บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์
*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*
*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*
หากจะกล่าวถึงเทพนารีที่ได้รับการนับถือมากที่สุด
และต่อเนื่องยาวนานที่สุดในเมืองไทยแล้ว
ย่อมไม่มีเทวีองค์ใดเหมาะสมยิ่งไปกว่า พระศรีวสุนธรา (Vasundhra)
หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พระแม่ธรณี
พระแม่เจ้าองค์นี้ทรงเป็นที่รู้จักในศาสนาพราหมณ์มาก่อน
ในนามว่า พระปฤถิวี (Prithivi) แต่ได้มาทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งกว่าในศาสนาพุทธครับ
ดังมีบันทึกไว้ในชาดก เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสมบารมีในแต่ละชาติ
ทุกครั้งที่ทรงทำกุศลและหลั่งน้ำสู่ผืนดิน พระศรีวสุนธราก็ทรงรับน้ำนั้นไว้
และในคืนก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธองค์
เมื่อพญามารยกกองทัพมาคุกคาม หวังมิให้ทรงรู้แจ้งถึงความเป็นไปแห่งโลก
เพื่อจะได้ทรงนำมนุษย์ข้ามพ้นจากวัฏสงสาร
ก็เป็นพระแม่เจ้าองค์นี้ที่ปรากฏพระองค์ขึ้นมาทำลายเหล่ามารด้วยมหาสมุทรแห่งบุญญานุภาพ
เพราะเหตุนั้นเราจึงเชื่อกันว่า
เมื่อมีการทำบุญและกรวดน้ำครั้งใด แม่พระธรณีก็จะทรงรับน้ำเหล่านั้นไว้ทั้งหมด
ในทางเทววิทยากล่าวว่า
พระศรีวสุนธรานั้นทรงมีความงดงามมาก ทรงมีพระจริยาวัตรเยือกเย็น นิ่มนวล
เต็มไปด้วยพระเมตตาเสมอ เทวรูปของพระองค์มักทำเป็นเทพนารีประทับนั่ง
หรือยืนบิดมวยพระเกศา นับเป็นเทวรูปที่มีท่วงท่าลีลาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่สุด
จนไม่เคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเทพองค์อื่นไปได้
และภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ได้รับความนิยมนำมาเขียนตามผนังโบสถ์ในเมืองไทย
เรียกว่า มารผจญ
ภาพมารผจญในจิตรกรรมไทย มักทำเป็นภาพขนาดใหญ่
สะดุดตาที่สุด เมื่อเทียบกับพุทธประวัติตอนอื่น นิยมเขียนที่ผนังด้านสกัด
คือด้านหน้าพระประธานนั่นละครับ
ลักษณะที่เด่นๆ
ของพระศรีวสุนธราในภาพเช่นนี้ก็คือ มักเขียนเป็นเทวรูปประทับนั่ง หรือยืนในซุ้ม ประดิษฐานอยู่เบื้องล่างโพธิบัลลังก์
ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถัดลงมา
และที่กระจัดกระจายล้อมรอบอยู่ทั่วไปคือกองทัพมาร
มีพญาวัสวดีมารนำไพร่พลอยู่เหนือช้างศึกอย่างองอาจด้านหนึ่ง
และกำลังแตกพ่ายในท่ามกลางมหาสมุทรแห่งบุญญานุภาพ
ในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้านหนึ่ง
ภาพเขียนพุทธประวัติตอนนี้
ถือกันว่าเป็นเครื่องวัดฝีมือช่างอย่างดีเลยครับ
เพราะแม้จะเป็นศิลปะแบบประเพณี
แต่จิตรกรก็จะต้องเขียนให้เกิดบรรยากาศตามท้องเรื่องขณะนั้น
ให้ผู้ชมภาพเห็นเป็นอัศจรรย์มากที่สุด เท่าที่จะทำได้
โดยการใช้เส้น สี และการวางภาพขนาดใหญ่
มีตัวละครมากมาย ล้วนแต่อยู่ในอิริยาบถอันยากแก่การเขียนอย่างยิ่ง
ต้องใช้กำลังความคิดสูง
และแม้จะเป็นภาพนิ่งที่เขียนตามแบบอุดมคติ
ไม่ใช่แบบเหมือนจริง แต่ดูแล้วต้องมีความเคลื่อนไหวสมจริง
เห็นถึงพลานุภาพอันยิ่งใหญ่ดังที่กล่าวไว้ในพุทธประวัติทุกประการ
ดังนั้น ถ้าคนที่ดูภาพจิตรกรรมไทยเป็น
เห็นภาพมารผจญที่เขียนดีๆ แล้วจะรู้สึกขนลุกครับ
และด้วยเหตุนั้น ช่างคนใดได้เขียนภาพตอนมารผจญ
จึงนับเป็นช่างที่เยี่ยมยอดที่สุด ถ้าเขียนได้ดีก็จะเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว
ถึงกับช่างอื่นจะต้องเดินทางบุกบั่นมาดูให้ได้
ภาพมารผจญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จึงไม่ถึงกับเป็นของหาดูยาก แต่ภาพที่ดีจริงๆ ก็ยังมีน้อยอยู่นั่นเอง
สำหรับตัวอย่างภาพมารผจญที่ดีๆ นั้น
ถ้าเป็นของโบราณจะหาดูได้ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, วัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย,วัดชมภูเวก และ วัดโพธิ์บางโอ นนทบุรี เป็นต้น
โดยเฉพาะที่วัดชมภูเวกนั้น
ได้รับการยกย่องกันว่า เป็นภาพพระศรีวสุนธราที่งามที่สุดภาพหนึ่งในเมืองไทยจนถึงทุกวันนี้ครับ
ดังจะเห็นว่า
พระแม่ธรณีของวัดชมภูเวกนี้อยู่ในอากัปกิริยาประทับนั่ง ชันพระชานุขึ้น
เพื่อเป็นหลักที่มั่นคงให้แก่ลำพระองค์ ซึ่งอ่อนไหวยามบิดมวยพระเกศา
ดูเป็นเส้นโค้งที่ตวัดอย่างรุนแรง มีความเคลื่อนไหว และพลังอย่างไม่มีที่ติ
จึงนิยมกันว่าเป็นภาพที่งามบริบูรณ์
ด้วยเหตุที่ว่ามีทั้งบุคลิกภาพและลีลาที่ควรจะเป็น ตามทิพยภาวะของเทพ
ซึ่งจะต้องทำให้ต่างกับความสงบนิ่งของพระพุทธรูป
จุดนำสายตาของภาพนี้
นอกจากท่วงท่าที่บิดมวยพระเกศาแล้ว ก็คือพระอุระที่เชิดขึ้นอย่างสวยงาม
และพระแม่ธรณีที่นิยมกันว่าเขียนดีๆ ในสมัยต่อมาก็ใช้กลวิธีเช่นนี้ทั้งนั้น
ซึ่งผมจะอธิบายต่อไปข้างหน้านะครับว่ามีเหตุผลอย่างไร
ส่วนของสมัยปัจจุบัน ควรจะไปดูที่ วัดตรีทศเทพวรวิหาร ซึ่งเป็นฝีมือคณะช่าง อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ทำไว้งดงามมาก
โดยเฉพาะพระศรีวสุนธราในภาพมารผจญชุดนี้
ได้มีการจำลองแบบมาทำเป็นโปสการ์ดออกจำหน่าย
เพื่อสมทบทุนจิตรกรรมฝาผนังของทางวัดด้วย
พระศรีวสุนธรา
หรือพระแม่ธรณีบิดมวยผมในศิลปะไทย แม้ว่าจะเป็นประติมานวิทยาของพุทธศาสนา
อันเนื่องด้วยภาพมารผจญดังกล่าวแล้ว แต่ในทางพิธีกรรม รูปลักษณ์ดังกล่าวนี้
ก็มีการนำมาใช้ในพิธีสำคัญของพราหมณ์ไทยด้วยนะครับ
นั่นคือ พิธีแห่นางดาน
ของนครศรีธรรมราช
คำว่านางดาน หรือนางกระดาน
หมายถึงแผ่นไม้กระดานขนาดกว้าง ๑ ศอก สูง ๔ ศอก
ที่วาดหรือแกะสลักเป็นภาพเทพเจ้าและเทพนารีในคติพราหมณ์ ๓ แผ่น แผ่นแรก คือ
พระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สองคือพระศรีวสุนธราหรือพระแม่ธรณี
แผ่นที่สามคือพระแม่คงคา ทั้งหมดใช้ในขบวนแห่เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษยโลก
ในพิธีโล้ชิงช้า หรือ ตรียัมปวาย
โดยพราหมณ์จะทำการอัญเชิญแผ่นภาพเทพเจ้า
และเทพนารีทั้งหมดนี้ขึ้นบนเสลี่ยง แล้วแห่แหนเป็นขบวนจาก ฐานพระสยม ซึ่งเป็นเทวสถานเก่า
มุ่งหน้าไปยังหอพระอิศวร ตลอดเส้นทางแต่ละบ้านจะร่วมมือกันดับไฟให้สนิท
มีเพียงแสงจากไต้ที่ให้ความสว่าง ทำให้พิธีดูเข้มขลังยิ่ง
เมื่อไปถึงหอพระอิศวร
ขบวนแห่ดังกล่าวจะทำการเวียนรอบเสาชิงช้า ๓ รอบ
ต่อจากนั้นพราหมณ์อ่านโองการเชิญเทพ ก่อนจบด้วยบทบวงสรวงเทพยดา
แล้วจึงอัญเชิญนางดาน หรือแผ่นภาพเทพเจ้าทั้ง ๓ แผ่น
วางลงในหลุมเพื่อรอรับพระอิศวร ซึ่งมีความกว้างเท่าแผ่นกระดาน ลึก ๑ คืบ รองด้วยอิฐและหญ้าคา
ตั้งอยู่ภายในโรงชมรม หรือปะรำพิธี
เมื่อถึงเวลาที่พระอิศวรเสด็จ
พระยาสมมุติเป็นพระอิศวรจะเข้าประจำที่โรงชมรม นั่งชันเข่าเอาขาขวาทับเข่าซ้าย
ถือว่าพระอิศวรได้เสด็จลงมาเยี่ยมโลกแล้ว นางรำแต่งเครื่องอัปสร ๑๒
นางก็จะรำบูชาพระอิศวร แล้วจึงจะมีการโล้ชิงช้าเป็นลำดับต่อไป
พิธีที่ว่านี้ เดิมจัดในช่วงเดือนยี่ (มกราคม)
เป็นพิธีที่กระทำในสมัยที่เมืองนครฯ มีเจ้าเมืองปกครองตนเอง ต่อมาขึ้นกับกรุงเทพฯ
ไม่มีเจ้าเมืองจึงเลิกจัด จนถึงพ.ศ.๒๕๔๔ ชาวเมืองนครฯ
จึงได้รื้อฟื้นประเพณีดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง
โดยนำมาผนวกเข้ากับเทศกาลสงกรานต์ครับ
ปัจจุบัน ประเพณีแห่นางดาน จึงจัดขึ้นในวันที่
๑๔ เมษายน ของทุกปี โดยมีขบวนแห่จากสนามหน้าเมืองไปยังหอพระอิศวร มีการแสดงแสง สี
เสียง ตำนานนางดานและเทพเจ้าที่เกี่ยวข้อง และการโล้ชิงช้า
ซึ่งเป็นการโล้ชิงช้านอกเขตเมืองหลวงแห่งเดียวของไทยในปัจจุบัน
นับเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลสงกรานต์แบบฉบับของเมืองนครฯ ที่ไม่ซ้ำกับที่อื่น
และเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวอย่างมาก
พระศรีวสุนธรา
ยังทรงมีบทบาทอยู่ในคติความเชื่อทั่วไป คนไทยโบราณเมื่อจะกระทำการใหญ่
ก็มักอ้างพระศรีวสุนธราเป็นพยาน ในการไปศึกสงคราม นอกจากจะกราบไหว้บูชาเทพยดาต่างๆ
แล้ว ยังกราบไหว้ขอให้พระแม่ธรณีช่วยคุ้มครอง
ถือเป็นเทวดาผู้พิทักษ์องค์หนึ่งด้วยครับ
พวกหมอช้าง เวลาจะเข้าป่าไปจับช้าง
นอกจากเซ่นไหว้ครูบาอาจารย์แล้ว ก็ยังต้องบอกกล่าวพระแม่ธรณีเสียก่อน โดยว่าเป็นคาถาทางไสยศาสตร์ว่า
“โอมเผนิกเบิกแนกแยกพะกำกวมงวมพระธรณี
ทางสายนี้กูเคยล่อง ปล่องทางนี้กูเคยเที่ยว โอมสวาหะโตนะโมตัสสะ”
หรือ
“นางพระธรณีเจ้าเอ๋ย อยู่หรือยัง
สังขาตังโลกังวิทู”
เมื่อบอกแล้วก็กลั้นใจ
เอาดินตรงที่เท้าเหยียบนั้นขึ้นมาวางไว้กลางกระหม่อม เชื่อกันว่าจะเป็นสิริมงคล และพระแม่ธรณีจะช่วยรักษาให้ปลอดจากภยันตรายต่างๆ
และนอกเหนือจากที่ผมบรรยายมานี้ ยังมีคติหนึ่ง
ที่ผู้ร่ำเรียนไสยเวทวิทยาในเมืองไทยทราบกันดีอยู่
นั่นคือ
พระศรีวสุนธราทรงเป็นเทพผู้ค้ำจุนอานุภาพของศาสตร์ลี้ลับ
รวมทั้งบรรดาเครื่องรางของขลังทั้งหมดครับ
พูดง่ายๆ ว่า บรรดาพระพุทธรูป เทวรูป
ตลอดจนเครื่องรางและวัตถุมงคลทุกอย่าง
แม้จะผ่านการพุทธาภิเษก-เทวาภิเษก-ปลุกเสกมาดีเพียงใด ถ้าผู้กระทำพิธีดังกล่าว
หรือผู้ครอบครองวัตถุมงคลเหล่านั้น มิได้บูชาพระแม่ธรณี
ศาสตร์และเครื่องรางเหล่านั้น ย่อมไม่เกิดพลังอำนาจที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้
แต่การบูชาพระศรีวสุนธราในแง่นี้ หมายถึง
จะต้องเป็นการบูชาเทวรูปของพระองค์ตั้งแต่หน้าตัก ๓ นิ้วขึ้นไปเท่านั้น
ไม่ใช่แบบห้อยคอนะครับ
ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีวัดหลายแห่งนะครับ
ที่สร้างเทวรูปพระศรีวสุนธราขนาดบูชา เทวรูปของพระแม่เจ้าองค์นี้
เท่าที่สร้างกันมาจนปัจจุบัน การฉลองพระองค์มีทั้งแบบที่เปลือยท่อนบนอย่างโบราณ
และห่มสไบเฉียง
อิริยาบถก็มีทั้งแบบประทับนั่งคุกเข่า และประทับยืน มักจะบิดมวยพระเกศาไปเบื้องซ้ายของพระองค์
ซึ่ง (อีกที) ผมขอเน้นว่า
เทวรูปพระศรีวสุนธราตามแบบอย่างที่ถูกต้อง และค้ำจุนอานุภาพของศาสตร์ลี้ลับต่างๆ
ได้ดีที่สุด จะเป็นแบบนั่งหรือยืนก็ได้ แต่ฉลองพระองค์
ต้องเป็นแบบที่เปลือยพระอุระเท่านั้นนะครับ
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
คำตอบก็คือ การเปลือยอก เป็นวิธีทางเทวศาสตร์
ในแขนงที่เรียกว่า ประติมานวิทยา (Iconography) ที่จะทำให้เทวรูปของเทพนารีทุกองค์
ถ่ายทอดพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ และพลังของสตรีเพศที่ชัดเจนได้
ด้วยว่าตามหลักเทวศาสตร์พื้นฐานทั่วโลก
ผู้หญิงคือพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์
และสื่อ หรืออุปกรณ์ที่จะถ่ายทอดพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ของเทวรูปเทพผู้หญิง
ก็คือสิ่งที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นมารดา
และความเป็นธรรมชาติที่เด่นชัดของสตรีเพศไงล่ะครับ
โดยเฉพาะกรณีของพระศรีวสุนธรา
ยิ่งเท่ากับเป็นการบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาถึงความเป็น เทพมารดรของโลก
เป็นการสื่อผ่านพลังที่หล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง เหมือนน้ำนมมารดาที่หล่อเลี้ยงชีวิตบุตร
การเปลือยพระอุระ
จึงเป็นประติมานวิทยาอันสำคัญ ที่ปรากฏอยู่เสมอในไม่ว่าจะในเทวรูป ประติมากรรม
และภาพเขียนของพระศรีวสุนธราที่เป็นศิลปะไทยโบราณ แม้จะเป็นศิลปะในยุคที่สตรีไทยนิยมห่มผ้าแถบหรือสไบเฉียงแล้วก็ตาม
อีกทั้งนายช่างผู้สร้างเทวรูป
หรือภาพของพระแม่เจ้าองค์นี้ ถ้าเป็นผู้ที่รู้จริง มักจะกำหนดให้ส่วนที่สะดุดตา
และอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลาง คือพระอุระเสมอ
ดังที่ผมบรรยายไปแล้วไงครับ
ในเรื่องของพระแม่ธรณีที่วัดชมภูเวก
ในขณะที่การสร้างเทวรูปเทพนารีที่ห่มสไบ
นอกจากจะทำให้เทวรูป ไม่สามารถสำแดงพลังแห่งสตรีเพศ
และความเป็นมารดาได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการลดฐานะของเทวีองค์นั้นอีกด้วย
คือทำให้พระองค์ดูเหมือนกับสตรีทั่วไปในโลกมนุษย์
ที่ยังต้องห่มผ้าปิดบังร่างกายอยู่ไงครับ
แต่ปัญหาก็คือ
เทวรูปพระศรีสวุนธราโดยมากที่ทำกันทุกวันนี้ นิยมให้ห่มสไบ เพราะอุปาทานที่ผิด
คือไปมองว่า ถ้าไม่มีผ้าทรงก็จะดูโป๊เกินไป
อีกทั้งการฉลองพระองค์อย่างเต็มที่
นอกจากจะดูงดงามอลังการในสายตาคนส่วนมากแล้ว
ยังไม่ต้องใช้ฝีมือในด้านกายวิภาค (Anatomy) มากนัก
ช่างไม่จำเป็นต้องเก่งก็ทำได้
อุปาทานที่บกพร่องเช่นนี้
มาจากการขาดความเข้าใจพื้นฐานในทางเทวศาสตร์ดังกล่าว
ซึ่งเป็นอุปาทานของคนไทยส่วนใหญ่เลยละครับ
ซึ่งการบูขาเทวรูปพระศรีวสุนธราในลักษณะห่มสไบเฉียง
หรือฉลองพระองค์ทับพระวรกายท่อนบนอย่างเต็มที่
ย่อมจะได้ผลเท่ากับการบูชาเทวรูปตามแบบมาตรฐานทั่วไปเท่านั้น
ถ้าไม่รู้วิชาในการ “ปรับแต่ง” พลังของเทวรูปประเภทนี้
ก็ไม่มีผลพิเศษในการค้ำจุนพลังศักดิ์สิทธิ์ และรักษาความมั่นคงถาวรของวัตถุมงคลอื่นๆ
ได้
แต่ “วิชา”
ดังกล่าวนั้น จำกัดกันอยู่ในวงแคบเพียงไม่กี่สำนัก
ที่สืบทอดศาสตร์โบราณแห่งพระศรีวสุนธรามาโดยตรงเท่านั้น
ไม่มีใครเอามาเผยแพร่กันในทางสาธารณะหรอกครับ
วงการเครื่องรางของขลังในเมืองไทย
จึงมีการสร้างเทวรูปพระศรีวสุนธรากันในปริมาณที่จะเรียกว่าน้อยก็ไม่ใช่
แต่ถ้าจะพูดให้ตรงกว่า ก็คือเทวรูปพระศรีวสุนธราที่สร้างกันมา
แล้วมีอานุภาพที่สมบูรณ์เต็มองค์นั้น มีอยู่แค่ไม่กี่รุ่น
อย่างเช่นในขณะที่ผมเขียนบทความนี้
ดูเหมือนจะมีเพียง ๕ สำนักเท่านั้น ที่สร้างพระบูชาพระศรีวสุนธราแบบเปลือยอก
และมีประติมานวิทยาด้านอื่นๆ ที่ถูกต้อง ดังมีตัวอย่างต่อไปนี้ :
ภาพจาก http://www.boonakamulet.com |
พระศรีวสุนธราขนาดสูง ๑๑.๕ นิ้วของ วัดโฆสิตาราม จ.ชัยนาท สำนักของ หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีต เป็นเทวรูปพระศรีวสุนธราที่ดีที่สุดองค์หนึ่ง เท่าที่รู้จักกันจนถึงปัจจุบัน
พระศรีวสุนธรารุ่นนี้
แม้ว่าจะหันพระพักตร์ไปเบื้องซ้ายของพระองค์ ทำให้ยากแก่การประดิษฐานก็ตาม
แต่โดยลีลาและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็หาที่อื่นใดเทียบเคียงได้ยากครับ
หลวงพ่อแดง สิริภทฺโท
วัดห้วยฉลองราษฎร์บำรุง จ.อุตรดิตถ์ ก็เคยสร้างพระศรีวสุนธราขนาดหน้าตัก ๓
นิ้วไว้รุ่นหนึ่ง เมื่อพ.ศ.๒๕๔๙ ลักษณะงดงามและประณีตมากทีเดียว
ใต้ฐานยังฝังตะกรุดอีก ๓ ดอก
แต่สร้างในจำนวนจำกัด
และประชาสัมพันธ์ในนิตยสารพระเครื่องเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้น
ปัจจุบันผมเห็นยังมีให้เช่าบูชาอยู่บ้างนะครับในบางเว็บไซต์ ดังที่นำภาพมาให้ดูนี้
หลวงปู่คีย์ กิติญาโณ
วัดศรีลำยอง จ.สุรินทร์ ได้สร้างพระศรีวสุนธราขนาดหน้าตัก ๓ นิ้วไว้เช่นกัน
เมื่อพ.ศ.๒๕๕๑ มีทั้งเนื้อทองเหลืองรมสีมันปู และปิดทองทั้งองค์
แต่โดยความเห็นส่วนตัวของผม
พิธีของสำนักนี้ผมเฉยๆ นะครับ แม้จะเคยสร้างวัตถุมงคลอย่างสม่ำเสมอ
แต่ก็ไม่เคยได้ยินเสียงเล่าขานประสบการณ์อันใด
และพระศรีวสุนธรารุ่นนี้ แม้จะเปลือยพระอุระ
แต่พระถันแบบที่เห็นนี้คงไม่สามารถสื่อผ่านพลังใดๆ ได้อย่างสมบูรณ์มากนัก
และการทำเทวรูปให้เงยหน้าหรือแอ่นตัวมากเกินไปก็ไม่ใช่ลักษณะที่ดีสำหรับการบูชา
แต่ถ้าใครชอบลักษณะแบบนี้
ถ้ายังคงพบเห็นได้ก็รีบเช่าเก็บไว้เถอะครับ เพราะหายากแล้ว หลวงปู่ก็มรณภาพไปแล้ว
ทางวัดก็คงไม่สร้างวัตถุมงคลใดๆออกมาอีก
นอกจากนี้ก็มีเทวรูปพระศรีวสุนธราของ ชมรมอนุรักษ์เศียรพ่อแก่
เทวาลัยเทพศรียันตรา ซึ่งอยู่ในท่ายืนยกพระชานุข้างขวา
และบิดมวยพระเกศาไปเบื้องขวา เทวรูปนี้แม้ท่วงท่าลีลาจะแปลกไปสักหน่อย
แต่ก็ทำได้งามพอสมควร
ส่วนที่ว่าจะทำให้เช่าบูชาหรือเปล่า
รวมทั้งเรื่องพิธีกรรมนั้น ผมไม่แน่ใจนะครับ ต้องสอบถามกับทางชมรมเอาเอง
ที่หาง่ายที่สุด ในขณะที่โพสต์บทความนี้
จึงน่าจะเป็นเทวรูปพระศรีวสุนธราขนาดหน้าตัก ๓ นิ้ว ของ วัดชมภูเวก และ วัดหนองหอย
อ.เมือง จ.ราชบุรี
ที่ผมนำทั้งสองวัดมากล่าวรวมกัน
ก็เพราะเป็นบล็อกเดียวกันครับ ต่างกันแค่นอกจากเนื้อทองเหลืองรมสีมันปูแล้ว
ของวัดหนองหอยยังมีเนื้อทองเหลืองธรรมดา และทองเหลืองรมดำด้วยเท่านั้นเอง
เทวรูปของทั้งสองวัดนี้
มีลักษณะที่ถูกต้องมากกว่าพระศรีวสุนธราส่วนใหญ่ที่มีการสร้างกันมา
เพราะถอดแบบจากจิตรกรรมฝาผนังที่วัดชมภูเวก
ก็พระศรีวสุนธราที่งามที่สุดในเมืองไทยองค์ที่ผมกล่าวถึงไปแล้ว
ที่สำคัญคือ เงื่อนไขทางประติมานวิทยา
ของพระศรีวสุนธราที่สื่อพลังได้ดีที่สุด ตามที่ผมอธิบายไปแล้วนี้
ยังรวมถึงพระศรีวสุนธราที่เป็นศิลปวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นรูปวาด
หรือรูปปั้นที่หล่อด้วยปูนระบายสี และหินทรายหล่อ
จำหน่ายตามร้านของแต่งบ้านแต่งสวนกันอย่างแพร่หลายด้วยนะครับ
กล่าวคือ ถ้าทำเป็นแบบเปลือยอกอย่างโบราณ
และสัดส่วนถูกต้อง จะมีพลังทางฮวงจุ้ยในตัวเอง
โดยไม่ที่ยังไม่ทันได้ผ่านพิธีเทวาภิเษกอะไรด้วยซ้ำไป
ซึ่งถ้านำมาตกแต่งในทิศมงคล
อันเกื้อหนุนดวงชะตาของเจ้าบ้าน ก็จะส่งกระแสพลังแห่งความร่มเย็นเป็นสุข
เจริญรุ่งเรือง ผู้คนในบ้านมีสุขภาพดี ปลอดจากโรคร้าย อุบัติภัย และอาถรรพณ์ต่างๆ
ขณะที่แบบห่มสไบเฉียงนั้น ก็จะไม่มีพลังใดๆ
เลยเช่นกันครับ
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุมงคลขนาดบูชา
ขนาดห้อยคอ หรือเป็นงานหัตถกรรมตกแต่งบ้าน ถ้าเป็นพระศรีวสุนธรา
หรือแม้แต่เทพนารีองค์ใดก็ตาม จำกันไว้ให้ขึ้นใจครับ ว่าแบบเปลือยอกดีที่สุด
แล้วพอได้มาแล้วก็ไม่ต้องไปห่มผ้าให้ท่านล่ะครับ
ชีวิตจะหาความเจริญมิได้ เพราะไปทำให้เทวรูปเสื่อมโดยใช่เหตุ
................................
................................
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์
ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL
ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด
เพื่อนหนูนี่อ่ะค่ะ แก๊งค์ถวายผ้าสไบเลย เห็นพระแม่ที่ไหนต้องเอาสไบไปถวายที่นั่น หนูบอกจนเค้าไม่คบหนูแล้ว บางวัดพระที่ท่านดูแลอยู่ท่านปิดกระจกไว้ไม่ให้ถวายยังด่าท่านด้วยซ้ำไป
ตอบลบเป็นอะไรที่มัวเมาและงมงายมากจริงๆ ค่ะ
ลบเราควรเรียกลัทธิถวายผ้าสไบนี่ว่าเป็นอบายมุขอย่างนึงได้มั้ย เพราะทำให้คนมัวเมาและหมกมุ่นจริงๆ
พอมีบูชาไหมครับ พระแม่ธรณีปางยืน ครับ
ตอบลบหากพอมีกรุณา ช่วยติดต่อ 099-8965351 /065-5032456 idline : ihero
เป็นภาพประกอบบทความเท่านั้นนะคะ ติดต่อที่เว็บใต้ภาพเลยค่ะ
ลบ