วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ข้อเท็จจริงของจตุคามรามเทพ ตอนที่ ๑

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




คติจตุคามรามเทพ ในช่วงที่เป็นปรากฏการณ์ระหว่างพ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๕๐ นั้น กล่าวในทางเทววิทยาแล้วนับว่ามีที่มาที่ไปที่คลุมเครือ อ่อนเหตุผล ไร้หลักฐาน ตลอดจนตรรกวิธีที่ผิด และยิ่งมีผู้พยายามอธิบาย ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสนอันเกิดจากข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นทุกที

เหตุผลก็คือ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทฤษฎีต่างๆ ที่เผยแพร่และอ้างอิงกันอยู่ในวงการนักสร้างพระเวลานั้น ล้วนแต่พากันตกหลุมพรางของเทพนิยายที่แต่งขึ้นโดยใครบางคนในคณะผู้สร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งชื่นชอบอะไรๆ ที่เป็น ศรีวิชัยและ มหายานเป็นพิเศษ

และเมื่อตกหลุมพรางเช่นนี้ ทำให้ต่างก็พากันมองข้าม หรือปฏิเสธหลักฐานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง และเป็นรากฐานของคติการบูชาท้าวจตุคามรามเทพในเมืองไทย อันสามารถอธิบายได้ทั้งในทางวิชาการ เทววิทยา และมีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับอย่างชนิดที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจโต้แย้งได้เลยครับ

บุคคลแรกที่นำเสนอความจริง ในทางเทววิทยาขององค์จตุคามรามเทพ น่าจะได้แก่ ผ.ศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ในฐานะนักวิชาการท้องถิ่นที่ค้นคว้าเรื่องจตุคามรามเทพอย่างต่อเนื่อง บทสัมภาษณ์ของท่านซึ่งตีพิมพ์ใน น.ส.พ. คมชัดลึก ฉบับประจำวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ให้ข้อมูลที่แตกต่างจากที่มีการเผยแพร่กันตามสื่อต่างๆ ในเวลานั้นว่า


ภาพจาก http://www.komchadluek.net

จตุคามรามเทพมีที่มาชัดเจน คือเป็นเทพหรือเทวดาที่มีหน้าที่รักษา ๓ สิ่ง ได้แก่ ๑.พระธาตุ ๒.พระสิหิงค์ ๓.แผ่นดินแผ่นน้ำ ที่มานั้นมาจากคติลังกาวงศ์ รับมาสู่นครศรีธรรมราชเมื่อราวปี ๑๗๓๐ สมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทั้งนี้องค์จตุคามรามเทพนั้นจริงๆ แล้วประกอบด้วย ๔ องค์ คือ ๑.ท้าวสุมลเทวราช ๒.ท้าวลักขณาเทวราช ๓.ท้าวขัตตุคามเทวราช ๔.ท้าวรามเทพเทวราช ทั้งหมดจะถูกเรียกหมายรวม คือ จตุคามรามเทพ

ข้อมูลของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองนครฯ ท่านนี้ ได้รับการยืนยันโดยผลการค้นคว้าของผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและเทววิทยา ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐  คือ กำธร เลี้ยงสัจธรรม ได้เสนอหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องด้วยองค์จตุคามรามเทพโดยระบุว่า พระนามของท้าวขัตตุคาม และท้าวรามเทพ มีอยู่ในคัมภีร์โบราณของไทยไม่ว่าจะเป็น นิทานพระพุทธสิหิงค์ และ ชินกาลมาลีปกรณ์

โดยในหนังสือ นิทานพระพุทธสิหิงค์ หรือ สิหิงคนิทาน ซึ่งแต่งโดยพระโพธิรังสี พระเถราจารย์ชาวเชียงใหม่เมื่อราวๆ พ.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๕ (ฉบับแปลใหม่ พ.ศ.๒๕๐๖) ปริจเฉทที่ ๓  นิทานพระพุทธสิหิงค์เสด็จมาถึงชมพูทวีป กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

มีเทพ ๔ ตน คือ สุมนเทพ กามเทพผู้มีฤทธิ์มาก รามเทพ ลักษณเทพ ได้รักษาคุ้มครองพระพุทธสิหิงค์นั้นทุกเมื่อ




และอีกตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

ทั้งยังมีเทพเจ้า ๔ องค์ คือ สุมนเทพ รามเทพ ลักษณเทพ กามเทพผู้มีฤทธิ์ รักษาพระพุทธรูปนั้นทุกเมื่อ

ส่วน ชินกาลมาลีปกรณ์  ที่พระรัตนปัญญาเถระ พระเถราจารย์ชาวเชียงใหม่เช่นกันเขียนในระหว่างพ.ศ.๒๐๕๙-๒๐๗๑ ตอน กาลมาของพระสีหลปฏิมา ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อพระเจ้าสีหลแห่งลังกาทวีปได้หล่อพระสีหลปฏิมาสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อพ.ศ.๗๐๐ แล้ว ก็ได้ทรงบูชาพระสีหลปฏิมานั้นสืบๆ กันมาช้านาน จนถึงพ.ศ.๑๘๐๐ พระโรจราชกษัตริย์ผู้ครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยใคร่จะทอดพระเนตรมหาสมุทร จึงยกทัพทหารหลายหมื่นเสด็จล่องใต้ตามลำแม่น้ำน่านจนถึงสิริธรรมนคร พระเจ้าสิริธรรมได้ออกมาต้อนรับ




เมื่อทรงรับรองเป็นอย่างดีแล้ว พระเจ้าสิริธรรมได้ตรัสเล่าให้พระโรจราชฟังถึงความอัศจรรย์ของพระสีหลปฏิมาในลังกาทวีปตามที่ทรงสดับมา พระโรจราชจึงตรัสถามว่า พระองค์จะไปที่นั่นได้หรือไม่ พระเจ้าสิริธรรมตรัสตอบว่า ไปไม่ได้

เพราะมีเทวดาอยู่ ๔ ตน ชื่อ สุมนเทวราช ๑ รามเทวราช ๑ ลักขณเทวราช ๑ ขัตตคามเทวราช ๑ มีฤทธิ์เดชมาก รักษาเกาะลังกาไว้เป็นอย่างดี

กำธรกล่าวว่า รามเทพในนิทานพระพุทธสิหิงค์ ก็คือรามเทวราชในชินกาลมาลีปกรณ์ ส่วน กามเทพผู้มีฤทธิ์มาก ก็คือ ท้าวขัตตคามเทวราชในชินกาลมาลีปกรณ์

ซึ่งเมื่อดูจากความเก่าแก่ของหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์ กับชินกาลมาลีปกรณ์ ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไทยเราได้รับคติความเชื่อเกี่ยวกับท้าวขัตตุคาม และท้าวรามเทพ พร้อมกับเทพารักษ์คณะเดียวกันอีกสององค์มาจากลังกาตั้งแต่ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว และเป็นการรับเข้ามาพร้อมกับศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์นั่นเอง

แต่เรายังมีหลักฐานอื่นเกี่ยวกับเทพทั้งสององค์นี้ในเมืองไทย ที่เก่ากว่าหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์และชินกาลมาลีปกรณ์อีกครับ

กำธรระบุว่า ในกฎหมายเก่าของไทย คือ ลักษณะพิสูจน์ดำน้ำ-ลุยเพลิง ใน  กฎหมายตราสามดวง ซึ่งบัญญัติขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๘๙๙ อันถือเป็นกฎหมายฉบับเก่าที่สุดของไทยเรานั้น เมื่อมีการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคู่ความทั้งสองฝ่ายด้วยการลุยไฟ ก็จะต้องทำเป็นพิธีกรรม มีการอ่านโองการอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ เป็นสักขีพยานโดยอาลักษณ์ เรียกว่า โองการลุยเพลิง

โองการนั้นเขียนเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖ ความตอนหนึ่งว่า

อีกทังพระกาลพระกุลี พระขัตุคามี พระรามเทพชาญไชย

ในขณะเดียวกัน จากการค้นคว้าของ อ.พงศ์เกษม สนธิไทย ได้พบรูปสลักที่เก่าแก่ที่สุดของท้าวจตุคามรามเทพ คือรูปสลักที่รอยพระพุทธบาทสำริด สมัยสุโขทัย อายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ บนรอยพระพุทธบาทนั้นปรากฏพระนามของพระอดีตพุทธเจ้า พระมหาสาวก นามของเทพยดา ๓ องค์ซึ่งเป็นเทวดารักษาทิศและรักษารอยพระพุทธบาทนี้ คือ ท้าววิรุฬหก ท้าวธตรฐ และ ท้าวขัตตคาม ทั้งหมดเขียนด้วยอักษรขอม  ภาษาบาลี


ภาพจาก http://theicity.com

อ.พงศ์เกษมยังได้พบพระนามของท้าวขัตตุคาม จารึกไว้ใต้เทวรูปท้าวเวสสุวัณ ในซุ้มคูหาชั้นบนของพระปรางค์ด้านทิศเหนือ อันเป็นหนึ่งในพระปรางค์ ๔ ทิศที่ตั้งล้อมรอบพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดอรุณราชวราราม ธนบุรี ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

แสดงว่า คติการบูชาท้าวขัตตุคาม ท้าวรามเทพได้มีหลักฐานปรากฏแล้วในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ก่อนที่จะมีตำนานเกี่ยวกับการได้พระพุทธสิหิงค์มาจากลังกาเสียอีก และการบูชาพระเทวราชทั้งสององค์นี้ก็ยังคงปรากฏในเมืองไทยของเราต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเลยครับ

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่าแปลกใจว่าเพียงชั่วระยะเวลาร้อยกว่าปีให้หลัง ทุกคนก็ลืมเรื่องราวของพระองค์กันไปหมด แม้แต่ที่นครศรีธรรมราชซึ่งมีเทวรูปของพระองค์ปรากฏอยู่ ก็ไม่มีผู้ใดล่วงรู้จนกระทั่ง พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช จอมขมังเวทย์แห่งเมืองนครฯ กล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ.๒๕๒๘  ด้วยพระนามใหม่ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้ว่า จตุคามรามเทพ

แล้วเทวรูปของพระองค์ในนครศรีธรรมราช อยู่ที่ไหน?

คำตอบก็คือ อยู่บนบานประตูที่เปิดขึ้นสู่ลานประทักษิณขององค์พระบรมธาตุนั่นเองละครับ

บานประตูทั้งสองนั้น จำหลักเป็นรูปเทพยดาซึ่งมีเทวลักษณะแปลก เป็นศิลปะพื้นเมืองนครศรีธรรมราช แต่คนละยุคกับเทวดานั่งชันเข่าสององค์ที่อยู่ถัดลงมา ซึ่งโดยทั่วไปคิดกันว่าเป็นองค์จตุคามรามเทพ เพราะมีชื่อติดไว้บนแท่นฐานของเทวดาดังกล่าวเช่นนั้น


ภาพจาก http://www.manager.co.th

เทพยดาบนบานประตูไม้จำหลักนี้ สวมศิราภรณ์และฉลองพระองค์แบบเทวดาไทย แต่เป็นแบบอย่างที่เก่ามาก โดยองค์ที่อยู่ทางซ้ายมือ แลเห็นพระพักตร์ที่ชัดเจน ๔ พระพักตร์ มี ๔ พระกร แต่ละพระหัตถ์ถือเทพอาวุธและสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ตีความไม่ออกว่าตรงกับสิ่งใดบ้าง

ส่วนองค์ขวามี ๒ พระพักตร์  ๔ พระกร ทรงจักรและคันศร พระหัตถ์ที่เหลืออาจถือตรีศูล ธนูหรือแม้แต่ใบไม้ และอีกพระหัตถ์หนึ่งน่าจะแสดงปางวิตรรกะมุทรา

เทวรูปทั้งสององค์นี้ เชื่อกันมานานแล้วว่าหมายถึงพระพรหมกับพระนารายณ์ แต่รูปแบบที่เห็นทั้งหมดในปัจจุบันเกิดจากการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง ด้วยเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในวิหารมหาภิเนษกรมณ์ในช่วงเวลานั้น ทั้งบานประตูของเดิมรวมทั้งประติมากรรมทั้งหมดพลอยถูกไฟไหม้ไปด้วย โดยไม่มีบันทึกไว้ว่าเสียหายมากน้อยเพียงใด 

ว่าที่ ร.ต.กฤษณศักดิ์ กัณฐสุทธิ์ ให้ความเห็นไว้ในนิตยสาร ตะลุยตลาดพระ ว่า บานประตูทั้งสองบานนี้อาจเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ในครั้งนั้นแทนของเดิมก็เป็นได้ และผลจากการบูรณะใหม่ก็ทำให้เทวรูปองค์ซ้ายมือถือสิ่งของที่ดูไม่ออกว่าเป็นสิ่งใด จนทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักประติมานวิทยายังไม่กล้าสรุปกันจนทุกวันนี้

ผมคิดว่า ความเห็นของว่าที่ ร.ต.กฤษณศักดิ์ มีความเป็นไปได้สูงครับ

เพราะเมื่อมีเหตุเพลิงไหม้อาคารใดๆ บานประตูหน้าต่างที่ทำด้วยไม้มักจะได้รับความเสียหายทั้งหมด หรือถึงแม้จะมีการดับไฟได้ทัน แต่ถ้าบานประตูหน้าต่างเหล่านั้นถูกไฟไหม้ไปบ้างแล้ว แม้จะเป็นของเก่ามีลวดลายแกะสลักด้วยฝีมือช่างชั้นสูงเพียงใด ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการเปลี่ยนใหม่

และถ้าช่างผู้ทำการบูรณะนั้น เคารพของเดิมว่าเป็นฝีมือครู หรือเห็นว่าจะต้องรักษาคติเดิมไว้  อย่างมากก็ทำเพียงแกะสลักของใหม่ให้ดูคล้ายกับของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เท่านั้นละครับ

นั่นก็เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น การบูรณะปฏิสังขรณ์ศิลปวัตถุใดๆ แม้กระทั่งในทวีปยุโรปก็ยังไม่มีแนวความคิดที่จะต้องรักษาของเก่า หรือเลียนแบบของเก่าให้เหมือนทุกกระเบียดนิ้ว ดังที่เป็นมาตรฐานบังคับใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

การแกะสลักบานประตูทั้งสองบานนี้ขึ้นใหม่ จึงอาจจะมุ่งเลียนแบบของเดิมเฉพาะส่วนที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น รายละเอียดของศิราภรณ์ เครื่องทรง และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นของปลีกย่อยอาจถูกดัดแปลงไปตามที่ช่างจะเห็นสมควร เช่นลวดลายตรงที่ใดที่ไม่รู้จัก หรือเดาไม่ออก เพราะของเดิมถูกไฟไหม้เสียหายหนัก ก็จะแทนที่ด้วยลวดลายอื่นที่ตนรู้จักแทน

ดังนั้นรูปเทพยดาทั้งสององค์นี้ ก็อาจมีอายุเพียงไม่เกินร้อยปีที่ผ่านมานี้เองครับ

แต่ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ศิลปะของเมืองไทย คือ  ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม เคยกล่าวกับว่าที่ร.ต.กฤษณศักดิ์ว่า ท่านได้ไปดูด้วยตาแล้วเห็นว่า แม้จะมีการบูรณะขึ้นมาใหม่ แต่ก็คงมีเค้าที่ทำตามรูปแบบของเดิมไว้ ซึ่งมองเผินๆ ก็จะเห็นว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ที่ยืนยันได้ก็คือถึงอย่างไรก็ไม่เก่าไปถึงสมัยศรีวิชัยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากลักษณะเด่นที่ยังคงเหลืออยู่ ก็เพียงพอที่จะทำให้ อ.ไมเคิล ไรท์ เขียนไว้ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ถึงเทวรูปสององค์นี้ว่า




"ที่วิหารพระม้า วัดพระบรมธาตุนครฯ ที่หัวบันไดมีลานแคบ ซ้าย-ขวามีเทวรูปปูนปั้น ไม่มีลักษณะเฉพาะ ตรงกลางเป็นประตูไม้เข้าสู่ลานประทักษิณ บานขวาสลักเป็นรูปพระนารายณ์ (แน่นอนเพราะทรงจักร) แต่ยังทรงธนูอีกด้วย แสดงว่าเป็นรามาวตาร

บานซ้ายนั้นเป็นเทวรูปที่มี ๔ หน้าให้เห็น จึงสรุปกันว่ารูปนี้คือพระพรหม แต่ท่านถือเทพาวุธนานาผิดกับพระพรหมที่ถือเครื่องประกอบพิธี (อักษมาลา ทัพพี คนโท) ถ้านับพระพักตร์ที่มองไม่เห็น (เพราะอยู่ด้านหลังรูปนูน) ก็จะได้ ๖ เศียร ตรงกับ สฺกนฺท/ขนฺธกุมาร/การฺตฺติเกย (บุตรพระอิศวร) ที่มี ๖ เศียร เพราะเป็นลูกบุญธรรมแม่นมทั้งหกในนักษัตรกฤตติกา นอกจากนี้ขันธกุมารย่อมถือเทพาวุธนานา เพราะนับกันว่าท่านเป็น เทวเสนาบดี

ดังนั้น ตามข้อเขียนของ อ.ไมเคิล ไรท์  เทพยดาทั้งสององค์นี้ก็ไม่ใช่พระพรหมและพระนารายณ์ดังที่สันนิษฐานกันมาก่อน แต่เป็นเทวรูปองค์อวตารของพระนารายณ์ ซึ่งทรงธนู และเทพเจ้าแห่งการสงคราม หรือพระสกันท์

ซึ่งก็คือ ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ ๒ ใน ๔ เทวราชที่ไทยเราได้รับมาจากลังกาตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั่นเอง

ส่วนเทวดาปูนปั้นทั้ง ๒ องค์ซึ่งมีรูปลักษณ์อย่างเดียวกัน และประทับนั่งในลีลาที่เกือบจะเหมือนกัน ขนาบบันไดชั้นบนก่อนถึงบานประตูนั้น เหตุใดจึงมีแผ่นจารึกคำว่า เท้าขัตตุคาม และ เท้ารามเทพ อยู่หน้าแท่น แทนที่ชื่อดังกล่าวจะไปติดไว้บนบานประตู?


ภาพจาก http://www.palungdham.com

ผมว่า เทวรูปปูนปั้นทั้งสององค์นั้นอาจไม่เกี่ยวอะไรกับองค์จตุคามรามเทพเลยนะครับ

หากเป็นเพียง ทวารบาล ในลักษณะของเทวดาสององค์ เป็นชุดเดียวกับประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์ สิงห์ และครุฑ ที่ปั้นขึ้นเป็นคู่ๆ ในลักษณะ พยนต์ สำหรับพิทักษ์ทางขึ้นสู่ชั้นประทักษิณของพระบรมธาตุเจดีย์เท่านั้น

และการที่แผ่นจารึกถูกนำมาติดตั้งที่ฐานของเทวรูปทั้งสอง ก็อาจเป็นเพราะความเข้าใจผิด เนื่องด้วยแผ่นจารึกทั้งสองเดิมอาจจะอยู่ใต้บานประตูไม้แกะสลักก็ได้  เมื่อเกิดไฟไหม้วิหารขึ้น วัตถุต่างๆ ในวิหารเสียหายเป็นอันมาก เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ก็อาจมีผู้นำแผ่นจารึกทั้งสองมาติดตั้งไว้ใต้รูปทวารบาลแทน

จาก www.manager.co.th ซึ่งอ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือ จตุคามรามเทพ : ความจริงและความลับ ที่ไม่เคยมีใครรู้ ทำให้เราทราบว่า พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล เป็นบุคคลแรกอย่างแท้จริงที่ค้นพบว่า บานประตูไม้ดังกล่าวไม่ใช่พระพรหมกับพระนารายณ์ แต่เป็นองค์จตุคาม-รามเทพ ซึ่งการค้นพบนั้นก็เป็นเพราะท่านต้องค้นหารูปแบบของศิลปะศรีวิชัยมาใช้ในการสร้างเสาหลักเมือง

ดังนั้นในเว็บไซต์ดังกล่าวจึงบ่งชี้อย่างไม่ลังเลเลยว่า

ถ้าใครเคยไปดูบานประตูแกะสลักทางขึ้นพระบรมธาตุ องค์จตุคามจะอยู่บานทางด้านซ้าย ส่วนองค์รามเทพจะอยู่บานทางด้านขวา

เพราะฉะนั้น การที่มีผู้กล่าวว่า เทพองค์นี้เป็นเทพที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นใหม่ เป็นเทพที่นักสร้างพระแต่งขึ้นมาหลอกลวง เพื่อขายความงมงายนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าควรแก่การรับฟังอีกต่อไปครับ


..................................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

9 ความคิดเห็น:

  1. พลิกล็อคมากเลยค่ะอาจารย์ ...หลงเชื่อมาตลอดว่าเทวดาสององค์นั่นคือองค์พ่อ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. แอดมินก็หลงเชื่อแบบนั้นมาตลอดเหมือนกันค่ะ ^ ^"

      ลบ
  2. ผมไม่รู้นะยังไง แต่ตอนที่ผมไม่รู้จัก ท่าน ฝันว่า มี เทพยดา ทรงเครื่องกษัตร มาบอกผมว่า ท่านคือ ท้าวจตุคามรามเทพ จนผม มาศึกษา เรื่องท่าน หันมาไหว้พระสวดมน เพราะ ท่านสอน ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. องค์พ่อท่านชอบคนไหว้พระสวดมนต์ค่ะ แล้วหมั่นทำบุญทำทานบ่อยๆ ท่านจะยิ่งโปรดมากนะคะ เวลาลำบากอะไรให้นึกถึงท่าน ท่านจะมาช่วยเสมอ

      ลบ
  3. พี่ครับ แล้วที่ พตท สรรเพชร ออกมาปฏิเสธว่า ไม่ใช่ ขัตตุคาม หรือ รามเทพ ในคติฮินดู แต่หมายถึง ท้าว จตุคาม กับ รามเทพ และไม่ใช่เกี่ยวไรกับพุทธเลยนี อาจารย์กิติว่าอย่างไรครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. รออาจารย์มาตอบนะคะ

      ลบ
    2. เช่นเดียวกับที่ผมตอบไว้ในบทความต่อจากนี้ครับ คือ การสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพไม่ว่าสำนักใด ล้วนแต่ไม่เกี่ยวข้องกับองค์ขัตตุคาม รามเทพ ที่เรารับเข้ามาจากลังกาเลย รวมทั้งกรณ๊ของท่านสรรเพชญด้วย

      กล่าวคือ ในระยะแรกๆ นั้น ท่านสรรเพชญน่าจะ "สื่อ" กับองค์ขัตตุคาม รามเทพ องค์จริงได้บ้าง ท่านจึงเป็นบุคคลแรกที่ค้นพบว่า บานประตูไม้ทั้งสองบานนั้นเป็นรูปลักษณ์ขององค์ขัตตุคาม รามเทพ ตามที่ผมเขียนไว้ตอนท้ายของบทความข้างบนนี้ไงครับ

      แต่ในเวลาต่อมา ท่านก็ "ปรุงแต่ง" คติจตุคามรามเทพใหม่ ให้เป็นพระโพธิสัตว์แห่งทะเลใต้ ตามปรัชญามหายานที่ท่านชอบ และในการสร้างวัตถุมงคล ท่านก็เน้นการสื่อผ่านร่างทรง กับอุปกรณ์ที่ท่านครอบครองอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับคติจตุคามรามเทพองค์จริง ที่ไทยเรารับมาจากลังกา

      ดังนั้น ที่ท่านปฏิเสธอย่างนั้น ก็ถูกต้องแล้วครับ จตุคามรามเทพที่ท่านสร้าง ไม่ใช่ขัตตุคาม รามเทพ ในคติฮินดู และไม่เกี่ยวอะไรกับพุทธ

      ลบ
  4. ขอบคุณทุกข้อความนะครับ ได้เป็นที่ประเทืองปัญญา ขอบคุณอีกครั้ง ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณมากมายเช่นกัน ที่ติดตามนะคะ ถาจาย์บอกว่าถ้าว่างๆ อาจจะเะขียนเรื่องจตุคามเป็นบล็อกซักที แบบว่า...เก็บละเอียดตั้งแต่เริ่มแรกเลยค่ะ ติดตามนะคะ ^_^

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น