บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์
ภาพจาก http://horoscope.thaiza.com |
เรื่องขององค์พระพิราพ บรมครูฝ่ายอสูรที่มีอิทธิฤทธิ์ มีความขลังศักดิ์สิทธิ์
และดุร้ายน่าเกรงกลัวที่สุดในบรรดาครูนาฏศิลป์ไทยทั้งหมด เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน
แต่ไม่ค่อยจะลงรอยกัน
ตามคติความเชื่อที่กำลังเป็นกระแสหลัก
ในวงการนาฏศิลป์ไทยเวลานี้ เชื่อกันว่า ท่านเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ ที่เรียกกันว่า
ไภรวะ หรือ ไภรพ (Bhairava) และ วีรภัทร
(Virabhadra)
คติความเชื่อดังกล่าวนี้ มาจากข้อสันนิษฐานของ
ศ.ดร.มัทนี รัตนิน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ครับ
ทั้งไภรวะ และ วีรภัทร
เป็นเทพอสูรที่ได้รับการนับถือมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
เมื่อศาสนาฮินดูไศวะนิกายแพร่ไปถึง จึงได้มีการแต่งเทพนิยายรวมเอาอสูรทั้งสองตนนี้
เข้าเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ
อสูรไภรวะ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิธภัณฑ์ Guimet ฝรั่งเศส |
โดยไภรวะกลายเป็นปางดุของพระศิวะ
ซึ่งตัดเศียรที่ห้าของพระพรหม
และเพราะผลกรรมนั้นทำให้ไภรวะต้องตระเวนไปทั่วโลกเพื่อขอทาน
โดยใช้เศียรที่ห้าของพระพรหมนั่นแหละเป็นบาตร จนถึงเมืองพาราณสี (กาศี)
บาตรนั้นจึงหายไป
และไภรวะกลายเป็นเทพารักษ์ประจำป่าช้าของกรุงพาราณสี
ผู้ใดนำเนื้อดิบและเหล้าไปเซ่นสังเวย ไภรวะจะกินบาปของผู้นั้น
ผู้นั้นก็เป็นอันพ้นจากบาปที่ก่อขึ้น
ส่วนวีรภัทร
เกิดเมื่อพระทักษะจัดยัญญพิธีใหญ่โตแล้วไม่เชิญพระศิวะ เป็นเหตุให้พระสตี
(ชายาของพระศิวะ-ธิดาของพระทักษะ-ชาติก่อนของพระอุมา) เสียพระทัย
โดดเข้ากองไฟที่ใช้ในพิธีนั้นจนสิ้นพระชนม์ พระศิวะทรงพิโรธ
บันดาลให้เกิดอสูรวีรภัทรเข้าทำลายพิธีของพระทักษะ และตัดเศียรพระทักษะขาดกระเด็น
จนต้องมีการนำหัวแพะมาเปลี่ยนให้ในภายหลัง
อสูรวีรภัทร ภาพจาก http://www.junglekey.in |
เหตุที่ทำให้เชื่อกันว่า พระพิราพของไทย
เป็นองค์เดียวกับไภรวะ และ วีรภัทร อันเป็นภาคดุร้ายของพระศิวะ
เนื่องจากคนไทยรุ่นเก่าจำนวนหนึ่ง นิยมเรียกพระพิราพว่า พิราพป่า
ขณะที่คนอินเดียใต้ หรือทมิฬ ก็เรียกไภรวะและวีรภัทรว่า พิราปปา (Birappa)
เหมือนกันมั้ยล่ะครับ?
ที่เมืองพาราณสี หรือ กาศี
ยังมีเทวาลัยประดิษฐานพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ในรูปของศิวลึงค์ เรียกว่า วิศวนาถ
หรือ กาศีลิงคะ และมีรูปของไภรวะ
ในลักษณะของเสาหินที่มียอดเป็นหน้าอสูรเฝ้าคอยพิทักษ์รักษา
ไภรวะผู้พิทักษ์เทวสถานสำคัญนี้ เรียกกันว่า กาศีลิงคะพิราปปา
(Kasilinga
Birappa) ซึ่งคนฮินดูยังคงพากันเซ่นสังเวยด้วยเนื้อดิบและเหล้า
เหมือนกับเครื่องเซ่นของพระพิราพจนทุกวันนี้
ดังนั้น
จึงทำให้เกิดกระแสความเชื่อที่ดูเหมือนจะมีหลักฐานหนักแน่นว่า พระพิราพของไทย
ก็คือพระพิราปปาของอินเดียใต้นั่นเอง
ทั้งๆ ที่คติการบูชาพิราปปาในอินเดีย
ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์ หรือระบำรำฟ้อนอะไรเลยแม้แต่นิดเดียวครับ
ไภรวะ ภาพจาก http://svayambhu.blogspot.com |
ผู้เชื่ออย่างนี้ จึงต้องพยายามอธิบายว่า
เนื่องจากพิราปปาเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ ซึ่งบุคลิกภาพหนึ่งของพระองค์ คือ นาฏราช
เจ้าแห่งการฟ้อนรำ ดังนั้น พระพิราพไทยซึ่งเป็นองค์เดียวกับพิราปปา
จึงย่อมเป็นครูแห่งการฟ้อนรำด้วย
ซึ่งในทางเทววิทยา อธิบายกันง่ายๆ
อย่างนี้ไม่ได้นะครับ
เพราะพิราปปาเป็นภาคดุร้ายที่เกิดจากองค์พระศิวะในฐานะที่เป็นเทพผู้ทรงพรต
ไม่ใช่เกิดจากพระศิวะนาฏราช ซึ่งเป็นภาคที่นับถือกันว่าเป็นบรมครูแห่งการฟ้อนรำ
เมื่อไม่ได้แบ่งภาคมาจากองค์นาฏราชาโดยตรง
เป็นเพียงการแบ่งภาคมาจากมหาเทพ ซึ่งทรงมีทิพยภาวะหนึ่งเป็นนาฏราชาเท่านั้น
ทางเทววิทยาก็ถือว่า ยังเชื่อมโยงกันได้ไม่สนิทครับ
ถ้าจะอธิบายว่า พระพิราพเป็นครูฟ้อนรำ
ครูโขนละคร และเกี่ยวข้องกับพระศิวะ รวมทั้งไภรวะ และวีรภัทรได้อย่างสมเหตุสมผล
เราจะต้องย้อนกลับไปยังเรื่องราวเก่าแก่ ที่ชาวนาฏศิลป์พากันมองข้ามไป
นั่นก็คือ เรื่องราวของ พิราพ
ยักษ์ชื่อเดียวกัน ซึ่งเป็นเจ้าของสวนป่าอันสวยงาม มีต้นไม้สำคัญคือต้นชมพู่พวาทอง
ที่ถูกพระรามสังหารในเรื่องรามเกียรติ์นั่นเอง
ยักษ์ตนนี้ ชาวโขนละคร
ตลอดจนผู้สนใจรามเกียรติ์รู้จักกันดี ไม่มีความลี้ลับอะไรทั้งสิ้น
แต่สาเหตุที่เรื่องของยักษ์ตนนี้
ไม่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับพระพิราพ ที่เป็นบรมครูฝ่ายอสูรในปัจจุบัน
เพราะเกิดความเข้าใจผิดกันว่า ท่านเป็นเพียงยักษ์เฝ้าสวนธรรมดาๆ ตนหนึ่ง
ที่ถูกพระรามสังหารเท่านั้น
ดังมีเรื่องราวใน บทละครรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่
๑ พอสรุปได้โดยสังเขปว่า พิราพ เป็นอสูรเทพบุตรที่พระอิศวรให้ลงไปเกิดในโลก
ซึ่งความจริง บทพระราชนิพนธ์ดังกล่าว
มิได้ระบุว่า ท่านเป็นยักษ์ธรรมดาๆ อย่างที่คิดกัน
เพราะในการไปเกิดนั้น
พระอิศวรประทานกำลังพระสมุทรและพระเพลิงให้ ทั้งยังประทานที่ดินให้สร้างอุทยานปลูกไม้ดอกไม้ผลไว้ที่เชิงเขาอัศกรรณ
ให้บริวารที่เป็นรากษสเฝ้า
เอาไว้สำหรับสัตว์ใหญ่น้อยหลงเข้าไปในสวนนั้นจะได้จับกินเป็นอาหาร
พิราพ ในรามเกียรติ์ จึงไม่ใช่ยักษ์เฝ้าสวน
แต่เป็นพญายักษ์ที่มีสวน หรือ อุทยานใหญ่เป็นของตนเอง มีบริวารนับพันนับหมื่นคอยเฝ้าดูแลสวนนั้นให้ด้วย
ภาพจาก http://www.soccersuck.com |
สวน หรือ อุทยาน
คติโบราณถือเป็นสมบัติของคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ไม่ใช่ของธรรมดาๆ ที่ใครๆ
จะมีได้นะครับ
ถ้าเป็นมนุษย์ ก็ต้องระดับกษัตริย์
หรืออย่างน้อยมหาเศรษฐี เช่น ท่านอนาถบิณฑิกะ และ ท่านวิสาขามหาอุบาสิกา
ในสมัยพุทธกาล
ถ้าระดับเทพ ก็เช่นพระอินทร์
ที่มีอุทยานเป็นของพระองค์เอง เทพอื่นไม่ค่อยมีบันทึกไว้ว่ามีสวนหรืออุทยานนะครับ
พิราพ คือพญายักษ์ที่มีสวนป่า
หรืออุทยานเป็นของตนเอง จึงน่าจะมีศักดิ์ไม่น้อยกว่าบรรดาเครือญาติของทศกัณฐ์
เพียงแต่ไม่ได้ครอบครองบ้านเมืองที่ไหนเท่านั้น
และพิราพก็ชอบสวนของตนมาก
คอยจัดแต่งดูแลให้สวยงามอยู่เสมอ ทั้งยังได้ปลูกต้นไม้สำคัญ คือ ต้นชมพู่พวาทองไว้
ซึ่งผลของมันมีรสชาติอร่อยอย่างวิเศษ
อยู่มาวันหนึ่งพระราม พระลักษมณ์
พระนางสีดาหลงเข้าไปในอุทยานนั้น พวกรากษสเข้าโจมตี
ก็ถูกพระลักษมณ์ฆ่าตายไปเป็นอันมาก
พิราพกลับมาเห็นเข้าก็โกรธ
เข้าต่อสู้กับพระรามก็ถูกพระรามสังหารด้วยศรพรหมาสตร์ แล้วพระราม พระลักษมณ์ พระนางสีดาก็เสด็จต่อไป
บทบาทของพิราพ ในรามเกียรติ์ของไทย
มีอยู่เพียงเท่านี้ หลายๆ คนจึงเข้าใจผิดไปว่าเป็นเพียงยักษ์ที่ด้อยศักดิ์
จนไม่เห็นเหตุที่จะพาให้เกิดการนับถือเป็นบรมครูฝ่ายอสูรได้
แต่ อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า ในรามายณะหลายฉบับของอินเดีย
ไม่ว่าจะเป็นฉบับวาลมีกิ เบงกอล กัมปันฯลฯ รวมทั้งมหาภารตะ ต่างพากันกล่าวถึง วิราธ
(Viradha
: विराध) ซึ่งมีเรื่องราวเหมือนพิราพในรามเกียรติ์ของไทย
ในฐานะพญายักษ์ที่สำคัญตนหนึ่ง
เนื่องด้วยชาติเดิมของท่านคือ ตุมพุรุ (Tumburu
: तुम्बुरु) เจ้าแห่งคนธรรพ์
อมนุษย์ผู้ชำนาญการร้องรำทำเพลงแห่งป่าหิมพานต์ครับ
เทพคนธรรพ์ ตุมพุรุ ตามประติมานวิทยาอินเดียในปัจจุบัน |
อ.ศิริพจน์ กล่าวว่า ตุมพุรุ
ตามความเชื่อของอินเดีย คือผู้ขับกล่อมเพลงดนตรีได้ไพเราะที่สุดในสามโลก
ถึงขนาดที่ว่าในมหาภารตะ ยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน ๔ คนธรรพ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด
และสาเหตุที่ วิราธ เป็นที่เคารพบูชา
และเชื่อมโยงกับพระศิวะ ก็เพราะในคัมภีร์ต่างๆ ในสายตันตระของไศวะนิกาย เช่น คัมภีร์วินาศิขตันตระ
ของเนปาล กล่าวว่า ตุมพุรุเป็นรูปปรากฏปางหนึ่งขององค์พระศิวะ
รวมทั้งคัมภีร์อื่นๆ ในลัทธิเดียวกันนี้
ก็กล่าวถึงการปรากฏตัวของตุมพุรุใน ๒ ลักษณะ คือ ราชาแห่งคนธรรพ์
และภาคหนึ่งของพระศิวะ
โดยในบุคลิกภาพที่เป็นภาคหนึ่งของพระศิวะนั้น
ตุมพุรุจะมีลักษณะดุร้าย จนคัมภีร์บางเล่มเช่น สตธรรมตีปิกา กล่าวว่าเป็นไภรวะ
ตรงกับข้อสันนิษฐานของ ศ.ดร.มัทนี รัตนิน อย่างไม่อาจปฏิเสธ
แต่ในหนังสืออื่นๆ ที่กล่าวว่า
ตุมพุรุคือพระศิวะ เช่น คัมภีร์โยคะวาสิษฐะ รามายณะ
ก็กล่าวถึงการปรากฏตัวพร้อมกันของตุมพุรุ และไภรวะ
จึงไม่อาจเป็นบุคคลคนเดียวกันได้
สาเหตุที่ตุมพุรุ กลายเป็นยักษ์วิราธ
ประการหนึ่งจึงอาจเพราะเป็นภาคดุร้ายของพระศิวะดังกล่าวแล้ว
แต่อีกประการหนึ่งก็เพราะต้องคำสาป
ดังปรากฏในรามายณะหลายฉบับ เช่นฉบับแปลภาษาอังกฤษโดย
ราเมศ เมนอน และแปลเป็นภาษาไทยโดย วรวดี วงศ์สง่า
พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ.๒๕๕๑ กล่าวว่า วิราธ (ผู้แปลใช้คำว่า
พิราพ) คือตุมพุรุ เจ้าแห่งคนธรรพ์ที่ถูกท้าวกุเวรสาปให้ไปเกิดเป็นยักษ์
หรือพญารากษสอยู่ในป่าทัณฑกะ จนกว่าจะถูกพระรามมาสังหาร
จึงจะคืนร่างเป็นตุมพุรุเหมือนเดิม
วิราธรบกับพระราม ภาพจาก http://www.flickr.com |
ซึ่งถ้าไปดูใน https://en.wikipedia.org/wiki/Tumburu
หัวข้อ In the Ramayana: Viradha และ https://en.wikipedia.org/wiki/Viradha
ก็จะมีข้อมูลในเรื่องนี้ปรากฏอย่างชัดเจนครับ
อ.ศิริพจน์กล่าวว่า ชนชาติขอมโบราณ
รู้จักตุมพุรุในฐานะที่เป็นภาคหนึ่งของพระศิวะเป็นอย่างดี เช่นมีการกล่าวถึงในจารึกที่มีชื่อเสียงอย่าง
จารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม และพวกเขาก็รู้จัก วิราธ
ในฐานะของตุมพุรุที่ถูกสาปด้วย
คติความเชื่อนี้ได้สืบทอดผ่านอยุธยา
มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ เพียงแต่หลงลืมรายละเอียดไปมาก จดจำกันได้เพียงว่า
วิราธไม่ใช่ยักษ์ธรรมดา แต่เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่
ดังมีร่องรอยอยู่ในบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ ที่กล่าวว่า
พระอิศวรประทานกำลังพระสมุทรและพระเพลิงให้นั่นเอง
ปัจจุบัน
ในประเทศอินเดียยังคงมีคติการบูชาตุมพุรุ อยู่ในอาศรมฝ่ายนาฏดุริยางคศาสตร์หลายแห่ง
แม้จะไม่ถึงกับเป็นเทพสำคัญระดับแถวหน้าในเทววิทยาฮินดู
แต่ท่านก็เป็นที่รู้จักในแวดวงของศิลปิน นักแสดงละครอินเดียในทุกวันนี้
ตุมพุรุ (ที่ ๒ จากซ้าย) พร้อมด้วยพระลักษมณ์ พระนารท และพระพิเภก เป็นพยานการบูชาศิวลึงค์แห่งราเมศวรัม โดยพระรามและพระนางสีดา ภาพเขียนอินเดียสมัยปัจจุบัน |
ราชาแห่งคนธรรพ์ท่านนี้ ยังมีชื่ออยู่ใน สักกปัญหสูตร ของศาสนาพุทธอีกด้วย โดยมีชื่อว่า ติมพรุ มีลูกสาวชื่อ นางสุริยวัจฉสา ซึ่งพระอินทร์ได้ประทานเป็นชายาของ พระปัญจสิขร อันเนื่องมาจากพระปัญจสิขรเป็นผู้นำพระอินทร์กับบริวารเข้าเฝ้าทูลธรรมปัญหา และฟังธรรมจากพระพุทธองค์ได้สำเร็จ
ด้วยข้อมูลเหล่านี้ ผมจึงคิดว่า
เราน่าจะสรุปได้แบบนี้นะครับ :
๑) การที่รามเกียรติ์ไทย รับเรื่องราวของ
วิราธ มาบรรจุไว้ ก็เพราะดำเนินเรื่องตามรามายณะของอินเดีย
อันเป็นวรรณคดีไวษณพนิกาย
๒) แต่การที่รามเกียรติ์ไทยเรียก วิราธ ว่า
พิราพ อาจเป็นเพราะรับคติเรื่องความสัมพันธ์กับพระศิวะ ไภรวะ และวีรภัทร
ตามคัมภีร์ไศวะนิกายตันตระ และรู้ว่าไภรวะและวีรภัทรมีนามว่า พิราปปา ในภาษาทมิฬ
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
จึงทรงกล่าวถึง วิราธ ในบทละครรามเกียรติ์ โดยทรงเรียกว่า พิราพ โดยตลอด
และ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
จึงแต่งโคลงบรรยายองค์พระพิราพไว้ว่า
.....พิราพพิโรธร้าย....เริงหาญ
แรงราพคอนคชสาร...สิบไต้
สีม่วงแก่กายมาร........วงทัก ษิณานอ
สวนปลูกพวาทองไว้...สถิตย์แคว้นอรรศกรรณฯ
ท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
ที่วงการนาฏศิลป์ไทยยกย่องเป็นท่ารำสูงสุด มีความศักดิ์สิทธิ์
และมีระเบียบแบบแผนที่ซับซ้อนมากมาย ก็มีผู้อธิบายว่า เดิมเป็นท่ารำของครูยักษ์
เพื่อประสิทธิ์ประสาทพรชัยมงคลให้แก่บรรดาสานุศิษย์ ตลอดจนผู้ชมที่อยู่ในที่แสดง
แต่บางแหล่งระบุว่า
ครูยักษ์ท่านนี้ปรากฏกายในสวน
กระบวนท่ารำฉบับเต็มเริ่มตั้งแต่ก่อนนำต้นชมพู่พวาทองไปปลูก
จนกระทั่งสู้รบและพ่ายแพ้ต่อพระราม เพียงแต่ในเวลาต่อมา
ไม่มีการแสดงตอนสู้กับพระรามอีกต่อไปแล้ว
ดังนั้นจึงมีผู้สรุปว่า ท่ารำนี้ เป็นท่ารำของ
พิราพ ในบทละครรามเกียรติ์ของรัชกาลที่ ๑ และเป็นยักษ์ตนเดียวกับ วิราธ
ที่รามเกียรติ์ไทยดัดแปลงมาจากรามายณะของอินเดีย
การรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับไสยศาสตร์ไทย
ดังที่มือขวาของศิลปินผู้แสดงจะถือหอกยาวเป็นอาวุธ
หอกนี้มีด้ามเป็นไม้ไผ่ เป็นลักษณะพิเศษซึ่ง นายรงภักดี
(เจียร จารุจรณ) ศิลปินแห่งชาติ
บรมครูผู้ถ่ายทอดการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ อธิบายว่า เอาไว้ขับไล่ภูตผีปีศาจ
ขณะที่ อ.เอกรินทร์ พงศ์พันธุ์เดชา
ผู้สืบทอดการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพท่านหนึ่งในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่า
เป็นคติที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงพิธีกรรมเกี่ยวแก่การบูชาผี ในไสยศาสตร์ไทยที่มีมาแต่เดิมได้
ส่วนมือซ้ายของผู้รำ ถือก้านใบมะยม ซึ่งเชื่อว่าเป็นไม้มงคล
มีนามพ้องกับไม้ยมทัณฑ์ของพระยม และในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา
มักใช้ก้านใบมะยมในการประพรมน้ำมนต์
ดังที่นายรงภักดีอธิบายว่า พระพิราพถือกำก้านใบมะยม
เป็นการประพรมน้ำมนต์ให้กับศิษย์
การรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
และคติความเชื่อทั้งหมดเกี่ยวแก่บรมครูฝ่ายอสูรองค์นี้
จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย
เป็นการรวบรวมภูมิปัญญาไทยโบราณหลายแขนงเข้าด้วยกัน
โดยมีพื้นฐานอยู่บนร่องรอยของคติความเชื่อเก่าแก่
ตั้งแต่ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา ที่สืบทอดตำนานของตุมพุรุ เจ้าแห่งคนธรรพ์
ผู้มีความเกี่ยวข้องกับพระศิวะ ไภรวะ และ วีรภัทร
การที่พระพิราพได้รับการนับถือในวงการนาฏศิลป์ไทย
จึงไม่ใช่เพราะท่านเป็นพญายักษ์ ที่เกี่ยวข้องกับสวน
แต่เพราะชาติกำเนิดเดิมของท่าน คือเจ้าแห่งคนธรรพ์ ผู้เชี่ยวชาญการร้องรำทำเพลง เป็นบรมครูฝ่ายนาฏศิลป์โดยแท้
แต่เพราะชาติกำเนิดเดิมของท่าน คือเจ้าแห่งคนธรรพ์ ผู้เชี่ยวชาญการร้องรำทำเพลง เป็นบรมครูฝ่ายนาฏศิลป์โดยแท้
และเพราะท่านเกี่ยวข้องกับพระศิวะมหาเทพ
ผู้ทรงเป็น นาฏราช ด้วยเช่นกัน
ศีรษะพระพิราพ หน้าทอง ในงานไหว้ครูหุ่นละครเล็ก คณะโจหลุยส์ บันทึกภาพโดย อรชร เอกภาพสากล |
สรุป (อีกที) ก็คือ
คติความเชื่อกระแสหลักของชาวนาฏศิลป์ส่วนมากในปัจจุบัน
ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระพิราพ กับพระศิวะ และอสูรไภรวะนั้น ถูกต้องแล้วครับ
แต่หลักฐานที่จะพิสูจน์ความถูกต้องของคติความเชื่อนี้
กลับเป็นเรื่องของพญายักษ์ตนหนึ่ง ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงยักษ์เฝ้าสวนมาตลอด
จนไม่มีใครกล้าที่จะเอามาเชื่อมโยงกับองค์บรมครูฝ่ายอสูร ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในบรรดาครูทุกองค์ของนาฏศิลป์ไทย
ทั้งๆ ที่ในบทละครรามเกียรติ์ครั้งรัชกาลที่ ๑
นั้นก็ระบุไว้ชัดเจน ว่าพระพิราพเป็นใคร ก็ยังมีการพยายามหาคำอธิบายกันไปทางอื่น
ด้วยความเข้าใจผิดดังกล่าว จนบางสำนักถึงกับยืนยันว่า พิราพในบทพระราชนิพนธ์นั้นเป็นการสับสนเรื่องชื่อ
ในการตอบคำถามเกี่ยวกับพระพิราพ ในเว็บ aromamodaka.com
เมื่อหลายปีก่อน
ซึ่งบางท่านนำไปอ้างอิงในเว็บบอร์ดที่เกี่ยวกับพระพิราพ และสามารถค้นหาได้ง่ายในอินเตอร์เน็ตนั้น
ผมตอบอย่างย่นย่อและมีรายละเอียดที่น้อยเกินไป อีกทั้งข้อมูลบางส่วนยังล้าสมัยด้วย
ดังนั้น
หากท่านใดเคยอ่านการตอบคำถามของผมดังกล่าวแล้ว
ผมขอให้ท่านเปลี่ยนมายึดถือบทความนี้แทนนะครับ
เพราะเป็นการคัดย่อจากแหล่งข้อมูลสำคัญๆ
ที่ผมค้นคว้ามาได้ในปัจจุบัน จึงเป็นอันตัดเรื่องความล้าสมัย
และการขาดรายละเอียดที่จำเป็นได้
ยิ่งท่านที่จะนำไปอ้างอิงในที่อื่นใด
ยิ่งควรจะอ้างจากบทความนี้เป็นดีที่สุด
จะได้ไม่ทำให้ผู้อ่านตกหล่นในเรื่องที่ควรทราบ
.........................
.........................
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์
ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL
ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด
กระจ่าง ที่มาที่ไปชัดเจน หมดข้อสงสัยที่คาใจมานานคะ
ตอบลบขอบคุณค่ะ ^ ^
ลบเวลาเห็นท่านจะรู้สึกขนลุก ยกมือไหว้ตลอดค่ะ
ตอบลบขนลุกนี่คืออยากบูชารึเปล่าคะ
ลบ