หากจะกล่าวตามหลักทั่วไปแล้ว เทววิทยา (Theology)
หมายถึงการศึกษาค้นคว้าในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับเทพเจ้า
เทววิทยาจึงเป็นความรู้ของมนุษย์
ในทางที่เกี่ยวกับเทพเจ้า หรือจะพูดให้ชัดเจนมากขึ้นอีก ก็คือ
เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้จากการศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่เกี่ยวกับเทพเจ้า
โดยมีบางส่วนเป็นความรู้ที่เทพเจ้าประทานให้กับมนุษย์โดยตรง
อย่างที่พราหมณ์เรียกว่า ศรุติ (Sharuti)
เพราะฉะนั้นเราจึงควรคำนึงเสมอว่า
การศึกษาเทววิทยาไม่ว่าในแง่ใด จะต้องศึกษาเฉพาะเรื่องของเทพเจ้า
และเรื่องที่เกี่ยวกับเทพเจ้าเท่านั้น
สิ่งใดที่ไม่เกี่ยวกับเทพเจ้า
หากแต่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ในอดีต พระอรหันต์
พระพุทธเจ้า อดีตกษัตริย์หรือบุคคลสำคัญ ฤาษี ภูต ผี ยักษ์ อสูร รากษส อมนุษย์
ตลอดจนวิญญาณต่างๆ เป็นต้น เราไม่เรียกว่าเทววิทยา
และด้วยเหตุดังกล่าว เทววิทยาจึงไม่ใช่วิชาเดี่ยวๆ
แต่เป็นชื่อของหมวดวิชาใหญ่ ซึ่งสามารถแบ่งแยกได้เป็นสาขาย่อยดังต่อไปนี้
ปกรณศาสตร์ (Mythology) หรือ ปุราณวิทยา ศึกษาเกี่ยวกับเทวปกรณ์ หรือที่มักเรียกกันว่า เทพปกรณัม
เพื่อให้เข้าใจถึงคติความเชื่อและภูมิปัญญาของชนชาติต่างๆ ในแง่ของพัฒนาการและคติชนวิทยา
นักเทววิทยาที่แท้จริงจะมุ่งศึกษาปกรณศาสตร์เพื่อเป็นความรู้และความเข้าใจเท่านั้น
มิใช่เพื่อให้ยึดถือหรือรับเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง
สถาปัตยกรรมศาสตร์ (Architecture)
ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างเทวาลัย
หรือสถานที่ประดิษฐานเทวรูปในแง่ของโครงสร้าง แผนผัง มาตราส่วน
องค์ประกอบและรูปแบบทางศิลปกรรม โดยอิงกับหลักเกณฑ์ทางจักรวาลวิทยา (Cosmology)
ซึ่งในคติจีนก็คือ เฟิงสุ่ย (Feng Shui) หรือ
ฮวงจุ้ย นั่นเอง
ประติมานวิทยา (Iconography)
ศึกษาเกี่ยวกับเทวลักษณะ บุคลิกภาพ สัญลักษณ์
และลีลาของเทพเจ้าแต่ละองค์ เพื่อนำมาสร้างเป็นเทวรูป
ทั้งแบบบูชาและแบบที่เป็นเครื่องราง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการวาดภาพ หรือจิตรกรรม (Painting)
และการแกะสลัก, การปั้นหล่อด้วยวัสดุต่างๆ
หรือประติมากรรม (Sculpture)
เทวศาสตร์ (Ritual) ศึกษาเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถาที่สัมพันธ์กับเทพเจ้าทั้งหมด
รวมถึงการประกอบพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องด้วยเทพเจ้า การประดิษฐานเทวรูป
การเทวาภิเษก การสร้างเทวมณฑล การสถาปนาเทวาลัย
การสร้างและการปลุกเสกเทพอาวุธ
การติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้า และการเข้าถึงทิพยภาวะ (Divinity) ด้วยการบำเพ็ญตบะ หรือด้วยการภาวนามนต์ ตลอดจนการกระทำต่างๆ
ภายใต้พระนามขององค์เทพ เป็นต้น นับเป็นวิชาสำคัญที่สุดในทางเทววิทยา
เทพพยากรณ์ (Divination, Oracle) ศึกษาเกี่ยวกับการติดต่อกับเทพเจ้า
และการเข้าถึงทิพยภาวะด้วยการเสี่ยงทายและแปลความหมายที่ได้จากการเสี่ยงทายนั้น
เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นเรื่องเกินความสามารถ
เกินวิสัยของมนุษย์ธรรมดาจะหยั่งรู้ หรือกระทำให้สำเร็จด้วยกำลังกาย
กำลังความคิดของตนได้
เทววิทยา ถือเป็นต้นธารแห่งความรู้ในทุกศาสตร์ที่ทำให้เกิดอารยธรรมของมนุษย์
เพราะพัฒนาการต่างๆ ในด้านเทววิทยา ทำให้เกิดการแตกแขนงไปสู่วิชาความรู้ในการดำรงชีวิต
และการสร้างสรรค์ในทุกๆ ด้านของมนุษย์เอง
.............................
หมายเหตุ :
เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย
และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด
ละเอียดและเคลียร์มากค่ะ
ตอบลบขอบคุณค่ะ ^ ^
ลบใช้กันเกร่อคะเทววิทยาแต่ก็ลอกของอาจารย์มาทั้งนั้น
ตอบลบใช่ค่ะ อาจารย์ทำให้คำว่า เทววิทยา ได้รับความนิยม แต่ก็เอาไปใช้กันแบบมั่วเลย
ลบ