บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์
*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*
*วัตถุมงคลในบทความนี้ ไม่มีให้เช่าบูชา*
ราชสีห์ที่งามที่สุด ณ วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย |
คำว่า ราชสีห์ กับ สิงห์
คนไทยเราโดยทั่วไปมักใช้ปนๆ กันไป
ซึ่งตามหลักภาษาก็ใช้แทนกันได้ ไม่ถือว่าผิด
และโดยทั่วไปก็นับว่าเป็นสัตว์จำพวกเดียวกัน
แต่ผมเคยอ่านหนังสือเก่าๆ บางเล่ม
ปรากฏว่ามีผู้รู้บางท่าน ได้จำแนกเอาไว้เป็นคนละอย่างครับ
กล่าวคือ ถ้าพูดถึงราชสีห์
ท่านว่าควรกำหนดไว้เฉพาะแก่สัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่ง ที่ไม่มีแผงขนรอบคอ
มีเพียงพรายขนที่ค่อนข้างยาวตรงคิ้ว, สองข้างแก้ม,
รอบปาก และขาทั้งสี่ข้าง
ตามลำตัวมีลายขวัญ หรือลายวงก้นหอย
มักจะอยู่ในอาการเคลื่อนไหว คือก้าวเดินยกเท้าหน้าขึ้น
ซึ่งในทางศิลปกรรม
เรามักเห็นแต่เพียงด้านข้างของสัตว์ชนิดนี้เท่านั้น
และราชสีห์นั้น
คนโบราณไม่เคยมีการนำมาเฝ้าประตู หรือบันไดทางเข้าตามวัดตามวังต่างๆ
จะเป็นได้มากที่สุดก็เป็นสัตว์พาหนะ
หรือใช้เทียมราชรถของเหล่าทวยเทพ
รวมทั้งพญายักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้นละครับ
ส่วนสิงห์
ท่านว่าควรกำหนดไว้เฉพาะสัตว์สี่เท้าหน้าตาคล้ายสิงโต มีแผงขนรอบหัวและคอขนาดใหญ่
เห็นเด่นชัด แต่ไม่มีพรายขนสองข้างของใบหน้า รอบปาก และที่ขาเหมือนอย่างราชสีห์
รวมทั้งลำตัวก็ไม่มีลายด้วย
สิงห์ สมัยอยุธยา วัดแม่นางปลื้ม จ.พระนครศรีอยุธยา |
ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัด
คือสิงห์มักอยู่ในลักษณะนั่งบนขาหลัง ตัวตรง เฝ้าอยู่สองข้างประตูทางเข้าวัดต่างๆ หรือล้อมเจดีย์เสมอ เป็นอาการหยุดนิ่ง
คนไทยโบราณไม่ทำรูปสิงห์ในอิริยาบถก้าวเดิน
และไม่มีการนำไปเป็นสัตว์พาหนะหรือเทียมราชรถใดๆ อย่างราชสีห์
มันมีหน้าที่นั่งตัวตรงเฝ้าสถานที่ต่างๆ
หรือล้อมสถูปเจดีย์เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นจริงๆ ครับ
และแม้ส่วนมาก จะเป็นประติมากรรมลอยตัว
ก็ทำอย่างเน้นให้ดูเฉพาะหน้าตรง
ไม่ใช่ให้ดูจากด้านข้างอย่างราชสีห์ด้วย
ที่สำคัญก็คือ
สิงห์ไม่ใช่สัตว์วิเศษอย่างเต็มตัวเหมือนราชสีห์ มันคือสิงโต (Lion)
จริงๆ ที่ถูกดัดแปลงด้วยวิธีการทางศิลปะ ให้มีลวดลายที่สวยงามมากขึ้นเท่านั้น
โดยมีรากเหง้ามาจากชนชาติที่ได้รู้จักสิงโตในทวีปแอฟริกา
แล้วก็มีความหลงใหลชื่นชมในลักษณะอันงามสง่าของมัน
ดังปรากฏว่า
ชาวอียิปต์เป็นผู้ริเริ่มการประดิษฐานสิงโตคู่ไว้กำกับบันไดทางเข้าศาสนสถานเป็นพวกแรก
ในลักษณะของ Sphinx (คือรูปสิงโตหมอบ มีหัวเป็นคน)
ซึ่งชาวกรีกและโรมันต่างก็ได้รับคติเช่นนี้ไปใช้
ต่อจากนั้นชาวอินเดีย
ซึ่งคงรู้จักสิงโตจากการติดต่อค้าขายกับชาวโรมันและเปอร์เซีย
ก็น่าจะได้รับแบบอย่างดังกล่าวมาใช้ อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ดังรูปสิงโตบนหัวเสาที่มีชื่อเสียงของพระองค์
จากนั้นก็ส่งต่อคติเช่นนี้ไปยังจีน อินโดนีเซีย เขมร และไทย ตามลำดับ
เพราะฉะนั้น สิงโตจีนที่มักทำเป็นคู่ไว้หน้าวัดหน้าวังต่างๆ
ที่พบได้ทั่วไป จึงเป็นการสืบทอดความนิยมทางศิลปะ ที่มีรากเหง้ามาจากสิงโตจริงๆ
ดังกล่าวนี้นั่นเอง
เช่นเดียวกับชนชาติขอมโบราณ
ที่ได้นำสิงห์คู่มาตั้งกำกับทางเข้าปราสาทหินต่างๆ มาตั้งแต่ราวๆ พุทธศตวรรษที่
๑๔-๑๕ และไทยเราก็รับคติดังกล่าว ต่อเนื่องมาจากเขมรตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
จนตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้
ต้องย้ำว่าล้วนได้แบบอย่างมาจากสิงโตจริงๆ ไม่ใช่สัตว์มหัศจรรย์ในอีกมิติ
เช่นราชสีห์แต่อย่างใดทั้งสิ้นครับ
ในขณะที่ราชสีห์
ไม่มีอะไรที่คล้ายกับสิงโตดังกล่าวแล้ว มันไม่มีแผงขนรอบหัวและคอ
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของสิงโต
และมันมีลวดลายตามตัวซึ่งไม่มีให้เห็นอย่างแน่นอนในสิงโต
สิงห์ปาร์ค ไร่บุญรอด จ.เชียงราย |
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าหลักวิทยาศาสตร์ ผมว่า
ราชสีห์กับสิงห์จะมีอะไรเหมือนกันก็เพียงแต่เป็นสัตว์สี่เท้าตระกูลแมวขนาดใหญ่เท่านั้น
การที่คนโบราณใช้คำว่า ราชสีห์ จึงมีความเป็นไปได้นะครับ
ว่าเป็นชื่อเฉพาะที่ใช้เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสัตว์ทั้งสองจำพวกจริงๆ
ดังที่มีหนังสือเก่าระบุไว้ข้างต้นนั่นเอง
ซึ่งก็ยืนยันด้วยข้อมูลในหนังสือ สัตวาภิธาน
ของ พระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) ได้แบ่งราชสีห์ออกเป็น ๔ พวก ดังนี้
ไกรสรราชสีห์
กายสีขาว ปาก เท้าทั้งสี่ และหางแดง กินสัตว์เป็นอาหาร
บัณฑูรราชสีห์
กายสีเหลืองอ่อน กินสัตว์เป็นอาหาร
กาฬมิตินทรราชสีห์
กายสีดำ กินสัตว์เป็นอาหาร
ติณราชสีห์
กายสีเขียว กินหญ้าเป็นอาหาร
บรรดาราชสีห์ทั้ง ๔ ตระกูลนี้
ไกรสรราชสีห์นับว่ามีฤทธานุภาพสูงสุด ไม่มีราชสีห์เหล่าใดจะทัดเทียมได้
พลังอำนาจของไกรสรราชสีห์นี้ แม้แต่มนุษย์และเทวดาทั่วไปยังครั่นคร้าม
เมื่อคนไทยโบราณจะกล่าวถึงราชสีห์ จึงเน้นที่ไกรสรราชสีห์นี่ละครับ
แต่ก็ตัดเรียกเพียงย่อๆ ว่าราชสีห์เท่านั้น
การที่มีผู้กล่าวว่า
ราชสีห์ของไทยนั้นเอาแบบมาจากสิงโตจริงๆ แต่ได้ประยุกต์ดัดแปลงตามรสนิยม
และความเชี่ยวชาญทางศิลปะของช่างไทยโบราณ
จึงเป็นการอธิบายตามพื้นฐานความคิดแบบวิทยาศาสตร์ และยังไม่ถือเป็นข้อยุติได้
ผมว่านะครับ ถ้าบอกว่าเป็นการดัดแปลงจากเสือหรือแมวป่า
ยังจะเป็นไปได้มากกว่าเสียอีก
เพราะเสือและแมวป่านั้น
มีทั้งพรายขนสองข้างของใบหน้า รอบปาก และที่ขาเหมือนอย่างราชสีห์
รวมทั้งลำตัวก็มีลายแบบที่สิงโตไม่มีด้วย
ผมยังเคยได้ฟังอาจารย์ผู้ชำนาญทางฌานสมาบัติท่านหนึ่งเล่าว่า
ในป่าหิมพานต์นั้นไม่มีสิงโต มีแต่เสือ และราชสีห์ก็คือเสือใหญ่
หรือพญาเสือของป่าหิมพานต์
ซึ่งไม่เหมือนเสือโคร่ง เสือดาว หรือเสือชนิดใดในมิติของเรา
แล้วช่างไทยโบราณก็นำมาเพิ่มเติมลวดลายต่างๆ
ที่เป็นแบบลายไทยเข้าไป
ทำนองเดียวกับพญาครุฑและพญานาค ซึ่งก็คือนกใหญ่และงูใหญ่ในป่าหิมพานต์เช่นกัน
แต่เนื่องจากที่เล่ามานี้ ผมมิได้รู้เห็นเอง
จึงขอนำมาบันทึกไว้ให้ช่วยกันพิจารณาเท่านั้นนะครับ
บางทีไทยเราอาจได้เค้าเงื่อนเกี่ยวแก่ราชสีห์
มาจากลังกาก็ได้ เพราะมีนิยายเรื่องราชสีห์อยู่ในพงศาวดารของลังกา คือ มหาวงศ์ กล่าวว่าเมื่อครั้งพุทธกาลในประเทศอินเดีย
มีแคว้นหนึ่งชื่อแคว้นวังคะ ปกครองโดย พระเจ้าวังคราช กับ พระนางสุปา
มเหสีผู้เป็นธิดาของกษัตริย์ผู้ครองแคว้นกลิงคราษฎร์
พระนางสุปาเป็นผู้มากด้วยกิเลสตัณหา
จึงถูกขับออกจากเมือง ได้ซัดเซพเนจรเข้าไปในป่า และได้ไปสมสู่กับราชสีห์ซึ่งมีนามว่า
สีหพาหุ จนเกิดโอรสนามว่า วิชัยกุมาร
พระนางทรงเลี้ยงดูโอรสโดยปิดบังความจริงว่าใครเป็นบิดา
โดยมีสีหพาหุคอยดูอยู่ห่างๆ เมื่อเติบใหญ่ขึ้น
วิชัยกุมารกลายเป็นผู้มีพละกำลังมหาศาล
และพามารดากลับเข้าไปอยู่ในแคว้นวังคะอย่างราษฎรสามัญครอบครัวหนึ่ง
สีหพาหุเมื่อไม่พบเมียกับลูกในป่า
จึงตามเข้าเมือง ชาวเมืองพบเห็นราชสีห์เกิดความตกใจ พากันเข้าทำร้าย
จึงถูกขบกัดตายไปเป็นจำนวนมาก
ความทราบถึงพระกรรณพระเจ้าวังคราช
จึงมีพระราชโองการให้หาคนดีมีฝีมือไปฆ่าราชสีห์ วิชัยกุมารไม่ทราบว่าราชสีห์นั้นเป็นบิดาของตน
จึงอาสาไปฆ่าสีหพาหุ
ข้างสีหพาหุเมื่อไม่สามารถสื่อสารกับลูกของตนเองให้เข้าใจกันได้
ก็ยอมให้ลูกฆ่าตายด้วยความตรอมใจ
ไม่นานหลังจากนั้น พระเจ้าวังคราชสิ้นพระชนม์
ไม่มีผู้สืบราชสมบัติ ประชาชนจึงพร้อมใจกันอัญเชิญวิชัยกุมารขึ้นครองเมือง
แต่วิชัยกุมารยกราชบัลลังก์ให้มหาอำมาตย์ซึ่งเป็นสามีใหม่ของมารดา
ส่วนตนเองไปสร้างเมืองใหม่ ชื่อสิงหะปุระ
ครั้นปรากฏในภายหลังว่า
ราชสีห์ที่ถูกฆ่าตายเป็นบิดาของวิชัยกุมาร
วิชัยกุมารก็ถูกเนรเทศออกมาจากเมืองใหม่ที่ตนสร้างขึ้น และอพยพไปถึงลังกา
ในวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานพอดี
การที่กษัตริย์ผู้สืบเชื้อสายมาจากราชสีห์พระองค์นี้
ได้มาตั้งราชวงศ์แรกในลังกา
ทำให้ชาติพันธุ์หนึ่งที่เชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากพระองค์ เรียกตนเองว่า สิงหล
ไงครับ
ราชสีห์ ในสวนรอบพระเมรุมาศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ภาพจาก http://wachalife.com |
ตำนานนี้มาเกี่ยวข้องกับตำนานเมืองสิงห์บุรี
ฉบับ วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ต.จักรสีห์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ด้วย
ดังจะเล่าย่อๆ ได้ดังต่อไปนี้
ยังมีราชสีห์ตัวหนึ่ง
อาศัยอยู่ในถ้ำตรงบริเวณที่เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ในปัจจุบัน
แต่ได้ออกไปหากินไกลถึงเมืองชัยนาท วันหนึ่งไปพบบุตรีของเศรษฐีเมืองชัยนาท
ก็รวบรัดเอาตัวขึ้นหลังพากลับไปสมสู่ในถ้ำจนนางตั้งครรภ์ และคลอดออกมาเป็นชาย
ชื่อว่า สิงหนพาหุ หรือ สิงหพาหุ
สิงหพาหุโตเป็นหนุ่ม
โดยไม่ทราบว่าราชสีห์ที่ช่วยมารดาเลี้ยงดูตน
และพาตนออกป่าล่าสัตว์ด้วยกันมาตั้งแต่เล็กนั้นคือบิดา
เมื่อเขาพยายามถามผู้เป็นแม่
ว่าบิดาที่แท้จริงของเขาคือใคร นางก็ปิดบังเรื่อยมา จนวันหนึ่ง
นางทนถูกลูกชายรบเร้าไม่ไหว ก็ตอบว่า
“ใครเป็นผู้พาเจ้าเข้าป่า ผู้นั้นแหละคือบิดาของเจ้า”
พอทราบดังนั้น สิงหพาหุก็เกิดความละอายว่า
ตนมีบิดาเป็นสัตว์เดรัจฉาน จนคอยหาโอกาสสังหารผู้เป็นบิดาเสีย
วันหนึ่งเมื่อเข้าป่าด้วยกัน ก็ฉวยจังหวะที่ราชสีห์เผลอ
ใช้มีดฟันคอราชสีห์ขาดกระเด็น แล้วสองแม่ลูกจึงนำศพของราชสีห์ไปเผาที่โคกจันทน์
ซึ่งอยู่ใกล้กับวิหารพระนอนจักรสีห์เวลานี้
เมื่อปลงศพบิดาแล้ว
สิงหพาหุเกิดความสำนึกในบาปใหญ่ที่กระทำลงไป พระเถราจารย์ทั้งหลายจึงแนะนำว่า
ควรจะสร้างพระพุทธรูป และกุฏิวิหารถวายแด่พระสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ
จึงจะเป็นกุศลผลบุญที่พอจะช่วยบรรเทาบาปกรรมของเขาได้บ้าง
สิงหพาหุจึงเอาทองคำขนาด ๓ กำมือ ยาว ๑ เส้น
สร้างเป็นแกนกลางของพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ คลุมถ้ำของตนไว้
ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ พร้อมทั้งสร้างพระอารามขึ้น
วัดดังกล่าว
ก็คือวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหารในปัจจุบัน เป็นที่ประดิษฐานองค์พระนอนจักรสีห์
ซึ่งเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีขนาดใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย
นิยายในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา
อันเป็นต้นตำนานวัดพระนอนจักรสีห์ดังที่กล่าวมานี้ มีปัญหาอยู่บ้างเหมือนกัครับ
ว่าที่จริงแล้วหมายถึงสัตว์ชนิดใดกันแน่ ระหว่าง ราชสีห์ กับ สิงห์
เพราะเรารู้กันแล้วว่า คำว่า สีห์ หรือ สีหะ
เป็นคำเรียกสิงโตทั่วๆ ไปในภาษาบาลี
ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวลังกานิยมใช้แต่งหนังสือสำคัญต่างๆ
รวมทั้งมหาวงศ์ด้วย
แต่ปราชญ์ไทยโบราณผู้สืบทอดตำนานนี้ต่อๆ มา
จนคลี่คลายมาเป็นตำนานวัดพระนอนจักรสีห์นั้นคงตอบคำถามนี้ได้ บนซุ้มประตูทางเข้าวัด
จึงมีรูปปั้นสิงหพาหุ มารดา และราชสีห์แบบไทยปรากฏอยู่จนบัดนี้
ด้านหลังเหรียญพระนอนจักรสีห์ พ.ศ.๒๕๑๘ ภาพจาก http://www.nanphrommard.com |
อย่างไรก็ตาม
เมื่อผมพยายามค้นหาราชสีห์ในศิลปกรรมต่างๆ ของลังกา
ที่อาจจะเป็นต้นเค้าของราชสีห์ไทย ก็ยังไม่พบนะครับ
แต่กลับไปพบข้อมูลที่ยืนยันว่า
ราชสีห์แบบที่คล้ายกับของไทยนั้น ปรากฎในทิเบต และเนปาลด้วย
กล่าวคือ
ในคติความเชื่อทางศาสนาพุทธฝ่ายวัชรยาน อันเป็นศาสนาหลักของชนชาติทิเบต
และแพร่หลายในเนปาลเช่นกันนั้น กล่าวถึงสัตว์ทิพย์ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า
สิงโตหิมะ หรือแทนด้วยภาษาอังกฤษว่า Snow Lion
สิงโตหิมะนี้ มีคุณสมบัติอย่างราชสีห์ไทย พอๆ
กันกับสิงโตของอินเดีย จีน เขมร ชวา ถ้าเป็นภาพวาด
ก็เห็นได้ว่าเป็นคติที่คล้ายสิงโตจีน คือทำเป็นรูปสิงโตธรรมดา
ที่ประดับด้วยลวดลายในศิลปะทิเบตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สมกับที่ฝรั่งใช้คำแทนว่า Lion
แต่ถ้าหากว่าทำเป็นประติมากรรม หรือรูปปั้น
ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือเครื่องรางของขลัง
เจ้าสิงโตหิมะนี้กลับไม่มีอะไรเหมือนในภาพวาดเลยครับ
มันกลายเป็นสัตว์วิเศษ ที่มีพรายขนตรงคิ้ว
รอบปาก และขาทั้งสี่ข้างเหมือนกับราชสีห์ไทยเราไม่มีผิด
แถมยังมีลายเป็นดวงๆ ตามลำตัว
ซึ่งน่าจะเป็นการปรับแต่งลวดลายแทนของจริงตามศิลปะทิเบต
เหมือนที่ศิลปินไทยแทนด้วยลายขวัญนั่นเอง
ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน
เกี่ยวกับสัตว์ทิพย์ของทิเบตและเนปาลนี้นะครับ เพราะมีผู้ศึกษาไว้น้อยมาก
แต่จากลักษณะที่เป็นประติมากรรม มันเป็นญาติกับราชสีห์ไทยอย่างแน่นอน
ซึ่งสำหรับบรรดาผู้เล่นฌานสมาบัติ
คงจะไม่แปลกใจหรอกครับกับความพ้องกันเช่นนี้
เพราะดินแดนทิเบตและเนปาลนั้น
ในอีกมิติหนึ่งก็ยังอยู่ในขอบเขตของป่าหิมพานต์เช่นเดียวกับไทยเราไงครับ