บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์
คติจตุคามรามเทพ
ในช่วงที่เป็นปรากฏการณ์ระหว่างพ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๕๐ นั้น
กล่าวในทางเทววิทยาแล้วนับว่ามีที่มาที่ไปที่คลุมเครือ อ่อนเหตุผล ไร้หลักฐาน
ตลอดจนตรรกวิธีที่ผิด และยิ่งมีผู้พยายามอธิบาย
ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสนอันเกิดจากข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นทุกที
เหตุผลก็คือ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทฤษฎีต่างๆ
ที่เผยแพร่และอ้างอิงกันอยู่ในวงการนักสร้างพระเวลานั้น
ล้วนแต่พากันตกหลุมพรางของเทพนิยายที่แต่งขึ้นโดยใครบางคนในคณะผู้สร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช
ซึ่งชื่นชอบอะไรๆ ที่เป็น “ศรีวิชัย” และ “มหายาน” เป็นพิเศษ
และเมื่อตกหลุมพรางเช่นนี้
ทำให้ต่างก็พากันมองข้าม หรือปฏิเสธหลักฐานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง
และเป็นรากฐานของคติการบูชาท้าวจตุคามรามเทพในเมืองไทย
อันสามารถอธิบายได้ทั้งในทางวิชาการ เทววิทยา
และมีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับอย่างชนิดที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจโต้แย้งได้เลยครับ
บุคคลแรกที่นำเสนอความจริง
ในทางเทววิทยาขององค์จตุคามรามเทพ น่าจะได้แก่ ผ.ศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
ในฐานะนักวิชาการท้องถิ่นที่ค้นคว้าเรื่องจตุคามรามเทพอย่างต่อเนื่อง
บทสัมภาษณ์ของท่านซึ่งตีพิมพ์ใน น.ส.พ. คมชัดลึก ฉบับประจำวันที่ ๙ เมษายน
พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ให้ข้อมูลที่แตกต่างจากที่มีการเผยแพร่กันตามสื่อต่างๆ ในเวลานั้นว่า
ภาพจาก http://www.komchadluek.net |
“จตุคามรามเทพมีที่มาชัดเจน
คือเป็นเทพหรือเทวดาที่มีหน้าที่รักษา ๓ สิ่ง ได้แก่ ๑.พระธาตุ ๒.พระสิหิงค์
๓.แผ่นดินแผ่นน้ำ ที่มานั้นมาจากคติลังกาวงศ์ รับมาสู่นครศรีธรรมราชเมื่อราวปี
๑๗๓๐ สมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทั้งนี้องค์จตุคามรามเทพนั้นจริงๆ แล้วประกอบด้วย
๔ องค์ คือ ๑.ท้าวสุมลเทวราช ๒.ท้าวลักขณาเทวราช ๓.ท้าวขัตตุคามเทวราช
๔.ท้าวรามเทพเทวราช ทั้งหมดจะถูกเรียกหมายรวม คือ จตุคามรามเทพ”
ข้อมูลของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองนครฯ
ท่านนี้ ได้รับการยืนยันโดยผลการค้นคว้าของผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและเทววิทยา
ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ คือ กำธร เลี้ยงสัจธรรม
ได้เสนอหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องด้วยองค์จตุคามรามเทพโดยระบุว่า
พระนามของท้าวขัตตุคาม และท้าวรามเทพ มีอยู่ในคัมภีร์โบราณของไทยไม่ว่าจะเป็น
นิทานพระพุทธสิหิงค์ และ ชินกาลมาลีปกรณ์
โดยในหนังสือ นิทานพระพุทธสิหิงค์ หรือ
สิหิงคนิทาน ซึ่งแต่งโดยพระโพธิรังสี พระเถราจารย์ชาวเชียงใหม่เมื่อราวๆ
พ.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๕ (ฉบับแปลใหม่ พ.ศ.๒๕๐๖) ปริจเฉทที่ ๓ นิทานพระพุทธสิหิงค์เสด็จมาถึงชมพูทวีป
กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“มีเทพ ๔ ตน คือ สุมนเทพ
กามเทพผู้มีฤทธิ์มาก รามเทพ ลักษณเทพ ได้รักษาคุ้มครองพระพุทธสิหิงค์นั้นทุกเมื่อ”
และอีกตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
“ทั้งยังมีเทพเจ้า ๔ องค์ คือ สุมนเทพ
รามเทพ ลักษณเทพ กามเทพผู้มีฤทธิ์ รักษาพระพุทธรูปนั้นทุกเมื่อ”
ส่วน ชินกาลมาลีปกรณ์ ที่พระรัตนปัญญาเถระ พระเถราจารย์ชาวเชียงใหม่เช่นกันเขียนในระหว่างพ.ศ.๒๐๕๙-๒๐๗๑
ตอน กาลมาของพระสีหลปฏิมา ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อพระเจ้าสีหลแห่งลังกาทวีปได้หล่อพระสีหลปฏิมาสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อพ.ศ.๗๐๐
แล้ว ก็ได้ทรงบูชาพระสีหลปฏิมานั้นสืบๆ กันมาช้านาน จนถึงพ.ศ.๑๘๐๐
พระโรจราชกษัตริย์ผู้ครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยใคร่จะทอดพระเนตรมหาสมุทร
จึงยกทัพทหารหลายหมื่นเสด็จล่องใต้ตามลำแม่น้ำน่านจนถึงสิริธรรมนคร พระเจ้าสิริธรรมได้ออกมาต้อนรับ
เมื่อทรงรับรองเป็นอย่างดีแล้ว
พระเจ้าสิริธรรมได้ตรัสเล่าให้พระโรจราชฟังถึงความอัศจรรย์ของพระสีหลปฏิมาในลังกาทวีปตามที่ทรงสดับมา
พระโรจราชจึงตรัสถามว่า พระองค์จะไปที่นั่นได้หรือไม่ พระเจ้าสิริธรรมตรัสตอบว่า
ไปไม่ได้
“เพราะมีเทวดาอยู่ ๔ ตน ชื่อ สุมนเทวราช ๑
รามเทวราช ๑ ลักขณเทวราช ๑ ขัตตคามเทวราช ๑ มีฤทธิ์เดชมาก
รักษาเกาะลังกาไว้เป็นอย่างดี”
กำธรกล่าวว่า รามเทพในนิทานพระพุทธสิหิงค์
ก็คือรามเทวราชในชินกาลมาลีปกรณ์ ส่วน กามเทพผู้มีฤทธิ์มาก ก็คือ
ท้าวขัตตคามเทวราชในชินกาลมาลีปกรณ์
ซึ่งเมื่อดูจากความเก่าแก่ของหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์
กับชินกาลมาลีปกรณ์ ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า
ไทยเราได้รับคติความเชื่อเกี่ยวกับท้าวขัตตุคาม และท้าวรามเทพ
พร้อมกับเทพารักษ์คณะเดียวกันอีกสององค์มาจากลังกาตั้งแต่ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว
และเป็นการรับเข้ามาพร้อมกับศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์นั่นเอง
แต่เรายังมีหลักฐานอื่นเกี่ยวกับเทพทั้งสององค์นี้ในเมืองไทย
ที่เก่ากว่าหนังสือนิทานพระพุทธสิหิงค์และชินกาลมาลีปกรณ์อีกครับ
กำธรระบุว่า ในกฎหมายเก่าของไทย คือ
ลักษณะพิสูจน์ดำน้ำ-ลุยเพลิง ใน
กฎหมายตราสามดวง ซึ่งบัญญัติขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๘๙๙
อันถือเป็นกฎหมายฉบับเก่าที่สุดของไทยเรานั้น
เมื่อมีการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคู่ความทั้งสองฝ่ายด้วยการลุยไฟ
ก็จะต้องทำเป็นพิธีกรรม มีการอ่านโองการอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ
เป็นสักขีพยานโดยอาลักษณ์ เรียกว่า โองการลุยเพลิง
โองการนั้นเขียนเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖
ความตอนหนึ่งว่า
“อีกทังพระกาลพระกุลี พระขัตุคามี
พระรามเทพชาญไชย”
ในขณะเดียวกัน จากการค้นคว้าของ อ.พงศ์เกษม
สนธิไทย ได้พบรูปสลักที่เก่าแก่ที่สุดของท้าวจตุคามรามเทพ
คือรูปสลักที่รอยพระพุทธบาทสำริด สมัยสุโขทัย อายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐
บนรอยพระพุทธบาทนั้นปรากฏพระนามของพระอดีตพุทธเจ้า พระมหาสาวก นามของเทพยดา ๓
องค์ซึ่งเป็นเทวดารักษาทิศและรักษารอยพระพุทธบาทนี้ คือ ท้าววิรุฬหก ท้าวธตรฐ และ
ท้าวขัตตคาม ทั้งหมดเขียนด้วยอักษรขอม
ภาษาบาลี
ภาพจาก http://theicity.com |
อ.พงศ์เกษมยังได้พบพระนามของท้าวขัตตุคาม
จารึกไว้ใต้เทวรูปท้าวเวสสุวัณ ในซุ้มคูหาชั้นบนของพระปรางค์ด้านทิศเหนือ
อันเป็นหนึ่งในพระปรางค์ ๔ ทิศที่ตั้งล้อมรอบพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดอรุณราชวราราม
ธนบุรี ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
แสดงว่า คติการบูชาท้าวขัตตุคาม ท้าวรามเทพได้มีหลักฐานปรากฏแล้วในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ก่อนที่จะมีตำนานเกี่ยวกับการได้พระพุทธสิหิงค์มาจากลังกาเสียอีก
และการบูชาพระเทวราชทั้งสององค์นี้ก็ยังคงปรากฏในเมืองไทยของเราต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเลยครับ
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่าแปลกใจว่าเพียงชั่วระยะเวลาร้อยกว่าปีให้หลัง
ทุกคนก็ลืมเรื่องราวของพระองค์กันไปหมด
แม้แต่ที่นครศรีธรรมราชซึ่งมีเทวรูปของพระองค์ปรากฏอยู่
ก็ไม่มีผู้ใดล่วงรู้จนกระทั่ง พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช
จอมขมังเวทย์แห่งเมืองนครฯ กล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ.๒๕๒๘ ด้วยพระนามใหม่ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้ว่า
จตุคามรามเทพ
แล้วเทวรูปของพระองค์ในนครศรีธรรมราช
อยู่ที่ไหน?
คำตอบก็คือ
อยู่บนบานประตูที่เปิดขึ้นสู่ลานประทักษิณขององค์พระบรมธาตุนั่นเองละครับ
บานประตูทั้งสองนั้น
จำหลักเป็นรูปเทพยดาซึ่งมีเทวลักษณะแปลก เป็นศิลปะพื้นเมืองนครศรีธรรมราช
แต่คนละยุคกับเทวดานั่งชันเข่าสององค์ที่อยู่ถัดลงมา
ซึ่งโดยทั่วไปคิดกันว่าเป็นองค์จตุคามรามเทพ
เพราะมีชื่อติดไว้บนแท่นฐานของเทวดาดังกล่าวเช่นนั้น
ภาพจาก http://www.manager.co.th |
เทพยดาบนบานประตูไม้จำหลักนี้
สวมศิราภรณ์และฉลองพระองค์แบบเทวดาไทย แต่เป็นแบบอย่างที่เก่ามาก
โดยองค์ที่อยู่ทางซ้ายมือ แลเห็นพระพักตร์ที่ชัดเจน ๔ พระพักตร์ มี ๔ พระกร
แต่ละพระหัตถ์ถือเทพอาวุธและสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไป
ตีความไม่ออกว่าตรงกับสิ่งใดบ้าง
ส่วนองค์ขวามี ๒ พระพักตร์ ๔ พระกร ทรงจักรและคันศร
พระหัตถ์ที่เหลืออาจถือตรีศูล ธนูหรือแม้แต่ใบไม้
และอีกพระหัตถ์หนึ่งน่าจะแสดงปางวิตรรกะมุทรา
เทวรูปทั้งสององค์นี้
เชื่อกันมานานแล้วว่าหมายถึงพระพรหมกับพระนารายณ์
แต่รูปแบบที่เห็นทั้งหมดในปัจจุบันเกิดจากการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕
นี้เอง ด้วยเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในวิหารมหาภิเนษกรมณ์ในช่วงเวลานั้น
ทั้งบานประตูของเดิมรวมทั้งประติมากรรมทั้งหมดพลอยถูกไฟไหม้ไปด้วย
โดยไม่มีบันทึกไว้ว่าเสียหายมากน้อยเพียงใด
ว่าที่ ร.ต.กฤษณศักดิ์ กัณฐสุทธิ์
ให้ความเห็นไว้ในนิตยสาร ตะลุยตลาดพระ ว่า
บานประตูทั้งสองบานนี้อาจเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ในครั้งนั้นแทนของเดิมก็เป็นได้
และผลจากการบูรณะใหม่ก็ทำให้เทวรูปองค์ซ้ายมือถือสิ่งของที่ดูไม่ออกว่าเป็นสิ่งใด
จนทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักประติมานวิทยายังไม่กล้าสรุปกันจนทุกวันนี้
ผมคิดว่า ความเห็นของว่าที่ ร.ต.กฤษณศักดิ์
มีความเป็นไปได้สูงครับ
เพราะเมื่อมีเหตุเพลิงไหม้อาคารใดๆ
บานประตูหน้าต่างที่ทำด้วยไม้มักจะได้รับความเสียหายทั้งหมด
หรือถึงแม้จะมีการดับไฟได้ทัน แต่ถ้าบานประตูหน้าต่างเหล่านั้นถูกไฟไหม้ไปบ้างแล้ว
แม้จะเป็นของเก่ามีลวดลายแกะสลักด้วยฝีมือช่างชั้นสูงเพียงใด
ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการเปลี่ยนใหม่
และถ้าช่างผู้ทำการบูรณะนั้น
เคารพของเดิมว่าเป็นฝีมือครู หรือเห็นว่าจะต้องรักษาคติเดิมไว้
อย่างมากก็ทำเพียงแกะสลักของใหม่ให้ดูคล้ายกับของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เท่านั้นละครับ
นั่นก็เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น
การบูรณะปฏิสังขรณ์ศิลปวัตถุใดๆ
แม้กระทั่งในทวีปยุโรปก็ยังไม่มีแนวความคิดที่จะต้องรักษาของเก่า
หรือเลียนแบบของเก่าให้เหมือนทุกกระเบียดนิ้ว
ดังที่เป็นมาตรฐานบังคับใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
การแกะสลักบานประตูทั้งสองบานนี้ขึ้นใหม่
จึงอาจจะมุ่งเลียนแบบของเดิมเฉพาะส่วนที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น
รายละเอียดของศิราภรณ์ เครื่องทรง และสัญลักษณ์ต่างๆ
ที่เป็นของปลีกย่อยอาจถูกดัดแปลงไปตามที่ช่างจะเห็นสมควร
เช่นลวดลายตรงที่ใดที่ไม่รู้จัก หรือเดาไม่ออก เพราะของเดิมถูกไฟไหม้เสียหายหนัก
ก็จะแทนที่ด้วยลวดลายอื่นที่ตนรู้จักแทน
ดังนั้นรูปเทพยดาทั้งสององค์นี้
ก็อาจมีอายุเพียงไม่เกินร้อยปีที่ผ่านมานี้เองครับ
แต่ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ศิลปะของเมืองไทย
คือ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม
เคยกล่าวกับว่าที่ร.ต.กฤษณศักดิ์ว่า ท่านได้ไปดูด้วยตาแล้วเห็นว่า
แม้จะมีการบูรณะขึ้นมาใหม่ แต่ก็คงมีเค้าที่ทำตามรูปแบบของเดิมไว้ ซึ่งมองเผินๆ
ก็จะเห็นว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น
แต่ที่ยืนยันได้ก็คือถึงอย่างไรก็ไม่เก่าไปถึงสมัยศรีวิชัยอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม จากลักษณะเด่นที่ยังคงเหลืออยู่
ก็เพียงพอที่จะทำให้ อ.ไมเคิล ไรท์ เขียนไว้ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม
ถึงเทวรูปสององค์นี้ว่า
"ที่วิหารพระม้า วัดพระบรมธาตุนครฯ
ที่หัวบันไดมีลานแคบ ซ้าย-ขวามีเทวรูปปูนปั้น ไม่มีลักษณะเฉพาะ
ตรงกลางเป็นประตูไม้เข้าสู่ลานประทักษิณ บานขวาสลักเป็นรูปพระนารายณ์
(แน่นอนเพราะทรงจักร) แต่ยังทรงธนูอีกด้วย แสดงว่าเป็นรามาวตาร
บานซ้ายนั้นเป็นเทวรูปที่มี ๔ หน้าให้เห็น
จึงสรุปกันว่ารูปนี้คือพระพรหม
แต่ท่านถือเทพาวุธนานาผิดกับพระพรหมที่ถือเครื่องประกอบพิธี (อักษมาลา ทัพพี คนโท)
ถ้านับพระพักตร์ที่มองไม่เห็น (เพราะอยู่ด้านหลังรูปนูน) ก็จะได้ ๖ เศียร ตรงกับ
สฺกนฺท/ขนฺธกุมาร/การฺตฺติเกย (บุตรพระอิศวร) ที่มี ๖ เศียร
เพราะเป็นลูกบุญธรรมแม่นมทั้งหกในนักษัตรกฤตติกา
นอกจากนี้ขันธกุมารย่อมถือเทพาวุธนานา เพราะนับกันว่าท่านเป็น “เทวเสนาบดี”
ดังนั้น ตามข้อเขียนของ อ.ไมเคิล ไรท์
เทพยดาทั้งสององค์นี้ก็ไม่ใช่พระพรหมและพระนารายณ์ดังที่สันนิษฐานกันมาก่อน
แต่เป็นเทวรูปองค์อวตารของพระนารายณ์ ซึ่งทรงธนู และเทพเจ้าแห่งการสงคราม
หรือพระสกันท์
ซึ่งก็คือ ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ ๒ ใน ๔
เทวราชที่ไทยเราได้รับมาจากลังกาตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั่นเอง
ส่วนเทวดาปูนปั้นทั้ง ๒
องค์ซึ่งมีรูปลักษณ์อย่างเดียวกัน และประทับนั่งในลีลาที่เกือบจะเหมือนกัน
ขนาบบันไดชั้นบนก่อนถึงบานประตูนั้น เหตุใดจึงมีแผ่นจารึกคำว่า เท้าขัตตุคาม และ
เท้ารามเทพ อยู่หน้าแท่น แทนที่ชื่อดังกล่าวจะไปติดไว้บนบานประตู?
ภาพจาก http://www.palungdham.com |
ผมว่า เทวรูปปูนปั้นทั้งสององค์นั้นอาจไม่เกี่ยวอะไรกับองค์จตุคามรามเทพเลยนะครับ
หากเป็นเพียง ทวารบาล ในลักษณะของเทวดาสององค์ เป็นชุดเดียวกับประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์ สิงห์ และครุฑ ที่ปั้นขึ้นเป็นคู่ๆ ในลักษณะ พยนต์ สำหรับพิทักษ์ทางขึ้นสู่ชั้นประทักษิณของพระบรมธาตุเจดีย์เท่านั้น
หากเป็นเพียง ทวารบาล ในลักษณะของเทวดาสององค์ เป็นชุดเดียวกับประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์ สิงห์ และครุฑ ที่ปั้นขึ้นเป็นคู่ๆ ในลักษณะ พยนต์ สำหรับพิทักษ์ทางขึ้นสู่ชั้นประทักษิณของพระบรมธาตุเจดีย์เท่านั้น
และการที่แผ่นจารึกถูกนำมาติดตั้งที่ฐานของเทวรูปทั้งสอง
ก็อาจเป็นเพราะความเข้าใจผิด
เนื่องด้วยแผ่นจารึกทั้งสองเดิมอาจจะอยู่ใต้บานประตูไม้แกะสลักก็ได้ เมื่อเกิดไฟไหม้วิหารขึ้น วัตถุต่างๆ
ในวิหารเสียหายเป็นอันมาก
เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ก็อาจมีผู้นำแผ่นจารึกทั้งสองมาติดตั้งไว้ใต้รูปทวารบาลแทน
จาก www.manager.co.th ซึ่งอ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือ จตุคามรามเทพ : ความจริงและความลับ
ที่ไม่เคยมีใครรู้ ทำให้เราทราบว่า พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล
เป็นบุคคลแรกอย่างแท้จริงที่ค้นพบว่า บานประตูไม้ดังกล่าวไม่ใช่พระพรหมกับพระนารายณ์
แต่เป็นองค์จตุคาม-รามเทพ
ซึ่งการค้นพบนั้นก็เป็นเพราะท่านต้องค้นหารูปแบบของศิลปะศรีวิชัยมาใช้ในการสร้างเสาหลักเมือง
ดังนั้นในเว็บไซต์ดังกล่าวจึงบ่งชี้อย่างไม่ลังเลเลยว่า
“ถ้าใครเคยไปดูบานประตูแกะสลักทางขึ้นพระบรมธาตุ
องค์จตุคามจะอยู่บานทางด้านซ้าย ส่วนองค์รามเทพจะอยู่บานทางด้านขวา”
เพราะฉะนั้น การที่มีผู้กล่าวว่า
เทพองค์นี้เป็นเทพที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นใหม่
เป็นเทพที่นักสร้างพระแต่งขึ้นมาหลอกลวง เพื่อขายความงมงายนั้น
จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าควรแก่การรับฟังอีกต่อไปครับ
..................................
..................................
หมายเหตุ :
เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย
และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด