วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559

นกถึดทือ นกเค้าแมวเรียกทรัพย์

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*



เครื่องรางของมหาเทวีอธีนา ทำด้วยเงิน อายุราวๆ ๔๘๐-๔๒๐ ปีก่อนคริสตกาล
ปัจจุบันจัดแสดงที่ Museum of Fine Arts of  Lyon ฝรั้งเศส
ภาพจาก http://en.wikipedia.org

ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลนับพันปีมาแล้ว ที่ มหาเทวีอธีนา (Athena) เทวีแห่งปราชญ์และความรอบรู้ทั้งมวลปรากฏพระองค์ในศาสนาของชาวกรีก-โรมัน โดยมี นกเค้าแมว อยู่เคียงข้าง หรือเป็นสัญลักษณ์ของพระนาง

นกเต้าแมวได้รับเกียรติเช่นนี้ เพราะปรัชญาเมธีแห่งกรีกโบราณพิจารณาว่า มันมีลักษณะเจ้าความคิด สงบเสงี่ยม และช่างตรึกตรอง มันมีดวงตาขนาดใหญ่ และหัวที่หันมองได้รอบทิศ จึงเป็นคุณสมบัติของการรู้เห็นสรรพสิ่ง และมันเป็นสัตว์ที่มีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่สงบสุขุม โดยตัวของมันเอง

เพราะมันไม่ใช่นกประเภทบินล่าเหยื่อ มันจะเกาะอยู่กับที่เพื่อมองหาอาหารอย่างระมัดระวัง และเมื่อพบแล้วมันก็แทบจะไม่พลาด เปรียบเหมือนความสงบนิ่งแต่เฉียบคม ในสติปัญญาของพวกนักปราชญ์ไงครับ

อย่างไรก็ตาม การนับถือนกเค้าแมวได้มีมาแล้วตั้งแต่ก่อนยุคกรีก มีนกเค้าแมวเป็นคู่ปรากฏร่วมกับภาพของ มหาเทวีอินันนา (Inanna) แห่งสุเมเรีย (Sumeria) อันเป็นอารยธรรมยุคแรกๆ ของเมโสโปเตเมีย

นกเค้าแมวคู่นี้สื่อถึงพระนามหนึ่งของพระนาง คือ Nin-ninna (Divine Lady Owl) แต่มันเป็นสัญลักษณ์อะไรอื่นนอกจากนี้หรือไม่ ก็ยังคลุมเครืออยู่


ภาพวาดจากภาพสลักมหาเทวีอินันนาบนแผ่นอิฐ
จาก http://treeofvisions.wordpress.com

ไม่เพียงเท่านั้น มันยังนำมาซึ่งความเข้าใจผิด เกี่ยวกับมหาเทวีอินันนามากมายครับ

เพราะรูปภาพบนแผ่นอิฐที่เห็นนี้ ทำให้นักปราชญ์ยุคแรกๆ ที่ค้นพบคิดว่า เป็นรูปภาพของ นางพญาลิลิธ (
Lilith) เทวีแห่งตัณหาราคะในศาสนายิวและคริสต์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับนกเค้าแมวเช่นกัน

ปัจจุบัน การค้นคว้าทางโบราณคดีได้พิสูจน์แล้วว่า มหาเทวีอินันนานั้นไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับนางพญาลิลิธเลยครับ และนกเค้าแมวที่ปรากฏร่วมกับเทพนารีทั้งสององค์นี้ ก็ใช้กันคนละความหมายด้วย

สำหรับคนอินเดีย พวกเขามองเห็นสิ่งที่น่าชื่นชมของนกชนิดนี้ในอีกทางหนึ่ง พวกเขาเห็นว่ามันกินทั้งหนูและงู ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของชาวนาทั้งคู่ ด้วยเหตุนั้น  มันไม่เพียงช่วยให้พวกเขามีข้าวกิน ยังช่วยป้องกันพวกเขาจากการถูกงูกัด

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวอินเดียนะครับ คนอินเดียเป็นชนชาติที่มีสถิติถูกงูกัดตายมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากพวกเขานับถือศาสนาฮินดู ซึ่งมีคติการบูชางูเป็นเทพเจ้ารวมอยู่ด้วย พวกเขาจึงไม่สามารถฆ่างูได้

ดังนั้นจึงไม่มีอะไรช่วยเหลือพวกเขาได้ดีกว่านกเค้าแมว โดยเฉพาะชนิดที่ชอบอยู่ตามท้องไร่ท้องนา ที่คนไทยเราเรียกว่า นกแสก เลย



พระธัญญลักษมี หรือพระแม่โพสพของอินเดีย มีนกเค้าแมวเป็นบริวาร

ด้วยเหตุนั้น คนอินเดียส่วนใหญ่จึงยกย่องนกเค้าแมวและนกแสกว่าเป็นสัตว์มงคล เป็นบริวารของพระแม่ลักษมี เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์และความมั่งมีศรีสุข โดยเฉพาะในปางที่ทรงเป็นพระแม่โพสพ หรือ พระธัญญลักษมี (Dhanya Lakshmi) จะต้องมีรูปนกเค้าแมวปรากฏอยู่ด้วยเสมอ

อย่างไรก็ตาม คนอินเดียก็ยังไม่มีคติที่จะพัฒนาสัตว์มงคลชนิดนี้ขึ้นเป็นเครื่องรางโดยเฉพาะครับ หรือแม้แต่จะทำเป็นสัตว์บริวารสำหรับถวายเทวรูปพระแม่ลักษมีก็ยังไม่มี ไม่เหมือนหนูสำหรับถวายพระคเณศ หรือวัวสำหรับถวายพระศิวะที่เห็นกันดาษดื่น

ส่วนในจีน คำเรียกนกเค้าแมวในภาษาจีนกลางคือ (ออกเสียงคล้ายๆ เสียงผสมระหว่าง ซวี้-อ๊ง) และน่าสงสัยว่า ในยุคบรรพกาลนกชนิดนี้จะเคยเป็นสัตว์มงคลในคติจีนด้วย เพราะได้มีการค้นพบภาชนะสำริดสมัยราชวงศ์ซาง ( : ๑,๗๐๐-๑,๑๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) หล่อเป็นรูปนกเค้าแมวที่มีรูปทรงและรายละเอียดงดงามมาก


ภาชนะสำริด (น่าจะเป็นเหยือกเหล้าใช้ในพิธีกรรม)
สมัยราชวงศ์ซาง หนึ่งในหลายๆ ชิ้นที่ได้ค้นพบ
ภาพจาก http://www.pinterest.com

แต่ก็น่าแปลกละครับ ที่ในเวลาต่อมา จีนยกย่องสัตว์ที่นำโทษมหันต์มาสู่มนุษย์ คือ หนู เป็นสัตว์มงคล และเห็นว่าสัตว์ที่กำจัดหนู ทั้งแมวและนกเค้าแมวเป็นสัตว์อัปมงคล

โดยเฉพาะนกเค้าแมว พวกเขาเห็นว่าเป็นลางร้าย แค่ได้ยินเสียงร้องของมัน ไม่จำเป็นต้องเห็นตัวก็ถือว่าโชคไม่ดีแล้ว มิหนำซ้ำยังชอบเอามาเล่าเป็นนิทานหลอกเด็กว่า ลูกนกเค้าแมวจะไม่หัดบินจนกว่าจะได้จิกตาของแม่มัน คงเป็นการยากที่จะบอกได้ว่า ความเชื่อเหลวไหลเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

แต่ก็ยังดีครับ ที่ทัศนคติเหล่านี้ลดหายไปมากแล้วในปัจจุบัน

เพราะแม้ว่าจนถึงตอนนี้ คนจีนจะยังไม่มีการทำวัตถุมงคลเป็นรูปนกเค้าแมว แต่พวกเขาก็สร้างสรรค์ประติมากรรมรูปนกเค้าแมวด้วยวัสดุต่างๆ สำหรับตกแต่งบ้านและสวน ที่มีรูปลักษณ์หลากหลายแปลกตา น่าสนใจมากๆ ครับ

แม้แต่ภาชนะสำริดรูปนกเค้าแมวของราชวงศ์ซาง ที่ผมกล่าวถึงไปแล้วนั้น ก็ยังมีการจำลองแบบมาผลิตขายในราคาแพงเอาการ เพราะถ่ายแบบมาได้เหมือนของจริงอย่างที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น โรงงานจีนยังรับจ้างผลิตเครื่องราง และประติมากรรมนกเค้าแมวให้หลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นด้วย

เหตุใดญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้รับอารยธรรมจีนมาแต่โบราณ จึงเชื่อว่านกเค้าแมวเป็นสัตว์มงคล ขณะที่จีนไม่เชื่อ?



Eagle Owl and Moon by Kono Bairei
ภาพจาก http://www.etsy.com

คำตอบหนึ่งที่เป็นไปได้ ก็คือ นกเค้าแมว (ภาษาญี่ปุ่นว่า ฟุกุโระ フクロウ) อาจเคยเป็นสัตว์มงคลในยุคบรรพกาลของจีนจริงๆ แล้วชาวญี่ปุ่นก็รับคตินี้ไปก่อนที่ชาวจีนจะหันมารังเกียจมันในภายหลัง

คำตอบอื่นๆ ก็คือ คนญี่ปุ่นมีความเห็นตรงกับคนอินเดียในเรื่องที่นกชนิดนี้ช่วยกำจัดทั้งหนูและงู ซึ่งเป็นอันตรายทางเศรษฐกิจและชีวิตของคนญี่ปุ่นเช่นกัน จึงถือว่ามันเป็นสัตว์มงคลนำโชคลาภมาให้

ผมว่า คุณสมบัติเช่นนี้ควรเป็นที่ประจักษ์ตรงกันในทุกชาติทุกภาษาอยู่แล้วละครับ ถ้าไม่ถูกครอบงำด้วยอคติ อันเกิดจากความหวาดกลัวที่มากเกินไป

ทุกวันนี้ คนญี่ปุ่นจึงผลิตเครื่องรางที่เป็นรูปนกแมวด้วยปริมาณและรูปแบบที่หลากหลายพอๆ กับแมวกวัก แล้วก็เหมือนมีการประชันกันกลายๆ ด้วยนะครับ

เพราะปรากฏว่า ยิ่งแมวกวักทำท่าออดอ้อนดีดดิ้นเท่าไหร่ นกเค้าแมวญี่ปุ่นก็จะยิ่งออกท่าออกทางน่ารักน่าชังมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และผลก็คือ ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเหมือนกัน

คนญี่ปุ่นถือว่า นกเค้าแมวที่น่ารักน่าเอ็นดูของพวกเขามีคุณประโยชน์เหมือนแมวกวัก คือใช้ประดับตกแต่งสถานที่ให้มีบรรยากาศผ่อนคลายก็ได้ หรือจะใช้เรียกโชคลาภเข้าบ้าน หรือธุรกิจร้านค้าก็ได้เหมือนกัน อย่างน้อยแค่ความน่ารักที่สะกดสายตาผู้พบเห็นให้หยดชื่นชม ก็ช่วยให้กิจการร้านค้าที่มันตั้งอยู่ดูน่าสนใจขึ้นแล้ว

เครื่องรางรูปนกเค้าแมวญี่ปุ่นจึงมีทุกรูปแบบ ทำเป็นแบบตั้งโต๊ะ ซึ่งหาดูได้ง่ายทั่วไป ทำเป็นกระดิ่งในตัวสำหรับแขวนไว้ที่ชายคา หรือเหนือประตูทางเข้าอาคารต่างๆ ก็ได้ หรือทำเป็นตัวเล็กๆ สำหรับพกพา มีแม้กระทั่งแบบที่ทำไว้สำหรับพกในกระเป๋าสตางค์หรือกระเป๋าเสื้อได้สะดวก หรือจะเอาแบบที่เป็นจี้ห้อยคอก็มีทั้งนั้น


นกเค้าแมวเซรามิกลายคราม แบบญี่ปุ่น สำหรับตกแต่งโต๊ะอาหาร
ภาพจาก http://www.allexpress.com

เพราะเหตุนี้ นกเค้าแมวญี่ปุ่นจึงเป็นที่ชื่นชอบสำหรับผู้สะสมงานหัตถกรรมรูปสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก และด้วยเหตุว่านับวันความนิยมจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ช่างฝีมือญี่ปุ่นหลายคนจึงเพียงแต่ออกแบบนกเค้าแมว แล้วส่งไปผลิตที่เมืองจีนซึ่งควบคุมคุณภาพได้ดังใจ แต่ค่าแรงถูกกว่า และมีโรงงานเซรามิกมากกว่า

ช่างฝีมือญี่ปุ่นส่วนหนึ่ง ยังมาว่าจ้างโรงงานผลิตหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาในลำปางและทางภาคเหนือของไทย ออกแบบและผลิตเครื่องรางนกเค้าแมว แล้วส่งกลับไปติดแบรนด์ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งก็ทำให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ และ ดูเป็นญี่ปุ่นแท้เช่นเดียวกับที่จ้างผลิตในจีน

ดังนั้น ใครไปญี่ปุ่นแล้วคิดจะซื้อนกเค้าแมวกลับมาฝากเพื่อนฝูงญาติมิตรที่เมืองไทย อาจต้องทำใจว่าเป็นนกเค้าแมวที่ผลิตในประเทศไทยก็ได้นะครับ

ได้กล่าวไปแล้วว่า โรงงานจีนไม่เพียงรับผลิตเครื่องรางนกเค้าแมวให้ญี่ปุ่นเท่านั้น ยังผลิตให้ชาวยุโรปและอเมริกาด้วย ทั้งโดยวัสดุที่เป็นเซรามิกและเรซิน ซึ่งมีโรงงานอยู่ดาษดื่นในจีน เพราะวัตถุมงคลชนิดนี้ก็เป็นที่นิยมของฝรั่งเช่นกัน

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะคติความเชื่อเกี่ยวกับพระเทวีอธีนาดังกล่าวแล้วละครับ ในทางมายาศาสตร์ยุโรป เขาแนะนำไว้เลยว่า ผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการศึกษาค้นคว้าในศิลปวิทยาการต่างๆ ควรจะมีเครื่องรางหรือประติมากรรมนกเค้าแมว เพราะมันจะนำความฉลาดมาให้ หรือจะพูดแบบไทยๆ ก็ได้ว่า ช่วยเสริมบารมีในด้านของสติปัญญานั่นเอง


รูปแบบหนึ่งของเครื่องรางนกเค้าแมว ในมายาศาสตร์ตะวันตกปัจจุบัน
ภาพจาก http://zeldawiki.org

ในมายาศาสตร์ตะวันตก มีการระบุไว้ว่าเครื่องรางนกเค้าแมวที่ดีควรทำด้วยทองคำ เงิน และสำริด จะมีอานุภาพเข้มขลังอย่างยิ่ง หลายๆ สำนักก็มีการปลุกเสกนะครับ โดยเฉพาะในพวกแม่มด (Witch) และพวกที่บูชาธรรมชาติ เช่น วิคคา (Wicca) ซึ่งก็พอจะหาผู้ชำนาญการใช้เวทมนต์ ที่ทำพิธีนี้ได้ไม่ยาก อีกทั้งยังเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เกิดในราศีพฤษภ ราศีกันย์ และราศีมกร

กล่าวสำหรับเมืองไทยของเรา ซึ่งเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า มีคนเป็นอันมากที่เกลียดกลัวนกแสกและนกเค้าแมวด้วยความงมงายมานานนักหนาแล้ว เช่นคิดว่าเป็นทูตแห่งความตาย เป็นพาหนะของพระกาฬที่จะมาเอาชีวิต 

โดยเฉพาะตามชนบท มักสั่งสอนกันมาจนทุกวันนี้ว่านกแสกเป็นนกผี บินผ่านบ้านไหนแล้วร้องให้ได้ยินเสียง หรือไปเกาะบ้านใครบ้านนั้นต้องมีคนตาย ในอีสานเรียกว่า นกลิงลม และกล่าวหาว่าเป็นผู้นำอหิวาตกโรคเข้ามาในหมู่บ้าน            

เป็นวิสัยของคนไทยจำนวนมากจริงๆ ครับ ที่มักงมงายในความเชื่อที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างเพียงพอ 

เรื่องนกแสกเป็นทูตนำความตายมาหานั้น แท้ที่จริงมาจากความไม่เข้าใจในธรรมชาติ และความหวาดกลัวอย่างขลาดเขลาของคนบางกลุ่ม หรือไม่รู้จะโทษอะไรก็โทษนกไว้ก่อน 

เช่น คนอีสานที่ต้องพบกับอหิวาตกโรคอยู่เสมอ ก็ควรจะพิจารณาพฤติกรรมการกินอยู่ของคนพวกนี้นะครับ ว่าเป็นอย่างไร ชื่นชอบกันเหลือเกินใช่หรือไม่ กับอาหารดิบๆ คาวๆ ที่ปรุงอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ พอกินเข้าไปแล้วเป็นอะไรขึ้นมา ก็โบ้ยให้นกเป็นแพะรับบาป


Barn Owl ของฝรั่ง สายพันธุ์เดียวกับนกแสกไทย

ความเชื่อเช่นนี้ เป็นความเชื่อที่เบียดเบียนให้ร้ายผู้อื่น ไม่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สมควรแก่การอนุรักษ์ไว้หรอกครับ เดี๋ยวนี้ก็เริ่มมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ลบล้างความเขื่องมงายเหล่านี้มากขึ้นในสื่อตางๆ อย่างน่ายินดี ดังนั้น ความงมงายอย่างนี้สักวันหนึ่งก็คงจะสูญหายไป พร้อมกับผู้คนที่เบาปัญญาดังกล่าวนั่นเอง

แต่ในทางไสยศาสตร์ไทยของเรา ก็เห็นประโยชน์ในทางอาถรรพณ์จากคุณสมบัติของนกชนิดนี้ ที่เป็นสัตว์หากินกลางคืน แต่มีอานุภาพในด้านของความอุดมสมบูรณ์เพราะช่วยกำจัดหนู และป้องกันอันตรายได้ด้วย เพราะมันกินงูเป็นอาหารไงครับ

จึงมีการนำมาสร้างเป็นเครื่องราง เรียกว่า นกถึดทือ โดยสายที่รู้จักกันมากที่สุด คือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท อาจารย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย ที่เป็นราชนิกูลจอมอาคมพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์นั่นเอง

เล่ากันว่า สมัยหนึ่งหลวงปู่ศุขได้รับนิมนต์มาที่วังนางเลิ้งของเสด็จในกรม บรรดานายทหารเรือ และคนรับใช้ประจำวังหลายคนเข้าไปกราบขอพระเครื่อง, ตะกรุดสารพัด แต่ก็มีหลายคนเช่นกันติดเบี้ยบ่อน มาขอของดีจากหลวงปู่ศุขไปแก้มือ

สำหรับคนจำพวกหลังนี้ หลวงปู่ท่านไม่ให้พระ แต่เขียนยันต์นกถึดทือให้แทน

ปรากฏว่า เจ้ามือทั้งย่านนางเลิ้ง พระนคร สี่กั๊ก ยันเสาชิงช้า ต้องปิดบ่อนหนีบรรดาศิษย์นกถึดทือหมด เพราะพวกนี้ได้พากันล้างแค้นเจ้ามือสำเร็จ ร่ำรวยไปตามๆ กัน จนเจ้ามือขยาด ถ้ารู้ว่าเป็นพวก นกถึดทือจากวังนางเลิ้งจะไม่รับเข้าไปเล่นอีกเลยทีเดียว

วิชานกถึดทือสายหลวงปู่สุข มีการสืบทอดมาจนปัจจุบันหลายสำนักด้วยกัน โดยมีอุปเท่ห์ว่า เวลาจะบูชาให้ภาวนาคาถาหัวใจพญานกถึดทือ กิ ปิ พิ คิถือว่าเป็นสุดยอดแห่งความเมตตา ดีทางการเสี่ยงโชค ทางขยันทำมาหากิน เป็นเมตตามหานิยม เมตตามหาเสน่ห์ เรียกทรัพย์ รับโชคลาภ อธิษฐานจิตได้ดั่งใจ อีกทั้งป้องกันคุ้มภัย ป้องกันคุณไสย คุณผี คุณคน ได้อย่างยอดเยี่ยม

ในยุคของพวกเรา จึงมีเกจิอาจารย์หลายสำนักที่สร้างนกถึดถือออกมาให้บูชากัน ที่เคยนิยมกันมากสำนักหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน คือ หลวงพ่อพิน พรหมวัณโณ วัดคลองหวายโป่ง จ.ระยอง


รัตติกาล รุ่นแรก หลวงพ่อพิน วัดคลองหวายโป่ง จ.ระยอง

เครื่องรางของท่านไม่เรียกว่านกถึดทือหรอกครับ ท่านตั้งชื่อใหม่ว่า รัตติกาล เห็นจะเป็นเพราะดูโรแมนติกกว่า และมุ่งจับตลาดคนรุ่นใหม่ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า นกถึดทือ นั่นเอง รวมทั้งสายวิชาของท่านก็อาจจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับหลวงปู่ศุข ที่รู้จักกันทั่วไปก็ได้

รัตติกาลของหลวงพ่อพิน ทำออกมาหลายรุ่น ที่ดีที่สุดคือรุ่นแรก ซึ่งออกแบบได้อย่างสวยงามเป็นรูปนกเค้าแมวเกาะคอนไม้ ในทางไสยศาสตร์ก็นิยมกันว่าดีมาก เพราะอุดสีผึ้งเขียวของหลวงพ่อทาบ วัดกระบกขึ้นผึ้ง จ.ระยอง พระอาจารย์ของหลวงพ่อพิน ซึ่งแรงทางเมตตามหานิยม


รัตติกาล รุ่น ๔ หลวงพ่อพิน เนื้อนวโลหะ พ.ศ.๒๕๕๓
ภาพจาก http://www.web-pra.com

ส่วนรุ่น ๔ ซึ่งเป็นรูปนกเค้าแมวกางปีกบิน รุ่นนี้ก็ออกแบบได้ดีเช่นกันครับ และปัจจุบันก็หายากแล้วเช่นกัน เพราะแม้แต่คนที่ไม่นิยมไสยศาสตร์ พอเห็นครั้งแรกก็ยังต้องซื้อเก็บ

เกจิอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงในการสร้างนกถึดทือ ได้แก่ หลวงพ่อมหาโพธิ์ ญาณสังวโร วัดคลองมอญ (สุวรรณโคตมาราม) อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ท่านเรียนกับหลวงพ่อบุญยัง วัดหนองน้อย จ.ชัยนาท ที่สืบทอดต่อมาจากหลวงปู่ศุขอีกที 

ซึ่งวิชานี้ หลวงพ่อบุญยังเคยทำให้หลวงพ่อมหาโพธ์ประจักษ์มาแล้ว เมื่อคราวเสกลงกระป๋องขนมขบเคี้ยวไว้ให้กินสมัยยังเด็กบวชเป็นเณร ล้วงกินเท่าไรก็ไม่มีหมด


นกถึดทือ ขนาดบูชา หลวงพ่อมหาโพธิ์ วัดคลองมอญ
ดัดแปลงจากงานแกะไม้ OTOP เชียงใหม่

ที่นำมาเป็นภาพตัวอย่างนี้ นับว่าเป็นนกถึดทือขนาดบูชารุ่นแรก ทำด้วยไม้แกะสลักจากเชียงใหม่ที่ลูกศิษย์ซื้อมาถวายหลวงพ่อ มีเพียง ๒๐ ตัวเท่านั้น หลวงพ่อท่านจารอักขระไว้ที่ตาและบนหัว เสร็จแล้วก็แจกจ่ายลูกศิษย์คนสำคัญๆ ที่เหลือออกให้บูชาแค่ไม่กี่ตัว เรียกได้ว่าเป็นเครื่องรางนกถึดทือแบบ OTOP ครับ

นอกจากนี้ท่านก็สร้างเป็นเนื้อผงออกมา ไม่สวยนัก แต่ในวงการนิยมกันว่าของท่านดีจริง หายาก

อีกสำนักหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ญาท่านทอง วัดนาอุดม อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี ท่านสร้าง พญานกถึดทือเรียกทรัพย์ วิชาเด็ดสำเร็จลุน เมื่อพ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งเป็นไสยศาสตร์ลาว แตกต่างจากสำนักอื่นที่มักอ้างอิงสายวิชาหลวงปู่ศุข และยังมีความแปลกใหม่ตรงที่แกะจากเขาควาย ตัวเล็กๆ แต่สวยระดับงาน OTOP เช่นกัน


พญานกถึดทือเรียกทรัพย์ วิชาเด็ดสำเร็จลุน ญาท่านทอง วัดนาอุดม
ภาพจาก http://rattaya-pramai.lnwshop.com

ส่วนพระเกจิอาจารย์ที่โดดเด่นที่สุด ในการสร้างนกถึดทือ ณ ปัจจุบันนี้ เห็นจะไม่มีท่านใดเกิน หลวงพ่อชู เตชธมฺโม วัดทัพชุมพล ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 

ท่านสร้างและปลุกเสกนกถึดทือไว้หลายรุ่น ตามตำราที่ตกทอดมาจากสายวิชาหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า บางรุ่นหล่อด้วยโลหะผสมแบบโบราณ ชนิดที่ไม่ปรากฏว่าสำนักอื่นเคยใช้กันมาก่อน เช่นเนื้อเมฆสิทธิ์ ตามภาพตัวอย่างนี้


นกถึดทือ รุ่นแรก เนื้อเมฆสิทธิ์ หลวงพ่อชู วัดทัพชุมพล
ภาพจาก http://eauction.uamulet.com

ที่ผมอยากพูดถึงเป็นพิเศษ คือ พญานกถึดทือรุ่นหอบทรัพย์ โกยสมบัติ ขนาดบูชา ๓ นิ้ว ซึ่งนับได้ว่าเป็นการทำพญานกถึดทือตัวครูอย่างแท้จริงตัวใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สมัยหลวงปู่ศุข ใครๆ ที่ชอบนกถึดทือ นกเค้าแมว น่าจะหัวใจละลายกับพญานกถึดทือรุ่นนี้แน่นอน 

ใครอยากได้ก็ยังพอมีเวลาครับ เพราะเขาเพิ่งเปิดจองได้ไม่นาน แต่สร้างตามจำนวนจองเท่านั้นนะครับ ราคาเพียงตัวละ ๑,๑๙๙ บาท ปิดจอง ๑๘ กันยายน ๒๕๕๙ นี้ รับของได้วันออกพรรษา เดือนตุลาคม


นกถึดทือ ขนาดบูชา ๓ นิ้ว รุ่นแรก หลวงพ่อชู วัดทัพชุมพล
ภาพจาก http://phatralak.si.tarad.com

เครื่องรางของสำนักต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ส่วนมากมักโฆษณาว่า เด่นทางมหานิยม โดยเฉพาะการเข้าหาเพศตรงข้ามในเวลากลางคืน ส่วนในด้านโชคลาภนั้น ก็มักจะหนักไปในทางอบายมุข โดยเฉพาะการพนัน และการเข้าบ่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องของสิ่งที่ซ่อนเร้นปิดๆ บังๆ หรือทำในเวลากลางคืนเช่นกัน และเน้นกันมากในสายหลวงปู่ศุขตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว

ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะคุณสมบัติส่วนหนึ่งของนกถืดทือ คือ ความอุดมสมบูรณ์ และความเป็นนกกลางคืน ก็เป็นได้นะครับ

และก็เพราะเด่นทั้งเรื่องเจ้าชู้ และเรื่องการพนันนี่แหละ ที่ทำให้เครื่องรางนกถึดทือส่วนมาก มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมนต์ดำอย่างช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะบางสำนักนั้น ถึงกับสร้างด้วยมวลสารที่เกี่ยวข้องกับซากศพ หรือภูตพรายตามตำรับมนต์ดำเลยทีเดียว

ตัวอย่างเช่น เทพราตรี เนื้อดินอาถรรพณ์อาบน้ำมันพราย ของ หลวงพ่อปุ่น วัดป่าบ้านสังข์ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งอ้างอิงว่าเป็นสายวิชาของหลวงปู่ศุขเช่นกัน


เทพราตรี เนื้อดินอาถรรพณ์อาบน้ำมันพราย หลวงพ่อปุ่น
ภาพจาก http://siammontra-amulet.blogspot.com

กล่าวกันว่า มีคุณด้านเมตตามหานิยม ใครที่ชอบเที่ยวกลางคืนรักสนุก เจ้าชู้ ก็ใช้ได้แรงยิ่งนัก ทั้งยังป้องกันคุณไสยมนต์ดำ ภูตผีปีศาจเกรงกลัว แม้ในเรื่องคดีความและการเสี่ยงโชคก็มีครบทุกด้าน หากใส่ไว้ในเซฟหรือที่เก็บเงิน จะทำให้เงินทองเพิ่มพูนไม่ขาดพร่อง ทำน้ำมนต์แก้ดวงไม่ดีก็ได้ ซึ่งหลวงพ่อท่านสร้างเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

เครื่องรางนกถึดทือ ดังที่ยกตัวอย่างมานี้ รวมทั้งสำนักอื่นๆ ที่มิได้กล่าวถึง แม้ว่าจะมีหลายสำนัก แต่จริงๆ แล้วก็ยังคงต้องถือว่า เป็นเครื่องรางที่หาดูยากชนิดหนึ่งละครับ เพราะมีต้นทางมาจากสายวิชาเดียวกันเสียส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้สืบทอดก็มีไม่กี่ท่าน แล้วก็ยังไม่มีความนิยมมากนักในท้องตลาด

ผมเอามาบันทึกไว้ สำหรับคนชอบนกฮูก-นกเค้าแมวในด้านศาสตร์ลี้ลับ เผื่อใครสนใจจะได้ตามเก็บสะสม เพราะถึงแม้หลายๆ รุ่นจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอบายมุข แต่ถ้าเก็บไว้ดูเล่น ไม่นำมาใช้ในทางนั้นก็ไม่มีอันตรายอะไรหรอกครับ


.............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

นางพญาจิ้งจอกเก้าหาง

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์

*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*





ปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง เป็นเรื่องในพงศาวดารจีนที่มีชื่อว่า ฮ่องสิน

นางกับปีศาจอีกสองตนคือ ไก่ฟ้าเก้าหัว และพิณผีผาหยก เป็นบริวารที่พระแม่หนี่วาส่งลงมาบนโลกมนุษย์ ให้สังหาร จักรพรรดิโจ้วหวาง แห่งราชวงศ์ซาง ที่บังอาจพูดจาดูหมิ่นพระนางในทางลามก

ปฐมเหตุของเรื่องดังกล่าว เล่ากันว่า เมื่อ จักรพรรดิโจ้วหวางครองราชย์ไปได้ระยะหนึ่ง ได้เสด็จไปถวายสักการะพระแม่หนี่วา ครั้งนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรเทวรูปถูกลมพัดฉลองพระองค์เลิกขึ้น จนเห็นสัดส่วนของเทวรูปที่ได้สลักเสลาขึ้นอย่างงดงามประดุจมีชีวิต พระองค์ก็ตรัสเรียกพู่กันมาแต่งเป็นบทกวีชมโฉมองค์เทวีด้วยถ้อยคำที่จาบจ้วง แล้วทรงมีพระราชโองการให้นำโคลงนั้นประดับไว้ในเทวสถาน 

หลังจากนั้น โจ้วหวางจอมทรราช ก็พยายามเฟ้นหาสาวงามที่มีใบหน้าสวยงามดั่งเช่นพระแม่หนี่วา จนกระทั่งข้าราชบริพารของโจ้วหวางไปพบ ซูต๋าจี ธิดาของมหาเศรษฐีผู้หนึ่ง เป็นสาวสวยหาใครเปรียบได้ยาก แถมยังใบหน้าคล้ายพระแม่อีกด้วย

ปีศาจจิ้งจอกเห็นเช่นนั้น จึงฉวยโอกาสสังหารซูต๋าจี แล้วเข้าสิงร่างของเธอ เพื่อให้ข้าราชบริพารเหล่านั้นเข้าไปถวายตัวเป็นสนมของโจ้วหวาง

นับจากวันนั้น ซูต๋าจีที่ถูกนางปีศาจจิ้งจอกเข้าสิง ก็ใช้มารยาทุกอย่างมัดใจจักรพรรดิโจ้วหวาง แล้วคอยกำกับและยุยงให้โจ้วหวางกลายเป็นผู้นำเจ้าสำราญ มัวเมาในอิสตรี และเฉลิมฉลองอย่างหรูหราในวัง ก่อสร้างหอคอยสูงเทียมฟ้าที่มาจากการขูดรีดภาษีประชาชน ใครขัดหรือโต้แย้งก็ถูกประหารหมดด้วยวิธีโหดร้ายสยดสยอง อันเป็นผลจากคำยุยงของซูต๋าจีทั้งสิ้น ขณะเดียวกันนางก็แอบพาเหล่าปีศาจเข้ามาสิงสู่ในวังมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อบ้านเมืองตกอยู่ในความวุ่นวาย และเหล่าปีศาจก็มีทีท่าว่าจะเข้ามายึดครองโลกมนุษย์ ก็ร้อนถึง เทพปรมาจารย์เอวี๋ยนสื่อเทียนจวิน และเหล่าเซียนแห่งเขาคุนหลุน

องค์เทพปรมาจารย์จึงบัญชาให้ศิษย์เอกที่ชื่อ ไท่กงฮว่าง หรือที่มีชื่อจริงว่า หลี่ว์ซ่าง หรือ เจียงจื่อหยา มายังโลกมนุษย์เพื่อกำจัดต๋าจี และฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับมาเป็นปกติ


นางพญาจิ้งจอกเก้าหาง  version ล่าสุดที่ออกอากาศครั้งแรกในปี ๒๕๕๖

ต๋าจีเมื่อล่วงรู้แผนนี้ ก็คอยส่งสมุนปีศาจของตนมารังควานเจียงจื่อหยาเป็นระยะ ๆ และยังได้ความร่วมมือจากขุนนางฝ่ายที่นิยมจักรพรรดิโจ้วหวางเป็นกำลังสำคัญ รวมทั้งยังมีเหล่าเทพที่ทรงอำนาจเป็นพวกพ้องมิใช่น้อย

ในขณะที่เจียงจื่อหยา พร้อมทั้งศิษย์เอกคือ นาจา ก็ได้รวบรวมพวกพ้องที่เป็นนักพรต จอมยุทธ์ เหล่าขุนนางที่หลบหนีจากราชสำนัก โดยมี จีซาง อดีตเจ้าเมืองที่ต้องราชภัยจากต๋าจีเป็นผู้นำ กรีฑาทัพเพื่อบุกโจมตีมหานครเฉาเกอ และโค่นล้มจักรพรรดิโจ้วหวาง

เรื่องราวบานปลายไปเรื่อย ๆ เมื่อเทพและเซียนแตกเป็นสองฝ่าย การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และเหล่าเทพเซียนเป็นไปอย่างดุเดือด ผู้คนล้มตายเหลือคณานับ วิญญาณของบุคคลสำคัญที่ตายในศึกสงครามนั้นก็จะถูกดึงไปไว้ผนึกไว้ในหอแต่งตั้งเทพเจ้า ที่องค์เทพปรมาจารย์เอวี๋ยนสื่อเทียนจุนทรงสร้างไว้

ในที่สุด กองทัพของ จีฟา บุตรชายจีซาง ก็นำทัพล้อมนครเฉาเกอไว้ได้สำเร็จ ต๋าจีหมดหนทางสู้ คิดจะกลับไปขอความช่วยเหลือจากพระแม่หนี่วา แต่ผลก็กลับตาลปัตรเมื่อพระแม่หนี่วาทรงเห็นว่าปีศาจจิ้งจอกเก้าหางที่สิงต๋าจีทำเกินกว่าเหตุ นำมาซึ่งความหายนะแก่เหล่ามนุษย์อย่างไม่อาจให้อภัยได้

พระแม่จึงส่งต๋าจีกับพวกพ้องให้กับเจียงจื่อหยา และปีศาจทั้งสามที่เป็นต้นเหตุความวุ่นวายทั้งหมดก็ถูกสำเร็จโทษ

ส่วนโจ้วหวางที่สูญเสียทุกสิ่งก็สำนึกได้เมื่อสาย พระองค์จึงปลงพระชนม์พระองค์เอง จีฟายึดครองเมืองหลวงได้ก็ล้มราชวงศ์ซาง แล้วก่อตั้งราชวงศ์โจวขึ้น สืบราชบัลลังก์ต่อไปอีกหลายร้อยปี

เมื่อความสงบสุขกลับคืนสู่แผ่นดิน เจียงจื่อหยากลับไปที่เขาคุนหลุน เปิดผนึกหอแต่งตั้งเทพเจ้า เพื่อสร้างระบบของเหล่าเทพใหม่ โดยแต่งตั้งเหล่าวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว และผู้ที่มีความดีความชอบในศึกครั้งนี้ทั้งหมด ให้เป็นเทพประจำตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็คือ จุดเริ่มต้นทั้งหมดของอาณาจักรสวรรค์ของตำนานจีนที่จะสืบทอดต่อไปในตำนานเรื่องอื่น ๆ นั่นเอง

เรื่องของซูต๋าจี หรือ นางพญาจิ้งจอกเก้าหางในตำนานก็สิ้นสุดเพียงเท่านี้ครับ

ผมเคยได้อ่านข้อเขียนของผู้รู้ทางไสยศาสตร์จีนที่กล่าวว่า นางปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง ไก่ฟ้าเก้าหัว และ ผีผาหยก ทั้งสามตนนี้ แท้ที่จริงแล้วก็คือสายวิชาทางเสน่ห์ของชนชาติจีนโบราณนั่นเอง และก็อาจจะเก่าถึงราชวงศ์ซางก็ได้ จนเกิดเป็นตำนานเกี่ยวข้องกับ ซูต๋าจี ขึ้นมา

แต่สายวิชาทั้งสามนี้ ถ้าจะเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน ก็คงสอนกันอยู่ตามสำนักนักพรตเต๋าที่หลีกเร้นจากโลกภายนอกพอสมควร เพราะไม่ใช่วิชาที่แพร่หลายนัก มีแต่วิชาปีศาจจิ้งจอกเก้าหางแบบปลอมๆ ที่นักพรตสายเหมาซานกำมะลอบางคนเอามาเล่นเป็นปาหี่หลอกลวงผู้คนเท่านั้น

ปาหี่ที่ว่านี้ มีด้วยกันหลายแบบครับ พวกที่ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษหลายคนอ้างว่า เคยแสดงอิทธิฤทธิ์เอาชนะนางปีศาจตนนี้ หรือบางคนก็บอกว่า มีมนต์วิเศษบังคับนางปีศาจตนนี้ให้ทำอะไรต่อมิอะไรได้ตามต้องการ ซึ่งก็มีสานุศิษย์หลงเชื่อมากมาย เพราะตำนานปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง เป็นอะไรที่ฝังใจคนจีนมานานนับพันปีแล้วครับ

ไม่เพียงเท่านั้น ความนิยมในตำนานปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง ยังแพร่หลายไปถึงญี่ปุ่น และเกาหลีอีกด้วย

ในตำนานของชาวญี่ปุ่น ปีศาจจิ้งจอกเก้าหางมีชื่อว่า คิวบิโนะโยโกะ (九尾の妖狐) หรือ คิตสึเนะ () ชาวญี่ปุ่นโบราณเชื่อว่า สุนัขจิ้งจอกตนใดที่มีอายุเกิน ๑๐๐ ปีขึ้นไปจะกลายเป็นปิศาจจิ้งจอก และมักจะแปลงกายมาสร้างความวุ่นวายให้กับชาวบ้านอยู่เสมอ โดยอย่างน้อยก็สามารถสร้างมายา ไว้คอยกลั่นแกล้งคนที่เดินทางผ่านป่าตอนกลางคืนได้

ปีศาจจิ้งจอกเก้าหางในตำนานญี่ปุ่นมีหลายตนครับ ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ องเมียวโคคุบงคิวบิ ซึ่งมีเนื้อเรื่องคล้ายกับในพงศาวดาร ฮ่องสิน ของจีน จนน่าจะมีพื้นฐานมาจากตำนานเก่าแก่ชุดเดียวกันอย่างแน่นอน

กล่าวคือ นางปีศาจตนนี้ได้จำแลงร่างเป็นหญิงงามนามว่า ทามาโมะ มาเอะ และได้ลอบเข้าไปในวัง จักรพรรดิโทบะ ในฐานะสนมเอกเมื่อประมาณ ค.ศ๑๒๐๐ ซึ่งองค์จักรพรรดิเองก็ได้ถูกมนต์เสน่ห์ของนางจนลุ่มหลงมัวเมา

นางปีศาจคอยยุยงให้จักรพรรดิก่อสงครามทำลายมนุษย์ด้วยกันเองมากมาย แต่ในที่สุดพระพลานามัยขององค์จักรพรรดิเองก็เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว จนต้องเชิญนักบวชจากหอองเมียวมาทำพิธีปัดรังควาน และนักบวชผู้นั้นทูลว่า แท้จริงแล้วสนมเอกเป็นนางจิ้งจอกแปลงกายมา


นางปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง ในภาพเขียนโบราณของญี่ปุ่น
เมื่อความจริงถูกเปิดโปง นางปีศาจจิ้งจอกก็ได้เผยร่างจริงออกมาเป็นสุนัขจิ้งจอกตัวใหญ่สีทอง สูงเท่ากำแพงวังจักรพรรดิ และมีเก้าหาง อาละวาดทำลายสิ่งต่างๆ และฆ่าคนไปจำนวนหนึ่งก่อนจะหนีไป

องค์จักรพรรดิได้ส่งกองทหาร ๑๕,๐๐๐ คน ตามไปต่อสู้กับนางจนถึงหุบเขาเมียวโค นางจิ้งจอกเก้าหางจึงได้พ่ายแพ้ไปในปี ค.ศ.๑๒๐๓

เล่ากันว่า หลังจากถูกสังหารแล้ว ร่างของนางปีศาจจิ้งจอกได้กลายเป็นหินก้อนหนึ่ง เรียกว่า ฟุโยเคอิ (หินชีวีสังหาร) ซึ่งยังคงอยู่ตราบจนทุกวันนี้

คนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่นเล่ากันว่า วันดีคืนดีหินดังกล่าวจะปล่อยปราณพิษออกมา ซึ่งสามารถคร่าชีวิตคนที่หลงเข้าไปในแถบนั้นได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดนิงาตะ

ว่ากันว่า สิ่งที่นางปีศาจเกลียดชัง คือ เครื่องรางของขลัง และยันต์ของศาลเจ้าต่างๆ สิ่งของพวกนี้แม้ไม่อาจทำลายนางได้ แต่ก็ปกป้องให้รอดพ้นจากนางได้ ดังนั้นคนท้องถิ่นจึงเตือนนักท่องเที่ยวว่า ควรพกพาสิ่งเหล่านี้ในการไปชมหินฟุโยเคอิครับ

ส่วนเกาหลี ก็มีตำนานจิ้งจอกเก้าหางที่เล่าต่อๆ กันมานาน และยังคงมีอิทธิพลต่อผู้คนในยุคปัจจุบันมากเช่นกัน

คนเกาหลีเรียกนางปีศาจจิ้งจอกเก้าหางว่า กูมิโฮ (구미호) มีการบรรยายไว้ว่า นางคือหญิงสาวแสนสวยที่มีความสามารถในการหลอกล่อมัดใจชายหนุ่มได้อย่างง่ายดาย

ที่มาของกูมิโฮในตำนานแบบดั้งเดิมเล่ากันว่า สุนัขจิ้งจอกตัวไหนก็ตามที่สามารถมีอายุยืนถึง ๑,๐๐๐ ปี ได้ ก็จะกลายเป็นปีศาจจิ้งจอกกูมิโฮ ซึ่งมีพลังอำนาจสามารถแปลงกายเป็นหลายๆ สิ่ง แต่ความปรารถนาสูงสุดของกูมิโฮ ก็คือต้องการที่จะกลายร่างเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงให้ได้นั่นเอง

และวิธีการกลายร่างของกูมิโฮนั่นก็คือ การกินหัวใจ หรือตับของมนุษย์ให้ได้ครบ ๑๐๐ คนครับ

ดังนั้น กูมิโฮจึงแปลงเป็นหญิงสาวสวยยั่วยวน ที่แฝงตัวอยู่ในบ้านกลางป่า คอยหลอกมนุษย์โดยเฉพาะผู้ชายที่หลงในรูปโฉมงดงามให้มาเป็นเหยื่อของนางคนแล้วคนเล่า


กูมิโฮ ในภาพยนตร์เกาหลี

แต่ทว่าตามตำนานนี้ เรื่องกลับพลิกผันในตอนจบ เพราะเมื่อมาถึงเหยื่อคนที่ ๑๐๐ พอดี มนุษย์ผู้ชายคนนั้นกลับกลายเป็นรักแท้ ซึ่งปีศาจจิ้งจอกมอบหัวใจให้

ตำนานกูมิโฮจึงต้องจบลง เมื่อนางปีศาจจิ้งจอกเลือกความรักอันบริสุทธิ์ มากกว่าความต้องการเป็นมนุษย์ของตน แล้วปล่อยให้ชายหนุ่มคนนั้นมีชีวิตรอดต่อไปแทน

เพราะเหตุนี้ละครับ บางครั้งตำนานของกูมิโฮในจินตนาการของคนเกาหลี จึงอาจหมายถึงหญิงสาวผู้มีความงาม แต่ก็ยังเป็นตัวของตัวเอง และมั่นคงในความรัก ได้ด้วยเช่นกัน

คนเกาหลีปัจจุบันจึงไม่มีใครหวาดกลัวนางจิ้งจอกเก้าหางกูมิโฮ มิหนำซ้ำ ภาพลักษณ์ของนางได้ถูกใช้เพื่อโฆษณาขายสินค้าต่างๆ เกี่ยวกับผู้หญิง รวมไปถึงสินค้าวันวาเลนไทน์ หรือแม้แต่ร้านเสริมสวยต่อขนตา ที่บอกเหตุผลว่า เพราะว่าจิ้งจอกเป็นสัตว์ซึ่งมีขนตายาวสวยมากๆ

ที่ผ่านมา ผมยังไม่เคยได้ยินว่ามีการสร้างเครื่องรางนางพญาจิ้งจอกเก้าหางในไสยศาสตร์จีนนะครับ อาจจะมีอยู่บ้างในศาลของนาง ซึ่งก็มีผู้ตั้งขึ้นกราบไหว้บูชาในบางท้องถิ่น แต่ว่าในญี่ปุ่นและเกาหลีนั้นมีอยู่บ้าง ลักษณะเหมือนของที่ระลึกมากกว่าเครื่องรางที่มีการปลุกเสก และค่อนข้างหายาก

ดังนั้น เมื่อไทยเรามีการสร้างนางพญาจิ้งจอกเก้าหางขึ้นมาในช่วงปี ๒๕๕๓-๒๕๕๘ ทั้งคนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งต่างก็คุ้นเคยกับตำนานปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง จึงให้การตอบรับเป็นอย่างดี


นางพญาจิ้งจอกเก้าหางขนาดบูชา ไม่ทราบสำนัก
ภาพจาก http://thaiamulets-dhammapath.blogspot.com

ปฐมบทแห่งการสร้างนางพญาจิ้งจอกเก้าหางในเมืองไทย เกิดขึ้นที่สำนัก อ.เม้ง ขุนแผน ซึ่งมีชื่อเสียงในสายวิชาทางเมตตามหานิยมมาก่อนแล้ว โดยทาง อ.เม้ง อ้างว่า นางจิ้งจอกเก้าหางเป็นบริวารพระแม่หนี่วา และยังคงสถิตอยู่บนโลกใบนี้รอโอกาสที่จะทำความดีช่วยเหลือมนุษย์

ทางสำนัก อ.เม้ง ได้มีการจัดสร้างล็อคเก็ตนางพญาจิ้งจอกเก้าหางเป็นครั้งแรก ออกให้บูชาเพียง ๒๐๐ องค์ในงานไหว้ครูปี ๒๕๕๓ จึงมีเพียงลูกศิษย์ของ อ.เม้งเท่านั้นที่มีโอกาสครอบครอง ซึ่งเมื่อเวลาล่วงเลยมาหลังจากนั้นเพียง ๔ ปี ก็กลายเป็นที่แสวงหากันมาก และราคาพุ่งขึ้นไปหลายเท่าตัว

อ.เม้งจึงมีการจัดสร้างนางพญาจิ้งจอกเก้าหางรุ่นต่อๆ มา ถึงปัจจุบันนับได้เป็นสิบรุ่น และทำให้สำนักอื่นๆ มีการลอกเลียนแบบ โดยเฉพาะในช่วงปี ๕๗-๕๘ มีการแข่งกันสร้างนางพญาจิ้งจอกเก้าหางกันมากทั่วไปครับ ถึงขนาดมีโรงงานผลิตเป็นพระผงระบายสีสวยๆ ไปวางขายอยู่แถวท่าพระจันทร์ แบบไม่มีพิธีอะไรเลย เพื่อขายนักท่องเที่ยว ก่อนที่แผงพระริมทางในย่านนั้นทั้งหมดจะถูกกวาดล้างไปด้วยนโยบายจัดระเบียบของ กทม. สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด

แล้วถ้าจะถามผมว่า การเสกนางพญาจิ้งจอกเก้าหางของ อ.เม้ง ได้วิชา หรือมนต์คาถา หรือแม้แต่มวลสารอะไรที่เกี่ยวข้องกับเคล็ดวิชาปีศาจจิ้งจอกเก้าหางของจีนโบราณหรือไม่?

ผมก็ต้องตอบว่า ไม่

เพราะทางสำนักอธิบายไว้เองครับ ว่าแค่อาศัยเอาความเชื่อด้านความมีเสน่ห์ เย้ายวนรัญจวนใจของนางพญาจิ้งจอกเก้าหาง ตามแนวคติความเชื่อฝ่ายจีน ผนวกเข้ากับวิชา พญาหน้าหมามหาเสน่ห์ ของทางกะเหรี่ยง และล้านนา ซึ่งเชื่อกันว่าให้ผลทางมหาเสน่ห์ทางโลกียะเต็มสูตร แบบเด็ดขาดถึงขั้นเผด็จศึกเลยก็ว่าได้ แม้นปรารถนาชอบพอผู้ใด ย่อมรักใคร่ปักใจไม่เสื่อมคลาย คล้ายสุนัขรักเจ้าของมิผิดเพี้ยน

วิชาพญาหน้าหมามหาเสน่ห์ของล้านนา ซึ่งทางสำนัก อ.เม้ง บรรยายมาอย่างน่าตื่นเต้นนี้ ที่จริงเขาเรียกกันง่ายๆ ครับว่า วิชาเสน่ห์หน้าหมา เกจิอาจารย์ทางภาคเหนือมักเอามาทำตะกรุด ซึ่งให้ผลทางราคะที่รุนแรงมาก ถึงกับมีการเตือนกันไว้ว่า ใครพกตะกรุดนี้สุขภาพร่างกายต้องแข็งแรงตลอดเวลา พร้อมที่จะต้องสมสู่ เสพกามได้ทุกสถานการณ์


พระผงพญาหน้าหมามหาเสน่ห์ ปู่อำนาจ เกจิสายเสน่ห์ล้านนา

ถึงขนาดที่ต้องมีการเตือนกันไว้ตรงๆ ว่า ผู้มีโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหืดหอบ ควรพิจารณาให้ดีก่อนเช่าบูชาเชียวละ

บ้างก็นิยมเอาคาถาที่ใช้กำกับยันต์ หรือเครื่องรางที่ทำด้วยวิชานี้เสกอาหารให้หญิงกิน ถ้าเสกติด หญิงนั้นจะรักชอบตนยังกับโดนยาแฝดเลยครับ

พูดง่ายๆ มันเป็นวิชาเสน่ห์ที่แรงมาก และถ้าถือเอาตามเคล็ดดั้งเดิม มันก็คิอวิชาฝ่ายต่ำ ที่เหมาะกับคนบ้ากามจริงๆ คนที่ไม่ต้องคิดถึงเรื่องศักดิ์ศรี หรือความพอเหมาะพอดีอะไรเลย

แต่ในการเอามาประยุกต์สร้างเครื่องนางนางพญาจิ้งจอกเก้าหาง (ซึ่งแน่นอน, ว่าเป็นหมาคนละชนิด คนละวรรณะ และไม่น่าจะใช้กันได้) อ.เม้งน่าจะทำให้วิชานี้อ่อนลงไปมากครับ

เพราะไม่ปรากฏว่า ใครที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้บูชานางพญาจิ้งจอกเก้าหางของ อ.เม้งแล้ว จะมีอันเป็นไป แบบเดียวกับ เหยื่อของคนที่ใช้ตะกรุดหน้าหมาแบบล้านนาโบราณ

ส่วนใหญ่ จะมีข้อมูลจากคนที่ใช้เครื่องรางดังกล่าว แล้วบอกต่อๆ กันแค่ว่า ดีทั้งเสน่ห์ โชคลาภ การงาน ขออะไรได้หมด เหมือนกับเครื่องรางด้านเมตตามหานิยมทั่วไป เรื่องเซ็กซ์ก็มีบ้างละครับ แต่ไม่ถึงกับรุนแรงจนสร้างความตื่นเต้นกันในวงการแต่อย่างใด เรียกว่า ไม่แตกต่างจากพวกภูตพรายต่างๆ และผู้หญิงจะใช้ได้ดีกว่าผู้ชาย

เครื่องรางนางพญาจิ้งจอกเก้าหางของสำนัก อ. เม้ง สร้างจากเนื้อผงธูป ผงว่านยาเสน่ห์จากพม่า ว่านอาถรรพณ์ต่างๆ บางรุ่นฝังขวดน้ำมันอาถรรพณ์ ฝังตะกรุดมหาเสน่ห์ ฝังพลอย ไม่มีมวลสารอะไรที่เกี่ยวข้องกับปีศาจจิ้งจอกเก้าหางต้นตำรับ อย่างที่บอกไปแล้ว


นางพญาจิ้งจอกเก้าหางขนาดบูชา อ.เม้ง ขุนแผน

ถ้าเป็นขนาดบูชา ก็หล่อด้วยเรซินระบายสี และออกแบบได้สวยงาม ตามภาพประกอบที่นำมาให้ดูนี้ ปัจจุบันไม่ต้องไปหาตามท้องตลาดนะครับ สาวก อ.เม้งแย่งกันเก็บหมด

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า นางพญาจิ้งจอกเก้าหางของไทย ไม่ว่าจะเป็นต้นตำรับอย่าง อ.เม้ง หรือสำนักอื่นที่สร้างตามๆ กันมา ล้วนแค่เอาชื่อปีศาจจิ้งจอกเก้าหางของจีนมาอ้างอิงเท่านั้น นอกนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับปีศาจจิ้งจอกเก้าหางที่เป็นบริวารพระแม่หนี่วาจริงๆ

ยิ่งไปกว่านั้น สำนัก อ.เม้งยังมีการคิดค้นพิธี "ครอบหน้า ลงนะนางพญาจิ้งจอกเก้าหางมหาเสน่ห์" แบบที่สำนักอื่นนิยมเอาหัวโขน หรือ ศีรษะครู เช่น พ่อแก่ พระพิราพ หรือพระพิฆเนศวร์มาครอบกัน แต่ที่นี่ทำเป็นหน้ากากรูปใบหน้าผู้หญิง ที่เสกให้เป็นนางพญาจิ้งจอกเก้าหาง

อันนี้ยิ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับปีศาจจิ้งจอกเก้าหางตามตำนานดั้งเดิมเข้าไปใหญ่ แต่ก็เห็นคนจีนมาเลเซีย สิงคโปร์ คนญี่ปุ่น เกาหลี มาเบียดเสียดกับสาวกชาวไทยครอบกันทุกครั้งที่จัดพิธี ในยุคที่กระแสการบูชานางพญาจิ้งจอกเก้าหางกำลังเฟื่องฟูนั่นละครับ


นางพญาจิ้งจอกเก้าหาง ขนาดบูชา อ.ส.พลายแก้ว เรือนสุรินทร์ฤๅไชย

อย่างไรก็ตาม นางพญาจิ้งจอกเก้าหางก็ตกที่นั่งดียวกับเครื่องรางของขลังชนิดอื่นๆ ในวงการไสยศาสตร์และวัตถุมงคลไทย นั่นคือ พอมีคนริเริ่มทำอะไรแปลกใหม่ขึ้นมาสักคนหนึ่ง ก็จะมีการลอกเลียนแบบ และต่อยอดกันไปอย่างใหญ่โต ก่อนจะพากันซบเซาลงในที่สุด อันเนื่องมาจากมีการเก็งกำไรกันมากเกินกว่าความต้องการของตลาด

รวมทั้งผู้ที่ลอกเลียนแบบ ส่วนมากก็วิชาไม่ถึง หรือไม่มีวิชาอะไรที่เด่นชัด มีเพียงรูปแบบที่สร้างออกมาเท่านั้นที่ดูน่าสนใจ โดยเฉพาะรูปบูชาซึ่งก็ดูเหมือนตุ๊กตาสวยๆ แนวเซ็กซี่ แต่ดลบันดาลอะไรไม่ได้อย่างที่อวดอ้างไว้

สำหรับสำนัก อ.เม้ง ซึ่งเป็นต้นตำรับนางพญาจิ้งจอกเก้าหางเมืองไทย ผมเข้าใจว่า ถึงตอนที่เขียนบทความนี้ก็คงไม่มีการสร้างรุ่นใหม่ๆ ออกมาแล้วนะครับ หลังจากยุครุ่งเรืองของนางพญาจิ้งจอกเก้าหางผ่านพ้นไป ข่าวคราวของสำนักนี้เงียบลง และมีเสียงเล่าลือกันไปต่างๆ ในทางที่ไม่เป็นผลดีต่อสำนักอย่างมาก

จะว่าเป็นอาถรรพณ์ จากการไปเกี่ยวข้องกับนางปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง ซึ่งเปี่ยมด้วยเสน่ห์เย้ายวน แต่ไปอยู่ที่ไหนก็สร้างความวิบัติหายนะที่นั่น เหมือนในตำนานโจ้วหวาง ก็แล้วแต่จะคิดกันครับ


..........................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด