วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พระสุนทรีวาณี

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*





ศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท เป็นศาสนาที่ไม่เน้นการกราบไหว้บูชาเทพเจ้า จึงมีเทพเจ้าที่ได้รับการนับถืออยู่เพียงไม่กี่องค์ ที่เป็นเทวสตรี ยิ่งมีน้อยลงไปอีก

แต่ก็ยังมีเทพนารีองค์หนึ่งนะครับ ที่เป็นพุทธเถรวาทแท้ๆ และเกิดขึ้นเมืองไทย มิได้มาจากอินเดีย ลังกา หรือมอญ

เทพนารีองค์นั้นก็คือ พระสุนทรีวาณี

พระสุนทรีวาณี ทรงเป็นเทพนารีที่เกิดขึ้นในวัดสุทัศนเทพวราราม โดยมีความสัมพันธ์กับพระคาถาบทหนึ่งใน คัมภีร์สัททาวิเสส ซึ่งถือกันว่าเป็นพระคาถาศักดิ์สิทธิ์

พระเถระเจ้าในอดีต ทั้งฝ่ายคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ มักสั่งสอนสานุศิษย์ให้บริกรรมคาถานี้ ก่อนที่จะเริ่มเรียนพระปริยัติ และก่อนเข้าที่ภาวนาทุกครั้งครับ 
         
เนื้อคาถาดังกล่าวมีว่า : 

มุนินทะ  วะทะนัมพุชะ      คัพภะสัมภะวะ  สุนทะรี  
ปานีนัง  สะระณัง  วาณี    มัยหัง  ปิณะยะตัง  มะนังฯ           

กล่าวกันว่า ผู้ใดได้เจริญภาวนาด้วยพระคาถานี้ให้มากมั่นแล้ว จะเกิดอานิสงส์ทางสติปัญญา ความทรงจำ และนำความคิดให้พ้นจากความขัดข้องหลงลืมได้
         
สมเด็จพระวันรัตน (แดง  สีลวฑฺฒโน) อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ ของวัดสุทัศนเทพวราราม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เป็นพระเถระเจ้าอีกรูปหนึ่งที่นับถือคาถานี้มาก ท่านได้เจริญภาวนาเป็นประจำ จนเกิดนิมิตเป็นรูปเทพนารีขึ้น

ท่านเรียกนางฟ้าที่ปรากฏว่า พระสุนทรีวาณี แล้วให้ หมื่นศิริธัชสังกาศ เขียนเป็นรูป เสร็จแล้วนำไปเข้ากรอบตั้งไว้บูชาเป็นการส่วนตัว
         

ภาพพระสุนทรีวาณี ซึ่งสมเด็จพระวันรัตนให้หมื่นศิริธัชสังการจำลองจากนิมิต
แล้วเข้ากรอบตั้งไว้บูชาภายในกุฏิของท่าน

จากรูปซึ่งหมื่นศิริธัชสังกาศได้เขียนขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ จะเห็นว่า เป็นรูปเทพธิดาที่วาดขึ้นตามแบบศิลปะไทย ทรงพัสตราภรณ์อันงดงามวิจิตร เป็นแบบอย่างอันเดียวกันกับเครื่องทรงเทพธิดาในจิตรกรรมฝาผนัง

กล่าวคือ ศิราภรณ์เป็นชฎา ประดับกรองศอ พาหุรัด ทองกร

ทรงวางพระหัตถ์ซ้ายไว้บนพระเพลา ในพระหัตถ์นั้นมีดวงแก้ววิเชียร หรือเพชรทอแสงเป็นประกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงอาการอย่างกวักเรียก ประทับนั่งขัดสมาธิบนดอกบัวซึ่งผุดขึ้นเหนือผืนน้ำ ภายในน้ำนั้นมีนาค และสัตว์น้ำปรากฏอยู่ 

เบื้องล่างของพระนาง มีบุรุษสตรีสองข้างประคองอัญชลี เบื้องบนมีเทพยดามาสักการบูชา 

ในกาลต่อมา  สมเด็จพระวันรัตนอาพาธหนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยม ได้ทอดพระเนตรรูปดังกล่าว สมเด็จฯ ทูลเพียงว่าเป็นรูปวาณี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็มิได้ทรงถามสิ่งใดต่อไป จนทรงลืมเรื่องนี้ไปในที่สุด

จนหลายปีต่อมา ภายหลังสมเด็จฯ มรณภาพแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ มาขอยืมรูปดังกล่าวไปถ่ายแบบตีพิมพ์ออกขาย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานิศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงซื้อมารูปหนึ่ง ส่งขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับมีลายพระหัตถ์แนบไปว่า--         

มีความพิศวงหลงใหลอยู่ แต่พิจารณาที่เปรียบไม่เห็นเค้าเงื่อนเลย” 

หมายความว่า แม้แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งทรงมีความรู้ความชำนาญในทางศิลปะมาก จนทรงได้รับการยกย่องเป็น นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม  ก็ยังไม่ทรงทราบว่ารูปดังกล่าวนั้นเป็นรูปอะไร มีที่มาอย่างไร
         
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทอดพระเนตรภาพพิมพ์ดังกล่าว ก็คงจะไม่ทรงนึกได้ว่า เคยทอดพระเนตรในกุฏิสมเด็จพระวันรัตนมาก่อนเช่นกัน จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่า

ไม่เคยเห็น แปลกดี กิริยาอาการช่างเป็นรูปข้างมหายานเสียจริงๆ”        

แต่ต่อมาไม่นานก็คงจะทรงระลึกได้ละครับ จึงโปรดฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ไปหารูปต้นแบบนั้นมาถวายให้ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง 
         
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระสมมตอมรพันธุ์ รับสนองพระราชกระแสรับสั่ง และยังได้ให้ หลวงศรีวรโวหาร แปลพระคาถาในคัมภีร์สัททาวิเสสดังยกมาแล้วนั้น  อีกทั้งยังค้นข้อมูลแวดล้อมต่างๆ ประกอบทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอีกด้วย ความว่า : 

ความในคัมภีร์นิสสัยสุโพธาลังการว่า พระสังฆรักขิตามหาสามิเถระ ผู้รจนาคัมภีร์สุโพธาลังการนั้น แสดงปฐมคาถาประนามพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ด้วยความอุปมาว่า วาณี เทวดาองค์หนึ่งมีนามนิยมว่า สรัสวดี คือพระสธรรมที่อุบัติบังเกิดภายในดอกประทุมชาติ คือพระโอษฐ์แห่งพระมุนิทราสัพพัญญพุทธเจ้า และเทวดาวิเศษคือพระสธรรมนี้เป็นที่พึ่งของสัตว์ พุทธศาสนิกชนทั้งปวง ด้วยอำนาจเดชานุภาพสธรรมเทวดานั้น จงทำมโนรถความปรารถนาในใจของข้าพเจ้าให้เต็มอิ่มไปด้วยอุดมประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นที่พึ่งที่ระลึกของสัตว์ทั้งหลายเพื่อระงับความกระวนกระวายในจิต และให้สำเร็จประโยชน์อย่างยิ่ง 

ตามประวัติกล่าวว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพอพระราชหฤทัยในรูปองค์พระสุนทรีวาณีนี้ยิ่งนัก และทรงมีพระราชวิจารณ์เกี่ยวแก่เรื่องนี้ ประทานสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในการเปรียบเทียบลัทธิมหายานกับหินยานว่า     

ฉันเข้าใจว่า  รูปที่สมเด็จพระวันรัตนเขียนมาจากคัมภีร์ใดคัมภีร์หนึ่งนั้น  จะเป็นมหายานแปลง  เช่น  สัมพุทเธ
         
ครั้นกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ จะจัดพิมพ์พระราชวิจารณ์ดังกล่าว เพื่อพระราชทานในงานบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม  พ.ศ.๒๔๗๑ จึงได้มีพระราชหัตถเลขาถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เพื่อทรงถามความเห็นประกอบการพิมพ์พระราชวิจารณ์นั้น 

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงทรงมีลายพระหัตถ์อธิบายเรื่องนี้ไว้โดยละเอียด  ดังจะขออัญเชิญมาบันทึกไว้ดังต่อไปนี้

บ้านปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๑  เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ  ได้รับหนังสือของท่าน ที่ ๘๑/๒๐๒๘ ส่งสำเนาพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งพระราชทานถึงฉัน ทรงพระราชวิจารณ์ในเรื่องลัทธิมหายานกับหินยาน โปรดเกล้าฯ ให้ถามความแก่ฉันเพื่อประกอบเรื่องจะโปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์พระราชทานในงานวันที่ ๒๓ ตุลาคม  ถ้ามีหนังสือกราบบังคมประการใด ก็ให้ส่งมาด้วยนั้น
         
ฉันได้เพียรค้นหนังสือเก่าที่เก็บไว้หมดแล้ว มีความเสียใจจริงๆ ค้นไม่พบหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เคยมีอันตรายถูกปลวกขึ้นกัดหนังสือเสียไปบ้างคราวหนึ่ง ทำให้สงสัยไปว่าเรื่องนี้จะถูกปลวกกัดเสียสูญไปในครั้งนั้น แต่อย่างไรก็ดี หนังสือของฉันอันติดต่อกับพระราชวิจารณ์นี้ไม่สำคัญเลย เป็นแต่กราบบังคมทูลถามเพื่อศึกษาเท่านั้น เค้าต้นเรื่องอันเป็นเหตุให้ทรงพระราชวิจารณ์จำได้อยู่บ้าง ดังจะบรรยายต่อไปนี้    

ในกาลครั้งหนึ่ง กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจทรงพระดำริทำพระบฏเล็กๆ ขาย ให้พระวาดวรรณวิจิตร (ทอง) เขียนตัวอย่างเป็นปางมารประจญ แล้วส่งออกไปตีพิมพ์ที่เมืองนอก ครั้นได้เข้ามาก็ส่งออกไปจำหน่ายตามร้านเป็นที่ต้องตาต้องใจคนเป็นอันมาก ขายดีเล่าลือจนทราบถึงพระกรรณ ตรัสถามถึงลักษณะพระบฏนั้น ฉันจึงซื้อมาถวายแผ่นหนึ่ง ก็พอพระราชหฤทัย
         
ต่อมา กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจเห็นว่าขายดีมีกำไรมาก จึงทรงจัดให้ช่างเขียนขึ้นอีกหลายแบบ ส่งออกไปให้ทำเข้ามาอีก แล้วคนอื่นก็สั่งทำเข้ามาขายด้วย ต่างคิดค้นหาแบบเก่าแบบใหม่ที่หวังว่าคนจะชอบส่งไปเป็นตัวอย่าง เป็นแย่งขายแย่งประโยชน์กันตามเคย พระบฏต่างๆ จึงมีทยอยๆ กันเข้ามามาก
         
ฝ่ายฉันเห็นว่า มีพระราชหฤทัยใฝ่อยู่ในพระบฏที่เขาเข้ามาขายนั้น เวลาเดินเที่ยวเล่นตามถนนเห็นแบบที่ทำเข้ามาใหม่ ก็ซื้อส่งขึ้นถวายต่อไปเนืองๆ
         
พระบฏแบบที่ซื้อถวายเป็นเหตุให้ทรงพระราชวิจารณ์เรื่องลัทธิมหายานกับหินยานนี้ เป็นรูปกอบัวขึ้นจากน้ำ หัตถ์ซ้ายพาดตักอย่างพระมารวิชัย ในอุ้งหัตถ์มีดวงแก้ว หัตถ์ขวาทำอาการกวักดุจพระคันธารราษฎร์  ดอกริมเป็นดอกบัวโรย เบื้องขวามีรูปบุรุษ เบื้องซ้ายมีรูปสตรีนั่งพับเพียบประนมมืออยู่บนนั้น เบื้องบนมีรูปเทวดาถือเครื่องสักการดั้นเมฆสองแถวซ้อนกัน เบื้องล่างมีรูปนาคกับสัตว์ต่างๆ ตีความไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร แต่มีท่วงทีคล้ายพระทางลัทธิมหายานอันเคยเห็นมาเนืองๆ ซึ่งทำเป็นดอกบัวขึ้นมาจากน้ำ มีพระพุทธรูปนั่งบนนั้น องค์เดียวบ้าง สามองค์บ้าง ห้าองค์บ้าง จึงพระราชทานไปสอบถามกรมพระสมมตอมรพันธุ์ แล้วพระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงฉันตามที่ปรากฏอยู่ในสำเนาต้นฉบับนั้น

ฉันไม่ทราบลัทธิทางมหายาน มีใจใคร่จะทราบจึงเขียนหนังสือกราบบังคมทูลถาม ท้าวถึงความคาดคะเนตามที่สังเกตเห็นมาบ้าง จึงทรงพระราชวิจารณ์พระราชทาน ตามที่ปรากฏในฉบับหลังๆ ต่อไปนั้น
         
ส่วนทางที่กรมพระสมมตอมรพันธุ์ไปสืบนั้น ได้ความว่าเป็นแบบที่สมเด็จพระวันรัต (แดง) คิดออกมาจากคาถาอันหนึ่ง ซึ่งมาในพวกหนังสือสัททาวิเศษให้เขียนเข้ากรอบไว้ ท่านเรียกว่ารูปสุนทรีวาณี กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้นำรูปแผ่นต้นนั้นมาถวายทอดพระเนตร มีอธิบายยืดยาวจำไม่ได้ แต่ได้ไปเรียนถามสมเด็จพระพุฒาจารย์มาใหม่แล้ว ดังจะเล่าต่อไป รูปนั้นเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นอันมาก จนถึงทรงพระราชดำริจะทำประกอบกับแผ่นศิลาจารึกประดิษฐานไว้ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ดูประหนึ่งจะทรงพระราชดำริให้เป็นที่ระลึกถึงสมเด็จพระวันรัตน์ด้วย
         
สมเด็จพระพุฒาจารย์อธิบายว่า รูปสุนทรีวาณีนั้นหมายเป็นพระธรรม ดอกบัวนั้นหมายเป็นพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า ตามที่ให้มาในคาถานี้เป็นหลัก

มุนินฺท  วทนมฺพุช                คพภฺสมฺภว  สุนทฺรี
ปาณีนํ  สรณํ  วาณี              มยฺหํ  ปิณยตํ  มนำฯ

วาณี นางฟ้า คือพระไตรปิฎก  มุนินฺท วทนมฺพุช คพภฺสมฺภว สุนทฺรี มีรูปอันงดงาม เกิดแต่ห้องแห่งดอกบัว  คือ พระโอษฐแห่งพระพุทธเจ้าเป็นจอมแห่งนักปราชญ์ทั้งหลาย ปาณีนํ สรณํ เป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ผู้มีปราณทั้งหลาย มยฺหํ ปิณยตํ มนำฯ จงยังใจแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายได้ยินดีฯ สมเด็จพระวันรัตกล่าวว่า อาจารย์ของท่าน ทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระสอนให้บริกรรมคาถานี้ ก่อนที่จะเริ่มเรียนพระปริยัติและเข้าที่ภาวนาทุกคราวไป ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายมีสมเด็จพระสังฆราชวัดราชสิทธารามเป็นต้น ล้วนนับถือคาถานี้อยู่ทั่วกัน  จนกระทั่งอาราธนาธรรมก็ใช้คาถานี้ ท่านจึงคิดเอามาผูกเป็นรูปปรุงเปรียบเข้าอีกหลายอย่าง หัตถ์ขวาแห่งสุนทรีวาณีซึ่งทำให้เป็นอาการกวักเรียกนั้น เพื่อจะให้ได้รับคำว่า เอหิ ปสฺสิโก ดวงแก้วในหัตถ์ซ้ายนั้นเปรียบเป็น อมต รูปบุรุษเบื้องขวานั้น เปรียบเป็นภิกษุสงฆสาวก รูปสตรีเบื้องซ้ายนั้นเป็นพระภิกษุณีสงฆสาวิกา เทวดาแถวล่างนั้นหมายถึงเทวโลก พรหมแถวบนหมายถึงพรหมโลก ต่างมาทำสักการบูชา น่านน้ำภายใต้นั้นเปรียบด้วยสังสารวัฏฏ์ นาคและสัตว์น้ำเปรียบเป็นพุทธบริษัท ท่านหาหมื่นศิริธัชสังกาศเจ้ากรม (แดง) มาเขียนแล้วเข้ากรอบตั้งเป็นลับแลไว้บูชา ภายหลังได้ทำเป็นรูปหล่อขึ้นด้วย เมื่อท่านอาพาธด้วยถูกสุนัขบ้ากัด พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยม ทอดพระเนตรเห็นตรัสถามว่าเป็นรูปอะไร ท่านทูลว่ารูปวาณี มิได้ตรัสซักไว้ประการใดต่อไป เห็นจะเป็นด้วยทรงเกรงว่าท่านอาพาธอยู่ เมื่อท่านถึงแก่มรณภาพแล้ว กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจให้มายืมเขียนไปถ่ายทำแบบตีพิมพ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตรเห็นแบบตีพิมพ์คงจะทรงระลึกได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระสมมตอมรพันธุ์ไปสอบถาม และนำรูปมาถวายทอดพระเนตร รูปเดิมนั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ สมเด็จพระพุฒาจารย์รักษาไว้

ข้อความทั้งนี้ จะสมควรนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาหรือไม่แล้วแต่ท่านจะเห็นสมควร  ได้ส่งสำเนาพระราชหัตถเลขาคืนมานี้แล้ว  ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

นริศ


พระสุนทรีวาณี ขนาดบูชา ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว ๓ ถอด
ทางวัดสุทัศน์ออกให้บูชาเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว
มีลีลาท่าทางที่แปลก แต่ยังคงทำเป็นนางฟ้าที่ทรงเครื่องไทยโบราณ


เรื่องราวของพระสุนทรีวาณี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เท่าที่มีหลักฐานชัดเจน และเป็นทางการ ก็มีเท่าที่ผมยกมานี้แหละครับ

ส่วนเรื่องราวที่มีการเผยแพร่กัน โดยอ้างอิงจากบันทึกของท่านเจ้าคุณ พระราชวิจิตรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม อันมีใจความสำคัญว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงนำคาถาสุนทรีวาณีไปใช้เหยียบเรือรบฝรั่ง และบริกรรมเสกหญ้าให้ม้ากินจนละพยศ ในการเสด็จพระราชดำเนินประเทศต่างๆ  ณ ทวีปยุโรป

และเมื่อเสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงยืมภาพพระสุนทรีวาณีจากสมเด็จพระวันรัตน ไปบูชาส่วนพระองค์เป็นเวลา ๕ ปี นั้น

ในส่วนของคาถาที่ว่ากันว่า องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงใช้เสกหญ้าปราบม้าพยศ โดยทั่วไปกล่าวกันว่าเป็น คาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย หรือ คาถามงกุฏพระพุทธเจ้า ที่ หลวงปู่เอี่ยม วัดโคนอน ถวายเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเข้านมัสการเป็นการส่วนพระองค์ ก่อนที่จะเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐

ส่วนรายละเอียดนอกเหนือไปจากนั้น ท่านเจ้าของบันทึกระบุว่า เอกสารดังกล่าวกร่อนสลายไปแล้ว จึงยากที่จะสืบสวนที่มาที่ไป หรือแหล่งอ้างอิงใดๆ

และหากจะกล่าวในทางเทววิทยา โดยอ้างอิงจากการแปลพระคาถาในคัมภีร์สัททาวิเสส ของหลวงศรีวรโวหารแล้ว พระสุนทรีวาณีองค์นี้ก็ทรงเป็นเทพองค์เดียวกับ พระสรัสวดี (Sarasvati) ของทางฮินดูนั่นเองละครับ


เทวรูปพระสรัสวดี ขนาดบูชา เนื้อเรซินระบายสี
ศิลปะอินเดีย แบบเดียวกับที่เป็นภาพวาดทั่วไป

ใครที่คุ้นเคยกับศาสนาฮินดู จะทราบดีว่า พระสรัสวดีทรงเป็นเทวีแห่งความรู้แจ้ง ภูมิธรรม และศิลปวิทยาการ รูปภาพของพระนางในศิลปะอินเดีย มักฉลองพระองค์ขาว มี ๔ กร ถือสร้อยประคำ (อักษมาลา) คัมภีร์ และมักปรากฏในท่วงท่าที่กำลังบรรเลง สรัสวดี วีณา (Sarasvati Vina : เครื่องสายจำพวกจะเข้ชนิดหนึ่ง) อยู่เสมอ

ถ้าไม่ถือสรัสวดี วีณา หรือเครื่องดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือ อังกุศะ (ขอสับช้าง) ประทับอยู่บนดอกบัวขาว แวดล้อมด้วยหงส์ขาวและนกยูง หรือประทับบนหงส์ขาว ซึ่งมีความหมายทางอภิปรัชญาด้วย

คติการนับถือพระสรัสวดีในอินเดียนั้นเก่าแก่มากครับ ในศาสนาพราหมณ์ พระนางทรงได้รับการนับถือว่าเป็นมารดาแห่งพระเวท เมื่อศาสนาพราหมณ์เปลี่ยนรูปเป็นศาสนาฮินดู พระนางก็ทรงได้รับการนับถือสืบต่อกันยาวนานมาจนทุกวันนี้

การที่ทรงเป็นที่สักการบูชามาตลอด แม้จะไม่นับเนื่องเข้าเป็นเทพสำคัญของทั้งไวษณพนิกาย และไศวะนิกาย ก็เพราะทรงเกี่ยวเนื่องด้วยสองสิ่ง ที่เป็นหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมภารตะชั้นสูง นั่นคือ

การศึกษา โดยถือกันว่าทรงเป็นผู้คิดค้นอักษรเทวนาครี และอุปถัมภ์การศึกษาทุกรูปแบบ รวมทั้งอาชีพในสายงานวิชาการ ครู นักประพันธ์ นักข่าว งานสื่อสารมวลชนทุกชนิด หรือนักวิจัยนักค้นคว้าต่างๆ

และ ศิลปกรรมทุกสาขา อันได้แก่งานช่างฝีมือประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะการแสดงได้แก่นาฏยศาสตร์ การละคร การภาพยนตร์ และการดนตรี

อีกทั้งยังรวมไปถึงการประกอบพิธีกรรมทั้งปวง การใช้มนตร์ขาว และการพยากรณ์ต่างๆ ก็ถือกันว่าเป็นวิชาที่ได้จากเทพนารีองค์นี้ด้วยนะครับ ผู้บำเพ็ญตนตามวิถีโยคะศาสตร์ในหลายๆ สำนัก ก็นับถือพระนางว่าเป็นบรมครูสูงสุดเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน พระนางก็ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เพศหญิงที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆ ของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง ในคติพุทธทั้งฝ่ายมหายานและวัชรยาน โดยยังคงอุปถัมภ์ในด้านความรู้ และศิลปวิทยาการเช่นเดียวกับในคติฮินดู คติดังกล่าวได้แพร่หลายไปยังทิเบต จีน และญี่ปุ่น
         

พระสรัสวดี ศิลปะวัชรยานทิเบต

ส่วนคติการนับถือพระสรัสวดีในแบบฮินดูนั้น ได้เผยแพร่ผ่านอินเดียภาคใต้ไปยังอาณาจักรขอมโบราณ อาณาจักรชวาโบราณ และในที่สุดก็เข้าสู่เมืองไทย 

คนไทยสมัยอยุธยา นับถือพระสรัสวดีเป็นบรมครูทางอักษรศาสตร์และนาฏดุริยางค์ แบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกคือ จินดามณี ก็ตั้งตามแบบอย่างของปราชญ์ชาวอินเดียใต้ หรือชาวทมิฬผู้นับถือพระสรัสวดี 

เพราะในจารีตของชาวทมิฬนั้น มักเรียกตำราอักษรศาสตร์ว่า จินดามณี หมายถึง เป็นดั่งแก้วมณีแห่งองค์พระสรัสวดี ซึ่งพระนามของพระนางในภาษาอินเดียใต้ คือคำว่า จินดา นั่นเอง 

รวมทั้งในบทไหว้ครูละครชาตรีสมัยอยุธยา  ก็มีบทไหว้พระสรัสวดีรวมอยู่ด้วยครับ
         
คติการนับถือพระสรัสวดีในเมืองไทย คงอยู่มาตลอดสมัยรัตนโกสินทร์ เทวรูปของพระนางเป็นหนึ่งในเทวรูปสำคัญ ที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระสยามเทวาธิราช ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา

แต่ในที่สุด การนับถือพระนางก็เสื่อมลงในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อมีการยกย่องพระคเณศ ขึ้นเป็นบรมครูฝ่ายศิลปวิทยาการแทน
         

เทวรูปพระสรัสวดี แบบไทย สมบัติของ กิตติ วัฒนะมหาตม์

ซึ่งเมื่อดูจากคำอธิบายจากคัมภีร์นิสสัยสุโพธาลังการ ของหลวงศรีวรโวหารแล้ว คุณสมบัติของพระสุนทรีวาณีตามคัมภีร์ดังกล่าว ก็สอดคล้องสัมพันธ์กับพระสรัสวดีอยู่หลายอย่างจริง เช่น :
         
๑) การเปรียบพระนางว่า เป็นพระสธรรมที่เกิดในพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า

พระสรัสวดีนั้นก็ทรงเป็นเทวีที่เกี่ยวข้องกับคำพูด และการอธิบายธรรมต่างๆ คนฮินดูถือว่า เมื่อมีการสนทนาธรรมที่ใด ก็มีพระสรัสวดีอยู่ในที่นั้นครับ
         
๒) คุณสมบัติของพระคาถา ซึ่งเป็นที่นับถือกันว่าเมื่อบริกรรมแล้วเกิดปัญญางาม มีความทรงจำเป็นเลิศ มีความรู้แจ้ง ปราศจากความขัดข้องและอวิชชาต่างๆ

ก็เหมือนกับคุณสมบัติของพระสรัสวดี ซึ่งทรงเป็นเทวีผู้บันดาลความเป็นเลิศทางสมองนั่นเอง

คนฮินดูเมื่อภาวนาบทสรรเสริญพระสรัสวดี ไม่ว่าบทใดก็เชื่อกันว่า จะได้ผลเช่นเดียวกับที่เราบริกรรมคาถาพระสุนทรีวาณี
         
๓) พุทธศาสนิกชนมอญ พม่า และไทยใหญ่ ซึ่งนับถือศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับไทยเรา ต่างก็นับถือพระสรัสวดีว่า เป็นเทพนารีผู้รักษาพระไตรปิฎกมาหลายร้อยปีแล้ว 


 Thuyathadi ขนาดบูชา เนื้อไม้แกะสลักปิดทอง ศิลปะพม่า

ดังมีการสร้างเทวรูปของพระนาง ในลักษณะประทับนั่งบนหลังหงส์แบบมอญ-พม่า พระหัตถ์ขวาอัญเชิญพานประดิษฐานพระไตรปิฎก ชาวพม่าเรียกว่า Thuyathadi เป็น นัต (Nat) ซึ่งมีเทวรูปประดิษฐานอยู่ในวัดสำคัญๆ หลายแห่งครับ
         
๔) พระสรัสวดีในอินเดีย มีอีกพระนามหนึ่งที่นิยมเรียกกันมาก โดยเฉพาะในหมู่ชาวอินเดียโพ้นทะเลที่ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศต่างๆ คือ วาณี (Vani)
         
และสิ่งที่สอดคล้องกันเหล่านี้  ก็เกิดขึ้นจากนิมิตของพระเถราจารย์ฝ่ายเถรวาทของไทย บนพื้นฐานของพระคัมภีร์เถรวาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู หรือศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน-วัชรยานแม้แต่น้อย

ทั้งยังน่าจะไม่ได้รับอิทธิพลใดๆ จากทางมอญ-พม่าด้วย

เพราะในยุคสมัยที่สมเด็จพระวันรัตน (แดง) ได้นิมิตพระสุนทรีวาณีนั้น คนไทยยังไม่รู้จักพระ Thuyathadi แม้จนยุคนี้ คนไทยและวงการสงฆ์ไทยโดยมากก็ยังไม่รู้จัก

นับเป็นความมหัศจรรย์ ที่ผู้ปฏิบัติจนสมาธิจิตถึงพร้อม สามารถหยั่งรู้ได้ด้วยตนเองโดยแท้จริงครับ
 
นอกเหนือจากภาพที่หมื่นสิริธัชสังกาศเขียนไว้ อันเป็นแบบดั้งเดิมที่สุด ดังกล่าวแล้ว ยังมีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับเทพนารีองค์นี้ปรากฏแพร่หลายต่อมาอีกภาพหนึ่ง
         
ภาพที่เกิดขึ้นภายหลังนี้ มีรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปมากครับ



ภาพพระสุนทรีวาณี ฉลองพระองค์แบบนางละครไทย

กล่าวคือ แม้ว่าการประกอบภาพจะยังวางอยู่บนแนวคิดเดิม แต่โดยส่วนใหญ่ก็ดูอลังการขึ้น รูปพระสุนทรีวาณีและบุคคลอื่นๆ ในภาพ ก็มีความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น
         
เทวพัสตราภรณ์ขององค์พระสุนทรีวาณี และพระภิกษุณีเบื้องซ้ายของพระนางในภาพนี้ก็พลอยเปลี่ยนไปด้วย จากแบบไทยโบราณกลายเป็นแบบห่มคลุม อย่างชุดนางละครที่นิยมกันในสมัยรัตนโกสินทร์ 

พระหัตถ์ขวาของพระสุนทรีวาณี ซึ่งเดิมแสดงอาการกวักเรียก ก็เปลี่ยนเป็นจีบนิ้วแบบวิตรรกะ มุทรา (Vitarka Mudra)  ดวงแก้ววิเชียรในพระหัตถ์ซ้าย เปลี่ยนเป็นลูกแก้วทรงกลมที่มิได้เปล่งรัศมี และการประทับนั่ง ก็เปลี่ยนจากขัดสมาธิราบเป็นขัดสมาธิเพชร
         
ทั้งหมดที่บรรยายมานี้ ได้นำไปใช้เป็นแบบอย่างในการสร้างวัตถุมงคลพระสุนทรีวาณีในสายของเจ้าคุณพระราชวิจิตรปฏิภาณ ไม่ว่าจะเป็นพระบูชา พระกริ่ง พระลอยองค์เล็ก เหรียญ และผ้ายันต์ ซึ่งยังคงมีให้เช่าบูชาในศาลาโพธิ์  ริมกำแพงวัดสุทัศนเทพวราราม ในวันเวลาที่โพสต์บทความนี้

ในทางเทวศาสตร์ การเปลี่ยนแบบพัสตราภรณ์ของพระสุนทรีวาณี จากแบบไทยโบราณ หรือแบบเทพธิดา มาเป็นแบบนางละคร ย่อมกล่าวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ว่า

๑) เป็นการกระทำให้ผิดเพี้ยนจากต้นแบบ ซึ่งเกิดขึ้นในนิมิตของท่านผู้เป็น ครูต้น ของสายวิชาพระสุนทรีวาณีในเมืองไทย คือ สมเด็จพระวันรัตน (แดง  สีลวฑฺฒโน) อาจมีผลในการทำให้สายวิชาดังกล่าว ที่สืบสานต่อเนื่องกันมาภายในวัดสุทัศนเทพวรารามจนปัจจุบัน ผิดเพี้ยนตามไปด้วย

๒) พัสตราภรณ์เดิมเป็นแบบเทพธิดา ตามหลักประติมานวิทยาไทยโบราณ แบบใหม่เป็นแบบของนางละครนาฏศิลป์ไทย

ซึ่งแม้จะเป็นเครื่องละครในชั้นของเทพธิดาเช่นกัน แต่ก็เป็นเครื่องแต่งกายของมนุษย์ ซึ่งแสดงเป็นเทพธิดา ไม่ใช่เครื่องแต่งกายของเทพธิดา

จึงอาจกลายเป็นการลดทอนทิพยฐานะ ของพระสุนทรีวาณี ตามนิมิตเดิมที่เป็นนางฟ้า ให้เสมอด้วยนางมนุษย์

๓) เหตุที่เปลี่ยนพัสตราภรณ์เดิม มีผู้อธิบายว่า เพราะมีญาติโยมติติงว่า ชุดเดิมนั้นโป๊เกินไป ไม่เหมาะสม จึงเปลี่ยนแปลงให้เรียบร้อย และงามวิจิตรมากยิ่งขึ้น

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงว่า ผู้เปลี่ยนนั้นให้ความสำคัญกับนิมิตของสมเด็จพระวันรัตน น้อยกว่ามติของญาติโยม ซึ่งไม่เคยภาวนาคาถาจนเกิดนิมิตใดๆ ไม่มีความรู้ทางเทวศาสตร์ ไม่เข้าใจรูปแบบประติมานวิทยาโบราณ และยังเป็นญาติโยมซึ่งอุดมด้วยอกุศลจิต หมกมุ่นในกามารมณ์ จนเห็นรูปเทพธิดาแบบไทยโบราณที่เปลือยอกว่าโป๊ ยั่วยุทางเพศ
         
ต่อมา ยังมีภาพพระสุนทรีวาณีอีกภาพหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสำนักเดียวกันนี้ พระสุนทรีวาณีในภาพดังกล่าว ยังคงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นจีบนิ้วแบบวิตรรกะมุทรา แต่เทวพัสตราภรณ์นั้นเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น


ภาพใหม่ล่าสุดของพระสุนทรีวาณี
ซึ่งยังไม่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางนัก

เพราะดูแล้วไม่สามารถเข้าใจได้ว่า เอาแบบอย่างมาจากไหน ด้วยว่าไม่มีในสารบบเครื่องพัสตราภรณ์ไทยอย่างแน่นอน จนทำให้คิดได้ว่า เป็นการสร้างสรรค์ของชาวต่างชาติ ซึ่งไม่รู้จักเครื่องแต่งกายของไทย ไม่มีแบบแผน และไม่งาม เช่นเดียวกับพระพักตร์และพระวรกาย อันหาความงามน่าชมมิได้

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ก็คงเป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้พระสุนทรีวาณีตามแบบอย่างดั้งเดิมของสมเด็จพระวันรัตนนั้น เสื่อมความนิยมลง แม้จะมีการสร้างเป็นพระบูชา และวัตถุมงคลในวัดสุทัศนเทพวรารามต่อมาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นสายอื่น

เช่น สายของเจ้าคุณ พระศรีสัจจญาณเถระ (ประหยัด ปัญญาธโร) ซึ่งเมื่อเจ้าสำนักมรณภาพไปแล้ว ก็มิได้มีการจัดสร้างอีกเลย


พระสุนทรีวาณี ขนาดบูชา หน้าตัก ๕ นิ้ว
เนื้อทองเหลืองปิดทอง ออกให้บูชาที่ คณะ ๒ วัดสุทัศน์ เมื่อนานมาแล้ว

คงมีแต่สำนักอื่น นอกวัดสุทัศนเทพวราราม เช่น ในสายของเจ้าคุณ พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ เจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตรวิทยาราม เท่านั้น ที่สร้างไว้เป็นรุ่นล่าสุดเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๖

ส่วนเทวรูปพระสุนทรีวาณีที่เป็นขนาดใหญ่ สำหรับให้สาธารณชนกราบไหว้บูชานั้น ในอดีตที่ผ่านมามิได้มีการจัดสร้าง จนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงราวๆ พ.ศ.๒๔๙๐ ที่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดราชบูรณะ  หรือ วัดเลียบ ที่เชิงสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า อันเนื่องจากความเสียหายอย่างย่อยยับในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

ในการตกแต่งพระอุโบสถ และอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ คณะช่างของ อ.สง่า  มยุระ ประติมากรเลื่องชื่อในขณะนั้น รับหน้าที่ออกแบบประกอบลวดลายปูนปั้นบนหน้าบันพระอุโบสถ เป็นรูปเทพเจ้าที่สำคัญทั้ง ๔ ด้าน  ได้รับการยกย่องว่า เป็นประติมากรรมแบบไทยสมัยปัจจุบันที่งดงามอลังการที่สุดแห่งหนึ่ง 

รวมทั้ง คณะช่างดังกล่าวยังรับงานออกแบบตกแต่งหน้าบันแต่ละด้านของ ศาลาสมเด็จ  ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถนั้นด้วย
 
และที่หน้าบันของศาลาสมเด็จนี้แหละครับ ก็มีการปั้นเทวรูปพระสุนทรีวาณี ตามแบบอย่างของวัดสุทัศนเทพวรารามขึ้นเป็นครั้งแรก ประดิษฐานไว้บนหน้าบันประจำมุขด้านปีกซ้ายของอาคาร

พระสุนทรีวาณี ซึ่งคณะของ อ.สง่า ทำไว้นี้ มีเทวลักษณะที่งดงามมาก แต่ก็สร้างขึ้นตามแนวคิดใหม่ของภาพเขียนรุ่นหลังเสียแล้ว

คือ เทวพัสตราภรณ์เป็นแบบนางละคร มิใช่เป็นแบบโบราณ หรือแบบเทพธิดาครับ
 
นอกจากนี้ พระหัตถ์ที่ยกขึ้นเสมอพระอุระ ก็ทำตามภาพเขียนดังกล่าวนั้นด้วย คือจีบนิ้วแบบวิตรรกะมุทรา  ส่วนดวงแก้ววิเชียรบนพระหัตถ์ซ้ายนั้น มองไม่เห็นชัดว่าทำอย่างไร องค์เทวรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร

พระสุนทรีวาณีองค์นี้ ทำด้วยปูนปั้นปิดทองตลอดองค์ และยังมีการประดับกระจกสีตามลวดลายของพัสตราภรณ์และผ้าทรงทั้งหมดอย่างงดงาม องค์เทวรูปประทับอยู่บนแท่น หรือหิ้งที่ยื่นออกมาจากหน้าบัน รอบองค์เทวรูปเป็นซุ้มเรือนแก้ว ทำด้วยปูนปั้นปิดทอง หน้าบันที่เหลือผูกลายกระหนกปูนปั้นปิดทอง บนพื้นกรุกระจกสีโดยตลอด

น่าเสียดายที่ไม่มีผู้จดจำได้ว่า พระสุนทรีวาณีองค์นี้สร้างไว้เมื่อ พ.ศ.ใดกันแน่ เพราะพระภิกษุที่อยู่ในวัดแห่งนี้ในปัจจุบัน แม้รูปที่พรรษามากที่สุดก็เพิ่งเข้ามาอยู่เมื่อราวๆ ๕๐ ปีมานี้เอง


พระสุนทรีวาณี ขนาดบูชา เนื้อโลหะระบายสีปิดทองเครื่องทรง
สำนักเจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตร พ.ศ.๒๕๕๖

หลังจากพระสุนทรีวาณีที่คณะช่างของ อ.สง่า มยุระ ทำไว้องค์นี้แล้ว ที่ วัดนาประดู่  อ.นาทวี  จ.สงขลา ก็ปรากฏว่า ได้มีการปั้นรูปพระสุนทรีวาณีประดับหน้าบันพระอุโบสถของทางวัดนั้นด้วยองค์หนึ่งเช่นกัน  ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากครับ
         
เพราะพระสุนทรีวาณีบังเกิดในวัดสุทัศนเทพวราราม  พูดอย่างประสาชาวบ้านก็คือ เหมือนกับเป็น พระของกรุงเทพฯแต่กลับไปปรากฏที่วัดในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่ไม่มีคติการนับถือพระนางมาแต่เดิมอย่างจังหวัดสงขลา
         
เทวรูปพระสุนทรีวาณีของวัดนาประดู่ ทำด้วยปูนปั้นระบายสี ฝีมือช่างพื้นบ้าน เป็นแบบอย่างที่เก่ากว่าของวัดราชบูรณะ นั่นคือหันกลับไปทรงเครื่องแบบโบราณ ตามอย่างภาพต้นฉบับของสมเด็จพระวันรัตน ฝีมือที่ทำงามพอสมควร

และเนื่องจากเป็นแบบที่เก่ากว่าของวัดราชบูรณะ จึงนับเป็นเทวรูปที่น่าชมมากที่สุดองค์หนึ่งครับ การไปชมก็ไม่ลำบากอะไร เพราะวัดตั้งอยู่ห่างจาก อ.นาทวีไปราวๆ ๑๐ ก.ม.เท่านั้น

และพระสุนทรีวาณีองค์นี้ ก็ยิ่งเป็นที่รู้จักกันน้อยกว่าที่วัดราชบูรณะเสียอีก เพราะแม้คณะสงฆ์ของทางวัดสุทัศนเทพวราราม ก็เพิ่งได้ไปพบเห็นมาเป็นครั้งแรกเมื่อไม่กี่ปีมานี้

สืบความได้ว่า หลวงพ่อทอง พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของทางวัด ซึ่งมรณภาพไปแล้วเป็นผู้สร้างไว้ ด้วยเหตุที่ว่าเมื่อยังมีชีวิต ท่านได้จำเริญภาวนาพระคาถาสุนทรีวาณีอยู่เป็นประจำนั่นเองครับ
         
พระสุนทรีวาณีบนหน้าบันวัดนาประดู่องค์นี้ จึงควรนับได้ว่าเป็นเทวรูปพระสุนทรีวาณีองค์แรก และองค์เดียว ที่ปรากฏโดยความริเริ่มของคนท้องถิ่นเอง ในจังหวัดไกลสุดทางภาคใต้ของไทยจนทุกวันนี้
         
แต่สำหรับที่เป็นของวัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นต้นตำรับนั้น เราก็ต้องรอต่อมาจน พ.ศ.๒๕๔๓ จึงได้มีโครงการการสร้างเทวรูปของพระแม่เจ้าองค์นี้ขึ้นชุดแรก เป็นจำนวนถึง ๑๐ องค์ นับเป็นการสร้างพระสุนทรีวาณีครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกในประเทศไทย โดยดำริของท่านเจ้าคุณพระราชวิจิตรปฏิภาณ สำหรับนำไปประดิษฐานตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ต่างจังหวัด
         

พระสุนทรีวาณี ขนาดหน้าตัก ๒๙ นิ้ว
ที่ทางวัดสุทัศน์สร้างสำหรับแจกจ่ายไปประดิษฐานตามวัดต่างๆ

พระสุนทรีวาณีชุดใหม่นี้  มีขนาดหน้าตัก ๒๙ นิ้ว สร้างขึ้นตามรูปแบบเดียวกันกับที่วัดราชบูรณะทุกอย่าง  ทั้งเค้าโครงพระพักตร์ สัดส่วนของเทวรูป และการแสดงออก แต่ทำด้วยฝีมือช่างที่สูงกว่า

และผลงานที่ปรากฏออกมาก็ดีกว่ามาก เพราะเป็นเทวรูปพระสุนทรีวาณีที่ออกแบบสร้างได้อย่างละเอียดประณีตที่สุดเท่าที่เรามีกันอยู่ในปัจจุบันนี้ครับ 

โดยรายละเอียดของเทวรูป ไม่ว่าจะเป็นพระพักตร์ สัดส่วนขององค์เทวรูป ตลอดจนท่วงท่าการแสดงออกนั้นงามชดช้อย และดูมีชีวิตจิตใจ มีมุมมองที่ถูกต้องตามหลักทัศนียวิทยาทุกประการ 

ส่วนเทวพัสตราภรณ์ ก็มีลวดลายอันประณีต วิจิตรตระการตาทั้งสิ้น
           
ในการสร้างเทวรูปชุดนี้ ได้ปั้นหล่อกันด้วยโลหะเฉพาะองค์เทวรูปเท่านั้น ฐานทำขึ้นต่างหากด้วยไม้แกะสลักปิดทอง ลวดลายอันสลับซับซ้อนบนศิราภรณ์และพัสตราภรณ์ มีการตกแต่งด้วยอัญมณีและคริสตัล  เพิ่มความอลังการยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนแก้ววิเชียรในพระหัตถ์ซ้าย ทำด้วยคริสตัลเจียระไนอย่างงดงาม
         
การสร้างเทวรูปชุดนี้ ในระยะแรกดำเนินการได้ไม่รวดเร็วนักหรอกครับ เพราะเป็นเวลาที่สภาพเศรษฐกิจยังไม่อำนวย แต่ต่อมาไม่นานก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ศรัทธามากมาย จนสามารถปั้นหล่อได้ครบ ๑๐ องค์ใน พ.ศ.๒๕๔๖ และนำไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ ดังนี้

วัดสุทัศนเทพวราราม  แขวงราชบพิตร  เขตพระนคร  กรุงเทพฯ  ประดิษฐานจำนวน ๒ องค์

วัดไชยภูมิ  ต.ชายนา  อ.เสนา  จ.พระนครศรีอยุธยา  ประดิษฐานจำนวน ๓ องค์

วัดไร่ขิง  อ.สามพราน  จ.นครปฐม  ประดิษฐานจำนวน ๑ องค์

วัดในบุตกาญจนคีรี  ต.ลานสะกา  อ.ลานสะกา  จ.นครศรีธรรมราช  ประดิษฐานจำนวน ๑ องค์

วัดพรหมสุวรรณ  ต.ตาพระยา  อ.ตาพระยา  จ.สระแก้ว  ประดิษฐานจำนวน ๑ องค์

วัดปทุมคณาวาส  อ.เมือง  จ.สมุทรสงคราม  ประดิษฐานจำนวน ๑ องค์

มูลนิธิพุทธางกูร  ต.ศาลายา  อ.พุทธมณฑล  จ.นครปฐม  ประดิษฐานจำนวน ๑ องค์

ปัจจุบัน ทางวัดสุทัศน์ยังคงสร้างพระสุนทรีวาณีตามรูปแบบเดียวกันนี้ โดยไม่กำหนดว่าจะสร้างเป็นจำนวนเท่าใด แต่ก็มีวัดต่างๆ แสดงความจำนงขอพระเทวรูปไปประดิษฐานแล้ว แม้แต่ที่วัดนาประดู่  จ.สงขลา ที่ผมกล่าวถึงแล้วก็รวมอยู่ด้วยครับ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เทวรูปทุกองค์ที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานในต่างจังหวัดนี้ จะเป็นสื่อช่วยเผยแพร่เรื่องราวของเทพนารีผู้ทรงเป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ของวัดสุทัศน์ฯ ให้เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางออกไปมากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีการสร้างเทวรูปพระสุนทรีวาณีในขนาดใกล้เคียงกันนี้ แต่สืบทอดรูปแบบดั้งเดิมในนิมิตของสมเด็จพระวันรัตน คือ ทรงเครื่องอย่างเทพธิดาไทย ปรากฏให้เห็นที่อื่นด้วย เช่น ที่ วัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม ธนบุรี และภายในกุฏิเจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตรวิทยาราม


พระสุนทรีวาณี วัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม

ทั้งสององค์นี้ เป็นเทวรูประบายสีปิดทองตามเครื่องทรง สร้างได้งามพอๆ กับของวัดสุทัศน์ แต่น่าเสียดายที่มีความผิดเพี้ยนในสิ่งเดียวกัน

คือ สร้างโดยจงใจให้ดูไม่ออกว่าเป็นเทพบุตร หรือเทพธิดา เพราะมิได้ทำพระถันให้เห็นเด่นชัด จะว่ากลัวโป๊อีก หรือจะแฝงปรัชญาอะไรก็เหลือจะเดา เพราะนิมิตของสมเด็จพระวันรัตนก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นรูปนางฟ้า
         
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่า ทั้งเทวรูปที่วัดสุทัศน์สร้างแจกจ่ายไปยังที่ต่างๆ และเทวรูปเหล่านี้ อาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งก็ได้นะครับ ที่ช่วยเปลี่ยนค่านิยมของสังคมพื้นบ้าน ที่ปกติกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยเห็นแก่ประโยชน์เรื่องปากเรื่องท้อง โดยเฉพาะอบายมุขต่างๆ 

ให้รับรู้กันว่า ยังมีเทพเจ้าที่อำนวยในสิ่งที่สูงส่ง คือ สติปัญญา อยู่อีกองค์หนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีไว้ให้สักการะเพื่อขอความร่ำรวย แต่เพื่อสิ่งที่สูงส่งกว่านั้น คือปัญญาสำหรับพิจารณาธรรมได้อย่างแจ่มชัด

เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้ประพฤติธรรมสมควรกราบไหว้ นอกจากพระรัตนตรัยที่นับถือกันอยู่แล้ว 
         
นั่นหมายถึงว่า การกราบไหว้บูชาพระสุนทรีวาณี อาจทำให้คนจำนวนหนึ่งมีทัศนคติที่ประกอบไปด้วยปัญญามากขึ้น ในการกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์


พระสุนทรีวาณี ภายในศาลาการเปรียญ วัดสุทัศนเทพวราราม
ภาพจาก Facebook : John Lawman

เพราะถึงไหว้แล้วจะไม่เกิดประโยชน์ในเรื่องของความมั่งมีศรีสุขโดยตรง มีแต่ประโยชน์ในทางปรีชาญาณเสียส่วนใหญ่ แต่ปรีชาญาณสามารถนำมาซึ่งความมั่งมีศรีสุขได้เหมือนกัน
         
เพราะความเจริญหรือความเสื่อมของคนเรา ขึ้นอยู่กับสติปัญญาเป็นสำคัญที่สุดครับ

การมีปัญญา ทำให้หาทรัพย์ได้มาก และใครที่มีทรัพย์มาก แต่ถ้าไม่มีปัญญา ก็รักษาทรัพย์ไว้ไม่ได้เหมือนกัน 

และเราอาจเฝ้าสังเกตความงอกงามทางปัญญาในสังคมไทย ได้อย่างน้อยส่วนหนึ่ง ก็จากปริมาณที่เพิ่มขึ้นของผู้บูชาพระสุนทรีวาณีนี่ละครับ


..............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

..............................

หมายเหตุ ๒ : อ.กิตติ ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “พระสุนทรีวาณี” แจกจ่ายเป็นธรรมทานเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๗ ซึ่งหมดไปนานแล้ว

 

เมื่ออ.กิตติจากไปในปีพ.ศ.๒๕๖๔ อ.ชุง(ภรรยา) มีความคิดที่จะเผยแพร่หนังสือเล่มนี้เป็นวิทยาทานและเป็นธรรมทาน (โดยไม่คิดมูลค่า) เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แด่อ.กิตติ แต่ด้วยเห็นว่าปัจจุบัน ผู้คนนิยมอ่านหนังสือในรูปแบบไฟล์ดิจิตอลมากกว่า จึงได้จัดทำหนังสือเล่มดังกล่าวออกมาในรูปแบบไฟล์พีดีเอฟ พร้อมกับการอัพเดทข้อมูลใหม่

 

สำหรับผู้ที่สนใจต้องการไฟล์ดังกล่าว สามารถติดต่อขอรับไฟล์ได้ที่

email : gaemnual2018@gmail.com

Line ID: mystica4u