วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2563

ตรีเอกานุภาพนานาชาติ


บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์


*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*
         



คำว่า  ตรีเอกานุภาพ  หมายถึงการจัดชุดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มี ๓ องค์ หรือ ๓ สิ่ง สำหรับการบูชารวมกัน 

ซึ่งจะทำให้ได้รับผลจากคุณสมบัติเด่นๆ ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามนั้น ยิ่งกว่าที่พึงได้รับจากองค์ใดองค์หนึ่งครับ

โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบเข้าเป็นตรีเอกานุภาพ ต้องมีทิพยฐานะใกล้เคียงกัน อาจจะมีองค์ใดองค์หนึ่งที่สูงสุด แต่อีก ๒ องค์ที่อยู่ในชั้นรองลงมาก็ต้องไม่เป็นรองมากนัก และศักดิ์ของอีก ๒ องค์ที่อยู่ในชั้นรองลงมานั้น ก็ต้องเสมอกัน  

การจัดกลุ่มเทพแบบ Triad หรือ ตรีเอกานุภาพ เป็นแบบแผนอันได้รับความนิยมทั่วโลก มีอยู่ในแทบทุกลัทธิศาสนา 




เช่นในอียิปต์  ซึ่งในหลายสมัยจัดกลุ่มเทพสูงสุดสำหรับบูชาคือ จอมเทพโอสิริส (Osiris)  พระเทวีไอซิส (Isis) และ มหาเทพโฮรุส (Horus)  บางสมัยและบางเมืองก็จัดต่างไปจากนี้




หรือตรีเอกานุภาพอีกแบบหนึ่ง ที่ผมนำเสนอในหนังสือ สุริยเทวีปกรณ์ คือ พระเทวีไอซิส มหาเทวีฮาเธอร์ (Hathor) และ เทวีบาสเต็ต (Bastet) ก็เป็น Triad ของเทพนารีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันเช่นกันครับ

ในลัทธิศาสนาฝ่ายเมโสโปเตเมีย นับตั้งแต่ยุคบาบิโลนเก่า (๒,๐๑๗-๑,๕๙๔ ปีก่อนคริสตกาล) ก็มีตรีเอกานุภาพของ สุริยเทพชามาช (Shamash) จันทรเทพซิน (Sin) และ พระเทวีอิชตาร์ (Ishtar) ซึ่งทรงเกี่ยวข้องกับดาวศุกร์

ดังนั้น Triad ของบาบิโลนแบบดั้งเดิมก็คือ การบูชาพระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระศุกร์




ปัจจุบัน แม้จะมีการฟื้นฟูเทวศาสตร์บาบิโลเนียขึ้นมาใหม่ แต่สายการบูชาจันทรเทพซินได้เสื่อมสูญไปแล้ว ตรีเอกานุภาพของบาบิโลนในยุคนี้จึงเปลี่ยนเป็นการบูชา จอมเทพมาร์ดุค (Marduk) ซึ่งเป็นเทพสูงสุดของอาณาจักรบาบิโลนใหม่ (Neo Babylonia ๖๑๒-๕๓๙ ปีก่อนคริสตกาล) พระเทวีอิชตาร์ และ สุริยเทพชามาช

ในส่วนของกรีก-โรมัน แม้จะมี Triad ที่รู้จักกันทั่วไปอย่าง จอมเทพซีอุส (Ζεύς หรือ Jupiter ของโรมัน) สมุทรเทพโพไซดอน (Ποσειδώνας หรือ Neptune ของโรมัน) และ ยมเทพเฮดีส (Ήάδης หรือ Pluto ของโรมัน)

แต่ในความเป็นจริง ไม่มีการบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามองค์นี้ร่วมกันในเทวศาสตร์กรีก-โรมันเลยครับ




ตรีเอกานุภาพกรีก-โรมันเท่าที่มีหลักฐานอยู่ คือ จอมเทพซีอุส พระเทวีเฮรา (Ήρα หรือ Juno ของโรมัน) และ มหาเทวีอธีนา (Αθήνα หรือ Minerva ของโรมัน)

ซึ่งถ้าไม่เก็บเอาเทพนิยายมาคิด การบูชาจอมเทพซีอุสกับพระเทวีเฮรานั้นจะอำนวยผลที่ดีมาก ในด้านวาสนาบารมีของชาย-หญิง และยังคงมีศาสตร์ที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่มหาเทวีอธีนา ซึ่งทรงเป็นเทวีแห่งปรีชาญาณนั้น ทรงได้รับความนิยมจากโลกตะวันตกอยู่แล้ว

ส่วนในวัฒนธรรมของชาวยุโรปเหนือ หรือ นอร์ส (Norse) ตรีเอกานุภาพในชั้นแรกสุดคือ จอมเทพโอดิน (Óðinn) มหาเทพธอร์ (Þór) และ มหาเทพเฟรย์ (Frey) นั่นคือการนับถือพระเป็นเจ้าสูงสุด เทพแห่งท้องฟ้า และเทพแห่งปศุสัตว์-กสิกรรมเป็นคณะเดียวกัน 

ต่อมา คติการบูชามหาเทพเฟรย์ลดความสำคัญลง เพราะชาวนอร์สต้องออกเดินทางไปแสวงหาที่ทำกินใหม่ๆ หรือแสวงหาความร่ำรวย จนเป็นที่รู้จักกันในนามของพวก ไวกิ้ง (Vikings) ซึ่งคนเหล่านี้จะนับถือจอมเทพโอดินกับมหาเทพธอร์เป็นหลัก




ส่วนผู้หญิงที่ยังคงอยู่ในภูมิลำเนาเดิม นิยมบูชา มหาเทวีเฟรยา (Freyja) เพราะต้องการการปกป้องคุ้มครอง และมีความสนใจในเรื่องเวทมนต์มากขึ้น พระนางจึงถูกรวมเข้าในตรีเอกานุภาพแทนที่มหาเทพเฟรย์มาจนทุกวันนี้

กล่าวสำหรับลัทธิศาสนาเม็กซิกัน โดยเฉพาะอัซเต็ค (Aztec) เดิมไม่มีการจัดชุดเทพสำหรับบูชาเป็นตรีเอกานุภาพ เพราะไม่มีการยกย่องมหาเทพองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นอย่างแท้จริง

มีแต่การบูชาคณะเทพ ๕ องค์ อันประกอบด้วย สุริยเทพฮวิตซิโลปอชทลิ (Huitzilopochtli) วรุณเทพทลาลอค (Tlaloc) จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ (Quetzalcoatl) เทพแห่งรุ่งอรุณ ซิเป-โตเต็ค (Xipe-Tótec) และ เทพอสูรเตซคาทลิโปคา (Tezcatlipoca)

ล่วงมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการฟื้นฟูการบูชาเทพอัซเต็คขึ้นใหม่ เทพซิเป-โตเต็คไม่เป็นที่นิยม และเทพอสูรเตซคาทลิโปคาก็เป็นด้านมืดของลัทธิศาสนาเม็กซิกัน ที่ทำให้ถูกโลกภายนอกมองในแง่ลบมาตลอด




จึงมีการแนะนำกันให้จัดชุดบูชาของ จอมเทพเควตซัลโคอาทล์ สุริยเทพฮวิตซิโลปอชทลิ และ วรุณเทพทลาลอค เป็น Triad โดยปรับเปลี่ยนการบูชาองค์สุริยเทพ และวรุณเทพ ด้วยอาหารและผลไม้ ไม่เกี่ยวข้องกับการบูชายัญด้วยชีวิตมนุษย์หรือสัตว์อีกต่อไป

ในกรณีของเทพอินเดีย เนปาล-ทิเบต จีน ญี่ปุ่น และไทย ผมจะแนะนำตรีเอกานุภาพ ที่กลั่นกรองด้วยประสบการณ์การทำงานด้านนี้กว่า ๒๐ ปีมาแล้ว ว่าได้ผลจริงในการบูชา และไม่ยากเกินไปในการจัดหาเทวรูป ดังต่อไปนี้นะครับ




อินเดีย ดีที่สุด และได้รับความนิยมต่อเนื่องยาวนานที่สุดคือ พระคเณศ (गणेश) พระลักษมี (लक्ष्मी) พระสรัสวดี (सरस्वती) เป็นการบูชาคุณสมบัติที่เด่นๆ ของเทพเจ้าทั้งสามองค์นี้ ในด้านของความสำเร็จ  การปลอดพ้นจากอุปสรรค  การมีโชคดี  ลาภยศสรรเสริญ  สติปัญญา ความรู้ และความสามารถในทางศิลปวิทยาทั้งปวง




ส่วน พระวิษณุ (विष्णु) พระศิวะ (शिव) และ พระพรหม (ब्रह्मा) หรือที่เรียกกันว่า พระตรีมูรติ (त्रिमूर्ति) นั้น ทรงคุณวิเศษในทางวาสนาบารมี การปกป้องคุ้มครอง พลังจิต อำนาจลี้ลับ การบำเพ็ญเพียรและศาสนา นับเป็นตรีเอกานุภาพที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน เพียงแต่ยุคนี้ไม่ค่อยมีการ promote เพราะบูชาแบบฮินดูสมัยใหม่ ไม่ใช่ศาสตร์เดิมของแต่ละองค์จึงไม่มีผลอะไร




การบูชาตรีเอกานุภาพ เพื่อให้ได้รับพรวิเศษเฉพาะด้านพลังจิต เวทมนต์ และฤทธิ์ ที่ผมได้โพสต์ใน blog นี้ไปแล้ว คือ พระศิวะ พระสรัสวดี พระตรีปุระสุนทรี (त्रिपुरा सुंदरी) ก็มีเงื่อนไขจำเพาะเจาะจงอยู่ว่า เทวรูปพระสรัสวดีที่จะบูชาเพื่อการนี้ ควรเป็นแบบที่ไม่ถือวีณา

และผู้บูชาต้องยึดมั่นในศีลธรรม คุณธรรม พรหมวิหาร ๔ และมีความละอายต่อบาป (หิริโอตตัปปะ) อย่างเคร่งครัด ต้องประสบผลสำเร็จในการบูชาเทพมาก่อนหน้านั้นแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ปี และต้องไม่เป็นคนรักเพศเดียวกัน




การบูชา พระตรีปุระสุนทรี พระลักษมี และ พระสรัสวดี ก็เป็น Triad ที่เหมาะกับผู้บูชาที่เป็นผู้หญิง เพราะในระดับทั่วไปนั้น พระตรีปุระสุนทรีอำนวยพรด้านวาสนาบารมีได้เหมือนกับ พระอุมา (उमा) ขณะเดียวกันกับที่ทรงฤทธิ์ในการปกป้องคุ้มครองได้เหมือน พระทุรคา (दुर्गा)

ส่วนใครที่ศรัทธาวัชรยานแบบเนปาล-ทิเบต ก็สามารถจัดชุดบูชา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (अवलोकितेश्वर) พระโพธิสัตว์ตารา (तारा) และ พระโพธิสัตว์ชัมภล (जम्बाला)




พระโพธิสัตว์ตารา ทรงเป็นพระโพธิสัตว์หญิงที่ชาวทิเบต และชาวตะวันตกนิยมนับถือกันมากที่สุด มี ๒ ปางที่สำคัญ คือ วรรณะขาว หรือ พระสิตตาราโพธิสัตว์ ซึ่งประทานพรครอบคลุมทุกด้าน คล้ายพระลักษมี กับ วรรณะเขียว หรือ พระศยามตาราโพธิสัตว์ ซึ่งเด่นในการประทานโชคลาภ และความมั่งมีศรีสุข




ซึ่งถ้าบูชาพระศยามตาราโพธิสัตว์ ร่วมกับพระโพธิสัตว์ชัมภล โดยมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นองค์ประธาน ก็จะเกิดผลในทางโชคลาภเป็นอันมาก แต่ถ้าต้องการผลที่ครอบคลุมก็ต้องเป็นพระสิตตาราโพธิสัตว์ดังกล่าว 

ตรีเอกานุภาพจีน มีตำราแนะนำกันอยู่หลายชุดครับ แต่ผมไม่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องมากพอ จึงยกตัวอย่างได้เท่าที่ประจักษ์ถึงประสิทธิผลมาแล้ว




คือ พระเทวีซีหวังหมู่ (西王母) พระม่หนี่วา () และ พระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ (天后圣母)

พระเทวีซีหวังหมู่ทรงเป็นราชินีสวรรค์ มีเทวฐานะสูงสุดในบรรดาเทพนารีทั้งปวงของศาสนาเต๋า ประทานพรเป็นพิเศษแก่ผู้ยูชาที่เป็นสตรี ขณะที่พระแม่หนี่วาทรงดูแลทั้งในด้านครอบครัวและสลายภัยพิบัติ ส่วนพระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ ก็ทรงคุ้มครองทั้งในการเดินทาง และโรคภัยไข้เจ็บ

ผมไม่เรียกพระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ว่า “เจ้าแม่ทับทิม” เพราะเป็นคำที่เหมาะใช้กับ พระแม่สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง (水尾圣娘) ที่คนไทยเรารู้จักกันในพระนามว่า จุ้ยบ้วย-ตุ้ยบ๊วย แบบในศาลที่เชิงสะพานซังฮี้มากกว่า

ซึ่งเจ้าแม่องค์นี้ ตวรบูชาโดยเอกเทศ ไม่ควรจัดบูชาแบบ Triad กับเทพ-เทวีองค์ใดทั้งสิ้นครับ

ส่วนพระแม่เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ คนจีนทั่วไปเรียกกันว่า หม่าโจ้ว (妈祖) สามารถบูชาร่วมกับพระเทวีซีหวังหมู่ และพระม่หนี่วาได้ เพราะทรงเป็นเจ้าแม่สวรรค์เหมือนกัน

อีก Triad  หนึ่ง จะมีความเกี่ยวข้องกับ คณะเทพ ๘ เซียน (八仙) แต่ใครไม่ศรัทธาพอที่จะบูชาครบทั้ง ๘ องค์ ก็บูชาตามนี้เลยครับ

เทพบดีไท่ซ่างเหล่าจวิน (太上老君) ซึ่งท่านเป็นเทพปรมาจารย์สูงสุดองค์หนึ่งของศาสนาเต๋า และเป็นอาจารย์ของคณะเทพ ๘ เซียนด้วย




บูชาท่านกับ เทพลวื่ต้งปิน (呂洞賓) ซึ่งเป็นเทพปราบมาร ที่คนจีนในเมืองไทยนิยมเรียกกันว่า หลื่อโจ้ว และ เทวีเหอเซียนกู (何仙姑) เจ้าแม่แห่งสติปัญญาและสุขภาพ ซึ่งทั้งสององค์ทรงเป็น วิสุทธิเทพ ลำดับที่ ๑ และ ๒ ของ ๘ เซียน และมีอิทธิฤทธิ์มากที่สุดด้วย

ส่วนญี่ปุ่นนั้นต่างจากจีน เพราะขณะที่จีนมีตรีเอกานุภาพมากมาย แต่ญี่ปุ่นไม่มีความสนใจในเรื่องนี้ เขานิยมบูชาแต่เทพแห่งโชคลาภ ๗ องค์ หรือ ชีชิฟูกูจิน (七福神) ซึ่งเกิดจากการเลียนแบบคณะเทพ ๘ เซียนของจีนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการบูชาชีชิฟูกูจิน ที่ผ่านมานั้น จริงๆ แล้วเกิดจากเทวานุภาพของเทพหลักๆ เพียง ๔ องค์ เท่านั้นแหละครับ

คือ ไดโกกุ (大黒) เทพแห่งโชคลาภและทรัพย์สมบัติ เอบิสุ (恵比寿) เทพแห่งความยุติธรรม บิชามง (毘沙門 หรือ ท้าวเวสสุวัณญึ่ปุ่น) เทพแห่งเกียรติยศ และ ไดเบนไซเท็น (大弁財天 หรือ พระสรัสวดีญึ่ปุ่น) เทวีแห่งความงามและดนตรี

ดังนั้น ถ้าจะแยก ๔ องค์นี้มาบูชา ก็จะได้ผลที่ไม่แตกต่างไปจากชีชิ ฟูกูจินทั้งคณะครับ




และถ้าจะจัดชุดเทพ ไดโกกุ บิชามง และ ไดเบนไซเท็น สำหรับบูชาเป็น Triad ก็จะได้ผลที่ครอบคลุมทั้งความมั่งมีศรีสุข การคุ้มครองป้องกัน และเมตตามหานิยม

ส่วนเทพเอบิสุนั้น ไม่เหมาะบูชารวมกับเทพองค์อื่นในลักษณะของ Triad ครับ บูชาเดี่ยวๆ ได้ผลดีกว่า

คณะเทพของไทย เดิมก็ไม่มีการจัดชุดเทพสำหรับบูชาเป็นตรีเอกานุภาพเช่นกัน แต่ก็มีผู้ที่ได้ผลดีเป็นอันมาก จากการประดิษฐาน พระพรหม (ไทย) พระอินทร์ และ จตุคามรามเทพ




โดยมีหลักอยู่ว่า องค์จตุคามรามเทพนั้นต้องเป็นแบบที่ ไม่มีนาคปรก และฐานต้องไม่สูงเกินกว่าฐานพระอินทร์ครับ

อีกคณะหนึ่ง ที่ผมแนะนำไว้ใน blog นี้แล้วเช่นกัน คือ มหาเทพทรงพาหนะ ซึ่งหากได้บูชาแล้ว จะช่วยนำแสงสว่างสู่ดวงชะตาที่มืดมน  และขจัดขับไล่คนชั่ว คนวิปริต ที่เบียดเบียนพวกเราด้วยไสยศาสตร์มนต์ดำ




แต่เทวรูปในกลุ่มนี้ที่จัดหามาบูชาให้เข้าชุดกันได้ง่ายที่สุด คือ พระพรหมทรงหงส์ พระนารายณ์ทรงครุฑ และ พระพิรุณทรงนาค

โดยปกติ ครุฑกับนาคนั้นเป็นศัตรูกัน โดยครุฑจะทำลายนาคเสมอ กรณีนี้แม้แต่ครุฑของพระนารายณ์ กับนาคของพระพิรุณก็ไม่มีข้อยกเว้น

แต่ในการที่จะบูชาด้วยกัน ก็มีหลักอยู่ว่า ถ้าตั้งพระพรหมทรงหงส์เป็นประธาน และพระนารายณ์ทรงครุฑแบบธรรมดา ไม่ใช่ ครุฑยุดนาค ครุฑของพระนารายณ์ก็จะไม่ทำร้ายนาคของพระพิรุณครับ

ส่วนตรีเอกานุภาพที่ส่งผลในด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งประสบความสำเร็จมามากแล้ว คือ พระศรีวสุนธรา (หรือพระแม่ธรณี) พระแม่โพสพ และ พระแม่นางกวัก




ได้รับความนิยมมาตลอดครับ เพราะใกล้ชิดกับวิถีวัฒนธรรมไทยเราโดยทั่วไป การบูชาก็ง่ายมาก ขอให้เป็นธุรกิจห้างร้าน หรือสินค้าและบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เครื่องจักรกล และสิ่งสกปรกแล้ว บูชาได้ผลดีทั้งนั้น

ที่กล่าวมาโดยลำดับนี้ จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นลัทธิศาสนาใดๆ ก็มีให้เลือกบูชาในรูปแบบของตรีเอกานุภาพได้ตามความศรัทธา

ซึ่งไม่ว่าจะบูชาชุดไหน ลัทธิไหน ก็จะส่งผลในการบูชาโดยพื้นฐาน คือ ความเจริญรุ่งเรือง  ความอุดมสมบูรณ์ การปกป้องคุ้มครอง การขจัดอาถรรพณ์ ภูตผีและมนต์ดำ ตลอดจนสุขภาพพลานามัยที่ดี เหมือนกันทุก Triad

และเป็นเทวศาสตร์ ที่เหมาะกับวิถีชีวิตของพวกเราส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้มากครับ

เพราะเป็นวิธีการบูชา ซึ่งจะทำให้ได้รับผลที่ครอบคลุม ในเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บูชาได้มากที่สุด ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป

ทั้งยังง่ายต่อการจัดแท่นบูชา และการตั้งสมาธิจิตในการบูชาอีกด้วย





แต่ต้องทำความเข้าใจนะครับ ว่าบูชาเทพ ๓ องค์ โดยมีเทวรูปเพียงพระนามละ ๑ องค์ หรืออย่างมากก็พระนามละ ๒ องค์ ในขนาดที่ไม่เท่ากัน และองค์เล็กจะต้องตั้งข้างหน้าองค์ใหญ่ได้ โดยไม่บังพระพักตร์ขององค์ใหญ่

เช่น บูชาพระคเณศ พระลักษมี พระสรัสวดี โดยแต่ละองค์เทพ มีเทวรูปขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว ตั้งเรียงกัน แล้วก็มีขนาด ๑ หรือ ๒ นิ้ว ตั้งหน้าองต์ ๕ นิ้วเหล่านั้นให้เหมือนๆ กัน ก็จะเป็นตรีเอกานุภาพที่ยังพอใช้ได้อยู่

แต่อย่ามากกว่านี้นะครับ

เช่นบูชาเทพ ๓ องค์ แต่มีเทวรูปพระนามละเกินกว่า ๓ ก็ถือว่ามากเกินไป ไม่เป็นตรีเอกานุภาพที่สมควร

โดยเฉพาะ องค์เทพอียิปต์ บาบิโลน กรีก-โรมัน นอร์ส และอัซเต็ค นิยมจัดแท่นบูชาเทวรูปเพียงพระนามละ ๑ องค์เท่านั้น




แล้วอย่าลืมว่า ถ้าเป็นเทวรูปเพนท์สี ก็ควรเป็นแบบเพนท์สีเหมือนกันทั้งแท่น ถ้าเป็นแบบสีเดียว หรือปิดทอง ก็ควรเป็นแบบสีเดียว หรือปิดทองเหมือนกันทั้งแท่น

แต่อย่างหลังนี้ ถ้าองค์ประธานปิดทองทั้งองค์ อีก ๒ องค์จะเป็นแบบสีเดียวแล้วปิดทองบางส่วน เช่น ปิดทองเฉพาะเครื่องทรงก็ได้

ถ้าจะบูชาแบบตรีเอกานุภาพ จึงต้องวางแผนในการบูชาให้ดีครับ อย่าใจร้อนในการเช่าเทวรูปเข้าบ้าน อย่าทำตัวเป็นนักสะสม

เพราะตรีเอกานุภาพที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นลัทธิศาสนาใด คือบูชาเทพ ๓ องค์ ด้วย ๓ เทวรูปเท่านั้น

จึงแล้วแต่ความศรัทธาของแต่ละคนนะครับ ว่าจะชอบตรีเอกานุภาพของอียิปต์ บาบิโลน กรีก-โรมัน นอร์ส อัซเต็ค อินเดีย เนปาล-ทิเบต จีน ญี่ปุ่น หรือไทย

และอย่าลืมว่า ไท่ว่าจะเป็นเทวรูปของลัทธิศาสนาใด ก็จะต้องผ่าน การเทวาภิเษก (Consecration) หรือมนต์พิธีที่ถูกต้อง ตามลัทธิศาสนา หรือคติแห่งการบูชาเทพนั้นๆ ด้วยนะครับ

จะใช้ศาสตร์อื่น หรือนำเทวรูปอียิปต์ บาบิโลน กรีก-โรมัน นอร์ส อัซเต็ค อินเดีย ทิเบต จีน ญี่ปุ่น ที่ซื้อจากร้านค้า ไปให้พระเกจิอาจารย์ไทยอธิษฐานจิต ไม่ได้หรอกครับ




เพราะเป็นคนละศาสตร์กัน ใช้แทนกันไม่ได้

ส่วนการบูชาเทวรูปที่ไม่ผ่านพิธีกรรมใดๆ มาตั้งบูชา ก็เป็นการบูชาที่ไร้ผลเช่นกัน

เนื่องจากเทวรูปเหล่านั้น จะยังคงเป็นเพียงประติมากรรม หรือ ศิลปวัตถุ เหมือนกับตุ๊กตาที่ผลิตออกมาจากโรงงานเท่านั้น ไม่มีคุณสมบัติใดๆ ที่จะเป็นสื่อระหว่างองค์เทพกับเราได้

ซึ่งถ้าเป็นบาบิโลน กรีก-โรมัน กับอัซเต็ค ก็คงจะหาเทวรูปที่ผ่านมนต์พิธีที่ถูกต้องได้ยากเอาการ คงต้องใช้ความพยายามในการแสวงหากันหน่อย

แต่ถ้ารักจริง ก็ไม่เกินความสามารถหรอกครับ

...................................

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น