วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

พระพิราพ

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์



ภาพจาก http://horoscope.thaiza.com

เรื่องขององค์พระพิราพ บรมครูฝ่ายอสูรที่มีอิทธิฤทธิ์ มีความขลังศักดิ์สิทธิ์ และดุร้ายน่าเกรงกลัวที่สุดในบรรดาครูนาฏศิลป์ไทยทั้งหมด เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน แต่ไม่ค่อยจะลงรอยกัน

ตามคติความเชื่อที่กำลังเป็นกระแสหลัก ในวงการนาฏศิลป์ไทยเวลานี้ เชื่อกันว่า ท่านเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ ที่เรียกกันว่า ไภรวะ หรือ ไภรพ (Bhairava) และ วีรภัทร (Virabhadra)

คติความเชื่อดังกล่าวนี้ มาจากข้อสันนิษฐานของ ศ.ดร.มัทนี รัตนิน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ครับ

ทั้งไภรวะ และ วีรภัทร เป็นเทพอสูรที่ได้รับการนับถือมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เมื่อศาสนาฮินดูไศวะนิกายแพร่ไปถึง จึงได้มีการแต่งเทพนิยายรวมเอาอสูรทั้งสองตนนี้ เข้าเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ


อสูรไภรวะ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิธภัณฑ์ Guimet ฝรั่งเศส

โดยไภรวะกลายเป็นปางดุของพระศิวะ ซึ่งตัดเศียรที่ห้าของพระพรหม และเพราะผลกรรมนั้นทำให้ไภรวะต้องตระเวนไปทั่วโลกเพื่อขอทาน โดยใช้เศียรที่ห้าของพระพรหมนั่นแหละเป็นบาตร จนถึงเมืองพาราณสี (กาศี) บาตรนั้นจึงหายไป

และไภรวะกลายเป็นเทพารักษ์ประจำป่าช้าของกรุงพาราณสี ผู้ใดนำเนื้อดิบและเหล้าไปเซ่นสังเวย ไภรวะจะกินบาปของผู้นั้น ผู้นั้นก็เป็นอันพ้นจากบาปที่ก่อขึ้น

ส่วนวีรภัทร เกิดเมื่อพระทักษะจัดยัญญพิธีใหญ่โตแล้วไม่เชิญพระศิวะ เป็นเหตุให้พระสตี (ชายาของพระศิวะ-ธิดาของพระทักษะ-ชาติก่อนของพระอุมา) เสียพระทัย โดดเข้ากองไฟที่ใช้ในพิธีนั้นจนสิ้นพระชนม์ พระศิวะทรงพิโรธ บันดาลให้เกิดอสูรวีรภัทรเข้าทำลายพิธีของพระทักษะ และตัดเศียรพระทักษะขาดกระเด็น จนต้องมีการนำหัวแพะมาเปลี่ยนให้ในภายหลัง


อสูรวีรภัทร ภาพจาก http://www.junglekey.in

เหตุที่ทำให้เชื่อกันว่า พระพิราพของไทย เป็นองค์เดียวกับไภรวะ และ วีรภัทร อันเป็นภาคดุร้ายของพระศิวะ เนื่องจากคนไทยรุ่นเก่าจำนวนหนึ่ง นิยมเรียกพระพิราพว่า พิราพป่า ขณะที่คนอินเดียใต้ หรือทมิฬ ก็เรียกไภรวะและวีรภัทรว่า พิราปปา (Birappa)

เหมือนกันมั้ยล่ะครับ?

ที่เมืองพาราณสี หรือ กาศี ยังมีเทวาลัยประดิษฐานพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ในรูปของศิวลึงค์ เรียกว่า วิศวนาถ หรือ กาศีลิงคะ และมีรูปของไภรวะ ในลักษณะของเสาหินที่มียอดเป็นหน้าอสูรเฝ้าคอยพิทักษ์รักษา

ไภรวะผู้พิทักษ์เทวสถานสำคัญนี้ เรียกกันว่า กาศีลิงคะพิราปปา (Kasilinga Birappa) ซึ่งคนฮินดูยังคงพากันเซ่นสังเวยด้วยเนื้อดิบและเหล้า เหมือนกับเครื่องเซ่นของพระพิราพจนทุกวันนี้

ดังนั้น จึงทำให้เกิดกระแสความเชื่อที่ดูเหมือนจะมีหลักฐานหนักแน่นว่า พระพิราพของไทย ก็คือพระพิราปปาของอินเดียใต้นั่นเอง

ทั้งๆ ที่คติการบูชาพิราปปาในอินเดีย ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์ หรือระบำรำฟ้อนอะไรเลยแม้แต่นิดเดียวครับ


ไภรวะ ภาพจาก http://svayambhu.blogspot.com

ผู้เชื่ออย่างนี้ จึงต้องพยายามอธิบายว่า เนื่องจากพิราปปาเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ ซึ่งบุคลิกภาพหนึ่งของพระองค์ คือ นาฏราช เจ้าแห่งการฟ้อนรำ ดังนั้น พระพิราพไทยซึ่งเป็นองค์เดียวกับพิราปปา จึงย่อมเป็นครูแห่งการฟ้อนรำด้วย

ซึ่งในทางเทววิทยา อธิบายกันง่ายๆ อย่างนี้ไม่ได้นะครับ

เพราะพิราปปาเป็นภาคดุร้ายที่เกิดจากองค์พระศิวะในฐานะที่เป็นเทพผู้ทรงพรต ไม่ใช่เกิดจากพระศิวะนาฏราช ซึ่งเป็นภาคที่นับถือกันว่าเป็นบรมครูแห่งการฟ้อนรำ

เมื่อไม่ได้แบ่งภาคมาจากองค์นาฏราชาโดยตรง เป็นเพียงการแบ่งภาคมาจากมหาเทพ ซึ่งทรงมีทิพยภาวะหนึ่งเป็นนาฏราชาเท่านั้น ทางเทววิทยาก็ถือว่า ยังเชื่อมโยงกันได้ไม่สนิทครับ

ถ้าจะอธิบายว่า พระพิราพเป็นครูฟ้อนรำ ครูโขนละคร และเกี่ยวข้องกับพระศิวะ รวมทั้งไภรวะ และวีรภัทรได้อย่างสมเหตุสมผล เราจะต้องย้อนกลับไปยังเรื่องราวเก่าแก่ ที่ชาวนาฏศิลป์พากันมองข้ามไป

นั่นก็คือ เรื่องราวของ พิราพ ยักษ์ชื่อเดียวกัน ซึ่งเป็นเจ้าของสวนป่าอันสวยงาม มีต้นไม้สำคัญคือต้นชมพู่พวาทอง ที่ถูกพระรามสังหารในเรื่องรามเกียรติ์นั่นเอง

ยักษ์ตนนี้ ชาวโขนละคร ตลอดจนผู้สนใจรามเกียรติ์รู้จักกันดี ไม่มีความลี้ลับอะไรทั้งสิ้น

แต่สาเหตุที่เรื่องของยักษ์ตนนี้ ไม่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับพระพิราพ ที่เป็นบรมครูฝ่ายอสูรในปัจจุบัน เพราะเกิดความเข้าใจผิดกันว่า ท่านเป็นเพียงยักษ์เฝ้าสวนธรรมดาๆ ตนหนึ่ง ที่ถูกพระรามสังหารเท่านั้น

ดังมีเรื่องราวใน บทละครรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ พอสรุปได้โดยสังเขปว่า พิราพ เป็นอสูรเทพบุตรที่พระอิศวรให้ลงไปเกิดในโลก

ซึ่งความจริง บทพระราชนิพนธ์ดังกล่าว มิได้ระบุว่า ท่านเป็นยักษ์ธรรมดาๆ อย่างที่คิดกัน

เพราะในการไปเกิดนั้น พระอิศวรประทานกำลังพระสมุทรและพระเพลิงให้ ทั้งยังประทานที่ดินให้สร้างอุทยานปลูกไม้ดอกไม้ผลไว้ที่เชิงเขาอัศกรรณ ให้บริวารที่เป็นรากษสเฝ้า เอาไว้สำหรับสัตว์ใหญ่น้อยหลงเข้าไปในสวนนั้นจะได้จับกินเป็นอาหาร

พิราพ ในรามเกียรติ์ จึงไม่ใช่ยักษ์เฝ้าสวน แต่เป็นพญายักษ์ที่มีสวน หรือ อุทยานใหญ่เป็นของตนเอง มีบริวารนับพันนับหมื่นคอยเฝ้าดูแลสวนนั้นให้ด้วย


ภาพจาก http://www.soccersuck.com

สวน หรือ อุทยาน คติโบราณถือเป็นสมบัติของคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ไม่ใช่ของธรรมดาๆ ที่ใครๆ จะมีได้นะครับ

ถ้าเป็นมนุษย์ ก็ต้องระดับกษัตริย์ หรืออย่างน้อยมหาเศรษฐี เช่น ท่านอนาถบิณฑิกะ และ ท่านวิสาขามหาอุบาสิกา ในสมัยพุทธกาล

ถ้าระดับเทพ ก็เช่นพระอินทร์ ที่มีอุทยานเป็นของพระองค์เอง เทพอื่นไม่ค่อยมีบันทึกไว้ว่ามีสวนหรืออุทยานนะครับ

พิราพ คือพญายักษ์ที่มีสวนป่า หรืออุทยานเป็นของตนเอง จึงน่าจะมีศักดิ์ไม่น้อยกว่าบรรดาเครือญาติของทศกัณฐ์ เพียงแต่ไม่ได้ครอบครองบ้านเมืองที่ไหนเท่านั้น

และพิราพก็ชอบสวนของตนมาก คอยจัดแต่งดูแลให้สวยงามอยู่เสมอ ทั้งยังได้ปลูกต้นไม้สำคัญ คือ ต้นชมพู่พวาทองไว้ ซึ่งผลของมันมีรสชาติอร่อยอย่างวิเศษ

อยู่มาวันหนึ่งพระราม พระลักษมณ์ พระนางสีดาหลงเข้าไปในอุทยานนั้น พวกรากษสเข้าโจมตี ก็ถูกพระลักษมณ์ฆ่าตายไปเป็นอันมาก

พิราพกลับมาเห็นเข้าก็โกรธ เข้าต่อสู้กับพระรามก็ถูกพระรามสังหารด้วยศรพรหมาสตร์ แล้วพระราม พระลักษมณ์ พระนางสีดาก็เสด็จต่อไป

บทบาทของพิราพ ในรามเกียรติ์ของไทย มีอยู่เพียงเท่านี้ หลายๆ คนจึงเข้าใจผิดไปว่าเป็นเพียงยักษ์ที่ด้อยศักดิ์ จนไม่เห็นเหตุที่จะพาให้เกิดการนับถือเป็นบรมครูฝ่ายอสูรได้

แต่ อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า ในรามายณะหลายฉบับของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นฉบับวาลมีกิ เบงกอล กัมปันฯลฯ รวมทั้งมหาภารตะ ต่างพากันกล่าวถึง วิราธ (Viradha : विराध) ซึ่งมีเรื่องราวเหมือนพิราพในรามเกียรติ์ของไทย ในฐานะพญายักษ์ที่สำคัญตนหนึ่ง

เนื่องด้วยชาติเดิมของท่านคือ ตุมพุรุ (Tumburu : तुम्बुरु) เจ้าแห่งคนธรรพ์ อมนุษย์ผู้ชำนาญการร้องรำทำเพลงแห่งป่าหิมพานต์ครับ


เทพคนธรรพ์ ตุมพุรุ ตามประติมานวิทยาอินเดียในปัจจุบัน

อ.ศิริพจน์ กล่าวว่า ตุมพุรุ ตามความเชื่อของอินเดีย คือผู้ขับกล่อมเพลงดนตรีได้ไพเราะที่สุดในสามโลก ถึงขนาดที่ว่าในมหาภารตะ ยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน ๔ คนธรรพ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด

และสาเหตุที่ วิราธ เป็นที่เคารพบูชา และเชื่อมโยงกับพระศิวะ ก็เพราะในคัมภีร์ต่างๆ ในสายตันตระของไศวะนิกาย เช่น คัมภีร์วินาศิขตันตระ ของเนปาล กล่าวว่า ตุมพุรุเป็นรูปปรากฏปางหนึ่งขององค์พระศิวะ

รวมทั้งคัมภีร์อื่นๆ ในลัทธิเดียวกันนี้ ก็กล่าวถึงการปรากฏตัวของตุมพุรุใน ๒ ลักษณะ คือ ราชาแห่งคนธรรพ์ และภาคหนึ่งของพระศิวะ

โดยในบุคลิกภาพที่เป็นภาคหนึ่งของพระศิวะนั้น ตุมพุรุจะมีลักษณะดุร้าย จนคัมภีร์บางเล่มเช่น สตธรรมตีปิกา กล่าวว่าเป็นไภรวะ ตรงกับข้อสันนิษฐานของ ศ.ดร.มัทนี รัตนิน อย่างไม่อาจปฏิเสธ

แต่ในหนังสืออื่นๆ ที่กล่าวว่า ตุมพุรุคือพระศิวะ เช่น คัมภีร์โยคะวาสิษฐะ รามายณะ ก็กล่าวถึงการปรากฏตัวพร้อมกันของตุมพุรุ และไภรวะ จึงไม่อาจเป็นบุคคลคนเดียวกันได้

สาเหตุที่ตุมพุรุ กลายเป็นยักษ์วิราธ ประการหนึ่งจึงอาจเพราะเป็นภาคดุร้ายของพระศิวะดังกล่าวแล้ว แต่อีกประการหนึ่งก็เพราะต้องคำสาป

ดังปรากฏในรามายณะหลายฉบับ เช่นฉบับแปลภาษาอังกฤษโดย ราเมศ เมนอน และแปลเป็นภาษาไทยโดย วรวดี วงศ์สง่า พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ.๒๕๕๑ กล่าวว่า วิราธ (ผู้แปลใช้คำว่า พิราพ) คือตุมพุรุ เจ้าแห่งคนธรรพ์ที่ถูกท้าวกุเวรสาปให้ไปเกิดเป็นยักษ์ หรือพญารากษสอยู่ในป่าทัณฑกะ จนกว่าจะถูกพระรามมาสังหาร จึงจะคืนร่างเป็นตุมพุรุเหมือนเดิม


วิราธรบกับพระราม ภาพจาก http://www.flickr.com

ซึ่งถ้าไปดูใน https://en.wikipedia.org/wiki/Tumburu หัวข้อ In the Ramayana: Viradha และ https://en.wikipedia.org/wiki/Viradha ก็จะมีข้อมูลในเรื่องนี้ปรากฏอย่างชัดเจนครับ

อ.ศิริพจน์กล่าวว่า ชนชาติขอมโบราณ รู้จักตุมพุรุในฐานะที่เป็นภาคหนึ่งของพระศิวะเป็นอย่างดี เช่นมีการกล่าวถึงในจารึกที่มีชื่อเสียงอย่าง จารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม และพวกเขาก็รู้จัก วิราธ ในฐานะของตุมพุรุที่ถูกสาปด้วย

คติความเชื่อนี้ได้สืบทอดผ่านอยุธยา มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ เพียงแต่หลงลืมรายละเอียดไปมาก จดจำกันได้เพียงว่า วิราธไม่ใช่ยักษ์ธรรมดา แต่เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ ดังมีร่องรอยอยู่ในบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ ที่กล่าวว่า พระอิศวรประทานกำลังพระสมุทรและพระเพลิงให้นั่นเอง

ปัจจุบัน ในประเทศอินเดียยังคงมีคติการบูชาตุมพุรุ อยู่ในอาศรมฝ่ายนาฏดุริยางคศาสตร์หลายแห่ง แม้จะไม่ถึงกับเป็นเทพสำคัญระดับแถวหน้าในเทววิทยาฮินดู แต่ท่านก็เป็นที่รู้จักในแวดวงของศิลปิน นักแสดงละครอินเดียในทุกวันนี้


ตุมพุรุ (ที่ ๒ จากซ้าย) พร้อมด้วยพระลักษมณ์ พระนารท และพระพิเภก
เป็นพยานการบูชาศิวลึงค์แห่งราเมศวรัม โดยพระรามและพระนางสีดา
ภาพเขียนอินเดียสมัยปัจจุบัน

ราชาแห่งคนธรรพ์ท่านนี้ ยังมีชื่ออยู่ใน สักกปัญหสูตร ของศาสนาพุทธอีกด้วย โดยมีชื่อว่า ติมพรุ มีลูกสาวชื่อ นางสุริยวัจฉสา ซึ่งพระอินทร์ได้ประทานเป็นชายาของ พระปัญจสิขร อันเนื่องมาจากพระปัญจสิขรเป็นผู้นำพระอินทร์กับบริวารเข้าเฝ้าทูลธรรมปัญหา และฟังธรรมจากพระพุทธองค์ได้สำเร็จ

ด้วยข้อมูลเหล่านี้ ผมจึงคิดว่า เราน่าจะสรุปได้แบบนี้นะครับ :

๑) การที่รามเกียรติ์ไทย รับเรื่องราวของ วิราธ มาบรรจุไว้ ก็เพราะดำเนินเรื่องตามรามายณะของอินเดีย อันเป็นวรรณคดีไวษณพนิกาย

๒) แต่การที่รามเกียรติ์ไทยเรียก วิราธ ว่า พิราพ อาจเป็นเพราะรับคติเรื่องความสัมพันธ์กับพระศิวะ ไภรวะ และวีรภัทร ตามคัมภีร์ไศวะนิกายตันตระ และรู้ว่าไภรวะและวีรภัทรมีนามว่า พิราปปา ในภาษาทมิฬ

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงกล่าวถึง วิราธ ในบทละครรามเกียรติ์ โดยทรงเรียกว่า พิราพ โดยตลอด

และ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จึงแต่งโคลงบรรยายองค์พระพิราพไว้ว่า

.....พิราพพิโรธร้าย....เริงหาญ
แรงราพคอนคชสาร...สิบไต้
สีม่วงแก่กายมาร........วงทัก ษิณานอ
สวนปลูกพวาทองไว้...สถิตย์แคว้นอรรศกรรณฯ

ท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ที่วงการนาฏศิลป์ไทยยกย่องเป็นท่ารำสูงสุด มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีระเบียบแบบแผนที่ซับซ้อนมากมาย ก็มีผู้อธิบายว่า เดิมเป็นท่ารำของครูยักษ์ เพื่อประสิทธิ์ประสาทพรชัยมงคลให้แก่บรรดาสานุศิษย์ ตลอดจนผู้ชมที่อยู่ในที่แสดง




แต่บางแหล่งระบุว่า ครูยักษ์ท่านนี้ปรากฏกายในสวน กระบวนท่ารำฉบับเต็มเริ่มตั้งแต่ก่อนนำต้นชมพู่พวาทองไปปลูก จนกระทั่งสู้รบและพ่ายแพ้ต่อพระราม เพียงแต่ในเวลาต่อมา ไม่มีการแสดงตอนสู้กับพระรามอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้นจึงมีผู้สรุปว่า ท่ารำนี้ เป็นท่ารำของ พิราพ ในบทละครรามเกียรติ์ของรัชกาลที่ ๑ และเป็นยักษ์ตนเดียวกับ วิราธ ที่รามเกียรติ์ไทยดัดแปลงมาจากรามายณะของอินเดีย

การรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับไสยศาสตร์ไทย ดังที่มือขวาของศิลปินผู้แสดงจะถือหอกยาวเป็นอาวุธ

หอกนี้มีด้ามเป็นไม้ไผ่ เป็นลักษณะพิเศษซึ่ง นายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) ศิลปินแห่งชาติ บรมครูผู้ถ่ายทอดการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ อธิบายว่า เอาไว้ขับไล่ภูตผีปีศาจ

ขณะที่ อ.เอกรินทร์ พงศ์พันธุ์เดชา ผู้สืบทอดการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพท่านหนึ่งในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่า เป็นคติที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงพิธีกรรมเกี่ยวแก่การบูชาผี ในไสยศาสตร์ไทยที่มีมาแต่เดิมได้

ส่วนมือซ้ายของผู้รำ ถือก้านใบมะยม  ซึ่งเชื่อว่าเป็นไม้มงคล มีนามพ้องกับไม้ยมทัณฑ์ของพระยม และในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา มักใช้ก้านใบมะยมในการประพรมน้ำมนต์  ดังที่นายรงภักดีอธิบายว่า พระพิราพถือกำก้านใบมะยม เป็นการประพรมน้ำมนต์ให้กับศิษย์

การรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ และคติความเชื่อทั้งหมดเกี่ยวแก่บรมครูฝ่ายอสูรองค์นี้ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย เป็นการรวบรวมภูมิปัญญาไทยโบราณหลายแขนงเข้าด้วยกัน

โดยมีพื้นฐานอยู่บนร่องรอยของคติความเชื่อเก่าแก่ ตั้งแต่ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา ที่สืบทอดตำนานของตุมพุรุ เจ้าแห่งคนธรรพ์ ผู้มีความเกี่ยวข้องกับพระศิวะ ไภรวะ และ วีรภัทร

การที่พระพิราพได้รับการนับถือในวงการนาฏศิลป์ไทย จึงไม่ใช่เพราะท่านเป็นพญายักษ์ ที่เกี่ยวข้องกับสวน 

แต่เพราะชาติกำเนิดเดิมของท่าน คือเจ้าแห่งคนธรรพ์ ผู้เชี่ยวชาญการร้องรำทำเพลง เป็นบรมครูฝ่ายนาฏศิลป์โดยแท้

และเพราะท่านเกี่ยวข้องกับพระศิวะมหาเทพ ผู้ทรงเป็น นาฏราช ด้วยเช่นกัน


ศีรษะพระพิราพ หน้าทอง ในงานไหว้ครูหุ่นละครเล็ก คณะโจหลุยส์
บันทึกภาพโดย อรชร เอกภาพสากล

สรุป (อีกที) ก็คือ คติความเชื่อกระแสหลักของชาวนาฏศิลป์ส่วนมากในปัจจุบัน ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระพิราพ กับพระศิวะ และอสูรไภรวะนั้น ถูกต้องแล้วครับ

แต่หลักฐานที่จะพิสูจน์ความถูกต้องของคติความเชื่อนี้ กลับเป็นเรื่องของพญายักษ์ตนหนึ่ง ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงยักษ์เฝ้าสวนมาตลอด จนไม่มีใครกล้าที่จะเอามาเชื่อมโยงกับองค์บรมครูฝ่ายอสูร ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในบรรดาครูทุกองค์ของนาฏศิลป์ไทย

ทั้งๆ ที่ในบทละครรามเกียรติ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้นก็ระบุไว้ชัดเจน ว่าพระพิราพเป็นใคร ก็ยังมีการพยายามหาคำอธิบายกันไปทางอื่น ด้วยความเข้าใจผิดดังกล่าว จนบางสำนักถึงกับยืนยันว่า พิราพในบทพระราชนิพนธ์นั้นเป็นการสับสนเรื่องชื่อ

ในการตอบคำถามเกี่ยวกับพระพิราพ ในเว็บ aromamodaka.com เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งบางท่านนำไปอ้างอิงในเว็บบอร์ดที่เกี่ยวกับพระพิราพ และสามารถค้นหาได้ง่ายในอินเตอร์เน็ตนั้น ผมตอบอย่างย่นย่อและมีรายละเอียดที่น้อยเกินไป อีกทั้งข้อมูลบางส่วนยังล้าสมัยด้วย

ดังนั้น หากท่านใดเคยอ่านการตอบคำถามของผมดังกล่าวแล้ว ผมขอให้ท่านเปลี่ยนมายึดถือบทความนี้แทนนะครับ

เพราะเป็นการคัดย่อจากแหล่งข้อมูลสำคัญๆ ที่ผมค้นคว้ามาได้ในปัจจุบัน จึงเป็นอันตัดเรื่องความล้าสมัย และการขาดรายละเอียดที่จำเป็นได้

ยิ่งท่านที่จะนำไปอ้างอิงในที่อื่นใด ยิ่งควรจะอ้างจากบทความนี้เป็นดีที่สุด จะได้ไม่ทำให้ผู้อ่านตกหล่นในเรื่องที่ควรทราบ


.........................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559

ถาม-ตอบ เรื่องจันทรเทวีฉางเอ๋อ

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์



พระแม่ฉางเอ๋อ ภาพจิตรกรรมโดย Zeng Hao

เนื้อหาของบทความนี้ เดิมเป็นการถามตอบระหว่างคุณดนัย นาควัชระ แฟนพันธุ์แท้ศิษย์พระพิฆเนศวร์ กับผม ผ่านคอลัมน์ตอบจดหมายของเว็บไซต์
aromamodaka.com เมื่อหลายปีมาแล้ว เช่นเดียวกับการถาม-ตอบ เรื่องของพระคเณศ ใน ๒ บทความที่โพสต์ไปก่อนหน้านี้

ผมนำมาเรียบเรียงอีกครั้งหนึ่ง เพราะเห็นว่า สองบทความที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เป็นที่ชื่นชอบสำหรับผู้อ่านที่สนใจทางเทววิทยาจริงๆ เป็นอันมาก

ด้วยว่าการตั้งคำถามของคุณดนัยนั้น มาจากแนวความคิด และการวิเคราะห์ที่แหลมคม ไม่ซ้ำแบบใคร การอ่านคำถามของเขาและสิ่งที่ผมตอบ จึงสนุกสำหรับคนที่สนใจทางปัญญา มากกว่าศรัทธา

เมื่อคุณดนัยร่วมกับผม วิเคราะห์เรื่องพระแม่ฉางเอ๋อ ในรูปแบบเดียวกัน จึงเป็นอีกบทความที่ผมเห็นว่า คงมีประโยชน์ และน่าจะให้อะไรๆ กับคนที่สนใจเรื่องการไหว้พระจันทร์ ที่แตกต่างไปจากสารคดีหรือบทความเกี่ยวกับเทศกาลดังกล่าว ซึ่งโพสต์และแชร์กันอยู่ทั่วไป

จึงต้องขอขอบคุณเจ้าของจดหมายดังกล่าวไว้ ณ ที่นี้ อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการถาม-ตอบนี้ เกิดจากการที่เจ้าของจดหมายอ่านเรื่องราวของ พระแม่ฉางเอ๋อ ในหนังสือ บูรพเทวีปกรณ์ อย่างถี่ถ้วนแล้ว

ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้ ไปหาหนังสือเล่มดังกล่าวอ่านประกอบด้วยนะครับ จะทำให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของแต่ละคำถาม ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น


ภาพจาก http://www.spiralinternational.org

ถาม : ผมอ่านเรื่องพระเทวีฉางเอ๋อเรียบร้อยแล้ว ก็เลยลองวิเคราะห์ถึงสารัตถะแห่งความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับพระองค์จากเทวปกรณ์ต่างๆและพงศาวดารไคเภ็ก จนได้ concept ดังต่อไปนี้แต่ไม่แน่ใจว่าถูกต้องไหม อยากให้อาจารย์กรุณาช่วยแนะนำด้วยครับ   

พระเทวีฉางเอ๋อเคยมีชีวิตอยู่จริงในบรรพกาล และเชี่ยวชาญมายาศาสตร์เกี่ยวกับพลังต่างๆ ในพระจันทร์ในระดับหนึ่ง โดยใช้พลังของดวงจันทร์ตามธรรมชาติเพื่อให้เกิดผลทางมายาศาสตร์ยังประโยชน์ให้กับมวลมนุษย์
 
ตอบ : นักเทววิทยาตะวันตกที่ศึกษาเทวปกรณ์จีน ส่วนหนึ่งมีความเห็นเช่นนี้เหมือนกัน
 
ในหลายๆ ชนชาติสมัยโบราณ เช่น ชนเผ่าอินคา (Inca) ในเปรู มีวิชามายาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพลังของพระอาทิตย์ คือ สุริยศาสตร์ และวิชาที่เกี่ยวกับพลังของพระจันทร์ คือ จันทรศาสตร์

ปัจจุบันนี้ สุริยศาสตร์คงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แหล่งในโลกนี้เท่านั้น ขณะที่จันทรศาสตร์ เป็นที่นิยมศึกษากันในโลกตะวันตกโดยทั่วไป ในชื่อใหม่ที่นิยมเรียกกันว่า Moon Magic โดยเฉพาะได้รับความนิยมกันอย่างยิ่งในหมู่ผู้ศึกษา Wicca
 
ในจีนโบราณ ก็เคยมีหลักฐานร่องรอยของวิชาประเภทเดียวกันนี้ 

และมายาศาสตร์จีนโบราณนั้น มีพื้นฐานอยู่บนสิ่งสำคัญสองสิ่ง คือ หยิน-หยาง ซึ่งเป็นพลังขั้วตรงข้ามกัน แต่เกื้อกูลกันและเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นบนโลก

โดยทั่วไปแล้วนิยมกำหนดว่า พลังหยินเป็นเพศหญิง และแทนด้วยพระจันทร์ ขณะที่พลังหยางเป็นเพศชาย และแทนด้วยพระอาทิตย์

เมื่อนำมาปรุงแต่งขึ้นเป็นเทพโดยบุคลาธิษฐาน ก็แทนพระจันทร์ด้วย ไท้อิม และแทนพระอาทิตย์ด้วย ไท้เอี้ยง ดังมีตัวอย่างเป็นเทวรูปให้กราบไหว้บูชาในศาลใหญ่หลังขวามือ ก่อนเข้าระเบียงคดของ วัดมังกรกมลาวาศ หรือวัดเล่งเน่ยยี่ 
 
อย่างไรก็ตาม พลังหยิน-หยางนี้เป็นพลังธรรมชาติ ไม่ใช่เทพ แต่ทำให้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกลายเป็นเทพ นั่นก็เพราะได้มีคนที่พยายามศึกษา จนเข้าถึงพลังทั้งสองอย่างนี้ และนำมาใช้ในทางมายาศาสตร์ได้สำเร็จในยุคบรรพกาล

นักวิชาการตะวันตกจึงสันนิษฐานเหมือนคุณ คือพระแม่ฉางเอ๋อนั้นอาจจะเป็นนักบวชหญิง หรือนักมายาศาสตร์หญิงท่านหนึ่งในยุคบรรพกาล ที่สำเร็จวิชามายาศาสตร์ซึ่งเกี่ยวกับพลังของพระจันทร์


ภาพจาก http://aliexpress.com

ถาม : พระเทวีฉางเอ๋อ และ เทพโหวอี้ เมื่อเป็นมนุษย์คือสามีและภรรยากัน แต่ไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดชีวิต พระแม่ฉางเอ๋อต้องจากเทพโหวอี้ไป พูดง่ายๆ คือความรักไม่สมหวัง จึงปรากฏในเทวปกรณ์ว่าพระนางเศร้าสร้อยตลอดเวลาเมื่ออยู่บนดวงจันทร์
 
ตอบ : ถ้าหากว่าเทพโหวอี้เคยมีตัวตนจริง และเป็นคนรัก หรือสามีของนักบวชหญิงผู้สำเร็จวิชาเกี่ยวกับพระจันทร์จริงๆ ก็อาจเป็นเช่นนั้นได้

แต่เรารู้กันแล้วว่า เทพนิยายที่กล่าวว่าใครเป็นสามีภรรยากันนั้น ส่วนมากเป็นเรื่องของการจับคู่กันเอง โดยฝีมือมนุษย์นักแต่งนิยายมากกว่า

และเหตุที่เทวปกรณ์กล่าวว่า พระแม่ฉางเอ๋อประทับอยู่ในดวงจันทร์อย่างเศร้าสร้อยเงียบเหงานั้น ก็เพราะคนจีนมองว่า พระจันทร์ เป็นภูมิสถานที่เวิ้งว้างเงียบเหงา พระจันทร์บันดาลใจให้กวีเกิดความรู้สึกดื่มด่ำในอารมณ์อันนิ่งสงบ แต่มีพลังของความสะเทือนใจอย่างรุนแรงแฝงอยู่

ในขณะเดียวกัน พระจันทร์ก็เป็นสัญลักษณ์ของหยิน หยินนั้นมีธรรมชาติคือความมืด เงียบ ไม่เคลื่อนไหว และถ้าเป็นเรื่องของอารมณ์ ก็มักหมายถึงอารมณ์เศร้าหมอง   


ภาพจาก http://www.china-cart.com

ถาม : พระเทวีฉางเอ๋อกลายเป็นเทพเมื่อยังสาว หรือพระนางเสียชีวิตเมื่อยังสาว
 
ตอบ : เป็นไปได้ แต่ไม่เสมอไป อย่าลืมว่าพระนางเป็นจันทรเทวี ทรงเป็นเทพแห่งความสวยงาม ความเป็นอมตะ

ดังนั้น ถึงแม้พระนางจะสิ้นอายุในร่างมนุษย์ที่แก่ชรา พระนางก็ย่อมปรากฏในทิพยรูปของเทพนารีที่เป็นสาวงามชั่วนิรันดร์


ภาพพระแม่ฉางเอ๋อ ต้นกุ้ยฮวา และกระต่ายในดวงจันทร์
ด้านหลังคันฉ่องสำริด สมัยราชวงศ์ถัง ภาพจาก http://owlcation.com

ถาม : สรรพสิ่งที่อยู่ในดวงจันทร์ไม่ว่าจะเป็นคางคกสามขา กระต่าย ผู้เฒ่าแห่งการสมรส ต้นกุ้ยฮวา และอู๋กัง ล้วนแล้วแต่เป็นจินตนาการของชาวจีนโบราณเมื่อมองดวงจันทร์

หรือจะเป็นเพราะว่าคนจีนเปรียบเทียบแสงจันทร์เป็นพลังที่บริสุทธ์ ความโรแมนติกและความอุดมสมบูรณ์ จึงใช้สรรพสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วเป็นสัญลักษณ์ หรือบุคลาธิษฐาน
 
ตอบ : คุณลืมไปเรื่องหนึ่ง พลังของพระจันทร์เป็นพลังหยิน เป็นพลังที่ให้ทั้งความอุดมสมบูรณ์ และสุขภาพที่ดี

คางคกสามขานั้นเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์โดยตรงอยู่แล้ว เพราะในสัญลักษณ์มงคลจีน มันคายเหรียญเงินเหรียญทองให้ความร่ำรวยแก่ผู้เลี้ยงดูมัน และยังเชื่อกันว่า มันเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย

กระต่ายเป็นสัตว์ที่ผสมพันธุ์บ่อย แพร่พันธุ์เร็ว และอยู่ในพื้นที่ที่เห็นได้ชัดว่าอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องของความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน รวมทั้งคนจีนก็มองเห็นภาพบนดวงจันทร์เป็นรูปกระต่ายจริงๆ อีกทั้งกระต่ายในธรรมชาตินั้น ชอบออกมาเล่นแสงจันทร์ เป็นที่รู้ๆ กันทุกชนชาติทั่วโลก จึงเป็นสัญลักษณ์ของพระจันทร์ 
 
ผู้เฒ่าแห่งการสมรส ก็เกี่ยวข้องกับพระจันทร์ เพราะแสงจันทร์ทำให้คนเรานึกถึงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และพลังของพระจันทร์เป็นพลังที่อ่อนหวาน กลมกลืนของคู่รัก ถ้าจะลองคิดเล่นๆ ท่านอาจเป็นเซียนองค์หนึ่งที่สำเร็จวิชาทางจันทรศาสตร์ก็ได้

ต้นกุ้ยฮวานั้น ผมเขียนไปแล้วใน บูรพเทวีปกรณ์ ว่าออกดอกในฤดูที่จันทร์เพ็ญสวยที่สุดในแผ่นดินจีน คือเดือน ๘  เป็นอีกเรื่องของความรักความโรแมนติก

แถมชาที่ปรุงจากดอกกุ้ยฮวา ยังมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร บำรุงธาตุ บำรุงร่างกายได้ดีเยี่ยม เท่ากับเป็นยาอายุวัฒนะอย่างหนึ่ง จึงเป็นของเกี่ยวเนื่องกับพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ทั้งนั้น 


ภาพจาก http://www.precious-mammoth.com

ถาม : คติเกี่ยวกับสรรพสิ่งที่อยู่ในดวงจันทร์น่าจะเกิดมาตั้งแต่ครั้งที่ชาวจีนเชื่อว่า ดวงจันทร์มีทิพยภาวะเป็นเทพก่อนการกำเนิดพระแม่ฉางเอ๋อ เมื่อมีคติการบูชาพระแม่ฉางเอ๋อเป็นจันทรเทวี ก็เลยผูกเทวปกรณ์ระหว่างพระนางกับสรรพสิ่งต่างๆ ให้สอดคล้องกัน หรือเคยมีผู้ที่สามารถสื่อญาณกับพระแม่แล้วเห็นสรรพสิ่งที่ว่านี้มีจริง  
 
ตอบ :  คืออย่างนี้นะ คติที่นับถือไท้อิมนั้น เพ่งตรงไปที่พลังลี้ลับขั้นมูลฐาน คือพลังหยินโดยตรง

พลังหยินและหยางนี้ นอกจากแทนด้วยพระจันทร์กับพระอาทิตย์แล้ว ก็แทนด้วยวงกลมปลาคู่กลับหัวกลับหางกันสีขาวดำ ดังที่คุณเคยเห็นมาแล้ว นอกจากสองอย่างนี้แล้ว ก็ไม่มีการบรรยายในรูปลักษณ์ของสิ่งอื่นใดอีก  
 
สรรพสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในเทวปกรณ์ของพระแม่ฉางเอ๋อ จึงเป็นเรื่องที่มีพื้นฐานมาจากอีกคติหนึ่ง ที่ไม่เหมือนกับไท้อิม เข้ากันไม่ได้  เรียกได้ว่าเป็นคนละลัทธิศาสนากันโดยสิ้นเชิง

ลัทธิศาสนาหนึ่ง นับถือพระจันทร์โดยยกให้เป็นเทพ อีกลัทธิศาสนาหนึ่ง นับถือเทพที่ครองภูมิสถานต่างๆ อยู่ในโลกพระจันทร์ และมีลักษณะต่างคนต่างอยู่กันมาตลอด
 
อย่างคติการบูชาไท้อิม-ไท้เอี้ยงนั้น ไม่มีเทพนิยายรองรับ และเป็นเรื่องของการบูชาพระอาทิตย์-พระจันทร์ในราชสำนัก โดยพระจักรพรรดิทรงเป็นผู้ประกอบพิธี และคงอยู่ต่อมาในศาลเจ้าจีนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบูชาเพื่อหวังผลทางโหราศาสตร์และฮวงจุ้ย ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ นอกจากเป็นเรื่องของความนิยมเฉพาะในบางท้องถิ่นเท่านั้น
 
ขณะที่คติการบูชาพระแม่ฉางเอ๋อนั้น ในชั้นเดิมเป็นเรื่องของบรรดาผู้หญิงในราชสำนักก็จริง แต่ไม่เคยมีการประกอบพิธีใหญ่โตในระดับที่เป็นพระราชพิธีเลย ต่อมาจึงเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนคนสามัญ และเป็นพื้นฐานของเทศกาลไหว้พระจันทร์โดยตรง

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่มีทางที่จะพบเห็นเทวรูปของพระแม่เจ้าองค์นี้ได้ในศาลเจ้าต่างๆ เหมือนไท้อิม นอกจากในศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเฉพาะพระนางโดยตรงเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น การบูชาพระนางไม่ได้เพื่อหวังผลทางโหราศาสตร์ และในด้านฮวงจุ้ยนั้น ประติมากรรมของพระนางก็เกี่ยวข้องในลักษณะของสิ่งนำโชคมากกว่า
 
คุณจะเห็นว่า ทั้งสองคตินี้มีลักษณะเป็นเอกเทศซึ่งกันและกันดังกล่าวแล้ว แม้จะมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนคติเกี่ยวกับพระแม่ฉางเอ๋อให้เข้ากับไท้อิมอยู่บ้าง โดยผูกเป็นนิยายว่า เมื่อพระแม่ฉางเอ๋อเสวยยาทิพย์แล้ว ได้ล่องลอยไปบนดวงจันทร์ และเข้าไปอาศัยอยู่ในตำหนักพระจันทร์ซึ่งเป็นขององค์ไท้อิม

แต่นิยายเรื่องนี้ ไม่ได้รับความนิยมนำมาอ้างอิงกันที่ใด ดังนั้นทั้งสองคติดังกล่าวก็ยังถือว่า เป็นคนละลัทธิศาสนากันอยู่
 
เรื่องการสื่อญาณบารมีกับพระแม่ฉางเอ๋อ แล้วจะมีใครเห็นกระต่าย คางคกสามขา ต้นกุ้ยฮวา หรือผู้เฒ่าสมรสบนดวงจันทร์หรือไม่ เท่าที่ผมเคยได้ยินมา มีแต่คนที่ได้เห็นพระแม่ฉางเอ๋อปรากฏขึ้นในมิติของเรานี่แหละ ท่ามกลางแสงจันทร์ในวันเพ็ญเดือน ๘ โดยปรากฏในลักษณาการที่เหาะผ่านไปและโปรยยาทิพย์

หรือจากรายงานที่ชัดเจนที่สุดคือ ท่านมาปรากฏต่อหน้าคนที่สื่อญาณกับท่านได้ โดยอุ้มกระต่ายขาวมาด้วย เพื่อให้รู้ว่าเป็นองค์ท่านเท่านั้น

สิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้เฒ่าสมรส คางคก หรือต้นกุ้ยฮวา เป็นเรื่องของเทพนิยายที่เล่าขานกันมาโดยไม่เคยมีใครรู้เห็นได้โดยการสื่อญาณใดๆ  แม้แต่นักพรตบางท่านที่เล่าว่าเคยไปดวงจันทร์มาแล้ว ก็เห็นแต่ตำหนักพระจันทร์ กับบรรดาสาวใช้ของพระแม่ฯ อย่างที่ จักรพรรดิถังเสวียนจง เคยเห็นมาเท่านั้น

เรื่องพวกนี้ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่รวมเอาคติมงคลต่างๆ มาเล่าขานกันในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นความโรแมนติกที่ทำให้ลูกหลานจีนไม่หลงลืมรากเหง้าของตนเอง และยังเป็นการรักษาศาสตร์โบราณหลายๆ แขนงไว้ด้วยในขณะเดียวกัน

 
คางคกสามขา ภาษาจีนกลางว่า ฉานซู แต้จิ๋วว่า เซี่ยมซู้

ถาม : นิทานพื้นเมืองที่เล่าว่าพระแม่ฉางเอ๋อโดนสาปเป็นคางคกไปอยู่ในดวงจันทร์ น่าจะเกิดจากชนเผ่าบางเผ่านับถือดวงจันทร์เป็นเทพองค์อื่น และต้องการลดทิพยฐานะของพระนางลง เป็นเหตุผลทางการเมืองการปกครอง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะคติที่บูชาพระแม่ฉางเอ๋อแพร่หลายกว่า และคนนับถือมีจำนวนมากกว่า หรืออาจเป็นการแต่งขึ้นในชนเผ่าเดียวกันที่นับถือพระแม่ฉางเอ๋อ แต่มีความเชื่อใหม่โดยคิดว่าคางคกที่เห็นในดวงจันทร์ก็คือพระแม่ฉางเอ๋อ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลัง  
 
ตอบ : คือเรื่องแบบนั้นมันเป็นนิทานพื้นบ้าน แล้วแต่ใครจะเล่า

พื้นฐานของเทวปกรณ์ที่เกี่ยวกับพระแม่ฉางเอ๋อทั้งหมด มันมีอยู่แค่ว่า มีดวงจันทร์-พรานขมังธนู-ความแห้งแล้ง-ยาอายุวัฒนะ-หญิงสาวที่ลอยไปดวงจันทร์ และคางคก ซึ่งคนสมัยโบราณจดจำกันได้ทั่วไป

และเพื่อจะสืบทอดความทรงจำเหล่านี้มาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยที่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นคุณคุณจะทำอย่างไรล่ะ?

คุณก็ต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาผูกเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อให้จำง่าย ใช่หรือไม่?
 
เพราะฉะนั้นจากวัตถุดิบชุดเดียวกัน ใครมีความสามารถจินตนาการ ผูกเป็นเรื่องเป็นราวได้วิจิตรพิสดารมากน้อยเพียงใด ก็ว่ากันไปตามความถนัด

อย่างบางท้องถิ่น เป็นพวกมีอุปาทานเหยียดเพศหญิง ก็แต่งให้พระแม่ฉางเอ๋อทรยศพระสวามี และถูกสาปเป็นคางคกไปดังกล่าว โดยไม่มีนัยยะทางการเมืองการปกครองแอบแฝง

เพราะเรื่องพระแม่ฉางเอ๋อถูกสาปนี้ มีร่องรอยว่าเล่ากันมาก่อนที่ผู้คนแถบนั้นจะเจริญเพียงพอ ที่จะมีแนวคิดซับซ้อนได้อย่างที่คุณวิเคราะห์
 
ในขณะที่บางท้องถิ่น ซึ่งไม่มีอุปาทานเหยียดเพศหญิง ก็เสนอภาพของเทพโหวอี้ที่เปลี่ยนจากวีรบุรุษเป็นคนชั่วร้าย แล้วพระแม่ฉางเอ๋อก็กลายเป็นผู้กอบกู้โลก ซึ่งไม่มีการถูกสาปเป็นคางคกแต่อย่างใด  เป็นเรื่องของแนวความคิดอันเกิดจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
 
อีกอย่าง ลักษณะการนับถือศาสนาในจีนนั้น ในชั้นเดิมแยกกันค่อนข้างเด็ดขาด ระหว่างชนชั้นปกครองกับพลเมืองทั่วไป ราชสำนักนับถืออย่างหนึ่ง ประชาชนก็นับถืออย่างหนึ่ง ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน

และทางราชสำนักเอง ก็ไม่ค่อยมีความพยายามที่จะเอาเทพที่ประชาชนนับถือ มาดัดแปลงไปในทางที่จะลดฐานะลงให้ต่ำกว่าเทพของตน

เพราะถือว่า องค์จักรพรรดิคือโอรสแห่งสวรรค์ เป็นเทวราชในโลกมนุษย์อยู่แล้ว และมีเทพที่จะต้องบูชาเพื่อผลในทางพระราชอำนาจอยู่มากมาย จึงไม่สนใจว่าประชาชนพลเมืองจะกราบไหว้เทพอื่นใดกันอยู่
 
ดังนั้น ประชาชนอยากจะไหว้เทพองค์ไหน ก็ไหว้กันได้ตามสบาย ราชสำนักจะจับตามองอยู่แค่ว่าบูชาเทพองค์นั้นแล้วจะมีผลกระทบอย่างไรกับอำนาจทางการปกครองของตนเท่านั้น

ซึ่งถ้าพบว่ามีผลกระทบเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง ราชสำนักจีนก็ย่อมเลือกที่จะใช้กำลังอำนาจเข้ากวาดล้างทำลายคติการบูชาเทพองค์นั้นๆ มากกว่าที่จะผ่อนปรน และพยายามดัดแปลงให้เข้ากับคติของตนเองอย่างที่ชาวอินเดียทำ
 
และในอีกด้านหนึ่ง จักรพรรดิจีนหลายๆ พระองค์ก็กลับมีศรัทธานับถือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ที่ประชาชนกราบไหว้บูชากันอยู่เป็นพิเศษ จนถึงกับมีพระราชโองการเลื่อนฐานะเทพองค์นั้นขึ้น ดังมีตัวอย่างให้เห็นเช่นกรณีของเทพกวนอู และพระแม่เทียนโหว 
 
เพราะฉะนั้น เรื่องที่ว่า จะมีชนเผ่าใดที่มีอำนาจทางการเมืองการปกครองมากกว่า และพยายามลดความสำคัญของพระแม่ฉางเอ๋อลง เพียงเพราะชนเผ่านั้นนับถือพระจันทร์ในรูปแบบอื่น ดังที่คุณวิเคราะห์มานั้น ผมเห็นว่าไม่ใช่รูปแบบการเมืองการปกครองของจีน  


กระต่ายตำยาอายุวัฒนะ ภาพจาก http://wolfberrystudio.blogspot.com

ถาม : สำหรับเรื่องยาอายุวัฒนะ ผมยังไม่เข้าใจและตีความไม่ออกว่าจะมาเกี่ยวอะไรกับพระแม่ฉางเอ๋อ ? เพราะดูเหมือนว่ายาอายุวัฒนะจะเป็นตัวแปรสำคัญในเทวกำเนิดของพระนาง คือทำไมต้องมียาอายุวัฒนะเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของพระนาง ตามที่ผมคิดนะครับ น่าจะเป็นการแต่งเพื่อให้สอดคล้องกับสรรพสิ่งที่อยู่ในดวงจันทร์ซึ่งล้วนแต่มีความเป็นมงคลด้านอายุยืน ซึ่งไหนๆ พระองค์ก็จะไปเป็นพระเทวีผู้ครองดวงจันทร์ ก็เลยใส่เนื้อหาเกี่ยวกับยาอายุวัฒนะเข้าไป  
 
ตอบ : สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวยาอายุวัฒนะทั้งหมด ในเรื่องของพระแม่ฉางเอ๋อนั้น น่าจะมีอยู่แค่ว่าเป็นการสืบทอดความรู้ทางมายาศาสตร์จีนโบราณ ที่รู้กันมานานแล้วว่า พลังของพระจันทร์ คือ พลังหยิน ที่นำมาซึ่งความสวยงาม เปล่งปลั่ง สุขภาพดี อายุยืน

แล้วความสวยงามเปล่งปลั่ง สุขภาพดี อายุยืนนี้มันเป็นเรื่องเดียวกับอะไร คำตอบคือ ความอุดมสมบูรณ์ ใช่หรือไม่?
 
แล้วคนโบราณทุกชนชาติเชื่อว่า เพศใดเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ล่ะ คำตอบคือ เพศหญิง  เพราะเพศหญิงเป็นผู้ให้กำเนิดมิใช่หรือ?

ดังนั้น ความสวยงามเปล่งปลั่ง อายุยืน เป็นเรื่องของผู้หญิง (สมัยโบราณ ผู้หญิงถ้าไม่คลอดลูกตายก็มักมีอายุยืนกว่าชาย)

ความอุดมสมบูรณ์ก็เป็นเรื่องของผู้หญิง ดวงจันทร์ ก็เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เป็นเรื่องของผู้หญิงอีก และพลังหยินของดวงจันทร์ ก็ถูกนิยมว่าเป็นเพศหญิง
 
ถ้ามองเห็นความเชื่อมโยงกันในจุดนี้ คุณก็จะเข้าใจและตีความออกว่า เหตุใดพระแม่ฉางเอ๋อจึงเกี่ยวข้องกับยาอายุวัฒนะ

พระนางเป็นสาวงาม และพระนางได้ขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังหยิน คือเป็นแหล่งยาอายุวัฒนะโดยแท้

ด้วยเหตุนั้น เทวปกรณ์เกี่ยวกับพระนาง จึงเป็นการสืบทอดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับลักษณะเด่นหลายๆ ประการ ของพลังหยินในมายาศาสตร์จีนโบราณ ซึ่งผู้ศึกษาจะต้องมองให้ทะลุให้เข้าใจธรรมชาติของมัน

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นความรู้ที่พระนางเองได้เข้าถึงมาแล้ว จนทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็นจันทรเทวีก็เป็นได้

 
ภาพจาก http://www.theepochtimes.com

ถาม : เรื่องการลอยขึ้นไปบนดวงจันทร์ ตรงนี้ผมก็ไม่เข้าใจในนัยยะว่าต้องการจะสื่ออะไร ความจริงอาจจะเป็นพระองค์ลอยขึ้นไปจริงๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือจะเป็นการแต่งขึ้นมาเฉยๆโดยไม่ได้แฝงสารัตถะอะไรไว้เลย คำถามคือทำไมพระนางต้องลอยขึ้นไปดวงจันทร์ ทำไมไม่หายตัว หรือกลายเป็นเทพไปเลย?  
 
ตอบ : คำตอบนั้นง่ายมาก ดวงจันทร์อยู่บนฟ้า ถ้าคุณจะขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ในสมัยที่คุณยังไม่มียานอวกาศ คุณก็มีทางเดียวคือต้องลอยหรือเหาะขึ้นไป 

เหตุการณ์สำคัญหลายๆ เหตุการณ์ในเทพนิยายนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราจะนำมาตีความได้ทั้งหมด บางอย่างก็ต้องคิดในแบบที่ง่ายที่สุด เท่าที่จะง่ายได้เหมือนกัน เรื่องพระแม่ฉางเอ๋อลอยไปดวงจันทร์ มีสารัตถะอยู่แค่ว่า เป็นการบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนสภาวะ จากคนไปสู่เทพ

คนโบราณมองว่า ที่อยู่ของเทพเจ้าคือท้องฟ้า พระอาทิตย์เป็นโลกหนึ่ง พระจันทร์เป็นอีกโลกหนึ่ง พระแม่ฉางเอ๋อคือสาวชาวมนุษย์ที่กลายเป็นเทพ พระนางจึงลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า

แล้วเรื่องของพระนาง คือการสืบทอดความรู้พื้นฐานทางมายาศาสตร์ ว่าด้วยพลังหยินของพระจันทร์ พระนางจึงลอยไปดวงจันทร์ เป็นวิธีบอกเล่าง่ายๆ แต่เข้าใจกันได้ในทุกวัฒนธรรม
 
ถ้าคุณจะอธิบายการเปลี่ยนสภาวะจากคนเป็นเทพ ด้วยสัญลักษณ์อื่นที่ยุ่งยากกว่านี้ เช่น นั่งสมาธิแล้วกลายเป็นเทพ พูดแบบนั้นคนที่อยู่ต่างวัฒนธรรมจะไม่เข้าใจ ยิ่งเป็นคนในวัฒนธรรมที่ไม่รู้จักการนั่งสมาธิ ยิ่งนึกภาพไม่ออก

แต่ถ้าบอกว่า เป็นเทพด้วยการลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า อย่างนี้คนโบราณชาติไหนก็เข้าใจ เพราะในสมัยโบราณ มีแต่เทพเท่านั้นที่อยู่บนฟ้า และมีแต่เทพหรือสิ่งที่เหนือมนุษย์เท่านั้น ที่เหาะได้โดยไม่ต้องใช้ปีก

 
พระแม่ฉางเอ๋อในโลกภาพยนตร์

ถาม : ที่ประทับของพระแม่อยู่ในดวงจันทร์เลย หรือบนสวรรค์แล้วคอยควบคุมดวงจันทร์ครับอาจารย์  
 
ตอบ : ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง พระนางประทับในภพภูมิหนึ่ง ซึ่งเราอาจใช้คำง่ายๆ แทนว่า สวรรค์ ก็ได้ แต่พระนางไม่ทรงมีบทบาทใดๆ ในการควบคุมดวงจันทร์

พลังของดวงจันทร์ที่ส่งอิทธิพลต่อทุกสิ่งในโลก เป็นไปตามกระบวนการทางธรรมชาติที่จัดสรรไว้แล้ว โดยตัวของดวงจันทร์เองนั้น ไม่มีชีวิตจิตใจหรือความนึกคิดอะไร

และก็ไม่มีเทพองค์ไหน ที่ถูกกำหนดให้ทรงมีหน้าที่ควบคุมโลกธาตุ หรือสรรพสิ่งในธรรมชาติ ตามพื้นฐานความคิดของคนโบราณในยุคที่เจริญเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา แล้วก็เกิดทรรศนะว่า ทุกสิ่งในธรรมชาติต้องมีใครควบคุมอยู่ เช่นเดียวกับที่มนุษย์เอง พยายามควบคุมสรรพสิ่งเท่าที่ตนจะทำได้
 
ความจริงก็คือว่า บรรดาเทพที่เกี่ยวข้องกับโลกธาตุต่างๆ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ พระอาทิตย์ พระจันทร์ จึงไม่ใช่ทั้งบุคลาธิษฐานที่เกิดจากโลกธาตุเหล่านั้น และผู้ที่มีสิทธิ์มีอำนาจอะไรเข้าไปถือครองบังคับควบคุมในสิ่งเหล่านั้น

แต่เป็นเทพ ซึ่งเกิดจากคนที่เข้าถึงพลังลี้ลับทางธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น และสามารถนำพลังทางธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้นมาดัดแปลง หรือปรุงแต่งให้เกิดเป็นคุณเป็นโทษกับมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตใดๆ ได้ระดับหนึ่ง
 
พระแม่ฉางเอ๋อจึงเป็นดุจเดียวกัน ในฐานะที่ทรงเป็นจันทรเทวี พระนางมิได้ทรงมีตำหนักอยู่บนดวงจันทร์ และทรงควบคุมกระบวนการทางธรรมชาติใดๆ ของพระจันทร์ที่มีต่อโลกมนุษย์

พระนางเป็นเทพองค์หนึ่ง ในจำนวนจันทรเทวีหลายๆ องค์ทั่วโลก ซึ่งทรงเข้าถึงพลังแห่งพระจันทร์ และทรงนำพลังนั้นมาใช้ให้เกิดผลดีผลเสียต่างๆ แก่มวลมนุษย์ได้ในระดับที่มากพอสมควร ดังใจปรารถนาเท่านั้น

แต่ด้วยเหตุที่ทรงเป็นเทวะ พระนางจึงมักจะทรงนำพลังดังกล่าวมาใช้ในแง่ดี และใช้กับคนที่บูชาพระนางเป็นหลัก


องค์บูชาไท้อิม ในศาลเจ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง

ถาม : องค์ไท้อิมที่ถือกันว่าเป็นบุคลาธิษฐานของดวงจันทร์ ถ้ากราบไหว้ดวงจันทร์ในฐานะองค์ไท้อิม หรือไปกราบไหว้ที่วัดเล่งเน่ยยี่ ก็ไม่น่าจะเกิดผลอะไร ไม่ว่าจะถวายของบูชา หรือสวดมนต์ถวาย

เพราะนั่นเรากำลังบูชาดวงจันทร์ในฐานะเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ซึ่งมันจะส่งผลต่อมนุษย์ก็ต่อเมื่อมันโคจรไปสัมพันธ์กับพื้นฐานดวงชะตาของเราพอดี ถ้าไม่ตรงกับดวงชะตาของเราก็คงจะไม่เกิดผลอะไร (คำถามคล้ายกับพระราหูที่เคยมีคนถามอาจารย์)

แต่ถ้าเราบูชาองค์ไท้อิมองค์นั้น หรือบูชาพระจันทร์ในฐานะพระแม่ฉางเอ๋อน่าจะส่งผลทางเทววิทยาต่อผู้บูชามากกว่า เพราะถือว่าเราบูชาเทพผู้ควบคุมดวงจันทร์ที่มีตัวตนจริง ไม่ใช่บูชาดวงจันทร์ที่เป็นเพียงแค่ดาวพระเคราะห์ดวงหนึ่ง  
 
ตอบ : ถูกต้อง คุณจะไปบูชาอะไรกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ หรือความรู้สึกนึกคิด ไม่รับรู้แม้กระทั่งว่าคุณไปทำพิธีกราบไหว้บูชาหรือไม่

เรื่องแบบนี้คนส่วนมากเขาเชื่อกันว่ามีผล แต่ผมไม่เชื่อ และผมไม่เห็นผลอะไรจากการกราบไหว้ดาวเคราะห์อย่างที่คุณว่า

กระบวนการที่ดวงจันทร์ หรือดาวเคราะห์ดวงใด จะโคจรไปสัมพันธ์กับพื้นฐานดวงชะตาของใครก็ตาม เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ ที่มันต้องดำเนินไปตามวิถีของมัน ไม่มีใครหรือวิธีการใด จะไปบิดผันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากมีทางเดียว คือคุณต้องไปเปลี่ยนแกนโลกใหม่

และกระบวนการทางธรรมชาติเช่นนั้น ของดาวพระเคราะห์ทั้ง ๙ ดวง จะมีผลดีผลเสียกับดวงชะตาของใครก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับวิบากกรรมของคนคนนั้น ที่กำหนดให้เขาต้องถือกำเนิด ในช่วงเวลาและสถานที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการโคจรของดวงดาวเหล่านั้น ในลักษณะที่แตกต่างกัน
 
เทวศาสตร์นั้นต่างกับโหราศาสตร์ เทวศาสตร์คือการเรียนรู้ที่จะปฏิบัติบูชาเทพเจ้า ซึ่งเดิมก็คือบรรพชนคนหนึ่งในยุคสมัยอันไกลโพ้นของเรา เพื่อเปิดรับความรู้ และพลังอำนาจที่เทพเจ้าองค์นั้นจะประทานให้

ส่วนการเรียนรู้พลังของดวงดาว ที่จะมีผลกระทบใดๆ ต่อชะตากรรมของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของโหราศาสตร์ 
 
คนเราโดยมาก (ไม่เฉพาะคนจีนเท่านั้น) ชอบเอาเทววิทยากับโหราศาสตร์มาผสมปนเปกัน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องมีเหตุผล ไม่ใช่ความงมงายอะไร

เนื่องจากเป็นความพยายามอย่างหนึ่ง ที่จะเก็บรักษาสืบทอดความรู้ ด้วยวิธีการที่จะไม่เสื่อมสูญไปด้วยการถูกทำลายโดยมนุษย์ด้วยกันเอง เหมือนการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในคัมภีร์ หรือสลักไว้บนก้อนหิน ซึ่งย่อมถูกล้างผลาญด้วยภัยสงคราม หรือแม้แต่ความวิกลจริตของผู้มีอำนาจ

การสืบทอดความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทพจริงๆ หรือไม่ก็ตาม ด้วยการเรียงร้อยเป็นเทพนิยายหรือเทวปกรณ์ แล้วบอกเล่ากันปากต่อปากแบบมุขปาฐะ อาศัยความทรงจำของมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อนนั้น จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วที่คนโบราณจะส่งต่อความรู้เหล่านั้นมาได้จนถึงคนรุ่นเรา 

เราจึงไม่อาจตำหนิคนโบราณ ว่างมงายกับการแต่งเทพนิยาย หรือเอาเทวศาสตร์กับโหราศาสตร์มาผสมกันจนมั่วไปหมดได้ เพราะเป็นหน้าที่ของเราต่างหาก ที่เมื่อรู้แล้วว่า อะไรคือโหราศาสตร์ อะไรคือเทววิทยา แล้วเราจะควรจะแยกแยะทั้งสองศาสตร์นี้ออกจากกันอย่างไร

ไม่ใช่ว่าคนรุ่นปู่ย่าตายาย ท่านผสมปนเปกันมาแล้ว เราก็ช่วยกันทำให้มันยิ่งปนกันยุ่งมากขึ้น เหมือนอย่างที่หลายๆ เกจิอาจารย์ในยุคนี้นิยมทำกันอยู่

 
พระแม่ฉางเอ๋อ ภาพจิตรกรรมสีน้ำโดย Hwa San Chiuen

ถาม : เทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ชาวจีนจะมาตั้งโต๊ะกราบไหว้พระจันทร์ในคืนวันเพ็ญเดือน ๘ นั้น ผมมีข้อสังเกตและข้อสงสัย คือ ในเมื่อต้องการกราบไหว้พระแม่ฉางเอ๋อ แต่ไม่มีเทวรูปเป็นสื่อ ก็ไม่สามารถติดต่อ  หรือทำให้พระแม่ฉางเอ๋อรับรู้ได้ การบูชาก็ไม่มีผล

แต่อาจจะมีผลทางมายาศาสตร์เท่านั้น นั่นคือวันไหว้พระจันทร์เป็นวันที่พลังหยินของดวงจันทร์มาก ผู้บูชาก็จะได้รับพลังนั้น แต่ไม่ใช่พลัง (พร) ของพระแม่ เพราะไม่มีเทวรูปที่เป็นสื่อตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

แต่ที่จริงแล้วอาจจะได้พลังหยินหรือไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับดวงชะตาของเราด้วยใช่ไหมครับ เพราะเรากำลังสื่อกับดวงจันทร์ซึ่งเป็นดาวดวงหนึ่ง ไม่ได้สื่อกับพระแม่ฉางเอ๋อ หรือความจริงแล้วคนจีนอาจจะใช้ดวงจันทร์เป็นสื่อแทนเทวรูปก็เป็นได้หรือเปล่าครับ  
 
ตอบ : วันไหว้พระจันทร์ เป็นวันที่พลังหยินของพระจันทร์มีกำลังแรง และบริสุทธิ์ที่สุด

การที่คุณไปทำพิธีอะไรก็ตามในวันนั้น โดยที่พิธีกรรมดังกล่าวทำให้คุณมีสมาธิจดจ่ออยู่กับพระจันทร์ จิตของคุณก็จะสั่งงานให้ร่างกายเปิดรับพลังหยินจากพระจันทร์ ที่อาบชะโลมทั่วทุกหนทุกแห่งในเวลานั้นอย่างเต็มที่

ในทางกลับกัน ถึงคุณจะทำพิธีอย่างใหญ่โต แต่คุณไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดเลย นอกจากการทำพิธีตามๆ กันไป หรือรอเวลาให้ไหว้เสร็จๆ ไปเพื่อจะกินขนมไหว้พระจันทร์ อย่างนั้นก็ไม่ได้พลังหยิน
 
นอกจากนั้น ก็ขึ้นกับดวงชะตาของคุณด้วย ตามที่คุณวิเคราะห์มาแล้ว นั่นคือถึงแม้ตัวคุณจะมีสมาธิเต็มที่กับการไหว้พระจันทร์เพียงใดก็ตาม ถ้าตำแหน่งของพระจันทร์ในราศีเกิดของคุณไม่ดี คุณก็ได้รับพลังหยินจากพระจันทร์ในวันดังกล่าวไม่เท่าคนอื่น

หรือในบางกรณี การรับพลังหยินจากพระจันทร์ในวันดังกล่าว อาจเป็นผลร้ายกับดวงชะตาของคุณด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พระจันทร์โคจรในราศีเกิดของคุณ ซึ่งคุณจะต้องสอบถามจากหมอดูที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง

 


ถาม : ในเทศกาลนี้ ถ้าเราจะไหว้พระแม่ฉางเอ๋อที่เป็นเทวรูปภายในบ้าน โดยไม่ไปตั้งโต๊ะกลางแจ้งจะได้ไหมครับ เพราะวันนี้เป็นวันที่เราจะระลึกถึงพระแม่ฉางเอ๋อ ไม่ได้จะบูชาดวงจันทร์ที่เป็นดาวดวงหนึ่ง หรือจะไปตั้งโต๊ะกลางแจ้ง และนำเทวรูปพระแม่ไปประดิษฐานด้วย จะได้ผลทางพลัง (พร) ของทั้งพระแม่ และพลังหยินของดวงจันทร์ไปพร้อมๆ กัน  
 
ตอบ : อย่างหลังดีกว่า เพราะเท่ากับเทวรูปนั้นจะได้รับพลังหยินอันบริสุทธิ์จากดวงจันทร์ด้วย

คุณอย่าลืมว่า พระแม่ฉางเอ๋อทรงเป็นจันทรเทวี การที่เทวรูปของพระนางได้รับการบูชาภายใต้แสงจันทร์เพ็ญในเทศกาลไหว้พระจันทร์นั้น ย่อมดีกว่าการตั้งบูชาในบ้านแน่นอน

และถ้าพระนางทรงเคยเป็นนักบวชหญิง ที่กลายเป็นเทพเพราะทรงสำเร็จวิชาที่เกี่ยวกับพระจันทร์ คุณก็ควรทำเทวรูปนั้นให้ "สำเร็จ" ด้วยพลังของพระจันทร์เช่นกัน


ภาพจาก http://scoop.mthai.com

ถาม : ของที่ใช้ไหว้ในเทศกาลนี้ปฏิบัติตามประเพณีแล้ว อาจารย์คิดว่าได้ผลสมบูรณ์ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นขนมไหว้พระจันทร์ไส้ต่างๆ ขนมโก๋ ส้ม ส้มโอ น้ำเต้า ทับทิม แอ๊ปเปิ้ล เพราะเท่าที่ผมทราบว่าเป็นการบูชาเพราะชื่อเป็นมงคล ไม่ได้สนใจเรื่อง "ปราณ" ที่ถูกต้อง อันนี้เรียกว่าทิฐิได้ไหมครับ

รวมทั้งมีการเผารูปเทพเจ้าซึ่งได้รับการบูชาแล้ว ตรงนี้ผมพอจะทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่า การเผาหรือถ่วงน้ำพระเทวรูปที่ทำการบูชามาแล้ว เป็นการส่งพลังดีๆที่อยู่ในเทวรูป หรือรูปภาพ อันเนื่องมาจากการบูชา ให้กับธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม  
 
ตอบ : ชื่อเป็นมงคลก็ใช่ แต่หลักการคือเขาพยายามหาขนมที่เป็นทรงกลม และผลไม้ที่มีรูปร่างกลม

เพราะนั่นคือรูปทรงชนิดเดียวกับจันทร์เพ็ญ ปราณของรูปทรงนั้นย่อมเข้ากันได้กับปราณของจันทร์เพ็ญ ย่อมมีประสิทธิผลในการรับถ่ายทอดพลังหยินอันบริสุทธิ์จากจันทร์เพ็ญได้ดีกว่าของที่มีรูปทรงอย่างอื่น

ส่วนการเผารูปเทพเจ้าซึ่งได้บูชาแล้ว ความมุ่งหมายเดิมคือเพื่อ แปรธาตุสิ่งที่บันทึกการบูชานั้นไปยังองค์เทพ ที่อยู่ในอีกมิติหนึ่ง เพียงแต่ในเรื่องของการไหว้พระจันทร์ ผมเห็นว่าทำอย่างนี้อาจจะไม่ถูกต้อง

เพราะพระแม่ฉางเอ๋อทรงเป็นเทพเจ้า เพียงแค่ทำพิธีบูชาโดยตั้งจิตระลึกถึงพระนางโดยตรง หรือมีเทวรูปของพระนางด้วย ก็ทรงรับรู้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเผาสิ่งใดไปให้พระนางอีก

ครับ, การถาม-ตอบ เรื่องพระแม่ฉางเอ๋อ ระหว่างผมกับคุณดนัย นาควัชระ ก็จบลงเพียงเท่านี้ ที่จริงยังมีเนื้อหามากกว่านี้อีก แต่ถ้าไม่ได้อ่าน บูรพเทวีปกรณ์ มาแล้วก็จะไม่เข้าใจ

และก็ไม่มีการถาม-ตอบ ระหว่างผมกับคุณดนัย ในเรื่องของเทพองค์อื่น ที่จะมีเนื้อหามากเพียงพอที่จะนำมาโพสต์ใน blog นี้แล้วนะครับ ถ้าท่านใดอ่านแล้วชอบ ก็ขอยกให้เป็นความดีของคุณดนัย นาควัชระ ไว้ ณ ที่นี้ครับ



.............................



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด