วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

ปิดทองรูปเคารพ

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์





ทุกครั้งที่ผมเห็นพระพุทธรูป หรือเทวรูปที่ถูกปิดทองโดยผู้ศรัทธาจนเต็มไปหมด จะมีความรู้สึกขัดนัยน์ตาเป็นที่สุด

ทองคำเปลวถูกปิดด้วยแรงศรัทธาก็จริง แต่ต่างคนต่างปิดกันอย่างไร้ระเบียบ หรือมักง่าย ตรงไหนว่างก็ปิดเข้าไป ไม่ว่างก็ขยี้ซ้ำเข้าไป จนดูรกรุงรังไปหมด มองไม่เห็นความสวยงามของรูปเคารพที่ช่างได้อุตส่าห์บรรจงรังสรรค์ขึ้นมาเลยสักนิด

ธรรมเนียมการปิดทองรูปเคารพแบบที่ใครก็ได้มาช่วยกันทำเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมที่เก่าแก่มาก เฉพาะในเมืองไทยของเรา อย่างน้อยก็มีอยู่ในจารึกบนฐานพระพุทธรูปยืนสมัยทวารวดีที่ วัดข่อย จ.ลพบุรี อายุไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ปี มาแล้ว กล่าวถึงเทศกาลงานบุญในสมัยนั้นว่า ผู้มีศักดิ์ตระกูลหนึ่ง และญาติวงศ์ช่วยกันสร้างพระพุทธรูปแล้วเฉลิมฉลอง เกิดความปีติในการร่วมกันทำพระพุทธรูปให้ "เปล่งปลั่ง " น่าเลื่อมใส

ทำพระพุทธรูปให้เปล่งปลั่ง โบราณท่านหมายถึงการปิดทองนั่นเอง

และเทคนิคการปิดทองตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงสมัยของเราก็คือเทคนิคเดียวกันครับ คือการปิดทองคำเปลวลงบนรูปเคารพด้วยมือ จะเป็นรูปเคารพที่ทำด้วยไม้ก็ได้ ปูนก็ได้ หินก็ได้ หรือโลหะก็ได้ แต่ถ้าเป็นไม้และโลหะ นิยมใช้วิธีลงรักปิดทองมากกว่าปิดทองอย่างเดียว




ทองคำเปลวนี้ เป็นอัจฉริยภาพอันหนึ่งของช่างทองไทยเราแต่โบราณ ในการคิดค้นเทคนิคการตีแผ่นทองคำให้บางยิ่งกว่ากระดาษ มีไม่กี่ชนชาติในโลกหรอกครับที่ทำได้อย่างนี้

และมูลเหตุที่เกิดประเพณีนิยมอย่างนี้ ก็เพราะโบราณท่านรู้กันว่า การตกแต่งรูปเคารพนั้น มีผลให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้กระทำเป็นอย่างยิ่ง

เพราะรูปเคารพ คือตัวแทนที่รับเอาพลังจิตและการปฏิบัติบูชาของเราไปสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และถ่ายทอดพลังอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นกลับมาหาเราโดยตรง

การสร้างรูปเคารพ จึงต้องทำกันอย่างเต็มฝีมือของผู้สร้าง ทำกันให้งามเท่าที่จะงามได้ เพราะเกี่ยวเนื่องกับของสูง นอกจากจะสวยงามแล้วยังไม่พอ พุทธลักษณะหรือเทวลักษณะต้องไม่คลาดเคลื่อน องคาพยพต้องชัดเจน จึงจะเป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้




เมื่อเป็นเช่นนี้ การประดับประดาตกแต่งรูปเคารพจึงควรกระทำเพื่อให้ความสวยงามนั้นเพิ่มมากขึ้น โดยที่ความคมชัดขององค์ประกอบต่างๆ ก็จะต้องรักษาไว้ได้ด้วยในขณะเดียวกัน

เพราะถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดถูกปิดบังหรือเสียหาย รูปเคารพนั้นก็จะขาดความสมบูรณ์ในการสื่อผ่านระหว่างเรากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ดังนั้น แม้คนโบราณจะปิดทองรูปเคารพเหมือนกับที่เราทำ แต่ความประณีตนั้นแตกต่างกับเราอย่างสิ้นเชิง

คนโบราณเมื่อปิดทองพระ จะบรรจงปิดแผ่นทองคำเปลวอย่างเป็นระเบียบ และปิดต่อเนื่องกันไป สมมุติว่าคนที่มาก่อนปิดไว้ตรงพระบาท คนที่มาทีหลังก็จะปิดจากพระบาทนั้นไล่ขึ้นไป ไม่ใช่มาถึงก็แปะลงไปบนพระพักตร์เลย

และเมื่อทองถูกปิดเต็มองค์พระ ก็จะมีช่างมาขัดแต่งเสียทีหนึ่ง ทองคำเปลวที่ช่วยกันปิดไว้ก็จะประสานเป็นเนื้อเดียวกับรูปเคารพ รูปเคารพนั้นก็สุกปลั่งเป็นเนื้อทองแลดูน่าเลื่อมใส รายละเอียดบนรูปเคารพก็ยังชัดเจน เหตุเพราะกระทำกันอย่างมีระเบียบมาตั้งแต่แรกนั่นเอง


ภาพจาก http://www.aecnews.co.th

และด้วยการกระทำเช่นนั้น สิริมงคลและบุญกุศลก็จะเกิดกับทุกคนที่ร่วมกันประดับประดารูปเคารพ

คนไทยเราสมัยก่อนมีความประณีตเป็นทุนเดิมครับ ยิ่งอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งต้องประณีต เพราะบุญกุศลจะเกิดจากจิตใจและการกระทำที่ละเอียดอ่อน ประณีตและพิถีพิถัน ไม่ใช่การกระทำที่หยาบ หรือมักง่าย

ดังนั้น ถ้าเราไปดูตามท้องที่บางแห่งที่เขายังปิดทองรูปเคารพกันเป็น เราจะเห็นว่าเขาบรรจงปิดทองได้ลำดับกันอย่างสวยงามทีเดียว

ดูแล้วก็สบายตาสบายใจ อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของรูปเคารพนั้นก็ยิ่งเพิ่มพูน เพราะได้รับการบูชาอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีที่ถูกต้อง ผู้บูชาก็อิ่มบุญอิ่มกุศลกันไป

การถวายความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการกระทำที่สูง ย่อมได้รับการตอบแทนที่สูงเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่ถ้าสำหรับรูปเคารพที่คนจำนวนมากนับถือ และคนจากทุกสารทิศก็แห่แหนกันมากราบไหว้ปิดทองจนยับเยินไร้ระเบียบไปหมด ทั้งปิดทั้งขยี้กันเข้าไปอย่างที่กล่าวแล้ว แผ่นทองคำที่ปิดกันอย่างมักง่ายพะเยิบพะยาบอยู่ทั่วไป จนอย่าว่าแต่เนื้อตัวของรูปเคารพ แม้หน้าตาท่านก็รกรุงรังจนมองไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไรทั้งสิ้น


ภาพจาก http://www.matichon.co.th

การปฏิบัติเช่นนี้ย่อมให้ผลในทางตรงกันข้าม กับธรรมเนียมปฏิบัติอันละเอียดประณีตของคนโบราณที่กล่าวมาแล้วอย่างสิ้นเชิง

นั่นคือ แทนที่รูปเคารพนั้นจะคงความศักดิ์สิทธิ์ หรือเพิ่มพูนอานุภาพยิ่งขึ้นกลับเสื่อมลง เพราะรายละเอียดบนรูปเคารพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้รูปเคารพนั้นมีผลในทางเทวศาสตร์ ถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้วด้วยฝีมือการปิดทองอย่างมักง่ายนั่นเอง

เช่นเดียวกัน คนที่ปิดทองรูปเคารพอย่างมักง่าย เขาก็หารู้ไม่ว่า แท้ที่จริงเขากำลังทำลายรูปเคารพ และนั่นหมายถึงอัปมงคลอย่างยิ่ง สิ่งที่จะได้มามีแต่ความเสื่อม ความตกต่ำ ชีวิตที่มองไม่เห็นความสุขความเจริญ อย่างที่ผู้กระทำเช่นนั้นส่วนใหญ่พากันได้รับอยู่โดยหาสาเหตุไม่ได้




ความหยาบ ความมักง่ายแม้กระทั่งการปฏิบัติบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ เป็นเรื่องของคนสมัยใหม่โดยแท้ วัดหรือเทวสถานที่มีรูปเคารพล้ำค่า กลัวประชาชนจะแห่แหนกันไปทำลายรูปเคารพที่มีอยู่ แต่ขัดศรัทธาไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีสร้างพระพุทธรูปหรือเทวรูปจำลองให้คนมาปิดทองกันแทนองค์จริง

บางแห่งสร้างของจำลองไม่ได้ ก็ติดป้ายห้ามปิดทององค์พระไว้กับพระพุทธรูปหรือเทวรูปเลย ชาวบ้านร้านตลาดที่ถูกฝังหัวกันมาว่า ไปไหว้พระที่ไหนต้องปิดทอง เห็นแล้วก็ไม่เข้าใจ แล้วพาลหาว่าทางวัดหวงพระไม่เข้าท่า

ทางวัดก็จำต้องยอมถูกตำหนิ ไม่งั้นปล่อยตามใจพวกคลั่งปิดทอง รูปเคารพสวยๆ ทรงอานุภาพก็ถูกทำลายยับเยิน

เพราะวิธีการปิดทองแบบมักง่ายจนเละเทะไปหมดทั้งองค์พระ ต่อให้ช่างฝีมือดีแค่ไหนก็ขัดแต่งให้ประสานเป็นเนื้อเดียวกับรายละเอียดของเดิมไม่ได้ เพราะบางแห่งก็มากไป บางแห่งก็น้อยไป ไม่สม่ำเสมอกัน


ภาพจาก http://thai.tourismthailand.org

อย่างพระพุทธรูปบางองค์ ส่วนที่สำคัญที่สุดคือพระพักตร์ ถูกปิดทองจนบวมไปหมด ขัดแล้วก็ยังบวมผิดส่วน พระเนตรจมพระโอษฐ์จม อานุภาพขององค์พระเท่ากับถูกทำลายอย่างไม่มีวันเรียกกลับได้อีก สุดท้ายที่ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้ เพราะผีเข้าไปสิง ด้วยเหตุที่ว่า ผีเท่านั้นที่ชอบการปิดทองอย่างมักง่ายเช่นนั้น

การปิดทองรูปเคารพไม่ใช่เรื่องต้องห้าม แต่ถ้าศรัทธาจะทำก็ควรทำให้ถูกวิธี องค์ไหนที่เขาไม่ปิดทองกันมาแต่เดิมก็อย่าไปยุ่งเลยครับ ยิ่งถ้าเขาห้ามไว้ก็ไม่ควรดันทุรังจะฝืน ส่วนองค์ที่เขาปิดกันมาแต่เดิมเราก็พยายามต่อเติมให้ดูเรียบร้อย ไม่ใช่นึกจะปิดตรงไหนก็ปิด

ความมักง่ายไม่เคยนำมาซึ่งการสร้างสรรค์ มีแต่ทำลายเท่านั้นละครับ


..........................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


6 ความคิดเห็น:

  1. ยุคนี้เป็นยุคสมัยแห่งการเอาแต่ใจ ผู้คนไม่เข้าใจ พยายามให้ความรู้ ก็ไม่ยอมเข้าใจ หรือถึงรู้ก็ไม่ยอมรับ จะทำแต่ที่ใจตัวอยากทำ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เอาแต่ใจกันซะจนบูชาอะไรก็ทำเค้าพังหมดค่ะ แล้วก็มาโวยวายว่าทำไมไหว้แล้วไม่ได้อย่างใจ

      ลบ
  2. รู้สึกอยู่เหมือนกันค่ะแต่ไม่มีใครพูด บางวัดยังสนับสนุนอีก

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. วัดที่สนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นวัดที่พวกบ้าหวยเข้าไปใช้บริการเป็นประจำค่ะ

      ลบ
  3. ในเฟสบุ๊คมีแชร์กันว่อนไปหมดคะ เป็นภาพบอกเลยว่าปิดทองตรงไหนได้บุญยังไง

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เคยเห็นเหมือนกันค่ะ เป็นการชักชวนให้คนไปทำบาปกันมากกว่าทำบุญแท้ๆ

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น