บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์
*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*
*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*
ช้างเอราวัณ
เป็นสัตว์มงคลที่ได้รับความนับถือมานานแล้ว
ชื่อของพญาช้างมงคลนี้ เขียนต่างๆ
กันในหลายเอกสาร เช่น ไอยราวัณ ไอราวัณ ไอยราพต ไอยราวัต
ในหนังสือที่เล่าเรื่องวรรณคดี
มักเรียกพญาช้างมงคลนี้ว่า เอราวัณเทพบุตร
เพราะมันสามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปงามได้ ก็เหมือนครุฑกับนาคนั่นแหละครับ
เพียงแต่การแปลงร่างเป็นคนนั้น
มีเรื่องราวเกี่ยวข้องน้อย และไม่มีผลในทางไสยศาสตร์
ช่างไทยโบราณ จึงไม่ทำรูปช้างเอราวัณเป็นครึ่งช้างครึ่งคน
จนทำให้มีคนพยายามยืนยันว่าเป็นเทพ อย่างครุฑกับนาค
ซึ่งก็เหมือนกรณีของ พระโคนนทิ (Nandi)
บริวารของพระศิวะในคติฮินดูนั่นแหละครับ แปลงเป็นคนได้เหมือนกัน
แต่ช่างฮินดูไม่ทำเป็นรูปครึ่งวัวครึ่งคน เพราะไม่มีเรื่องราวที่สำคัญ และไม่มีผลในทางศาสตร์ลี้ลับใดๆ
รูปลักษณ์ของช้างเอราวัณที่คนไทยคุ้นเคย
จึงเป็นช้างเผือกที่มีขนาดใหญ่กว่าช้างทั่วไป มี ๓ หัว
ซึ่งทำกันมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มในอินเดีย
ภาพจาก http://www,polyboon.com |
แต่ใน ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งมักใช้วิธีพรรณนา “ทิพยภาวะ” ต่างๆ ด้วยการใส่ตัวเลขปริมาณมากมายมหาศาลเท่าที่จะทำได้นั้น บรรยายว่า ช้างเอราวัณมีถึง ๓๓ หัว แต่ละหัวมีงา ๗ กิ่ง รวมแล้วก็ได้ ๒๓๑ กิ่ง มีสระ ๑,๖๑๗ สระ กอบัว ๑๑,๓๑๙ กอ ดอกบัว ๗๙,๒๓๓ ดอก กลีบดอกบัว ๕๔๔,๖๓๑ กลีบ เทพธิดา ๓,๘๘๒,๔๑๗ องค์ นางฟ้าบริวาร ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง
ขณะที่ช้างทั้งตัวสูง ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา เทียบแล้วก็ประมาณได้ ๒๔,๐๐๐ กิโลเมตร เฉพาะหัวใหญ่ที่ชื่อว่า สุทัศน์ นั้น กว้าง ๒๔๐,๐๐๐ วา ก็คือ ๔,๘๐๐ กิโลเมตร งาแต่ละกิ่งยาวประมาณ
๕๕๐ กิโลเมตร
ถ้ามียอดศิลปินสักคน
สามารถวาดรูปช้างเอราวัณโดยเก็บรายละเอียดตามที่บรรยายมานี้ได้ทั้งหมด
เราก็จะได้สัตว์ประหลาดหน้าตาพิลึกพิลั่นตัวหนึ่ง
ซึ่งครูบาอาจารย์ที่สอนวิชาการออกแบบ ย่อมจะเห็นพ้องต้องกันว่า สอบตกแน่นอนในด้าน design
ช้างเอราวัณดังที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วง จึงไม่เป็นอะไรมากไปกว่า ความบรรเจิดทางจินตนาการ และการเล่นสนุกกับตัวเลข ของปราชญ์ไทยโบราณครับ
ดังนั้น จึงป่วยการที่จะมีใครมาเถียงว่า
ช้างเอราวัณควรมีกี่หัว ในเมื่อลักษณะดั้งเดิมที่สุดของช้างชนิดนี้ ซึ่งมี ๓
หัวตามคัมภีร์อินเดีย ก็ได้พิสูจน์ตัวของมันเอง ผ่านกาลเวลาอันยาวนานนับพันปีมาแล้ว
ในปกรณศาสตร์อินเดียนั้น ช้างเอราวัณเป็นพาหนะของพระอินทร์
และไปได้ทุกหนแห่งครับ ทั้งบนดิน บนผิวน้ำ และในอากาศ
มีพละกำลังที่มาก
สามารถทำลายสรรพสิ่งให้ย่อยยับไปได้ โดยไม่ต้องใช้เวลาเท่าใดนัก แต่เนื่องจากเป็นสัตว์วิเศษ
จึงไม่ค่อยสำแดงฤทธานุภาพให้ปรากฏ
ส่วนอุปนิสัยทั่วไป
ก็เหมือนกับช้างในโลกเราละครับ คือปกติสงบเงียบ ไม่ค่อยให้ร้ายใคร
แต่ถ้าใครไปล่วงละเมิดเข้า
ก็ตอบโต้ถึงตายเหมือนกัน หรือบางทีเจอสิ่งใดผิดสังเกตผิดกลิ่นเข้าหน่อยก็โมโห
พอโมโหแล้วก็เกิดเรื่องใหญ่
พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หนึ่งในลวดลายยอดนิยมบนทับหลังในปราสาทขอม |
เช่นมีเทพนิยายเฝ่ายไวษณพนิกายล่าไว้ว่า
คราวหนึ่ง พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเสด็จไปในโลกมนุษย์ ระหว่างทางพบกับ มหาฤาษีทุรวาส
(Durvas)
ท่านฤาษีเห็นว่า เทวะผู้ยิ่งใหญ่เสด็จมาถึง
ก็ถวายพวงมาลาเป็นการคารวะ พระอินทร์ทรงรับ แล้วก็วางไว้เหนือตระพองช้าง
แต่พวงมาลาดังกล่าว
จะมีดอกไม้ชนิดใดที่มีกลิ่นไม่สบอารมณ์ช้างเอราวัณเข้า ก็เหลือที่จะทราบได้
พอพระอินทร์วางพวงมาลานั้นได้เพียงอึดใจเท่านั้น ช้างเอราวัณก็แผดเสียงกึกก้องด้วยความโมโห
ยกงวงขึ้นคว้าพวงมาลานั้นฟาดลงกับพื้น แล้วกระทืบจนแหลกลาญ
ต่อหน้าต่อตาท่านมหาฤาษี โดยพระอินทร์ไม่ทันที่จะทรงห้ามไว้ได้
มหาฤาษีทุรวาสเห็นเช่นนั้นก็โกรธ
เข้าใจว่าพระอินทร์ไม่ไว้หน้าตน จึงร่ายเวทย์สาปพระอินทร์
และเทวดาทั้งหลายให้หมดฤทธิ์
ผลของคำสาปดังกล่าว ทำให้พวกอสูรได้ใจ
ยกกองทัพออกเบียดเบียนสร้างความเดือดร้อนไปทั้งสามโลก จนพระนารายณ์ต้องทรงแก้ไข
ด้วยการจัดพิธีกวนเกษียรสมุทร
เพื่อให้ได้น้ำอมฤตมาเสริมสร้างพลังอำนาจแก่เหล่าเทพทั้งหลายอีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้ คนไทยโบราณจึงมองกันว่า
การเข้าไปเกี่ยวข้องกับสัตว์วิเศษชนิดนี้ จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง
และรอบคอบอย่างมากทีเดียว
โบราณาจารย์ในอดีต
ท่านจึงมิได้สนับสนุนให้นำช้างเอราวัณมาทำเป็นวัตถุมงคล
หรือแม้แต่สร้างไว้เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ที่ใด นอกจากในวัดไงล่ะครับ
เพราะว่าเป็นของสูง มีฤทธานุภาพมาก
จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากตามไปด้วย
ถ้าทำขึ้นมาด้วยความรู้จริง วิชาถึง
เกิดผลดีก็ดีไป
แต่ถ้ารู้ไม่จริง ทำไม่ดี ไม่เหมาะไม่ควร
เกิดเป็นผลร้ายขึ้นแล้วจะควบคุมไม่อยู่
ศีรษะช้างเอราวัณ สำหรับใช้ในการแสดงโขน ในนิทรรศการโขนพรหมมาศ ภาพจาก http://oknatio.nationtv.tv.blog.gangster |
แต่คนไทยเราทั่วไปก็ชื่นชอบช้างเอราวัณมาก
ทำนองว่าอะไรยิ่งน่ากลัวยิ่งน่าลอง จึงเป็นเหตุให้ในยุคสมัยของพวกเรา
มีการผลิตวัตถุมงคลช้างเอราวัณขึ้นด้วยโลหะผสม และซิลิกา เป็นขนาดตั้งโต๊ะบ้าง
ขนาดเล็กบ้าง
ทำกันมายี่สิบสามสิบปีแล้วละครับ
แต่ทำกันประปราย
และมักจะนำไปปลุกเสกกันโดยเกจิอาจารย์ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างเท่าใดนัก
จนกระทั่งมีผู้มาสร้างกระแส
จนเกิดความนิยมแพร่หลายทั่วไป
บุคคลดังกล่าวก็คือ หมอหยอง หรือ นายสุริยัน
อริยวงศ์โสภณ อดีตร่างทรงพระคเณศที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด
ทั่วฟ้าเมืองไทยคนนั้นละครับ
หมอหยองเคยสร้างช้างเอราวัณด้วยเรซินระบายสี
เพื่อบูชาเสริมดวง ตอนนั้นเขากำลังมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด ช้างเอราวัณเลยกลายเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ที่หมอดูทั้งหลายแนะนำ (ตามหมอหยอง)
ในเรื่องของการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาไปนับแต่นั้น
ส่วนประติมากรรมช้างเอราวัณขนาดใหญ่นั้น
ก็เริ่มมีผู้คิดสร้างขึ้นในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัด และกิจการของเอกชน
ดังปรากฏว่าในปัจจุบันนี้ เรามีประติมากรรมช้างเอราวัณทำด้วยทองแดงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
อยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับ
โดยเป็นผลจากแรงบันดาลใจ และความคิดของ คุณเล็ก
วิริยะพันธ์ ผู้สร้าง เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ และ ปราสาทสัจธรรม เมืองพัทยา จ.ชลบุรี
นั่นเอง
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสถานที่เก็บรักษาศิลปวัตถุ ตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ และเพื่อสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ไทย
สิ่งสำคัญที่สุดของพิพิธภัณฑ์นี้
คือประติมากรรมช้างเอราวัณ ทำจากโลหะทองแดงแผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือนับแสนชิ้น
นำมาเรียงต่อกันด้วยวิธีเคาะมืออย่างประณีต เฉพาะส่วนหัวมีน้ำหนักประมาณ ๑๐๐
ตัน ลำตัวช้างหนัก ๑๕๐ ตัน สูง ๒๙ เมตร กว้าง ๑๒ เมตร
และยาว ๓๙ เมตร
ตัวช้างรวมอาคารมีความสูง ๔๓.๖๐ เมตร หรือสูงขนาดตึก ๑๗ ชั้นโดยประมาณ
นับเป็นประติมากรรมลอยตัวที่ประกอบจากจากทองแดงด้วยวิธีเคาะมือ
ครั้งแรกของไทยและของโลก รวมทั้งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกดังกล่าวแล้ว
ภายในลำตัวช้างเป็นห้องใหญ่
ปูพื้นด้วยไม้มะเกลือ จัดแสดงวัตถุมีค่า เช่น
ภาพวาดสีฝุ่นรูปจักรวาล
พระพุทธรูปปางลีลา ห้องดังกล่าวนี้สามารถขึ้นได้จากลิฟท์ที่อยู่ในขาช้าง
ส่วนรองรับเท้าทั้งสี่ของช้างนั้น
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
กระจายน้ำหนักตัวช้างด้วยคานวงแหวนรอบนอกและรอบในบนอาคาร ถ่ายน้ำหนักลงเสา ๘
เสาภายนอก และ ๔ เสาภายใน
การตกแต่งภายในอาคารศาลา
เป็นการผสมผสานศิลปะหลากหลายรูปแบบ เช่น กระจกสีแบบตะวันตก เครื่องเบญจรงค์แบบไทย
การดุนโลหะบนแผ่นดีบุกฝีมือช่างเมืองนครศรีธรรมราช และประติมากรรมชนิดต่าง ๆ อาทิ
คนธรรพ์บรรเลงดนตรี และพญานาคฝีมือช่างเมืองเพชร
สำหรับชั้นใต้ดินของอาคาร
เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการ และโบราณวัตถุจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูป เทวรูปสมัยต่าง ๆ และเครื่องลายครามของจีน
เป็นต้น
ประติมากรรมช้างเอราวัณดังกล่าวนี้
มีลักษณะสวยงามวิจิตรอลังการ เต็มไปด้วยพลานุภาพ แสดงให้เห็นชัดว่า
ได้รับการออกแบบโดยประติมากรชั้นครู นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวสมุทรปราการ
จนได้เป็นตราสัญลักษณ์ของเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ
และได้กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งแต่ยังไม่ทันสร้างเสร็จสมบูรณ์
เพราะมีคนไปกราบไหว้ แล้วโจษขานกันว่า มีอานุภาพต่างๆ นานา
ซึ่งเรื่องเช่นนี้ ผมไม่เห็นด้วย
และไม่สนับสนุนนะครับ เนื่องจาก :
๑) เราเป็นมนุษย์ ถ้าเพียงแต่รู้จักทำบุญ
รักษาศีลได้บ้าง ก็ไม่จำเป็นต้องกราบไหว้สัตว์วิเศษไม่ว่าชนิดใดๆ
ที่ไม่รู้จักการทำบุญ และไม่อาจรับศีล
๒) การสร้างช้างเอราวัณขนาดใหญ่โตมโหฬารนั้น
ไม่ใช่ว่าคนโบราณจะสร้างไม่ได้ และไม่เคยมีใครคิดสร้าง
เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีใครทำกัน
เพราะรู้กันอยู่ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำไงครับ
๓) ช้างดังกล่าวยืนอยู่บนศาลากลม
ที่มีหลังคาเป็นรูปโดมครึ่งวงกลม
แทนที่จะเป็นแท่นฐานรูปสี่เหลี่ยมที่ดูมั่นคง
และอาคารนั้นยังล้อมรอบด้วยน้ำ
ราวกับจะเป็นการอวดความสามารถของสถาปนิก และวิศวกร ในการจงใจให้ช้างขนาดยักษ์ยืนอย่างหมิ่นเหม่
อยู่บนโครงสร้างที่ดูเหมือนไม่มีความมั่นคง บนพื้นที่ที่ไม่มีความมั่นคงได้สำเร็จ
ขณะที่หลักภูมิพยากรณ์ทุกสาขา แม้แต่ฮวงจุ้ย
มีทรรศนะตรงกันว่า สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มั่นคง
ก็คือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่มั่นคง
และสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่มั่นคงนั้น
ก็จะส่งกระแสของความไม่มั่นคงออกไป สู่พื้นที่และกิจการโดยรอบ
นั่นหมายถึงอาถรรพณ์ หรือพลังด้านลบ
ที่ตามหลักภูมิพยากรณ์แล้ว อาจจะมีผลทำให้อาคาร สิ่งก่อสร้าง และกิจการต่างๆ
ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ปราศจากความมั่นคง
จนกระทั่งนำไปสู่ความชำรุดทรุดโทรมของโครงสร้าง
และการล้มละลายของธุรกิจในที่สุด
ซึ่งนั่นก็อาจรวมถึงธุรกิจ
และอาชีพการงานของผู้ที่ไปกราบไหว้บูชาด้วยนะครับ
๔) ภายในอาคารหลังคาโดม
ที่รองรับเท้าทั้งสี่ของช้าง มีการประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิม ไว้ใต้พระเกตุ เท่ากับเป็นการประดิษฐานพระโพธิสัตว์ผู้ทรงมหิทธานุภาพ
ไว้ใต้ดาวบาปเคราะห์ เป็นการผิดหลักเทวศาสตร์อย่างร้ายแรง
พระโพธิสัตว์กงนอิม ประดิษฐานในหอพระ ซึ่งมีพระเกตุอยู่เบื้องบน |
เหนือซุ้มประตูโดยรอบอาคารดังกล่าวนั้น ยังมีการประดิษฐานเทพประจำทิศทั้ง ๘ องค์ และชั้นใต้ดินของอาคาร มีการจัดแสดงพระพุทธรูป เทวรูปต่างๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ย่อมหมายถึงเป็นการนำเอาพระพุทธรูป
พระโพธิสัตว์ และเทพยดาอันศักดิ์สิทธิ์ มาไว้เป็นฐานหรือที่รองรับ
ให้ช้างซึ่งเป็นเพียงพาหนะของพระอินทร์เหยียบ
หรืออีกนัยหนึ่ง เท่ากับเป็นการยกช้างเอราวัณไว้เหนือพระพุทธรูป
พระโพธิสัตว์ และเทพยดาทั้งหลายนั่นเอง
ไม่ทราบนะครับว่า
ความคิดเช่นนี้มาจากศาสตร์อะไรกันแน่?
ผมมั่นใจว่า
ถ้าผู้เชี่ยวชาญทางเทวศาสตร์ของเมืองโบราณ คือ อ.ประยูร อุลุชาฎะ
หรือ “พลูหลวง” ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่กำลังมีการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
เรื่องเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นหรอกครับ
และการสร้างสิ่งที่ผิดหลักหลายๆ
ศาสตร์รวมกันเช่นนี้
ถ้าจะว่ากันตามหลักการแล้ว ก็ย่อมเป็นแหล่งอาถรรพณ์
มีพลังอำนาจที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกคน และภูมิสถานที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
เริ่มตั้งแต่ความศักดิ์สิทธิ์ของช้างเอราวัณ
ที่เกิดจากข่าวลือเกี่ยวกับการตายของหญิงสาวคนหนึ่ง
ที่ไปท้าทายด้วยความคึกคะนอง ดังที่โจษขานกันแรกๆ นั้น
คำเล่าลือต่างๆ
ยังเชื่อมโยงไปถึงการที่ทางเจ้าของพิพิธภัณฑ์ คือ คุณเล็ก วิริยะพันธ์
เสียชีวิตไปก่อนที่โครงการดังกล่าวจะสร้างเสร็จ
และยังมีการอ้างอิงถึงการเสียชีวิตของคนงานในระหว่างการก่อสร้าง
ซึ่งประเด็นหลังสุดนี้ ไม่เคยมีการยอมรับจากทางพิพิธภัณฑ์
เรื่องราวเหล่านี้
แม้เป็นเรื่องที่เราควรจะฟังหูไว้หู แต่ถ้าเป็นความจริง ก็เห็นได้ชัดว่า
เป็นลักษณะการแสดงอำนาจของภูตผีปีศาจ ไม่ใช่ของสัตว์วิเศษ
ที่เป็นพาหนะของเทพผู้ทรงคุณธรรมใดๆ นะครับ
รวมทั้งผู้คนที่ไปกราบไหว้ช้างดังกล่าว
เพื่อขอหวยหรือขออะไรก็ตาม แม้ว่าจะมีคนจำนวนไม่น้อย ที่ได้รับความสำเร็จสมปรารถนา
แต่ผมเองก็ได้ฟังมาหลายกรณีนะครับ
ว่าหลายคนที่ได้รับความวิบัติในด้านอื่นเกิดขึ้นเตามมาป็นของแถม
และบางครั้ง ของแถมนั้นคือความเสียหายร้ายแรง
จนเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ได้มา แม้ว่าจะมีการแก้บนในสิ่งที่อธิษฐานสำเร็จแล้วก็ตาม
แต่การที่มีผู้คนนิยมไปกราบไหว้บูชาช้างเอราวัณที่นี่เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
ก็ทำให้ทางพิพิธภัณฑ์มีการจัดสร้างวัตถุมงคล
สำหรับให้ผู้ศรัทธาเหล่านั้นได้เช่าบูชากลับบ้าน
โดยเริ่มสร้างครั้งแรกตั้งแต่ช่วงราวๆ กลางปีพ.ศ.๒๕๔๖
ได้จัดทำเป็นเหรียญกลมออกมาก่อน และนำไปให้ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ แห่ง วัดบ้านไร่
จ.นครราชสีมา ปลุกเสก
ต่อมา
จึงได้จัดสร้างรูปช้างเอราวัณลอยตัวขึ้นเป็นขนาด ๓, ๕,
๗ และ ๑๒ นิ้ว มีทั้งแบบรมดำ รมมันปู และปิดทองบางส่วน
มีทั้งที่ยืนบนฐานสี่เหลี่ยมจำหลักลาย และยืนบนฐานกลม ที่จำลองรูปแบบอาคารที่ประติมากรรมช้างเอราวัณใหญ่ที่สุดในโลกยืนอยู่จริง
นับเป็นวัตถุมงคลรูปช้างเอราวัณ
ที่น่าสนใจที่สุดในปัจจุบัน
เหตุที่ผมบอกว่าน่าสนใจ
แม้ว่าจะเกี่ยวเนื่องด้วยพิพิธภัณฑ์ที่สร้างอย่างผิดหลักในหลายๆ ศาสตร์
ก็เพราะเป็นวัตถุมงคลที่จัดทำอย่างประณีตพอสมควรไงครับ
โดยเฉพาะที่เป็นขนาด ๓ นิ้วนั้น ผมจำได้ว่า เมื่อเห็นรุ่นแรกสุดที่ทำออกมาแล้ว
ประทับใจมาจนทุกวันนี้ เพราะเนื้องานดีมาก สัดส่วนถูกต้อง
และเก็บรายละเอียดได้พอสมควร รวมทั้งเป็นขนาดที่เหมาะแก่การนำเข้าบ้าน
ไม่รู้ว่า
ปัจจุบันจะยังคงทำได้ดีเช่นนั้นหรือไม่
ส่วนขนาดใหญ่นั้น
ก็แล้วแต่ความศรัทธาของแต่ละบุคคล แต่ผมไม่แนะนำครับ การตั้งสัตว์มงคลในบ้าน
ไม่ว่าชนิดใดก็ไม่ควรให้มีขนาดเกิน ๕ นิ้ว
และที่ผมบอกว่า เป็นวัตถุมงคลที่น่าสนใจ
ก็ยังมีข้อแม้ว่า ต้องเป็นรุ่นที่ผ่านพิธีปลุกเสกในสถานที่อื่น
จากพระเกจิอาจารย์อื่นๆ ด้วยนะครับ
ถ้าหากว่าจะมีรุ่นใด
ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดสร้าง แล้วมีพิธีปลุกเสกภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์
ซึ่งเต็มไปด้วยอาถรรพณ์ ดังกล่าวแล้ว (ยกเว้นในส่วนของเทวาลัยพระคเณศ)
ก็ถือว่าอยู่นอกเหนือการแนะนำของผม
ที่สำคัญ ถ้าชอบจริงๆ
ก็ควรเลือกแต่ช้างเอราวัณที่อยู่บนแท่นสี่เหลี่ยม
ไม่ใช่บนฐานกลมเลียนแบบของจริงนะครับ
ส่วนวัตถุมงคลช้างเอราวัณของสำนักอื่น ก็มีอยู่
แต่เท่าที่ผมเคยเห็นมา จะเป็นขนาดห้อยคอทั้งสิ้น ถ้าเป็นขนาดบูชา
ก็มักจะมีพระอินทร์ประทับอยู่เบื้องบน เช่น วัดเทวราชกุญชร เทเวศร์ และ วัดสารภี
จ.สุพรรณบุรี
ซึ่งนั่นก็คือ เทวรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ขนาดบูชา ไม่ใช่ ช้างเอราวัณขนาดบูชา ครับ
ส่วนช้างเอราวัณที่มีผู้สร้างขึ้น
โดยมีเทพอื่นที่ไม่ใช่พระอินทร์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ประทับอยู่ข้างบนนั้น
ก็ถือว่าอยู่นอกเหนือขอบเขตการแนะนำของผมเช่นกัน
โดยเฉพาะช้างเอราวัณ ที่มีพระคเณศประทับอยู่เบื้องบน
นับเป็นเรื่องเหลวไหลมากจริงๆ ครับ
ภาพจาก บอร์ดประมูลสินค้ามือสอง Uamulet.com |
เพราะช้างเอราวัณ
เป็นพาหนะของเทพเพียงองค์เดียว คือ พระอินทร์ เท่านั้น
ไม่เคยมีหลักฐานทางเทววิทยา
ปรากฏที่ใดในโลกนี้เลยว่า พระคเณศจะประทับบนช้างเอราวัณ
เรื่องเช่นนี้ คนไทยเมื่อราวๆ ๒๐-๓๐ ปีมาแล้ว
เอามาคิดทำกันเอง แบบจับแพะชนแกะ แล้วก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในตลาดพระท่าพระจันทร์
ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของวัตถุมงคลแปลกๆ นอกตำราจำนวนมากมาย
แต่ของแปลก
ย่อมขายได้เสมอกับผู้ไม่รู้เสมอครับ
อย่างเช่นช้างเอราวัณที่มีพระคเณศประทับอยู่เบื้องบนเช่นนี้
ก็ปรากฏว่า มีผู้หลงผิดบูชากันมาก จนทำให้พระเกจิอาจารย์บางสำนักสร้างเลียนแบบ
แล้วนำมาปลุกเสกออกให้บูชาบ้าง ก็มีมาแล้ว
แล้วที่น่าตกใจที่สุด คือ
แม้แต่คนอินเดียซึ่งเป็นต้นตำรับ ก็มาลอกเลียนแบบไปทำขาย
เพราะคนฮินดูยุคนี้ เหมือนคนไทยครับ
คือส่วนใหญ่ไม่รู้เทววิทยา ไม่รู้ประติมานวิทยา ไม่ศึกษา ไม่เอาความถูกต้อง
จะเอาแต่ความถูกใจ
.........................
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์
ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL
ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด