วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

พระแม่ย่าสุโขทัย

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




พระแม่ย่า เป็นนามบัญญัติเรียกองค์เทวรูปซึ่งทำด้วยศิลาสีเขียว (บ้างว่าหินชนวน) ประทับยืนบนฐานบัวฟันหนู สูงประมาณ ๑๒๕ ซ.ม. เห็นเพียงด้านหน้า

เทวลักษณะ เป็นอย่างเทพนารีในศิลปะไทยโบราณ ฉลองพระองค์แบบนางพญา พระพักตร์ยาว พระหนุเรียว พระเกตุมาลายาว ทรงพาหุรัด ทองกร พระกรผายออกสองข้างตามแบบพระพุทธรูปรุ่นเก่าที่เรียกกันว่า ปางประทับยืน และยังดูเหมือนกับพระกรุสุโขทัยหลายกรุด้วยกัน ฉลองพระบาทปลายงอน

ปัจจุบันเทวรูปองค์นี้ปิดทองโดยตลอด และมีผู้ถวายผ้าทรง จึงเห็นเฉพาะพระพักตร์และผ้านุ่ง แต่ก็ยังพอสังเกตได้ถึงเทวลักษณะที่เป็นของเก่าโบราณมาก

เทวรูปที่เรียกกันว่าพระแม่ย่าองค์นี้ ตามประวัติเดิมว่าพบที่เพิงหินบนยอดเขาสูงที่สุดยอดหนึ่งของเขาหลวง ในเขตบ้านโว้งบ่อ ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ คือ เขาแม่ย่า หรือ เขาน่าย่า อยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยเก่าไปประมาณ ๗ ก.ม

เพิงหินที่พบเทวรูปนั้น ปัจจุบันก็เรียกกันว่า ถ้ำพระแม่ย่า และไม่มีโบราณสถานใกล้เคียงที่พอจะหาความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันได้


ภายในถ้ำพระแม่ย่า มีการตั้งองค์พระแม่ย่าจำลองไว้ ตามตำแหน่งที่เคยประดิษฐาน

จึงไม่ทราบว่า เหตุใดจึงมีผู้นำองค์พระแม่ย่าไปประดิษฐานไว้ในเพิงหินเช่นนั้น และแท้ที่จริงจะเป็นเทวรูปของเทพนารีองค์ใด ก็ยังไม่อาจจะสืบค้นได้มาจนทุกวันนี้ละครับ

อย่างไรก็ตาม เทวรูปพระแม่ย่าองค์นี้ก็คงจะมีผู้ไปค้นพบเข้า และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวสุโขทัยกราบไหว้บูชากันมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๖ เป็นอย่างน้อย

นักวิชาการในสมัยแรกๆ บางท่านก็เข้าใจว่าเป็นเทวรูป พระขพุงผี ซึ่งมีกล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่าเป็นใหญ่กว่าผีทั้งหมดในเมืองสุโขทัย

เช่น เมื่อ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จตรวจราชการเมืองพิษณุโลกพ.ศ.๒๔๕๕ ทรงบันทึกไว้ว่า

เบื้องหัวนอน มีพระขพุงผีเทพดาอยู่ที่เขาอันนั้น ทางเหนือเมืองสุโขทัยไม่มีภูเขาจนลูกเดียว ส่วนทางใต้มี ซ้ำไปหาเทวรูปได้อยู่ในเพิงหินด้วย ดูจะเป็นพระขพุงผีเทพดาแน่ ไม่มีปัญหาเลย...
         
เมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงเป็นองค์บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือในพ.ศ.๒๔๕๗ ได้ทรงมีรับสั่งให้ พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมภ์) เจ้าเมืองสุโขทัยขณะนั้นออกค้นหาพระขพุงผีตามทิศที่ศิลาจารึกระบุ

เมื่อพบเทวรูปพระแม่ย่า สมเด็จฯ ก็ทรงมีพระวินิจฉัยตรงกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถว่า น่าจะใช่พระขพุงผี ผู้รักษาเมืองสุโขทัยตามที่ศิลาจารึกบอกไว้ละครับ

เพราะคำว่า เบื้องหัวนอน ในศิลาจารึกสุโขทัยนั้น ตรงกับคำว่าทิศใต้ในภาษาไทยปัจจุบัน (คนสุโขทัยโบราณนอนหันหัวไปทางทิศใต้) ทิศใต้ของสุโขทัยมีเขาหลวง และในเขาหลวงก็ไม่มีเทวรูปอื่นอีก

จึงทรงมีรับสั่งให้อัญเชิญมาไว้ที่ศาลากลางจังหวัดในพ.ศ.๒๔๖๐ เพื่อสะดวกในการที่ประชาชนจะได้กราบไหว้ใกล้ๆ และจะได้เป็นการรักษาพระเทวรูปมิให้สูญ

นับแต่นั้น พระแม่ย่าจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุโขทัย เมื่อมีพระบรมราชโองการยุบจังหวัดสุโขทันเป็นอำเภอ และยกอำเภอสวรรคโลกขึ้นเป็นจังหวัดแทนในพ.ศ.๒๔๗๔ พระแม่ย่าก็ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานที่ศาลากลางเมืองสวรรคโลก

ครั้นมีพระบรมราชโองการให้ยุบจังหวัดสวรรคโลกและยกสุโขทัยขึ้นเป็นจังหวัดตามเดิมเมื่อพ.ศ.๒๔๘๒ ก็อัญเชิญกลับมาประทับที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัยอีก พอเทศกาลสงกรานต์ก็อัญเชิญออกให้ประชาชนสรงน้ำและแห่แหนทุกปี




ต่อมา พ.ศ.๒๔๙๖ ทางราชการเริ่มบูรณะเมืองเก่าสุโขทัย จึงมีการสร้างศาลพระแม่ย่าในบริเวณศาลากลางจังหวัด

ซึ่งในครั้งนั้น ได้มีการอัญเชิญดวงพระวิญญาณพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมาประทับในที่เดียวกัน

ทั้งนี้เพราะเชื่อกันในขณะนั้นว่า องค์เทวรูปพระแม่ย่าสร้างในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่ออุทิศถวายพระมารดา คือ พระนางเสือง
         
แต่ความเชื่อเช่นนี้ ปัจจุบันพิสูจน์ได้แล้วครับว่า ผิด

เพราะตามตามสายตาของนักประวัติศาสตร์ศิลปะในปัจจุบัน ลักษณะทางศิลปกรรมขององค์พระแม่ย่านั้นไม่เก่าถึงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ทั้งยังน่าจะแกะสลักขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ซึ่งถือว่าสิ้นยุครุ่งเรืองของสุโขทัยไปแล้วด้วยซ้ำ

อีกทั้งฝีมือช่างที่สร้างก็เป็นช่างระดับชาวบ้าน ไม่ใช่ช่างหลวงด้วยน่ะสิครับ

ส่วนการคาดคะเนของสมเด็จฯ ทั้งสองพระองค์ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้นั้น ผมกลับว่าน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

เพราะพระขพุงผี มิได้มีกล่าวเฉพาะในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยเราในปัจจุบันเท่านั้น ยังมีอยู่ในศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นของสุโขทัยแท้ๆ อีกด้วย

แต่ปัญหาก็คือ ถ้าไม่มีหลักฐานตรงๆ ว่าเทวรูปพระแม่ย่าถูกเรียกว่าพระขพุงผีมาตั้งแต่แรก ก็ไม่มีนักโบราณคดีของไทยคนไหนจะยอมเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นได้หรอกครับ

ดังนั้น จึงยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการที่ใดว่า พระแม่ย่าคือพระขพุงผีจริงในปัจจุบัน

แต่แม้กระนั้น คาถาบูชาพระแม่ย่าที่มีผู้คิดผูกขึ้น และเป็นคาถาที่ใช้บูชาอย่างได้ผลด้วย ก็ระบุว่าพระแม่ย่าคือพระขพุงผีครับ

ที่จริงยังมีการคาดเดาความเป็นมาขององค์พระแม่ย่าในทางอื่นอีก เช่นมีผู้เสนอว่า พระแม่ย่าคือเทวรูปพระอุมา ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระพายหลวง คู่กับพระศิวะ ที่เคยประดิษฐานไว้ที่วัดศรีสวาย (ทั้งสองวัดอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)  เป็นฝีมือช่างขอม

เมื่อเกิดสงคราม พวกขอมย้ายเทวรูปพระศิวะกลับไปได้ แต่ขนพระอุมาไปไม่ทัน จึงนำไปซ่อนไว้ที่เขาหลวง

ข้อเสนอนี้ ผู้ค้นคว้าเรื่องพระแม่ย่าโดยทั่วไปไม่เห็นด้วยแน่นอนครับ เพราะไม่มีหลักฐานอื่นใดรองรับ อีกทั้งเทวรูปพระแม่ย่าก็ไม่ใช่ศิลปะขอม ทั้งยังเก่าไม่ถึงสมัยขอมดังกล่าวแล้ว

แต่ส่วนตัวผมก็เห็นว่า มีแง่คิดบางอย่างที่น่าสนใจเหมือนกัน เช่นการที่เทวรูปนี้เดิมถูกสร้างคู่กับเทวรูปอื่น และได้รับการขนย้ายเพื่อหนีภัยสงคราม

เพราะถ้าจะพูดกันจริงๆ ลักษณะองค์พระแม่ย่ายืนปล่อยพระหัตถ์ไว้เฉยๆ เหมือนเดิมจะทำไว้เป็นรูปของเทพชายา ตั้งคู่กับเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งที่ยืนถืออาวุธครบ

และเทวรูปทั้งสององค์ก็น่าจะตั้งคู่กันไว้ในศาลหลังย่อมๆ ชานเมืองสุโขทัยไม่ห่างไปจากเขาหลวงนัก แทนที่จะตั้งอยู่ในเมืองเช่นวัดพระพายหลวง

เทวรูปคู่นี้ คงเป็นที่นับถือของผู้คนในแถบนั้น เมื่อเกิดสงคราม ผู้นับถือก็อัญเชิญเทวรูปทั้งสององค์ขึ้นไปซ่อนไว้บนเขาหลวง แต่เทวรูปพระสวามีจะแตกหักระหว่างทาง หรือได้สาบสูญไปอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ คงเหลือแต่พระแม่ย่าเพียงองค์เดียว

ผมว่า แนวความคิดเช่นนี้มีความเป็นไปได้สูงนะครับ


พระแม่ย่า ขนาดบูชา รุ่น ๑๐๐ ปีสุโขทัยวิทยาคม

ดีไม่ดี เทวรูปพระสวามี หรืออาจจะรวมทั้งพระแม่ย่านี่แหละ อาจจะหมายถึงพระขพุงผีองค์จริง ที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกสุโขทัย แต่เทวรูปองค์เดิมอาจจะทำด้วยไม้ แล้วชาวบ้านมาสร้างขึ้นใหม่ด้วยหินแกะสลักในภายหลังก็ได้

ไม่อย่างนั้น ทำไมคาถาบูชาพระแม่ย่าที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า อะหัง วันทามิ ขะพุงผี มะหาเทวะดาฯ จึงใช้ได้ผลล่ะครับ ถ้าหากว่าท่านไม่ใช่พระขพุงผี หรือเคยได้รับการบูชาคู่กับพระขพุงผี?

ส่วนที่มาที่ไปของคำเรียก พระแม่ย่านั้น ก็เพราะมีเหตุมาจากการปรากฏพระองค์ในนิมิตของผู้ศรัทธา หรือแม้แต่ปรากฏแก่สายตาของผู้ที่ไม่ศรัทธาก็ตาม รูปปรากฏนั้นมักเป็นสตรีสูงอายุ อีกทั้งของถวายที่โปรดอย่างยิ่งส่วนหนึ่งก็คือ หมากพลูแบบที่คนแก่สมัยก่อนชอบรับประทานอีกด้วย

นิมิตเช่นนี้ โดยส่วนตัวผมว่ายังตัดสินอะไรได้ไม่มาก กล่าวคือจะเป็นดวงวิญญาณที่สถิตในเทวรูปมาแต่เดิม หรือจะเป็นวิญญาณอื่นที่เข้าไปสิงสู่ภายหลังก็ได้

เพราะตามหลักเทวศาสตร์แล้ว ถ้าเป็นระดับองค์เทพอย่างแท้จริง ทิพยรูปในนิมิตจะอยู่ในวัยสาวครับ

แต่ถ้าเป็นวิญญาณอื่นที่เข้าไปสิงสู่ภายหลัง ก็ต้องเป็นผีชั้นสูง มีฤทธานุภาพมากเช่นกัน

เพราะมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับอภินิหารของพระองค์ ที่ช่วยเหลือให้ผู้ศรัทธาได้ประจักษ์แม้แต่ในเรื่องที่ยากจะเป็นไปได้ที่สุด  เรื่องเหล่านี้จะหาอ่านได้ในหนังสือที่เรียบเรียงโดย อ.ทองเจือ สืบชมภู ซึ่งมีจำหน่ายอยู่ในบริเวณศาล

ปัจจุบัน เทวรูปพระแม่ย่าจะมีผ้าทรงซึ่งมีผู้ถวายเป็นประจำดังกล่าวแล้วห่มทับ ดังปรากฏในภาพประกอบบทความนี้

แม้ว่าโดยหลักทางเทววิทยาแล้ว ไม่นิยมถวายผ้าทรงแด่พระเทวรูป นอกจากจะเป็นผ้าที่ถักทออย่างวิจิตรเลอค่าเพียงพอ แต่ผ้าที่ถวายองค์พระแม่ย่านี้ก็ไม่ควรตำหนิหรอกครับ เพราะเป็นผ้าทอลายหาดเสี้ยวที่ออกแบบลวดลายและทอขึ้นเป็นพิเศษ หาเป็นผ้าทอพื้นๆไม่

ทุกวันนี้ องค์พระแม่ย่าได้รับการประดิษฐานในเทวาลัยที่งดงามตระการตา เป็นของใหม่เริ่มสร้างเมื่อพ.ศ.๒๕๓๗ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จเป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ปีนั้น สร้างเสร็จอัญเชิญองค์พระแม่ย่าขึ้นประดิษฐานเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒




ศาลแห่งใหม่นี้ไม่เพียงเป็นแต่ของสร้างใหม่เท่านั้นนะครับ ยังได้รับการออกแบบโดยสำนักโยธาธิการจังหวัดสุโขทัย ด้วยการนำสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะเครื่องบนซึ่งได้แบบอย่างจากพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นความคิดที่น่าชมมาก

นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้กัน ยังมีศาลพระแม่ย่าหลังเล็ก สำหรับประดิษฐานเทวรูปพระแม่ย่าจำลององค์แรก ซึ่งใช้แห่ออกให้ประชาชนสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ตัวศาลเป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว ตั้งอยู่ใกล้ร้านขายเทวรูปและเครื่องสักการะต่างๆ

เทวรูปจำลององค์นี้เป็นฝีมือเก่าครับ ทำได้เหมือนองค์จริงกว่าเทวรูปจำลองรุ่นหลังที่ตั้งอยู่หน้าศาลหลังใหญ่ ทั้งเป็นเทวรูปที่ผ่านการเทวาภิเษกอย่างดีเยี่ยม มีผู้เล่าว่าเคยกราบไหว้พระเทวรูปองค์นี้แล้วประสบปาฏิหาริย์เหมือนกัน

ภายในบริเวณศาล ยังมีเทวรูปปูนปั้นระบายสีขนาดใหญ่ของพระโพธิสัตว์กวนอิม และมีสิ่งสำคัญ คือ พระพุทธอุทยานสุโขทัย ตั้งถัดไปด้านหลังสนามหญ้า เป็นอาคารโถงตั้งบนยกพื้นสูงกว่าตัวศาล ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๙ องค์ จำลองแบบจากพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในจังหวัดอื่นทั้งสิ้น


พระพุทธอุทยานสุโขทัย ภาพจาก http://travel.thaiza.com

ด้านหน้าเทวาลัยพระแม่ย่ายังมีลานกว้าง ตกแต่งด้วยกินรีปูนปั้นอยู่ในสระขนาดเล็กสองข้าง เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ถ้ามองจากริมน้ำยมแลดูสง่างามยิ่งนัก

แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างศาลาโถงขนาดใหญ่ขึ้นบังบริเวณตัวศาลแทบทั้งหมด เพื่อกันแดดกันฝนให้ผู้เข้าไปสักการะองค์พระแม่ย่า จนไม่สามารถมองเห็นภูมิสถาปัตย์อันสวยงามเช่นเดิมได้อีก

เทวาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ศาลากลางจังหวัด ถ้าตั้งต้นจากตลาดก็ขับรถไปตามถนนนิกรเกษม เลียบแม่น้ำยมเป็นระยะทางไม่เกิน ๑ ก.ม. หรือจะจ้างรถสามล้อเครื่องพื้นเมืองที่เรียกกันว่า ซาเล้งไปก็ได้ครับ


..................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

2 ความคิดเห็น:

  1. เคารพศรัทธาท่านมากค่ะ ที่อาจารย์วิเคราะห์ว่าท่านน่าจะเคยมีเป็นคู่ก็ตรงกับความรู้สึกนะคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. แอดมินก็เห็นด้วยค่ะ เพราะถ้าทำท่านเป็นองค์เดี่ยวๆ แล้วทำเป็นแท่งหินแบบนี้ เวลาตั้งในศาลจะดูโล่งมากเลย (ปัจจุบันมีซุ้มแล้วก็ยังดูโล่งๆ)

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น