วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รวมคาถาบูชาเทพอินเดีย


บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




โดยปกติ ผมมักจะได้รับการสอบถามเกี่ยวกับมนต์คาถาต่างๆ ในการบูชาเทพ อย่างสม่ำเสมอ

ซึ่งนับได้ว่า เป็นคำถามยอดฮิตที่มาถึงผม มากพอๆ กับวิธีบูชา และการจัดแท่นบูชาครับ

และที่ผ่านมา ผมก็มักจะให้ไปดูจากในหนังสือ คู่มือบูชาเทพ ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งผมรวบรวมทั้ง ๓ สิ่งที่ว่ามานี้ ไว้อย่างครบถ้วนแล้ว

หนังสือดังกล่าว ตีพิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔ มาบัดนี้เริ่มหาซื้อยาก แม้แต่ที่สำนักพิมพ์ก็หมด คงเหลือตกค้างตามร้านหนังสือบางร้าน และบางเว็บไซต์ที่ขายหนังสือเก่าเท่านั้น

ดังนั้น ผมจึงทยอยนำเนื้อหาจากหนังสือดังกล่าว มาโพสต์ใน blog นี้ ผู้ที่ติดตามเป็นประจำ ก็คงจะเคยเห็นกันอยู่

คราวนี้ละครับ ก็จะประมวลคาถาสำคัญ ที่ใช้ในการบูชาเทพอินเดีย ๑๗ องค์ ทั้งหัวใจคาถา และบทสรรเสริญ ซึ่งบางองค์ก็ไม่มีในหนังสือเล่มนั้นนะครับ




เวลาใครถาม ผมจะได้ให้มาดูที่บทความนี้ ไม่ต้องคอยตอบอีก

เพราะเดี๋ยวนี้ ผมมีเวลาน้อยลง ไม่ว่าง และไม่ได้ประโยชน์อะไร กับการที่จะต้องคอยตอบคำถามยิบย่อย อย่างเรื่องของมนต์คาถาเหล่านี้

แล้วใครก็อย่ามาว่าผมไม่เสียสละนะครับ ผมเสียสละมามากแล้ว

ที่เอาเนื้อหาในหนังสือที่จะขายกินได้อีกนาน มาทำเป็นบทความให้อ่านกันฟรีๆ อย่างนี้ ไม่เรียกว่าเสียสละ ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้วเหมือนกันนะ

และก่อนจะเข้าเรื่อง ขอเตือนให้รับทราบร่วมกันนะครับ

มนต์คาถาต่อไปนี้ บางบทเป็นสายวิชาที่สืบทอดกันมาในสำนักของผมเท่านั้น ผมเอามาเผยแพร่ให้ใช้กันฟรีๆ เป็นธรรมทาน ก็โปรดนำไปใช้กันด้วยความสุจริต

ถ้าจะนำไปเผยแพร่ต่อ ก็อย่าลืมใส่ URL ของบทความ ตามเงื่อนไขข้างล่าง ท้ายบทความ

URL นะครับ ไม่ใช่บอกแค่ชื่อบทความแบบมักง่าย แล้วไม่บอกที่มาที่ไป 

แบบนั้นทั้งคนที่นำไปเผยแพร่ และคนที่นำไปใช้ จะใช้คาถาเหล่านี้ไม่สำเร็จ เพราะมนต์ทุกบท มีครูกำกับอยู่

มีครูกำกับ หมายความว่า จะต้องมีการให้ และรับ อย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เท่านั้นครับ

เอาละครับ, เข้าเรื่องกันเลย




คาถาบูชาพระคเณศ

โอม ศรี คะเณศายะ นะมะ
ชะยะ คะเณศะ ชะยะ คะเณศะ ชะยะ คะเณศะฯ

บทสรรเสริญพระคเณศ

โอม คะชานะนัม ภูตะคะณาธิเสวิตัม 
กะปิตถะชัมพูผะละ จารุภักษะณัม อุมาสุตัม 
โศกาวินาศะ การะกัม นะมามิ 
วิฆะเนศะวะระ ปาทะปังกะชัมฯ




คาถาบูชาพระพรหม (อินเดีย)

โอม พรัหมมะเทวายะ นะมะฯ

บทสรรเสริญพระพรหม (อินเดีย)

โอม สะระวัม กัลวิไท พรัหมมา
โอม สัตยัม คะณัม อานันทัม พรัหมมา
โอม สัตยัม คะณัม อานันตัม พรัหมมา
โอม สัตยัม คะณัม อามฤตัม พรัหมมา
โอม สัตยัม คะณัม อาโภยัม พรัหมมา
โอม มะยามัต มะหาพรัหมมา
โอม ปรัชญานัม อานันทัม พรัหมมา
โอม ตัตสัต โอมฯ




คาถาบูชาพระสรัสวดี

โอม ชะยะ ศรี สะรัสวะตี มาฯ

บทสรรเสริญพระสรัสวดี

โอม สะรัสวะตี นะมัสตุภะยัม วะระเท
กามะรูปินี วิทยา อารัมภัม
การิษะยามิ สิทธิ ภะวะตุ เม สะทาฯ




คาถาบูชาพระวิษณุ

โอม นะโม นารายะณายะ นะมะฯ

ทสรรเสริญพระวิษณุ

สะศางขะจักรัม สะกิรีฎะกุณฑะลัม
สะปีตะวัสตรัม สะระสิรุเหกะษะฌัม
สะหาระวักษะ สะถะละ เกาสะตุภะศะริยัม
นะมามิ วิษะณุม ศิระสา จะตุระภุชัมฯ




คาถาบูชาพระลักษมี

โอม ชะยะ ศรี ลักษะมี มาตาฯ

บทสรรเสริญพระลักษมี

โอม วิษะณุปรีเย นะมัสตุภะยัม นะมัสตุภะยัม ชะคัทธิเต
อาระตะหันตริ นะมัสตุภะยัม สัมฤทธิม กุรุเม สะทา
นะโมสะเตสะตุ มะหามาเย ศรีปิเฐ สุระ ปูชิเต
สังขะ จักระ คะฑา หัสเต มะหาลักษะมี นะโม สะตุเตฯ




คาถาบูชาพระศิวะ

โอม นะมะ ศิวายะฯ

บทสรรเสริญพระศิวะ

ยา สฤษฏิ สะรัษฏุราทะยา วะหะติ วิธิหุตัม
ยา หะวิระ ยา จะ โหตรีเย เทวะกาลัม
วิธัตตะ ศะรุติวิษะยะคุณา
ยา สะถิตา วะยาปะยะ วิศะวัม ยามาหุ
สะระวะพีชะประกฤติริติ ยะยา ปะราณีนะ
ปราณณะวันตะ ประตะยักษะภี ปะระปันนัส
ตะนุภิระวะตุ วัส ตาภิรัษษะฏาภิรีศะฯ




คาถาบูชาพระอุมา

โอม ชะยะ ปาระวะตี นะโม นะมะฯ

บทสรรเสริญพระอุมา

โอม พันธูกะ วะระณาม อะรุณัม สุคะตรัม
สัมภูมะ สะมุทิษยา  สะไนรูเปตัม
อัมโพชะ มฤตวีม อะภิลาศะ ทัตตรีม
สัมภาวะเย นิระชะระ ธารุ กัลปัมฯ




คาถาบูชาพระทุรคา

โอม ศรี ทุระคา นะโม นะมะฯ

บทสรรเสริญพระทุรคา

โอม ชะยะ มะหิษะ วิมรรธะนี ศูละกาเร
ชะยะ โลกะ สะมัสตะกะ ปาปะหะเร
ชะยะ เทวี ปิตามะหะ วิษะณุนุเต
ชะยะ ภัสการะ สะกระ ศิโรอะวะนะเตฯ




คาถาบูชาพระตรีปุระสุนทรี

โอม มะหาตรีปุระสุนทะรายะ นะมะฯ

บทสรรเสริญพระตรีปุระสุนทรี

โอม สะระวะนันทะมายี สะมัสตะชะคะตัม อานันทะ สันธายะนี
สะระโวตุงคะ สุวรรณะ ไศละ นิละยา สัมสาระ สากษี สะตี
สะระไวระโยคิจะไย สะไทวะ วิจิตะ สัมราชะยะ ธะนะ กะษะมา
ศรีจักราทิ นิวาสินี วิชะยะเต ศรีราชาราเชศะวะรีฯ




คาถาบูชาพระกาลี

โอม กาลี มาฯ

บทสรรเสริญพระกาลี

โอม ชะยะตี มะหากาลี 
ชะยะตี อาธะยะ กาลี มาตา
ชะยะรูปะ ประจันทิกา มะหากาลิกะ เทวี
ชะยะตี รักตาสะนะ เราทะระมุขี
รุทะรานี อะริ โศณิต ขะไประ ภะระนี
ขัททะคะ ธาระณี ศุจี ปาณนีฯ




คาถาบูชาพระกฤษณะ

โอม ศรี กฤษะณายะ นะมะฯ

บทสรรเสริญพระกฤษณะ

ยา สิษตะ รักษะณาปาระ กะรุณัมพุราสิ
ทุษฏาสุราม สันรุปะฏีนะวินิคฤหะ
ยา สุรัณ กัษตัม ทาสัม อาปะนุตัณฑะสาระ
ปฤถิวาย ปุษติม ทะทัตตุ 
สะหะริ กุละไทวะตัม นาฯ




คาถาบูชาพระราธา

โอม ศรี มัทราธะรานี นะโม นะมะฯ

บทสรรเสริญพระราธา

โอม ตะวัม เทวี ชะคะตาม มาตา วิษะณุมายา สะนาตะนี
กฤษณะปราณาธิเทวี จะ กฤษณะปราณาธิกา ศุภา
กฤษณะเปรมะมายี ศักติ กฤษณะเสาวะภาคะยะรูปินี
กฤษณะภักตีประเท ราเธ นะมัสเต มังคะละประเทฯ




คาถาบูชาพระราม

โอม ศรีรามฯ

บทสรรเสริญพระราม

โอม อะกะนิฐะ คุณะ มาปะราเมยะ มัธยัม
สะกะลา ชะคัต สะถิติ สัมยะมาธิ เหตัม
อุปะระมามะปะรัม ปะรัตมะ ภูตัม
สะตะตะมาหัม ปราโณโตสะมิ รามะจันทะรัมฯ




คาถาบูชาพระสกันท์

โอม ศรี ศะระวัณ ภะวายะ นะมะฯ

บทสรรเสริญพระสกันท์

โอม สินธูระ อะรุณะ อินทุ กัณฐิ วะทะนัม เกยุระ หะราธิปี
ทิวะไยรฺ อะภะระไน วิภูษิตะ ตะนุม สะวรรคาธิ เสาขะยะประธัม
อัมโภชะ ภะยะ ศักติ กุกกาทะ ธารัม รักตางคะ ระโกชชะวะลัม
สุพรัหมมัณยัม อุปาสะมะเห ประณามะตัม 
ภีติ ประโณโสธะยะตัมฯ




คาถาบูชาพระคงคา

โอม คังเค มาม ปะวายะ นะมะฯ

บทสรรเสริญพระคงคา

โอม เทวี สุเรศะวะรี ภะคะวะตี คังเค
ตริภูวะณะ ธาริณี ตาราละ ตารางเค
ศังการะ เมาลี วิหาริณี วิมาเล
มามะ มะตีราสตาม ตะวะ ปาทะ กะมะเลฯ




คาถาบูชาพระมนัสเทวี (มนสาเทวี)

โอม มะนะสะ เทวะยายะ นะมะฯ

บทสรรเสริญพระมนัสเทวี (มนสาเทวี)

โอม อัสติกัสวะ มุเนระมาตา โยคินี วาสุกีสะทัตตะ
ชะรัตคุรุ มุเน ปัตนี มา มะนะสะ เทวี นะมะสะตุเตฯ




คาถาบูชาพระหนุมาน

โอม ศรี หะนุมะเต นะมะฯ

บทสรรเสริญพระหนุมาน

โอม อักษาธิ รักษาสะ หะรัม
ทะศะ กัณฑะ ทรรปา นิระมูลานัม
ระฆุวะรางครี สะโรชะ ภักตัม
สีตา วิศายะฆะนะ ทุกขะ นิวาระกัม ตัม
วาโย สุตะ คะลิตะ ภาณุ มะหัม นะมามิฯ


ถ้าใครดูแล้ว สงสัยว่า ทำไมไม่มีมนต์บทนั้น ทำไมไม่ใช้มนต์บทนี้ฯลฯ

ตอบสั้นๆ ครับ คือ สายวิชาผมใช้อย่างนี้แหละ

ใครรู้จักสายอื่นอยู่แล้ว ก็ใช้สายอื่น บทความนี้ผมทำไว้ให้สาธารณชนทั่วไป ที่ไม่เป็นศิษย์สำนักใด หรือไม่เก่งคาถาอาคมครับ

ในโอกาสต่อไป ผมตั้งใจไว้ว่าจะประมวลคาถาบูชาเทพในศาสนาพุทธ และเทพพื้นเมืองของไทย ตลอดจนอดีตกษัตริย์และราชนารี ซีงไม่มีในหนังสือ คู่มือบูชาเทพ ฉบับสมบูรณ์

ซึ่งถ้าได้โพสต์เมื่อไหร่ ก็หวังว่าจะเป็นที่พอใจกันนะครับ


.........................................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

การบูชาท้าวเวสสุวัณ


บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*



เครดิตาพ : T.S. Thai Amulet Gallery

ท้าวเวสสุวัณ เป็นอธิบดียักษ์ มีเดชานุภาพมากที่สุดในจตุโลกบาล

ทรงมีอำนาจในการขับไล่ ปราบปรามอสูร ยักษ์ ภูตผี หุ่นพยนต์ และไสยศาสตร์มนต์ดำทั้งหลายทั้งปวง

ประติมานวิทยา (Iconography) ของท้าวเวสสุวัณ พอจะแบ่งได้พอสังเขป ตามลัทธิศาสนา และสายวิชาต่างๆ ดังนี้




ท้าวกุเวร (कुबेर Kubera) ในคัมภีร์พระเวทของชาวอารยัน ที่นำมาจากตะวันออกกลาง เป็นเทพ รูปร่างปกติ มี ๓ ขา




ท้าวกุเวร ในศาสนาฮินดู เป็นเทพ รูปร่างอ้วน ประทับนั่งบนอาสนะหรือบัลลังก์ ถือภาชนะใส่เหรียญทองคำ




พระไวศรวัณ (वैश्रवण Vaiśravaṇa) ในศาสนาพุทธมหายานอินเดีย และ พระโพธิสัตว์ชัมภล (Jambhala) ในศาสนาพุทธวัชรยานทิเบต ลักษณะคล้ายกับท้าวกุเวรของฮินดู แต่เป็นยักษ์ ถือพังพอน ประทับนั่งบนอาสนะหรือบบัลลังก์




ท้าวเวสสุวัณ (वेस्सवण) ของไทย ลักษณะเหมือนยักษ์วัดแจ้ง คือยืนงอเข่า ในลักษณะของอารักขเทวดา หรือ เทพผู้พิทักษ์ (Guardian) ถือกระบองยาว

ส่วนพระพักคร์มี ๒ แบบ แบบแรกซึ่งเป็นหน้ายักษ์ คือแบบดั้งเดิม 

กับอีกแบบ พระพักตร์แบบเทวดา แต่เครื่องทรงยังเป็นแบบยักษ์เช่นกัน ถือกระบองหรือพระขรรค์ยาว เรียกง่ายๆ ว่า ท้าวเวสสุวัณหน้ายักษ์ และหน้าเทพ




พระไพศรพณ์ คือพระนามเดียวกับ ไวศรวัณ ในภาษาสันสกฤต พระพักตร์แบบเทวดาไทย ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่น ถือกระบองสั้นในพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายแสดงปางประทานพร (องค์ในภาพปั้นพระหัตถ์ซ้ายผิด)

เป็นปางที่นิยมบูชากันในผู้มีอาชีพทางกฏหมาย ดังมีเทวรูปอยู่ที่ สำนักงานอัยการสูงสุด นานๆ จึงจะมีการสร้างองค์บูชาสักครั้งหนึ่ง




ท้าวเวสสุวัณพรหมมาสูติเทพ เป็นปางใหม่ เกิดขึ้นในเทวศาสตร์ไทยยุคปัจจุบัน พระพักตร์แบบเทวดาไทย ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่น พระหัตถ์ขวาถือช่อดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายถือแว่นทิพย์




ท้าวเวสสุวัณโณมหาราช เป็นปางใหม่ เกิดขึ้นในเทวศาสตร์ไทยยุคปัจจุบัน เท่าที่มีการเผพยแพร่ในวงกว้าง มี ๒ สายวิชา คือแบบที่เป็นหน้ายักษ์ ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่น ถือกระบองสั้นด้วยพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายแสดงปางประทานพร แบบเดียวกับพระไพศรพณ์




อีกสายวิชา พระพักตร์แบบเทวดาไทย ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่น ถือกระบองสั้นในพระหัตถ์ขวา และแว่นทิพย์ในพระหัตถ์ซ้าย




อุตรเทพตัวเหวินเทียนหวัง หรือ ตอบุ๋งเทียงอ๊วง (闻天王) ในศาสนาพุทธมหายานจีน เป็นนักรบ สวมชุดเกราะแบบขุนพลจีน ใบหน้าแบบคนธรรมดา ไม่ใช่ยักษ์ ถือเจดีย์ หรือไม่ก็ร่ม




เทพอสูรบิชามง (毘沙門 Bishamon) ในศาสนาชินโตของญี่ปุ่น สวมชุดเกราะแบบนักรบญี่ปุ่น ถือหอกและเจดีย์ เช่นเดียวกับตัวเหวินเทียนหวัง บางทีก็ปรากฏในลักษณะที่กำลังเหยียบปีศาจสองตนอีกด้วย

ประติมานวิทยาทั้ง ๑๐  ของท้าวเวสสุวัณดังกล่าว มีเงื่อนไขเฉพาะในการบูชา และการประดิษฐานที่แตกต่างกันไป

ในบทความนี้ จะขอกล่าวเฉพาะท้าวเวสสุวัณแบบไทยดั้งเดิม คือแบบหน้ายักษ์ เพราะเป็นปางที่คนไทยนิยมบูชากันมากที่สุด จึงมีเรื่องที่พวกเราควรรู้ในการบูชามากที่สุดครับ

แต่ผมจะไม่กล่าวถึงวิธีการบูชา เช่น จุดธูปกี่ดอก คาถาฯลฯ เพราะมีเผยแพร่กันทั่วไป และสำนักที่จัดสร้างท้าวเวสสุวัณ ถ้าเป็นมืออาชีพหน่อย เขาก็จะมีเอกสาร หรือ ใบฝอย ให้มาอยู่แล้วครับ

เอาเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครเขานำมาบอกกันดีกว่า

๑) การบูชาท้าวเวสสุวัณ ที่สร้างผิดหลักประติมานวิทยา อาจส่งผลข้างเคียงที่มากกว่าความเป็น ของแปลก

ขอย้ำว่า ประติมานวิทยาของท้าวเวสสุวัณ เป็นแบบยักษ์วัดแจ้ง มี ๒ แขน ๒ ขา มีหน้ายักษ์และหน้าเทพ ดังที่กล่าวแล้วนะครับ

แต่ที่ผ่านมาในอดีต มีบางสำนักจับเอาประติมานวิทยาของท้าวเวสสุวัณ จากลัทธิศาสนาต่างๆ ที่ผมได้ลำดับไปแล้ว เอามาผสมผสานกัน เพื่อผลทางการตลาดที่แตกต่างจากท้าวเวสสุวัณทั่วไป ดังภาพ




ศาสตร์แห่งการสร้างรูปเคารพต่างๆ หรือประติมานวิทยานั้น เป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ ที่จะเป็นเงื่อนไขชี้เป็นชี้ตาย ว่าเทวรูปที่สร้างออกไปนั้น จะรองรับการเทวาภิเษกได้อย่างถูกต้อง สมบูรณ์ ครบถ้วน ตามสายวิชาที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่

ซึ่งนั่น ย่อมหมายถึงผลที่ผู้บูชาเทวรูปนั้นพึงได้รับ ว่าจะเป็นอย่างไรด้วยนะครับ

การจับแพะชนแกะอย่างนี้ ไม่มีในตำราโบราณ เป็นสิ่งที่ผิดครู นอกครู จึงย่อมจะไม่มีพิธีกรรมที่ถูกต้องใดๆ รองรับ ผู้สร้างจะต้องบัญญัติพิธีขึ้นใหม่กันเอาเอง

ผลที่ได้ ย่อมไม่เป็นไปตามศาสตร์ดั้งเดิม ที่มีการกัน-แก้อาถรรพณ์ไว้แล้ว

จึงขึ้นอยู่กับดวงชะตาของผู้บูชา ว่าจะได้รับอาภรรพณ์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ช้าเร็วแค่ไหน

๒) ท้าวเวสสุวัณ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ ไฉ่สิ่งเอี๊ย (财神)

ที่ผ่านมา พุทธมหายานจีน และวงการพระเครื่องไทยเคยอุปโลกน์ จับพระโพธิสัตว์ชัมภล ตามรูปแบบพุทธมหายาน-วัชรยาน รวมเข้ากับเทพธนบดีไฉ่สิ่งเอี๊ย ซึ่งเป็นเทววิทยาพื้นเมืองของจีน

จนกลายเป็นลัทธิใหม่ ที่สามารถอิงกระแสบูชาไฉ่สิ่งเอี๊ยช่วงตรุษจีน หลอกขายพระโพธิสัตว์ชัมภลได้อย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

พาให้สังคมคนบูชาเทพ พลอยเข้ารกเข้าพงตามๆ กันไปหมด ด้วยความเข้าใจผิดว่า พระโพธิสัตว์ชัมภลคือไฉ่สิ่งเอี๊ย

เรื่องนี้ผมเคยเขียนเป็นบทความไปแล้วใน http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2016/02/blog-post.html ลองเข้าไปดูรายละเอียดกันได้ครับ




จากกระแสดังกล่าว ทำให้มีนักธุรกิจพระเครื่องเห็นเป็นจุดขายใหม่ ในการเชื่อมโยงท้าวเวสสุวัณกับไฉ่สิ่งเอี๊ยด้วย

เนื่องจากมองว่า ท้าวเวสสุวัณทรงเป็นเทพองค์เดียวกับพระโพธิสัตว์ชัมภล ในเมื่อพระโพธิสัตว์ชัมภลถูกเรียกว่าไฉ่สิ่งเอี๊ย ท้าวเวสสุวัณก็สามารถที่จะได้รับการขนานนามว่าไฉ่สิ่งเอี๊ยด้วย

นี่ละครับ เมื่อเริ่มต้นด้วยการบิดเบือนไปอย่างหนึ่ง ก็จะส่งผลลามปามไปยังส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพียงเพื่อจะหาเงินกันเท่านั้น

๓) การบูชาท้าวเวสสุวัณ ไม่ช่วยแก้ไขดวงชะตาอันเกิดจากปีชง

เรื่องการ ชง ( ปะทะ, ปฏิปักษ์) เป็นองค์ความรู้ของ โหราศาสตร์ระบบ ๑๒ นักษัตร ของจีน ถ้าจะต้องมีการแก้ไข ก็ต้องแก้ไขตามวิธีของโหราศาสตร์ดังกล่าว

เช่น ที่นิยมกันคือไปทำพิธีปัดตัว สะเดาะเคราะห์ ที่ วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งมีเทวรูปของ เทพไท้ส่วย (歲爺) ผู้มีอานุภาพควบคุมแก้ไขดวงชะตามนุษย์ในแต่ละปี ประดิษฐานอยู่




นอกจากนั้น ก็แก้ไขด้วยเครื่องราง และสิ่งของที่พกพาติดตัวได้ เช่น เข็มกลัด แหวน พวงกุญแจ กำไล เข็มขัด จี้ ล็อกเก็ตฯลฯ ที่เป็นรูปสัตว์ประจำปีนักษัตรที่ใช้แก้ไข พกติดตัวไว้ตลอด หรือนำมาตกแต่งบ้าน

ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการบูชาท้าวเวสสุวัณครับ

แต่ก็มีการเผยแพร่ข้อมูลบ่อยๆ ว่าเกี่ยวกัน อันเกิดจากหมอดูบางคน ที่มั่วเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก แล้วก็พลอยมั่วตามๆ กันมา ทั้งมั่วโดยไม่มีความรู้ และมั่วโดยเห็นว่าเป็นจุดขาย

๔) ถ้าเป็นคนธรรมดาๆ ประกอบอาชีพทำมาหากินตามปกติ ไม่ควรมีท้าวเวสสุวัณขนาดบูชาไว้ประจำบ้านเกินกว่า ๑ องค์

ถ้าเป็นรูปภาพ ผ้ายันต์ และแผ่นปั๊ม ก็แค่ชิ้นเดียวพอเช่นกัน

ไม่อย่างนั้น บ้านของท่านจะรุ่มร้อน อยู่ไม่เป็นสุข


เครดิตภาพ : T.S.Thai Amulet Gallery

คนที่มีวิชาอาคมแก่กล้าจริงๆ ถึงจะตั้งท้าวเวสสุวัณเกินกว่า ๑ องค์ได้ครับ ซึ่งจะพบเห็นได้ตามสำนักของเกจิอาจารย์ต่างๆ

ซึ่งผมต้องขอ "เน้น" ตรงนี้เลยนะครับ ว่า...

ต้องเป็นเกจิอาจารย์ที่ "คุณวุฒิ" และ "วัยวุฒิ" ของท่านเป็นที่ยอมรับของวงการแล้ว

คุณวุฒิ คือได้รับการสืบสายวิชาอย่างถูกต้อง ครูบาอาจารย์ประสิทธิ์ และรับรองให้ตั้งสำนักเองได้ และได้ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมา ช่วยเหลือผู้คนเป็นอันมากมาแล้วหลายปี ได้ผลเป็นที่ประจักษ์

วัยวุฒิ คือ มักจะตั้งต้นนับกันที่อายุ ๓๕ ปีขึ้นไป ถ้าจะตั้งสำนักเอง ต้องอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ไม่ใช่เพิ่งเรียนจบมา แล้วก็ออกมาตั้งสำนักเองได้เลย

นอกจากนั้นก็คือ "ในวัด" อย่างเดียวเลยครับ ที่จะตั้งท้าวเวสสุวัณกี่องค์ก็ได้

ทุกวันนี้ ผมเห็นเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบความขลัง สะสมท้าวเวสสุวัณกันคนละหลายองค์ ก็เข้าใจละครับ

เพราะแต่ละวัดเดี๋ยวนี้ ทำออกมาสวยๆ น่าสะสมทั้งนั้น สวยกว่าสมัยที่ผมยังหนุ่มๆ มากนัก

ซึ่งในการสะสม ถ้าแค่องค์ห้อยคอนี่ไม่เป็นไรครับ เก็บได้เท่าไหร่เก็บไปเถอะ

แต่ถ้าเป็นองค์บูชาละก็ มีหลายๆ องค์ในบ้าน คุณมีสิทธิ์บ้า-เสียสติได้ เพราะคุณไม่มีวิชา หรือ "ภูมิคุ้มกัน" พอจะทำได้

ประเด็นนี้ ผมมิได้เป็นผู้กำหนด แต่ครูบาอาจารย์ในยุคเก่าก่อน ท่านกำหนดไว้ ซึ่งหมายความว่า สำหรับให้ใช้กับ คนส่วนใหญ่ นะครับ

บางท่าน ที่ไม่มีวิชา ไม่เป็นเกจิอาจารย์ แต่มีคุณวิเศษ อ้างว่าตั้งท้าวเวสสุวัณไว้ในบ้านหลังเดียวกันหลายองค์ แล้วท่านก็อยู่สบายดี ไม่เห็นเป็นไร ก็เป็นความวิเศษเฉพาะตัวของท่าน เป็นข้อยกเว้น

และไม่ควรนำไปเผยแพร่ ให้คนส่วนใหญ่ไขว้เขว จนละทิ้งประสบการณ์ของคนโบราณ

เพราะถ้าเขาหลงเชื่อตามท่าน จนเกิดความวิบัติหายนะขึ้นกับตัวเขา คุณวิเศษที่ท่านมีอยู่ ก็ไม่ช่วยให้ท่านพ้นจากความรับผิดชอบได้หรอกครับ

๕) แม้ท้าวเวสสุวัณจะเป็นอธิบดียักษ์ เป็นใหญ่เหนือเทพอสูรทั้งปวง ก็ไม่ควรบูชาร่วมกับเทพอสูรองค์อื่น

เช่น พระพิราพ พระพิเภก พระราหู นางพันธุรัต

แม้จะจัดเป็นแท่นบูชาสายยักษ์โดยเฉพาะ และยกให้ท้าวเวสสุวัณเป็นประธานก็ตาม




เพราะเมื่อเป็นอธิบดียักษ์ ย่อมมีกระแสบารมีแผ่ออกมา อันมีผลทำให้เทพอสูรทั้งหลายเหล่านั้น สงบลง ไม่สำแดงฤทธิ์เดชอย่างเต็มที่ ตามสายวิชาที่ได้รับการปลุกเสกมา

ก็เพราะ เว้นแต่พระพิเภกองค์เดียวแล้ว ยักษ์เหล่านั้นล้วนสำแดงฤทธิ์ตามนิสัยอสูร ประทานพรตามความพอใจ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม คุณธรรม

และถ้าเป็นเรื่องโชคลาภ ก็มักจะเกี่ยวข้องกับหวย การพนัน อบายมุข

ท้าวเวสสุวัณ ท่านเป็นเทวดาสัมมาทิฏฐิ ปวารณาพระองค์รับใช้พระพุทธศาสนา ย่อมไม่ยินดีในพฤติกรรมเหล่านี้ เทพอสูรองค์ใดอยู่กับท่าน ก็ทำในสิ่งเหล่านี้อย่างออกหน้าออกตาไม่ได้

และถึงจะมีท้าวเวสสุวณควบคุม ยักษ์ก็ยังคงเป็นรูปเคารพที่มีอาถรรพณ์แรง คนโบราณห้ามนักห้ามหนา เรื่องเอายักษ์เข้าบ้าน

ท่านไม่ได้ห้าม เพราะขี้ขลาดขี้กลัวไม่มีเหตุผลนะครับ

ท่านห้าม เพราะตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา ท่านพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ตรงมาแล้ว

คนสมัยนี้ หลายคนชอบทำเป็นเก่ง ไม่ฟังคนโบราณ เห็นอะไรที่เป็นคำบอกเล่าของคนแก่แล้ว ไม่เอาทั้งนั้น

ประมาณว่า ฉันเพิ่งเกิดมาไม่นาน แต่ฉันเก่ง ฉันรู้มากกว่าคนแก่ ว่างั้นเถอะ

เสร็จแล้วเป็นไงครับ เพี้ยนแบบไม่รู้ตัว เสียสติคลุ้มคลั่งเป็นบ้าเป็นบอไป ไม่คุ้มจริงๆ

๖) การบูชาเทพอาวุธของท้าวเวสสุวัณ

ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ชนิดหลักๆ คือ พระขรรค์ที่มีด้ามเป็นท้าวเวสสุวัณ และ กระบองของท้าวเวสสุวัณ




พระขรรค์ดังกล่าว สำนักต่างๆ มีการเผยแพร่ออกมาให้บูชากันอยู่เสมอ ส่วนกระบองนั้น นานๆ จะมีผู้สร้างกันสักครั้งหนึ่ง ปัจจุบันก็ดูจะมีแต่สำนักที่เป็นสายตรงของศาสตร์แห่งท้าวเวสสุวัณ คือ วัดจุฬามณี อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

โดย พระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร ที่เริ่มทยอยสร้างออกมาในช่วงไม่กี่ปีนี้ จากเดิมที่เป็นผ้ายันต์และกระดาษยันต์เท่านั้น

ซึ่งที่ผ่านมา เป็นขนาดเล็กสำหรับพกติดตัวได้ จึงเหมือนกับพระขรรค์ คือ ไม่มีเงื่อนไขอะไรมากนักในการบูชา นอกจากถ้าจะบูชาร่วมกับเทวรูปท้าวเวสสุวัณ ก็จะต้องจัดใส่พานเล็กๆ ให้เรียบร้อย

โดยระวัง อย่าให้ปลายพระขรรค์หรือกระบอง ชี้ไปยังรูปเคารพอื่นที่อยู่ร่วมแท้นบูชาเดียวกัน หรือ แท่นบูชาใกล้กัน เท่านั้น




และถ้าไม่มีเทวรูปท้าวเวสสุวัณ ขนาดบูชาหน้าตัก ๒ นิ้วขึ้นไป ก็ไม่ควรบูชากระบองของพระองค์ แต่บูชาพระขรรค์ได้นะครับ

และทั้งสองอย่างนี้ จะสะสมไว้สักกี่ชิ้นก็ได้ เช่นเดียวกับวัตถุมงคลขนาดห้อยคอ แต่การนำขึ้นแท่นบูชานั้น สมควรนำขึ้นเพียงอย่างละหนึ่ง เท่าที่คิดว่าจะพกพาติดตัวเท่านั้น

พระขรรค์อื่นๆ ที่ไม่มีลวดลาย หรือองค์ท้าวเวสสุวัณที่ด้าม ไม่ควรบูชาร่วมกับเทวรูปของท่านครับ

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักวัดจุฬามณีได้จัดสร้าง กระบองท้าวเวสสุวัณขนาดบูชา ยาวประมาณ ๔๒ ซม. เท่ากับกระบองของยักษ์ในนาฏศิลป์โขน

เทพอาวุธที่สร้างอย่างถูกต้อง โดยสำนักที่สืบสานเทวศาสตร์แห่งท้าวเวสสุวัณเช่นนี้ ย่อมมีอานุภาพรุนแรงมาก




ซึ่งแม้ว่าทางวัดจะสร้างตามจอง โดยจำนวนที่จำกัด และมิได้ตักเตือนอะไรเป็นพิเศษสำหรับการบูชา 

แต่ผมขอแนะนำว่า กระบองขนาดเท่าจริงอย่างนี้ สมควรบูชาในแท่นบูชาที่จัดถวายท้าวเวสสุวัณโดยเฉพาะ และต้องเป็นเทวรูปท้าวเวสสุวัณขนาดหน้าตัก ๗ นิ้วขึ้นไปด้วยครับ

เพราะนอกจากสำนักวัดจุฬามณี ก็ใช่ว่าจะหากระบองขนาดเดียวกันนี้ไม่ได้

ผมเคยเห็นมีขายอยู่ในร้านค้าอาวุธจำลอง ย่าน วิหารพระมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา เข้าใจว่าสำหรับใช้ในนาฏศิลป์ แต่ก็สามารถนำไปให้ผู้รู้วิชาอาคมเสก เป็นอาวุธของท้าวเวสสุวัณได้

ดังนั้น สำหรับใครที่ชื่นชอบทางนี้ ก็หลักเดียวกันครับ ถ้าไม่มีเทวรูปบูชาของท้าวเวสสุวัณขนาดหน้าตัก ๗ นิ้วขึ้นไป ก็ไม่สมควรที่จะไปจัดหาของแบบนี้มาไว้ในบ้าน

มิได้มีอาชีพเป็นหมอไสยศาสตร์ หมอผี ก็อย่าเลียนแบบครับ ความเท่มีน้อย แค่ผลข้างเคียงมีมาก

ต้องมีวิจารณญาณ ว่าจะเลือกใช้เทพอาวุธเพียงในระดับของการป้องกันตัว 

หรือเพื่อจะประกาศความพร้อมในการเป็นเกจิอาจารย์ เป็นเจ้าพิธี เป็นหมอไสยศาสตร์ ที่จะต้องมีเทพอาวุธขนาดเท่าของจริง เพื่อต่อสู้กับผีพราย หรือแก้สารพัดคุณไสยที่เขากระทำมา

เพราะขึ้นชื่อว่าอาวุธ มีแล้วก็ต้องได้ใช้งาน ตามประสิทธิภาพของมันครับ โบราณท่านบอกว่าเป็นอาถรรพณ์ของอาวุธทุกชนิดครับ

๗) ไม่ควรบูชาท้าวเวสสุวัณ กับ พระแม่กาลี ไว้ในสถานที่เดียวกัน

ถ้าจำเป็นต้องบูชาห้องเดียวกัน จะต้องเป็นห้องใหญ่ มีโต๊ะหมู่พระพุทธรูป-เทวรูป ซึ่งควรเป็นโตํะหมู่ ๙ (ที่ตั้งพระ-องค์เทพเต็มโต๊ะหมู่ ไม่ใช่ตั้งแค่ไม่กี่องค์แล้วมีแต่เครื่องบูชา) คั่นกลาง

มิฉะนั้น ก็อนุโลมเพียงให้อยู่ในอาคารหรือบ้านหลังเดียวกันได้ แต่ต้องอยู่คนละห้อง




เหตุผลก็คือ พระแม่กาลีเป็นใหญ่ในหมู่ภูตผีปีศาจ เป็นผู้ปราบอสูรและยักษ์

ขณะที่ท้าวเวสสุวัณ เป็นอธิบดีของอสูรและยักษ์ และเป็นสายวิชาที่เอาไว้ขับไล่ภูตผีปีศาจ

แม้ว่าท้าวเวสสุวัณจะไม่หมือนยักษ์ทั่วไป เพราะเป็นเทวดาสัมมาทิฏฐิ ดังกล่าวแล้ว แต่ทิพยภาวะของท่าน ก็ยังคงเป็นยักษ์ หรือ อสูร ครับ

อีกทั้งเทวรูปพระแม่กาลี ที่ทรงฤทธิ์ที่สุด จะต้องอยู่ในลักษณะเปลือยกาย ในขณะที่เทวรูปของท้าวเวสสุวัณ มักจะแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างอลังการเสมอ

พระแม่กาลี ยังทรงทรงพอพระทัยในกามารมณ์ การเสพเมถุน การบูชาพระนางที่จะทำให้ได้ผลอันสูงสุด จะต้องมีการปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้ถวาย 

ดังนั้น แม้ไม่บูชาท้าวเวสสวัณ เทวรูปของพระนางก็ไม่ควรประดิษฐานในห้องพระอยู่แล้ว

แต่ถ้ามีท้าวเวสสุวัณอยู่ด้วย จะทำในสิ่งเหล่านี้แม้ในขั้นอนุโลมที่สุด เช่น การเปิดหนังถวาย ก็ทำไม่ได้เลยครับ เพราะพระองค์ไม่โปรด

สิ่งที่ท้าวเวสสุวัณโปรด คือ ผู้บูชาที่ปฏิบัติธรรม ไม่หมกมุ่นในเรื่องทางโลก พระองค์จะทรงเฝ้าดู และประทานการคุ้มครองให้อย่างไม่จำกัด

ทิพยภาวะ และประติมานวิทยาขัดแย้งกันเช่นนี้ จึงบูชาในห้องเดียวกันไม่ได้ครับ

๘) แม้ไม่ควรบูชาร่วมกับพระแม่กาลี แต่ถ้าเป็น พระกาลีไภรวี (Kali Bhairavi) หรือ พระแม่กาลีทรงเครื่องประทับยืน ศิลปะอินเดียใต้ ก็สามารถบูชาในสถานที่เดียวกับท้าวเวสสุวัณได้

และตั้งใกล้กันได้ ถึงขนาดที่ว่า เพียงแต่มีเทวรูปอื่นคั่นกลางเพียงองค์เดียว ซึ่งควรเป็น ท้าวมหาพรหม หรือ พระแม่ลักษมี ที่ทรงเครื่องอินเดียโบราณ (ไม่นุ่งส่าหรี) ก็พอ

คำกล่าวนี้ ผมทดลองแล้ว เป็นความจริงครับ




และเมื่อลองพิเคราะห์ พิจารณ์ ตามความรู้ที่มี ก็เข้าใจได้ว่า เป็นเพราะอะไร

-พระกาลีไภรวี เป็นสายวิชาที่ดัดแปลงมาจากลัทธิบูชาพระแม่กาลีเดิม โดยอิงกับเทวศาสตร์ของไศวะนิกายฝ่ายอินเดียใต้

-เทวศาสตร์อินเดียใต้ เป็น "ครู" สายหนึ่งของเทวศาสตร์ขอม และเทวศาสตร์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา

-ดังนั้น ไม่ว่าประติมานวิทยาใดๆ ของอินเดียใต้ ย่อมใช้ร่วมกันได้กับเทวศาสตร์ขอม และเทวศาสตร์ไทย

-ท้าวเวสสุวัณ ก็เป็นเทวศาสตร์ไทยแขนงหนึ่ง ที่พัฒนามาจากเทวศาสตร์ขอม จึงไม่เป็นปฏิปักษ์กับเทวศาสตร์อินเดียใต้

-สำคัญที่สุด เนื่องจากประติมานวิทยา ของพระกาลีไภรวีนั้น เปลี่ยนแปลงจากสภาวะของเทพปีศาจ ผู้ปราบอสูร เป็นเทพอสูรไปแล้วไงครับ

พอเป็นเทพอสูร และทรงเครื่องแบบจัดเต็ม เพียงแต่ยังคงเปลือยอกตามแบบโบราณเท่านั้น ไม่ใช่เปลือยทั้งองค์แบบพระแม่กาลี จึงบูชาร่วมกับท้าวเวสสุวัณ ซึ่งเป็นจอมอสูรได้

รวมทั้งเทพอสูรองค์อื่น ซึ่งมีหลักเดิมว่า ไม่ควรบูชากับพระแม่กาลี เช่น พระพิราพ พระพิเภก ก็สามารถบูชาร่วมกับพระแม่กาลีไภรวีได้ โดยไม่มีปัญหาใดๆ เช่นกัน

รูปเคารพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นของดีครับ แต่ก็เป็นของอาถรรพณ์ด้วย ทุกอย่างละครับ

ต้องรู้วิธีบูชาครับ แล้วชีวิตจะเจริญรุ่งเรือง

เป็นอะไรที่ต้องยึดมั่น ในคำสอนของคนโบราณ ที่ท่านมีประสบการณ์มาแล้ว คิดเองเออเองไม่ได้ครับเรื่องแบบนี้


……………………………

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด