วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ฤาษี ๑๐๘ และ อินทร์ พรหม ยม กาฬ

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์


ภาพจาก http://www.clipmass.com

ผมมักได้รับคำถาม เกี่ยวแก่บรมครูทางไสยศาสตร์ไทย คือ ครูฤาษีทั้งหลาย 

เช่น พระภรตมุนี พระฤาษีนารอท พระฤาษีกไลยโกฏิ พระฤาษีเพชรฉลูกัณฑ์ พระฤาษีตาไฟ เเละพระฤาษีเดินดง เป็นต้น

ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า ฤาษี ๑๐๘

ผู้ถาม ซึ่งมักเป็นผู้สนใจศึกษาเทววิทยา พากันสงสัยว่า บรมครูฤาษีเหล่านี้ ท่านมีประวัติความเป็นมาอย่างไร จนกลายมาเป็นบรมครูผู้สั่งสอนคาถาอาคมฝ่ายไทยได้

ในภพภูมิของท่านนั้นสถิตอยู่ที่ใด

เเละทิพยภาวะของท่านนั้น แท้จริงเป็นอย่างไร?

ผมขออธิบายเป็นลำดับดังนี้นะครับ

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่า คำว่า ฤาษี ๑๐๘ ไม่ได้หมายความว่า มีอยู่ทั้งหมด ๑๐๘ ตน 

แต่หมายความว่า มีมากหลายยุคหลายสมัย รู้ชื่อก็มี ไม่รู้ชื่อก็มี

แต่ก็เป็นที่นับถือกันว่าเป็น ครูต้นคือเป็นเจ้าของวิชาอาคมต่างๆ ที่ตกทอดกันมาบ้าง สาบสูญไปแล้วบ้าง 

เพราะคนไทยเราถือว่า วิชาความรู้ทุกอย่างต้องมีคนค้นพบเป็นคนแรก แล้วปรับปรุงสืบทอดต่อๆ กันมา 

เราให้เครดิตคนที่ค้นพบ หรือสั่งสอนวิชาเหล่านี้เป็นคนแรกโดยเรียกว่า ครูต้น

เมื่อไม่รู้ชื่อ ไม่รู้ปริมาณ แต่รู้ว่า ต้องมีตัวตนอยู่จริงตามสายวิชานั้นๆ ก็เลยใช้คำแทนว่า ฤาษี ๑๐๘ ไงครับ

พระฤาษีเหล่านี้มีที่มาหลากหลาย บางท่านก็เก่าถึงสมัยที่พวกฤาษีจากอินเดีย จาริกเข้ามาเมืองไทยประมาณพันกว่าปีมาแล้วนะครับ

เช่น ท่านสุเทวฤาษี แห่งดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ หรือ ท่านสุกกทันตฤาษี แห่งเขาสมอคอน จ.ลพบุรที่อยู่ในตำนาน พระนางจามเทวี

แต่ฤาษีที่นับถือกันมากส่วนใหญ่จะเป็นฤาษีเขมร ซึ่งเข้ามาแพร่หลายอยู่ในเมืองไทยช่วงขอมเรืองอำนาจ

ในขณะที่ทางฝั่งตะวันตกก็มีฤาษีพม่าเข้ามา ซึ่งก็จะกลายเป็นครูต้นของวิชาไสยศาสตร์ไทยอีกสายหนึ่งครับ

ฤาษีเหล่านี้ เดิมก็เป็นคนธรรมดาละครับ เป็นมนุษย์เดินดินอย่างเราๆ ด้วยกันทั้งนั้น 

ถ้าเป็นสายพม่า บางท่านก็เคยบวชเป็นพระสงฆ์มาก่อน บางท่านก็เป็นฆราวาสที่ต่อวิชาจากพระสงฆ์ หรือจากฤาษีด้วยกัน 

ส่วนทางสายเขมร-ลาวก็เป็นพราหมณ์มาก่อนบ้าง หรือเป็นโยคีที่มาจากอินเดียใต้บ้าง

ความรู้ทางไสยศาสตร์-เทวศาสตร์ที่ท่านเหล่านี้นำเข้ามา พอมีการถ่ายทอดนานวันเข้าก็หลอมรวมกันเป็นไสยศาสตร์ไทย




ดังจะเห็นได้ว่า วิชาอาคมในทางไสยศาสตร์ของไทยนั้น แต่เดิมใช้ภาษาบาลีที่จดบันทึกด้วยอักษรขอม ในขณะที่ทางภาคเหนือเป็นภาษาบาลีเหมือนกัน แต่จดด้วยอักษรพม่าหรือไม่ก็อักษรล้านนา

ดังนั้นไสยศาสตร์ไทยกระแสหลัก จึงมีต้นทางมาจากไสยศาสตร์อินเดียภาคเหนือ (ผ่านทางพม่า-ล้านนา) และไสยศาสตร์เขมร มารวมกันที่กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นเป็นอย่างน้อย

บรมครูฤาษีเช่น พระฤาษีกไลยโกฏิ พระฤาษีเพชรฉลูกัณฑ์ พระฤาษีตาไฟ ปู่เจ้าสมิงพราย ท่านเหล่านี้เป็นฤาษีพื้นเมืองที่อยู่ในเมืองไทยเรานี่ละครับ เป็นผู้สืบทอดสายวิชาต่างๆ ตามที่ผมบอกไปแล้ว

แล้วหลายๆ ท่านก็คิดค้นวิชาใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นของท่านเอง อย่างพระฤาษีกไลยโกฏิที่ท่านมีความเชี่ยวชาญเรื่องเหล็กไหล จนมีบางตำราว่าท่านเป็นผู้สร้างเหล็กไหล ด้วยเหตุนี้ท่านได้รับการนับถือเป็นครูต้นในสายวิชาดังกล่าว

ส่วนพระภรตมุนี พระฤาษีนารอท หรือฤาษีองค์อื่นอย่างพระประโคนธรรพ และอีกองค์หนึ่งที่ไม่ค่อยจะมีใครนึกว่าเป็นฤาษีเหมือนกัน คือ ท่านชีวกโกมารภัจ เหล่านี้ท่านเป็นคุรุเทพอยู่แล้วในอินเดีย ฤาษีอินเดียเป็นผู้นำคติเกี่ยวกับท่านเข้ามา

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นพันๆ ปี พระนารทมุนี (Narada) หรือเทพฤาษีจอมเสี้ยมที่เราเห็นสะพายวีณาร้อง นาร้าย นารายณ์ ในหนังอินเดียนั่นน่ะแหละครับ ก็เลยแยกเป็นคุรุเทพฝ่ายนาฏดุริยางค์ไทยได้ ๒ องค์ คือ พระฤาษีนารอท และพระประโคนธรรพ ตามสายวิชาที่แยกกันไปในสำนักต่างๆ




หรืออาจจะแยกกันมาบ้างแล้วจากอินเดียก็ได้นะครับ คือ เป็นพระฤาษีองค์เดียวกันก็จริง แต่เรารับมาหลายคราว จากหลายสำนักในอินเดีย ซึ่งนับถือแตกต่างกัน ในที่สุดจึงแยกเป็น ๒ องค์ในวงการนาฏดุริยางค์ไทย

ส่วนท่านชีวกฯ ก็ไม่มีใครอยากเรียกว่าท่านเป็นฤาษีแล้ว เพราะพุทธกระแสหลักในเมืองไทย ค่อนข้างรังเกียจฤาษีครับ

ดังนั้น กับคำถามที่ว่า ในภพภูมิของท่านบรมครูฤาษีนั้นสถิตอยู่ที่ใด เเละท่านมีทิพยภาวะอย่างไร 

ก็ต้องตอบว่า แต่ละท่านนั้นมีทิพยภาวะที่แตกต่างกัน แล้วก็สถิตอยู่ในภพภูมิที่ไม่เหมือนกัน

อย่างพระฤาษีนารอท และพระประโคนธรรพ เป็นภาคหนึ่งของพระนารทมุนี ซึ่งถือว่าเป็นเทวฤาษี หรือ ฤาษีชั้นเทพแล้ว

ในขณะที่ครูฤาษีของไทยเราจริงๆ เช่น พระฤาษีกไลยโกฏิ พระฤาษีเพชรฉลูกัณฑ์ พระฤาษีตาไฟ ปู่เจ้าสมิงพราย มีทั้งเป็นชั้นเทพ และผีชั้นสูง แล้วแต่ว่าจะเป็นพระฤาษีที่สำเร็จในระดับไหน และเก่าแก่เพียงใด

อีกอย่างหนึ่ง ที่หลายคนสงสัยกัน คือ ฤาษีไทยโบราณที่มีตัวตนจริงนั้น ท่านนุ่งห่มหนังเสือกันจริงๆ หรือ?

คำตอบก็คือ จริง

แต่ก็เฉพาะสายฤาษีที่มาจากเขมรโบราณ ที่สืบทอดมาจากฤาษีไศวะนิกายของอินเดียเท่านั้นครับ

ลองสังเกตดูเครื่องแต่งกายของพระศิวะ บรมเทพสูงสุดในไศวะนิกายสิครับ จะเห็นว่าท่านนุ่งห่มหนังเสือ แม้ว่าจะไม่นุ่งเต็มทั้งผืนแบบฤาษีในภาพวาดของเราก็ตาม




ที่นุ่งไม่เต็มผืน ก็เพราะหนังเสือที่จะเอามานุ่งห่มได้ ต้องเป็นหนังเสือลักษณะดีที่แก่ตายตามธรรมชาติ และเพิ่งตายใหม่ๆ

ไม่ใช่เสือทั่วไปที่ถูกฆ่าตาย หรือตายด้วยความทรมาน เพราะบาดเจ็บจากการล่าเหยื่อ หรือตายหลายวันแล้ว

จึงเป็นสิ่งที่นานๆ จะพบเจอกันสักครั้ง แม้กับพวกฤาษีที่อยู่ในป่าก็ตาม

เมื่อโชคดีไปเจอเข้า ก็ต้องทำพิธีขอพลีเอามาให้ถูกต้อง เอามาล้างทำความสะอาด แล้วแบ่งๆ กันไปในหมู่ฤาษีที่รู้จักกัน หรือเก็บไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหาบ้าง 

โอกาสที่จะมีหนังเสือทั้งตัวให้นุ่งอย่างฤาษีในภาพวาดไทย จึงยากครับ

แล้วหนังเสือนี่ เขาไม่ได้เอามานุ่งห่มกันทุกวันนะครับ มักจะนำมาห่มทับเสื้อผ้าที่ใส่อยู่ เฉพาะเมื่อจะเข้าเมือง หรือมีงานพิธีสำคัญๆ เท่านั้น ถือเป็นการแต่งกายเต็มยศ

ส่วนฤาษีสายอื่น เช่น พม่า หรือแม้แต่สายเขมรแต่ไม่ใช่สืบทอดมาจากไศวะนิกาย ก็นุ่งผ้าสีอื่นกันละครับ ตามแต่จะหาได้


ฤาษีไทยปัจจุบัน ห่มผ้าพิมพ์ลายหนังเสือ เหาะเหินเดินอากาศด้วยพารามอเตอร์

ส่วนฤาษีไทยยุคปัจจุบัน ที่ไปซื้อผ้าพิมพ์ลายหนังเสือมาห่ม ถือว่าตลกครับ 

ชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่รู้เรื่องอะไร เห็นแล้วก็อาจจะศรัทธา แต่ถ้าคนที่รู้ เห็นแล้วก็น้ำตาไหล คือหัวเราะจนน้ำตาไหลก็ได้ สังเวชใจจนน้ำตาไหลก็ได้

ปัจจุบัน การนับถือครูฤาษีมิได้มีอยู่ในทางไสยศาสตร์เท่านั้น แต่มีอยู่ในเทวศาสตร์ ตลอดจนองค์ความรู้โบราณแทบทุกอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์ เวชกรรมพื้นบ้านเช่นการปรุงสมุนไพร นวดแผนโบราณ จนกระทั่งถึงศิลปะการต่อสู้ ตลอดจนวิชาสำหรับใช้ในการสงคราม เว้นแต่วิชาช่างฝีมือต่างๆ เท่านั้น

นอกจากพระฤาษีเเล้ว คุรุเทพฝ่ายเทวศาสตร์ไทยเเละไสยศาสตร์ไทย ยังรวมถึงองค์เทพต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้ยินกันบ่อยครั้ง คือ พระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ ด้วยครับ

ความจริงแล้ว พระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ เป็นคุรุเทพทางเทวศาสตร์และไสยศาสตร์เขมรมาก่อน 

เคยได้รับการนับถือ และเป็นหลักในการประกอบพิธีกรรมของราชสำนักเขมรช่วงสมัยบายน เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ และคงจะมาเฟื่องฟูมากขึ้นในช่วงใกล้ๆ กัน หรือภายหลังจากการถือกำเนิดของสุโขทัยและอโยธยา


พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ในศิลปะขอม

อันนี้เป็นการสันนิษฐาน โดยประมวลจากการตีความหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ นะครับ

หลังจากนั้น พอถึงสมัยอยุธยาตอนต้น เจ้าสามพระยาทำลายเมืองพระนคร อาณาจักรขอมถึงแก่กาลพินาศ ราชวงศ์เขมรต้องย้ายเมืองหนีไปที่อื่น

บรรดาพราหมณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญคาถาอาคมต่างๆ ที่เคยอยู่ในราชสำนัก หรือในเมืองพระนคร ก็แยกย้ายปะปนไปกับชาวบ้านธรรมดา เป็นเหตุให้คติเกี่ยวกับเทพเจ้าทั้ง ๔ องค์นี้ แพร่หลายในไสยศาสตร์เขมรระดับชาวบ้านด้วย

เพราะปรากฏว่า ผมเคยเห็นตำราไสยศาสตร์เขมรหลายเล่ม รวมทั้งเคยศึกษากับครูบาอาจารย์ที่ท่านร่ำเรียนไสยศาสตร์เขมรมา ก็พบว่ามีการบูชาเทพทั้ง ๔ องค์นี้ และเทพองค์อื่นๆ เหมือนไสยศาสตร์เราพอสมควร

แต่ไม่เคยเห็นบูชารวมกันเป็นชุดเหมือนในทางไสยศาสตร์ไทยเรา 

ซึ่งจะมีหรือไม่ ไม่ทราบ

ที่เห็นคือแยกบูชาเป็นองค์ๆ ไป ตามพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยพระอินทร์ พระยม พระกาฬ จะได้รับการบูชาในพิธีกรรมต่างๆ มากกว่าพระพรหม

ทีนี้ ไสยศาสตร์เขมรนั้นเขามีลัทธิพิธีที่เป็นระบบ เป็นหลักเป็นฐานมากกว่าไสยศาสตร์พื้นเมืองของไทยเราในยุคแรกๆ 

เมื่อเราทยอยรับไสยศาสตร์ของเขาเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย และอโยธยาแล้ว เราก็เอาระบบและวิธีการของเขา มาเป็นรากฐานของไสยศาสตร์ไทย เทพเจ้าองค์ไหนที่เขาบูชาอยู่ เราก็รับเข้ามาด้วย

ดังนั้น แม้ว่าไทยเราจะนับถือคณะเทพชุดเดียวกับในอินเดีย เราก็นับถือไม่เหมือนกับในอินเดียครับ

แล้วไสยศาสตร์ไทยเรา นิยมจัดชุดเทพสำหรับการบูชาในพิธีกรรมแต่ละอย่าง ซึ่งทำให้เกิดสายวิชาต่างๆ แตกแขนงกันออกไป 

การจัดชุดเทพสำหรับพิธีกรรมนี้ เราจะเห็นตัวอย่างตั้งแต่ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย และโองการแช่งน้ำสมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว


พระกาฬไชยศรี ทรงนกแสกเป็นพาหนะ
ภาพจาก http://www.narailuck.com

ซึ่งก็ปรากฏว่า พระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ ก็มักจะได้รับความนิยมบูชากันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในไสยศาสตร์ไทยสายวิชาไหน เวลามีการตั้งพิธีใหญ่ๆ สำคัญๆ ก็จะมีการกล่าวอัญเชิญเทพทั้ง ๔ องค์นี้เสมอ จนแทบจะเรียกได้ว่า ขาดไม่ได้เลยละครับ

ขณะที่เทพองค์อื่นๆ นั้น อาจจะละเว้นไปได้บ้าง หรือบางพิธีก็ไม่กล่าวถึงบ้าง 

แต่ทั้งสี่องค์นี้ เรียกว่าทุกพิธีที่มีมาตรฐาน จะต้องมีการอัญเชิญ ยิ่งเป็นพิธีใหญ่ ยิ่งต้องมีโองการอัญเชิญแต่ละองค์มาโดยเฉพาะ

จึงเป็นที่คุ้นเคยกันสำหรับคนไทยสมัยก่อน ที่ได้รู้เห็นพิธีกรรมต่างๆ อยู่เสมอ จนเกิดเป็นคำพูดคล้องจองกันว่า อินทร์ พรหม ยม กาฬ บ้าง อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ บ้าง แล้วแต่จะพูดกันไป

ไม่ได้หมายความว่า คุรุเทพฝ่ายเทวศาสตร์ไทยเเละไสยศาสตร์ไทยมีอยู่เพียง ๔ องค์นี้ ยังมีเทพองค์อื่นๆ อีกนะครับ ดังที่ผมเกริ่นไปแล้ว

อย่างพระนารายณ์ พระอิศวรก็ใช่ พระแม่ธรณี ก็ใช่

แต่ที่คนจำได้ขึ้นใจ มี ๔ องค์นี้มากที่สุด เพราะมีการเอ่ยพระนามคล้องจองกันเสมอในการอ่านโองการต่างๆ




เมื่อจำขึ้นใจแล้ว บางสายวิชา เช่น สายที่ผมเรียนมาจากทางอยุธยานั้น ก็เลยนับถือเทพ ๔ องค์นี้เป็นหลัก 

จนถึงกับว่า ถ้าพิธีใดไม่มีความสามารถจะตั้งเทวรูปองค์เทพและพระฤาษีต่างๆ ที่เป็นครูได้ครบทุกองค์แล้ว ขอให้มีเทวรูปของเทพทั้งสี่องค์นี้ พิธีนั้นก็ศักดิ์สิทธิ์

หรือที่ผมเคยเห็นสายวิชาอื่น เขาก็นับถือจนยกย่องให้เป็นจตุโลกบาลไปเลยก็มี บางสายวิชาก็นับถือว่า เป็นชุดเทพ ๔ องค์ ที่อัญเชิญในพิธีอาถรรพณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าเทพองค์อื่น

ทีนี้ บางคนชอบของแรงๆ พอได้ยินชื่อ พระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ ในพิธีกรรมต่างๆ ก็หูผึ่ง มาถามผมว่า ถ้าบูชาทั้ง ๔ องค์นี้ด้วยกัน จะทำได้หรือไม่สำหรับบุคคลทั่วไป 

เเละวิธีการบูชานั้น เเตกต่างจากการบูชาเทพอื่นๆ หรือไม่

ผมก็จะตอบเสมอว่า วิธีการบูชาอินทร์ พรหม ยม กาฬ ครบชุดนั้น แตกต่างกับการบูชาเทพโดยทั่วไปแน่นอน และถ้าบูชาครบชุดสำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป ก็แรงไปแน่นอนเช่นกันครับ

เพราะเป็นการบูชาที่เหมาะสำหรับผู้ที่ร่ำเรียนทางวิชาอาคม ไสยศาสตร์ชั้นสูง ตลอดจนเทวศาสตร์ต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีที่เสี่ยงอันตราย ต้องต่อสู้กำราบภูตผีปีศาจ คุณไสยมนต์ดำต่างๆ ซึ่งไม่ใช่กิจกรรมของผู้บูชาเทพตามปกติ

และที่สำคัญคือ ไม่เหมาะกับคนมักง่าย หรือคนที่ชอบของแรงๆ โดยไม่รู้จักศึกษาหาความรู้อย่างแท้จริง

เพราะการจะบูชาเทพชุดนี้ ผู้บูชาจะต้องเป็นศิษย์มีครู ได้ร่ำเรียนวิชาอาคมเพื่อจะนำไปใช้ทำพิธีอาถรรพณ์ต่างๆ อย่างที่ผมบอกแล้ว

และผู้บูชาคนเดียวกันนั้น ก็จะต้องมีดวงชะตาที่สมควรจะได้บูชาครบชุดด้วยนะครับ

ไม่ใช่แค่คิดว่า ตนมีญาณบารมีองค์เทพ หรือเปิดตำหนักอะไรขึ้นมาก็จะรับไปบูชา หรือแค่ว่าชอบของแรงๆ ดูแล้วแรงสะใจ ก็ไปยกมาบูชาเลย เสกไม่เสกว่ากันทีหลัง




คนพวกนี้ ได้รับความวิบัติหายนะกันมานักต่อนักแล้ว แม้จะบูชาเทวรูปที่ผ่านพิธีถูกต้อง ก็วิบัติ เพราะไม่ใช่ชุดของเทวรูปชนิดที่คนทั่วไปพึงบูชาไงครับ

แต่ถ้าบูชาเทวรูปตำหนักทรงเสก หรือไม่ได้เสกแล้วเอาไปกราบไหว้ จะยิ่งวิบัติเร็วขึ้น แรงขึ้นหลายเท่า

ความวิบัติที่ผมกล่าวถึงนี้ โบราณเรียกว่า ธรณีสาร ถ้าไม่แก้ไขโดยเร็ว จะไม่มีผลเฉพาะเพียงในชาตินี้เท่านั้น แม้เมื่อตายแล้วก็มีผลกับวิญญาณ ไปเกิดใหม่ก็ตามไปให้ผลกับชาติภพใหม่อีก

โชคดีนะครับ ที่ผ่านมานี้ยังไม่มีวัดไหน หรือสำนักไหนออกเทวรูปชุด อินทร์ พรหม ยม กาฬ มาให้สาธารณชนบูชาครบทั้ง ๔ องค์ 

ไม่อย่างนั้น เราคงได้เห็นคนบ้าเพราะธรณีสารเกลื่อนเมืองยิ่งกว่าทุกวันนี้


...........................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


4 ความคิดเห็น:

  1. พิษภัยอาถรรพณ์จากการผิดครู รึการบูชาในสิ่งที่เกินตัว มันไม่ใช่ว่าเห็นชัดเป็นรูปธรรม คนถึงไม่ค่อยกลัวไงคะ การเตือนของอาจารย์นี่ก็คงจะได้ผลเฉพาะกับคนที่ยังมีบุญอยู่เยอะจริงๆ คนที่หมดบุญหนุนส่งแล้วก็คงไม่สนใจ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช่ค่ะ ที่ผ่านมาอาจารย์ก็เตือนแล้วเตือนอีก เตืนอในหลายๆ เรื่อง คนที่ได้ฟังก็มีไม่มากนักที่รับไปปฏิบัติ ส่วนพวกที่ถือว่าข้าเก่ง ข้าแน่ ตอนนี้ก็หายนะไปตามๆ กัน

      ลบ
  2. อีกบทความที่เตือนใจพวกบ้าพลังชอบของแรง

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เตือนได้แค่ไหนก็ไม่รู้ละค่ะ - -"

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น