วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559

พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม เป็นชายหรือหญิงกันแน่?

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




ในฐานะที่เป็นนักเขียนด้านเทววิทยาคนหนึ่ง คำถามยอดฮิตที่ผมได้รับอยู่เนืองๆ ก็คือ แท้จริงแล้ว พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมทรงเป็นเพศชายหรือเพศหญิง?

ซึ่งถ้าจะให้ผมตอบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ในบทความนี้ ผมก็จะตอบว่า ไม่ทราบ

เพราะตัวผมเอง ไม่มีญาณวิถีใดๆ ที่จะหยั่งรู้ในเรื่องนั้นครับ

และผมก็ไม่เคยมีประสบการณ์ รู้เห็นทิพยรูปของพระมหาโพธิสัตว์กวนอิม เหมือนอย่างที่เคยได้สัมผัสรู้เห็นองค์เทพฝ่ายไทย อินเดีย จนถึงสแกนดิเนเวียและอียิปต์หลายองค์ ตามเหตุปัจจัยแห่งสายวิชาที่ผมได้รับสืบทอดมาโดยตรง

นั่นก็เพราะว่า เทวศาสตร์จีน ผมรู้แต่จากตำราและคำบอกเล่าเป็นส่วนใหญ่ ที่ได้มาโดยตรงนั้นน้อยมาก และไม่เกี่ยวกับพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมด้วยครับ

แต่ถ้าจะถามว่า ถ้าเช่นนั้น, การที่ตำราต่างๆ โดยเฉพาะที่มีการเผยแพร่ออกมาจากฝ่ายมหายานว่า พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมเป็นภาคหนึ่งของ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์---ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน

และด้วยเหตุนั้น แท้ที่จริงจึงเป็นเพศชาย...ผมมีความเห็นอย่างไร?




คำตอบคือ ผมไม่เชื่อครับ

เพราะตำราฝ่ายมหายานพวกนั้น มีไว้เพื่อครอบงำลัทธิบูชาเทพพื้นเมืองต่างๆ ในจีน ซึ่งทำกันอย่างสม่ำเสมอ

ชนิดที่ว่า เห็นใครเขานับถืออะไร ก็ลากเข้ามาแต่งเนื้อแต่งตัวใหม่ให้เป็นมหายาน

ลากมาแล้ว ก็มีการยกพระสูตร ยกตำนานสารพัดอย่าง เป็นตำนานของเดิมที่พอจะเข้ากันได้บ้าง หรือแต่งใหม่ขึ้นมา แล้วอ้างว่าเป็นของเดิมบ้าง มาอธิบายเสียใหม่ว่า แท้ที่จริงเทพองค์นั้น คือพระอะไรต่อมิอะไรในทางมหายาน มีพระนามเป็นภาษาสันสกฤตยาวๆ ยากๆ ที่ทำให้คนไม่มีความรู้หลงเชื่ออย่างง่ายดาย

เสร็จแล้วก็จัดการ ข่มลัทธิที่นับถือเทพเหล่านั้นมาแต่เดิมว่า เป็นการนับถือที่ผิด ที่จริงต้องไหว้เทพองค์นั้นตามแบบที่เป็นมหายาน

มหายานทำอย่างนี้บ่อยครับ

ที่เห็นชัดๆ ก็คือ กรณีของ พระโพธิสัตว์ชัมภล ที่มาจากท้าวกุเวรของอินเดีย แล้วมีการเชื่อมโยงไปถึงเทพโชคลาภของจีน คือ ไฉ่สิ่งเอี๊ย ในบทความที่ผมเขียนไปแล้วใน blog เดียวกันนี้ คือ http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2016/02/blog-post.html

ก็ขนาดเทพกวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ในศาสนาเต๋า มหายานจีนก็ยังนำมาเป็นเทพผู้พิทักษ์ศาสนสถาน หรือ พระสังฆารามปาลโพธิสัตว์ (เฉียหลานผูซา ในภาษาจีนกลาง หรือ แคน้ำผ่อสัก ในภาษาแต้จิ๋ว)




พร้อมกับมีตำนานอธิบายว่า เทพกวนอูประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ต่อหน้าผู้ก่อตั้งนิกายสัทธรรมปุณฑริกของจีนเมื่อ พ.ศ.๑๑๓๕ และยังช่วยเหลือในการสร้างวัดด้วย

สนุกมั้ยล่ะครับ?

วิธีการอย่างนี้ ศาสนาฮินดูก็ใช้อยู่ ทั้งเรื่องพระนารายณ์อวตาร หรือเรื่องพระศิวลึงค์และครอบครัวบริวารของพระศิวะ

ใครก็ตามนะครับ ที่ศึกษาเทววิทยาอินเดีย และไม่คลั่งไคล้ศาสนาฮินดูขนาดหนัก จะรู้เท่าทันว่า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องจริงที่ควรยึดถือแต่ประการใด

ตำราบางส่วนที่มีการเผยแพร่ออกมาน้อยกว่าต่างหาก ที่ผมเห็นว่าน่าจะอธิบายได้ดีกว่า

ดังเช่นที่มีบางท่านกล่าวว่า กวนอิม หรือการออกเสียงที่แท้จริงคือ กวงอิม นั้น คนจีนจำนวนมากที่ใช้คำดังกล่าวในลักษณาการที่เกือบจะเหมือน พระเจ้า หรือ God ในศาสนาเอกเทวนิยม อย่างศาสนาคริสต์และอิสลามเลยทีเดียว

โดย กวงอิม ที่เป็นทิพยภาวะสูงสุดนี้ บางทีก็มีผู้เรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า พระสัมมาธรรมวิทยาพุทธ

เป็นทิพยภาวะหนึ่งเดียว แต่ด้วยความที่ทรงมีพระมหากรุณา ที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็ทรงแบ่งภาคมาเป็นพระโพธิสัตว์หลายองค์ ในกาลเวลาและสถานที่ต่างๆ กัน เจ้าแม่กวนอิมที่เรานิยมกราบไหว้กันอยู่ ก็เป็นภาคหนึ่งของทิพยภาวะสูงสุดนี้

อันนี้ผมว่าน่าฟังครับ

เพราะเมื่อแบ่งภาคมาจากทิพยภาวะสูงสุดแล้ว จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ แล้วแต่จะแบ่งภาคไปในรูปนามใด

และถ้าแบ่งภาคไปในรูปลักษณ์ของสตรีเพศ ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีใครมาคอยยืนยันว่า แท้จริงแล้วเป็นบุรุษ ให้เกิดความสับสนโดยใช่เหตุ




อีกทั้งถ้าจะพิจารณาในแง่ของภาษา ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า เราสามารถพูดถึงพระโพธิสัตว์กวนอิมได้ โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงไปถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเลยครับ

เพราะคำว่า กวงอิม หรือ กวงซีอิม ของคนจีนที่ไทยเรามาเรียกเพี้ยนกันว่า กวนอิม นั้น มีความหมายแต่เพียงว่า ผู้สดับเท่านั้น

และก็เป็นคำที่ไม่จำเป็นต้องหมายถึงเจ้าแม่กวนอิม ที่เราเห็นกันทั่วไปเพียงอย่างเดียว

แต่ยังหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ที่มีผู้นับถือว่าสามารถช่วยเหลือผู้คนได้อย่างยิ่งใหญ่เห็นเป็นอัศจรรย์ ก็ได้ด้วยนะครับ

ดังเช่น ถ้าใครเคยไปเที่ยววัดเส้าหลิน จะเห็นรูปปั้นพระจีนถือกระบองเหล็ก ซึ่งมีที่มาจากพระภิกษุลึกลับรูปหนึ่ง ที่ปรากฏตัวขึ้นมาช่วยเหลือพระในวัดต่อสู้กับกองทัพกบฏสมัยราชวงศ์หยวน จนกองทัพนั้นแตกพ่ายหนีไป

พระภิกษุลึกลับนี้ก็ถูกเรียกว่า กวงอิม และมีการสร้างรูปเคารพของท่านสำหรับกราบไหว้กันสืบมา ซึ่งดูไม่เหมือนเจ้าแม่กวนอิมเลย

นอกจากนี้ พระหัยครีพ (Hayagriva) เทพผู้มีพระเศียรเป็นม้าในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมหายานไปลากเข้ามาเป็นพระโพธิสัตว์อีกองค์หนึ่งนั้น คนจีนก็เรียกกันง่ายๆ ว่า กวงอิมหัวม้า

เพราะฉะนั้น ถ้าดูจากทัศนคติของคนจีนโดยทั่วไป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่มีพลังอำนาจยิ่งใหญ่ มีเมตตาบารมีสูงส่ง คอยช่วยเหลือมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก จนมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว ก็อาจถูกเรียกว่า กวงอิม ได้ทั้งนั้น

เป็นคำที่ใช้รวมๆ คล้ายกับคำว่า พระเป็นเจ้า ในภาษาไทย ไม่ได้หมายถึงเทพองค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงเทพ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนจีนนับถือมานานแล้ว ผมเห็นว่า เราควรพูดตามทรรศนะของคนจีนเป็นหลัก

ไม่ใช่พยายามจะชี้ผิดชี้ถูก ด้วยการไปเอาตำราเก่าของอินเดียมาตัดสิน อย่างที่เป็นประเด็นให้ผมนำมาเขียนในบทความนี้

ถ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนจีนเพิ่งยอมรับนับถือไม่นาน ไม่กี่สิบปีมานี้ เช่น จตุคามรามเทพของไทย อย่างนั้นต่างหากครับ ถึงจะเอาตำราเดิมมายืนยันได้ว่า อะไรผิดอะไรถูก

นี่ละครับ ที่ว่าถ้าใครต้องการ บรรทัดฐานอะไรสักอย่าง สำหรับการตัดสินเกี่ยวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน ลัทธิใดๆ ก็ตาม เราก็พึงเอาทรรศนะของ ลัทธินั้นละครับ เข้าไปตัดสิน ไม่ใช่ไปเอาตำราของลัทธิอื่นนอกเหนือจากนั้นมาตัดสิน

อย่างคติการบูชาพระมหาโพธิสัตว์กวนอิม เราจะต้องยึดหลักว่า เป็น ลัทธิที่เกิดในเมืองจีน เป็นของจีน

ส่วน คติการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เกิดในอินเดีย เป็นของมหายานเดิม

ในทางเทวศาสตร์ เรามีหลักอยู่ว่าแม้ว่าคติเดิมนั้นจะสำคัญ แต่คติอื่นที่แตกสาขา แยกย่อยออกไปนั้นก็สำคัญเช่นกัน

และในด้านของการนับถือบูชา รวมทั้งพิธีกรรมต่างๆ ก็จะเอาคติเดิม หรือแต่ละคติมาปะปนกันไม่ได้นะครับ แม้จะเป็นเทพองค์เดียวกันก็ตาม

ยกตัวอย่างจากบทความที่ผมเคยเขียนไปแล้วนั่นแหละครับ เรื่องของพระโพธิสัตว์ชัมภล

เทพองค์นี้ คติเดิมในอินเดียคือเป็นเทพในศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเป็นเทพแห่งความมั่งคั่งในศาสนาฮินดู เป็นพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธมหายาน เป็นท้าวเวสสุวัณในไสยศาสตร์ไทย และเป็นเทพ บิชามง ในศาสนาชินโตของญี่ปุ่น เป็นต้น




ทั้งหมดนี้คือเทพองค์เดียวกัน แต่คติการนับถือ หรือสายวิชาแตกแยกจากกันไปในแต่ละชนชาติ เป็นเวลาหลายร้อยปีหรือพันปี และแต่ละสายก็มีพัฒนาการไปเป็นตัวของตัวเอง ตามเวลาที่ผ่านไป

จนในทางเทวศาสตร์ถือว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเอามาบูชา หรือทำพิธีปะปนกัน

เช่น เอาคาถาพระโพธิสัตว์ชัมภล โอม ชัมภาลา จาเลน ไนเยน สะวาหะมาเสก หรือสวดบูชาท้าวเวสสุวัณของไทยที่เป็นเทวรูปยักษ์ถือกระบอง ไม่ได้นะครับ จะไม่เกิดผลอะไรแม้แต่นิดเดียว

หรือเอาหัวใจคาถาท้าวเสสุวัณไทย คือ เวส สะ พุ สะไปสวดบูชาเทพบิชามงของญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ผลอะไรเช่นกันนะครับ

เรื่องง่ายๆ อย่างนี้ ปุถุชนคนธรรมดาที่มีสามัญสำนึก จะเข้าใจได้เป็นอย่างดี

พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมก็เช่นกันครับ

ต่อให้คติเดิมของพระองค์เมื่อแรกเข้าสู่ประเทศจีน (ราวๆ พ.ศ.๖๑๐ ในสมัยพระเจ้าฮั่นเม่งตี้ จักรพรรดิองศ์ที่ ๑๗ แห่งราชวงศ์ฮั่น) จะเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรืออะไรก็แล้วแต่ ประติมานวิทยาของพระองค์จะยังคงรูปลักษณ์ของบุรุษเพศตามแบบอินเดีย หรืออย่างไรก็ตามแต่จะอ้างกัน




แต่ต่อมา เมื่อคติการบูชาพระมหากวนอิมโพธิสัตว์ ในรูปลักษณ์ของสตรีเพศ หรือฉลองพระองค์แบบสตรีเพศ ได้เกิดขึ้นมาในแผ่นดินจีน โดยมีฐานความเชื่ออยู่บนตำนานพื้นเมืองต่างๆ ของจีนเอง เช่น ตำนานของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน แห่งอาณาจักรชิงหลิง

รวมทั้งมีการรวมเอาคุณสมบัติเด่นๆ จากบรรดาเจ้าแม่พื้นเมืองของจีน เช่น การเป็นเจ้าแม่ประทานบุตร (จูแซเนี้ย) เจ้าแม่ผู้ประทับเหนือมังกร (หนึ่งออเหนี่ยเนี้ย) ฯลฯ จนกลายเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนจีนเรียกว่า กวงอิมผ่อสัก หรือ กวงอิมเนี้ย ในปัจจุบัน

พระองค์ก็ไม่ใช่พระอวโลกิเตศวร หรือไม่เกี่ยวข้องกับพระอวโลกิเตศวรอีกต่อไป

นี่ว่ากันตามหลักเทววิทยาล้วนๆ นะครับ 

ไม่ใช่หลักผม หลักใคร หรือหลักที่จะเอาใจใคร

ซึ่งก็ต้องขอเน้นย้ำอีกที ที่ผมบอกไปแล้วละครับ คำว่า ผ่อสัก ในภาษาจีน ไม่จำเป็นต้องหมายถึงพระโพธิสัตว์แบบที่เรารู้จักกันในทางมหายาน หรือเถรวาท

ส่วนคำว่า เนี้ย (ที่จริงออกเสียงยากกว่านี้ ปริวรรตเป็นอักษรไทยไม่ได้) ก็สื่อความหมายตรงๆ ถึง “ผู้หญิง” อยู่แล้ว

เมื่อเป็นไปดังนี้ ในทางเทววิทยา จึงถือว่า ไม่จำเป็น และ ไม่สำคัญอะไรเลยครับ ที่จะต้องมานั่งยืนยันกันหน้าดำหน้าแดงว่า แท้ที่จริงพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมต้องเป็นเพศชายเท่านั้น และต้องเป็นองค์เดียวกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรด้วย

ทีนี้ คนชื่นชอบมหายานอย่างหนัก แต่ดูถูกสติปัญญาของคนจีน ก็เลยอ้างกันง่ายๆ อย่างที่นักปฏิบัติธรรมสายจีนคนหนึ่งพูดไว้ใน http://www.gmwebsite.com/Webboard/Topic.asp?TopicID=Topic-13012800080068716 ว่า

"เจ้าแม่กวนอิมจริงๆน่ะ เป็นผู้ชายนะไม่เชื่อก็ให้สังเกตดูให้ดีๆสิ รูปภาพหรือรูปหล่อของเจ้าแม่กวนอิมแต่โบร่ำโบราณที่สร้างถูกตามหลักแท้ๆน่ะ ที่ไหนจะทำให้มีหน้าอกแบบผู้หญิงจริงๆบ้าง มีแต่แบนราบแบบผู้ชายทั้งนั้น..!!!???!!!???"

คำพูดแบบนี้ ใครรู้จักประติมานวิทยาจีนได้ฟังคงหัวร่องอหายละครับ

เพราะรูปเคารพของเทพนารีจีน ตามหลักประติมานวิทยาจีนที่สร้างกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ เขาไม่นิยมสร้างให้มีหน้าอกแบบผู้หญิงจริงๆ นะครับ

เหตุผลก็คือ ขณะที่ชนชาติอื่นทั่วโลก ยกให้สตรีเพศเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และการสื่อให้เห็นถึงพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ ก็คือต้องทำให้เป็นรูปสตรีในวัยสาว มีหน้าอก หรือ เต้านม ที่เห็นชัดเจน เป็น ภาษาภาพที่คนทั้งโลกเห็นแล้วเข้าใจตรงกัน

คนจีน ก็มองว่าสตรีเพศเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์เช่นกันครับ

แต่เขาไม่นับถือหญิงสาววัยกำดัด เพราะในวัฒนธรรมของเขานับถือคนแก่ หรือผู้อาวุโส ไม่นับถือเด็กหรือผู้อ่อนอาวุโส (ยกเว้นเด็กที่มีฤทธิ์มากเป็นที่ประจักษ์ เช่น ยุวเทพนาจา)

ผู้หญิงที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ตามทรรศนะของชาวจีน จึงเป็นหญิงชราที่มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง มีลักษณะอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่งตัวงดงาม แสดงถึงความอยู่ดีกินดี




ประติมานวิทยาจีนแต่เดิม จึงสร้างเจ้าแม่แต่ละองค์เป็นหญิงชราอ้วนลงพุง ฉลองพระองค์อย่างอลังการ เป็นการสื่อความอุดมสมบูรณ์ตามวัฒนธรรมของเขา

และจึงไม่จำเป็นต้องเขียน หรือวาดเจ้าแม่องค์ใดให้มีหน้าอก เพราะไม่ใช่เรื่องที่เขาเห็นว่ามีความสำคัญไงครับ

ความเคยชินนี้ ติดมาถึงพระมหาโพธิสัตว์กวนอิม แม้พระวรกายจะอรชรอ้อนแอ้น ไม่อ้วนลงพุง (เพราะเป็นคติที่เกิดยุคหลังรับมหายานจากอินเดีย ที่ไม่นิยมทำรูปเคารพอ้วนลงพุง) แต่ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นจะต้องทำให้เห็นชัดเจนว่ามีพระถัน

ถ้าเข้าใจในจุดนี้ ไม่ว่าใครก็คงรู้สึกสงสารนักปฏิบัติธรรมคนนั้นละครับ ว่าแกไม่รู้อะไรเลยจริงๆ

และที่จริงแล้ว การวาด หรือปั้นพระมหากวนอิมโพธิสัตว์ให้เห็นว่า มีหน้าอกหน้าใจแบบผู้หญิงนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลยนะครับ มีทำกันมาบ้างแล้ว

โดยเฉพาะพระแม่กวนอิม ที่ฉลองพระองค์ขาวตามแบบที่เห็นกันทั่วไปนี่แหละ ผมเห็นหลายองค์เลยทีเดียว




ภาพพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมบางภาพในปัจจุบัน แม้จะฉลองพระองค์ตามแบบของพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายานจีน คือเปลือยท่อนบน สวมเพียงเครื่องประดับ แต่ก็เขียนไว้ให้เห็นชัดนะครับ ว่าเป็นผู้หญิง ตามตัวอย่างที่ผมนำมาให้ดูกันนี้




ยังมีเทวรูป หรือประติมากรรมพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมซึ่งสร้างในปัจจุบัน ฉลองพระองค์เปลือยอกและมีหลายพระกร  ตามแบบของพระโพธิสัตว์มหายาน แต่ก็แสดงให้เห็นพระถันที่ชัดเจนเกินกว่าจะยอมรับว่าเป็นผู้ชายได้ เช่นพระแม่กวนอิมทองคำอันเลื่องชื่อแห่ง Sanya




การแสดงรูปลักษณ์ของพระมหาโพธิสัตว์กวนอิม ในแนวความคิดใหม่ๆ เช่นนี้ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของประติมานวิทยาจีนในยุคปัจจุบันด้วยนะครับ

กล่าวคือ หันไปให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ของหญิงสาวมากขึ้น

ดังเช่นเทวรูปพระแม่หนี่วาองค์ใหญ่ ตรงทางขึ้นเทวาลัยที่สำคัญที่สุดของพระองค์ที่เหอเป่ย ในบทความที่ผมเคยโพสต์ไปแล้วไงครับ

ดังนั้น ผมว่าถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็น่าจะเป็นไปตามนี้ :

๑) พระมหาโพธิสัตว์ ที่มีพระวรกายบอบบาง อ้อนแอ้นแบบสตรี ฉลองพระองค์แบบสตรีจีน คือชุดขาวหรือชมพู มีหรืออาจไม่มีผ้าขาวรัดมวยพระเกศา มักถือแจกันในพระหัตถ์




นั่นคือ พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม ที่เป็นคติของจีนแท้ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องให้ใครมายืนยันว่า เป็นความสับสนหรือเข้าใจผิดของคนจีน ต่อคติการนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

และควรเรียกได้อย่างสนิทปากว่า พระแม่กวนอิม

๒) พระมหาโพธิสัตว์ ที่มีรูปลักษณ์อย่างบุรุษ ที่ดูบอบบางสวยงามกว่าผู้ชายทั่วไป ฉลองพระองค์อย่างพระโพธิสัตว์มหายานจีน และประดิษฐานอยู่ในวัดมหายานจีน จะมี ๒ พระกร ๑๖ พระกร หรือพันเนตรพันกรก็ตาม ที่สำคัญคือไม่ถือแจกันในพระหัตถ์




แม้ทางวัดจะเรียกว่า พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมเช่นกัน ก็ควรบูชาในฐานะที่เป็น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ตามแบบมหายาน

ส่วนใครใคร่บูชาพระแม่กวนอิม หรือพระอวโลกิเตศวร หรือบูชาทั้งสององค์ ก็ตามศรัทธาจริตของแต่ละคน เพียงแต่ควรทำความเข้าใจว่า เป็นคนละองค์ ไม่ควรเอามาปะปนกัน

เป็นเสรีภาพในการบูชาครับ ไม่จำเป็นต้องเอาตำรามาข่มกัน บนพื้นฐานของการดูถูกสติปัญญากันอย่างที่เป็นอยู่


........................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

พระแม่ย่าสุโขทัย

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




พระแม่ย่า เป็นนามบัญญัติเรียกองค์เทวรูปซึ่งทำด้วยศิลาสีเขียว (บ้างว่าหินชนวน) ประทับยืนบนฐานบัวฟันหนู สูงประมาณ ๑๒๕ ซ.ม. เห็นเพียงด้านหน้า

เทวลักษณะ เป็นอย่างเทพนารีในศิลปะไทยโบราณ ฉลองพระองค์แบบนางพญา พระพักตร์ยาว พระหนุเรียว พระเกตุมาลายาว ทรงพาหุรัด ทองกร พระกรผายออกสองข้างตามแบบพระพุทธรูปรุ่นเก่าที่เรียกกันว่า ปางประทับยืน และยังดูเหมือนกับพระกรุสุโขทัยหลายกรุด้วยกัน ฉลองพระบาทปลายงอน

ปัจจุบันเทวรูปองค์นี้ปิดทองโดยตลอด และมีผู้ถวายผ้าทรง จึงเห็นเฉพาะพระพักตร์และผ้านุ่ง แต่ก็ยังพอสังเกตได้ถึงเทวลักษณะที่เป็นของเก่าโบราณมาก

เทวรูปที่เรียกกันว่าพระแม่ย่าองค์นี้ ตามประวัติเดิมว่าพบที่เพิงหินบนยอดเขาสูงที่สุดยอดหนึ่งของเขาหลวง ในเขตบ้านโว้งบ่อ ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ คือ เขาแม่ย่า หรือ เขาน่าย่า อยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยเก่าไปประมาณ ๗ ก.ม

เพิงหินที่พบเทวรูปนั้น ปัจจุบันก็เรียกกันว่า ถ้ำพระแม่ย่า และไม่มีโบราณสถานใกล้เคียงที่พอจะหาความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันได้


ภายในถ้ำพระแม่ย่า มีการตั้งองค์พระแม่ย่าจำลองไว้ ตามตำแหน่งที่เคยประดิษฐาน

จึงไม่ทราบว่า เหตุใดจึงมีผู้นำองค์พระแม่ย่าไปประดิษฐานไว้ในเพิงหินเช่นนั้น และแท้ที่จริงจะเป็นเทวรูปของเทพนารีองค์ใด ก็ยังไม่อาจจะสืบค้นได้มาจนทุกวันนี้ละครับ

อย่างไรก็ตาม เทวรูปพระแม่ย่าองค์นี้ก็คงจะมีผู้ไปค้นพบเข้า และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวสุโขทัยกราบไหว้บูชากันมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๖ เป็นอย่างน้อย

นักวิชาการในสมัยแรกๆ บางท่านก็เข้าใจว่าเป็นเทวรูป พระขพุงผี ซึ่งมีกล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่าเป็นใหญ่กว่าผีทั้งหมดในเมืองสุโขทัย

เช่น เมื่อ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จตรวจราชการเมืองพิษณุโลกพ.ศ.๒๔๕๕ ทรงบันทึกไว้ว่า

เบื้องหัวนอน มีพระขพุงผีเทพดาอยู่ที่เขาอันนั้น ทางเหนือเมืองสุโขทัยไม่มีภูเขาจนลูกเดียว ส่วนทางใต้มี ซ้ำไปหาเทวรูปได้อยู่ในเพิงหินด้วย ดูจะเป็นพระขพุงผีเทพดาแน่ ไม่มีปัญหาเลย...
         
เมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงเป็นองค์บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือในพ.ศ.๒๔๕๗ ได้ทรงมีรับสั่งให้ พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมภ์) เจ้าเมืองสุโขทัยขณะนั้นออกค้นหาพระขพุงผีตามทิศที่ศิลาจารึกระบุ

เมื่อพบเทวรูปพระแม่ย่า สมเด็จฯ ก็ทรงมีพระวินิจฉัยตรงกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถว่า น่าจะใช่พระขพุงผี ผู้รักษาเมืองสุโขทัยตามที่ศิลาจารึกบอกไว้ละครับ

เพราะคำว่า เบื้องหัวนอน ในศิลาจารึกสุโขทัยนั้น ตรงกับคำว่าทิศใต้ในภาษาไทยปัจจุบัน (คนสุโขทัยโบราณนอนหันหัวไปทางทิศใต้) ทิศใต้ของสุโขทัยมีเขาหลวง และในเขาหลวงก็ไม่มีเทวรูปอื่นอีก

จึงทรงมีรับสั่งให้อัญเชิญมาไว้ที่ศาลากลางจังหวัดในพ.ศ.๒๔๖๐ เพื่อสะดวกในการที่ประชาชนจะได้กราบไหว้ใกล้ๆ และจะได้เป็นการรักษาพระเทวรูปมิให้สูญ

นับแต่นั้น พระแม่ย่าจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุโขทัย เมื่อมีพระบรมราชโองการยุบจังหวัดสุโขทันเป็นอำเภอ และยกอำเภอสวรรคโลกขึ้นเป็นจังหวัดแทนในพ.ศ.๒๔๗๔ พระแม่ย่าก็ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานที่ศาลากลางเมืองสวรรคโลก

ครั้นมีพระบรมราชโองการให้ยุบจังหวัดสวรรคโลกและยกสุโขทัยขึ้นเป็นจังหวัดตามเดิมเมื่อพ.ศ.๒๔๘๒ ก็อัญเชิญกลับมาประทับที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัยอีก พอเทศกาลสงกรานต์ก็อัญเชิญออกให้ประชาชนสรงน้ำและแห่แหนทุกปี




ต่อมา พ.ศ.๒๔๙๖ ทางราชการเริ่มบูรณะเมืองเก่าสุโขทัย จึงมีการสร้างศาลพระแม่ย่าในบริเวณศาลากลางจังหวัด

ซึ่งในครั้งนั้น ได้มีการอัญเชิญดวงพระวิญญาณพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมาประทับในที่เดียวกัน

ทั้งนี้เพราะเชื่อกันในขณะนั้นว่า องค์เทวรูปพระแม่ย่าสร้างในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่ออุทิศถวายพระมารดา คือ พระนางเสือง
         
แต่ความเชื่อเช่นนี้ ปัจจุบันพิสูจน์ได้แล้วครับว่า ผิด

เพราะตามตามสายตาของนักประวัติศาสตร์ศิลปะในปัจจุบัน ลักษณะทางศิลปกรรมขององค์พระแม่ย่านั้นไม่เก่าถึงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ทั้งยังน่าจะแกะสลักขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ซึ่งถือว่าสิ้นยุครุ่งเรืองของสุโขทัยไปแล้วด้วยซ้ำ

อีกทั้งฝีมือช่างที่สร้างก็เป็นช่างระดับชาวบ้าน ไม่ใช่ช่างหลวงด้วยน่ะสิครับ

ส่วนการคาดคะเนของสมเด็จฯ ทั้งสองพระองค์ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้นั้น ผมกลับว่าน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

เพราะพระขพุงผี มิได้มีกล่าวเฉพาะในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยเราในปัจจุบันเท่านั้น ยังมีอยู่ในศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นของสุโขทัยแท้ๆ อีกด้วย

แต่ปัญหาก็คือ ถ้าไม่มีหลักฐานตรงๆ ว่าเทวรูปพระแม่ย่าถูกเรียกว่าพระขพุงผีมาตั้งแต่แรก ก็ไม่มีนักโบราณคดีของไทยคนไหนจะยอมเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นได้หรอกครับ

ดังนั้น จึงยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการที่ใดว่า พระแม่ย่าคือพระขพุงผีจริงในปัจจุบัน

แต่แม้กระนั้น คาถาบูชาพระแม่ย่าที่มีผู้คิดผูกขึ้น และเป็นคาถาที่ใช้บูชาอย่างได้ผลด้วย ก็ระบุว่าพระแม่ย่าคือพระขพุงผีครับ

ที่จริงยังมีการคาดเดาความเป็นมาขององค์พระแม่ย่าในทางอื่นอีก เช่นมีผู้เสนอว่า พระแม่ย่าคือเทวรูปพระอุมา ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระพายหลวง คู่กับพระศิวะ ที่เคยประดิษฐานไว้ที่วัดศรีสวาย (ทั้งสองวัดอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)  เป็นฝีมือช่างขอม

เมื่อเกิดสงคราม พวกขอมย้ายเทวรูปพระศิวะกลับไปได้ แต่ขนพระอุมาไปไม่ทัน จึงนำไปซ่อนไว้ที่เขาหลวง

ข้อเสนอนี้ ผู้ค้นคว้าเรื่องพระแม่ย่าโดยทั่วไปไม่เห็นด้วยแน่นอนครับ เพราะไม่มีหลักฐานอื่นใดรองรับ อีกทั้งเทวรูปพระแม่ย่าก็ไม่ใช่ศิลปะขอม ทั้งยังเก่าไม่ถึงสมัยขอมดังกล่าวแล้ว

แต่ส่วนตัวผมก็เห็นว่า มีแง่คิดบางอย่างที่น่าสนใจเหมือนกัน เช่นการที่เทวรูปนี้เดิมถูกสร้างคู่กับเทวรูปอื่น และได้รับการขนย้ายเพื่อหนีภัยสงคราม

เพราะถ้าจะพูดกันจริงๆ ลักษณะองค์พระแม่ย่ายืนปล่อยพระหัตถ์ไว้เฉยๆ เหมือนเดิมจะทำไว้เป็นรูปของเทพชายา ตั้งคู่กับเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งที่ยืนถืออาวุธครบ

และเทวรูปทั้งสององค์ก็น่าจะตั้งคู่กันไว้ในศาลหลังย่อมๆ ชานเมืองสุโขทัยไม่ห่างไปจากเขาหลวงนัก แทนที่จะตั้งอยู่ในเมืองเช่นวัดพระพายหลวง

เทวรูปคู่นี้ คงเป็นที่นับถือของผู้คนในแถบนั้น เมื่อเกิดสงคราม ผู้นับถือก็อัญเชิญเทวรูปทั้งสององค์ขึ้นไปซ่อนไว้บนเขาหลวง แต่เทวรูปพระสวามีจะแตกหักระหว่างทาง หรือได้สาบสูญไปอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ คงเหลือแต่พระแม่ย่าเพียงองค์เดียว

ผมว่า แนวความคิดเช่นนี้มีความเป็นไปได้สูงนะครับ


พระแม่ย่า ขนาดบูชา รุ่น ๑๐๐ ปีสุโขทัยวิทยาคม

ดีไม่ดี เทวรูปพระสวามี หรืออาจจะรวมทั้งพระแม่ย่านี่แหละ อาจจะหมายถึงพระขพุงผีองค์จริง ที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกสุโขทัย แต่เทวรูปองค์เดิมอาจจะทำด้วยไม้ แล้วชาวบ้านมาสร้างขึ้นใหม่ด้วยหินแกะสลักในภายหลังก็ได้

ไม่อย่างนั้น ทำไมคาถาบูชาพระแม่ย่าที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า อะหัง วันทามิ ขะพุงผี มะหาเทวะดาฯ จึงใช้ได้ผลล่ะครับ ถ้าหากว่าท่านไม่ใช่พระขพุงผี หรือเคยได้รับการบูชาคู่กับพระขพุงผี?

ส่วนที่มาที่ไปของคำเรียก พระแม่ย่านั้น ก็เพราะมีเหตุมาจากการปรากฏพระองค์ในนิมิตของผู้ศรัทธา หรือแม้แต่ปรากฏแก่สายตาของผู้ที่ไม่ศรัทธาก็ตาม รูปปรากฏนั้นมักเป็นสตรีสูงอายุ อีกทั้งของถวายที่โปรดอย่างยิ่งส่วนหนึ่งก็คือ หมากพลูแบบที่คนแก่สมัยก่อนชอบรับประทานอีกด้วย

นิมิตเช่นนี้ โดยส่วนตัวผมว่ายังตัดสินอะไรได้ไม่มาก กล่าวคือจะเป็นดวงวิญญาณที่สถิตในเทวรูปมาแต่เดิม หรือจะเป็นวิญญาณอื่นที่เข้าไปสิงสู่ภายหลังก็ได้

เพราะตามหลักเทวศาสตร์แล้ว ถ้าเป็นระดับองค์เทพอย่างแท้จริง ทิพยรูปในนิมิตจะอยู่ในวัยสาวครับ

แต่ถ้าเป็นวิญญาณอื่นที่เข้าไปสิงสู่ภายหลัง ก็ต้องเป็นผีชั้นสูง มีฤทธานุภาพมากเช่นกัน

เพราะมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับอภินิหารของพระองค์ ที่ช่วยเหลือให้ผู้ศรัทธาได้ประจักษ์แม้แต่ในเรื่องที่ยากจะเป็นไปได้ที่สุด  เรื่องเหล่านี้จะหาอ่านได้ในหนังสือที่เรียบเรียงโดย อ.ทองเจือ สืบชมภู ซึ่งมีจำหน่ายอยู่ในบริเวณศาล

ปัจจุบัน เทวรูปพระแม่ย่าจะมีผ้าทรงซึ่งมีผู้ถวายเป็นประจำดังกล่าวแล้วห่มทับ ดังปรากฏในภาพประกอบบทความนี้

แม้ว่าโดยหลักทางเทววิทยาแล้ว ไม่นิยมถวายผ้าทรงแด่พระเทวรูป นอกจากจะเป็นผ้าที่ถักทออย่างวิจิตรเลอค่าเพียงพอ แต่ผ้าที่ถวายองค์พระแม่ย่านี้ก็ไม่ควรตำหนิหรอกครับ เพราะเป็นผ้าทอลายหาดเสี้ยวที่ออกแบบลวดลายและทอขึ้นเป็นพิเศษ หาเป็นผ้าทอพื้นๆไม่

ทุกวันนี้ องค์พระแม่ย่าได้รับการประดิษฐานในเทวาลัยที่งดงามตระการตา เป็นของใหม่เริ่มสร้างเมื่อพ.ศ.๒๕๓๗ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จเป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ปีนั้น สร้างเสร็จอัญเชิญองค์พระแม่ย่าขึ้นประดิษฐานเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒




ศาลแห่งใหม่นี้ไม่เพียงเป็นแต่ของสร้างใหม่เท่านั้นนะครับ ยังได้รับการออกแบบโดยสำนักโยธาธิการจังหวัดสุโขทัย ด้วยการนำสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะเครื่องบนซึ่งได้แบบอย่างจากพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นความคิดที่น่าชมมาก

นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้กัน ยังมีศาลพระแม่ย่าหลังเล็ก สำหรับประดิษฐานเทวรูปพระแม่ย่าจำลององค์แรก ซึ่งใช้แห่ออกให้ประชาชนสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ตัวศาลเป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว ตั้งอยู่ใกล้ร้านขายเทวรูปและเครื่องสักการะต่างๆ

เทวรูปจำลององค์นี้เป็นฝีมือเก่าครับ ทำได้เหมือนองค์จริงกว่าเทวรูปจำลองรุ่นหลังที่ตั้งอยู่หน้าศาลหลังใหญ่ ทั้งเป็นเทวรูปที่ผ่านการเทวาภิเษกอย่างดีเยี่ยม มีผู้เล่าว่าเคยกราบไหว้พระเทวรูปองค์นี้แล้วประสบปาฏิหาริย์เหมือนกัน

ภายในบริเวณศาล ยังมีเทวรูปปูนปั้นระบายสีขนาดใหญ่ของพระโพธิสัตว์กวนอิม และมีสิ่งสำคัญ คือ พระพุทธอุทยานสุโขทัย ตั้งถัดไปด้านหลังสนามหญ้า เป็นอาคารโถงตั้งบนยกพื้นสูงกว่าตัวศาล ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๙ องค์ จำลองแบบจากพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในจังหวัดอื่นทั้งสิ้น


พระพุทธอุทยานสุโขทัย ภาพจาก http://travel.thaiza.com

ด้านหน้าเทวาลัยพระแม่ย่ายังมีลานกว้าง ตกแต่งด้วยกินรีปูนปั้นอยู่ในสระขนาดเล็กสองข้าง เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ถ้ามองจากริมน้ำยมแลดูสง่างามยิ่งนัก

แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างศาลาโถงขนาดใหญ่ขึ้นบังบริเวณตัวศาลแทบทั้งหมด เพื่อกันแดดกันฝนให้ผู้เข้าไปสักการะองค์พระแม่ย่า จนไม่สามารถมองเห็นภูมิสถาปัตย์อันสวยงามเช่นเดิมได้อีก

เทวาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ศาลากลางจังหวัด ถ้าตั้งต้นจากตลาดก็ขับรถไปตามถนนนิกรเกษม เลียบแม่น้ำยมเป็นระยะทางไม่เกิน ๑ ก.ม. หรือจะจ้างรถสามล้อเครื่องพื้นเมืองที่เรียกกันว่า ซาเล้งไปก็ได้ครับ


..................................


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

ข้อเท็จจริงของจตุคามรามเทพ ตอนที่ ๒

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์


แม้ว่า เราจะมีหลักฐานทางโบราณคดี ที่ยืนยันได้ถึงความเก่าแก่ ของคติการบูชาองค์จตุคามรามเทพในเมืองไทยแล้ว

การวิเคราะห์ว่า ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ ซึ่งเราได้รับมาพร้อมกับศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์นี้ แท้ที่จริงเป็นเทพองค์ใดกันแน่ ก็ยังคงเป็นปัญหาที่เราคงจะต้องขบคิดกันต่อไปอีก

ซึ่งเทพองค์แรกที่เราจะมาไขปริศนากัน คือ ท้าวขัตตุคาม ซึ่ง อ.ไมเคิล ไรท์ อธิบายว่าคือ พระสกันท์ (Skanda)  ในศาสนาฮินดูครับ




อ.พงศ์เกษม สนธิไทย ผู้เชี่ยวชาญจารึกภาษามอญและภาษาไทยโบราณ อธิบายว่า คำว่า Kottukaram และ Guttugara ซึ่งแปลโดยสำนวนได้ว่า เสนาบดี คือผู้เป็นใหญ่แห่งเสนานั้น เป็นคำที่ตรงกับพระนามของ พระสกันท์ เทพเจ้าแห่งสงคราม ขุนศึกหรือหัวหน้าของไพร่พลแห่งพระศิวะ

พระสกันท์ทรงได้รับความนับถืออย่างแพร่หลายในอินเดียใต้ จนกล่าวได้ว่าแม้เป็นหมู่บ้านในชนบทที่อยู่ห่างไกลและทุรกันดารเพียงใด ก็จะพบเทวรูปของพระองค์อยู่เสมอ

เทพเจ้าองค์นี้ทรงมีหลายพระนามที่เรียกกันทั่วไป พระนามที่คนอินเดียใต้นิยมกันมาก คือ พระสุพรหมัณย์ (Subrahmanya)

นอกจากนี้ก็มี พระกรรติเกยะ (Kartikeya) ซึ่งนิยมกันทั่วไปในอินเดียและศรีลังกา และ พระมุรุกัณ (Murugan) ซึ่งนิยมกันในหมู่ชาวฮินดูในมาเลเซีย

ขณะที่ไทยเรานิยมเรียกว่า พระขันธกุมาร 

กล่าวโดยทางเทววิทยาแล้ว คติการบูชาพระสกันท์นี้มีพื้นฐานมาจาก ลัทธิบูชาพระอาทิตย์ หรือ พระสุริยเทพ ของชนพื้นเมืองในอินเดียใต้สมัยโบราณ โดยนักเทววิทยาบางท่านให้รายละเอียดว่า เป็นเทพที่นับถือกันอยู่ในพวกทมิฬ (Tamil) และมาลายาลัม (Malayalam)

ต่อมาในยุคที่ศาสนาพราหมณ์กลายรูปเป็นศาสนาฮินดูจึงถูกลดบทบาทลงเป็นเทพชั้นรอง แต่ก็ยังมีร่องรอยความสัมพันธ์กับสุริยเทพอยู่

ดังที่มหาภารตะกล่าวว่าทรงเป็นโอรสของพระอัคนี ในขณะที่คัมภีร์ปุราณะ (Purana) ส่วนใหญ่จะกล่าวว่าทรงเป็นโอรสของพระศิวะ

ในเทววิทยาฮินดูบรรยายว่า พระสกันท์นั้นทรงมีลักษณะเป็นกุมารหรือเด็กหนุ่มอยู่ตลอดกาล ทรงมี ๖ เศียร ๑๒ กร กายสีทอง ทรงหอกหรือดาบเป็นอาวุธ ทรงนกยูงเป็นพาหนะ ทรงถือไก่อยู่ในพระหัตถ์ หรือมีธงรูปไก่เป็นธงประจำพระองค์

แม้ว่าบทบาทสำคัญของพระองค์ในศาสนาฮินดูคือการเป็นเทพสงคราม แต่ อ.พงศ์เกษม สนธิไทย ก็ชี้ให้เห็นว่า เทวลักษณะที่บรรยายมาทั้งหมดนี้กลับยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น กล่าวคือ


พระมุรุกัณองค์ใหญ่ที่สุดในโลก หน้าถ้ำบาตู มาเลเซีย

เศียรทั้ง ๖ หมายถึง ฤดูกาลทั้ง ๖ ของอินเดีย

กรทั้ง ๑๒ คือจำนวนเดือนใน ๑ ปีตามปฏิทินทางสุริยคติ

หอกและดาบ คือ รัศมี หรือความรุ่งโรจน์ของพระอาทิตย์

โดยเฉพาะหอกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำองค์พระสกันท์ อันมีนามว่า ศักตยายุทธ นั้น ในทางปุราณะอธิบายว่า พระวิศวกรรมทรงสร้างขึ้นจากรัศมีของดวงอาทิตย์ที่ร้อนแรงเกินไป เป็นการแสดงความเกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์อย่างชัดเจน

นกยูง เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ในวัฒนธรรมของชาวอินเดียมาแต่โบราณเช่นกัน
ไก่ คือผู้ขันเรียกดวงอาทิตย์ในเวลาเช้า ก็เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์อีก

ความเป็นเด็กหรือเยาว์วัย คือ สัญลักษณ์ของยามเช้า หรือพระอาทิตย์ซึ่งจะขึ้นใหม่ทุกวัน

กายสีทอง ก็คือ สีแห่งดวงอาทิตย์นั่นเอง

แสดงว่า ทิพยภาวะของพระสกันท์ที่ทรงเคยเป็นสุริยเทพในศาสนาพื้นเมืองของชาวอินเดียใต้มาก่อนนั้น ไม่เคยเสื่อมสูญไปเลยนะครับ 

แม้เมื่อศาสนาฮินดูเจริญรุ่งเรืองขึ้น ทิพยภาวะและคุณสมบัติดั้งเดิมของพระสกันท์ ก็ยังคงอยู่รอดได้ในศาสนาฮินดูอย่างเด่นชัดถึงเพียงนี้ เป็นเรื่องพิเศษซึ่งไม่ปรากฏกับเทพองค์อื่นมากนัก

แล้วพระสกันท์ อดีตพระสุริยเทพของชาวทมิฬ โอรสพระศิวะในศาสนาฮินดู กลายเป็นหนึ่งในเทวราชทั้ง ๔ ผู้รักษาเกาะลังกา จนคนไทยเรารับคติการบูชาพระองค์ภายใต้พระนามว่า ขัตตุคาม ได้อย่างไร?

คำตอบก็อยู่ที่ลังกานั่นเองละครับ และยังคงอยู่ที่นั่นมาจนทุกวันนี้

ในเทววิทยาของชาวลังกา ซึ่งชาวฮินดูในอินเดียก็ยอมรับกันทั่วไปนั้น กล่าวว่านอกจากพระนางเทวเสนาแล้ว พระสกันท์ทรงมีชายาอีกองค์หนึ่งเป็นเจ้าหญิงลังกา คือ พระนางวัลลี (Valli)

โดยเหตุที่จะได้พบกันนั้น เล่ากันว่าปัทมาสูร ซึ่งเป็นพญาอสูรของลังกาทำสงครามชนะเหล่าเทพ พระศิวะจึงส่งพระสกันท์ไปปราบ หลังจากนั้นพระสกันท์ก็ได้พบเจ้าหญิงวัลลีและในที่สุดได้เสกสมรสกัน

ทั้งสองพระองค์ได้ไปสร้างปราสาทไว้ตรงบริเวณที่พบกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำมานิก สถานที่แห่งนั้นจึงได้นามต่อมาว่า กรรติเกยะคาม (Kartikeyagama) 

และในที่สุดย่อลงเหลือเพียง กัตรคาม (Kataragama) หมายถึงหมู่บ้านของพระกรรติเกยะ ภายหลังมีการสร้างเทวาลัยขึ้นมา เรียกว่า เทวาลัยกัตรคาม


ภายในเทวาลัยกัตรคาม

เทวาลัยกัตรคามแห่งนี้ เป็นเทวสถานของพระสกันท์ที่เก่าแก่ที่สุดในศรีลังกาครับ 

โดยมีประวัติว่า พระเจ้าทุฎฐคามณี (Duttagamani) กษัตริย์ชาวพุทธทรงบูรณะเทวสถานนี้ขึ้นมา เพื่ออุทิศแด่พระสกันท์ ผู้ทรงดลบันดาลให้พระองค์รบชนะ พระเจ้าเอลารา (Elara) กษัตริย์ทมิฬจากอินเดียใต้ที่ยกกองทัพมารุกรานเกาะลังกา

โดยนัยนี้ พระสกันท์ซึ่งเป็นเทพฮินดูจึงกลายเป็นหนึ่งในสี่เทวราชผู้รักษาเกาะลังกา โดยการสถาปนาของกษัตริย์ชาวพุทธ ผู้รบชนะชาวทมิฬที่นับถือศาสนาฮินดู

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพิศวงมากครับ แต่ก็เป็นไปแล้ว

และชาวทมิฬในศรีลังกาเองก็กลับยังคงสักการบูชาพระองค์ไม่เสื่อมคลายเช่นเดียวกันจนทุกวันนี้

ดังเราจะพบว่า ทั่วทั้งเกาะลังกายังมีเทวาลัยสำหรับพระสกันท์อยู่ในที่อื่นๆ อีกเป็นร้อยแห่ง โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคใต้ของเกาะ ซึ่งชนชาติทมิฬได้ตั้งหลักแหล่งกันอยู่หนาแน่น ในบรรดาเทวาลัยเหล่านั้นมีหลายแห่งที่สร้างอย่างใหญ่โตและมีชื่อเสียงมากครับ

แต่ทุกปี ชาวทมิฬในลังกาก็จะพากันไปยังเทวาลัยกัตรคาม และประกอบพิธีร่วมกับชาวพุทธในเทศกาลสำคัญของที่นั่น จนกลายเป็นเทวสถานที่ได้รับความนิยมบูชาสูงสุดแห่งหนึ่งมาจนปัจจุบันนี้ ซึ่งแม้แต่ชาวต่างชาติก็รู้จักกันทั่วไป

ดังที่ท่านภิกษุณีธัมมนันทาจากเมืองไทย กล่าวไว้ในบทความบทหนึ่งของท่านว่า เป็นเทวาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่ง

เหตุที่เทวาลัยกัตรคามได้รับความนิยมเป็นอันมากดังกล่าว เป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งชาวศรีลังการับรู้กันทั่วไปครับ

ดังมีบันทึกไว้ว่า ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ชาวโปรตุเกสได้พยายามเข้าปล้นสะดมเทวสถานแห่งนี้ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า Categao อยู่หลายครั้ง ด้วยเหตุที่พวกเขาได้ยินว่าภายในเทวสถานเต็มไปด้วยทองคำ เพชรพลอย และหินมีค่าที่มีผู้นำมาถวายเป็นเครื่องบูชาจำนวนมาก

แต่เทวสถานแห่งนี้ก็มีทหาร ๕๐๐ นายที่มีอาวุธครบมือเฝ้าอยู่เป็นประจำ  พวกโปรตุเกสเพียรพยายามเข้าโจมตีหลายครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ

จนกระทั่งในปีค.ศ.๑๖๔๒ ทหารโปรตุเกส ๑๕๐ นายร่วมกับผู้เข้ารีตอีก ๒,๐๐๐ คนได้เข้าไปถึงสถานที่ตั้งของเทวสถาน ด้วยกำลังพลจำนวนมากขนาดนี้ย่อมเป็นอันหมดหวังสำหรับกองทหาร ๕๐๐ นายที่อารักขาเทวสถานอยู่จะต้านทานได้หากมีการปะทะกัน

แต่กองทัพโปรตุเกสกลับถูกบดบังด้วยอำนาจลึกลับบางอย่าง จนทำให้ไม่สามารถค้นหาเทวสถานพบ และพากันหลงวนเวียนกันอยู่ในป่าผืนเล็กๆ นั้นเป็นเวลานาน 

พวกโปรตุเกสได้ฆ่าคนนำทางพื้นเมือง ๓ ใน ๕ คนเพราะคิดว่าพวกเขาทรยศ แต่อีกสองคนที่เหลือก็พากันเสียสติ และในที่สุดทั้งกองทัพต้องพากันเดินทางกลับ

บันทึกซึ่งกล่าวถึงพลัง ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงของเทวาลัยกัตรคาม ดังที่กล่าวมานี้ มิได้เขียนขึ้นโดยชาวศรีลังกานะครับ แต่เขียนโดยนักจดหมายเหตุโปรตุเกส ที่มีนามว่า Ribeiro

และคำว่า กัตรคาม อันเป็นชื่อของเทวาลัยแห่งนี้เอง ต่อมาได้กลายเป็นพระนามหนึ่งของพระสกันท์ คือ พระกัตรคาม ที่ชาวลังกาเรียกกันทั่วไปเมื่อประสงค์จะกล่าวถึงเทวรูปพระสกันท์ ณ เทวาลัยกัตรคาม

เมื่อพระนามนี้เป็นที่รู้จักของคนไทย ก็กลายมาเป็น พระกามเทพ ในนิทานพระพุทธสิหิงค์, ท้าวขัตตคามเทวราช ในชินกาลมาลีปกรณ์และในจารึกบนรอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย, พระขัตุคามี ในโองการลุยเพลิงสมัยอยุธยา และ ท้าวขัตตุคาม ในวิหารมหาภิเนษกรมณ์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

อ.พงศ์เกษม ยังวิเคราะห์เกี่ยวกับคำว่า ขัตตุคาม, ขัตตคาม และ จตุคาม ไว้ด้วยว่า หากอธิบายด้วยหลักภาษาศาสตร์ อักษร ข. นั้น สามารถแทน จ. และ ค.ได้

การที่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช จอมขมังเวทย์แห่งเมืองนครฯ ได้บัญญัติพระนาม จตุคามรามเทพ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๕๒๘ จึงไม่ใช่ความผิดพลาดแต่อย่างใด เพราะสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางภาษาศาสตร์ดังกล่าวครับ

และในส่วนของเทวราชอีกองค์หนึ่ง คือ ท้าวรามเทพ นั้น ก็มิใช่อื่นใดเลย พระองค์ก็คือ พระราม (Rama) ที่คนไทยเรารู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วจากเรื่องรามเกียรติ์

และในโลกแห่งความเป็นจริง ก็ทรงเป็นเทพที่ได้รับความนิยมนับถือมากที่สุดองค์หนึ่งในอินเดียแม้จนทุกวันนี้  โดยเฉพาะในอินเดียใต้นั้นทรงเป็นหนึ่งในเทพที่ได้รับการบูชามากที่สุด




เรื่องราวอันแท้จริงของพระรามนั้น ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้ทราบความเป็นมาอย่างแน่ชัดครับ 

มีเพียงข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดีและนักเทววิทยาบางท่านว่า อาจเป็นวีรุบุรุษหรือผู้นำชนเผ่าอารยัน หรือไม่ก็เผ่าทมิฬเผ่าใดเผ่าหนึ่ง ซึ่งนำชาวทมิฬเข้าไปยึดครองและตั้งรกรากในเกาะลังกา จนเป็นต้นเค้าของมหากาพย์รามายณะ (Ramayana) อันเป็นบทประพันธ์ของมหาฤาษีวาลมีกิ

มีหลักฐานหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า คติการนับถือพระรามได้มีอยู่แล้วในแคว้นต่างๆ ของอินเดียภาคกลางและภาคใต้ในช่วงปลายยุคของศาสนาพราหมณ์

และในช่วงหลังพุทธกาล ความนิยมบูชาเทพเจ้าองค์นี้ปรากฏเด่นชัดขึ้น จนพราหมณาจารย์ในศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกายนำพระองค์ไปรวมเข้าเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ โดยรักษาเนื้อเรื่องเดิมไว้ทั้งหมด

เพียงแต่กล่าวเพิ่มเติมว่าเป็นอวตารของพระนารายณ์ แล้วเพิ่มเติมรายละเอียดปลีกย่อยขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกันเท่านั้น

และด้วยเหตุนั้น เทวสถานของศาสนาฮินดูฝ่ายไวษณพนิกายโดยทั่วไป ทั้งในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมักมีเทวรูปพระรามประดิษฐานร่วมอยู่ด้วยเสมอ

แม้แต่ในประเทศไทยของเราก็ทำเช่นนี้ ดังปรากฏอยู่ที่ วัดเทพมณเฑียร เสาชิงช้า, วัดวิษณุฮินดูธรรมสภา ยานนาวา และ วัดเทพมณเฑียร เชียงใหม่ครับ

แต่แม้คติการบูชาพระรามจะมีหลักฐานว่า ได้แพร่หลายจากอินเดียใต้มาถึงประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาพร้อมกับศาสนาฮินดู 

หากคติที่ทำให้พระองค์ ได้เข้ามาสู่เมืองไทยในอีกลักษณะหนึ่ง คือในรูปของท้าวรามเทพนั้น เป็นคติที่มาจากลังกา พร้อมกับศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์ครับ

ชาวศรีลังกานับถือพระรามเช่นเดียวกับชาวทมิฬในอินเดียใต้ และคนศรีลังกาที่นับถือพระรามก็มีทั้งคนทมิฬที่นับถือศาสนาฮินดู และคนสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธ

โดยในภาษาพื้นเมืองศรีลังกานั้น จะเรียกพระรามว่า อูปูลวัน หรือ พระอุบลวรรณ ตามลักษณะสีผิวของพระองค์นั่นเอง 

ชาวศรีลังกายกย่องให้พระองค์เป็นหนึ่งเทวราชทั้งสี่องค์ผู้รักษาเกาะลังกา เช่นเดียวกับพระสกันท์ดังที่กล่าวมาแล้ว

เทวสถานของพระรามที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในศรีลังกา ตั้งอยู่ที่แหลมดอนดรา (Dondra) ทางใต้สุดของเกาะ มีชื่อเรียกอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า เทวาลัยเดวินูวารา (Devi Nuwara) หรือ อุบลวรรณเทวาลัย (Upulvan Devala) 

ตามประวัติว่า สร้างโดยพระเจ้าดัปปูลาที่ ๑ (Dappula I) พร้อมกับพุทธสถานที่มีชื่อว่า Kehureli Vihara และพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๒ (Parakramabahu II) ทรงรับศาสนสถานทั้งสองแห่งไว้ในพระราชูปถัมภ์

ยุคสมัยดังกล่าวแหลมดอนดรากลายเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรือง และยังผลให้กษัตริย์รวมทั้งพระราชวงศ์ในรัชกาลต่อมาพากันสร้างเทวสถานและพุทธสถานขึ้นที่นี่เป็นอันมาก

พระราม ซึ่งเป็นเทวราชแห่งเทวาลัยเดวินูวารานั้น แม้จะเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูมาก่อน แต่ตามคติลังกาก็ถือว่าทรงเป็นเทพในศาสนาพุทธ เช่นเดียวกับเทพฮินดูอีกหลายองค์ที่ชาวศรีลังกานับถือและยกย่องให้เป็นเทพในศาสนาพุทธ เช่น พระคเณศและพระสกันท์ 

เทพเหล่านี้มีเทวสถานของพระองค์และได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ลังกาอย่างต่อเนื่องเท่าเทียมกับพระพุทธรูปในพุทธสถานต่างๆ

เมื่อโปรตุเกสเข้ายึดครองศรีลังกาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ นั้น พุทธสถานและเทวสถานทั่วเกาะลังกาถูกปล้นสะดมและเผาทำลายพินาศย่อยยับ มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่รอดไปได้ เช่นเทวาลัยกัตรคามดังกล่าวแล้ว

แต่เทวาลัยเดวินูวาราไม่โชคดีอย่างนั้นครับ

เทวสถานดังกล่าว ถูกพวกโปรตุเกสล้างผลาญจนพินาศสิ้นในค.ศ.๑๕๘๘ เหลือเพียงเสาไม่กี่ต้น ในภายหลังจึงมีการสร้างเทวสถานขึ้นใหม่ใกล้กับซากที่เหลือของเทวสถานเดิม 

เทวสถานใหม่นี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก และพระเป็นเจ้าสูงสุดของเทวสถานก็เปลี่ยนไปเป็น พระวิษณุ ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน




ดังนั้น ไทยเราจึงมิได้เป็นแต่เพียงผู้รับคติเกี่ยวกับพระราม หรือท้าวรามเทพจากลังกา ดังปรากฏเป็นหลักฐานไม่ว่าจะในหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ ชินกาลมาลีปกรณ์ โองการลุยเพลิงสมัยกรุงศรีอยุธยา จนต่อเนื่องมาถึงเทวรูปอีกองค์หนึ่งบนบานประตูไม้จำหลักในวิหารมหาภิเนษกรณ์ที่วัดพระธาตุวรมหาวิหารเท่านั้นนะครับ

เรายังเป็นเพียงแหล่งเดียวในโลกขณะนี้ ที่สามารถรักษาคติดั้งเดิมที่สุดนั้นไว้ได้ด้วย

ในขณะที่ทางลังกาเอง ณ เทวสถานอันเก่าแก่ที่สุดซึ่งเป็นต้นธารของคตินั้นกลับสูญสิ้นไป แม้ในศรีลังกาขณะนี้ จะยังนับถือพระอุบลวรรณเป็นหนึ่งในสี่เทวราชผู้รักษาเกาะดุจเดิมไม่เปลี่ยนแปลง 

แต่จากสภาพปัจจุบัน เทวาลัยที่เดวินูวาราก็มิได้เป็นของพระองค์อีกต่อไปแล้วครับ

หากแม้เราจะรับเทพารักษ์แห่งเกาะลังกาเข้ามาพร้อมกันถึง ๔ องค์ ดังที่ผมกล่าวแล้วในบทความก่อนหน้านี้ 

แต่ก็ปรากฏชัดว่า ในทางคติความเชื่อหรือพิธีกรรมอย่างแท้จริงแล้ว กลับเหลืออยู่เพียงท้าวขัตตุคาม และท้าวรามเทพเท่านั้นที่ยังคงได้รับการอ้างอิงอยู่ในเทววิทยาของไทยเรา ส่วนเทพารักษ์ในคณะเดียวกันอีกสององค์กลับเสื่อมสูญไปสิ้น
        
การที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งคงมีเหตุมาจากทางลังกาเองครับ

เป็นต้นว่า กรณีของท้าวลักขณาเทวราช หรือท้าวลักษณเทพ ตามคำอธิบายของ อ.ไมเคิล ไรท์ ก็คือในระยะที่พุทธศาสนาลังกาวงศ์กำลังเป็นที่สนใจของกษัตริย์ในภูมิภาคอุษาคเนย์  คือช่วงราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ นั้น เมืองแคนดีอันเป็นเมืองหลักของคติการบูชาเทพองค์นี้ได้ร่วงโรยไปมากแล้ว
         
ส่วนกรณีของท้าวสุมนเทวราช ก็อาจเป็นดังที่ ว่าที่ ร.ต. กฤษณศักดิ์ กัณฐสุทธิ์ กล่าวไว้ในนิตยสาร ตะลุยตลาดพระ ว่า เพราะทรงเป็นเทพผู้รักษารอยพระพุทธบาท บนยอดเขาสุมนกูฏของศรีลังกา พระองค์จึงมาเมืองไทยไม่ได้ ยังคงต้องเฝ้ารักษารอยพระพุทธบาทอยู่ในภูมิสถานเดิมของพระองค์

แม้ว่าทรรศนะเช่นนี้ จะดูเหมือนเป็นการคาดเดาอย่างง่ายๆ เกินไป แต่ผมกลับเห็นว่า คนไทยโบราณที่รับคติเกี่ยวกับเทพองค์นี้มาจากลังกา ก็อาจจะคิดอย่างนี้เหมือนกันก็ได้ 

ในเมื่อพระองค์ทรงมีภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งอยู่ที่ลังกา แล้วเราจะอัญเชิญพระองค์มาเมืองไทยเพื่ออะไรล่ะครับ

เมื่อความจริงเป็นไปตามที่ผมนำเสนอมาทั้งหมดนี้ โดยส่วนตัวผมไม่เห็นความน่าสงสัยใดๆ เลยนะครับ ในข้อมูลที่ว่า องค์จตุคามรามเทพทรงดลบันดาลให้ พล.ต.ท.สรรเพชญใช้ภาพแกะสลักบนบานประตูทางขึ้นลานประทักษิณของพระบรมธาตุเมืองนครฯ เป็นต้นแบบ เพื่อสร้างเทวรูปของพระองค์




เพราะถ้าพระองค์คือ พระขัตตุคาม-พระรามเทพจริง เทวรูปบนบานประตูดังกล่าวก็เป็นเทวรูปของพระขัตตุคาม- พระรามเทพอยู่แล้ว

ในขณะเดียวกัน ถ้าเราเชื่อในข้อมูลที่ว่า รูปแบบของ พระผงสุริยัน-จันทรา พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่ง พล.ต.ท.สรรเพชญ และนายช่างผู้ออกแบบและแกะพิมพ์กล่าวว่า คือองค์จตุคามและองค์รามเทพซ้อนกันในรูปเดียวกันนั้น เป็นสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากองค์จตุคามรามเทพผ่านการประทับทรง เรื่องของเทวราชแห่งลังกาและพระผงดังกล่าวก็ยังคงเป็นเรื่องเดียวกันอยู่ดี

เพราะพระขัตตุคาม หรือพระสกันท์นั้น โดยเนื้อแท้ก็คือองค์สุริยเทพที่ชาวอินเดียใต้นับถือมาตั้งแต่ก่อนที่ศาสนาฮินดูจะถือกำเนิด

ในขณะที่พระราม ซึ่งเป็นแบบอย่างของมหาบุรุษในอุดมคติของชาวฮินดูทั้งปวงนั้น ในทางเทววิทยาก็บรรยายไว้ว่า ทรงมีทิพยภาวะอันงามสง่าและนุ่มนวลประดุจแสงจันทร์ ดังที่ผู้บูชาพระองค์มักจะออกพระนามเต็มว่า รามจันทร์ (Rama Chandra) เสมอ

ดังนั้น เมื่อพระผงสุริยัน-จันทรา แสดงถึงทิพยภาวะขององค์จตุคามรามเทพในฐานะเทวราชสององค์ ในขณะที่พระขัตตุคามก็คือพระอาทิตย์ และพระรามก็เปรียบเหมือนพระจันทร์ จึงเป็นนัยยะที่สอดรับกันได้สนิท

การที่องค์จตุคามรามเทพทรงกำหนดให้ พล.ต.ท.สรรเพชญสร้างหลักเมือง และพระผงสุริยัน-จันทราขึ้นจากเทวรูปดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นข้อพิสูจน์อีกข้อหนึ่งว่า พระองค์คือ ท้าวขัตตุคาม-ท้าวรามเทพ เป็นเทพสององค์ที่มาจากลังกา

ไม่ใช่พระเทวราชองค์ใดองค์หนึ่งจากยุคศรีวิชัย  ตามคำอธิบายของใครบางคน ในคณะผู้สร้างศาลหลักเมืองนครฯ ที่ชื่นชอบโบราณคดีศรีวิชัยเป็นพิเศษ




และไม่ใช่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ตามคำอธิบายของเซียนพระบางคน ที่ทำให้เกิดเทวรูปองค์จตุคามรามเทพที่เลียนแบบพระอวโลกิเตศวรในศิลปะศรีวิชัย  ทั้งรูปลักษณ์และฉลองพระองค์อย่างแพร่หลาย

แต่สิ่งที่น่าเสียดายที่สุด คือ พล.ต.ท.สรรเพชญ แม้ว่าท่านจะเป็นผู้ค้นพบก่อนใครๆ ว่า บานประตูไม้จำหลักนั้น เป็นหลักฐานขององค์จตุคามรามเทพที่แท้จริง และยังยืนยันด้วยว่า เป็นรูปแบบที่องค์จตุคามรามเทพทรงกำหนดด้วยพระองค์เอง ให้นำไปใช้ในการสร้างเทวรูป

แต่ภายหลังสร้างเสาหลักเมืองสำเร็จแล้ว ท่านก็มิได้นำแบบอย่างเทวรูปจากบานประตูดังกล่าวไปจำลองแบบขึ้นเป็นเทวรูปบูชารุ่นหนึ่งรุ่นใด จนกระทั่งถึงปัจจุบัน 

ท่านกลับใช้รูปแบบของเทพยดาที่นั่งขัดสมาธิและมีนาคปรก ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับคติการบูชา พระขัตตุคาม-พระรามเทพ

สิ่งมีการกล่าวอ้างว่า เป็นรูปแบบที่องค์จตุคามรามเทพทรงกำหนด มีให้เห็นอยู่แต่เฉพาะในวัตถุมงคลรุ่นแรกๆ ของคณะผู้สร้างศาลหลักเมืองนครฯ คือพระผงสุริยัน-จันทรา

และพระบูชาซึ่งทำเป็นรูปหล่อเสมอพระอุระขององค์จตุคามรามเทพ ซึ่งมีพระเศียรซ้อนกัน ๒ ชั้นเหมือนบนบานประตูไม้จำหลัก ในวิหารมหาภิเนษกรมณ์เท่านั้น


...................................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด