วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เทพพาหนะ

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์






คำถามยอดฮิตคำถามหนึ่ง ที่ผมมักจะได้รับเสมอๆ คือ ทำไมเทพเจ้าของอินเดียหลายองค์ถึงมีสัตว์แปลกๆ เป็นเทพพาหนะ

ที่ว่าแปลก ไม่ได้หมายถึงเป็นสัตว์ประหลาด หรือสัตว์หิมพานต์นะครับ แต่เป็นสัตว์พื้นๆ ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปนี่เอง 

แต่เหตุที่ว่าแปลก เพราะสัตว์เหล่านั้นหลายชนิด มีรูปลักษณ์ที่ไม่เหมาะสำหรับให้ใครไปนั่งบนหลังของมัน  และบางทีก็ดูไม่มีเหตุผลเลยว่าทำไมมันถึงจะต้องไปเกี่ยวข้องกับเทพองค์นั้น

เทพพาหนะที่ว่าแปลกนี้ มีกับเทพทุกระดับเลยทีเดียว นับแต่พระเป็นเจ้าตรีมูรติ อย่างพระพรหม ก็มีหงส์เป็นพาหนะ, พระวิษณุ (หรือพระนารายณ์) ทรงครุฑ, พระศิวะ (หรือพระอิศวร) ทรงโค



         
จะเห็นว่า พาหนะของพระพรหมนั้นเริ่มแปลกแล้วนะครับ เพราะเป็นหงส์ ซึ่งต่อให้เป็นหงส์ยักษ์ก็ขี่ลำบาก 

ส่วนครุฑนั้นเป็นนกยักษ์ ก็พอจะนั่งไปได้ ถ้าเป็นครุฑไทยคือกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ก็ต้องยืนไปแบบพระนารายณ์ทรงครุฑของไทย ดูประดักประเดิดพอสมควร
         
พระชายาของพระเป็นเจ้าก็เช่นกัน 

พระสรัสวดี ทรงหงส์หรือนกยูง, พระลักษมี ทรงช้าง และพระอุมา ทรงโค 

กรณีของพระสรัสวดีนั้นเหมือนกับพระพรหม และไม่ว่าจะเป็นหงส์หรือเป็นนกยูงยักษ์ก็ขี่ลำบากด้วยกันทั้งคู่ ยิ่งถ้าเป็นเทพผู้หญิงก็ต้องนั่งห้อยขาไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือนั่งพับเพียบเท่านั้น
         
กลุ่มคณะเทพยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (นั่งสบายที่สุดในจำนวนเทพพาหนะทั้งหมด), พระวรุณทรงนาค, พระคงคาทรงปลา, พระคเณศทรงหนู, พระสกันท์ (หรือพระขันธกุมาร) ทรงนกยูง, พระมนัสเทวีทรงเป็ด

ถ้าเป็นเทพนพเคราะห์แล้ว มักทรงพาหนะที่ดูมีเหตุผลเข้าใจได้ด้วยสามัญสำนึกของคนธรรมดาๆ บ้าง  เช่นพระอาทิตย์กับพระจันทร์ทรงรถเทียมม้า, พระอังคารทรงกระบือ, พระพุธทรงช้าง, พระพฤหัสบดีทรงกวาง (ยังพอขี่ได้อยู่), พระศุกร์ทรงโค และพระเสาร์ทรงเสือโคร่ง 

จะเห็นว่าที่แปลกและเข้าใจยาก คือ พระคเณศ กับ พระมนัสเทวี ครับ




พระคเณศทรงมีพระวรกายอ้วนกลมใหญ่โต พระพักตร์เป็นช้าง แต่ทรงหนู ทางไทยเรามักจะวาดให้เป็นหนูขนาดยักษ์ แต่ถ้าเป็นอินเดียบางทีเขาวาดให้ท่านยืนบนหนูตัวนิดเดียว เรื่องนี้นักปรัชญาอินเดียรุ่นหลังอธิบายง่ายๆ ว่า เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันของสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันในโลกนี้

ส่วนพระมนัสเทวี ซึ่งเป็นเทพแห่งงู กลับทรงเป็ดเป็นพาหนะ ข้อนี้ยังไม่มีใครอธิบายให้เป็นที่ยอมรับได้

เรื่องแบบนี้ ทำให้พวกหัวสมัยใหม่หรือพวกแอนตี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เห็นเป็นเรื่องเหลวไหล งมงายไร้สาระ บางทีก็เห็นเป็นเรื่องตลกไปเลย 

ส่วนพวกที่นับถือเทพ แต่ไม่ศึกษาให้ดีพอ ก็จะพยายามอธิบายกันไปคนละทาง ยิ่งอธิบายยิ่งพิสดารพันลึก 

ผมจึงขอให้ทำความเข้าใจกันไว้เสียก่อนนะครับ ว่า :

๑) สัตว์ชนิดใด เป็นพาหนะหรือบริวารของเทพองค์ใด ก็เนื่องด้วยสัตว์เหล่านั้นได้ปรากฏตัวแวดล้อม  หรือมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ซึ่งเทพองค์นั้น ได้ปรากฏพระองค์ต่อผู้เป็นสาวกอยู่เสมอ

๒) หรือไม่ สัตว์ชนิดนั้นก็ถูกใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งขององค์เทพ ที่จะสื่อสารกับมนุษย์ผู้บูชาพระองค์โดยตรง 

เช่นในการแจ้งข่าว หรือทำให้เกิดเป็นสังหรณ์ จนมนุษย์สามารถจดจำได้ว่าสัตว์ชนิดใดเกี่ยวข้องกับเทพองค์ใด นานวันเข้ามนุษย์จึงยกให้สัตว์ชนิดนั้นเป็นเทพพาหนะ และทำเทวรูปให้ประทับบนตัวสัตว์เหล่านั้น

๓) ในความเป็นจริง มีแต่พระวิษณุเท่านั้น ที่มีโยคีบางท่านเห็นพระองค์ทรงครุฑ ซึ่งมีลักษณะเป็นนกยักษ์บินข้ามขอบฟ้าไปในยุคบรรพกาล


 

ส่วนเทพองค์อื่นๆ เมื่อปรากฏพระองค์ต่อหน้ามนุษย์ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางความฝัน อย่างมากก็มีสัตว์ที่เป็นเทพพาหนะเหล่านั้นแวดล้อมอยู่ด้วย ในขนาดที่เท่ากับสัตว์ปรกติ

ยังไม่เคยมีใครพบเห็นองค์เทพ ในลักษณะประทับนั่งบนเทพพาหนะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยตรงเลย

๔) นอกจากบางชนิดที่จะปรากฏพร้อมกับองค์เทพ ในลักษณะที่เป็นบริวารแวดล้อมแล้ว สัตว์ที่เป็นเทพพาหนะนั้น หลายๆ ชนิดได้รับการบูชามาก่อน ใน ลัทธิบูชาสัตว์ (Totem) ซึ่งมีอยู่ในวัฒนธรรมโบราณทุกชาติทุกภาษาทั่วโลก

ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์ยังมีความเจริญในระดับแค่ชนเผ่า ยังรู้จักแต่การออกป่าล่าสัตว์ หรือเลี้ยงสัตว์อย่างง่ายๆ ทำการเกษตรแบบพอกินกันในครอบครัว หรือหมู่บ้าน ยังไม่รู้จักสร้างบ้านสร้างเมือง พวกนี้เขาจะหาสิ่งที่เป็นทั้งสรณะ และ logo ของพวกเขา ในรูปแบบที่จดจำได้ง่ายครับ

เช่น การนับถือสัตว์ที่พวกเขามองว่า มีพลังอำนาจที่เด่นชัดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในตัว หรือมีธรรมชาติที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ที่พวกเขามองไม่เห็น 

สัตว์เหล่านี้ จึงต่างก็ได้รับการบูชาอย่างเป็นเอกเทศ มีลัทธิเป็นของตนเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าองค์ใดมาก่อน

ต่อมา เมื่อกลุ่มชนที่นับถือสัตว์เหล่านี้พ่ายแพ้ หรือจำต้องสวามิภักดิ์ แก่กลุ่มชนที่นับถือเทพเจ้า (ซึ่งเจริญกว่า และมาทีหลัง) ผู้ชนะจึงนำสัตว์เหล่านี้ไปเป็นพาหนะของเทพเจ้าของตน จึงเป็นเรื่องการเมืองอย่างหนึ่ง
         
ศาสนาฮินดูนั้น เกิดจากการรวมเอาคติความเชื่อที่แตกต่างกัน นับร้อยนับพันรูปแบบเข้าไว้ด้วยกันครับ

เทพเจ้าของลัทธิที่พ่ายแพ้ หรือมีอำนาจทางการเมืองอ่อนกว่า ก็กลายเป็นอวตารของพระเป็นเจ้า หรือไม่ก็เป็นชายา หรือโอรสธิดา

ส่วนลัทธิที่บูชาสัตว์ สัตว์เหล่านั้นก็กลายเป็นเทพพาหนะ หรือเทพบริวาร


 

เพราะฉะนั้น การที่พระคเณศทรงหนู ก็เพราะผู้นับถือพระองค์นั้นได้เข้าปกครองชนเผ่าที่นับถือหนู 

และการที่พระมนัสเทวีทรงเป็ด ก็อาจเป็นเพราะกลุ่มที่นับถือพระนางนั้น ได้มีชัยชนะเหนือกลุ่มที่นับถือเป็ดนั่นเองครับ

๕) สัตว์ที่เป็นเทพพาหนะหลายๆ ชนิด เป็นเพียง “สัญลักษณ์” เอาไว้สำหรับจดจำ หรือเพื่อเป็นหลักยึดในการตีความในด้าน “ทิพยภาวะ” และ “เทวปรัชญา” ของเทพองค์นั้น

กรณีนี้จะเห็นได้ชัดในด้านของโหราศาสตร์ พาหนะของเทพเจ้านพเคราะห์ทุกองค์ ล้วนเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ หรือมีความเกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์เหล่านั้นทั้งสิ้น




ยกตัวอย่างเช่น พระพฤหัสบดีทรงกวาง

เพราะในทางโหราศาสตร์นั้น ดาวพฤหัสเกี่ยวข้องกับสัตว์ที่มีกีบประเภทกวางไงครับ เป็นข้อมูลสำหรับผู้ศึกษาโหราศาสตร์ ที่จะต้องเอาไปใช้ในการทำนายทายทักต่างๆ

นอกจากในแง่โหราศาสตร์ ก็คือในแง่ปรัชญา

อย่างเช่น ในกรณีของของชาวอียิปต์ การที่ชนชาตินับถือเหยี่ยวก็ไม่ใช่เพราะมันเป็นเหยี่ยว แต่เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของความสูงส่งและการมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เนื่องจากมันบินสูง และสายตาดีมาก

ชาวอียิปต์จึงใช้มันเป็นเครื่องสื่อความหมายขององค์เทพ ที่มีคุณสมบัติในด้านเดียวกันนั้น ซึ่งก็คือ สุริยเทพรา (
Ra) และ เทพราชันย์โฮรุส (Horus)

แต่ประติมานวิทยาของอียิปต์ ยังเป็นแบบเริ่มต้น จึงพยายามสื่อให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ด้วยการเอาหัวสัตว์ชนิดนั้นเข้าแทนที่พระเศียรขององค์เทพ 

กล่าวคือ องค์เทพจริงๆ มิได้ทรงมีพระเศียรเป็นสัตว์ชนิดนั้นนะครับ รูปสัตว์ชนิดนั้นเป็นเพียงการสื่อความหมายว่า พระองค์ทรงมีทิพยภาวะในด้านใดเท่านั้น

ส่วนอินเดียนั้น ใช้วิธีที่ดีกว่า คือ นำสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรมด้านต่างๆ มาเป็นพาหนะขององค์เทพ เหมือนกับเอา Totem ของผู้ที่พ่ายแพ้หรืออยู่ใต้อำนาจมาทำเป็นพาหนะสำหรับเทพที่ตนนับถือนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น หงส์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระพรหมและพระสรัสวดีนั้น โดยรูปลักษณ์ของมันเองซึ่งเป็นสีขาวบริสุทธิ์ มีความอ่อนช้อยสง่างาม ทำให้รู้สึกว่ามีความเกี่ยวข้องกับสวรรค์ หรือสิ่งที่สูงส่ง เช่น ศาสนา ปรีชาญาณ และความรู้แจ้ง ซึ่งจะต้องมีคุณลักษณ์ที่สะอาด ไม่แปดเปื้อนมลทิน ใช่มั้ยครับ?


 

หงส์จึงได้เกี่ยวข้องกับเทพแห่งความรู้แจ้ง คือพระพรหม และพระสรัสวดี รวมทั้งพระคายะตรีซึ่งเป็นเทพรุ่นหลังที่ทรงมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน

ส่วนนกยูงของพระสกันท์นั้น เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ เพราะทิพยภาวะเดิมของพระสกันท์คือ พระสุริยเทพ ของอินเดียใต้ครับ

ดังนั้น กรณีของสัตว์พาหนะหรือบริวารขององค์เทพ จึงเป็นเรื่องที่ทางเทววิทยาให้ความสำคัญ แต่เฉพาะในการทำรูปเคารพ หรือประติมานวิทยา ซึ่งมีผลพลอยได้เป็นประโยชน์ทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะด้วย 

กล่าวคือ ถ้าพบเทวรูปโบราณแตกๆ หักๆ อยู่ที่ไหน ต่อให้ส่วนที่เป็นองค์เทพสูญหายไปหมด แต่ถ้ายังมีรูปเทพพาหนะหลงเหลืออยู่ ก็พอจะระบุองค์เทพได้ 

นอกจากนี้ ในทางเทววิทยาชั้นต้น ก็จะศึกษาเรื่องเทพพาหนะไว้บ้างเหมือนกัน เพือการอ่าน หรือตีความสัญญาณหรือสิ่งบอกเหตุต่างๆ ที่ส่งมาจากสวรรค์

แต่ถ้าเป็นเรื่องของการบูชาโดยตรง เขาก็ไม่ยึดถือเรื่องนี้กันอย่างจริงจังนักหรอกครับ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เข้าถึงเทพเจ้า


...............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

2 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น