วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559

พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม เป็นชายหรือหญิงกันแน่?

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




ในฐานะที่เป็นนักเขียนด้านเทววิทยาคนหนึ่ง คำถามยอดฮิตที่ผมได้รับอยู่เนืองๆ ก็คือ แท้จริงแล้ว พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมทรงเป็นเพศชายหรือเพศหญิง?

ซึ่งถ้าจะให้ผมตอบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ในบทความนี้ ผมก็จะตอบว่า ไม่ทราบ

เพราะตัวผมเอง ไม่มีญาณวิถีใดๆ ที่จะหยั่งรู้ในเรื่องนั้นครับ

และผมก็ไม่เคยมีประสบการณ์ รู้เห็นทิพยรูปของพระมหาโพธิสัตว์กวนอิม เหมือนอย่างที่เคยได้สัมผัสรู้เห็นองค์เทพฝ่ายไทย อินเดีย จนถึงสแกนดิเนเวียและอียิปต์หลายองค์ ตามเหตุปัจจัยแห่งสายวิชาที่ผมได้รับสืบทอดมาโดยตรง

นั่นก็เพราะว่า เทวศาสตร์จีน ผมรู้แต่จากตำราและคำบอกเล่าเป็นส่วนใหญ่ ที่ได้มาโดยตรงนั้นน้อยมาก และไม่เกี่ยวกับพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมด้วยครับ

แต่ถ้าจะถามว่า ถ้าเช่นนั้น, การที่ตำราต่างๆ โดยเฉพาะที่มีการเผยแพร่ออกมาจากฝ่ายมหายานว่า พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมเป็นภาคหนึ่งของ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์---ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน

และด้วยเหตุนั้น แท้ที่จริงจึงเป็นเพศชาย...ผมมีความเห็นอย่างไร?




คำตอบคือ ผมไม่เชื่อครับ

เพราะตำราฝ่ายมหายานพวกนั้น มีไว้เพื่อครอบงำลัทธิบูชาเทพพื้นเมืองต่างๆ ในจีน ซึ่งทำกันอย่างสม่ำเสมอ

ชนิดที่ว่า เห็นใครเขานับถืออะไร ก็ลากเข้ามาแต่งเนื้อแต่งตัวใหม่ให้เป็นมหายาน

ลากมาแล้ว ก็มีการยกพระสูตร ยกตำนานสารพัดอย่าง เป็นตำนานของเดิมที่พอจะเข้ากันได้บ้าง หรือแต่งใหม่ขึ้นมา แล้วอ้างว่าเป็นของเดิมบ้าง มาอธิบายเสียใหม่ว่า แท้ที่จริงเทพองค์นั้น คือพระอะไรต่อมิอะไรในทางมหายาน มีพระนามเป็นภาษาสันสกฤตยาวๆ ยากๆ ที่ทำให้คนไม่มีความรู้หลงเชื่ออย่างง่ายดาย

เสร็จแล้วก็จัดการ ข่มลัทธิที่นับถือเทพเหล่านั้นมาแต่เดิมว่า เป็นการนับถือที่ผิด ที่จริงต้องไหว้เทพองค์นั้นตามแบบที่เป็นมหายาน

มหายานทำอย่างนี้บ่อยครับ

ที่เห็นชัดๆ ก็คือ กรณีของ พระโพธิสัตว์ชัมภล ที่มาจากท้าวกุเวรของอินเดีย แล้วมีการเชื่อมโยงไปถึงเทพโชคลาภของจีน คือ ไฉ่สิ่งเอี๊ย ในบทความที่ผมเขียนไปแล้วใน blog เดียวกันนี้ คือ http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2016/02/blog-post.html

ก็ขนาดเทพกวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ในศาสนาเต๋า มหายานจีนก็ยังนำมาเป็นเทพผู้พิทักษ์ศาสนสถาน หรือ พระสังฆารามปาลโพธิสัตว์ (เฉียหลานผูซา ในภาษาจีนกลาง หรือ แคน้ำผ่อสัก ในภาษาแต้จิ๋ว)




พร้อมกับมีตำนานอธิบายว่า เทพกวนอูประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ต่อหน้าผู้ก่อตั้งนิกายสัทธรรมปุณฑริกของจีนเมื่อ พ.ศ.๑๑๓๕ และยังช่วยเหลือในการสร้างวัดด้วย

สนุกมั้ยล่ะครับ?

วิธีการอย่างนี้ ศาสนาฮินดูก็ใช้อยู่ ทั้งเรื่องพระนารายณ์อวตาร หรือเรื่องพระศิวลึงค์และครอบครัวบริวารของพระศิวะ

ใครก็ตามนะครับ ที่ศึกษาเทววิทยาอินเดีย และไม่คลั่งไคล้ศาสนาฮินดูขนาดหนัก จะรู้เท่าทันว่า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องจริงที่ควรยึดถือแต่ประการใด

ตำราบางส่วนที่มีการเผยแพร่ออกมาน้อยกว่าต่างหาก ที่ผมเห็นว่าน่าจะอธิบายได้ดีกว่า

ดังเช่นที่มีบางท่านกล่าวว่า กวนอิม หรือการออกเสียงที่แท้จริงคือ กวงอิม นั้น คนจีนจำนวนมากที่ใช้คำดังกล่าวในลักษณาการที่เกือบจะเหมือน พระเจ้า หรือ God ในศาสนาเอกเทวนิยม อย่างศาสนาคริสต์และอิสลามเลยทีเดียว

โดย กวงอิม ที่เป็นทิพยภาวะสูงสุดนี้ บางทีก็มีผู้เรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า พระสัมมาธรรมวิทยาพุทธ

เป็นทิพยภาวะหนึ่งเดียว แต่ด้วยความที่ทรงมีพระมหากรุณา ที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็ทรงแบ่งภาคมาเป็นพระโพธิสัตว์หลายองค์ ในกาลเวลาและสถานที่ต่างๆ กัน เจ้าแม่กวนอิมที่เรานิยมกราบไหว้กันอยู่ ก็เป็นภาคหนึ่งของทิพยภาวะสูงสุดนี้

อันนี้ผมว่าน่าฟังครับ

เพราะเมื่อแบ่งภาคมาจากทิพยภาวะสูงสุดแล้ว จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ แล้วแต่จะแบ่งภาคไปในรูปนามใด

และถ้าแบ่งภาคไปในรูปลักษณ์ของสตรีเพศ ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีใครมาคอยยืนยันว่า แท้จริงแล้วเป็นบุรุษ ให้เกิดความสับสนโดยใช่เหตุ




อีกทั้งถ้าจะพิจารณาในแง่ของภาษา ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า เราสามารถพูดถึงพระโพธิสัตว์กวนอิมได้ โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงไปถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเลยครับ

เพราะคำว่า กวงอิม หรือ กวงซีอิม ของคนจีนที่ไทยเรามาเรียกเพี้ยนกันว่า กวนอิม นั้น มีความหมายแต่เพียงว่า ผู้สดับเท่านั้น

และก็เป็นคำที่ไม่จำเป็นต้องหมายถึงเจ้าแม่กวนอิม ที่เราเห็นกันทั่วไปเพียงอย่างเดียว

แต่ยังหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ที่มีผู้นับถือว่าสามารถช่วยเหลือผู้คนได้อย่างยิ่งใหญ่เห็นเป็นอัศจรรย์ ก็ได้ด้วยนะครับ

ดังเช่น ถ้าใครเคยไปเที่ยววัดเส้าหลิน จะเห็นรูปปั้นพระจีนถือกระบองเหล็ก ซึ่งมีที่มาจากพระภิกษุลึกลับรูปหนึ่ง ที่ปรากฏตัวขึ้นมาช่วยเหลือพระในวัดต่อสู้กับกองทัพกบฏสมัยราชวงศ์หยวน จนกองทัพนั้นแตกพ่ายหนีไป

พระภิกษุลึกลับนี้ก็ถูกเรียกว่า กวงอิม และมีการสร้างรูปเคารพของท่านสำหรับกราบไหว้กันสืบมา ซึ่งดูไม่เหมือนเจ้าแม่กวนอิมเลย

นอกจากนี้ พระหัยครีพ (Hayagriva) เทพผู้มีพระเศียรเป็นม้าในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมหายานไปลากเข้ามาเป็นพระโพธิสัตว์อีกองค์หนึ่งนั้น คนจีนก็เรียกกันง่ายๆ ว่า กวงอิมหัวม้า

เพราะฉะนั้น ถ้าดูจากทัศนคติของคนจีนโดยทั่วไป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่มีพลังอำนาจยิ่งใหญ่ มีเมตตาบารมีสูงส่ง คอยช่วยเหลือมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก จนมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว ก็อาจถูกเรียกว่า กวงอิม ได้ทั้งนั้น

เป็นคำที่ใช้รวมๆ คล้ายกับคำว่า พระเป็นเจ้า ในภาษาไทย ไม่ได้หมายถึงเทพองค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงเทพ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนจีนนับถือมานานแล้ว ผมเห็นว่า เราควรพูดตามทรรศนะของคนจีนเป็นหลัก

ไม่ใช่พยายามจะชี้ผิดชี้ถูก ด้วยการไปเอาตำราเก่าของอินเดียมาตัดสิน อย่างที่เป็นประเด็นให้ผมนำมาเขียนในบทความนี้

ถ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนจีนเพิ่งยอมรับนับถือไม่นาน ไม่กี่สิบปีมานี้ เช่น จตุคามรามเทพของไทย อย่างนั้นต่างหากครับ ถึงจะเอาตำราเดิมมายืนยันได้ว่า อะไรผิดอะไรถูก

นี่ละครับ ที่ว่าถ้าใครต้องการ บรรทัดฐานอะไรสักอย่าง สำหรับการตัดสินเกี่ยวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน ลัทธิใดๆ ก็ตาม เราก็พึงเอาทรรศนะของ ลัทธินั้นละครับ เข้าไปตัดสิน ไม่ใช่ไปเอาตำราของลัทธิอื่นนอกเหนือจากนั้นมาตัดสิน

อย่างคติการบูชาพระมหาโพธิสัตว์กวนอิม เราจะต้องยึดหลักว่า เป็น ลัทธิที่เกิดในเมืองจีน เป็นของจีน

ส่วน คติการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เกิดในอินเดีย เป็นของมหายานเดิม

ในทางเทวศาสตร์ เรามีหลักอยู่ว่าแม้ว่าคติเดิมนั้นจะสำคัญ แต่คติอื่นที่แตกสาขา แยกย่อยออกไปนั้นก็สำคัญเช่นกัน

และในด้านของการนับถือบูชา รวมทั้งพิธีกรรมต่างๆ ก็จะเอาคติเดิม หรือแต่ละคติมาปะปนกันไม่ได้นะครับ แม้จะเป็นเทพองค์เดียวกันก็ตาม

ยกตัวอย่างจากบทความที่ผมเคยเขียนไปแล้วนั่นแหละครับ เรื่องของพระโพธิสัตว์ชัมภล

เทพองค์นี้ คติเดิมในอินเดียคือเป็นเทพในศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเป็นเทพแห่งความมั่งคั่งในศาสนาฮินดู เป็นพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธมหายาน เป็นท้าวเวสสุวัณในไสยศาสตร์ไทย และเป็นเทพ บิชามง ในศาสนาชินโตของญี่ปุ่น เป็นต้น




ทั้งหมดนี้คือเทพองค์เดียวกัน แต่คติการนับถือ หรือสายวิชาแตกแยกจากกันไปในแต่ละชนชาติ เป็นเวลาหลายร้อยปีหรือพันปี และแต่ละสายก็มีพัฒนาการไปเป็นตัวของตัวเอง ตามเวลาที่ผ่านไป

จนในทางเทวศาสตร์ถือว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเอามาบูชา หรือทำพิธีปะปนกัน

เช่น เอาคาถาพระโพธิสัตว์ชัมภล โอม ชัมภาลา จาเลน ไนเยน สะวาหะมาเสก หรือสวดบูชาท้าวเวสสุวัณของไทยที่เป็นเทวรูปยักษ์ถือกระบอง ไม่ได้นะครับ จะไม่เกิดผลอะไรแม้แต่นิดเดียว

หรือเอาหัวใจคาถาท้าวเสสุวัณไทย คือ เวส สะ พุ สะไปสวดบูชาเทพบิชามงของญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ผลอะไรเช่นกันนะครับ

เรื่องง่ายๆ อย่างนี้ ปุถุชนคนธรรมดาที่มีสามัญสำนึก จะเข้าใจได้เป็นอย่างดี

พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมก็เช่นกันครับ

ต่อให้คติเดิมของพระองค์เมื่อแรกเข้าสู่ประเทศจีน (ราวๆ พ.ศ.๖๑๐ ในสมัยพระเจ้าฮั่นเม่งตี้ จักรพรรดิองศ์ที่ ๑๗ แห่งราชวงศ์ฮั่น) จะเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรืออะไรก็แล้วแต่ ประติมานวิทยาของพระองค์จะยังคงรูปลักษณ์ของบุรุษเพศตามแบบอินเดีย หรืออย่างไรก็ตามแต่จะอ้างกัน




แต่ต่อมา เมื่อคติการบูชาพระมหากวนอิมโพธิสัตว์ ในรูปลักษณ์ของสตรีเพศ หรือฉลองพระองค์แบบสตรีเพศ ได้เกิดขึ้นมาในแผ่นดินจีน โดยมีฐานความเชื่ออยู่บนตำนานพื้นเมืองต่างๆ ของจีนเอง เช่น ตำนานของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน แห่งอาณาจักรชิงหลิง

รวมทั้งมีการรวมเอาคุณสมบัติเด่นๆ จากบรรดาเจ้าแม่พื้นเมืองของจีน เช่น การเป็นเจ้าแม่ประทานบุตร (จูแซเนี้ย) เจ้าแม่ผู้ประทับเหนือมังกร (หนึ่งออเหนี่ยเนี้ย) ฯลฯ จนกลายเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนจีนเรียกว่า กวงอิมผ่อสัก หรือ กวงอิมเนี้ย ในปัจจุบัน

พระองค์ก็ไม่ใช่พระอวโลกิเตศวร หรือไม่เกี่ยวข้องกับพระอวโลกิเตศวรอีกต่อไป

นี่ว่ากันตามหลักเทววิทยาล้วนๆ นะครับ 

ไม่ใช่หลักผม หลักใคร หรือหลักที่จะเอาใจใคร

ซึ่งก็ต้องขอเน้นย้ำอีกที ที่ผมบอกไปแล้วละครับ คำว่า ผ่อสัก ในภาษาจีน ไม่จำเป็นต้องหมายถึงพระโพธิสัตว์แบบที่เรารู้จักกันในทางมหายาน หรือเถรวาท

ส่วนคำว่า เนี้ย (ที่จริงออกเสียงยากกว่านี้ ปริวรรตเป็นอักษรไทยไม่ได้) ก็สื่อความหมายตรงๆ ถึง “ผู้หญิง” อยู่แล้ว

เมื่อเป็นไปดังนี้ ในทางเทววิทยา จึงถือว่า ไม่จำเป็น และ ไม่สำคัญอะไรเลยครับ ที่จะต้องมานั่งยืนยันกันหน้าดำหน้าแดงว่า แท้ที่จริงพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมต้องเป็นเพศชายเท่านั้น และต้องเป็นองค์เดียวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรด้วย

ทีนี้ คนชื่นชอบมหายานอย่างหนัก แต่ดูถูกสติปัญญาของคนจีน ก็เลยอ้างกันง่ายๆ อย่างที่นักปฏิบัติธรรมสายจีนคนหนึ่งพูดไว้ใน http://www.gmwebsite.com/Webboard/Topic.asp?TopicID=Topic-13012800080068716 ว่า

"เจ้าแม่กวนอิมจริงๆน่ะ เป็นผู้ชายนะไม่เชื่อก็ให้สังเกตดูให้ดีๆสิ รูปภาพหรือรูปหล่อของเจ้าแม่กวนอิมแต่โบร่ำโบราณที่สร้างถูกตามหลักแท้ๆน่ะ ที่ไหนจะทำให้มีหน้าอกแบบผู้หญิงจริงๆบ้าง มีแต่แบนราบแบบผู้ชายทั้งนั้น..!!!???!!!???"

คำพูดแบบนี้ ใครรู้จักประติมานวิทยาจีนได้ฟังคงหัวร่องอหายละครับ

เพราะรูปเคารพของเทพนารีจีน ตามหลักประติมานวิทยาจีนที่สร้างกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ เขาไม่นิยมสร้างให้มีหน้าอกแบบผู้หญิงจริงๆ นะครับ

เหตุผลก็คือ ขณะที่ชนชาติอื่นทั่วโลก ยกให้สตรีเพศเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และการสื่อให้เห็นถึงพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ ก็คือต้องทำให้เป็นรูปสตรีในวัยสาว มีหน้าอก หรือ เต้านม ที่เห็นชัดเจน เป็น ภาษาภาพที่คนทั้งโลกเห็นแล้วเข้าใจตรงกัน

คนจีน ก็มองว่าสตรีเพศเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์เช่นกันครับ

แต่เขาไม่นับถือหญิงสาววัยกำดัด เพราะในวัฒนธรรมของเขานับถือคนแก่ หรือผู้อาวุโส ไม่นับถือเด็กหรือผู้อ่อนอาวุโส (ยกเว้นเด็กที่มีฤทธิ์มากเป็นที่ประจักษ์ เช่น ยุวเทพนาจา)

ผู้หญิงที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ตามทรรศนะของชาวจีน จึงเป็นหญิงชราที่มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง มีลักษณะอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่งตัวงดงาม แสดงถึงความอยู่ดีกินดี




ประติมานวิทยาจีนแต่เดิม จึงสร้างเจ้าแม่แต่ละองค์เป็นหญิงชราอ้วนลงพุง ฉลองพระองค์อย่างอลังการ เป็นการสื่อความอุดมสมบูรณ์ตามวัฒนธรรมของเขา

และจึงไม่จำเป็นต้องเขียน หรือวาดเจ้าแม่องค์ใดให้มีหน้าอก เพราะไม่ใช่เรื่องที่เขาเห็นว่ามีความสำคัญไงครับ

ความเคยชินนี้ ติดมาถึงพระมหาโพธิสัตว์กวนอิม แม้พระวรกายจะอรชรอ้อนแอ้น ไม่อ้วนลงพุง (เพราะเป็นคติที่เกิดยุคหลังรับมหายานจากอินเดีย ที่ไม่นิยมทำรูปเคารพอ้วนลงพุง) แต่ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นจะต้องทำให้เห็นชัดเจนว่ามีพระถัน

ถ้าเข้าใจในจุดนี้ ไม่ว่าใครก็คงรู้สึกสงสารนักปฏิบัติธรรมคนนั้นละครับ ว่าแกไม่รู้อะไรเลยจริงๆ

และที่จริงแล้ว การวาด หรือปั้นพระมหากวนอิมโพธิสัตว์ให้เห็นว่า มีหน้าอกหน้าใจแบบผู้หญิงนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลยนะครับ มีทำกันมาบ้างแล้ว

โดยเฉพาะพระแม่กวนอิม ที่ฉลองพระองค์ขาวตามแบบที่เห็นกันทั่วไปนี่แหละ ผมเห็นหลายองค์เลยทีเดียว




ภาพพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมบางภาพในปัจจุบัน แม้จะฉลองพระองค์ตามแบบของพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายานจีน คือเปลือยท่อนบน สวมเพียงเครื่องประดับ แต่ก็เขียนไว้ให้เห็นชัดนะครับ ว่าเป็นผู้หญิง ตามตัวอย่างที่ผมนำมาให้ดูกันนี้




ยังมีเทวรูป หรือประติมากรรมพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมซึ่งสร้างในปัจจุบัน ฉลองพระองค์เปลือยอกและมีหลายพระกร  ตามแบบของพระโพธิสัตว์มหายาน แต่ก็แสดงให้เห็นพระถันที่ชัดเจนเกินกว่าจะยอมรับว่าเป็นผู้ชายได้ เช่นพระแม่กวนอิมทองคำอันเลื่องชื่อแห่ง Sanya




การแสดงรูปลักษณ์ของพระมหาโพธิสัตว์กวนอิม ในแนวความคิดใหม่ๆ เช่นนี้ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของประติมานวิทยาจีนในยุคปัจจุบันด้วยนะครับ

กล่าวคือ หันไปให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ของหญิงสาวมากขึ้น

ดังเช่นเทวรูปพระแม่หนี่วาองค์ใหญ่ ตรงทางขึ้นเทวาลัยที่สำคัญที่สุดของพระองค์ที่เหอเป่ย ในบทความที่ผมเคยโพสต์ไปแล้วไงครับ

ดังนั้น ผมว่าถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็น่าจะเป็นไปตามนี้ :

๑) พระมหาโพธิสัตว์ ที่มีพระวรกายบอบบาง อ้อนแอ้นแบบสตรี ฉลองพระองค์แบบสตรีจีน คือชุดขาวหรือชมพู มีหรืออาจไม่มีผ้าขาวรัดมวยพระเกศา มักถือแจกันในพระหัตถ์




นั่นคือ พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม ที่เป็นคติของจีนแท้ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องให้ใครมายืนยันว่า เป็นความสับสนหรือเข้าใจผิดของคนจีน ต่อคติการนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

และควรเรียกได้อย่างสนิทปากว่า พระแม่กวนอิม

๒) พระมหาโพธิสัตว์ ที่มีรูปลักษณ์อย่างบุรุษ ที่ดูบอบบางสวยงามกว่าผู้ชายทั่วไป ฉลองพระองค์อย่างพระโพธิสัตว์มหายานจีน และประดิษฐานอยู่ในวัดมหายานจีน จะมี ๒ พระกร ๑๖ พระกร หรือพันเนตรพันกรก็ตาม ที่สำคัญคือไม่ถือแจกันในพระหัตถ์




แม้ทางวัดจะเรียกว่า พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมเช่นกัน ก็ควรบูชาในฐานะที่เป็น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ตามแบบมหายาน

ส่วนใครใคร่บูชาพระแม่กวนอิม หรือพระอวโลกิเตศวร หรือบูชาทั้งสององค์ ก็ตามศรัทธาจริตของแต่ละคน เพียงแต่ควรทำความเข้าใจว่า เป็นคนละองค์ ไม่ควรเอามาปะปนกัน

เป็นเสรีภาพในการบูชาครับ ไม่จำเป็นต้องเอาตำรามาข่มกัน บนพื้นฐานของการดูถูกสติปัญญากันอย่างที่เป็นอยู่


........................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


2 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วยคะอยากให้มีความชัดเจนแบบนี้มานานแล้ว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ถ้าไม่ใช่ อ.กิตติ ก็คงไม่มีใครกล้าฟันธงแบบนี้ค่ะ

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น