วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พระคเณศไม่ใช่เทพแห่งศิลปะ

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์




ผมได้รับคำถามอยู่เสมอนะครับ ว่า ระหว่างพระคเณศ (พระพิฆเนศวร์) กับพระสรัสวดีนั้น ท่านใดกันแน่ที่ทรงเป็นเทพแห่งศิลปะ

เรื่องนี้เคยเขียนไว้ในหนังสือ ตรีเทวปกรณ์ แล้ว แต่เมื่อเร็วๆ นี้ก็ยังมีผู้ถามอีก จึงคิดว่าน่าจะนำมาเขียนเป็นการเฉพาะอีกสักที 

ผู้อ่านท่านใดที่ทราบอยู่แล้ว ถ้าจะรู้สึกเบื่อไปบ้างก็โปรดอภัย

ในทรรศนะของชาวอินเดีย ศิลปะเป็นอัญมณีล้ำค่าของมนุษย์ และศิลปะการแสดงเช่นนาฏกรรมและดนตรีนั้นถือว่าเป็นเลิศกว่าศิลปะทุกแขนงครับ 

จึงมีเทพบรมครูหรือ คุรุเทพ แตกต่างกันไปตามแต่ละนิกาย

แต่คติความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดนั้นนับถือ พระสรัสวดี ว่าเป็นเทพบรมครูทั้งด้านศิลปะการแสดง รวมถึงศิลปวิทยาการทุกแขนง 

จนการศึกษาเล่าเรียน หรือแม้แต่การศึกษาพระเวท ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนาพราหมณ์มาแต่เดิม พระนางก็ยังทรงเป็นมารดาแห่งพระเวท




         
และถ้าจะดูกันจริงๆ แล้ว ทั้งประเทศอินเดียในอดีตและปัจจุบันไม่มีการนับถือพระคเณศในฐานะบรมครูทางศิลปะ โดยเฉพาะในศิลปะการแสดงเหมือนที่ไทยเรานับถือกัน
         
พระคเณศเข้ามาเกี่ยวข้องกับการไหว้ครูทางศิลปะ ตลอดจนการศึกษาและการทำงานด้านศิลปะต่างๆ ในอินเดีย เพราะว่าพระองค์เป็นเทพแห่งการเริ่มต้น อุปสรรค และความสำเร็จ 

การประกอบพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งการไหว้ครู จะต้องมีการอัญเชิญพระองค์เป็นลำดับแรก เพื่อให้ทรงขจัดอุปสรรคต่างๆ ให้หมดไป  สิริมงคลและความราบรื่นจะได้บังเกิด ความมุ่งหมายในการประกอบพิธีกรรมนั้นๆ ก็จะได้สัมฤทธิ์ผลไงครับ
         
ดังนั้น จึงนิยมกันต่อไปว่า เรื่องที่สำคัญเช่นการศึกษา และการประกอบสัมมาชีพทุกอย่าง เมื่อจะริเริ่มก็ควรไหว้พระคเณศเสียก่อนด้วย
         
การที่คนอินเดียเชื่อถือเช่นนี้ จึงไม่เกี่ยวกับการยกย่องให้พระคเณศเป็นเทพบรมครูทางศิลปะ อย่างที่คนไทยเรานิยมกัน

เพราะหลังจากไหว้พระคเณศ เพื่อให้สิ่งที่จะกระทำนั้นราบรื่นสำเร็จแล้ว เขาถึงจะไหว้องค์บรมครูของแต่ละสาขานั้นโดยตรง 

และถ้าในทางศิลปะก็คือ พระสรัสวดี

ในวัน วสันต์ปัญจมี (Vasant Panchami) หรือวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี เป็นวันไหว้พระสรัสวดีโดยเฉพาะ ผู้ประกอบอาชีพทางศิลปะทุกสาขาจะนำเครื่องมือทำมาหากินของตนไปรับการเจิมหน้าเทวรูปของพระนาง 

ซึ่งในวันไหว้พระศิวะ เช่น ศิวาราตรี (Shiva Ratri) ที่ยกย่องกันว่าเป็นเทพแห่งนาฏกรรม หรือวันไหว้พระคเณศ เช่น คเณศจตุรถี (Ganesh Chaturthi) ไม่มีการทำแบบนี้
         
ว่ากันตามหลักเทววิทยาแล้ว พระคเณศไม่เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงจริงๆ ครับ 

แม้ในทางประติมานวิทยา จะมีรูปที่กำลังฟ้อนรำ หรือ นารทนะคเณศ (Naradana Ganesh) แต่ก็ไม่ถือว่าทรงเป็นเทพแห่งนาฏศิลป์ เพราะเป็นแต่คติความเชื่อที่ได้รับมาจากการนับถือพระศิวะในทางนาฏราชเท่านั้น




         
ส่วนเทวรูปพระคเณศทรงวีณา หรือ วีณะ คณปติ (Vina Ganapati) ก็อาจมีส่วนสร้างความสับสนได้พอสมควร ในแง่ที่ว่าจะทรงเป็นเทพแห่งดนตรีหรือไม่ 

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ พระคเณศปางนี้เกิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อยุคหลังมากแล้ว ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกับปางฟ้อนรำ 

คือ ประสงค์จะให้เกี่ยวข้องกับการร้องรำทำเพลง เพื่อให้เกิดมงคลในด้านของความรื่นรมย์และความบันเทิงใจ ในสถานที่ที่มีการประดิษฐานเทวรูปเช่นนี้ แต่มิได้หมายความว่าทรงเป็นคีตาจารย์
         
พระสรัสวดีเท่านั้นที่ทรงเป็นบรมครูตัวจริงในศาสตร์แขนงนี้ ดังมีการยืนยันไว้ในคัมภีร์เก่าๆ แม้แต่คัมภีร์ในนิกายที่มิได้นับถือพระนางมากนักก็ยังมี และวีณาที่ทรงถืออยู่เป็นประจำนั้นก็เป็นเรื่องของการดนตรีและนาฏศิลป์โดยตรง

เทพอื่นที่ถือวีณาเป็นสัญลักษณ์เช่นเดียวกับพระนางนั้น แม้ว่าจะมีอยู่บ้าง เช่น  พระนารท (Narada) แต่ก็เพราะว่าเป็นเทวฤาษีที่เกี่ยวข้องกับพวกคนธรรพ์เท่านั้น

จึงแม้จะได้รับการบูชาในฐานะ
ครูดนตรี ก็เฉพาะใน คานธรรพเวท ไม่รวมถึงศิลปวิทยาแขนงอื่น อีกทั้งบทบาทที่สำคัญของเทวฤาษีองค์นี้ ก็มีอยู่เพียงอการขับร้องเพลงสรรเสริญพระวิษณุนั่นเอง

นอกจากนี้ ในการแสดงนาฏศิลป์อินเดียอย่างเก่าจริงๆ การเบิกโรงจะกระทำโดยการฟ้อนรำพระสรัสวดี ไม่ใช่ศิวะนาฏราช

ส่วนในศิลปะแขนงอื่นๆ เราก็อาจจะมองเห็นว่าพระคเณศเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่มาก โดยเฉพาะด้านหนังสือ เพราะทรงเป็นผู้รจนาคัมภีร์ มหาภารตะ (Maha Bharata)




         
แต่ครูหนังสือจริงๆ ก็ยังคงเป็นพระสรัสวดี เพราะถือกันว่า ทรงเป็นผู้ประทานอักษรเทวนาครีแก่มนุษยโลก  

ทั่วประเทศอินเดีย จึงมีวันไหว้ครูเมื่อเริ่มการศึกษาตามโรงเรียนต่างๆ ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า อักษรารัมภา (Ahshararambha) ครูที่ไหว้กันนั้น ก็คือพระสรัสวดี
         
การนับถืออย่างนี้ ที่จริงก็เคยเข้ามาถึงเมืองไทย และปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาครับ 

ในด้านศิลปะการแสดง ก็มีหลักฐานอยู่ในบทไหว้ครูละครชาตรี ซึ่งมีพื้นฐานดั้งเดิมมาจากละครอยุธยาเช่นกัน แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังมีคำไหว้พระสรัสวดีหลงเหลืออยู่ 

ไม่มีการไหว้เทพองค์อื่น แม้แต่พระคเณศ แสดงว่า แต่เดิมไทยเราก็นับถือพระสรัสวดีเป็นครูดนตรีและนาฏศิลป์เหมือนกัน 
         
ส่วนในด้านหนังสือ ในแบบเรียนอักษรศาสตร์เล่มแรกของเรา คือ จินดามณี ฉบับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ก็มีบทไหว้พระสรัสวดีปรากฏอยู่ โดยไม่มีการไหว้เทพอื่นเช่นเดียวกัน
         
แล้วการนับถือพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะในบ้านเรา เริ่มต้นเมื่อไหร่? 

พระสรัสวดีหายไปจากวงการศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ของเราตอนไหน?

คำตอบก็คือ  รัชกาลที่ ๖
         
ไม่ก่อนหน้านั้น เพราะพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวกับพระคเณศ ที่ที่ทรงอธิบายพระราชพิธีสิบสองเดือนก็ดี หรือตอนที่ทรงกล่าวถึงการได้เทวรูปพระคเณศจากชวาก็ดี ไม่ทรงกล่าวว่าเป็นเทพแห่งศิลปะ หรือการประพันธ์หนังสือใดๆ เลย
         
แล้วเหตุใดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับการยกย่องกันว่าทรงเป็นองค์บิดาแห่งวิชาภารตวิทยาในเมืองไทยนั้น จึงไม่ทรงนึกถึง หรือไม่ใส่พระทัยต่อคติการนับถือพระสรัสวดีในด้านนี้อันมีมาแต่เดิม?

ข้อนี้ตอบยากครับ 

แต่เหตุผลหนึ่งก็คงเป็นเพราะความศรัทธาเฉพาะบุคคล 

เราเห็นกันแล้วว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงนับถือพระคเณศมาก งานด้านหนังสือและการละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสรัสวดีทรงเป็นบรมครูมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าก็ทรงถวายความสำคัญแด่พระคเณศหมดสิ้น เมื่อทรงตั้งวรรณคดีสโมสร ก็ทรงอัญเชิญพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์เลยทีเดียว





จนเมื่อกรมศิลปากรเกิดขึ้น และได้รับดวงตราพระคเณศของวรรณคดีสโมสรไปเป็นตราประจำกรม พระคเณศจึงกลายเป็นเทพแห่งศิลปะในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบ
         
รวมทั้งพระสรัสวดีก็หายไป เหลือแต่การนับถือในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมไม่เคยเห็นเป็นหลักเป็นฐานอะไรจนทุกวันนี้ 

ที่ยังดูเป็นรูปธรรมเสียกว่า คือรางวัลตุ๊กตาทองที่แจกกันอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทย เป็นเครื่องระลึกว่า ครั้งหนึ่งบรรพชนของเราเคยกราบไหว้พระนางเป็นครูศิลปะการแสดงเท่านั้น




         
การนับถือพระคเณศในทางศิลปะวิทยาไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ไม่ใช่การนับถือที่ตรงจุด และการกราบไหว้บูชาที่ตรงจุดนั้นย่อมจะเป็นสิริมงคลมากกว่า

ดังนั้น ถ้าจะไหว้เทพแห่งศิลปะ ก็พึงไหว้พระสรัสวดี
         
แต่ถ้าจะสักการะเพื่อความสำเร็จแห่งกิจการทุกอย่าง ไม่ว่าด้านศิลปะหรือด้านใดก็ตาม พึงนบไหว้พระคเณศ


..............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

8 ความคิดเห็น:

  1. ความเชื่อความคิดส่วนบุคคลผสมกับกาลเวลา ก็ทำให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสตร์ความรู้ต่างๆ พลอยเลอะเลือนไป คนรุ่นหลังต้องคอยตรวจทาน สอบสวน ให้วิชาความรู้นั้นถูกต้องเที่ยงตรง จึงจะเป็นสิ่งที่ดี

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช่ค่ะ ^0^ ที่ผ่านมาไทยเราเชื่อตามๆ กันง่ายเกินไป ยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านริเริ่มไว้ ก็มักจะไม่ค่อยมีใครกล้าเปลี่ยนแปลงหรือนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องค่ะ

      ลบ
  2. อย่างงี้ที่ไหว้ๆ กันอยู่ในแวดวงศิลป์ก็ไม่ถูกซิคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อย่างที่อาจารย์บอกไงคะ ไม่ผิด แต่ไม่ตรงจุด

      ลบ
  3. พวกอักษรจุฬาคงเป็นพวกเดียวที่มีเทพประจำคณะแต่ไม่สนใจคะ ขนาดอักษรศิลปากรเขตวังสนามจันทร์ยังตั้งพระสรัสวดีแล้ว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อาจเป็นเพราะตั้งแต่ก่อตั้งคณะจนผ่านยุคสมัยที่เติบโตขึ้นมา เป็นยุคที่นิยมมีเทพประจำองค์กร รึหน่วยงานต่างๆ อย่างแพร่หลาย แต่นิยมแค่เป็น Logo โดยไม่มีความรู้สึกอยากกราบไหว้บูชาหรือผูกพันเป็นพิเศษมังคะ

      ลบ
  4. แต่ในพระเวทย์ดั่งเดิมก็กล่าวหว้ไม่ใช้หรือครับว่า คณปติ คือกวีแห่งกวี มีใบหูใหญ่ นุ่งสีแดงห่มสีแดงทัดดอกไม้สีแดง ผมว่าวรรณคดีสโมสรหน่ะใช้ถูกแล้ว แต่ส่วนอื่นๆอันนี้ไม่ทราบ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ที่ยกมาไม่ใช่พระเวทนะคะ แต่เป็นข้อความยุคหลัง ที่ยกย่องพระพิฆเนศจากการจดคัมภีร์มหาภารตะจากการบอกเล่าของพระฤาษีวยาสะ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าก็ทรงใช้ตามคตินี้แหละค่ะ แต่ในอินเดียจริงๆ พระพิฆเนศไม่ใช่เทพแห่งวรรณคดี หรือบทกวีโดยตรงค่ะ

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น