บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์
ศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน โดยเฉพาะในฝ่ายทิเบต
อันพัฒนามาจากนิกายมหายานนั้น มีพระโพธิสัตว์ เทพเจ้าและเทพนารีเป็นอันมาก
ซึ่งมิได้ปรากฏในพุทธประวัติ
แต่กลับทรงมีบทบาทสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของหลักการทางศาสนา ที่เห็นได้ชัดก็คือ
พระโพธิสัตว์ตารา (Tara) และพระโพธิสัตว์เพศหญิงอีกหลายองค์
ทรงได้รับการสักการบูชาในระดับสูงมาก
ยิ่งในยุคปัจจุบัน
ที่ชาวยุโรปและอเมริกันจำนวนมากเกิดความตื่นตัวและให้ความสนใจในศาสนาพุทธวัชรยานทิเบต
ที่ได้รับการเผยแพร่และตั้งรกรากอย่างมั่นคงในโลกตะวันตกมาหลายสิบปีแล้ว
เหล่านี้ก็ยิ่งทรงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
และทรงได้รับการสักการะบูชามากกว่าพระโพธิสัตว์ที่สำคัญที่สุดในทางมหายานและวัชรยาน
อย่างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเสียด้วยซ้ำไป
การที่ได้รับความนิยมในการนับถือบูชาอย่างสูงในระดับสากล
โดยเฉพาะในสังคมของผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในด้านปัญญาญาณเช่นนี้
ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการโฆษณาชวนเชื่อ
แต่แสดงให้เห็นถึงคุณวิเศษหลายประการของอิตถึโพธิสัตว์ทั้งหลาย
อันเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้นับถือชาวตะวันตกที่ปฏิเสธทั้งโลกวิทยาศาสตร์
และกรอบแห่งความศรัทธาตามแบบศาสนาคริสต์ คนเหล่านี้ย่อมจะไม่รับเชื่อสิ่งใดด้วยเพียงอาศัยจินตนาการ
ความงมงาย และความเพ้อฝันเป็นแน่
ความจริง
คนไทยเราก็คุ้นเคยกับเทวปฏิมาของพระโพธิสัตว์เพศหญิงเหล่านี้อยู่ระดับหนึ่ง
เพราะอย่างน้อย
ประติมากรรมรูปเทวสตรีฉลองพระองค์แบบทิเบตขนาดห้อยคอและขนาดตั้งหน้ารถ ซึ่งคนไทยเราเอามาขายในนามของพระแม่อุมา
หรือพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมปางทิเบตนั้น แท้ที่จริงล้วนเป็นเทวรูปของ
พระศยามตาราโพธิสัตว์ ทั้งสิ้น
และ ณ เวลานี้
เทวปฏิมาของพระแม่เจ้าทั้งหลายเหล่านี้ยิ่งปรากฏให้เห็นมากขึ้นอย่างชัดเจน
ทั้งในตลาดท่าพระจันทร์ที่กล่าวแล้ว ไปจนถึงร้านที่จำหน่ายเทวรูปต่างๆ
ในศาสนาฮินดู ไม่ว่าจะดำเนินกิจการโดยชาวอินเดียหรือชาวไทยก็ตาม
โดยเฉพาะผู้ค้าเทวรูปแหล่งใหญ่ในท่าพระจันทร์รายหนึ่งถึงกับยืนยันว่า “พระทิเบต” ขณะนี้กำลังได้รับความนิยมมากทีเดียว
ผมจึงเห็นสมควรนำเรื่องราวของอิตถึโพธิสัตว์ที่สำคัญในศาสนาพุทธนิกายวัชรยานเหล่านี้
มากล่าวถึง “โดยสังเขป” ในบทความนี้
เพื่อให้ทุกท่านที่สนใจได้มีอะไรที่เป็นเหมือน shortnote สำหรับเรื่องราวของอิตถีโพธิสัตว์เหล่านี้โดยเฉพาะ
ส่วนถ้าใครอยากอ่านยาวๆ ก็มี website ภาษาไทยกล่าวถึงโดยละเอียดอยู่แล้วทุกองค์
หรือจะให้ผมเขียนเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คก็ได้นะครับ ถ้ามีเสียงเชียร์มากพอ
พระโพธิสัตว์ตารา (Tara)
ถือกำเนิดจากรัศมีสีเขียวอันเปล่งออกมาจากพระเนตรของพระธยานิพุทธอมิตาภะ
อีกคัมภีร์หนึ่งว่าพระนางตาราเกิดจากน้ำตาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
เมื่อมองเห็นว่าสัตว์โลกมีแต่ความทุกข์
น้ำพระเนตรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหยดหนึ่งร่วงลงไปในหุบเขาเกิดเป็นทะเลสาบ
ต่อมาก็มีดอกบัวทิพย์ดอกหนึ่งผุดขึ้นมาในทะเลสาบนั้น
เมื่อดอกบัวบานออกภายในก็ปรากฏรูปพระนางตารา ในขณะที่ตำนานบางฉบับกล่าวว่า
พระนางตาราเกิดจากรังสีธรรมของพระอมิตาภะพุทธะ
พระนางตาราทรงได้รับการบูชาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่
๘ - ๑๑ ในอินเดียเหนือ และแพร่หลายที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗
โดยพระภิกษุอสังคะเป็นผู้ริเริ่ม โดยถือว่าเป็นชายาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
เชื่อกันว่า
แนวคิดการบูชาพระนางตาราเริ่มขึ้นในอินเดียเพื่อต่อต้านพิธีกรรมสตีของอินเดียครับ
พระนางทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในด้านของกรุณา
ซึ่งยังคงเป็นคติความเชื่อของชาวมองโกเลียอยู่ในปัจจุบันนี้
ภาพลักษณ์ของพระนางส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระนางสิริมหามายาเทวี
มารดาของพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า
พระนางตาราทรงได้รับความนิยมนับถือมากในทิเบตจนกระทั่งปัจจุบันนี้ทุกวันนี้ครับ
เรียกกันว่า พระเทวีโดลมา (Dol-ma) ทรงมีทิพยฐานะเป็นเทวีแห่งความเมตตากรุณาและทรงเป็นราชินีสวรรค์
ว่ากันว่าศาสนาพุทธวัชรยานทิเบตนั้นนับถือพระนางเป็นเทพสูงสุดเลยทีเดียว
แต่เดิมพระนางตารามีเพียง ๒ รูป
คือวรรณะขาวและเขียว ต่อมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีถึง ๒๑ รูป หรือ ๒๑ ปางด้วยกัน
แต่ที่นิยมนับถือกันมากนั้นมีอยู่เพียง ๒ ปาง เท่านั้น คือ
พระสิตตาราโพธิสัตว์ หรือพระนางตาราวรรณะขาว
บางทีก็เรียกว่า พระจินดามณีจักรตารา เป็นเทวีประจำเวลากลางวัน
ทรงประทานความเข้าถึงพุทธธรรม ความเข้าถึงธารณีมนต์ทุกบท
ทรงให้จิตวิญญาณในการเข้าถึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง
ทรงประทานโอกาสในการทำความดีให้แก่ผู้บูชาได้หลุดพ้นจากวิบากกรรมทั้งปวง ทรงเป็นองค์แรกที่ผู้สนใจใคร่รู้และศรัทธาในพุทธนิกายมหายานวัชรยานควรบูชา
พระศยามตาราโพธิสัตว์
หรือพระนางตาราวรรณะเขียวแก่ เป็นเทวีประจำเวลากลางคืน
ประทับนั่งห้อยพระบาทบนดอกบัว มี ๒ กร พระหัตถ์หนึ่งทำปางวรัทมุทรา
อีกพระหัตถ์ถือดอกบัวตูมสีขาว เมื่อเป็นชายาของพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิจะประทับนั่งขัดสมาธิ
และบนพระหัตถ์ที่ถือดอกบัวนั้นจะมีรูปวิศววัชระ
พระศยามตาราโพธิสัตว์ยังมีอีกหลายรูปและมีนามเฉพาะในแต่ละรูปนั้นเช่นเดียวกับพระสิตตารา
และเป็นวรรณะที่ได้รับความนิยมนับถือมากในทิเบต
วรรณะอื่นๆ ของพระนางตาราที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งเช่นกัน
คือ กุรุกุลลา หรือวรรณะแดง และ เอกชฎา หรือวรรณะฟ้า ทั้งสองวรรณะนี้เป็นพระนางตาราในปางดุร้ายทั้งสิ้น
สรุปแล้วพระนางตาราทรงมีวรรณะครบตามตระกูลพระธยานิพุทธ
๕ ตระกูล จึงทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นศักติของพระธยานิพุทธทั้ง ๕ องค์ด้วย
มนต์สำหรับบูชาพระสิตตาราโพธิสุตว์ คือ โอม
ตาเร ตุตตาเร ตุเร มามะ อายุหะ ปุณญะ ชะญาณะ ปุษติม กุรุ สวาหะฯ
และมนต์สำหรับบูชาพระศยามตาราโพธิสัตว์ คือ
โอม ตาเร ตุตตาเร ตุเร สะวาหะฯ
อิตถึโพธิสัตว์
ที่ได้รับความนิยมบูชาเป็นอันดับสองรองจากพระนางตารา ก็คือ พระนางปรัชญาปารมิตา (Prajnaparamita)
ในเทววิทยามหายานอธิบายไว้ว่า
ทรงเป็นมหาเทวีที่เกิดจาก มหาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร
ที่มีบทบาทสำคัญตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖-๑๒ พระนางทรงมีฐานะเป็นมารดาของพระพุทธเจ้า
หรือเป็นภาคสำแดงของพระอักโษภยะพุทธะ เป็นสัญลักษณ์ของสุญตา
คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร
เป็นคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนานิกายมหายานครับ
ชาวพุทธในฝ่ายมหายานเชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์เก่าแก่มีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่า
มนุษย์ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีปรีชาญาณพอจะศึกษาคัมภีร์ฉบับนี้ได้
จึงทรงมอบให้พวกนาครักษาไว้ในเมืองบาดาล ครั้นเวลาล่วงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๔
นาคารชุนจึงได้ไปนำคัมภีร์นี้มาจากเมืองบาดาลมาให้ชาวพุทธได้ศึกษาเล่าเรียนกัน
มหาเทวีปรัชญาปารมิตาทรงได้รับความนิยมมากในอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่
๑๑ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทวีผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้
ผู้ที่ต้องการศึกษาวิชาความรู้โดยเฉพาะพระธรรมให้แตกฉานจะต้องบูชาพระนางปรัชญาปารมิตา
ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะถึง ๙ บทที่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับมหาเทวีองค์นี้
(สาธนะที่ ๑๕๑-๑๕๙) และมีอยู่ ๒ บทที่กล่าวว่าพระนางทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอักโษภยะ
แต่โดยทั่วไปแล้ว
มิได้ถือกันพระนางสังกัดตระกูลใดแน่นอน
เพราะในเทวรูปพระนางปรัชญาปารมิตาที่ทรงมีพระพุทธรูปอยู่บนศิราภรณ์นั้น
พระพุทธรูปองค์นั้นก็มีทั้งที่เป็นพระธยานิพุทธอักโษภยะ และพระธยานิพุทธอมิตาภะ
เทวรูปพระนางปรัชญาปารมิตามีเศียรเดียว
และส่วนมากจะมี ๒ กร ที่มี ๔ กรก็มีบ้าง และมี ๓ วรรณะ คือ สิตปรัชญาปารมิตา
หรือวรรณะขาว, ปิตปรัชญาปารมิตา หรือวรรณะเหลือง และ
กนกปรัชญาปารมิตา
มนต์สำหรับบูชาพระนางปรัชญาปารมิตา คือ โอม
คะเต คะเต ปะระคะเต ปะระสัมคะเต โพธิ สะวาหะฯ
พระโพธิสัตว์เพศหญิงในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน-วัชรยานนอกจากนี้
ยังมีอีกหลายองค์ที่ทรงได้รับความนิยมนับถือกันมาก
บางองค์กลายร่างมาจากธารณีมนต์และภูมิต่างๆ ตลอดจนบารมี (ปารมิตา) ต่างๆ อีกด้วย
ดังเช่น
ในคัมภีร์นิษปันนโยควลีได้พรรณนาถึงเทพนารีทั้ง ๑๒ ที่กลายร่างจากธารณีมนต์คือ
พระสมาตี พระรัตโนลกา พระอุษณีษวิชยา พระมารี พระพรรณศวรี พระชางคุลี พระอนันตมุขี
พระจุณฑา พระปรัชญาวรรธนี พระสรวกรรมาวรณวิโศธนี พระอักษญาณการัณฑา
และพระสรวพุทธธรรมโกศวดี เทพนารีทั้งหมดนี้อยู่ในตระกูลพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิ
ในบรรดาอิตถีโพธิสัตว์เหล่านี้
ที่ทรงมีบทบาทเป็นที่นับถือกันแพร่หลายอยู่ในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน-วัชรยาน
อาจลำดับได้ดังต่อไปนี้ครับ
๑) พระมาริจีโพธิสัตว์ (Marichi)
เป็นเทวีแห่งแสงอาทิตย์ยามเช้า ในทางเทววิทยาอธิบายว่ากลายรูปมาจาก
พระอุษาเทวี ในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะถึง ๑๖
บทที่บรรยายถึงเทพนารีองค์นี้ในรูปแบบต่างๆ กันถึง ๖ รูปแบบ มี ๑, ๓ และ ๖ พักตร์ และมีพระกร ๒, ๘ ,๑๐ และ ๑๒ กร ตามคติเดิมทรงปราศจากพระชงฆ์เช่นเดียวกับพระราหู
แต่นิยมวาดหรือปั้นหล่อให้มีพระชงฆ์ครบสมบูรณ์
อิตถีโพธิสัตว์องค์นี้
มักประทับบนราชรถที่ลากด้วยหมู ๗ ตัว บังคับโดยสารถีซึ่งไม่มีขาเช่นกัน
เหมือนกับสุริยเทพในศาสนาพราหมณ์ที่ทรงราชรถลากด้วยม้า ๗ ตัว
บังคับโดยพระอรุณซึ่งไม่มีพระชงฆ์ครับ
พระมาริจีอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธไวโรจนะ
ทรงได้รับการนับถือกันมากในทิเบตและจีน โดยพระลามะในทิเบตนิยมบูชาเทพนารีองค์นี้ในเวลาเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
พระนางทรงเป็นองค์เดียวกับ เต๋าบ้อ
หรือพระแม่ดวงดาวในศาสนาเต๋าของจีน ซึ่งได้รับการบูชาในฐานะองค์ประธานของกิ่วอ๊วง
หรือคณะเทพยดาทั้ง ๙ ในเทศกาลกินเจของชาวจีนโพ้นทะเล รวมทั้งในประเทศไทยด้วยครับ
๒) พระจุณฑา หรือ จุณฑีโพธิสัตว์ (Chunda)
เป็นหนึ่งในกลุ่มเทวี ๑๒ องค์ที่กลายร่างมาจากธารณีมนตร์
แต่บางคัมภีร์เช่นในคัมภีร์มัญชูวัชระมณฑล
หรือแม้แต่คัมภีร์นิษปันนโยควลีเองกลับกล่าวว่าทรงอยู่ตระกูลของพระธยานิพุทธไวโรจนะ
เทพนารีองค์นี้ทรงมีพระนามอื่นอีก เช่น จุนทรา จันทะ จันทรา หรือจุณฑวัชรี
ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะอยู่ ๓ บทบรรยายถึงพระนางว่าทรงมี ๔ กร หรือ ๑๖ กร
โดยรูปที่มี ๔ กรนั้นสองพระหัตถ์ทำปางสมาธิ อีกสองพระหัตถ์ถือสร้อยประคำและคัมภีร์
ส่วนรูปที่มี ๑๖ กรจะถือสร้อยประคำ ดอกบัว
หม้อน้ำอมฤต พระขรรค์ ขวาน คันศร ลูกศร
พระหัตถ์ที่เหลืออาจทำปางวรัทมุทราและวิตรรกะมุทรา
การบูชาพระจุณฑาทำได้โดยท่องมนต์บทจุณฑาธารณี
เชื่อกันว่าพระนางจะสถิตอยู่กับสานุศิษย์ผู้นั้นจนกว่าจะบรรลุสิทธิ
๓) พระชางคุลีโพธิสัตว์ (Janguli)
เป็นหนึ่งในกลุ่มเทวี ๑๒ องค์ที่กลายร่างมาจากธารณีมนตร์เช่นกัน
แต่ในทางเทววิทยาว่าเป็นเทพนารีองค์เดียวกับ พระมนัสเทวี หรือพระมนสาเทวีของศาสนาฮินดู
ในคัมภีร์สาธนะมาลากล่าวว่าพระนางปรากฏมาแล้วตั้งแต่พุทธกาล
โดยคัมภีร์มหายานฉบับอื่นๆ ก็กล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสบอกมนตร์ประจำเทวีองค์นี้แก่พระอานนท์
ชาวพุทธฝ่ายมหายานนับถือกันว่าทรงเป็นเทวีผู้ปกปักรักษามนุษย์จากอันตรายของนาคและงู
ทั้งอาจรักษาคนที่ถูกพิษงูได้ด้วย และในคัมภีร์สาธนะมาลาก็มีมนต์อยู่ ๔
บทที่เกี่ยวข้องกับเทพนารีองค์นี้ ซึ่งใช้ถอนพิษงูจากแผลที่ถูกงูกัด
พระชางคุลีทรงมีวรรณะขาว
มีเศียรเดียวสวมชฎามุกุฎประดับด้วยพังพานนาค ฉลองพระองค์ขาวประดับเพชรและนาคสีขาว
(งูเผือก) และยังมีนาคที่ทำเป็นต่างหู และเข็มขัดอีกด้วย พระนางประทับบนนาคหรืองู
หรือสัตว์ชนิดอื่นอีก ทรงมี ๔ กร สองพระหัตถ์เล่นพิณ อีกพระหัตถ์จับงูเผือก เทวรูปเช่นนี้ปรากฏทั้งในจีนและทิเบต
ส่วนในอินเดียนั้นจะเหมือนกับพระมนัสเทวีมาก คือไม่ถือพิณ
๔) พระมหามายุรีโพธิสัตว์ (Mayuri)
ทรงกลายร่างมาจากคาถาที่ใช้แก้พิษงู
เป็นเทพนารีองค์หนึ่งในคณะเทวีปัญจรักษา และอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิ
พระนางมี ๒ วรรณะที่เด่นๆ คือเขียวและเหลือง ถ้าวรรณะเขียวมี ๓ เศียร ๖ กร
และมีรูปพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิบนศิราภรณ์ แต่ถ้าเป็นวรรณะเหลืองมีเศียรเดียว ๒ กร
พระหัตถ์ขวาถือนกยูง พระหัตถ์ซ้ายทำปางวรทมุทรา
และไม่มีรูปพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิบนศิราภรณ์
พระมหามายุรีมักปรากฏพระองค์พร้อมกับพระสิตตาราและพระมาริจี
หรือบางครั้งก็ปรากฏพร้อมกับพระชางคุลีและพระเอกชฎา
พระนางทรงได้รับการนับถือทั้งในอินเดีย เนปาล จีน ทิเบต และญี่ปุ่น
พระนามภาษาญี่ปุ่นคือ คุชาเมียวโอ
๕) พระสรัสวดีโพธิสัตว์ (Saraswati)
เป็นมหาเทวีที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานได้รับมาจากศาสนาพราหมณ์
ทรงเป็นเทวีแห่งวิชาความรู้ ดนตรีและกาพย์กลอน
ชาวพุทธมหายานได้จัดให้เป็นศักติของพระโพธิสัตว์มัญชุศรีซึ่งเป็นเทพแห่งวิชาการเช่นกัน
คัมภีร์สาธนะมาลาบรรยายว่าผู้ที่ต้องการความฉลาดรอบรู้ต้องบูชาพระสรัสวดี
พระสรัสวดีทรงมี ๔ ปางที่สำคัญ คือ
มหาสรัสวดี พระหัตถ์ขวาทำปางวรัทมุทรา
พระหัตถ์ว้ายถือดอกบัวขวา มีเทพบริวารแวดล้อม ๔ องค์
วัชรวีณาสรัสวดี ทรงถือวีณาในพระหัตถ์ทั้งสอง
วัชรศารทา มี ๓ พระเนตร
ทรงสวมศิราภรณ์ประดับด้วยพระจันทร์ พระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์ พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว
ประทับนั่งบนดอกบัว
วัชรสรัสวดี
ทรงถือวัชระและดอกบัวซึ่งมีคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาปรากฏอยู่ด้วย
รูปตันตระของพระสรัสวดีในทิเบตจะทรงมีวรรณะแดง
มี ๓ เศียร ๖ กร ส่วนในญี่ปุ่นเป็นรูปสาวงามถือพิณบีวะ เรียกว่า เบ็นเท็น หรือ
ไดเบ็นไซเท็น และเป็นหนึ่งในคณะเทพแห่งโชคลาภ ๗ องค์ของศาสนาชินโต
๖) พระภฤกุฎีโพธิสัตว์ (Bhrikuti)
ตามคัมภีร์สาธนะมาลาว่าทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอมิตาภะ
และปรากฏพระองค์พร้อมกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ในรูปที่เรียกว่าขสรรปณะ)
พร้อมด้วยพระนางตารา พระสุธนกุมารและพระหัยครีพ
หรือปรากฏพระองค์เฉพาะกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ในรูปที่เรียกว่า รักตโลเกศวร)
และพระนางตารา
พระภฤกุฎีทรงมีวรรณะเหลือง มีเศียรเดียว ๔ กร
ทำปางวรัทมุทรา ถือสร้อยประคำ กลศ (หม้อน้ำ) และตรีศูล
บนศิราภรณ์มีรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะ
ถ้าปรากฏร่วมกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในรูปขสรรปนะ จะทรงมี ๔ กร ทำปางพุทธศรามณะ
(แสดงความเคารพ) ถือสร้อยประคำ ตรีศูลและหม้อน้ำ เทวรูปเช่นนี้นิยมกันมากในชวาโบราณ
๗) พระโพธิสัตว์วสุธารา (Vasudhara)
เป็นองค์เดียวกับ พระศรีวสุนธรา
หรือพระแม่ธรณีในศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท
แต่ทางมหายานมิได้ให้ความสำคัญกับทิพยภาวะของความเป็นพระแม่ธรณี
และบทบาทในพุทธประวัติตอนมารผจญ มักจะบรรยายว่าเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์มากกว่า
และในทางมหายานนั้นก็ทรงเป็นศักติของพระโพธิสัตว์ชัมภล
หรือพระกุเวรซึ่งได้รับมาจากศาสนาฮินดู
ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะอยู่ ๓
บทกล่าวถึงเทพนารีองค์นี้
บทหนึ่งกล่าวว่าพระนางทรงอยู่ในตระกูลพระธยานิพุทธอักโษภยะ แต่อีก ๒
บทกล่าวว่าทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธรัตนสัมภวะ พระวสุธาราทรงมีพระเศียรเดียว
๒ กร ทำปางวรทมุทราและทรงถือรวงข้าว บนศิราภรณ์มีรูปพระธยานิพุทธอักโษภยะ
แต่ในทางตันตระซึ่งพบเห็นได้ง่ายกว่านั้น จะมีถึง ๓ เศียรและ ๖ กร
มนต์สำหรับบูชาพระวสุธารา คือ โอม วะสุธาริณี
สะวาหะฯ หรือ โอม ศรี วะสุธารา รัตนะ นิธานะ กะเษตรี สะวาหะฯ
๘) พระหริตีโพธิสัตว์ (Hariti)
เดิมเป็นยักษิณีมีนามว่า อภิรดี มีลูกถึง ๕๐๐ ตน แต่ชอบกินเด็ก
ได้ขโมยเด็กในเมืองราชคฤห์ไปกินเป็นจำนวนมาก
พระพุทธเจ้าจึงทรงนำลูกคนเล็กที่นางรักที่สุดไปซ่อนไว้ นางเที่ยวหาจนทั่วก็ไม่พบ
จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความเศร้าโศกเสียใจ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่าลูกของนางมีตั้ง ๕๐๐ หายไปคนเดียวทำไมจึงเดือดร้อน ทั้งๆ
ที่นางไปกินลูกของมนุษย์ทั่วไปไม่มีความสงสารเลย นางจึงได้คิดและกลับใจ
สัญญาว่าจะเลิกกินเด็กโดยเด็ดขาด พระพุทธเจ้าจึงคืนลูกให้
และประชาชนชาวราชคฤห์ก็สัญญาว่าแต่ละครอบครัวจะคอยหาอาหารอื่นให้นางเป็นการตอบแทน
เทวรูปพระหริติมักจะนั่งห้อยขาข้างหนึ่งและอุ้มเด็กไว้บนตัก
ส่วนอีกพระหัตถ์หนึ่งถือผลทับทิม ถ้าเป็นรูปยืนจะอุ้มเด็กไว้แนบอก
และมีเด็กล้อมรอบ ๕ คน แทนลูกทั้ง ๕๐๐ ของพระนาง
บางครั้งปรากฏพร้อมพระสวามีคือยักษ์ปัญจิกาซึ่งถือหอกไว้ในมือขวาและถือถุงเงินในมือซ้าย
ในทิเบตเทวรูปพระนางหริติทรงกอดเด็กไว้และพระหัตถ์ทำปางวรทมุทรา
อีกพระกรโอบกระรอกไว้และพระหัตถ์ถือภาชนะใส่เพชรพลอย
มนต์บูชาพระหริติ คือ โอม หะริติ ปิณฑะเก
ประติจจะ สะวาหะฯ
ปัจจุบันอิตถีโพธิสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้
จะได้รับความนิยมสูงสุดในศาสนาพุทธวัชรยานสายทิเบตครับ
ส่วนในทางพุทธมหายานจีนที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสนใจ
เพราะมหายานจีนไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิง
จนเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้จึงมีการ promote
บางองค์ขึ้นมา เช่น พระมหามายุรีโพธิสัตว์
ซึ่งที่จริงก็มีคติการบูชาอย่างเงียบๆ แต่มั่นคงในหมู่ชาวจีนมานานแล้ว และ
พระมาริจีโพธิสัตว์ ซึ่งองค์หลังนี้ก็เป็นเพราะอิทธิพลความโด่งดังของของเทศกาลกินเจของชาวจีนโพ้นทะเลนั่นเอง
(ต้องเน้นว่า จีนโพ้นทะเล เพราะจีนแผ่นดินใหญ่เขาไม่มีเทศกาลกินเจแบบนี้)
ส่วนพระโพธิสัตว์ตารา
ซึ่งชาวทิเบตและชาวตะวันตกนิยมบูชาสูงสุด ทางจีนก็ยังเฉยๆ นะครับ
เพราะบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมแทนอยู่แล้ว กล่าวกันว่า
มหายานจีนมีพระโพธิสัตว์กวนอิม วัชรยานทิเบตก็มีพระโพธิสัตว์ตารา
ที่ทรงอานุภาพในด้านเมตตาบารมีเหมือนๆ กัน
จึงไม่จำเป็นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องรับของอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปเพิ่มอีก
คนขายพระในท่าพระจันทร์
ถึงได้เรียกเทวรูปพระนางตาราว่า กวนอิมทิเบต ไงครับ
.............................
.............................
หมายเหตุ :
เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย
และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด