บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพรปีใหม่ พร้อม ส.ค.ส.พระมหาชนก สำหรับปีพ.ศ.๒๕๕๘ |
ในรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ได้ทรงพระราชนิพนธ์มหานิบาตชาดกเรื่อง พระมหาชนก ขึ้นใหม่
โดยทรงแปลจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ต้นเรื่อง จนจบในพ.ศ.๒๕๓๑
แต่เวลาก็ล่วงไปอีก ๘ ปี
พระราชนิพนธ์ดังกล่าวจึงได้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกครับ
การจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ดังกล่าว เป็นงานใหญ่
เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองปีกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล
จึงทรงมีพระราชดำริจะจัดทำเป็นหนังสือภาพ
และด้วยเหตุนั้น จึงทรงคัดเลือกศิลปินร่วมสมัย
ที่มีผลงานทางศิลปะในระดับแถวหน้าของเมืองไทยในขณะนั้น ๘ ท่าน คือ ปัญญา วิจินธนสาร,
เนติกร ชินโย, จินตนา เปี่ยมศิริ,
เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์, ประหยัด พงษ์ดำ,
พิชัย นิรันต์, ธีระวัฒน์ คะนะมะ และ ปรีชา เถาทอง แบ่งกันวาดภาพจิตรกรรมประกอบพระราชนิพนธ์ทุกตอน
เป็นจำนวนถึง ๓๖ ภาพ
ศิลปินเหล่านั้น ต่างทุ่มเทชีวิตจิตใจ
และความเชี่ยวชาญเท่าที่มีอยู่ ทำงานถวายอย่างเต็มฝีมือ
ทุกภาพได้นำมาตีพิมพ์ประกอบพระราชนิพนธ์ เป็นหนังสือขนาดใหญ่ ปกแข็ง
พิมพ์สี่สีบนกระดาษอาร์ตทั้งเล่ม
จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙ โดยบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
จำกัด (มหาชน)
ภาพจาก http://BlogGang.com |
หนังสือพระราชนิพนธ์นี้ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพอันหลากหลาย
ในองค์พระบาทสมเด็จพระประมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ
๑. พระปรีชาสามารถในด้านการประพันธ์
พระองค์ไม่เพียงทรงพระราชนิพนธ์คัมภีร์ทางศาสนาที่มีเนื้อความซับซ้อน
ให้อ่านง่ายและกระชับขึ้นเท่านั้นนะครับ
ยังได้ทรงรักษาไว้ซึ่งสารัตถะเดิมที่สำคัญทั้งหมดด้วย
ทั้งยังทรงอธิบายพระคาถา ตามเหตุการณ์ต่างๆ
ไปตลอดเรื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ ให้พิจารณาต่อเนื่องได้อย่างแจ่มชัด
ทำให้แม้แต่ผู้อ่านที่ขาดความรู้ที่สุด ก็สามารถอ่านเข้าใจได้
ไม่เพียงเท่านั้น ยังทรงพระราชนิพนธ์ดัดแปลง
สอดแทรกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเชื่อมโยงความคิดมาสู่เหตุการณ์จริง
ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ได้อย่างแยบยลด้วยครับ
สำนวนภาษาที่ทรงใช้ ก็ล้วนแต่เรียบง่าย
ตรงไปตรงมา มีถ้อยคำที่เร้าใจ มีความงามของจังหวะ และน้ำเสียงแพรวพรายอยู่โดยตลอด
ผู้ใดได้อ่านแล้ว จะไม่สามารถวางลงได้จนกว่าจะจบเรื่อง
๒. พระปรีชาสามารถในด้านการแปล
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ต่างยกย่องกันว่า
ทรงแปลทั้งเนื้อเรื่อง และการอธิบายพระคาถาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษอย่างสละสลวย
ทำให้ชาวต่างชาติ ซึ่งไม่คุ้นกับศาสนาและวัฒนธรรมไทย สามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง
ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่แตกฉานภาษาอังกฤษมากนัก
หากต้องการจะฝึกทักษะทางภาษา ก็สามารถอ่านเข้าใจได้โดยตลอด เพราะไม่ทรงใช้ศัพท์ยาก
กล่าวคือ ทรงพระราชนิพนธ์ภาษาไทยอย่างไร
ก็ทรงพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษอย่างนั้นละครับ
๓. พระปรีชาสามารถในด้านโหราศาสตร์
ทรงทำแผนภูมิพยากรณ์
ผูกดวงวันออกเดินทางของพระมหาชนก จากเมืองจัมปาไปยังกรุงมิถิลา
โดยทรงคำนวณตามรายละเอียด ที่บรรยายไว้ในชาดกเดิมได้อย่างสอดคล้องกัน
จนแสดงให้เห็นว่า
เหตุการณ์สำคัญในเรื่องพระมหาชนกนี้
สามารถเทียบเคียงได้กับความรู้ทางโหราศาสตร์ไทยด้วย
๔. พระปรีชาสามารถในทางศิลปกรรม
เป็นที่เทิดทูนในวงการศิลปะของไทยกันมานานแล้วว่า
ทรงเป็นอัครศิลปิน ทรงมีผลงานทางศิลปกรรมส่วนพระองค์ที่สูงส่งด้วยความเป็นศิลปวิสัย
(Artistic)
อย่างสูง
สำหรับในพระราชนิพนธ์ชุดนี้
แม้จะมิได้ทรงเขียนภาพประกอบส่วนใหญ่ แต่ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำ
และวิจารณ์งานเขียนภาพประกอบทั้งหมดแก่ศิลปินที่เขียนถวาย
ด้วยพระอัจฉริยภาพทางศิลปะที่ลุ่มลึก จนหลายๆ ครั้งก็ทรงชี้แนะถึงบางแง่มุม
ที่ศิลปินผู้เชี่ยวชาญยังนึกไม่ถึงเลยครับ
นอกจากนี้
ยังได้ทรงจัดทำแผนภูมิพยากรณ์วันเดินทางของพระมหาชนก โดยทรงสร้างภาพลายเส้น
แสดงแผนที่อาณาบริเวณทั้งหมดที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ลงสเกลตามแบบมาตรฐานสากลทุกประการ
ภาพจาก http://tiwrm.haii.go.th |
ในแผนภูมินั้น ตอนบนทรงบรรจุรูปพระมหาชนก
และพระมณีเมขลาขณะโต้ตอบสนทนาธรรมกัน ตามแบบอย่างภาพลายเส้นของ สมเด็จฯ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงเขียนไว้เมื่อพ.ศ.๒๔๖๘
และยังทรงบรรจุแผนภูมิดวงชะตาทางโหราศาสตร์ไว้ด้วย
ภาพฝีพระหัตถ์ที่สร้างขึ้น
ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบที่คล้ายกันนี้ ยังปรากฏต่อมาใน ส.ค.ส.พระราชทานสำหรับปีพุทธศักราช
๒๕๔๒ ซึ่งทรงออกแบบได้อย่างเรียบง่าย และสมบูรณ์แบบในตัวเอง
กล่าวคือ ได้ทรงนำภาพลายเส้นของสมเด็จฯ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มาเป็นภาพประกอบหลัก และทรงบรรจุบทสนทนาในส่วนที่สำคัญ
ระหว่างพระมณีเมขลาและพระมหาชนก ไว้เตือนใจผู้ได้รับพระราชทาน ส.ค.ส.ชุดนี้
ซึ่งนั่นก็คือประชาชนไทยทุกคนครับ
ในการจัดพิมพ์ พระมหาชนก ฉบับปกแข็งครั้งแรก ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้าง เหรียญพระมหาชนก ออกจำหน่ายพร้อมกัน มีทั้งเนื้อทองคำและเนื้อเงิน ด้านหน้าของเหรียญดังกล่าวเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ด้านหลังเป็นรูปพระมหาชนก และพระมณีเมขลา ตามแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ในการจัดพิมพ์ พระมหาชนก ฉบับปกแข็งครั้งแรก ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้าง เหรียญพระมหาชนก ออกจำหน่ายพร้อมกัน มีทั้งเนื้อทองคำและเนื้อเงิน ด้านหน้าของเหรียญดังกล่าวเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ด้านหลังเป็นรูปพระมหาชนก และพระมณีเมขลา ตามแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เหรียญชุดนี้ ออกแบบโดย รศ.นนธิวรรธน์
จันทนะผะลิน ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปรากฏว่า พระราชนิพนธ์พระมหาชนกฉบับปกแข็งกลายเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง
จนหมดไปอย่างรวดเร็ว เป็นที่กล่าวขวัญชื่นชมยินดีทั้งในวงการหนังสือ
และมหาชนทั่วไป
ส่วนเหรียญพระมหาชนก
ที่ออกจำหน่ายพร้อมหนังสือดังกล่าว
ต่อมาได้มีผู้นำมาจำหน่ายกันในวงการพระเครื่องด้วยราคาที่สูงขึ้นไปอีกหลายเท่า
ในปีต่อมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ชุดนี้เป็นฉบับปกอ่อน และย่อลงในขนาด ๑๖ หน้ายกพิเศษ
แต่ยังคงพิมพ์สี่สีบนกระดาษอาร์ตทั้งเล่ม โดยออกวางจำหน่ายในราคา ๒๕๐
บาทเท่านั้น
ปรากฏว่า
กลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ของร้านหนังสือทุกแห่งในเมืองไทยเป็นเวลาหลายปีต่อมา
ไม่มีหนังสือเล่มใดลบสถิติลงได้จนปัจจุบันนี้ครับ
แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ก็ยังโปรดเกล้าฯ
ให้นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ชัย ราชวัตร
อัญเชิญพระราชนิพนธ์ดังกล่าวมาเขียนเป็นนิยายภาพ ตีพิมพ์ออกมาทั้่งฉบับขาวดำ
และสอดสีสวยงามทั้งเล่มอีก
โดยทรงมีพระราชประสงค์จะให้เข้าถึงนักอ่านที่เป็นเยาวชน
หนังสือนิยายภาพประกอบพระราชนิพนธ์ชุดนี้
ก็กลายเป็นหนังสือขายดีอีกเช่นกัน และต่อมาก็มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Animation
ด้วย
สำหรับประเด็นที่ผมอยากกล่าวถึงเป็นพิเศษ
ในบทความนี้ คือ ภาพของพระมณีเมขลา ในพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก
ทั้งฉบับปกแข็งและปกอ่อน ซึ่งเป็นผลงานของศิลปิน ๕ ท่าน คือ อ.เนติกร ชินโย, อ.เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์, ศ.ประหยัด พงษ์ดำ,
อ.พิชัย นิรันต์ และ
รศ.ปรีชา เถาทอง ครับ
อ.เนติกร ชินโย
เขียนภาพพระมณีเมขลาไว้ ๑ ภาพ ในแผนที่ช่วงแรกของบทพระราชนิพนธ์
ลีลาท่วงท่าของพระมณีเมขลาของ อ.เนติกร ดูเหมือนกับภาพลายเส้นของสมเด็จฯ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
มีรายละเอียดผิดกันเล็กน้อย
และส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาก็มีเพียงแต่สีสันเท่านั้น
ภาพดังกล่าวลอยอยู่เหนือแผนที่แบบสมัยใหม่
ที่แสดงสภาพทางภูมิศาสตร์ และที่ตั้งเมืองอย่างคร่าวๆ
อ.เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์ เขียนภาพพระมณีเมขลาประกอบพระราชนิพนธ์
ตอนที่พระมณีเมขลาเสด็จมาพบพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่ คือภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์บทที่
๒๑ มีเพียงภาพเดียวเท่านั้น
แต่เป็นภาพของเทพนารีที่เปี่ยมไปด้วยเส้นสี
แนวความคิด และความชำนาญอย่างยิ่ง
ทิพยรูปของพระมณีเมขลาที่ลอยอยู่เหนือทะเลนั้นเบา
สว่าง เปล่งประกายแห่งรัศมีอันเรืองรอง อยู่ในลีลาที่สวยงามหมดจด งามอย่างสูงส่งและอัศจรรย์
นี่เป็นภาพพระมณีเมขลาที่ดีที่สุดภาพหนึ่ง
เท่าที่มีอยู่ในประเทศไทยของเราครับ แม้ว่าจะไม่ใช่ภาพที่ยากที่สุด ที่
อ.เฉลิมชัยเขียนประกอบพระราชนิพนธ์ฉบับนี้ก็ตาม
ภาพจาก http://thaiforhetit.blogspot.com |
ศ.ประหยัด
พงษ์ดำ เขียนภาพพระมหาชนกพบพระมณีเมขลาในทะเล
จนได้รับการช่วยเหลือในที่สุด โดยเขียนไว้ทั้งหมด ๒ ภาพ ประกอบบทพระราชนิพนธ์บทที่
๒๒ และ ๒๗
ลักษณะการเขียนภาพของ ศ.ประหยัด นั้น
ไม่เน้นความอลังการในด้านทักษะอย่าง อ.เฉลิมชัยหรอกครับ แต่ใช้เส้น สี
การประกอบภาพที่เรียบง่าย ชัดเจน
จึงแม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์เดียวกัน
บรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกก็ผิดกันมากครับ
กล่าวคือ ขณะที่ภาพพระมณีเมขลาของ อ.เฉลิมชัย
แสดงถึงบรรยากาศที่เป็นทิพย์ ภาพของ รศ.ประหยัด จะดูนิ่มนวล ใสสะอาด
ทั้งยามที่เหาะลงมาใกล้พระมหาชนก และเมื่อประคองพระมหาชนกพาเหาะไปกรุงมิถิลานั้น
ดูแฉล้มแช่มช้อย เป็นความงามอย่างไทยๆ อันบริสุทธิ์ไม่แต่งแต้ม
ซึ่งเป็นแนวที่ถนัดของศิลปินผู้นี้
ภาพจาก http://thaiforgetit.blogspot.com |
อ.พิชัย นิรันต์
ก็เขียนภาพพระมณีเมขลาในพระราชนิพนธ์ตอนนี้ไว้ ๒ ภาพเช่นกัน โดยเขียนประกอบบทที่
๒๓ และ ๒๕
พระมณีเมขลาของศิลปินท่านนี้
เปล่งรัศมีทั้งพระวรกายอยู่บนท้องฟ้าที่เริ่มกระจ่าง เป็นสัญญาณว่า
ผลแห่งความอุตสาหะของพระมหาชนกนั้นได้เป็นที่ประจักษ์แล้ว
ตามมุมมองของผม ลีลาของพระมณีเมขลาในงานของ อ.พิชัย
ดูไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับของ ๒ ท่านที่กล่าวมา แต่ก็งามอยู่ในตัวเองครับ
ส่วน รศ.ปรีชา เถาทอง เขียนไว้ ๒ ภาพ
สำหรับประกอบพระราชนิพนธ์บทที่ ๓๔ และ ๓๖
ภาพจาก http://thaiforgetit.blogspot.com |
ภาพแรกนั้น เขียนตอนทรงอุ้มพระมหาชนกลอยอยู่ในกรอบรูปวงรี
มีฉากหลังเป็นลวดลายประดิษฐ์ และภาพสัตว์น้ำต่างๆ
เป็นส่วนประกอบเบื้องบนของภาพ เมื่อพระมหาชนกครองกรุงมิถิลา
พระมณีเมขลาของ รศ.ปรีชาในภาพนี้ ดูงดงามลงตัว
ในแบบอย่างที่เรียบง่าย และโทนสีที่อ่อนหวานเป็นพิเศษครับ
ส่วนอีกภาพนั้นมีขนาดใหญ่กว่า
เล่าเรื่องตอนที่ทรงพบกับพระมหาชนกในทะเล
ในภาพดังกล่าวเทพนารีองค์นี้ฉลองพระองค์อย่างสวยงาม อยู่ในพระอิริยาบถที่นิ่มนวล
มีพระรัศมีเปล่งออกจากพระเศียร
ดูสว่างอยู่ท่ามกลางท้องฟ้าสีสดอย่างเห็นได้ชัด
ภาพจาก http://thaiforgetit.blogspot.com |
น่าสังเกตว่า เฉพาะเหตุการณ์ระหว่างพระมหาชนกและพระมณีเมขลา
ในพระราชนิพนธ์ชุดนี้ มีศิลปินถึง ๔
ท่านเขียนภาพประกอบ เป็นจำนวนมากถึง ๗ ภาพ ราวกับจะเป็นการประชันฝีมือกัน
เหตุการณ์อื่นในเรื่องไม่มีอย่างนี้นะครับ
นั่นก็เพราะ
เนื้อเรื่องระหว่างพระมหาชนกกับพระมณีเมขลานี้่ เป็นตอนที่สำคัญที่สุด
คือเป็นตอนที่พระมหาชนกได้แสดงธรรมในเรื่องความเพียร อันเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดพระราชนิพนธ์ชุดนี้ขึ้นมานั่นเอง
เป็นการเหลือวิสัยที่จะนำภาพทั้งหมดที่ได้บรรยายแล้ว
มาให้ชมในบทความนี้ คงนำมาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ภาพทั้งหมดจะหาดูได้ในหนังสือพระราชนิพนธ์พระมหาชนก
ทั้งฉบับปกแข็งและปกอ่อน แต่ขณะที่เขียนบทความนี้
ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายหลังการเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
ก็คงมีแต่ฉบับปกอ่อนเท่านั้นที่อาจพอหาซื้อได้
ส่วนภาพลายเส้นพระมณีเมขลา
ในนิยายภาพประกอบพระราชนิพนธ์ชุดเดียวกันนี้ของ อ.ชัย ราชวัตร ก็เป็นลีลาเฉพาะของผู้รังสรรค์ภาพ
ที่เจนจัดในด้านการเขียนการ์ตูนล้อการเมืองมาก่อน
และเมื่อดูจากเนื้อเรื่องทั้งหมดแล้วก็ไม่ใช่ภาพที่มีสำคัญมากนัก
เป็นหนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่จักตราตรึงไว้ในประวัติศาสตร์ไทยตลอดไป ชั่วกาลนาน
.............................
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์
ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL
ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด