บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์
มูลเหตุที่ทำให้ผมเขียนบทความเรื่องนี้
ก็เพราะเห็นว่า ปัจจุบัน มีกระแสเล็กๆ ของการบูชาเฉพาะเซียนหญิงท่านนี้ในเมืองไทย
ในระดับที่กว้างขวางกว่าการบูชาส่วนบุคคลที่เคยมีมาแต่ก่อน
ซึ่งก็ไม่เกินไปนักที่จะกล่าวว่า
กระแสดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะการตีพิมพ์หนังสือ บูรพเทวีปกรณ์ : พระแม่หนี่วา
พระแม่ฉางเอ๋อ พระแม่เหอเซียนกู เมื่อพ.ศ.๒๕๔๗
ซึ่งผมเรียบเรียงสารัตถะต่างๆ
เกี่ยวแก่เซียนหญิงท่านนี้ไว้อย่างครบถ้วนนั่นเองละครับ
กระแสดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลานั้น
จนปัจจุบันก็ยังคงอยู่
และแทบทุกคนที่บูชา ก็อ้างอิงจากหนังสือของผม
ในขณะที่หนังสือเล่มนั้นก็ขาดตลาดไปนาน คนที่อ้าง ก็จำไปบอกเล่าต่อๆ กัน
ผิดบ้างถูกบ้าง
ผมจึงตัดสินใจ นำเรื่องราวของเซียนหญิงท่านนี้
จากหนังสือ บูรพเทวีปกรณ์ เฉพาะประเด็นที่สำคัญ มาบรรจุไว้ในบทความนี้
เพื่อจะไม่ต้องไปพูดกันผิดๆ ถูกๆ อีก
แต่ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวของเซียนหญิงท่านนี้
ผมขอกล่าวถึงคณะ ๘ เซียน หรือที่เราเรียกกันเป็นสามัญว่าโป๊ยเซียน
เป็นการสังเขปก่อนนะครับ
คำว่า เซียน (仙
Xian) ของจีน เทียบกับอินเดีย ก็คือ สิทธิ (सिद्धि Siddhi) หรือที่วรรณคดีไทยเรานิยมเรียก นักสิทธิ์
คู่กับ วิทยาธร ในป่าหิมพานต์นั่นเอง
เป็นฤาษีประเภทหนึ่ง
ที่บำเพ็ญเพียรจนมีตบะเดชะแก่กล้า มีอิทธิฤทธิ์หายตัว เหาะเหินเดินอากาศ
เนรมิตของวิเศษต่างๆ รักษาโรค บางท่านมีชีวิตอยู่นานนับร้อยๆ ปี
จนในเทววิทยาจีนถึงกับกล่าวว่า เซียนคือผู้เป็นอมตะ (Immortal)
แต่ที่จริง เซียนก็มีวันแก่ตายได้ เหมือนสิทธิ
และฤาษีทั่วไปครับ และบรรดาเซียนที่คนจีนนับถือกันในปัจจุบันนี้
ก็เป็นภาควิญญาณเหมือนฤาษีของไทยแล้วทั้งสิ้น
ที่ต่างกันระหว่างเซียนของจีน
กับสิทธิของอินเดีย และฤาษีของอินเดียและไทย ก็คือ ผู้หญิงนั้นสามารถเป็นเซียนได้
โดยการที่จะเป็นเซียนนั้น
จะเกิดจากการได้รับของวิเศษ หรือรอดตายอย่างปาฏิหาริย์
แล้วปลีกวิเวกไปบำเพ็ญพรตตามลำพัง หรือไปศึกษาวิชากับเซียนท่านใดท่านหนึ่ง
ซึ่งเป็นหญิงหรือชายก็ได้
ขณะที่ในอินเดียและไทย ผู้หญิงเป็นสิทธิ
และฤาษีไม่ได้นะครับ
ในอินเดีย ผู้หญิงเป็นได้แต่ โยคินี (योगिनी Yogini) และ สาธวี (साध्वी Sadhvi) ซึ่งนักบวชหญิงทั้งสองประเภทนี้จะต้องอยู่รวมกับผู้อื่นในอาศรม
หรืออยู่กับสามีซึ่งบวชเป็น โยคี (योगी Yogi) และ สาธุ (साधु Sadhu) แล้วเช่นกัน ไม่สามารถแยกไปบำเพ็ญพรต
หรือตั้งอาศรมของตนโดยลำพังอย่างฤาษีได้
ส่วนในคติไทย ถ้าจะยึดตามหลักโบราณแล้ว
ผู้หญิงก็เป็นฤาษีไม่ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีสายการบวชฤาษีและดาบส (มาจากคำว่า तपस Tapas) ในทางไสยศาสตร์ไทยอยู่หลายสาย ที่มีความเข้มงวดแตกต่างกันก็ตาม
แต่สายการบวชฤาษีของไทย ถ้าเป็นของจริง ถึงอย่างไรก็ไม่มีการบวชให้ผู้หญิง
ที่มีฤาษีหรือดาบสเพศหญิงให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ล้วนแต่อุปโลกน์ขึ้นมาทั้งสิ้นครับ
อีกทั้งบรรดาเซียนผู้หญิงรุ่นแรกๆ นั้น
เชื่อกันว่า มีมาตั้งแต่พุทธกาล ขณะที่โยคินีและสาธวีนั้น เพิ่งมีเมื่อหลังพุทธกาล
ก่อนหน้านั้นแม้โยคินีก็ไม่ปรากฏ
กล่าวสำหรับคำว่า โป๊ยเซียน
ที่คนไทยเราเรียกกันทั่วไปนี้ โดยรูปคำเป็นสำเนียงแต้จิ๋ว
แต่ก็เป็นแต้จิ๋วที่เพี้ยนแล้วครับ
เพราะสำเนียงแต้จิ๋วจริงๆ
จะออกเสียงคำนี้คล้ายกับ โปยเซียง (คำว่า โปย
ไม่สามารถเทียบเสียงด้วยอักขรวิธีไทยได้)
แต่ถ้าเป็นออกเสียงอย่างจีนกลาง
อันเป็นมาตรฐานใช้กันทั่วโลก จะออกเสียงว่า ปาเซียน (八仙 Pa
Xian : คำว่า ปา ออกเสียงกึ่งๆ ระหว่างวรรณยุกต์ ตรี กับ โท)
หลักฐานของคณะเทพชุดนี้
บางองค์ปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยปลายราชวงศ์โจวตะวันออก
หลายองค์มีเอกสารกล่าวถึงในราชวงศ์ถัง และราชวงศ์ซ่ง
และบางองค์ก็อยู่ในสมัยหลังจากนั้น
แต่มารวมเข้าเป็นชุดเดียวกันอย่างสมบูรณ์ในสมัยราชวงศ์หมิง
เมื่อ หวูหยวนไท่ (吴元泰) นักเขียนบทอุปรากรจีน
ได้ผูกเรื่องของเหล่าเซียนที่ต่างก็ได้รับความนิยมนับถือกันในสมัยนั้น ๘ องค์
เข้าด้วยกันสำหรับเล่นงิ้ว
ซึ่งผลก็คือ เป็นที่ชื่นชอบกันทั่วไป
โดยเฉพาะตอนอภินิหาร ๘ เซียนข้ามทะเลบูรพา ถือว่าเป็นตอนที่ได้รับความนิยมสูงสุด
นอกเหนือไปจากเหอเซียนกู
ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของบทความนี้ บรรดาเซียนอีก ๗ องค์มีชื่อและกำเนิดอย่างไร
จะอธิบายโดยสังเขปเป็นลำดับไป ดังนี้นะครับ
หลี่เถี่ยกว่าย (李鐵拐
Lie Tie Guai)
เดิมเป็นนักพรตที่สำเร็จวิชากายทิพย์
ถอดวิญญาณไปท่องเที่ยวในโลกต่างๆ ได้ แต่ถูกลูกศิษย์เผาร่างเดิมด้วยความเข้าใจผิด
จึงต้องไปอาศัยเข้าศพของขอทานพิการที่เพิ่งตายใหม่ๆ
สำหรับใช้เป็นสังขารในโลกมนุษย์
ลักษณะเป็นขอทานเดินขากะเผลก
ใช้ไม้เท้าเหล็กเป็นเครื่องพยุงกาย รูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ แต่จิตใจดีงาม
ชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน มักสะพายน้ำเต้าที่บรรจุยาวิเศษ
เป็นเทพอุปถัมภ์ของแพทย์แผนจีนบางสำนัก
คนไทยเรารู้จักในนาม ทิก๋วยลี้
หรือไม่ก็ หลี่ทิก้วย
จงหลีเฉวียน (鐘离權
Zhongli Quan)
เดิมเป็นคนตระกูลจงหลี
มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นขุนพลเก่งกล้าสามารถ
แต่ถูกขุนนางกังฉินทำอุบายจนแพ้สงคราม ได้หนีเอาชีวิตรอดไปพบเซียนผู้หนึ่ง
และตกลงใจศึกษาวิชาเซียนจนสำเร็จ
ลักษณะเป็นชายอ้วนไว้ผมแกละ หน้าแดง
รูปกายใหญ่โต สวมเสื้อคลุมเปิดให้เห็นท้องพลุ้ย ถือพัดโบก
หรือพัดขนนกที่มีอำนาจควบคุมท้องทะเล
มีคุณวิเศษในด้านการดลบันดาลให้มีจิตใจกล้าเข็งเอาชนะศัตรูและอุปสรรคต่างๆ
คนไทยเรารู้จักในนาม ฮั่นเจงหลี
จางกว่อเหล่า (張果老 Zhang
Guo Lao)
เดิมเป็นนักพรตหนุ่มหน้าตาคมคายสมัยราชวงศ์ถัง มีความสามารถในด้านคาถาอาคม
และเป็นที่หมายปองของสตรีสูงศักดิ์ในราชสำนัก
เป็นเหตุให้ท่านเกิดความเบื่อหน่ายจึงหนีไปบำเพ็ญธรรม
บางตำนานว่าเดิมเป็นชายชรายากจน
มีลาตัวหนึ่งสำหรับรับจ้างบรรทุกของ ได้กินยาวิเศษทำให้กลายเป็นเซียน
ลักษณะเป็นผู้เฒ่าสะพายข้องปลาที่ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่
ขี่ลาโดยหันหน้าไปทางหางลา มีคุณวิเศษในด้านเมตตามหานิยม
คนไทยเรารู้จักในนาม เจียงกั๋วเล้า
หลานไฉ่เหอ (藍采和
Lan Cai He)
เดิมเป็นเทพเท้าเปล่าบนสวรรค์
แต่ทำผิดจึงต้องมาเกิดในโลกมนุษย์
และต้องตกระกำลำบากกลายเป็นวณิพกร้องเพลงขอทานตามหมู่บ้าน วันหนึ่งได้พบ
หลี่เถี่ยกว่าย มาชี้แนะให้บำเพ็ญเป็นเซียน จึงปฏิบัติตามจนสำเร็จ
ลักษณะเป็นเด็กหนุ่มร่างกายอ้อนแอ้น
ถือตะกร้าดอกไม้ นับว่าเป็นเซียนเพศที่สาม มีคุณวิเศษในด้านศิลปะการแสดงต่างๆ ตลอดจนการเป็นศิลปินที่มีผู้คนนิยม
และเป็นเซียนผู้อุปถัมภ์ของคนที่มีอาชีพเกี่ยวกับการปลูกและขายดอกไม้
คนไทยเรารู้จักในนาม หน่าไชหัว
หานเซียงจื่อ (韓湘子
Han Xiang Zi)
เดิมเป็นหลานชายของบัณฑิตผู้โด่งดังแห่งราชวงศ์ถัง
เป็นผู้ถือสันโดษไม่สนใจทรัพย์สินเงินทอง ออกตามหาผู้วิเศษจนได้พบกับ ลวี่ต้งปิน
และได้บำเพ็ญตบะอยู่ ๓ ปี
เมื่อเดินทางกลับบ้าน
ประสบอุบัติเหตุตกต้นท้อถึงสลบ เมื่อตื่นขึ้นมาก็ได้กลายเป็นเซียน
บางตำนานว่าได้ประจักษ์ในสัจธรรมของชีวิตแล้วจึงสำเร็จได้รับขลุ่ยเซียน
เทวลักษณะเป็นชายหนุ่มรูปงาม หรือเด็กหนุ่มเป่าขลุ่ยหยก
มีคุณวิเศษในด้านการประพันธ์และการดนตรี
คนไทยเรารู้จักในนาม ฮั่นเซียงจื๊อ
เฉากว๋อจิ้ว (曹國舅
Cao Guo Jiu)
เดิมเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เป็นคนโลภ
และชอบข่มเหงฉ้อโกงทรัพย์สินผู้อื่น
จนกระทั่งวันหนึ่งเหล่าเทพยดาสั่งสอนทำให้เกิดความสำนึกตัว
เปลี่ยนเป็นคนมีเมตตาช่วยเหลือราษฎร แม้น้องชายของท่านยังคงข่มเหงผู้คน
ท่านก็จับตัวส่งไปรับอาญาบ้านเมืองเสีย จนในที่สุดได้เป็นเซียน
ลักษณะเป็นบุรุษรูปร่างสง่างาม แต่งชุดขุนนาง
ถือป้ายอาญาสิทธิ์และกรับคู่ มีคุณวิเศษในด้านการป้องกันภัยจากภูตผีปีศาจ
และอาถรรพณ์ต่างๆ
คนไทยเรารู้จักในนาม เช่าก๊กกู๋
ลวี่ต้งปิน (呂洞賓 Lu
Dong Bin)
เป็นเซียนที่มีบทบาทเด่นในเทพนิยายต่างๆ
มากที่สุด เดิมเกิดในสมัยราชวงศ์ถัง เป็นบุตรขุนนางที่ไม่ประสบความสำเร็จในการสอบ
ได้พบกับ จงหลีเฉวียน ทำให้เห็นสัจธรรมของชีวิต และต้องผ่านการทดสอบ ๑๐
ประการจนสำเร็จได้เป็นเซียน
ลวี่ต้งปินมีเรื่องเกี่ยวกับความรักมาก ชอบช่วยเหลือคนที่โอบอ้อมอารีให้ร่ำรวย ลักษณะเป็นชายหนุ่มรูปงาม สะพายกระบี่ปราบมารไว้ข้างหลัง มีคุณวิเศษในด้านการค้าขาย
ในการแสดงงิ้ว
ลวี่ต้งปินเปรียบเสมือนพระเอกของเหล่าโป๊ยเซียน เป็นที่นิยมชมชอบโดยทั่วไป
แต่ในทางเทววิทยาจีน ตัวท่านเองยังสำเร็จมรรคผลชั้นสูง เป็นเทพเจ้าอย่างสมบูรณ์
ทำให้ท่านได้รับการยกย่องนับถือมากที่สุด
คนไทยเรารู้จักในนาม ลื่อท่งปิน
เมื่อมีพระเอกก็ต้องมีนางเอก
และตำแหน่งนั้นก็เป็นของ เหอเซียนกู (何仙姑 He
Xian Gu) หนึ่งเดียวในคณะ ๘ เซียนที่เป็นหญิง
และยังเป็นเซียนสตรีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในแผ่นดินจีนอีกด้วยครับ
เซียนหญิงท่านนี้
ปรากฏในรูปลักษณ์ของนางฟ้าแสนสวย ถือช่อดอกบัวขนาดใหญ่
อยู่ท่ามกลางเหล่าเซียนที่ดูแปลกประหลาด เป็นความงามเพียงหนึ่งเดียว
และอยู่ในกิริยาอันอ่อนหวานชดช้อยเสมอ การมีเซียนหญิงท่านนี้ ทำให้คณะ ๘
เซียนดูสมบูรณ์
มีเรื่องราวมากมายที่เล่าขานกันถึงประวัติ
และเหตุเหอเซียนกูจะได้สำเร็จเป็นเซียน ที่นิยมกันมากเรื่องหนึ่ง คือที่เล่ากันว่า
เดิมบิดามารดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเด็ก
ผู้เป็นป้าเลี้ยงท่านเอาไว้ใช้งานหนักไม่ต่างกับทาส
โดยเฉพาะการโม่ถั่วเหลืองเพื่อทำน้ำเต้าหู้
แต่ท่านก็เติบโตขึ้นเป็นเด็กสาวที่มีจิตใจอารี
เมื่อคณะเซียน ๗ องค์ แปลงเป็นขอทานมาขอน้ำเต้าหู้ที่ท่านโม่ไว้ด้วยความเหนื่อยยาก
ท่านก็แจกจ่ายให้พวกเขากินจนหมด
ป้าใจร้ายพอรู้เข้าก็ไปตามขอทานแปลงเหล่านั้นกลับมาสำรอกน้ำเต้าหู้คืน
แล้วบังคับให้ท่านกิน
สาวน้อยเมื่อถูกทารุณถึงเพียงนี้
ก็ไม่อาจทนได้อีกต่อไปละครับ ท่านตัดสินใจกระโดดน้ำตาย แต่ก็เกิดเหตุอัศจรรย์
คือมีดอกบัวขนาดใหญ่ผุดขึ้นจากในน้ำ รองรับร่างท่านเอาไว้
ที่แท้ท่านได้สำเร็จเป็นเซียน
เพราะดื่มน้ำเต้าหู้ที่ขอทานจำแลงทั้ง ๗ สำรอกคืนให้นั่นเอง
ส่วนตำนานอื่นๆ นั้นก็เล่าแตกต่างกันไป
บ้างก็ว่า ท่านเป็นบุตรีเจ้าของร้านขายยาเลื่องชื่อแห่งเมืองเจิงเฉิง
มีความรอบรู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรเป็นอันมาก
วันหนึ่งออกไปหาสมุนไพรในป่าแล้วหลงทาง ได้พบเซียนองค์หนึ่งและได้กินผลท้อวิเศษ
ทำให้ได้เป็นเซียน
ที่ตรงกันคือ
ท่านมิได้มีชาติกำเนิดที่สูงส่งอะไรเลยครับ แต่ท่านเป็นตัวอย่างของเด็กสาวที่ใฝ่ดี
และงามน้ำใจอย่างแท้จริงคนหนึ่ง
ซึ่งผลแห่งความดีนั้นทำให้ท่านกลายเป็นเซียน
นอกจากนั้น ทุกเรื่องราวอภินิหารของท่าน
ล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันใกล้ชิดกับมนุษย์เดินดิน จนทำให้ผู้คนรู้สึกว่า
ท่านมิได้เหินห่างจากโลกสามัญของปุถุชน และกราบไหว้ท่านได้อย่างสนิทใจ เหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งครับ
กล่าวโดยหลักฐานทางโบราณคดี
เรื่องราวของเหอเซียนกูปรากฏเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง นั่นหมายความว่า
เป็นคติที่มีอายุถึงพันกว่าปีมาแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นเซียนรุ่นโบราณองค์หนึ่ง
และสืบเนื่องมาตลอดจนกระทั่งปัจจุบันโดยไม่ขาดตอนอีกด้วย
แต่หลังจากเข้ารวมกับคณะ ๘ เซียนแล้ว
ท่านก็ไม่ค่อยได้รับการบูชาแยกต่างหากจากสหายเซียนของท่าน
เพราะเชื่อกันว่าเซียนทั้ง ๘ นั้น
ต่างก็ดลบันดาลให้ผู้บูชาสมปรารถนาในเรื่องที่แตกต่างกันไป
ตามคุณสมบัติของแต่ละองค์ เมื่อบูชารวมกันจึงทำให้ได้รับผลสำเร็จครบบริบูรณ์
แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เซียนแต่ละองค์ในคณะ ๘
เซียนสามารถแยกออกมาบูชาต่างหากได้นะครับ
เช่น หลี่เถี่ยกว่าย
ที่นิยมกันว่าช่วยเหลือผู้คนให้หายจากโรคร้าย
ก็ได้รับการบูชาเป็นพิเศษในหมู่แพทย์แผนจีนบางสำนัก
หรือผู้ประกอบการค้าสมุนไพรจีนมานานแล้ว
ส่วนเซียนที่ได้รับความนิยมนับถือมากที่สุด เช่น ลวี่ต้งปิน
ต่างก็มีผู้สักการบูชาแยกต่างหากจากคณะ ๘ เซียนมาเป็นเวลานานนับร้อยๆ
ปีแล้วเช่นกัน
จนถึงกับพูดได้อย่างเต็มปากว่า
ไม่มีเซียนองค์ใดในคณะ ๘ เซียน
ที่จะมีผู้สร้างศาลเจ้าถวายเป็นการเฉพาะมากไปกว่าลวี่ต้งปิน
อีกทั้งหลายแห่งยังสร้างอย่างใหญ่โตมากด้วย
กล่าวสำหรับเหอเซียนกู
ก็มีศาลเจ้าเป็นของท่านเองเช่นกันครับ และแม้จะน้อยกว่าลวี่ต้งปิน
แต่ก็ยังมากกว่าสหายเซียนอีก ๖ องค์
โดยศาลเจ้าเหอเซียนกูที่สำคัญที่สุด ตั้งอยู่
ณ หมู่บ้านซิ่นกุ้ย ต.เสี่ยวโหลว
อ.เจิงเฉิง นครกว่างโจว มณฑลกว่างตง
ซึ่งมีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาหลายร้อยปีแล้วว่า เป็นภูมิลำเนาเดิมของท่าน
ณ ศาลนี้
ผู้เข้าไปสักการะจะได้เทวรูปของท่านที่งดงามขรึมขลัง
และจะได้อ่านตำนานของท่านที่มีการจารึกไว้อย่างละเอียด (ถ้าอ่านภาษาจีนได้นะครับ)
ทุกวันที่ ๓ เดือน ๗
อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ และวันที่ ๘ เดือน ๘ อันเป็นวันคล้ายวันสำเร็จเป็นเซียนในแต่ละปี
จะมีการจัดงานเซ่นไหว้เป็นพิธีกรรมใหญ่โต
เมืองเจิงเฉิงไม่เพียงมีสถานที่เกี่ยวข้องกับเหอเซียนกูเฉพาะศาลนี้เท่านั้น
ยังมีบ่อน้ำที่เชื่อกันว่าท่านสำเร็จเป็นเซียนด้วย
โดยเล่ากันไปอีกกระแสหนึ่งว่า
ในกาลก่อนสาวน้อย เหอซิ่วกู (何秀姑 He Xiu Gu)
ผู้ใฝ่ธรรมถูกบิดาบังคับคลุมถุงชน เธอจึงไปกระโดดน้ำในบ่อนี้เพื่อฆ่าตัวตาย
แต่การกระทำเช่นนั้นกลับทำให้เธอได้กลายเป็นเซียน
คนพื้นถิ่นเชื่อกันว่าน้ำในบ่อนี้ศักดิ์สิทธิ์
มักใช้ทำพิธีกรรมต่างๆ เป็นสิริมงคลเสมอ ทั้งยังเชื่อกันว่าเป็นน้ำมนต์วิเศษ
มีอานุภาพในการบำบัดโรคต่างๆ
นอกจากที่เจิงเฉิงแล้ว ยังมีศาลเจ้าเหอเซียนกูอีกแห่งหนึ่งที่นับว่าสำคัญ
คือ ศาลที่เมืองหลิงหลิง อ.หย่งโจว มณฑลหูหนาน
ว่ากันว่าศาลเจ้าแห่งนี้ ได้สร้างขึ้น ณ
บริเวณที่ท่านได้ตั้งสำนักพยากรณ์และรักษาโรคในกาลก่อน และกิจการดังกล่าว
ก็ยังคงได้รับการสืบทอดกันต่อมาภายในศาลนี้ครับ
เหตุที่ทำให้ศาลแห่งนี้มีชื่อเสียงมากก็คือ
ตอนที่ ตี๋ชิง ยอดขุนพลในประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง
ได้กรีธาทัพผ่านมายังเมืองหลิงหลิง
ท่านขุนพลได้เข้าไปกราบไหว้สักการะในศาลเพื่อความเป็นสิริมงคล ขณะเดียวกันก็ทดลองเสี่ยงทายด้วยว่า
การศึกครั้งนี้จะได้รับชัยชนะหรือไม่
ปรากฏว่าคำทำนายบ่งว่าจะชนะ
และเมื่อท่านขุนพลพากองทัพเข้าสู่สมรภูมิก็ได้รับชัยชนะจริงๆ
ตำนานนี้เป็นเหตุให้ศาลเจ้าเหอเซียนกูส่วนมากต้องมีใบเซียมซี
สำหรับให้ผู้มีความคับข้องใจต่างๆ ไปพึ่งพาอยู่เสมอ แต่ถ้าจะให้แม่นยำที่สุด
ก็ต้องที่เมืองหลิงหลิงนี่เท่านั้นละครับ
กล่าวสำหรับในประเทศไทย คติการบูชาเหอเซียนกู
รวมทั้งสหายเซียนทั้งหลาย คงจะได้ปรากฏมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา
เพราะบ้านพ่อค้าจีนผู้มั่งคั่ง
และศาลเจ้าจีนในสมัยนั้น ย่อมจะต้องมีการตกแต่งด้วยรูปวาด
หรือประติมากรรมโป๊ยเซียนอย่างแน่นอนครับ เนื่องจากเป็นรูปภาพสิริมงคลที่ได้รับความนิยมมาก
และยังสามารถนำไปตกแต่งศาลเจ้าจีนได้ทุกแห่ง ไม่มีข้อห้าม
แต่ที่มีหลักฐานเหลือให้เราเห็นได้อย่างแน่นอนคือ
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ดังปรากฏที่เจดีย์แบบจีนหรือ ถะ ๒ องค์ ภายใน วัดอรุณราชวราราม
ประติมากรรมประดับส่วนฐานของเจดีย์สององค์นั้นประดับด้วยรูปโป๊ยเซียนองค์ละชุด
ทั้ง ๒ ชุดทำไม่เหมือนกัน เป็นฝีมือช่างจีนแผ่นดินใหญ่สมัยรัชกาลที่ ๓
ที่วัดอรุณราชวรารามนี้
ยังเคยมีประติมากรรมโป๊ยเซียนที่เป็นของเก่าอายุหลายสิบปีมาแล้ว
ตั้งทิ้งไว้ชุดหนึ่ง เป็นงานกระเบื้องเคลือบฝีมือประณีต
และเป็นแบบที่แปลกตามากครับ กล่าวคือทำเป็นรูปคณะเซียนสถิตอยู่ตามส่วนต่างๆ
ของภูเขาสูง และบนยอดเขานั้น มีเหอเซียนกูยืนเด่นอยู่ในพัสตราภรณ์สีเหลือง
ประติมากรรมเช่นนี้
เดิมคงเป็นงานศิลปะสำหรับตกแต่งบ้าน และคงมีราคาไม่น้อยทีเดียว
เมื่อผมไปเห็นในพ.ศ.๒๕๔๔ นั้น แม้จะถูกปล่อยทิ้งให้เก่าโทรม
ก็ยังแลดูสวยงามน่าชมอยู่นะครับ
และหากใครได้ไปเที่ยวที่ เมืองโบราณ
อ.บางปู จ.สมุทรปราการแล้ว ที่นั่นก็มีเทวรูปของเหอเซียนกู
รวมอยู่ในประติมากรรมศิลาชุดโป๊ยเซียนขนาดใหญ่
ประดิษฐานอยู่กึ่งกลางแหล่งประติมากรรมจีนที่เรียกกันว่า สวนขวา
ประติมากรรมชุดนี้
แกะสลักโดยช่างจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และเดิมถูกสั่งเข้ามาเพื่อใช้สำหรับตกแต่งสวนในพระบรมมหาราชวัง
ภายหลังจึงได้รื้อถวายวัด และทางเมืองโบราณก็ไปขอผาติกรรมมาจัดแสดงไว้ได้ก่อนจะสูญ
ประติมากรรมเหอเซียนกู ณ สวนขวาแห่งนี้
นับเป็นฝีมือแกะสลักของช่างจีนเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วแท้ๆ
ในรูปแบบที่หาดูได้ไม่ง่ายในเมืองไทย แม้ว่าเมื่อเทียบกับในแผ่นดินจีนแล้ว
จะนับว่าเป็นของธรรมดามากก็ตาม
คติการบูชาเหอเซียนกูในเมืองไทย มีความสำคัญอย่างเงียบๆ ในฐานะเทพประจำหลายๆ ตระกูลใน จ.พังงา กระบี่ และภูเก็ต และในระยะหลังนี้ ก็ปรากฏว่า
ยิ่งนานวันยิ่งได้รับความนิยมแพร่หลายขึ้นทุกที จากคนรุ่นใหม่ในเมืองไทย จนเริ่มจะนำหน้าสหายเซียนอีก ๖ องค์
เช่นเดียวกับลวี่ต้งปินครับ
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะปัจจุบัน
เทววิทยาจีนให้ความสำคัญกับการบูชาเทวสตรีมากขึ้น
อย่างเช่น เจ้าแม่ทับทิม หรือ พระแม่เทียนโหว
ได้รับการบูชามากยิ่งกว่าในอดีต อย่างเห็นได้ชัด
หรือแม้แต่เทพนารีรุ่นโบราณอย่าง พระแม่หนี่วา
ก็ได้รับความนิยมบูชาอย่างกว้างขวางและรวดเร็วมาก ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง
และในฐานะที่เป็นเซียนหญิง
เหอเซียนกูมีคุณวิเศษหลายอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความสวยความงาม
การพยากรณ์ และการบำบัดโรค
ซึ่งปรากฏว่า
ผู้ที่ขอพรจากท่านในเรื่องเหล่านี้ ต่างก็ได้รับความสำเร็จสมปรารถนาเป็นอันมาก
จนเป็นที่โจษจันกันมาโดยตลอด
ว่าท่านศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ไม่ว่าจะขอพรเรื่องใด หากไม่เกินวาสนาแล้ว
สำเร็จทุกประการ
เว้นอย่างเดียว คือ ขอลูก เท่านั้น
ที่สำคัญก็คือ
มีเสียงเล่าลือกันในหมู่คนจีนทั่วไป โดยเฉพาะคนจีนโพ้นทะเล
(รวมทั้งในประเทศไทยของเราด้วย) ว่า ท่านเพิ่งจะสำเร็จภูมิธรรมขั้นสูง เมื่อต้นปี
พ.ศ.๒๕๔๗ ที่ผ่านมานี้เอง
นั่นหมายถึง ในยุคสมัยของเรานี้
ท่านก็ดำรงอยู่ในทิพยฐานะที่ใกล้เคียงกับลวี่ต้งปิน เหนือกว่าเหล่าเซียนอีก ๖
องค์ครับ
และจึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า
ท่านคงจะยิ่งทวีความสำคัญ และได้รับการบูชาโดยเอกเทศมากขึ้นไปอีกในอนาคต
ดังนั้น
ในการเรียบเรียงเรื่องของท่านในหนังสือ บูรพเทวีปกรณ์ ผมจึงใช้คำว่า “พระแม่” นำหน้าชื่อของท่านที่เป็นภาษาจีนโดยตลอด
และใช้ราชาศัพท์ในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับท่าน ตามที่เห็นว่า
ควรใช้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีทิพยฐานะในชั้นเทพ
แต่ภายหลังการตีพิมพ์ของ บูรพเทวีปกรณ์
ไม่นานนัก ระหว่างที่ผมกำลังประกอบพิธีเทวาภิเษกเทวรูปลวี่ต้งปิน และเหอเซียนกูให้กับลูกศิษย์คนหนึ่ง
ทั้งสองท่านได้ปรากฏในนิมิต ชี้แนะว่า ต่อไปเมื่อจะกล่าวถึงพวกท่าน
ไม่จำเป็นต้องใช้ราชาศัพท์ ให้ใช้ถ้อยคำสามัญ เหมือนกับเซียนอีก ๖ องค์
เพราะพวกท่านชอบความเรียบง่าย
ผมก็เลยต้องเปลี่ยนมาเล่าเรื่องของท่าน
ด้วยถ้อยคำง่ายๆ อย่างที่เห็นมาตลอดในบทความนี้ละครับ
สำหรับผู้ที่ได้ฟังได้อ่านเรื่องราวของเซียนหญิงท่านนี้
แล้วเกิดศรัทธา ประสงค์จะกราบไหว้ แม้ว่าศาลเจ้าของท่านโดยเฉพาะนั้น
ยังไม่พบว่ามีที่ใดในเมืองไทย แต่ก็สามารถไปบูชาเทวรูปของท่าน
ซึ่งประดิษฐานไว้ในศาลเจ้าหลายแห่ง ที่มีการประดิษฐานคณะเทพโป๊ยเซียนได้โดยไม่ยากนัก
อย่างเช่นในกรุงเทพฯ ก็มี ศาลเจ้าโป๊ยเซียน
ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเทียนฟ้า, ศาลเจ้าหลี่ตี้เมี่ยว ย่านพลับพลาชัย และศาลเจ้าของมูลนิธิร่วมกตัญญู ข้างวัดหัวลำโพง สามย่าน
เป็นต้น
โดยรูปเคารพของเหอเซียนกูองค์ที่ผมเห็นว่ามีพลัง
และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดนั้น น่าจะยกให้ ศาลเจ้าหลี่ตี้เมี่ยว แต่ไม่ใช่องค์ใหญ่สีทองที่อยู่ในห้องโถงใหญ่ของศาลนะครับ
ต้องเดินไปด้านหลัง ซึ่งจะเป็นองค์เล็กกว่า และการไปกราบไหว้บูชาก็น่าจะสะดวกที่สุดด้วยละครับ
เพราะเป็นสถานที่เงียบสงบ ไม่ค่อยมีคนขึ้นไปไหว้กัน
ที่ ตำหนักพระแม่กวนอิม โชคชัย ๔
บริเวณหอประดิษฐานพระแม่กวนอิมเหยียบเสี่ยมซู้ (คางคกสามขา)
ก็มีเทวรูปโป๊ยเซียนชุดหนึ่ง ที่ประดิษฐานไว้สำหรับให้คนทั่วไปบูชา
เป็นงานเซรามิคที่ฝีมือดีพอสมควร
ที่โรงเจของ มูลนิธิภาวนาสงเคราะห์ สะพานใหม่ ดอนเมือง กรุงเทพฯ
ก็มีเทวรูปของเหอเซียนกูอยู่ด้วยเช่นกันครับ โรงเจแห่งนี้มีประเพณีสำคัญ
คือ การทรงเจ้าโป๊ยเซียนในทุกวันที่ ๘ ของแต่ละเดือนตามปฏิทินจีน
ศาลเจ้าใหญ่ๆ ในต่างจังหวัด
ยังมีเทวรูปเหอเซียนกูที่อาจจะกล่าวได้ว่า ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าในกรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่นที่
ศาลเจ้าซาเจียงกุน (หลักเมืองหาดใหญ่) ภายใน วัดหงส์ประดิษฐาราม อ.หาดใหญ่
จ.สงขลา ก็มีเทวรูปโป๊ยเซียนที่มีรูปแบบเก่าแก่มาก
และเหอเซียนกูที่นี่ก็มีพลังอย่างเห็นได้ชัดครับ
ผู้บูชาเหอเซียนกู
นอกจากไปกราบไหว้ท่านตามศาลเจ้าต่างๆ ดังที่ผมยกตัวอย่างแล้ว ยังควรไปชมประติมากรรมของท่าน
ที่มีความงามทางศิลปะด้วย
ประติมากรรมเหล่านี้
แม้จะมิได้ทำขึ้นเพื่อการกราบไหว้บูชาโดยตรง ก็นับเป็นสิริมงคลมากนะครับ
เพราะมีอยู่หลายแห่งที่มีการจัดวางถูกต้องตามศาสตร์โป๊ยเซียน และศาสตร์ฮวงจุ้ย
ซึ่งหมายความว่า เพียงได้ไปชมดูด้วยความเคารพ
ด้วยสมาธิจิตชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็จะได้รับ “พลัง”
อันเกิดจากการจัดวางศิลปวัตถุ อันมีรูปลักษณ์ หรือ ประติมานวิทยา
(Iconography) ที่ถูกต้อง
ด้วยหลักของศาสตร์เร้นลับที่ถูกต้องนั่นเอง
เช่น ที่ตำหนักพระแม่กวนอิมโชคชัย ๔
นั่นแหละครับ
ออกจากหอประดิษฐานพระแม่กวนอิม
ข้ามถนนไปยังอาคารสุขาวดี เลี้ยวขวาอ้อมไปยังบริเวณด้านข้างอาคารดังกล่าว
จะมีชุดเทวประติมากรรมโป๊ยเซียนหินอ่อน รวมทั้งเหอเซียนกูซึ่งแกะลอยองค์
มีความสูงประมาณ ๑ เมตร ลักษณะประทับนั่งคุกเข่าถือดอกบัว ฝีมือช่างจีนแกะได้งดงามพอสมควรครับ และยังแกะดีกว่าประติมากรรมเทพนารีอีกหลายสิบองค์
ที่มีอยู่ในเทวสถานแห่งนี้
ส่วนในต่างจังหวัด
ที่มีให้ชมในพื้นที่เดียวกันเป็นปริมาณมากที่สุด ก็น่าจะเป็นที่ อเนกกุศลศาลา
หรือ วิหารเซียน อ.บางละมุง
จ.ชลบุรี
เริ่มตั้งแต่ก้าวพ้นซุ้มประตูใหญ่เข้าไป เราก็จะพบกลุ่มประติมากรรมสำริด ๘
เซียนข้ามทะเล ซึ่งปั้นหล่ออย่างประณีตทุกองค์ ตั้งอยู่เหนือแท่นหินแกรนิต
บนลานชั้นล่างด้านหน้าอาคารใหญ่
ประติมากรรมชุดนี้ละครับ ที่ควรจะกล่าวได้ว่า
เป็นคณะ ๘ เซียนหล่อด้วยสำริด ที่งามที่สุดในประเทศไทย
เมื่อผ่านลานด้านหน้าเข้าไปภายในชั้นล่างของอาคารอเนกกุศลศาลา
ยังมีจิตรกรรมชุด ๘ เซียน ซึ่งเป็นผลงานของ เฉินหงโซ่ว
จิตรกรเลื่องชื่อสมัยราชวงศ์หมิง ที่มีอายุกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้ว
แต่ยังคงสภาพสมบูรณ์และสวยงามมาก
จิตรกรรมชุดนี้
เป็นต้นแบบงานศิลปะชุดโป๊ยเซียนของ ฮว๋าซานชวน
ที่ผมได้นำเฉพาะภาพของเหอเซียนกูมาประกอบบทความนี้
และยังเป็นจิตรกรรมซึ่งเกิดขึ้นในราชวงศ์ที่คณะ ๘
เซียนได้มารวมกันอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรกอีกด้วยนะครับ
ส่วนอีกชุดหนึ่ง เป็นงานแกะสลักบนหินแกรนิต อยู่บนผนังกำแพงบริเวณห้องโถงชั้นใน
ฝีมือช่างซัวเถาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสมัยปัจจุบัน เป็นภาพตอน ๘
เซียนข้ามทะเล ฝีมืองามมากเช่นกัน
เมื่อขึ้นไปยังชั้นสองของเทวสถาน ก็จะพบกับ เทวาลัยวิสุทธิเทพลวี่ต้งปิน
ซึ่งเป็นเทพองค์ประธานของวิหารเซียนแห่งนี้ ด้านข้างแท่นประดิษฐานองค์วิสุทธิเทพฯ
มีประติมากรรมปูนปั้นระบายสีประดับผนังรูป ๘ เซียนข้ามทะเล
และมีรูปของเหอเซียนกูซึ่งดูน่ารักแปลกตามาก
และถ้าใครไปไหว้ที่ศาลเจ้าซาเจียงกุน
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แล้ว ก็ควรจะขึ้น เขาคอหงส์ ไปที่ วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม
ด้วยนะครับ
เพราะนอกจากจะมีพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมองค์ใหญ่
ที่สวยงามและศักดิ์สิทธิ์มากแล้ว ที่นั่นยังมีประติมากรรมเหอเซียนกูอีกองค์หนึ่ง
ที่ผู้บูชาควรจะได้ไปชมสักครั้งในชีวิต
เนื่องด้วยเป็นประติมากรรม
ซึ่งทำด้วยปูนปั้นระบายสีอย่างงดงาม จนน่าจะกล่าวได้ว่า งามยิ่งกว่ารูปเคารพ
และประติมากรรมของท่านที่สร้างไว้ที่อื่น ไม่ว่าที่ใดในเมืองไทยครับ
แต่เป็นที่เสียดายว่า
ช่างผู้ปั้นพระรูปดังกล่าว ปั้นพระพักตร์เงยขึ้นไปหน่อยหนึ่ง เมื่อตั้งไว้ในที่สูงจึงเป็นมุมที่ดูไม่สวย
และถ่ายรูปยาก ได้เท่าที่นำมาประกอบในบทความนี้
ทีนี้, สำหรับผู้ที่อ่านบทความนี้แล้ว
ได้ไปไหว้เซียนหญิงท่านนี้ตามที่ต่างๆ มาแล้ว
และคิดว่าจะจัดหารูปเคารพของท่านสำหรับบูชาโดยลำพัง แยกต่างหากจาก ๘ เซียน
ก็คงต้องทำใจนะครับ ว่าอาจจะได้รับความลำบากอยู่บ้าง
เพราะรูปเคารพของท่าน
สร้างรวมชุดกับโป๊ยเซียนองค์อื่นๆ เสมอ และผู้นำมาจำหน่ายก็จะขายยกชุด
ไม่มีการแยกขายหรอกครับ
มีแต่บางร้านที่มีขายไม่ครบชุดบ้าง
หรือนำมาจำหน่ายโดยนึกว่าเป็นตุ๊กตาจีนทั่วไป ไม่รู้ว่าเป็นโป๊ยเซียนบ้าง
จึงจะขอซื้อเฉพาะเหอเซียนกู หรือเซียนองค์ใดองค์หนึ่งได้
แต่ถึงจะโชคดีอย่างนั้น ก็ยังต้องเลือกเฉพาะที่ดูเป็นรูปเคารพจริงๆ
อีกนะครับ
ก็คือ เป็นรูปยืนหรือนั่งที่ดูแล้ว
ค่อนข้างเป็นพิธีการ เช่น นั่งบนหลังกวาง ไม่ใช่พวกของแต่งบ้าน
ที่มีลักษณะผ่อนคลาย เช่น แบบที่รวมอยู่ในชุดโป๊ยเซียนร่ำสุรา
หรือชุดโป๊ยเซียนสำราญอิริยาบถ
ทั้งสองอย่างหลัง แม้แยกขายเป็นองค์ๆ
ก็ไม่ควรบูชานะครับ เพราะเป็นของสิริมงคลสำหรับตกแต่งภายในบ้าน
ซึ่งควรจัดวางให้ครบ ๘ องค์
และเมื่อได้เทวรูปสำหรับบูชามาแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งแท่นบูชาเดี่ยวๆ สามารถบูชารวมไปกับพระโพธิสัตว์กวนอิม
และเทพจีนองค์อื่นๆ ได้ ถ้าวัสดุเป็นประเภทเดียวกัน
หรือถ้ามีโต๊ะหมู่
ซึ่งประดิษฐานเทพเจ้าอินเดีย ไทย จีน คละกันอยู่แล้ว
ก็ตั้งรวมไว้ในโต๊ะหมู่นั้นได้เลย
โดยให้พิจารณาจากวัสดุของเทวรูปที่มีอยู่เดิมด้วยเช่นกันครับ
การบูชาเหอเซียนกู
จะได้รับผลที่ดีเป็นพิเศษในเรื่องเกี่ยวกับเสน่ห์ เมตตามหานิยม ผู้หญิง ครอบครัว
โรคภัยไข้เจ็บ ผู้สูงอายุ หรือขอพลังคุ้มดวงชะตายามคับขัน
ไม่ว่าผู้บูชาจะเป็นชายหรือหญิง ท่านก็โปรดเท่าเทียมกัน
และถ้าบูชาเป็นคุ่กับลวี่ต้งปิน
ก็จะดีเยี่ยมครับ
...................................
...................................
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์
ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL
ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด
ที่บ้านมีโป๊ยเซียนชุดใหญ่เนื้อกระเบื้องปิดทอง แต่หลานไปซนทำแตกไปสององค์ ซินแสให้บูชาต่อแค่หลี่ต้งปินกับเหอเซียนกู ที่เหลือให้เก็บไปเลยค่ะ และให้ไปหาโป๊ยเซียนชุดเล็กกว่ามาตั้งล้อมรอบไว้แทน พอมาอ่านโพสต์นี้เรยพอจะเข้าใจว่าเพราะอะไร
ตอบลบแสดงว่า ในศาสตร์ของโป๊ยเซียนโดยทั่วไป ทั้ง ๒ องค์นี้สำคัญที่สุดจริงๆ ค่ะ
ลบ