วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พิธีกรรมเกี่ยวกับเทวรูป

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์


ภาพจากพิธีเทวาภิเษก พระพิฆเนศ รุ่น มหาบารมี ๓๐ ทัศ
หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย วัดสุทธาวาสวิปัสสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

เทวรูปทุกชนิด เมื่อได้ปั้น, แกะสลัก หรือหล่อหลอมสำเร็จออกมาจากโรงงาน แม้จะมีลักษณะทางประติมานวิทยาและองค์ประกอบอื่นๆ ครบถ้วนดังที่ ก็ยังไม่สามารถใช้เป็นสื่อขององค์เทพ หรือนำมาบูชาได้ทันทีนะครับ

ยังคงเป็นเพียงประติมากรรม หรือ ศิลปวัตถุที่ทำเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ เท่านั้น หาได้มีพลังความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ไม่

การทำให้เทวรูปเหล่านี้มีพลังศักดิ์สิทธิ์ เป็นวัตถุมงคลที่มีอานุภาพเชื่อมโยงระหว่างผู้บูชากับองค์เทพ จำเป็นจะต้องผ่านพิธีกรรม ที่มีการประจุพลังจิต เวทมนต์ และคาถาอาคมในการอัญเชิญพระนาม คุณสมบัติ และเทวานุภาพในด้านต่างๆ เข้าในองค์เทวรูปเหล่านั้นเสียก่อนครับ

มีคำศัพท์ในทางพิธีกรรมเกี่ยวแก่รูปเคารพ ที่คนทั่วไปยังสับสนกันอยู่มาก และผู้บูชาเทพควรจะจดจำไว้ ได้แก่


ภาพจาก http://wetv.co.th

เบิกเนตร

คือการเรียกอาการ หรือประจุพลังเข้าสู่รูปเคารพ ให้รูปเคารพนั้นเหมือนกับมีทิพยเนตร คือมองเห็นผู้ที่กราบไหว้บูชา

วิธีที่นิยมกันคือเอาดินสอดำแบบโบราณวงรอบดวงตาข้างขวาและข้างซ้ายของรูปเคารพ โดยมีคาถากำกับ นิยมใช้กับรูปเคารพที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดบูชาประจำบ้าน เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเทวาภิเษกและพุทธาภิเษก รวมทั้งมังคลาภิเษกด้วย


ภาพจาก http://www.maeon.ac.th

พุทธาภิเษก

คือพิธีกรรมทำให้รูปเคารพ หรือวัตถุมงคลประเภทพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ และพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นขนาดบูชา คือ หน้าตัก ๑ นิ้วขึ้นไป หรือขนาดห้อยคอ, เหรียญ กลายสภาพจากงานประติมากรรมที่ถูกปั้นหล่อขึ้นมา เป็นสื่อที่สามารถประจุและถ่ายทอดสิริมงคลแห่งคุณพระรัตนตรัย หรือบารมีพระโพธิสัตว์ หรือกำลังเทวดาที่รักษาพระพุทธรูป รักษาพระไตรปิฎก รักษาพุทธสถานทั้งปวง หรือญาณทิพย์ของพระเกจิอาจารย์ทั้งหลาย มาสู่ผู้บูชาได้




เทวาภิเษก

คือพิธีกรรมทำให้รูปเคารพ หรือวัตถุมงคลประเภทเทวรูป ไม่ว่าจะเป็นขนาดบูชา คือ หน้าตัก ๑ นิ้วขึ้นไป หรือขนาดห้อยคอ, เหรียญ และไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธหรือศาสนาใดก็ตาม กลายสภาพจากงานประติมากรรมที่ถูกปั้นหล่อขึ้นมา เป็นสื่อที่สามารถประจุและถ่ายทอดสิริมงคล คุณสมบัติ เทวานุภาพ และพระบารมีขององค์เทพเจ้าต่างๆ มาสู่ผู้บูชาได้


ภาพจาก http://www.nac2.navy.mi.th

มังคลาภิเษก

คือพิธีกรรมทำให้รูปเคารพ หรือวัตถุมงคลประเภทพระฤาษี อดีตกษัตริย์ และเจ้านายหรือราชนิกูลในอดีต รวมทั้งวีรบุรุษ วีรสตรี ไม่ว่าจะเป็นขนาดบูชา คือ หน้าตัก ๑ นิ้วขึ้นไป หรือขนาดห้อยคอ, เหรียญ กลายสภาพจากงานประติมากรรมที่ถูกปั้นหล่อขึ้นมา เป็นสื่อที่สามารถประจุและถ่ายทอดญาณบารมี คุณสมบัติ เดชานุภาพ บุญญานุภาพ และพระบารมีของอดีตกษัตริย์ หรือบุคคลนั้นๆ มาสู่ผู้บูชาได้


ภาพจาก http://amulet.goosiam.com

ปลุกเสก

คือพิธีกรรมทำให้รูปเคารพ หรือวัตถุมงคลประเภทเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ที่เป็นชั้นผี ไม่ว่าจะเป็นขนาดบูชา คือ หน้าตัก ๑ นิ้วขึ้นไป หรือขนาดห้อยคอ, เหรียญ รวมทั้งเครื่องรางชนิดต่างๆ กลายสภาพจากงานประติมากรรมที่ถูกปั้นหล่อขึ้นมา เป็นสื่อที่สามารถประจุและถ่ายทอดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ของภูตผีเหล่านั้น รวมทั้งพลังจิตของคณาจารย์ผู้ทำวัตถุเครื่องรางเหล่านั้น และพลังอำนาจตามสายวิชาของเครื่องรางเหล่านั้นมาสู่ผู้บูชาได้

จะเห็นว่า พิธีกรรมที่เกี่ยวกับเทวรูป มีเพียง ๒ อย่าง คือ เบิกเนตร กับ เทวาภิเษก พิธีอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่ใช่นะครับ

แต่การเทวาภิเษก สามารถนิมนต์พระสงฆ์เข้าร่วมพิธีได้ ในลักษณะของการ นั่งปรก




การนั่งปรก คือการที่พระสงฆ์ผู้มีพลังจิตอันบริสุทธิ์ อันเกิดจากศีลาจาริยวัตรอันงดงาม ได้อธิษฐานตั้งสมาธิ ประจุกระแสพลังจิตอันมีอานุภาพของท่านเข้าสู่วัตถุมงคล พลังจิตอันบริสุทธิ์เหล่านี้จะทำให้วัตถุมงคลต่างๆ กลายสภาพจากงานประติมากรรม หรือ ศิลปวัตถุชิ้นหนึ่ง กลายเป็นรูปเคารพ หรือวัตถุบูชาที่พร้อมรับการประจุมนต์และพลังอันเกี่ยวเนื่องด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ โดยเฉพาะ โดยพราหมณ์หรือผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ จะรับหน้าที่ในการประจุมนต์คาถาที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ ต่อไป

เทวรูปและวัตถุมงคลในเมืองไทยที่ผ่านทั้งการนั่งปรกของพระสงฆ์ และพิธีกรรมในสายพราหมณ์ที่ถูกต้อง จึงมักมีอานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์ในระดับสูงกว่าเทวรูปที่ผ่านเพียงพิธีพราหมณ์อย่างเดียว ตามแบบของเทวศาสตร์อินเดียที่เป็นต้นตำรับ เพราะมีพื้นฐานคือพลังจิตอันบริสุทธิ์และทรงอานุภาพดังกล่าว ซึ่งพราหมณ์ไม่มี

เทวรูปที่ผ่านพิธีทางเทวศาสตร์อินเดีย ที่จะมีพลังเข้มขลังเท่าเทวรูปของไทยได้ มักมีแต่เทวรูปที่ผ่านพิธีพราหมณ์ โดยมีฤาษี และโยคีผู้ทรงฌานสมาบัติจริงๆ ร่วมประจุพลังเท่านั้น

กล่าวคือ อาศัยพลังจิตของฤาษีและโยคีเหล่านั้นแปรสภาพเทวรูปให้พ้นจากประติมากรรมทั่วๆ ไปเป็นวัตถุมงคลที่พร้อมรับการประจุพลังศักดิ์สิทธิ์ เหมือนการนั่งปรกของพระสงฆ์ไทยไงล่ะครับ

แต่พิธีกรรมเช่นนี้ ในอินเดียทำกันไม่มากนัก การเทวาภิเษกเทวรูปในอินเดียส่วนใหญ่กระทำโดยพราหมณ์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่เหมือนการเทวาภิเษกในเมืองไทยที่นิมนต์พระเกจิอาจารย์นั่งปรกกันอยู่เสมอ

แต่ถ้ามีแต่การนั่งปรกอย่างเดียว ไม่มีการเทวาภิเษกโดยประจุพระนาม และคุณสมบัติต่างๆ ขององค์เทพตามพิธีพราหมณ์ที่ถูกต้อง เทวรูปนั้นก็เป็นได้แต่เพียงวัตถุมงคลอย่างหนึ่ง ไม่อาจจะถือว่าเป็นสื่อหรือสิ่งบูชาของเทพองค์ใดได้เช่นกันครับ

ผู้จะรับเทวรูปมาประดิษฐาน จึงควรจะได้ติดตามสอบค้นประวัติในทางพิธีกรรมเกี่ยวกับเทวรูปองค์นั้นให้แน่นอนเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

หรือถ้าได้รับทราบล่วงหน้าว่า จะมีพิธีกรรมเกี่ยวกับเทวรูปองค์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน ก็ควรหาโอกาสไปร่วมพิธี และสังเกตดูว่าในการเทวาภิเษกนั้น ได้กระทำพิธีถูกต้อง เป็นระบบ และเป็นมาตรฐานมากน้อยเพียงใด ฤกษ์ยามในการกระทำพิธีนั้นเป็นอย่างไร พระเกจิอาจารย์ ปรมาจารย์ผู้กระทำพิธีนั้น มีความรู้ความชำนาญเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างหรือไม่

ส่วนการบูชาเทวรูปที่ไม่ผ่านพิธีกรรมใดๆ ตามที่คนไทยเราส่วนมากนิยมทำกัน คือไปซื้อเทวรูปจากร้านสังฆภัณฑ์บ้าง จากตลาดพระที่ขายเทวรูปจากโรงงาน เช่น ตลาดพระท่าพระจันทร์ ตลาดพระวัดราชนัดดา หรือตามแผงข้างทางมาตั้งบูชาเลยนั้น เป็นการบูชาที่ไร้ผลนะครับ เนื่องจากเทวรูปที่ไม่ผ่านพิธีย่อมไม่เป็นสื่อที่ทำให้องค์เทพทรงรับรู้การบูชาใดๆ ที่กระทำต่อเทวรูปนั้น


ภาพจาก http://mahatapsong.blogspot.com

ทั้งยังจะเป็นช่องทางที่ทำให้มีสัมภเวสีหรือผีเร่ร่อนชนิดต่างๆ เข้าไปอาศัยในเทวรูป เพื่อคอยกินเครื่องเซ่นไหว้แทน กลายเป็นอาถรรพณ์ และเป็นการบูชาผีโดยเข้าใจผิดว่าเป็นเทพเจ้าด้วยครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นสมควรกล่าวถึง ก็คือ แม้บางคนจะรู้แล้วว่า เทวรูปบูชาจำเป็นต้องผ่านพิธี แต่ก็ยังมีความคิดอยู่ว่า จะต้องเป็นพิธีที่ถูกที่สุด หรือถ้าเป็นไปได้ คือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยแม้สักบาทเดียว

ที่ผ่านมา ผู้ที่เช่าเทวรูปจากร้านค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นย่านพาหุรัด หรือตลาดพระวัดราชนัดดา จึงมักมีการบอกต่อๆ กันให้นำเทวรูปไปให้พราหมณ์เจิมที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ วัดเทพมณเฑียร เสาชิงช้า และวัดวิษณุ ยานนาวา

คนก็แห่กันเอาเทวรูปไปให้พราหมณ์เหล่านั้นทำพิธี มีไม่น้อยที่เป็นพวกทำธุรกิจค้าขายเทวรูป ก็ฉวยโอกาสขนกันไปทีเป็นสิบๆ องค์ ชนิดที่ว่า ไม่มีความเกรงใจพราหมณ์


ภาพจาก http://kanchanapisek.co.th

เพราะเทวรูปที่นำไปนั้น พราหมณ์เจิมให้ทุกองค์ แต่ถึงตอนเจ้าของเทวรูปบริจาคเงินตอบแทน กลับมีหลายคนที่บริจาคเพียงเล็กน้อย ไม่กี่สิบบาท ถ้ายังเป็นเด็กมัธยมปลาย หรือนักศึกษา ก็อ้างว่าฐานะยากจนบ้าง หรือยังเรียนอยู่ ไม่มีเงินบ้าง

แต่คนกลุ่มเดียวกันนี้ มีเงินไปกินฟาสต์ฟู้ดมื้อละหลายๆ ร้อยบาทได้นะครับ

ผมดูมานานแล้ว เห็นว่าสังคมผู้บูชาเทพของเรา กำลังเอาเปรียบ ฉกฉวยประโยชน์จากความใจดีของพราหมณ์ เพราะพราหมณ์ไม่เรียกร้อง เทวสถานทั้ง ๓ แห่งที่กล่าวมาจึงกลายเป็นเหยื่อของพวกบูชาเทพแบบมักง่ายที่ชอบของฟรี หรืออยากได้เทวรูปที่ผ่านพิธีถูกต้องแต่ไม่อยากจ่ายแพงมาตลอด

จึงอยากฝากถึงทุกท่าน ที่กำลังจะชักชวนหรือแนะนำใคร ให้นำเทวรูปไปเจิมที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ วัดเทพมณเฑียร วัดวิษณุ หรือวัดอะไรก็ตาม ให้พยายามทำบุญให้เหมาะสมกับปริมาณหรือขนาดของเทวรูปที่นำไปเจิมนั้นด้วยนะครับ

ถ้าไม่แน่ใจว่า อัตราใดจึงจะเหมาะสม ผมมีข้อแนะนำ คือเอาราคาที่เช่าบูชาเทวรูปองค์นั้นมาเป็นเกณฑ์

เช่น สมมุติว่าเช่าเทวรูปซิลิก้าขนาด ๕ นิ้วมาจากวัดราชนัดดา ราคา ๓๐๐ บาท เมื่อนำเทวรูปนั้นไปให้พราหมณ์เจิม ก็ควรบริจาคเงินไม่น้อยกว่านั้น

แล้วถ้ายกไป ๗ องค์ สมมุติว่าองค์ละ ๓๐๐ บาท ก็ควรบริจาคอย่างต่ำ ๒,๑๐๐ บาท

ซึ่งตามธรรมเนียมไทยเราในเรื่องเช่นนี้ เรานิยมปัดเศษขึ้นด้วยซ้ำ เพราะถือว่าเป็นการทำบุญครับ

ดังนั้นถ้าสมควรต้องบริจาคอย่างต่ำ ๒,๑๐๐ บาท เราก็ควรจะปัดเศษขึ้น เป็นบริจาคจริง ๒,๕๐๐ บาท หรือ ๓,๐๐๐ บาทด้วยซ้ำไป แล้วแต่ผู้บริจาคจะเห็นว่าเหมาะสม



ภาพจาก http://www.youtube.com

ความเหมาะสมในการทำบุญ เมื่อนำเทวรูปไปให้พราหมณ์เจิม เราจะอ้างว่าทำตามกำลังทรัพย์ของเรา หรือตามกำลังศรัทธาไม่ได้

เพราะถ้าเรามีปัญญาซื้อเทวรูป และอยากจะบูชาเทพให้ดีๆ เราควรมีปัญญาตอบแทนผู้อื่นในการทำสิ่งดีๆ ให้แก่เรา โดยเฉพาะการทำให้เราได้เทวรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ และทำให้เราได้รับพรจากการบูชา ในระดับที่เงินมากมายมหาศาลเพียงใดก็หาซื้อไม่ได้

อีกทั้งคนที่จงใจทำบุญตอบแทนเพียงเล็กน้อย โดยอ้างว่าทำไปตามกำลังศรัทธานั้น ส่วนใหญ่เมื่อเวลาจะใช้จ่ายเงินเพื่อการอื่นที่ไม่จำเป็น กลับจ่ายได้ไม่อั้น แต่พอจะบูชาเทพ ก็จะพยายามหาซื้อเทวรูปองค์ที่ถูกที่สุด แล้วก็พยายามหาทางจ่ายค่าพิธีอย่างถูกที่สุด ดังที่กล่าวแล้วครับ

ผมบอกตรงๆ ที่ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปีที่อยู่ในวงการนี้มา การที่เทวสถานแห่งใดก็ตาม กลายเป็นที่ตักตวงผลประโยชน์จากนักบูชาเทพที่มักง่ายนั้น เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เทวสถานนั้นเสื่อมถอยจากความเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่พึ่งทางใจของผู้บูชาเทพในสังคมของเราได้

เหตุปัจจัยดังกล่าว ก็คืออัปมงคล ที่ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความโลภ เอาแต่ได้ และมักง่ายของคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากทางเทวสถานอย่างไม่มีความละอายนั่นเองครับ


...............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


6 ความคิดเห็น:

  1. วงการบูชาเทพในเมืองไทยจึงไม่เจริญก้าวหน้า ส่วนใหญ่ก็หันกลับไปหาพวกมนต์ดำที่ให้ผลตอบแทนเร็วทันใจ (แต่จ่ายแพงทีหลังไม่รู้จักคิด)

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คือพอได้ผลทันใจก็จ่ายได้ไม่อั้นละค่ะ ไม่เกี่ยงแล้วละว่าถูกหรือแพง ขอให้โดนใจตอนนั้นเป็นพอ ไม่ต้องคิดไกลๆ หรือคิดถึงผลระยะยาวด้วยค่ะ เพราะคิดไม่เป็น

      ลบ
  2. ได้ความรู้เรื่องพิธีต่างๆ ดีมากค่ะ+แอบสมเพชพวกขี้งกขี้ตืดแม้กระทั่งกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คนที่ขี้งกแม้กระทั่งกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีทางเจริญหรอกค่ะ

      ลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ21 เมษายน 2561 เวลา 00:46

    การเบิกเนตรที่วัดเทพมณเฑียรไ้มีการกำหนดขันตอนใหม่แล้วครับ เริ่มต้นที่จะต้องไปทำการติดต่อที่สำนักงานก่อนที่จะไปหาพราหมณ์เพื่อให้ทางสำนักงานแจ้งพราหมณ์เพื่อประกอบพิธีให้ หากไปหาพราหมณ์โดยครงแล้ว พราหมณ์จะไม่รับการประกอบพิธีให้ครับ และมรการกำหนดว่าจะประกอบพิธีได้โดยจำกัดจำนวนองค์ต่อท่านเพื่อป้องกันการนำไปทำเป็นธุรกิจ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณที่นำมาบอกกล่าวกันค่ะ ^ ^

      นับเป็นข่าวดีมากมาย ไม่งั้นก็จะเป็นช่องทางให้คนหน้าด้านเอาเปรียบพราหมณ์อย่างไม่มีความละอายแก่ใจ

      นอกจากประกอบพิธีโดยจำกัดจำนวนองค์ท่าน ก็น่าจะคิดค่าพิธีให้เต็มที่ด้วยนะคะ ป้องกันทั้งพวกร้านค้าเทวรูป และพวกขี้งก

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น