วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559

น้องหมากับเทวศาสตร์

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

ยุคนี้เป็นยุคของคนรักหมา หมาทำอะไรก็น่ารักน่าเอ็นดูไปหมด

จนคนส่วนมากแปลกใจ เมื่อผมบอกว่า คนที่คิดจะเอาดีในทางเทวศาสตร์ หรือแม้แต่เป็นแค่ผู้บูชาเทพทั่วๆ ไปก็ตาม จะหาความเจริญก้าวหน้าในด้านนี้มิได้เลย ถ้าเขาเหล่านั้นยังคงเป็นคนรักหมา ใกล้ชิดและคลุกคลีกับหมา

นั่นก็เพราะ หมาที่เลี้ยงกันส่วนใหญ่ เป็นสัตว์ที่มีปราณชนิดที่เข้าไม่ได้กับกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับเทวศาสตร์ หรือการบูชาเทพครับ

ถ้าจะเปรียบเทียบกับมายาศาสตร์จีน หมาส่วนใหญ่เป็นลักษณะหยางที่บกพร่อง ย่อมไม่เข้ากันกับเทวศาสตร์ ที่มีลักษณะเป็นหยิน

หมาที่จะไม่มีผลเสียในทางเทวศาสตร์ จึงต้องเป็นหมาพันธุ์ใหญ่ รูปร่างสวยงาม แข็งแรง ฉลาด สุขภาพจิตดี และมีความสุขุมเพียงพอ เป็นลักษณะหยางที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ


ภาพจาก http://www.mylovegolden.com

ไม่ใช่หมาใหญ่แต่ดุร้าย กัดไม่เลือกหน้า หรือหมาเล็กที่ปากเปราะ เห่าทั้งวัน วิ่งพล่านเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของตลอดเวลา เป็นลักษณะหยางที่บกพร่อง ซึ่งนิยมเลี้ยงกันทั่วไป

หมาที่มีลักษณะหยางบกพร่อง จะทำให้ผู้เลี้ยงเสียสมาธิ ขาดปรีชาญาณ ลดศักยภาพในการบำเพ็ญภาวนา หรือบริกรรมคาถา และการประกอบพิธีกรรมต่างๆ 

ปราณของหมาที่มีลักษณะหยางบกพร่อง ยังสามารถทำลายพลังศักดิ์สิทธิ์ และมณฑลพิธีได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแท่นบูชา หรือเทวสถาน

แม้แต่หมาที่มีลักษณะหยางสมบูรณ์ สิ่งขับถ่ายของมันยังสามารถทำลายพลังศักดิ์สิทธิ์และพลังปราณที่ดีๆ ในอาณาบริเวณนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นพลังที่มาจากเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หรือพลังที่เกิดจากฮวงจุ้ยที่ดี หรือพลังจากวัตถุธรรมชาติต่างๆ

ถ้าเป็นหมาที่มีลักษณะหยางบกพร่อง แค่เฉียดเข้าไปใกล้บริเวณที่ประกอบพิธีกรรมใดๆ พลังศักดิ์สิทธิ์และสิริมงคลในพิธีกรรมนั้นก็ลดไปหลายส่วนแล้วครับ

หมาเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดเดียวในโลกนี้ที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดีกับเจ้าของที่สุด 

แต่มันก็กลับกลายเป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลกนี้เหมือนกัน ที่มีพลังลี้ลับในการสกัดกั้น และทำลายความสามารถในการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด 

สิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นเงื่อนไขของธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่คนเรากำหนดขึ้นมาเอง 

และอะไรก็ตามที่เราไม่สามารถกำหนดเองได้ ก็ย่อมจะไม่เป็นไปตามที่เราต้องการเสมอไปหรอกครับ

ถึงตอนนี้ ก็อาจจะมีคนเถียงผมว่า ถ้าหมาเป็นปัญหาในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วจะอธิบายกันอย่างไรกับการบูชาหมาของชาวอียิปต์โบราณ จนถึงกับยกย่องขึ้นเป็นเทพ?

จะอธิบายอย่างไร กับ จอมเทพโอดิน (Odin) ของยุโรปเหนือ ผู้คิดค้นศาสตร์แห่งรูนส์ (Runes) อันลี้ลับ ซึ่งมีหมา ๒ ตัวอยู่เคียงข้างบัลลังก์ของพระองค์?

แล้วจะอธิบายอย่างไร กับ พระตรีมูรติ ของฮินดูที่มีหมา ๔ ตัวเป็นบริวาร?

จริงๆ แล้วก็อธิบายได้ไม่ยากหรอกครับ

กรณีของชาวอียิปต์โบราณ คติเดิมเขาไม่ได้บูชาหมานะครับ แต่เขานำมันมาใช้เป็น สัญลักษณ์ หรือ บุคลาธิษฐาน ของสิ่งที่เป็นนามธรรม

และหมาที่ว่านั้นไม่ใช่หมาบ้าน มันคือ หมาไน ที่เที่ยวขุดคุ้ยกินซากศพอยู่ตามสุสาน

คนอียิปต์ไม่เลี้ยงหมาไนนะครับ เขาเห็นหมาไนชอบป้วนเปี้ยนตามสุสาน เขาก็เอามาทำเป็นสัญลักษณ์ของกิจกรรมที่เกี่ยวกับสุสาน และพิธีศพ 

เมื่อจะต้องสร้างเทวรูปของเทพที่เกี่ยวข้องกับสุสานและพิธีศพ คือ เทพอนูบิส (Anubis) จึงเอาหัวหมาไนมาแทนส่วนที่เป็นพระเศียร




เป็นประติมานวิทยา หรือการสื่อว่าทรงเป็นเทพเกี่ยวกับอะไร ไม่ใช่ว่าทรงมีพระเศียรเช่นนั้นจริงๆ หรือว่าทรงเป็นหมาไนที่ถูกบูชาจนยกย่องขึ้นเป็นเทพ

ส่วนการสร้างรูปหมาไนขึ้น มีพิธีกรรมคล้ายๆ กับเป็นการบูชา ดังที่เห็นได้จากในสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมนและในเทวสถานหลายแห่งนั้น รูปหมาไนเหล่านั้นถูกใช้เป็นเครื่องรางสำหรับป้องกันสิ่งที่อยู่ในสุสานหรือเทวาลัยแห่งนั้นครับ ไม่ใช่สำหรับให้คนไปไหว้

กรณีของจอมเทพโอดิน ก็เป็นหมาป่า ไม่ใช่หมาบ้านเช่นกันครับ 

ชาวไวกิ้งรู้จักเลี้ยงหมาบ้านนะครับ และต้องพึ่งพาอาศัยพวกมันมากด้วยในชีวิตประจำวัน เช่นการใช้แกะรอยศัตรู หรือสัตว์ที่หลบหนีจากการล่า 

แต่เฉพาะหมาป่าเท่านั้นที่เขายกให้มีบทบาทในเทพนิยาย ซึ่งก็เป็นเพราะมันเป็นสัตว์ล่าเนื้อที่ดุร้าย และคาดเดาได้ยากไงครับ เขาจึงยกให้มันเป็นบริวารของจอมเทพโอดิน ซึ่งทรงมีบทบาทหนึ่งคือ พญายม ผู้ตัดสินว่ามนุษย์คนใดสมควรตาย




และหมาป่าในเทวปกรณ์ของชาวยุโรปเหนือนอกจากนี้ ก็มีแต่บทบาทที่ชั่วร้าย ไม่ว่าจะเป็นหมาป่าคู่ที่คอยไล่กินพระอาทิตย์กับพระจันทร์ ไปจนถึงพญาสุนัป่า เฟนเรียร์ (Fenrir) ที่จะมาทำลายล้างทุกสิ่งในวันโลกาวินาศ ก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกไวกิ้งชื่นชมแต่อย่งใด

สำหรับองค์ จันทรเทวีอาร์เตมีส (Artemis) หริอ ไดอานา (Diana) ของกรีก-โรมัน ซิ่งเป็นเทวีแห่งการล่าสัตว์ และมีหมาล่าเนื้อติดตามอยู่เคียงข้างพระองค์โดยตลอด ล้วนปรากฏอยู่เฉพาะในทางศิลปะ และวรรณกรรมเท่านั้น 

ในความเป็นจริง เรายังไม่เคยพบการบชาพระนางโดยมีหมาอยู่ใกล้ หรือเป็นบริวารเลย แม้แต่เทวสถานหลักของพระนาง ที่ ุเอฟเฟซุส (Ephesus)ก็ไม่มีประติมากรรมของหมาล่าเนื้อสักตัวที่นั่น

ส่วนพระตรีมูรติ ที่มีหมา ๔ ตัวเป็นบริวารนั้น ไม่ใช่พระตรีมูรติที่แท้จริงหรอกครับ แต่เป็น พระทัตตาเตรยะ ซึ่งแม้จะมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ยุคพระเวท และอุปนิษัท รวมทั้งมีการกล่าวถึงในคัมภีร์มหาภารตะด้วย แต่ที่มา promote กันในปัจจุบันนั้นเป็นลัทธิที่แปรเปลี่ยนจากสมัยโบราณมาก และน่าจะเพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง 

ลัทธิที่ว่านี้มีความพยายามเผยแพร่ให้เป็นที่นิยมกันในอินเดีย ช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมานี่ละครับ เพราะมีสาวกที่มีเครดิตในวงการพอสมควรช่วยกันขับเคลื่อน อาศัยศรัทธาจริตของชาวฮินดูที่ต้องการเทพเจ้าใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา




แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ในอินเดียก็เฉยๆ กันแล้วกับพระตรีมูรติปางนี้ เพราะบูชาแล้วก็งั้นๆ ครับ ไม่ได้อะไรขึ้นมา

แล้วหมา ๔ ตัวนั้นมาจากไหน

จริงๆ ก็มาจากพวกหมาจรจัด ที่มักจะวิ่งตามขออาหาร หรือเป็นสัตว์เลี้ยงของบรรดาฤาษี, มุนีต่างๆ ที่มีจิตเมตตา เป็นภาพที่เห็นกันดาษดื่นทั่วไปในอินเดีย พระทัตตาเตรยะถ้ามีจริง ก็คงเป็นนักบวชใจดีที่ชอบเลี้ยงหมาแบบนี้ละครับ

ดังนั้น การไปตีความกันว่า หมาเหล่านี้เป็นตัวแทนของพระเวททั้ง ๔ จึงไม่เป็นอะไรมากไปกว่า สิ่งที่แสดงถึงความเสื่อมทรามของสังคมอินเดียอย่างแท้จริง 

เพราะใน มหาภารตะ ยังมีข้อความที่พระอินทร์ตรัสกับ ยุธิษเฐียร ว่า ผู้ที่นำหมาขึ้นไปแปดเปื้อนบนสวรรค์ จะถูกอสูรพรากบุญกุศลไปจนหมดสิ้น



การเอาพระเวทซึ่งนับถือกันว่าเป็นของสูง ไปผูกพันกับหมาจรจัด จึงนับว่าเป็นอัปมงคลอย่างยิ่ง ที่คนอินเดียยุคนี้คิดกันขึ้นมาได้ คนอินเดียโบราณไม่มีใครเคยทำครับ


หทาในหลายๆ อารยธรรมทั่วโลก ยังเกี่ยวข้องกับความตาย ซึ่งถือเป็นอาถรรพณ์ในทางเทวศาสตร์ นอกจากเทพอนูบิสของอียิปต์ และจอมเทพโอดินของไวกิ้ง ดังที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น ก็ยังเห็นได้จาก ยมเมพฮาดีส (hades) ของกรีกโบราณ หรือ พลูโต (Pluto) จ้าวนรกของโรมัน มีหมา ๓หัว เซอร์เบรุส (Cerberus) เป็นบริวาร และเป็นผู้เฝ้าประตูนรก




ในอารยธรรม อัซเต็ค (Aztec) ของอเมริกากลาง ยมเทพโซโลทล์ (Xolotl) ผู้นำพาดวงวิญญาณในการเดินทางสู่นรก ก็มีหมาเป็นบริวาร และเป็นสัญลักษณ์ทางประคิมานวิทยาของพระองค์ด้วย

ยมเทพอีกองค์หนึ่งของอัซเต็ค คือ มิคทลันเตคูฮ์ทลิ (Mictlantecuhtli) ก็เป็นเทพประจำวันสำคัญทางศาสนา ๑ ใน ๒๐ วัน ที่มีสัญลักษณ์เปนรูปสหมา (อิทซ์คูอินทลิ :
Itzcuintli)

เทพปีศาจอย่าง พระแม่กาลี ก็มีสหมาเป็นบริวาร เช่นเดียวกับเทพอสูร ไภรวะ ผู้โปรดปรานกลิ่นคาวเลือด ก็มีหมาดำเป็นบริวาร

จะมีก็แต่ พระทัตตาเตรยะ ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับความตาย แต่มีหมา ๔ ตัวเป็นบริวาร ซึ่งเกิดจากความเพี้ยนของแขกยุคหลังดังกล่าวแล้ว

เทพเหล่านี้ ล้วนมีอาถรรพณ์แรง ยากที่จะปฎิบัติบูชาให้ภูกค้องโดยปราศจากโทษภัยได้ แม้แต่เทพอนูบิสกับจอมเทพโอดิน ถ้ารับเข้ามาบูชาแล้วมิได้บูชาอย่างรู้จริง ก็จะหาความเจริญก้าวหน้าในการบูชาเทพสายอื่นไม่ได้เช่นกัน

หมาส่วนใหญ่ เป็นอัปมงคลโดยธรรมชาติ คนไทยโบราณรู้ดี จึงเลี้ยงหมาไว้ใต้ถุนบ้านเพียงเพื่อเฝ้าบ้าน ไม่เคยให้หมาขึ้นไปบนเรือน ไม่เคยให้หมากินข้าวร่วมกับคน ไม่แม้แต่จะเอาหมามานอนด้วย อย่างคนรักหมาที่เลียนแบบฝรั่งอย่างไม่ลืมหูลืมตากันในยุคนี้


ภาพจาก http://www.dailymail.co.uk

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนรักหมา หลงหมา ชอบคลุกคลีกับหมาตลอดเวลา ก็ไม่ควรคาดหวังว่าจะได้รับผลที่เด่นชัดในการบูชาสิ่งศักดื์สิทธิ์ครับ

แต่ถ้าเป็นคนรักหมา ที่มีวินัยในการเลี้ยงหมา จำกัดความเกี่ยวข้องระหว่างหมากับตนเองในระดับที่พอเหมาะ และไม่กระทบกระเทือนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ย่อมได้รับผลที่ดีขึ้นบ้าง ในการบูชาเทพ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

และถ้าเป็นคนที่ไม่เลี้ยงหมาเลย ก็เท่ากับตัดอุปสรรคในการบูชาเทพออกไปได้อีกอย่างหนึ่ง ในท่ามกลางอุปสรรคทั้งหลาย ที่ยังคงต้องหาทางกำจัดกันต่อไป


.............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

4 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าบ้าหมาจนแยกแยะอะไรไม่ถูกก็จะกลายเป็นหมาไปค่ะ เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยแต่คนไม่ช่วยหมาอยู่แล้ว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คำพูดนี้อาจจะดูเหมือน แรงส์ส์ นะคะ แต่คนบ้าหมาจริงๆ เค้าไม่สะดุ้งสะเทือนหรอกค่ะ เพราะเค้าคิดว่าน้องหมาเป็นความวิเศษสูงสุดในโลกนี้ของเค้าอยู่แล้ว

      ลบ
  2. แปลกคะอยากบูชาเทพแต่ไม่ละวางเรื่องหมา

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น