วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2559

ถาม-ตอบ เรื่องพระคเณศ ตอนที่ ๑

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




เนื้อหาทั้งหมดของบทความนี้ เดิมเป็นการถามตอบระหว่าง คุณดนัย นาควัชระ แฟนพันธุ์แท้ศิษย์พระพิฆเนศวร์ กับผม ผ่านคอลัมน์ตอบจดหมายของเว็บไซต์ aromamodaka.com เมื่อหลายปีมาแล้ว

ผมเห็นว่ายังทันสมัย เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ศรัทธาพระคเณศหลายคนยังคงอยากรู้ และมีการสอบถามกันทางสื่อต่างๆ แม้จนทุกวันนี้

อีกทั้งช่วงเวลานี้ กำลังเข้าสู่บรรยากาศแห่งเทศกาลมหามงคล คือ คเณศจตุรถี หรือการบูชาประจำปีสำหรับพระคเณศ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ ๕ กันยายน อีกด้วย

ผมจึงถือโอกาสนำมาเรียบเรียง แบ่งปันให้ได้อ่านโดยทั่วกัน และขอขอบคุณเจ้าของจดหมายดังกล่าวไว้ ณ ที่นี้ครับ




ถาม : รูปลักษณ์ดั้งเดิมที่แท้จริงขององค์พระคเณศก่อนที่จะเกิดเป็นปางต่างๆ พระองค์ปรากฎในรูปแบบใด เป็นช้างอย่างที่ที่เราเห็นกันอยู่ จวบจนมีลัทธิการบูชาบรรพบุรุษเกิดขึ้น และมีการรวมลัทธินี้กับลัทธิบูชาสัตว์ดั้งเดิมเข้าด้วยกัน ก็เลยทำให้พระองค์มีร่างกายเป็นมนุษย์ แล้วต่อมาพระองค์มีสภาวะเป็นเทพเจ้า พราหมณ์จึงเปลี่ยนรูปเคารพของท่านให้มี ๔ กรถือศาสตราวุธต่างๆ ตามทิพยภาวะของพระองค์ท่าน เพื่อยังให้เกิดผลตามเทวอำนาจของท่าน ใช่ไหมครับ?

ตอบ : ต้องเข้าใจว่า ลัทธิบูชาสัตว์เกิดก่อน แล้วผู้นำชนเผ่าที่นับถือสัตว์ชนิดนั้น จึงได้รับการบูชาบ้าง และได้เข้าไปรวมกัน นั่นคือลัทธิบูชาบรรพบุรุษเกิดตามหลังลัทธิบูชาสัตว์

แต่สิ่งที่เกิดหลังจากนั้นอีก คือประติมานวิทยา (Iconography) หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยการสร้างรูปเคารพ

พูดง่ายๆ ว่า ลัทธิไหนจะเกิดก่อนเกิดหลังไม่สำคัญ แต่เทวรูปเป็นสิ่งที่เกิดทีหลังสุด และเป็นตัวตัดสินว่า จะถ่ายทอดลัทธิทั้งสองซึ่งผสมผสานกันอยู่ก่อนหน้านั้นนานแล้วให้ออกมามีรูปร่างหน้าตาแบบใด

ดังนั้นพระคเณศในรูปแบบที่เก่าที่สุด จึงมีรูปกายเป็นมนุษย์มาตั้งแต่ต้น และมีเพียง ๒ กรเท่านั้น เพราะเดิมท่านเป็นคน และเทวรูปของท่านเป็นสิ่งที่เกิดก่อนความนิยมแสดงทิพยภาวะด้วยการเพิ่มพระกร ซึ่งเป็นประติมานวิทยาในยุคหลัง

สำหรับพระเศียรนั้นเป็นช้างมาตั้งแต่แรกเช่นกัน เพราะได้ผสมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลัทธิบูชาช้างมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ส่วนทิพยรูปของพระองค์เท่าที่มีเคยผู้พบเห็น มีทั้ง ๒ กรและ ๔ กร




ถาม : เวลาเราบูชาพระคเณศ เราควรบูชาพระองค์ในฐานะช้างที่เป็นเทพเจ้า หรือเทพเจ้าที่มีพระเศียรเป็นช้าง เพราะคนส่วนใหญ่ก็บูชาพระคเณศเหมือนเป็นเทพเจ้าช้างเป็นช้างจริงๆ ไม่ใช่เป็นมนุษย์?

แล้วถ้าพระคเณศเป็นเทพที่เกิดจากลัทธิบูชาสัตว์ และลัทธิบูชาบรรพบุรุษ เราควรจะโฟกัสไปที่ช้าง หรือ บรรพบุรุษผู้นั้น หรือว่าไม่จำเป็น ให้โฟกัสไปเลยว่าพระคเณศก็คือเทพเจ้าพระองค์หนึ่ง?

ตอบ :ให้บูชาในฐานะเทพเจ้าที่มีพระเศียรเป็นช้าง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พระองค์ท่านโปรดให้มนุษย์ได้บูชา ไม่ต้องไปสนใจว่าท่านจะทรงมีเทวลักษณะที่แท้จริงเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าท่านโปรดให้บูชาผ่านเทวรูปที่มีเศียรเป็นช้างก็พอแล้ว

เพราะเทวรูปพระคเณศในรูปลักษณ์อื่นนั้นก็มีอยู่ แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าลักษณะที่มีเศียรเป็นช้าง นั่นก็เพราะผลทางสถิติที่แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า การบูชาพระคเณศด้วยเทวรูปที่มีเศียรเป็นช้างนั้น ดีที่สุด




ถาม
: เพราะเท่าที่สังเกตดูในพฤติกรรมของผู้บูชา รวมทั้งของถวาย ของไหว้ที่อาจารย์เขียนไว้ใน คู่มือบูชาเทพ ก็ล้วนแต่สอดคล้องกับสภาวะของพระองค์ที่เป็นช้าง ทั้งๆ ที่บรรพบุรุษที่เป็นหัวหน้าเผ่าผู้นั้นอาจจะไม่ชอบของถวายลักษณะนั้นก็เป็นได้?

ตอบ : ผมเขียนไว้ว่า ของไหว้พระคเณศคือขนมเนื้อแน่น รสมัน ไม่หวานจัด ไม่เปรี้ยวมาก หรือมีสีสันสวยงาม ช้างที่ไหนชอบของแบบนั้นครับ?

ช้างจริงๆ น่ะชอบกินกล้วย อ้อย สับปะรด สับปะรดเปรี้ยวๆ มันก็ชอบ เห็นเวลาลุยไร่สัปปะรดทีไรเอางวงคว้าใส่ปากเคี้ยวกันกร้วมๆ คุณไปถามคนกุยบุรีดูได้

แล้วผมฟันธงตรงนี้ได้เลย ว่าคุณจะไม่มีวันได้เห็นช้างที่ไหนชอบขนมที่เป็นลูกกลมๆ รวมทั้งขนมโมทกะ และไม่มีช้างที่ไหนเช่นกันที่ชอบกลิ่นธูปและกำยานไม่ว่ากลิ่นใดก็ตาม

เพราะฉะนั้น ของถวายของไหว้พระคเณศที่ผมเขียนไว้ใน คู่มือบูชาเทพ นั่นไม่ใช่ของโปรดสำหรับช้างแน่นอน

ถ้าจะเอาเรื่องปริมาณมากๆ เป็นเกณฑ์ คนอ้วนที่ไหนก็ชอบของกินที่มีปริมาณมากๆ และการจัดของไหว้เป็นปริมาณมากๆ มันก็เป็นเรื่องของมายาศาสตร์ในด้านพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์นะ ไม่ใช่เพราะคิดว่าต้องจัดไปให้ช้างกิน

แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่า บรรพบุรุษผู้ซึ่งได้รับการบูชาจนเป็นพระคเณศนั้น อาจจะไม่ชอบของถวายลักษณะนั้น

ถ้าเขาไม่ชอบจริง ทำไมของแบบนั้นจึงมีปราณที่เหมาะกับพระคเณศล่ะ? คนเราชอบกินอะไรเป็นพิเศษ เพราะปราณของมันเหมาะกับเรามิใช่หรือ?




ถาม
: เมื่อครั้ง พระคเณศ เป็นมนุษย์นั้น พระองค์เป็นใคร มีความดียังไง เป็นไปได้ไหมว่า เดิมทีพระองค์เป็นมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประทาน และขจัดอุปสรรค อีกทั้งประทานความสำเร็จ และชนเผ่าของพระองค์นั้นก็บูชาเทพเจ้าเศียรช้างเป็นเทพสูงสุดพอดี เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์เสียชีวิต ชนเผ่านั่นจึงนำพระองค์ไปรวมหรือนำไปแทนที่กับเทพเศียรช้างที่บูชาอยู่ขณะนั้น?

เพราะผมสังเกตว่าถ้าบูชาพลังธรรมชาติโดยใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์ ก็น่าจะคงคติความยิ่งใหญ่ พลังมหาศาล หรือความน่าเกรงกลัวของช้างมาจนถึงปัจจุบัน แต่กลายเป็นว่าพระคเณศนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ขจัดอุปสรรคซึ่งไม่ใช่พลังตามธรรมชาติของช้าง

ตอบ : เราไม่มีทางรู้ว่าเดิมพระองค์เป็นใคร และมีความดีอย่างไร เราสันนิษฐานได้เพียงแต่ว่าพระองค์น่าจะเป็นหัวหน้าเผ่า หรือผู้วิเศษของชนเผ่าที่นับถือช้าง และจึงโปรดให้บูชาพระองค์ด้วยเทวรูปที่มีเศียรเป็นช้าง

ซึ่งที่จริงแล้ว คติความยิ่งใหญ่ พลังมหาศาล หรือความน่าเกรงกลัวของช้างที่คุณกล่าวถึงนั้น ก็มีควบคู่มากับการบูชาพระคเณศโดยตลอด พระคเณศในลัทธิบูชาพระองค์แต่ดั้งเดิมจริงๆ ดูน่าเกรงขามกว่าทุกวันนี้มากนัก

เพียงแต่เมื่อศาสนาฮินดูเข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะไศวะนิกายที่เน้นการทำให้พระองค์เป็นโอรสของพระอุมา และมีพฤติกรรมเป็นเด็ก ก็ทำให้เรื่องเหล่านั้นหมดความสำคัญไป

ทีนี้ ถ้าเราจะพูดกันถึงสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ขจัดอุปสรรค ซึ่งคุณคิดว่าไม่ใช่พลังตามธรรมชาติของช้าง

ผมจะบอกให้ว่า การจะหาคำตอบในเรื่องเทววิทยาแขก คุณต้องคิดให้ได้แบบแขก นั่นคืออย่าคิดอะไรให้มันยุ่งยาก

เวลาคุณมองช้าง คุณเห็นอะไร...คุณเห็นร่างกายที่ใหญ่โต มีพละกำลังมหาศาล เป็นใหญ่ในป่า ขนาดและพละกำลังของช้าง ทำให้มันไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ

นั่นคือ มันเป็นสัญลักษณ์ของความไม่มีอุปสรรคในการดำรงชีวิต จะหากินจะทำอะไรก็ง่ายดายไปหมด ใช่หรือไม่?
 
ไม่ใช่คนอินเดียเท่านั้นที่มองช้างแบบนี้ ที่จริงแล้วคนเอเชียทุกชนชาติที่รู้จักช้าง ล้วนแต่มองช้างแบบนี้ เพราะช้างเอเชียอยู่ในแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ ไม่เหมือนช้างแอฟริกาซึ่งมีชีวิตที่ยุ่งยากกว่า
 
และช้างในเอเชีย ก็คือสิ่งที่บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของป่าด้วย เพราะป่าไหนมีช้างมาก นั่นคือป่าที่สมบูรณ์

ขนาดศิลาจารึกสุโขทัยจะโฆษณาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ก็ยังต้องใช้คำว่า เมืองกว้างช้างหลายใช่ไหม?
 
ช้างจึงเป็นสัญลักษณ์ของความไม่มีอุปสรรค และความอุดมสมบูรณ์มานานแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ดังนั้นจึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับความยิ่งใหญ่ ความสูงส่งของสถาบันชนชั้นปกครอง เช่น กษัตริย์

คุณก็คิดเอาง่ายๆ ขนาดกำเนิดพระแม่ลักษมียังมีช้างมาเกี่ยวข้อง ช้างกับความอุดมสมบูรณ์เป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออกจริงๆ ครับ
 
และถ้าคุณลองคิดไปอีกแบบหนึ่ง ความอุดมสมบูรณ์เกิดได้มั้ยถ้ามีอุปสรรค? ก็ไม่ได้

ถ้าจะบอกว่าอะไรอุดมสมบูรณ์ สิ่งนั้นต้องปราศจากอุปสรรค ความสำเร็จและความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน

 


ถาม : การที่พระคเณศนั้นได้รับการบูชาเป็นพระองค์แรก สาเหตุจริงๆ มาจากอะไรครับ?

๑. เป็นเรื่องการเมือง พราหมณ์สมัยนั้นอาจจะเห็นว่าชนเผ่าที่บูชาพระคเณศมีมากมาย และพอที่จะเป็นกำลังสำคัญในศาสนาฮินดู จึงพยายามยกย่องเทพพื้นเมือง ก็คือพระคเณศ ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อง่ายต่อการปกครอง และถ้าเป็นอย่างนี้จริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องสมมติ ถ้างั้นในความเป็นจริง จะบูชาองค์ใดก่อนก็ได้

๒. อาจจะเป็นเพราะว่าพระองค์ท่านอยู่ในฐานะเทพขจัดอุปสรรค ก็เลยมีแนวความคิดว่าท่านควรจะได้รับการบูชาเป็นพระองค์แรก เพื่อให้สัมฤทธิผลในการบูชาเทพพระองค์อื่นง่าย และเร็วขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นโบราณจารย์ท่านก็เลยลองทำตามที่ท่านคิด ปรากฏว่าได้ผลดี ก็เลยยึดถือมาจนถึงวันนี้

ตอบ : เป็นเรื่องการเมือง และเกี่ยวพันกับฐานะการเป็นเทพขจัดอุปสรรคด้วย นั่นคือถูกทั้งสองข้อ

แต่ที่คุณเข้าใจผิด ก็คือการบอกว่าเมื่อเป็นเรื่องสมมุติแล้ว ในความเป็นจริงจะบูชาเทพองค์ใดก่อนก็ได้

สมมุติก็คือสมมุติ นั่นถูกต้อง เพราะในโลกนี้อะไรก็เป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้นละครับ ขนาดสิ่งที่เรามีเราเป็นกันอยู่นี้ ยังเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น

แต่เราต้องพิจารณาว่าสมมุตินั้น เป็นอะไรที่ยึดถือกันมานานอย่างมั่นคงแล้วหรือเปล่า? และองค์เทพทรงยอมรับแล้วหรือเปล่า?

ถ้าองค์เทพทรงยอมรับแล้ว ก็หมายถึงเทพเจ้าทั้งหลายทรงรับรู้ร่วมกันว่า มนุษย์บูชาองค์พระคเณศในฐานะเทพองค์แรกสำหรับการบูชา

ดังนั้นถ้าคุณจะไปบูชาเทพองค์อื่นเพื่อผลอย่างเดียวกัน เทพองค์นั้นท่านก็จะไม่ทรงรับรู้การบูชาของคุณ เพราะท่านมิได้ทรงได้รับการ สมมุติ” ให้บูชาในเรื่องเช่นนั้น นั่นคือเรื่องเช่นนั้นมิใช่สิ่งที่ท่านกับมนุษย์เข้าใจตรงกันว่า เป็นสิ่งที่ท่านเป็น

ในขณะเดียวกัน องค์พระคเณศซึ่งทรงได้รับการบูชาก่อนเทพอื่นใดมาตั้งแต่โบราณกาล พระองค์ทรงคุ้นเคยอยู่แล้วกับ สมมุติที่ผู้บูชาส่วนใหญ่ถวายความศรัทธาแด่พระองค์

ดังนั้นเมื่อมีการบูชาพระองค์เป็นปฐมบูชา พระองค์ก็ทรงประทานพรตามแบบที่ผู้บูชาเทพองค์แรกในการทั้งหลายพึงคาดหวัง

นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้ผมย้ำกับใครๆ อยู่เสมอว่า เหตุใดเราจึงต้องประกอบพิธีบูชาเทพในลัทธิศาสนาต่างๆ ตามที่ชนชาตินั้นๆ บัญญัติและกระทำสืบเนื่องกันมา

นั่นก็เพราะแนวความคิด และลักษณะการบูชาเช่นนั้น เป็นสิ่งที่องค์เทพเหล่านั้นทรงยอมรับ และคุ้นเคยอยู่แล้วนั่นเองครับ




ถาม : ทิพยภาวะขององค์พระคเณศรวมทั้งเทพเจ้าองค์อื่น เป็นทิพยภาวะแรกครั้งที่เป็นมนุษย์ ก็คือ เป็นคุณสมบัติที่มีมาตั้งแต่ต้น หรือว่ามีการเพิ่มขึ้นในภายหลังด้วย ไม่ว่าจะมาจากสัมผัสในการบูชาท่าน ว่าท่านเป็นอย่างนี้ และมาจากเทวปกรณ์ที่แต่งเสริมเข้าไปอีก?

เช่น พระคเณศเดิมทีแล้วท่านมีทิพยภาวะในการขจัดอุปสรรค นำความสำเร็จ และเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาบูชาท่านนานวันเข้า สัมผัสได้ว่าท่านทรงเป็นใหญ่ในบรรดาภูตผีปีศาจ สามารถขจัดมนต์ดำ คุณไสย และอำนาจลี้ลับทั้งปวงได้ ก็เลยรวมเข้าเป็นทิพยภาวะอีกประการหนึ่ง แต่พวกเราก็อยากเสริมบารมีให้ท่านอีก โดยการแต่งเทวปกรณ์ต่างๆ ในด้านความฉลาด มีไหวพริบ ก็เลยนับเป็นคุณสมบัติอีกประการหนึ่ง?

ตอบ : ช้าง เป็นหนึ่งในทำเนียบพญาสัตว์ที่ภูตผีปีศาจมักกลัวเกรง

คนสมัยโบราณทุกชนชาติที่บูชาช้าง มักมีหัวกะโหลกของช้าง หรืองาช้างที่มีลักษณะพิเศษติดตั้งไว้เหนือประตูทางเข้าหมู่บ้าน หรือติดไว้บนหลังคาของอาคารที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ขณะเดียวกัน แม้แต่พรานป่าของไทยก็พกพา กรามช้าง เพื่อขับไล่ปีศาจและอำนาจชั่วร้ายต่างๆ

หัวของสัตว์อื่นที่มีผู้นับถือกันอยู่ เช่น เสือ สิงโต ควายป่า ก็มีพลังอำนาจในการป้องกันภูตผีปีศาจ คุณไสยและอำนาจลี้ลับทั้งปวงเช่นกัน  

จึงไม่แปลกอะไรที่คนที่นับถือพระคเณศ จะสัมผัสได้ว่าท่านมีเทวานุภาพในการขับไล่ภูตผีปีศาจ และคุณไสยมนต์ดำต่างๆ ด้วย

ส่วนเทวปกรณ์ในเรื่องของความฉลาด ปฏิภาณ และไหวพริบ ก็คือแนวคิดที่แตกออกมาจากเรื่องของความเป็นผู้นำ (คุณสมบัติเดิมที่ทำให้คนได้รับการนับถือเป็นเทพ) บวกกับเรื่องของความอุดมสมบูรณ์อีกนั่นแหละครับ

คุณลองคิดดูว่า มีคนด้อยปัญญาที่ไหนที่จะดำรงชีวิตอยู่ในรูปแบบที่เป็น ความอุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริงได้ เพราะต่อให้เป็นลูกมหาเศรษฐีหมื่นล้านแสนล้าน ถ้าเป็นคนโง่ก็ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง มีตัวอย่างให้เราเห็นกันอยู่

ดังนั้น เมื่อความอุดมสมบูรณ์เป็นเรื่องเดียวกับความสำเร็จ ปราศจากอุปสรรค คุณลองคิดดูสิว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าขาดสติปัญญา

ยังมีต่อนะครับ อาทิตย์หน้าผมจะโพสต์อีกตอนหนึ่ง ท่านใดอ่านแล้วชอบก็อย่าพลาดเชียวครับ


...................................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

4 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น