล ชาวประมงเหล่านั้นกลับมาเล่าว่า ในขณะที่เรือผจญพายุขนาดใหญ่ บนท้องฟ้ามีผ้าขาวลงมาคล้องเรือของพวกเขา และฉุดให้พ้นจากมหันตภัยร้าย

ต่อมา ท่านจึงใช้ญาณวิเศษ พยากรณ์ลมฟ้าได้แม่นยำ ชาวเรือสามารถหลีกเลี่ยงพายุ ทำให้ท่านไม่ต้องแก้ปัญหา ด้วยการใช้อิทธิฤทธิ์ช่วยพวกเขา จากอุบัติภัยทางทะเลทุกครั้งอีกต่อไป

ชาวบ้านจึงต่างพากันยกย่องสรรเสริญ ขนานนามให้ท่านเป็น ท่งเสียนหลิงหนี่ว์ (贤灵女) แปลว่า เทพธิดาผู้รู้แจ้ง หรือ หลงหนี่ว์ (龙女) แปลว่า ธิดามังกร

ต่อมา ในวัย ๒๘  ปี ท่านได้ขึ้นไปบนเขา เหมยซาน (湄山) สำเร็จเป็นเซียนล่องลอยสู่สวรรค์ในวันที่ ๙ เดือน ๙ ตามปฏิทินจันทรคติจีน เวลานั้น ชาวบ้านต่างพากันเห็นแสงสว่างโชติช่วง และได้ยินเสียงดนตรีประโคมไปทั่ว

หลังจากนั้น ท่านก็ปรากฏพระองค์กลางทะเล ช่วยเหลือชาวเรือเมื่อประสบพายุใหญ่ หรือดลบันดาลให้คลื่นลมทะเลที่รุนแรงกลับสงบลงอยู่เสมอ

ท่านยังสำแดงเทวานุภาพ ขจัดภัยจากปีศาจ อสูร กำราบมังกรร้าย เรียกฝนแก้ภัยแล้ง ทำคุณให้ประชาชนเป็นอันมาก โดยมีบริวารคือ เทพหูทิพย์ เทพตาทิพย์ ซึ่งเดิมคือสองพี่น้องตระกูลเกา คอยรับสนองเทวโองการ


เทวรูป เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ แบบมาตรฐาน ถือป้ายอาญาสิทธิ์

ชาวบ้านเกาะเหมยโจว จึงพร้อมใจกันสร้าง ศาลเจ้าหลินโม่วเหนียง (林默娘 : หลินโม่วเหนียงเมี่ยว ) แห่งแรกขึ้นไว้กราบไหว้บูชา เพื่อขอความคุ้มครอง และเป็นนิมิตหมายที่ดีก่อนออกทะเล

แต่แรงศรัทธาไม่หยุดเพียงแค่นั้นหรอกครับ ชาวเรือและชาวประมงในมณฑลต่างๆ ก็พากันสร้างศาลเจ้าหลินโม่วเหนียงในกาลต่อมา

ซึ่งทำให้ในที่สุด ศาลเจ้าเหล่านี้ก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป

เพราะคติการบูชาเจ้าแม่หลินโม่วเหนียงได้เข้าสู่ราชสำนัก จนฮ่องเต้หลายพระองค์ได้พระราชทานตำแหน่ง หรือ พระสมัญญานาม  เพื่อเป็นการยกย่อง เช่น

พ.ศ.๑๖๙๘ สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ พระเจ้าซ่งเกาจง (宋高宗) พระราชทานพระสมัญญานามให้เป็น ฉงฝูฟูเหยิน (崇福夫人)

พ.ศ.๑๗๓๓ พระเจ้าซ่งกวงจง (宋光宗) พระราชทานพระสมัญญานามให้เป็น หลิงฮุ่ยเฟย (灵惠妃)

พ.ศ.๑๘๒๑ สมัยราชวงศ์หยวน จักรพรรดิหยวนซื่อจู่ (元世祖) หรือ กุบไลข่าน พระราชทานพระสมัญญานามให้เป็น เทียนเฟย (天妃)

พ.ศ.๒๒๒๓ สมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิคังซี (康熙) พระราชทานพระสมัญญานามให้เป็น เทียนซ่างเซิ่งหมู่ (天上圣) ในปีต่อมา พ.ศ.๒๒๒๔ พระราชทานพระสมัญญานามให้เป็น เหยินฉือเทียนโฮ่ว (仁慈天后)

จากนั้น พระสมัญญานามของท่านก็ยาวขึ้นเรื่อยๆ จนถึงรัชสมัย จักรพรรดิเสียนเฟิง (咸丰) พระราชสวามีของ พระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后) พระสมัญญานามของท่านต้องเขียนเป็นตัวอักษรจีนถึง ๖๔ คำ

ปัจจุบัน พระนามของท่านที่นิยมใช้กันทั่วไป คือ เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ (天后圣母)  แปลว่า ราชินีสวรรค์ คนแต้จิ๋วในไทยออกเสียงว่า เทียงโหวเสี่ยบ้อ

ส่วนในความศรัทธานับถือแบบชาวบ้านจริงๆ ที่ไม่มีความรู้  หรือไม่นิยมใช้ราชาศัพท์ ก็ยกให้ท่านเป็นย่าทวดยายทวด จึงเรียกว่า หม่าโจ้ว ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ขณะที่ชาวเค่อเจีย หรือคนแคะเรียก สุยหมู่เหนียง (水母娘) ส่วนชาวไหหลำเรียก โผวสู่ (婆祖)


เทวรูป เทียนโหวเซิ่งหมู่ พิมพ์นิยม

จากเจ้าแม่พื้นเมือง ซึ่งถือกำเนิดอย่างสามัญในหมู่บ้านชาวประมง กลายเป็นเทพนารีที่ราชสำนักยังนิยมบูชา เพราะอภินิหารของท่านเป็นที่ประจักษ์

ก็ขนาดที่ว่า เจิ้งเหอ (郑和) นักเดินเรือผู้โด่งดัง และเป็นมุสลิมโดยกำเนิด ยังต้องไหว้พระแม่เจ้าองค์นี้ก่อนออกเดินทางนะครับ

และเมื่อทรงเลื่อนเทวฐานะขึ้นเป็นราชินีแห่งสวรรค์แล้ว ศาลเจ้าของท่านก็ต้องเลื่อนฐานะตาม

เดิมใช้คำว่า เมี่ยว () ทางราชสำนักก็ให้เปลี่ยนมาเป็น กง () หมายถึง วังหรือตำหนัก คำว่า กง นี้ คนแต้จิ๋วออกเสียงว่า เก็ง

ดังนั้น ศาลพระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่  ที่คนแต้จิ๋วเรียกกันแบบบ้านๆ ว่า ศาลหม่าโจ้ว หรือ ศาลเจ้าอาม่า () ก็เรียกจนเดี๋ยวนี้ว่า หม่าเก็ง (妈宫)

ความนิยมนับถือท่าน ยังปรากฏหลักฐานในวรรณกรรมไทย คือ นิราศกวางตุ้ง ที่แต่งเมื่อสมัยกรุงธนบุรี มีการกล่าวถึง "พระหมาจอ" หมายถึงเทพผู้คุ้มครองเรือ

ส่วนศาลพระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ ที่มีหลักฐานว่าเก่าที่สุดในเมืองไทย น่าจะเป็น ศาลเจ้าแม่เบิกไพร ต.เบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี


ศาลเจ้าแม่เบิกไพร จาก สมุดภาพราชบุรี พ.ศ.๒๔๖๘
จะเห็นว่า ยังคงเป็นเรือนไม้แบบไทยอยู่

ดังมีบันทึกไว้ว่า สมัยกรุงธนบุรีราวๆ พ.ศ.๒๓๑๗ นายเม่งตะ แซ่ตั้น พ่อค้าจีนแต้จิ๋วได้เดินทางเข้ามาค้าขายที่เมืองคูบัวในสมัยนั้น เมื่อเดินทางต่อไปถึงบ้านโป่ง เห็นทำเลหนึ่งชัยภูมิดี จึงได้สร้างศาลเล็กๆ ขึ้นประดิษฐานกระถางธูปพระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ ที่ติดตัวมาจากเมืองจีน

ศาลแห่งนั้น ได้รับความเคารพนับถือจากชาวจีนในบ้านโป่งต่อมา เมื่อขยายศาลขึ้นในภายหลัง จึงได้ขนานนามศาลเจ้าตามชื่อตำบลอันเป็นที่ตั้งศาล จนบัดนี้


องค์เจ้าแม่เบิกไพร ภาพจาก http://www/เที่ยวราชบุรี.com

ทีนี้ ผมก็จะขอพูดถึงเจ้าแม่ทับทิมอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นเทพนารีของทางไห่หนาน หรือ ไหหลำ ครับ

ท่านทรงมีพระนามในภาษาจีนกลางว่า สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง (水尾圣娘) คนแต้จิ๋วเรียกว่า จุ้ยบ้วยเสี่ยเนี้ย หรือ จุ้ยบ้วยเนี้ย

ส่วนสำเนียงไหหลำ ซึ่งถิ่นกำเนิดของท่าน จะออกเสียงเป็น ตุ้ยบ๋วยเต่งเหนี่ยง

เล่ากันว่า วันหนึ่งในปี พศ.๒๑๖๗ รัชสมัย จักรพรรดิเจิ้งเต๋อ (正德 พ.ศ.๒๐๔๙-๒๐๖๔) แห่งราชวงศ์หมิง ที่เมือง ตงเจียว (东郊) ใกล้ท่าเทียบเรือ ชิงหลันกั่ง (澜港) เกาะไหหลำ มณฑลกวางตุ้ง มีชาวประมงแซ่พาน ( บางตำราว่า ผู้เฒ่าแซ่พัว) ได้ออกเรือไปจับปลา

ขณะที่กำลังลากแหอยู่นั้น เขาก็รู้ลึกว่าแหอวนหนักผิดสังเกต จึงดีใจว่าคงจะได้ปลาจำนวนมากในคราวนี้ แต่ครั้นดึงขึ้นมาบนเรือ ก็กลายเป็นเพียงท่อนไม้ท่อนหนึ่ง จึงเหวี่ยงท่อนไม้กลับลงไปในน้ำ

เมื่อชายดังกล่าวลากแห่อีกครั้ง ก็ปรากฏว่าท่อนไม้นั้น ติดแหอวนขึ้นมาอีก

ชาวประมงแซ่พาน จึงอธิษฐานว่า หากท่อนไม้นี้ช่วยให้เขาจับปลาได้มาก เขาก็จะนำท่อนไม้นี้กลับไปแกะสลักเป็นเทพยดาเอาไว้บูชา ซึ่งพออธิษฐานเสร็จ ลากแหอีกทีเขาก็ได้ตามประสงค์

แต่เมื่อกลับถึงบ้าน เขาเอาท่อนไม้นั้นวางไว้กลางแจ้ง ตากแดดตากฝน มิได้นำไปแกะสลักตามที่บนเอาไว้ เพราะลืมสนิท วันๆ เอาแต่ทำมาหากิน

ท่อนไม้นั้นถูกย้ายไปย้ายมาอยู่ระยะหนึ่ง จนไปวางอยู่หน้าเล้าหมู ไม่นานหมูก็ตายอย่างไม่มีสาเหตุ รวมทั้งมีคนที่พูดจาลบหลู่ท่อนไม้นั้น ลบหลู่เสร็จกลับถึงบ้านก็เจ็บไข้ด้วยโรคลึกลับ รักษาอย่างไรก็ไม่หายเช่นกัน

ชาวประมงแซ่พานจึงนึกขึ้นมาได้ ว่าคงเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างแน่แท้ จึงรีบจุดธูปขอขมา

พลันก็มีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น ทุกวันยามตะวันโพล้เพล้ บนต้นลำไยหน้าบ้านชาวประมงแซ่พาน จะปรากฏบัลลังก์ มีหญิงสาวนั่งอยู่ สวมชุดมังกร ศิราภรณ์ประดับเพชรรูปหงส์ สวมรองเท้าสีแดงปักดิ้นเงินรูปดอกไม้ หน้าตาเป็นผู้มีบุญ อิ่มเอิบ มีรอยยิ้มมุมปาก บุคลิกของท่านเปี่ยมด้วยบารมี


พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง ในศาลเจ้าเทียนโฮ่ว กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

หญิงสาวผู้นั้นกล่าวทวงคำสัญญา ที่เขาได้บนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้แกะสลักเทวรูปให้ท่าน และเร่งลงมือจัดสร้างศาลโดยเร็ว ไม่ต้องสร้างให้ใหญ่โตนัก ต่อไปจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นเอง

ท่านกล่าวว่า ท่านประสงค์ที่จะโปรดลูกหลาน อยากให้คนทั่วไปได้มีโอกาสกราบไหว้บูชาท่าน ไม่ต้องการให้ชายแซ่พานกราบไหว้ท่านเป็นการส่วนตัวเท่านั้น

เพื่อนบ้านพอรู้ข่าว ก็ช่วยกันนำท่อนไม้นั้นมาบวงสรวง หาช่างมาแกะสลักเป็นรูปเจ้าแม่ขึ้นองค์หนึ่ง ไม่ถึงกับสะสวยนัก ด้วยเป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน แต่ก็นับว่าได้ทำตามที่องค์เจ้าแม่สั่งไว้ละครับ

ส่วนสถานที่ตั้งของศาลเจ้า ได้มีการใช้เด็กประทับทรง หรือ จี้ถง (乩童) ปรากฏว่า เด็กวิ่งไปไกลหลายลี้ ไปชี้จุดที่ตั้งศาลตรงหมู่บ้านท้ายน้ำชื่อ โพเหว่ยชุน (坡尾村)

ชาวบ้านจึงพากันขนานนามท่านว่า สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง แปลว่า เจ้าแม่ท้ายน้ำ

ดังนั้น ในคืนมงคลตรงกับวันที่ ๑๕ เดือน ๑๐ พื้นที่ดังกล่าวก็มีศาลที่สำเร็จบริบูรณ์ของ พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง เพื่อคุ้มครองปวงชน พร้อมทั้งสรรพสัตว์ที่ทุกข์ยาก และอำนวยความสำเร็จให้บังเกิดแก่ผู้ที่วิงวอนขอร้องให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ


พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง หรือ จุ้ยบ้วยเนี้ย ศาลเจ้าแแม่ทับทิม เชิงสะพานซังฮี้
ภาพจาก http://www.photogram.org

เมื่อชาวไหหลำอพยพถิ่นฐานมาเมืองไทย ก็นำความเชื่อเรื่องเจ้าแม่ท้ายน้ำ มาสร้างศาลเจ้าในเมืองไทยด้วย

โดยศาลเจ้าสุยเหว่ยเซิ่งเหนียง หรือ จุ้ยบ้วยเนี้ย ที่ได้รับความเคารพบูชามากที่สุด อยู่เชิงสะพานซังฮี้ฝั่งพระนคร สร้างเมื่อประมาณพ.ศ.๒๓๘๕ นับว่าเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ในงานไหว้เจ้าแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง เครื่องเซ่นไหว้ซึ่งมีเอกลักษณ์ แตกต่างจากที่อื่น คือ เนื้อแพะ จะถูกจัดเป็นอันดับแรกสุดของอาหารคาว ส่วนจะใช้จำนวนกี่ตัวนั้น ขึ้นอยู่กับศรัทธาและกำลังทรัพย์ หรือสภาพเศรษฐกิจในปีนั้นๆ

เมื่อการไหว้สิ้นสุดลง จะมีการนำแพะเหล่านี้ไปปรุงอาหาร เพื่อรับประทานร่วมกัน เสมือนเป็นมื้อรวมญาติ

แต่ศิษย์รุ่นหลัง ไม่ชอบกลิ่นคาวเลือด จึงถวายแพะมังสวิรัติ คือการนำถั่วมาปั้นและตกแต่งให้เหมือนกับแพะจริงๆ ก็มีนะครับ

ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ทำไมพระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียงจึงโปรดปรานแพะเป็นพิเศษ แต่ภาพที่ปรากฏ ณ ศาลเจ้ารุ่นเก่าของท่าน ก็ยังคงมีแพะจำนวนไม่น้อยถูกนำมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้ทุกปี


เจ้าแม่ตุ้ยบ้วยเต๋งเหนี่ยง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ทีนี้ มาถึงเหตุที่คนไทยเรียกพระแม่ทั้งสององค์ ด้วยคำว่า เจ้าแม่ทับทิม มีผู้สันนิษฐานเป็น ๒ แนวครับ

กล่าวคือ ในยุคที่ยังมีการค้าขายกันระหว่างไทยกับจีนด้วยเรือสำเภา ชาวไหหลำจะเดินทางมาถึงเมืองไทยในช่วงต้นปี คือ ราวเดือนมกราคม เนื่องจากเกาะไหหลำนั้น มีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองไทยกว่า

และจะทำการสักการะบูชา เจ้าแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง

เมื่อชาวฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วเดินทางมาถึง จะอยู่ในราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม เนื่องจากมณฑลกวางตุ้งและฮกเกี้ยนนั้น ตั้งอยู่ในแผ่นดินใหญ่ซึ่งไกลกว่า

และก็ทำการสักการะพระแม่เทียนโหวเซิ่งหมู่ หรือ หม่าโจ้ว ด้วยเช่นกัน

ทั้งสององค์คือพระแม่ผู้คุ้มครองชาวเรือเหมือนกัน จึงทำให้คนไทยสับสน นึกว่าเป็นเจ้าแม่องค์เดียวกัน

อีกแนวหนึ่ง คือ เนื่องจากทั้งสององค์มีฉลองพระองค์สีแดง หรือมีรัตนชาติประจำองค์เป็นพลอยสีแดง ซึ่งผู้สันนิษฐานในแง่นี้กล่าวว่า เกิดจากฝีมือช่างในประเทศไทย

ข้อนี้ก็มีเหตุผลอยู่บ้างครับ เพราะปรากฏว่า เจ้าแม่จีนองค์อื่นๆ ในเมืองไทย ซึ่งมีการถวายฉลองพระองค์สีแดง ก็ถูกคนไทยเรียกว่า เจ้าแม่ทับทิม ตามๆ กันไปหมด

เพียงแต่ที่ยังคงมีข้อขัดแย้งก็คือ ฉลองพระองค์สีแดงนั้น ใช้กับพระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง และเจ้าแม่จีนหลายองค์มาตั้งแต่ต้นทางที่เมืองจีนแล้วครับ มิใช่เพิ่งมาเกิดที่เมืองไทย


ภาพยนตร์ตำนานพระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ ซึ่งคนไทยก็เรียกเจ้าแม่ทับทิม

อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีแยกความแตกต่างระหว่างพระแม่เจ้าทั้งสององค์นี้ กล่าวคือ

๑) หากเป็นพระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ จะสวมศิราภรณ์อลังการกว่าพระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง บางทีดูคล้ายจักรพรรดิจีน มีแผงสร้อยมุกห้อยลงมาด้านหน้า เนื่องจากทรงได้รับพระราชทานยศเป็นราชินีสวรรค์

ขณะที่พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง มิได้ทรงได้รับการยกย่องเช่นนั้น จึงสวมศิราภรณ์แบบเจ้าแม่จีนทั่วไป ไม่อลังการหรือมีขนาดใหญ่มากนัก

แต่ในศาลเจ้าแม่ทับทิมหลายแห่งในปัจจุบันนี้ พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียงก็สวมศิราภรณ์ และฉลองพระองค์ที่เหมือนกับพระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ จนถ้าไม่อ่านพระนามที่เป็นภาษาจีน ก็จะแยกไม่ออก

ตัวอย่างเช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิมคลองต้นไทร


ภาพจาก Fanpage ศาลเจ้าแม่ทับทิมคลองต้นไทร

๒) พระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ ทรงถือป้ายอาญาสิทธิ์ ลักษณะเป็นแผ่นไม้แบนๆ ไว้ด้านหน้าด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง

ขณะที่พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง ทรงถือแส้บ้าง คฑายู่อี่บ้าง ไว้ในพระหัตถ์ขวา

๓) พระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ มีบริวารคือ เทพหูทิพย์ตาทิพย์ 




ขณะที่พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง มีบริวารซึ่งเป็นเทพองครักษ์ชายหญิง ๒ คู่ หรือ ๔ องค์




ถ้าเห็นไมชัดในทุกข้อที่ผ่านมา ถามอาแปะที่ดูแลศาลเลยครับ คนเหล่านี้มักจะบอกพระนามที่เป็นภาษาแต้จิ๋ว (หม่าโจ้ว,จุ้ยบ้วย) และไหหลำ (ตุ้ยบ๊วย)

ส่วนคำภาษาไทยว่า เจ้าแม่ทับทิม อย่าเอาไปใช้กับอาแปะเหล่านี้ครับ

เพราะบางท่าน อยู่เมืองไทยนาน และศึกษามาก เข้าใจภาษาไทยเป็นอย่างดี ก็เชื่อมโยงได้ อธิบายได้

บางท่านรู้ไม่มากถึงเพียงนั้น ภาษาไทยก็ไม่แตกฉาน แล้วพยายามอธิบาย จะพากัน ออกทะเลทั้งคนถามคนตอบ

ยิ่งออกไปห่างฝั่ง จนเจอพายุเข้า จะยิ่งลำบาก เพราะไม่รู้จะอธิษฐานขอ เจ้าแม่ทับทิม องค์ไหน
……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น